http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-11

ทวีศักดิ์: "ธุรกิจเขียว"2012/ จอห์น: การแข่งขันแท้จริงบนโลกเสมือน

.
มีรายงานพิเศษ - 10 พฤติกรรมผู้บริโภค facebook สิ่งที่ "นักการตลาดยุคดิจิตอล" ต้องตามให้ทัน
ระลึกถึงบทความของต้นปี 2554 - บทเรียน"คลิตี้" (จบ) โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"ธุรกิจเขียว" 2012
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 37


เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ใครๆ ก็นึกไม่ถึงว่าบริษัทซัมซุงกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเวลานั้นเกาหลีใต้อยู่ในยุคสงคราม เศรษฐกิจของประเทศยังเทียบเท่ากับจีดีพีของซูดาน เฉลี่ยรายได้คนเกาหลีเวลานั้นยังแค่ 7,000 บาทต่อหัวต่อปี

มาวันนี้ ซัมซุงมียอดขายทะลุ 135,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 13 เปอร์เซ็นต์ของรายได้การส่งออกประเทศเกาหลีใต้

ซัมซุงหันมาผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์ เมื่อ 9 ปีหลังก่อตั้งบริษัท จากนั้นพัฒนาตัวสินค้าจนกระทั่งเป็นผู้นำด้านการผลิตโทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ

ขณะที่พัฒนาวิจัยสินค้าจนกระทั่งจดสิทธิบัตรมากเป็นอันดับสองรองจากบริษัทไอบีเอ็ม

แม้ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ "ลี คุน ฮี" ประธานซัมซุง ยังเดินหน้าต่อไป ด้วยการตั้งเป้าสร้างธุรกิจใหม่ๆ ใน 5 ด้าน เพื่อให้ได้ยอดขายในอีก 8 ปีข้างหน้า รวมแล้ว 450,000 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นสินค้าใหม่ 50,000 ล้านเหรียญ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 400,000 ล้านเหรียญ

คนของซัมซุงเชื่อมั่นเพราะเคยได้ยิน "ลี" พูดแล้วทำได้จริง


เมื่อสิบปีก่อน ยอดขายของบริษัทมีเพียง 23,000 ล้านเหรียญ "ลี" สามารถปลุกปั้นดันยอดขายขึ้นไปสู่หลักชัย 100,000 ล้านเหรียญ

สินค้าที่ซัมซุงริเริ่มมุ่งมั่นเมื่อสิบปีที่แล้วนั่นคือแบตเตอรี่ใช้สำหรับสินค้า "ดิจิตอล" ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องถ่ายรูป อีกปี เจาะตลาดทีวีจอแบน แล้วหันมาผลิต "แฟลช" เมมโมรี่ หรือแท่งเก็บหน่วยความจำ ป้อนให้กับบริษัทแอปเปิ้ล เอาไปใช้ในโทรศัพท์ไอโฟนและไอแพด

ประธานซัมซุงมองออกว่า ผลิตภัณฑ์ที่วางตลาดอยู่ในขณะนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะล้าสมัยหมดอนาคต อีกทั้งคู่แข่งอย่างจีนจะไล่ตามหลัง เหมือนที่ "ซัมซุง" หรือบริษัทญี่ปุ่นเคยทำเลียนแบบบริษัทจากอเมริกาและยุโรป

"ซัมซุง" มองเห็นตลาดอิเล็กทรอนิกส์เริ่มถึงจุดอิ่มตัว สินค้าราคาถูกๆ จากจีนเริ่มเข้ามาแทนที่ จึงต้องหันมาเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเป็นแนวโน้มของโลกและทำรายได้ให้บริษัทเป็นกอบกำมากกว่า "อิเล็กทรอนิกส์"

แผงโซลาร์เซลล์ หลอดไฟแอลอีดี (light-emitting diodes : LEDs) แบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า ยาไบโอเทคและเวชภัณฑ์ คือสินค้าที่ "ซัมซุง" เล็งไว้ว่าภายในสิบปีจะสร้างรายได้และทำให้บริษัทยืนหยัดเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดโลกได้ต่อไปในศตวรรษที่ 21

