http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-07

กฎหมายม่านกับแรงงานไพร่..แรงงานพม่า? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

กฎหมายม่านกับแรงงานไพร่ แล้วกฎหมายไทยกับแรงงานพม่า ?
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 76


ช่วงเวลาเดียวกันกับที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก (ประมาณ พ.ศ.2100-2110) อาณาจักรล้านนาก็สูญเสียอิสรภาพให้พม่าเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสามารถปลดแอกให้สยามเป็นไทได้ภายในเวลาอันสั้นเพียง 15 ปี

แต่ทว่าล้านนากลับต้องจมจ่อมอยู่ภายใต้อุ้งเท้าพม่า หรือที่คนเหนือเรียกว่า "ม่าน" (มาจากคำเต็มที่คนล้านนามักเรียกคู่กันว่า "ระเม็ง-ระม่าน" หรือ "เมร็ง-มร่าน" หมายถึง "มอญ กับ พม่า") นานถึง 217 ปี

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ...เป็นเพราะล้านนาขาดวีรบุรุษที่เข้มแข็งเด็ดขาดเยี่ยงพระนเรศวร หรือถูกไสยศาสตร์ครอบงำตามที่คนเฒ่าคนแก่ยืนยันก็ตาม

ความทรงจำหน้านี้จึงแทบจะขาดหายไปจากสารบบ ไม่มีใครอยากบันทึกถึงมันเพื่อตอกย้ำความขมขื่น

ทุกครั้งที่เราอ่านประวัติศาสตร์ล้านนาจึงรู้สึกว่ามีอะไรขาดหายเว้าๆ แหว่งๆ ไป

ทว่า ในยุคปัจจุบันเสียงร่ำร้องถามไถ่อยากให้ไขปริศนาถึงสภาพสังคมเชียงใหม่ในยุคที่พม่าปกครอง ว่าถูกข่มเหงยำเยงอย่างป่าเถื่อน กักขฬะ เลวร้ายจริงเท็จประการใด กลับดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ


เมื่อล้านนาตกอับ
กลายเป็นรัฐประเทศราชกึ่งเครือญาติกับพม่า

ในระยะแรกที่บุเรงนองยึดเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งให้ท้าวเมกุฏิเชื้อสายราชวงศ์มังราย เป็นเจ้าเมืองปกครองล้านนาในฐานะประเทศราช ต้องเข้าเฝ้าบุเรงนองปีละ 1 ครั้ง พร้อมแต่งเครื่องบรรณาการต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองไปถวาย

สิ่งที่พม่าบังคับให้ส่งส่วยมี ช้าง ม้า น้ำรัก เครื่องแพรพรรณต่างๆ พร้อมจัดหากำลังคน เสบียงอาหารช่วยพม่าไปรบกับกรุงศรีอยุธยา

ไม่นานนักพม่าระแวงว่าท้าวเมกุฏิคิดทรยศ จึงแต่งตั้งนางพญาวิสุทธิเทวี สตรีเชื้อสายราชวงศ์มังรายอีกเช่นกัน แต่มีฐานะเป็นชายาองค์หนึ่งของบุเรงนองขึ้นปกครองแทน

ล้านนาจึงเปลี่ยนฐานะจากเมืองประเทศราชธรรมดากลายเป็นเมืองประเทศราชกึ่งเครือญาติกับพม่า เพราะหลังจากนั้น บุเรงนองให้เจ้าฟ้ามังทรา หรือมังนรธาช่อ โอรสที่เกิดจากนางพญาวิสุทธิเทวีขึ้นปกครองต่อ

ทำให้ล้านนาอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะคิดก่อการกบฏโค่นล้มมังทราก็ทำได้ไม่สะดวกใจนัก อย่างน้อยก็เห็นแก่สายโลหิตที่สืบมาแต่วิสุทธิเทวี

แต่แล้วเมื่อพ้นยุคของมังทรา พม่ากลับปกครองล้านนาอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าหัวเมืองมอญ ฉาน หรือเชียงตุง โดยเฉพาะชนชั้นผู้ปกครอง พม่าต้องยิ่งคุมเข้มและวางกลยุทธ์มากเป็นพิเศษ

มีทั้งแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนสลับสับเปลี่ยนให้เวียนไปรั้งเมืองต่างๆ ห้ามผูกขาดเก้าอี้ตัวเดิมเพื่อป้องกันการก่อหวอดของมาเฟีย

ช่วงที่มีศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยา พม่ามักนำตัวราชบุตรหรืออนุชาเจ้าเมืองประเทศราชไปไว้เป็นตัวประกันที่หงสาวดีหรืออังวะด้วย ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขุนนางล้านนาสบช่องแปรพักตร์หันไปสวามิภักดิ์ต่อชาวสยาม



กฎหมายม่าน
ว่าด้วยเรื่อง "ไพร่เอาการเมือง"

มีด้วยหรือ "ไพร่เอาการเมือง" แล้ว "ไพร่ไม่เอาการเมือง" ล่ะมีด้วยหรือเปล่า?

