http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-09

มุกดา: เตรียมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป..ไทยต้องเปลี่ยนตาม / สุธาชัย: ถนนประชาธิปไตย ๒๕๕๕ . .

.
มีโพสต์หลังบทความหลัก
- "ธีระชัย" ถอดหัวโขน รมว. สวมวิญญาณลูกหม้อป้อง ธปท.
- "ดร.โกร่ง"ซัด"แบงก์ชาติ"ชอบพูดให้สังคมไม่ไว้ใจวางใจนักการเมือง ชี้คนไว้ใจ ธปท.แต่เมิน รมว.คลัง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


เตรียมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป และไทยต้องเปลี่ยนตาม ในปี 2555
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 20


พระพุทธเจ้าสอนเรามานานถึง 2,600 ปี แล้วว่าโลกเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง
2,000 ปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงอาจจะดูช้ามาก
500 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนเร็วขึ้น
50 ปีล่าสุด เร็วแบบเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของคน
และ 5 ปีสุดท้าย โลกมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นเพียงแค่ช่วงรอบวงโคจรของดวงจันทร์ พวกเราจึงมองเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง
แต่หลังจากโลกมีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ต เราจึงได้รู้ว่าโลกเปลี่ยนเร็วมาก ทั้งสิ่งแวดล้อม คน และเทคโนโลยี


ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

เราเคยชินกับการดูโทรทัศน์เพียง 5-6 ช่อง แต่วันนี้จานดาวเทียมทำให้เราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ได้เกินกว่า 100 ช่อง

มีอุปสรรคเพียงอย่างเดียวคือภาษา แต่ในอนาคตเชื่อว่ารายการที่ดีจะสามารถสร้างรายได้จากการโฆษณา ทำให้มีการว่าจ้างเพื่อแปลภาษาให้คนดูในแต่ละประเทศเข้าใจ

ส่วนสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว ในประเทศไทยเรา หลายภาคไม่มีฤดูหนาวแล้ว เรามีฤดูร้อน ฤดูร้อนมากและฤดูฝน

สิบปีมานี้ทุกคนก็เริ่มเคยชินและปรับเพื่อใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับฤดูร้อน แต่สำหรับฤดูฝนเกิดน้ำท่วมขึ้นเกือบทุกภาค จากน้ำท่วมธรรมดาเป็นน้ำท่วมมากและล่าสุดมีมหาอุทกภัย

สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นคือหิมะ แต่มีคนบอกว่า ในอนาคตอาจจะได้เห็น

ดังนั้น ใครที่ไปเที่ยวสัญญาว่าถ้าหิมะตกจะเลิกเล่นการเมือง หรือกระทำการที่เสี่ยงอันตรายอย่าได้สัญญาแบบนั้นเด็ดขาด

คำถามยอดฮิตของวันนี้คือ ปี 2555 น้ำจะท่วมใหญ่อีกหรือไม่ ทีมวิเคราะห์ที่นี่ฟันธงว่า โอกาสเกิดน้อยมากเพราะผู้รับผิดชอบดูแลน้ำในเขื่อนจะปล่อยน้ำในฤดูแล้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านทำนาปรัง และปล่อยให้มากจนกระทั่งสามารถรับน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนได้อย่างสบายๆ

แต่ถ้าปีหน้าฝนตกน้อย ปี 2556 ชาวบ้านก็จะต้องรับปัญหาใหม่คือความแห้งแล้ง

ในขณะเดียวกัน ถ้าฤดูฝน 2555 ฝนตกใต้เขื่อนมาก ก็ยังอาจเกิดน้ำท่วมได้อยู่ดี แต่เป็นการท่วมตามปกติ การเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงรับสิ่งแวดล้อม

วันนี้ต้องคาดคิดและเตรียมการรับมือแบบหนักที่สุด แบบนี้จึงจะปลอดภัย



การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญยังอยู่ในด้านการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการรับรู้ของผู้คนและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีใหญ่จำนวนมาก เกิดขึ้นมาไม่ประสบความสำเร็จและดับลงไปภายในเวลาไม่ถึงปี ส่วนที่ประสบความสำเร็จคนก็จะนิยมใช้ทั่วทั้งโลก

ในอนาคตการสื่อสารที่ต้องใช้สายคงแทบจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ นั่นหมายความว่ามนุษย์จะติดต่อกันได้เกือบทุกจุดที่อยู่ในโลก

ส่วนความรวดเร็วในการขนส่ง ล่าสุดประเทศจีนสามารถทำรถไฟความเร็วสูงได้ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจทำได้สูงถึง 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ใครจะกล้านั่ง



การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

นับแต่ปี 2555 หลายคนมีความเชื่อว่า ทั้งยุโรปและอเมริกาจะยังไม่ฟื้นตัวง่ายๆ สภาพเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงติดต่อกันมา 3-4 ปียังจะต้องดิ่งลงต่ำต่อไปอีก เหมือนคนที่เคยรวย ไม่ขยันทำงาน วันนี้เมื่อฐานะตกต่ำ และยังไม่ปรับตัว หนี้สินเก่าก็ยังมีมากมายนับล้านล้าน