"ลี" ทุ่มเงินราว 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ประเภท



แผงโซลาร์เซลล์ เป็นสินค้าที่วางขายในตลาดมานานแล้ว แต่ตลาดเพิ่งมาโตเมื่อไม่นานนี้ หลังชาวโลกตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน กระนั้นเทคโนโลยีเซลล์ยังมีราคาแพงและมีช่องว่างในการพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นตลาดระดับล่างๆ รวมไปถึงการขายสินค้าชนิดนี้ในประเทศที่ตระหนักเรื่องของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ผู้บริหาร "ซัมซุง" เชื่อว่า ในอีกไม่ช้าคนที่ใช้สินค้าซัมซุงอยู่แล้ว ไม่ว่าเป็นทีวีจอแบน เตาไมโครเวฟ เครื่องดูดฝุ่น แอร์คอนดิชั่น จะตัดสินใจซื้อแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไปติดบนหลังคาบ้านด้วย

ส่วนหลอดไฟ "แอลอีดี" นั้น เป็นสินค้าที่ซัมซุงผลิตมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากบริษัทนิเจีย (Nichia) แต่ผลิตภัณฑ์นี้ยังมีอนาคตไกล เพราะหลอดไฟฟ้าชนิดธรรมดาที่ใช้อยู่ทั่วโลกสิ้นเปลืองพลังงานมาก และถ้าเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดตะเกียบ มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเคลือบด้วยสารปรอท จะต้องใช้วิธีการกำจัดที่ถูกต้อง

คาดกันว่า หลอดไฟแอลอีดี ในอนาคตจะให้แสงสว่างมากกว่าหลอดตะเกียบ กินไฟน้อยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า อีกทั้งยังประหยัดพลังงานด้านการขนส่งเนื่องจากมีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก


แบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า เป็นอีกสินค้าอนาคตสำหรับโลกสีเขียว เนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่จะออกมาวิ่งบนถนน เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนเครื่องยนต์แทนพลังงานน้ำมัน จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากช่วยประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนและควันพิษ

ซัมซุงหันไปร่วมทุนกับบริษัทบอชของเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของโลกเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า ในนาม "เอสบี ลิโมทีฟ" (SB LiMotive)

บอช มีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ใช้ภายในรถยนต์ตั้งแต่สายไฟ ระบบเบรก ระบบอัดฉีดเชื้อเพลิงไปจนถึงชิ้นส่วนขับเคลื่อนเครื่องยนต์มานานแล้ว "ซัมซุง" เข้ามาต่อยอดได้เลย

ความจริงแล้ว บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก อย่างโตโยต้าหรือนิสสัน วิจัยพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้ามานานแล้ว แต่ซัมซุงมั่นใจ ว่าบริษัทผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยแบตเตอรี่ชนิดนี้มากนัก เพราะแม้แต่บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู และไครสเลอร์ ยังเป็นลูกค้ารายแรกๆ ของเอสบี ลิโมทีฟ

ที่สำคัญก็คือ ซัมซุงมีเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่แล้ว การที่เข้ารุกตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือหลอดไฟแอลอีดี และแผงโซลาร์เซลล์ จึงไม่ใช่เรื่องยากเพราะใช้วัสดุประเภทเดียวกันและกระบวนการผลิตไม่ต่างกันมากนัก



สินค้า "เวชภัณฑ์" นั้น ซัมซุงมองว่าทำอย่างไรถึงให้ต้นทุนการผลิตต่ำสุดเพื่อให้ราคาถูกลง ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ "ซัมซุง" มีอยู่จะช่วยตรงนี้ได้

เครื่องเอ็กซเรย์ของซัมซุง ได้รับการพัฒนาให้มีราคาถูกและช่วยผู้ป่วยป้องกันความเสี่ยงจากรังสีเอ็กซเรย์ได้มากขึ้น รวมไปถึงเครื่องตรวจวัดเลือด และอัลตราซาวด์ ที่มีราคาถูก ใช้งานได้ง่าย ทำให้สินค้าเวชภัณฑ์ของซัมซุงรุกคืบในตลาดโลก