เอกสารโบราณที่กล่าวถึงกฎหมายของม่านในล้านนา ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเชียงมั่น เรื่อง "ไพร่เอาการเมือง" สรุปได้ว่าพม่าแบ่งไพร่ออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นไพร่ไทหรือไพร่เมือง หมายถึงประชาชนชาวบ้าน

และอีกกลุ่ม คือไพร่เอาการเมือง หมายถึงไพร่ที่พอจะมีความรู้ความสามารถจึงถูกดึงมาช่วยราชการ

แสดงว่าในสังคมเมืองเหนือคำว่า "การเมือง" มีใช้มานานแล้วตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน แม้บริบทจะต่างกับคำว่าการเมืองในยุคปัจจุบันเล็กน้อย

ในส่วนของไพร่ไท กฎหมายม่านระบุชัดว่าขุนนางพม่าต้องเลี้ยงดูรักษาไพร่ไทอย่าให้เดือดร้อนทุกข์ยาก ให้ไพร่มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

เกี่ยวกับการบุกเบิกที่นาทำกินของไพร่ ม่านให้อนุโลมตาม "กฎหมายมังรายศาสตร์" ที่พระญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนาได้บัญญัติขึ้น ว่าเรือกสวนไร่นาใดกลายเป็นนาร้างนาน 10 ปี หากต่อมาไพร่ไทได้แผ้วถางบุกเบิกให้เป็นเรือกสวนไร่นาอันอุดม ให้ไพร่ผู้นั้นสามารถทำนาทำสวนต่อไปโดยไม่เก็บค่านา 3 ปี ถ้าเกิน 3 ปีไปแล้ว ให้ขุนกินเมืองเก็บภาษีตามประเพณีโบราณ

หรือกรณีที่ไพร่ถูกเกณฑ์ให้ไปทำสงคราม แล้วได้กู้เงินเอามาเลี้ยงดูลูกเมียในระหว่างที่ตนออกศึก เมื่อกลับคืนมาถึงบ้านเมืองแล้ว ให้ผู้กู้ใช้คืนสองเท่า โอโห! คิดดอกเบี้ยแพงถึง 100%

หากผู้กู้ตายในระหว่างสงคราม ภาระหนี้ต้องตกเป็นของลูกเมียในกรณีที่มีพยานยืนยัน แต่หากลูกเมียไม่มีปัญญาจะใช้หนี้ ให้เจ้านายของไพร่ใช้แทน ถ้าเจ้านายไม่ใช้แทน ขุนนางพม่าต้องประชุมปรึกษากันแล้วหาเงินมาใช้หนี้แทนไพร่ เพื่ออนุเคราะห์ไพร่ที่ยากจนแร้นแค้นจริงๆ จะได้มีกำลังใจออกไปรบทัพจับศึก


ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์สำหรับลูกเมียไพร่อาสาศึกไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ คือในระหว่างที่ไพร่ลูกผัวไปช่วยออกรบต่างบ้านต่างเมือง ขุนกินเมืองจะฉวยโอกาสเรียกลูกเมียของไพร่อาสาศึกไปใช้งานอื่นมิได้

ในด้านการติดตามเฝ้าระวังควบคุมสัมมะโนประชากรนั้น พม่าอนุญาตให้ไพร่เมืองย้ายถิ่นฐานได้ แต่ห้ามคิดอยู่ในเขตไกลหูไกลตาที่พม่าควบคุมไม่ถึง

ถ้าพบว่าคนใดหลบหนีไปอยู่ป่า ไพร่ผู้นั้นจะถูกไล่ล่าและเฆี่ยนโบยทันที


หันมามอง "ไพร่เอาการเมือง" บ้าง ไพร่กลุ่มนี้มีหน้าที่ทำงานให้บ้านเมืองตามสถานะความรู้ความสามารถที่กำหนด หากเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ก็ต้องว่า เป็นกลุ่มแรงงานที่ใช้ทักษะขั้นสูงลงมาจนถึงกึ่งช่างฝีมือ