แนวโน้มความเจริญทางเศรษฐกิจได้ย้ายมาอยู่ในประเทศแถบเอเชียหลายปีแล้ว ส่วนฝรั่งฐานะดีไม่ยอมล่มสลายไปกับคนจนๆ ในยุโรปหรืออเมริกา คนพวกนี้จะย้ายทุนข้ามโลกมายังแถบเอเชีย ทั้งที่ไปลงทุนในตลาดหุ้นและลงทุนในภาคการผลิตจริงๆ

ฝรั่งที่ยากจนทั้งสองทวีปหนีไปไหนไม่ได้ ไม่มีปัญญาไปลงทุนข้ามชาติก็จะต้องยากจนต่อไป

ส่วนคนรวยนั้นที่ไหนมีเงินพวกเขาก็จะไปที่นั่น ถึงตัวไปไม่ได้ก็จะส่งวิญญาณแห่งความโลภไปทางอากาศ
สำหรับบ้านเราเมื่อเงินของฝรั่งเข้ามาลงทุนเพราะไม่รู้จะส่งไปไหนจะทำให้ราคาหุ้นในตลาดทรงตัวอยู่ได้ ทำให้มองดูคล้ายกับเศรษฐกิจดีแต่ที่จริงแล้วชีวิตชาวบ้านที่ไม่ได้มีเงินเล่นหุ้นก็ยังยากลำบากอยู่

ภาคการเกษตรจะต้องดูราคาข้าวกับราคายาง ถ้าการผลิตรถยนต์ทั่วโลกลดลง ราคายางคงไม่ดีขึ้น

แต่สำหรับราคาข้าวเนื่องจากมีความเสียหายในหลายพื้นที่ ราคาข้าวจึงยังน่าจะดีอยู่ ส่วนชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไปคงจะต้องบริโภคของแพง แพงขึ้นทุกอย่างไม่มีข้อยกเว้น

ดังนั้น การขึ้นค่าแรงสำหรับคนจน 300 บาท จึงเป็นเพียงการปรับเพื่อให้อยู่รอดได้เท่านั้น เป็นคำสัญญาที่รัฐบาลต้องทำให้ได้โดยเร็ว การยืดหยุ่นทำได้ก็เพียงช่วงเวลาสั้นๆ



การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในต่างประเทศ

ที่เห็นชัดคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าซึ่งได้เขียนรายละเอียดไปในฉบับที่แล้วว่า เป็นการเปิดประตูสู่สากลของพม่า และได้รับการยอมรับจากผู้นำเกือบทุกฝ่าย

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในประเทศแถบแอฟริกาเหนือ ตูนิเซีย เปลี่ยนแปลงสำเร็จแล้ว ลิเบีย อดีตประธานาธิบดีกาดาฟี เสียชีวิตจากสงครามปฏิวัติกลางเมืองที่หนุนโดยชาติตะวันตก ยังไม่รู้ว่าประชาธิปไตยในบ่อน้ำมันของลิเบียจะไปได้ไกลขนาดไหน

ส่วนในอียิปต์ เริ่มต้นเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในประเทศไทย แต่วันนี้มีคนกังวลว่า อาจจะจบแบบ 6 ตุลาคม เพราะทหารเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่งแล้ว

แต่การต่อสู้ในตะวันออกกลางที่ประเทศซีเรียหนักขึ้นทุกวัน ทีมวิเคราะห์คาดว่าบทสุดท้ายจะจบลงในปี 2555 แน่นอน

และคิดว่าผู้นำเผด็จการ ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด...น่าจะลี้ภัยทางการเมืองออกไปได้ทัน มิฉะนั้น จะมีจุดจบแบบกาดาฟี



การเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศไทย

สิ้นปี 2554 เหล่านกขุนทองในไร่ส้มได้ตั้งฉายาให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็น "นายกฯ นกแก้ว" คือพูดวนอยู่ในกรอบที่กำหนดและตามหลังข่าวตลอด ไม่สามารถนำไปเป็นประเด็นใหม่ได้ หรือโยงให้ไปปะทะกับใครก็ไม่ได้ คล้ายๆ กับอดีตนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ที่พูดน้อยจนได้ฉายาว่า "เตมีย์ใบ้"

นายกฯ ที่มีลักษณะแบบนี้เป็นที่ขัดใจของพวกนกขุนทองในไร่ส้มยิ่งนัก

วันนี้พรรคเพื่อไทยเดินเกมการเมืองระมัดระวังอย่างที่สุด ทั้งยิ่งลักษณ์และทักษิณมีบทบาทที่เป็นได้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง รัฐบาลจะอยู่ได้นานหรือไม่ ก็อยู่ที่สองคนนี้เป็นหลัก

แน่นอนว่าข้างหลังยังมีทีมงานอีกหลายคน

ดังนั้น การเดินเกมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยจึงต้องเล่นเป็นทีม มีบทกำกับว่า ใครเล่นบทอะไร? ต้องทำอย่างไร?