สำหรับยาไบโอเทคนั้น เป็นอีกยุทธศาสตร์ของซัมซุงในการหันมาทุ่มเทกับการพัฒนายาที่ใช้เทคโนโลยีด้านชีวภาพในการผลิต แต่ซัมซุงไม่กล้าเสี่ยงทุ่มเต็มตัวเพราะไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ จึงหันไปร่วมกับบริษัท Quintiles คาดว่าจะผลิตสินค้าชนิดนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นี่เป็นอีกตัวอย่างของบริษัทระดับโลกที่พลิกตัวมองแนวโน้ม "สิ่งแวดล้อม" เป็นเข็มทิศธุรกิจ



++

การแข่งขันที่แท้จริงบนโลกเสมือน
โดย จอห์น วิญญู spokedark.tv
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 79

สวัสดีปีใหม่ครับคุณผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ที่รักของผม หวังว่าทุกท่านคงจะได้พักผ่อนและผ่อนคลายมีความสุขกับเทศกาลหลังจากปีอันแสนจะเหน็ดเหนื่อยหน้ามัน เหงื่อตกและแสนเครียด

ปีใหม่แล้ว สู้ต่อครับ! เฮ้!



ในวงการสื่อปี 2555 ไม่ต้องเป็นหมอดูหรือปลาบู่ปลานิลก็ฟันธงฉับได้อยู่แล้วครับว่า จะเป็นอีกปีหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะว่าก่อนหมดปี 2554 ก็มีเรื่องดราม่าใหญ่สะเทือนวงการทีวีล่วงหน้าไปก่อนแล้ว นั่นก็คือข่าวการเดินออกจากช่อง 7 ของคุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์

ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นล่ะครับ -_-"


คุณแดง กับ ช่อง 7 ถ้าผมจะแอ๊บพูดภาษาฝรั่งเค้าก็เรียกว่าเป็นชื่อที่ synonymous ต่อกันเลยก็ว่าได้ ในมโนสำนึกช่องเจ็ดคือคุณแดง คุณแดงคือช่องเจ็ด (เมื่อก่อนพี่ป๋อ หล่อ สกิดใจ อาจจะเกือบเข้าขั้น synonymous แต่แกดันชิ่งช่อง 7 ไปซะก่อน) สิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจจับตาดูมากว่าช่อง 7 หลังจากไม่มีคุณแดงแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในแนวไหน

นอกจากนี้ โปรแกรมใหญ่ของช่องเจ็ดโดยบริษัทเวิร์คพอยท์ฯ ของ คุณปัญญา นิรันดร์กุล ก็ยังย้ายจากช่อง 7 ไปอยู่กับช่อง 3 เช่นเดียวกัน ถือว่า Landscape ของช่องเจ็ดก็เปลี่ยนไปมากจากปัจจัยนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วผมเชื่อว่าเรื่องมันจะใหญ่กว่านี้มากครับ

ผลสะเทือนมันจะกระเพื่อมรุนแรงกับคนจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่หลายสิบเท่า ผมหมายความว่าเรื่องคุณแดงกับช่องเจ็ด ณ จุดนี้ อาจจะดูดราม่าแต่อาจไม่ใหญ่ถึงระดับออสการ์

ถ้าเป็นสิบปีที่แล้วที่คนเรายังคงดูทีวีวนเวียนกันอยู่ห้าหรือหกช่อง (ถ้าคุณจะใจกล้านับช่อง 11 เป็นทางเลือกอ่ะนะ) การเปลี่ยน key person ด้านละครของช่องเจ็ดมันแปลว่าการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าเลยเชียวล่ะ เพราะมันมีให้เลือกอยู่ไม่กี่ช่องไง

แต่ ณ จุดนี้ ที่ภายในเวลาเพียงสิบปี landscape ของสื่อในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งในระดับโลกมันเปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ สิ่งที่เกิดที่ช่องเจ็ดก็เป็นข่าวนะ แต่ไม่ขนาดนั้นแฮะ

เคเบิลท้องถิ่นที่บ้านก็มีละคร rerun เยอะแยะ ค่ายบันเทิงต่างๆ ก็มีช่องเคเบิลเป็นของตัวเอง วันๆ ดูหมดก็ตาแฉะแล้ว

นี่ยังไม่นับพวกละครเกาหลี ซีรี่ส์ฝรั่ง และยูทูบ ที่วันๆ กัดกินเวลาดูฟรีทีวีไปมากมายซะจนรู้ตัวอีกที ไม่ได้ดูซะตั้งนานแล้ว