สิ่งที่ม่านหวั่นเกรงพฤติกรรมของไพร่กลุ่มนี้เนื่องจากเป็นคนมีฝีไม้ลายมือก็คือ มักมีอุบายหลบหนีงานโดยหลอกล่อขุนนางม่านว่าขอย้ายสังกัด และต้องเดินทางไป (ไม่รู้ว่าไปทัศนศึกษาดูงานหรือสัมมนาหรือเปล่า) ที่โน่นที่นู่นอยู่ตลอดเวลา เผลอปั๊บก็หายแซ็บหายสอย

ไพร่เอาการเมืองกลุ่มนี้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้คุมม่านไม่น้อย ต้องคอยตามเช็กบัญชีดึงไพร่ให้กลับไปอยู่ในสังกัดเดิมเมื่อเสร็จงาน

และหากทำอุบายคิดจะหลบหนีอีกให้ลงโทษจำคุก เรียกว่า "ปันราชวัตร" คือล้อมบริเวณกักกันไพร่หัวหมอผู้นั้น

กฎหมายอาญาที่ระบุโทษสถานหนักถึงขั้นประหารชีวิตนั้น พบในกรณีที่ทางการมีงานให้ไพร่ทำ แต่พ่อแม่ของไพร่รู้ข่าวกลับบ่ายเบี่ยงละเลย ซ้ำยังรู้เห็นเป็นใจแอบส่งลูกไปหลบซ่อนตามป่าเขา ม่านถือว่าเจตนามีหลีกเลี่ยงงานการเมือง คือริจะเป็นไพร่ไม่เอาการเมืองว่างั้นเถอะ

โทษที่ได้รับคือจับประหารหมดทั้งโคตร ทั้งตัวลูกไพร่ที่หลบหนี และทั้งตัวพ่อแม่ที่สมรู้ร่วมคิด


สำหรับคณะทำงานในกระบวนการยุติธรรมที่ม่านกำหนดไว้ กรณีมีคดีพิพาทใดๆ เกิดขึ้นในบ้านเมือง ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานนั่งฟังคำตัดสินคือผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ แท้ก็คือขุนนางม่านต่างพระเนตรพระกรรณที่ส่งตรงมาจากราชสำนักอังวะ ส่วนผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีคือ "เจ้าขุน"

ถ้าเป็นคดีใหญ่ที่สำคัญ ให้มีการประชุมเจ้าเมือง (ขุนกินเมือง) เลขานุการ (จาเรแคว้น) หัวหน้าแคว้นและล่าม ให้ประชุมพร้อมกันที่กว้าน (ศาล) แล้วจึงให้พิจารณาตัดสินตามธรรมศาสตร์ (รีดคลองธัมมสาด) ราชศาสตร์ อย่าได้ตัดสินโดยเห็นแก่สินบนหรือตัดสินโดยลำเอียง

ข้อนี้ยิ่งน่าฟัง ห้ามขุนการเมืองม่านปรับไหมหรือลงโทษไพร่ไทโดยพลการ ตราบที่กฎหมายยังมิอาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิด ห้ามตัดสินคดีตามใจชอบต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบก่อน

และหากลูกหลานของขุนการเมืองม่านไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ มีข้อห้ามมิให้ใช้อำนาจบังคับไพร่ด้วยการแย่งอาหาร หมู เป็ด ไก่ หมาก เมี่ยง พลู ของขบเคี้ยวต่างๆ อย่างเด็ดขาดเพราะจะทำให้ไพร่เดือดร้อน

สำหรับทหารพม่าที่เพิ่งมาจากหงสาวดีและอังวะ เมื่อเข้ามาถึงเมืองเชียงใหม่แล้วให้ปลูกโรงช้างโรงม้าบ้านเรือนขึ้นใหม่ แต่อย่าได้ข่มเหงขุนกินบ้านกินเมืองเชียงใหม่เดิมให้เดือดร้อน เขาแบ่งปันให้เท่าใดก็รับเอาเพียงเท่านั้น อย่าได้แก่งแย่งครุบชิงเอาของเขา

เป็นธรรมดาของการเขียนตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าชาติใดภาษาใดและยุคสมัยใด ที่พออ่านแล้วเรามักรู้สึกซาบซึ้ง ประหนึ่งว่า ความเป็นธรรมยังมีหลงเหลืออยู่จริงในโลกอันแสนจะเหี้ยมโหด คนต้องคดียังพอจะเรียกร้องหาความยุติธรรมได้อยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็นเช่นไรเราก็รู้ๆ กันอยู่

กฎหมายข้อสุดท้ายที่อยากหยิกยกมาเป็นอุทาหรณ์ ก็คือ "คลองยายีม่าน ว่าด้วยลักษณะมักเมียท่าน" กล่าวถึงการลักลอบเป็นชู้กับเมียผู้อื่นนั้น หากเป็นสมัยที่ถูกตราในกฎหมายมังรายศาสตร์ ได้กำหนดบทลงโทษไว้สถานหนัก