บทบาทของทักษิณ ในปี 2555 ไปเปรียบเทียบเป็นนกไม่ได้เพราะมีพลังและความเร็วสูงจึงเปรียบได้ดังเครื่องบินรบที่บินโฉบไปมา สามารถเข้าโจมตีทางอากาศ มีสนามบินให้ลงทั่วโลกยกเว้นประเทศไทย ถ้าโฉบมาใกล้ก็จะถูกหมาเห่าจนไม่กล้าแวะเวียน

แต่เครื่องบินแบบทักษิณก็จะบินจนกว่าจะได้ลง หมาก็จะเห่าเพราะหวังว่าเครื่องบินจะน้ำมันหมดและตกลงมาเอง

เผอิญสนามบินที่ดูไบน้ำมันเยอะเครื่องบินลำนี้จึงยังบินวนอยู่ได้ติดต่อกันหลายปี สามารถทำการรบทางอากาศ บินสอดแนม ทิ้งระเบิดปูพรม หรือบินเป็นเป้าหมายลวง

ปี 2555 เครื่องบินแบบทักษิณก็จะบินอยู่อย่างนี้แต่น่าจะบินถี่ขึ้นและบินไปทั่วโลก คาดว่าในปีใหม่นี้จะเห็นเครื่องบินลำนี้ไปลงที่อเมริกาและอังกฤษ ได้ข่าวว่ามีการเคลียร์สนามบินรอรับไว้แล้ว

ส่วนพาสปอร์ตนั้นไม่มีใครสนใจว่าจะใช้ของชาติอะไร เพราะเขาถือว่าเป็นพลเมืองของโลก


บทบาทของยิ่งลักษณ์ ปี 2554 สำหรับประชาชนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกเลือกให้เป็นกัปตันทีมฟุตบอล แต่ต้องเล่นตามโค้ชสั่งเท่านั้น

ต้องจ่ายลูกออกไปให้กองหน้า

เวลาถูกบุก ก็จะมีทั้งกองหลัง กองหน้ามาช่วย

ทีมฟุตบอลเพื่อไทยต้องเล่นตามแผนเป๊ะ เล่นอย่างระมัดระวัง เพราะกรรมการและผู้กำกับเส้นเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มตัว จ้องจับผิดตลอดเวลา ถ้าทำปากขมุบขมิบเหมือนด่าฝ่ายตรงข้าม อาจถูกหาว่าดูหมิ่นหรือเหยียดผิว

ถ้าพลาดเล่นแรงไปก็จะเสียลูกโทษอาจโดนไล่ออกจากสนาม ถูกห้ามเล่นไป 5 ปี หรือถูกยุบทีม

นี่คือเหตุผลที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

กัปตันทีมคนนี้จึงต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว แม้เวลาพูดก็ต้องระวังทั้งศัพท์และสำเนียงในที่สาธารณะ

จะไปแสดงอาการหัวเราะหรือร้องไห้ก็ไม่ได้เพราะอาจถูกหาว่าเยาะเย้ยหรืออ่อนแอ


ปี 2555 นายกฯ นกแก้ว ยังจะบินอวดสีสันของขนปีกขนหางต่อไปโดยไม่แคร์ต่อเสียงค่อนแคะเหน็บแนมของฝ่ายตรงข้าม แต่จะต้องเก็บจะงอยปากและซ่อนกรงเล็บไว้

นกแก้วตัวนี้จะไม่ถกเถียง ไม่เรียกร้อง ไม่แสดงตัวเป็นพิราบหรือเหยี่ยว และคงจะท่องคำว่าปรองดอง ปรองดอง ไปตลอดทั้งปี 2555

ลำพังการบริหารงานในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ทำไม่ไหวอยู่แล้ว จึงต้องแบ่งหน้าที่ในการแก้รัฐธรรมนูญไปไว้ให้กองหน้าซึ่งอยู่ในสภาไปทำแทน

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามเรียกร้องให้นายกฯ ออกมานำในการแก้ปัญหานี้ โดยหวังว่าจะถ่วงเวลาโดยการทำประชามติถามประชาชนว่าจะแก้หรือไม่ แล้วจะใช้แผนขู่ให้คนกลัวโดยประดิษฐ์คำว่า "แก้รัฐธรรมนูญแล้วบ้านเมืองจะวุ่นวาย" และระดมคนมาลงคะแนนคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสรู้เลยว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะดีกว่าฉบับเผด็จการสักแค่ไหน

แต่แผนนี้คงไม่มีทางทำได้สำเร็จเพราะว่าคนที่จะมาแทนยิ่งลักษณ์ในงานนี้ ล้วนแต่เป็นมือเซียนบ้านเลขที่ 111 ทั้งสิ้น

การแก้รัฐธรรมนูญจะยังคงแผนเดิม โดยการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ดีที่สุดและนำมาลงประชามติให้คนรับรอง ตามขั้นตอน