แต่แล้วในข้อนี้พม่ากลับอนุโลมยืดหยุ่น แบบมีนัยยะแอบแฝงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผองพวกตนจักได้กระทำการย่ำยียื้อแย่งลูกเมียชาวบ้านได้สะดวกขึ้นประมาณนั้น



แรงงานพม่าข้ามชาติ
อุปสรรคประชาคมอาเซียน

หันมามองทีท่าของรัฐบาลไทยปัจจุบัน ที่มีต่อแรงงานพม่าในยุคที่ต่างคนต่างเป็นอิสระจากกันดูบ้าง

พม่าต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำหน้ากลบพื้น กับระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ที่เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตคราใด ทหารจะนำรถบรรทุกมาไล่เก็บข้าวจากลานทุ่งของชาวนาทุกบ้าน

เมื่อทำงานหนักแต่กลับอดอยากมีข้าวไม่พอกินไม่พอขาย ก็เหมือนกับทำงานให้รัฐฟรี ในขณะที่ผู้นำประเทศรวยล้นฟ้า ความฝันที่จะมาขุดทองในประเทศเพื่อนบ้านผลักดันให้แรงงานพม่าเกินกว่า 2 ล้านคนต้องทะลักไหลเข้ามาหาเช้ากินค่ำในแผ่นดินสยามแบบ "หนีร้อนมาพึ่งเย็น" ในช่วงระยะเวลานานกว่าสองทศวรรษแล้ว

แรงงานพม่ามีทั้งแบบเถื่อนและไม่เถื่อน ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือเลี่ยงกฎหมู่แต่ก็ล้วนประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน เมื่อขึ้นชื่อว่าแรงงานพม่า สิ่งที่ตามมาเป็นโดมิโนคือ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกละเมิดทางเพศ กดขี่ค่าแรง แบ่งเขา-แบ่งเรา ด้วยการถูกสร้างภาพลักษณ์ให้คนไทยชิงชังในนิยามของ ตัวแพร่เชื้อโรค ขนยาเสพติด แย่งงานคนไทย เป็นภัยด้านความมั่นคง เป็นแหล่งซ่องสุมอาชญากร เป็นลูกจ้างจอมโหดที่เผลอแล้วชอบเอาเด็กทารกถ่วงน้ำ หรือเอามีดปาดคอคุณนาย

แต่แรงงานไพร่ไม่เอาการเมืองอย่างคนพม่า ก็ไม่เคยมีเวทีให้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อถูกกล่าวหาว่าทำผิด บทลงโทษที่รัฐไทยนิยมทำ ก็คือการส่งตัวกลับสถานเดียว

พวกไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มประชากรใน Generation 2 ที่เกิดและโตบนแผ่นดินไทยแต่มีพ่อแม่เป็นพม่า หากถูกส่งกลับวันใดก็เหมือนส่งไปลงขุมนรกคือมักถูกยิงทิ้ง เพราะพม่าไม่รับรองว่าเป็นประชากรของตน

หลายคนบอกสมน้ำหน้าแล้วกับสิ่งที่พม่าได้รับ โดยอ้างว่าเป็นกงเกวียนกำเกวียนที่พม่าเองได้เคยกดขี่คนไทย

บางคนมองว่า หากวิญญาณของบุเรงนองยังไม่ไปผุดไปเกิดที่ไหน คงร่ำไห้ให้กับการอวสานของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งผู้ชนะสิบทิศ นับแต่ต้องแพ้พ่ายกลายเป็นอาณานิคมอังกฤษ และตกต่ำถึงขีดสุดในยุคสังคมนิยมแบบพม่า น้ำตาบุเรงนองคงเอ่อนองลุ่มน้ำอิรวดีและสาละวินอย่างไม่สิ้นสายกระมัง

ปี 2015 ธงที่ตั้งไว้ว่าเราจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนั้น มีใครเริ่มทบทวนความเสมอภาคเรื่องประชากรของแต่ละรัฐกันอย่างเจาะลึกแล้วหรือยัง

มิเช่นนั้นประชาคมอาเซียนก็คงมีค่าเพียงวาทกรรมอันสวยหรู

แต่ภายในนั้นช่างกลวงเปล่าหาสาระที่แท้จริงมิได้

ตราบที่ลมหายใจของไพร่ไม่เอาการเมืองกลุ่มมหาศาลทั้งพม่า ลาว เขมร ญวนยังรวยรินบนร่างที่ถูกแขวนไว้บนเส้นลวด



.