บทบาทของคนเสื้อแดง

ในปี 2555 ในที่สุดคนเสื้อแดงก็จะรู้สึกถึงสถานะของตนเองว่าเป็นแดงแบบไหน แดงรักทักษิณ แดงเพื่อไทย แดงประชาธิปไตย แดงปฏิวัติ หรือแดงเฉยๆ

นับจากนี้ไป พวกเขาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อเลือกสนามการต่อสู้ที่เหมาะสมกับตนเอง

แต่บางคนก็อาจถอยออกมาเพราะไม่พอใจ บางเรื่อง บางประการ

ถ้าไม่มีการต่อสู้ใดๆ เป็นพิเศษ การเพิ่มของคนเสื้อแดง ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ก็จะเป็นไปอย่างช้าๆ

แต่ถ้าถูกกระตุ้นด้วยความอยุติธรรมต่างๆ เช่น การรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ ยุบพรรค แดงทุกระดับก็จะรวมตัวกันเพื่อต่อสู้


ในทางกลับกันถ้ารัฐบาลที่พวกเสื้อแดงสนับสนุนแสดงปฏิกิริยา หรือมีนโยบายที่พวกเสื้อแดงรับไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น

ถ้าหยุดความขัดแย้งนี้ไม่ได้ นั่นหมายถึงบทสุดท้ายของรัฐบาล

ทีมวิเคราะห์คาดว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงน่าจะทำในปี 2555 คือ

สนับสนุนให้ลบผลพวงของรัฐประหาร 2549 ซึ่งเสนอโดยคณะนิติราษฎร์ สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญและการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

ติดตามเร่งรัดคดี 91 ศพ คดีปิดสนามบินและยึดทำเนียบของพันธมิตรเสื้อเหลือง คดีที่ค้างคาอยู่ของกลุ่มเสื้อแดง ติดตามผลการทำงานของ กสม.
แต่ความเห็นและขั้นตอนการต่อสู้อาจไม่เหมือนกับพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น การทำงานของกลุ่มเสื้อแดงกับรัฐบาลอาจไม่ราบรื่นเสมอไปซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องแยกมิตรแยกศัตรูให้เป็น

เพราะการปิดฉากรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่เราเรียกว่า...ลิเกเลิก น่าจะเกิดขึ้นได้ในสองเงื่อนไข หนึ่ง คนเสื้อแดงเลิกสนับสนุน สอง ทักษิณเลิกสนับสนุน ซึ่งอาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยแตกออกเป็นพรรคเล็ก



ในโลกนี้การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งแน่นอนที่สุด จึงต้องทำความเข้าใจในเหตุผล
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เรากราบไหว้ต้นไม้ หัวปลีพญานาค หรือผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ แต่สอนให้ค้นหาเหตุผล ไม่งมงาย
แต่ก็ยังมีคนที่มีความเชื่อแบบไร้เหตุผลหรือเชื่อตามเหตุผลเก่า ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

บางทีอาจเป็นเพราะการศึกษาน้อย แต่บางครั้งผู้มีการศึกษาสูงก็ยังคงงมงายอยู่กับความเชื่อเก่าหรือกับความนิยมเฉพาะของตนเองโดยไม่รับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่เพียงทำให้ตัวเองมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ยังเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

นับจากปี 2555 ถึงปี 2560 การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วยิ่งกว่าที่เคยเห็นมาในอดีต สิ่งที่คาดไว้และสิ่งที่คาดไม่ถึงอาจเกิดขึ้นพร้อมกัน

ปีใหม่นี้ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์



++

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ถนนประชาธิปไตย ๒๕๕๕ ปีแห่งการรุกของพลังประชาธิปไตย
จาก www.prachatai.com/journal/2012/01/38648 . . Sat, 2012-01-07 16:43


ปี พ.ศ.๒๕๕๕ ถือเป็นปีมะโรงตามนัขษัตร ได้รับการกล่าวถึงในลักษณะต่างๆ บ้างก็ว่าจะเป็นปีมังกรทอง ที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว บ้างก็ว่าเป็นปีมังกรน้ำ เพราะจะเกิดน้ำท่วมมากกว่าปีก่อน นอกจากนั้นยังมีประเภทคำทำนายว่า จะเกิดภัยพิบัติ หรือเป็นปีโลกแตก แต่ที่กล่าวมาส่วนมาก ล้วนแต่เป็นคำทำนายอันเหลวไหล นึกเดาเอาเอง โดยไม่มีรากฐานจากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะคาดการณ์สถานการณ์ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในบทความนี้ จะขอลองคาดการณ์จากข้อมูลที่เป็นจริงและขอนำเสนอว่า ปีนี้จะเป็นแห่งการรุกของฝ่ายประชาธิปไตย

การคาดการณ์นี้ มาจากข้อสรุปอย่างกว้างว่า ความหมายของ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ คือ ปีแห่งการต่อสู้ของประชาชนคนเสื้อแดง ปี พ.ศ.๒๕๕๔ คือ ปีแห่งการฟื้นตัวของขบวนการประชาธิปไตย โดยเฉพาะชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนกรกฎาคม ถือว่ามีความหมายสำคัญในทางประวัติศาสตร์อย่างมาก

ทั้งนี้คงต้องขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ที่มีการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา คือ สถานการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่างพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตย และพลังฝ่ายประชาธิปไตยของประชาชน ในระยะแรก ฝ่ายอำมาตย์มีความได้เปรียบ เพราะเป็นฝ่ายควบคุบกำลังทหาร ควบคุมกลไกรัฐ กลไกศาล และครอบงำความคิดด้วยสื่อมวลชนกระแสหลัก ฝ่ายอำมาตย์ได้ตั้งรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ มาควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่แรก โดยไม่คำนึงถืงเจตนารมย์ของประชาชนส่วนข้างมาก และวาดภาพผีทักษิณขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ฝ่ายตน ต่อมา เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนก็ได้แสดงเจตนารมย์ชัดเจน โดยการเลือกพรรคพลังประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาบริหารประเทศ ฝ่ายอำมาตย์ไม่พอใจ จึงโอบอุ้มเอาพรรคประชาธิปัตย์ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง มาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ประชาชนจำนวนมากจึงได้รวมตัวกันเป็นขบวนการคนเสื้อแดง ภายใต้การนำของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) และต่อสู้คัดค้านตลอดมา ฝ่ายอำมาตย์ตอบโต้โดยการใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้าง และจับกุมคุมขังทั้งด้วยข้อหาก่อการร้าย ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ และ ข้อหาอืนๆ รวมทั้งใช้สื่อกระแสหลักโจมตีทำลายภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดง ให้เป็นพวกเผาบ้านเมือง แต่ก็ไม่ประสบผล เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ประชาชนก็เลือกพรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้น ฝ่ายอำมาตย์ต้องถอยทางยุทธศาสตร์อีกครั้ง โดยยอมให้พรรคพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

แต่กระนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ ฝ่ายอำมาตย์ก็ยังคงมีมหิธานุภาพ โดยเฉพาะยังคงควบคุมกองทัพแห่งชาติ โดยอาศัย พรบ.กลาโหม ที่ออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนนท์ เป็นเกราะป้องกัน ไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปจัดดำเนินการ นอกจากนี้ก็ยังควบคุมอำนาจตุลาการ และรองรับความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่เปิดทางให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย และ ยังใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑๒ ข่มขู่คุกคามประชาชนไม่ให้มีความเห็นต่างจากพวกอำมาตย์ และฝ่ายอำมาตย์ยังคงควบคุมกำหนดกรอบสำหรับสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่มอมเมาประชาชนและปกป้องพวกอำมาตย์ ดังนั้น ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเพียงจังหวะก้าวแรก จะต้องมีการรุกทำให้ในขั้นตอนต่อไป จึงจะทำให้สังคมไทยบรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยที่แท้จริงได้


ในยุทธศาสตร์ระยะยาวของการต่อสู้ เป็นที่แน่นอนว่า พลังฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องชนะอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุผลประการแรกคือ ประชาธิปไตยเป็นกระแสการเมืองของโลกนานาชาติ ประเทศสำคัญในโลกต่างก็สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่มีประเทศใดเลยที่อำมาตยาธิปไตยได้รับชัยชนะ ประการที่สอง ประชาชนไทยมีความตื่นตัวมากขึ้น ปรากฏการณ์ตาสว่างขยายตัว ผู้คนเห็นธาตุแท้อันหลอกลวงของฝ่ายอำมาตย์มากขึ้น ประการที่สาม ระบอบศักดินานั้น เป็นยาหมดอายุ ย่อมพ่ายแพ้ต่อกาลเวลา

คำถามสำคัญในขณะนี้ คือ พลังฝ่ายประชาธิปไตยจะทำการรุกอย่างไร จึงจะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปในทางที่เป็นคุณแก่ขบวนการประชาชน

ในขณะนี้ เราก็จะเห็นได้แล้วว่า ใน พ.ศ.๒๕๕๕ นี้จะมีประเด็นหลักที่นำไปสู่การต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองอย่างแหลมคมอย่างน้อย ๒ เรื่อง คือ เรื่องแรก กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งได้เขี่ยลูกแล้ว โดยพรรคเพื่อไทย แนวทางการแก้ไขที่เป็นไปได้ในขณะนี้ คือ การตั้งสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมารับหน้าที่ เป้าหมายเฉพาะหน้า คือ ต้องผลักดันการตั้ง สสร.ที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ให้ประชาชนเป็นผู้เสือกสมาชิก สสร.ทางตรง และถ้าหากว่า จะต้องมีนักกฏหมายหรือนักวิชาการเข้าร่วม ก็จะต้องไม่เป็นเนติบริกรที่เคยรับใช้รัฐประหาร เช่น การกำหนดคุณสมบัติว่า ผู้ที่เคยเข้าร่วมในรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และ สภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ไม่มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิก เป็นต้น นอกจากนี้ คงต้องถกเถียงในเชิงข้อเสนอ เช่น เรื่องการยกเลิกวุฒิสมาชิกลากตั้ง การนำอำนาจตุลาการกลับคอกศาล การเพิ่มอำนาจรัฐสภา และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การยกเลิกองคมนตรี เป็นต้น

แต่ประเด็นที่แหลมคมยิ่งกว่านั้น คือ กระแสการรณรงค์เรื่องการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพราะในหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นแล้วว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ในการใส่ร้ายป้ายสี จับกุมคุมขังประชาชน และทำลายปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย และการดำเนินคดีเหล่านี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกระบวนการศาล การคัดค้านการใช้มาตรา ๑๑๒ จึงกลายเป็นกระแสใหญ่ และใน พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ จะเป็นกระแสใหญ่มากขึ้น ชวนผู้คน รวมทั้งปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกมาถกเถียง อันจะเป็นการขยายความรู้เชิงวิพากษ์แก่สังคมมากยิ่งขึ้น


ในการณรงค์ประเด็นเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า บทบาทการเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของ นปช.จะลดลง ตราบเท่าที่ นปช.ไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขมาตรา ๑๑๒ พลังของฝ่ายปัญญาชนที่ก้าวหน้า ที่มีกลุ่มนิติราษฎร์เป็นแกนกลาง จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เพราะข้อเสนอของฝ่ายนิติราษฎร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร และปฏิรูปมาตรา ๑๑๒ เป็นข้อเสนอที่ชัดเจนและเป็นธรรม กลุ่มประชาชนคนเสื้อแดงหลายกลุ่มจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวเช่นนี้

สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การสนับสนุนและความนิยมอาจจะตกต่ำลงในกลุ่มคนเสื้อแดง ตราบเท่าที่ยังคงล่าช้าในการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในกรณีเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และยังวางเฉยในการช่วยเหลือพี่น้องคนเสื้อแดง ที่ยังถูกดำเนินคดีและจำคุก เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และดำเนินโครงการตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และควรที่จะออกกฏหมายนิรโทษกรรม นำพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลจากกรณีการเมืองออกมาจากคุก โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ให้เข้าใจว่าคนเหล่านี้เสียสละและต่อสู้อย่างกล้าหาญ เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปัตย์ จึงสมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือ

และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลเพื่อไทยอย่าไปตามรอยความผิดพลาดของรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่นการปราบปราบเข่นฆ่าประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และไล่จับกุมประชาชนที่เห็นต่างตามอินเตอร์เนต ซึ่งเป็นวิธีการอันไม่ศิวิไลซ์ และเป็นการทำลายฐานของฝ่ายตนเองอย่างโง่เขลา ประเทศไทยจะก้าวหน้าต่อไปในทางประชาธิปไตย ก็ต่อเมื่อไม่มีนักโทษการเมือง และไม่มีนักโทษทางความคิด

ในลักษณะเช่นนี้ ปี พ.ศ.๒๕๕๕ ประชาชนก็จะมีความสุขโดยทั่วกัน



+++

"ธีระชัย" ถอดหัวโขน รมว. สวมวิญญาณลูกหม้อป้อง ธปท.
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 22


ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งสุดท้ายของปี 2554 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม มีเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างความตื่นตกใจ

เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)ได้เสนอให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ยังค้างอยู่ที่กระทรวงการคลังจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท กลับไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อหวังให้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศปรับลดลงจากปัจจุบัน 42% เหลือเพียง 30% และเปิดทางให้รัฐบาลเดินหน้ากู้เงินได้อีก โดยไม่กระทบต่อระดับหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อวินัยการคลังและความเชื่อมั่นของประเทศ

แต่ปรากฏว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคนที่แสดงให้สังคมเห็นมาโดยตลอดว่า ไล่บี้การทำงานของ ธปท. ภายใต้การบริหารงานของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ นับจากการเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม กลับเป็นคนเดียวที่คัดค้านแนวทางดังกล่าว ทั้งที่ยังนั่งเป็นกรรมการของ กยอ. ด้วย

พร้อมกับหาทางออกด้วยว่า ควรจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ธปท. กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กลับไปพูดคุยหารือรายละเอียดกันอีกครั้ง

หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น!!

หรือข่าวลือที่ได้รับ ถูกมองว่าอาจเป็นเรื่องที่ว่า ในเดือนมกราคมปีหน้า รายชื่อ ครม. ของ ครม.นางสาวยิ่งลักษณ์ จะไม่ปรากฏชื่อ นายธีระชัย ถูวนาถนรานุบาล นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกต่อไป เพราะมีข่าวลือมาเป็นระยะๆ ว่า นายธีระชัยอาจถูกปรับออกจาก ครม.

การออกมาปกป้องแบงก์ชาติในครั้งนี้ จึงเป็นการแสดงสปิริตในฐานะนักเรียนทุนและลูกหม้อแบงก์ชาติ เพราะรู้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะไม่ใช้งานอีกต่อไป!!


อย่างไรก็ตาม นายธีระชัยได้ชี้แจงถึงเหตุผลของการคัดค้านว่า เพราะเรื่องนี้เป็นวาระที่กระทรวงการคลังนำเสนอ จึงต้องชี้แจงข้อเท็จจริงว่า หากจะโอนหนี้ทั้งจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท กลับไปให้แบงก์ชาติบริหารจัดการ จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะเรื่องนี้เคยให้แบงก์ชาติทำการศึกษาถึงผลกระทบแล้ว ว่า หากรับโอนหนี้ไปนั้นจะทำให้เงินกองทุนติดลบเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้าจากที่จะต้องติดลบจากการดูแลตลาดเงินอยู่แล้ว 6.89 แสนล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่น และจะทำให้แบงก์ชาติไม่สามารถทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางได้อีกต่อไป

อีกทั้งประเด็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข ไม่ใช่หนี้ทั้งก้อน 1.14 ล้านล้านบาท แต่เป็นภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ตกประมาณปีละ 45,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยสูงถึง 65,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากดอกเบี้ยลดลง เพราะหนี้ก้อนนี้ เดิมก็เป็นภาระรับผิดชอบของแบงก์ชาติตามกฎหมายกำหนดอยู่แล้ว เพียงแต่ยอดเงินต้นไม่ลดลง ภาระดอกเบี้ยจึงยังบาน และทำให้เงินที่ต้องชำระดอกเบี้ยในแต่ละปีงบประมาณมีมากจนกระทบกับงบลงทุน ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

แต่หากจะโอนภาระดอกเบี้ยกลับไปให้แบงก์ชาติรับผิดชอบ ก็ต้องให้อยู่ภายใต้ความสามารถของแบงก์ชาติ ว่าสามารถชำระจากส่วนที่เป็นกำไรของแบงก์ชาติเอง ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อปริมาณเงินในระบบ เพราะไม่ต้องพิมพ์เงินเข้าระบบเพิ่ม

แต่หากบังคับให้แบงก์ชาติต้องชำระมากกว่านั้น ก็ถือเป็นการพิมพ์เงินเพื่อให้รัฐบาลใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เพราะหากประเทศใดที่ใช้วิธีการดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติและสถาบันการเงินต่างชาติ อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือธนาคารโลก ไม่เชื่อถือ รวมถึงบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้วย

"หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะดำเนินการเช่นนั้น ก็จะเกิดข้อกังวลว่า รัฐบาลใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินเพิ่ม และจะเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เราต้องไปอยู่ในกลุ่มประเทศอาร์เจนตินา หรือซิมบับเว หากจะเรียกร้องให้ ธปท. ชำระดอกเบี้ยด้วย ก็ต้องขีดเส้นที่พอดีที่ไม่กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง และการบีบบังคับให้พิมพ์เงินเพิ่ม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี"

พร้อมกับหาทางออกว่า การนำดอกผลของแบงก์ชาติมาใช้น่าจะเป็นช่องทางที่จะไม่กระทบต่อวินัยทางการเงินของการเป็นธนาคารกลาง เพราะแต่ละปีของการดำเนินงานจะมีดอกผลเกิดขึ้น อย่างปีนี้จะสูงถึง 25,000 ล้านบาท เพียงแต่ในรูปแบบกฎหมายและการลงบัญชีที่ซับซ้อนของแบงก์ชาติในขณะนี้ ไม่เปิดช่องทางให้เท่านั้น

แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องทำความเข้าใจกับบรรดาศิษย์และญาติธรรมของหลวงตามหาบัว ที่นำทองคำมาบริจาคสมทบเป็นทุนสำรองทางการระหว่างประเทศจำนวนมากว่า การดำเนินการดังกล่าวจะไม่แตะต้องทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว

และอีกช่องทางคือ การนำเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์ที่กองไว้กับสถาบันประกันเงินฝากออกมาใช้ชำระหนี้ส่วนนี้ก่อน



แต่ไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบรับจากรัฐบาลหรือไม่อย่างไร เพราะระยะหลังๆ มานี้ หลังจากที่ นายธีระชัยถูกกาหัวว่าเป็น 1 ในรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกปรับออกในการปรับ ครม. ที่จะเกิดขึ้นหลังปีใหม่ ดูเหมือนความเกรงอกเกรงใจต่อตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเหลือน้อยเต็มที่

ไม่ว่าจะเสนอเรื่องอะไรใน ครม. มักถูกตีกลับเสมอ ซึ่งก็รวมถึงการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นนโยบายของนายธีระชัยเอง ที่ไล่บี้แบงก์ชาติมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เพื่อให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการคำนวณ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงและเตรียมประกาศใช้ไปกรอบนโยบายในปีหน้า แต่สุดท้าย ครม. ก็ไม่เห็นด้วย

หลายคนพูดตรงกันว่า ไม่แปลกที่นายธีระชัยออกมาปกป้องแบงก์ชาติ เพราะคนที่เคยทำงานในแบงก์ชาติ มักจะมีแนวคิดในเรื่องการปกป้ององค์กรของตนอยู่แล้ว แม้ว่านับจากเปิดตัววันแรก หลังได้รับการลงนามโปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเปิดแถลงนโยบายการทำงาน กลับเป็นการไล่บี้การทำงานของแบงก์ชาติเป็นหลัก จนถูกถูกจับตามามองว่า ทำตัวประหนึ่งเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติเสียเอง

เริ่มจากการมอบหมายให้กลับไปศึกษาความเหมาะสมของนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ซึ่งเป็นนโยบายที่ ธปท. ใช้ในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเศรษฐกิจ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 รวมถึงการศึกษาความเหมาะสมของระบบตะกร้าเงิน ยังไม่รวมรายละเอียดยิบย่อยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการให้แบงก์ชาติเร่งจัดการให้เร็วขึ้นจากตารางงานเดิมที่ถูกวางไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การเร่งเปิดเสรีธนาคารพาณิชย์ต่างชาติให้เร็วขึ้น การเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ รวมถึงการนำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน ให้สามารถเข้าซื้อขายในตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทยได้

แต่เมื่อถึงคราวที่รัฐบาลจะมาล้วงเงินจากแบงก์ชาติ นายธีระชัยจึงต้องสวมวิญญาณลูกหม้อแบงก์ชาติปกป้องถิ่นเก่า

เพียงแต่ไม่แน่ใจเท่านั้น ว่าเกิดจากสปิริตจริงๆ!!

หรือเพราะกำลังจะหลุดพ้นจากวังวนการเมือง จึงทำให้ได้คิด!!


+++

หมายเหตุ -ข่าวสารนี้เป็นปรากฎการณ์จากการที่บรรดาผู้บริหารในพวกเทคโนแครตชอบอ้างความเป็นอิสระ(จากปณิธานของอาจารย์ป๋วยที่ป้องกันการแทรกแซงจากรัฐบาลใต้บู๊ททหาร) โดยไม่สนใจว่า หากพวกตนไม่รับผิดชอบต่อฝ่ายการเมืองที่ประชาชนเลือกมาก็จะขาดการเชื่อมโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง และรัฐสภาก็ตรวจสอบผ่านฝ่ายบริหารต่อหน้าประชาชนและสื่ออย่างเป็นทางการไม่ได้ ..แม้จะหย่อนความสามารถ เดินผิดทางอย่างไรก็งุบงิบยาวนานในหมู่ผู้ได้ประโยชน์เป็นปกติ ลอยตัวจากการตรวจสอบความรับผิดชอบ อ้างกันเองเออกันเองว่า เป็นคนดี มีเกียรติภูมิสูง


"ดร.โกร่ง"ซัด"แบงก์ชาติ"ชอบพูดให้สังคมไม่ไว้ใจวางใจนักการเมือง ชี้คนไว้ใจ ธปท.แต่เมิน รมว.คลัง
จาก มติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:03:59 น.


นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวในรายการยิ่งลักษณ์พบประชาชน วันที่ 7 มกราคม ถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาให้ ธปท.ในส่วนของมาตรา 7 (3) ที่คล้ายกับว่าให้ ธปท.โอนหรือเขียนเช็กเปล่าให้กับรัฐบาลว่า สังคมไทยไว้ใจ ธปท. แต่ไม่ไว้ใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นักการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่ในอดีต "ถ้าปิดประตู ถ้าไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำกำไรได้ แบงก์ชาติ(ธปท.) ก็เป็นรัฐอิสระ และชอบพูดให้สังคมไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ขัดหลักประชาธิปไตย เพราะรัฐมนตรี นักการเมือง มาจากประชาชน แบงก์ชาติไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาพูดให้ไม่ไว้วางใจนักการเมือง" ประธาน กยอ.กล่าว

นายวีรพงษ์กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมสถาบันการเงินเพิ่ม หลังออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของ ธปท.ที่ต้องไปดูแล หากไม่ทำอะไรเลยหนี้ก้อนดังกล่าวของกองทุนฟื้นฟูฯ คงเป็นหนี้ไปตลอดกาลอวสาน


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ กล่าวเสริมว่า หนี้ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะที่ไหนก็เป็นหนี้ของประเทศ ดังนั้น หนี้ที่เกิดขึ้นจากตรงไหนจึงควรอยู่ตรงนั้น และ ธปท.เองเคยบอกว่าจะรับผิดชอบ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2541 กระทรวงการคลังได้ออกเงินชดใช้หนี้ให้ก่อน ซึ่ง ธปท.บอกเองว่าจะให้ตามหลัง



.