เมื่อวานที่ร้านข้าวแกงในซอย ลูกเจ้าของร้านอายุ 5 ขวบ นั่งเปิดยูทูบดูบนโน้ตบุ๊กพ่อ

เห็นแล้วก็อุ่นใจ (เราคงมาถูกทางแล้วสินะ แหะแหะ ถึงแม้เส้นทางมันจะแคบๆ หน่อยก็นะ ทนๆ กันต่อปายยย)

เมื่อสี่ปีที่แล้วที่เราเริ่มทำอินเตอร์เน็ตทีวีกัน มันเป็นที่ที่เหงามากเลยครับ แทบไม่มีใครเลย เวลาพยายามหาลูกค้า เอเยนซี่ไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไร

เวลาผ่านมาแค่สี่ปี เห็นแมกกาซีนจำพวกมาร์เก็ตติ้งสัมภาษณ์คนเอเยนซี่ โอ้โห รู้ละเอียดยิบ ชี้เทรนด์ อธิบายปรากฏการณ์กันสุดอลังการขนาดเอาไปเขียน Ph.D dissertation ได้เลยนะเนี่ย

บร๊ะเจ้า!

นั่นแหละครับ เวลาผ่านไปแค่ไม่นาน ตอนนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องวิดีโอออนไลน์ รายการทางอินเตอร์เน็ต ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง เฟซบุ๊กแฟนเพจ ทวิตเตอร์ฟอลโลว์เออร์

เจ้าใหญ่ก็ลงมาเปิดอินเตอร์เน็ตทีวีกันอย่างครึกครื้น

คุณผู้อ่านที่รักครับ นี่คือยูโทเปียที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนก่อนโลกแห่งความจริง

อินเตอร์เน็ตคือปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยและการแข่งขันที่ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์แบบอย่างที่เราๆ ท่านๆ ตามหามานาน

อินเตอร์เน็ตทำให้ "พี่ใหญ่" กับไอ้เด็กเกรียนที่มีกล้องวิดีโอและอินเตอร์เน็ตคอนเน็กชั่นได้ต่อสู้กันอย่างเท่าเทียมด้วยจำนวนคนดูที่โชว์หราอยู่ที่หน้าวิดีโอนั้น



การแข่งขันของทีวีทางอินเตอร์เน็ต (ผมคิดเอาเองว่า) ดูแล้วรูปร่างคล้ายคลึงกับรูปแบบของการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริงเพราะใครก็เข้ามาได้ ดังนั้น เลยทำให้ยากที่จะมีใครเข้ามาควบรวม หรือกำหนดราคาตลาด เนื่องจากใครจะตั้งราคาเป็นแบบไหน อะไร ยังไง เท่าไหร่ ก็เรื่องของใครคนนั้น จัดไปโลดๆ

ดังนั้น ระบบสัมปทาน การผูกขาด การกำหนดราคาตลาดโดยคนกลุ่มเดียว เลยทำได้ยากขึ้น เพราะผู้เข้ามาเล่นในตลาดมีมากมาย สับเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามารับส่วนแบ่งทางธุรกิจกันอย่างครึกครื้น

อินเตอร์เน็ตเป็นหนทางให้คนตัวเล็กๆ เปล่าๆ ทั้งหลายได้โงหัวขึ้นมาโชว์หน้าโชว์ตาให้คนเล็กๆ อื่นๆ ได้รับรู้ ได้เห็น ได้เสพบ้าง

อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางทำมาหากิน ที่ไม่ต้องรู้จักใคร ก็ทำมาหากินได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในโลกเสมือนนี้ จงเชื่อมั่นในตัวตนของคุณนะครับ แล้วแสดงมันออกมา ทุกคนพร้อมจะวิ่งไปทำความรู้จักกับคุณเอง

ที่เค้าว่ากันว่า Life finds a way

มันคงเป็นแบบนี้นี่เอง



+++

10 พฤติกรรมผู้บริโภค facebook สิ่งที่ "นักการตลาดยุคดิจิตอล" ต้องตามให้ทัน
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 28


การเพิ่มขึ้นของประชากรเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่มีทางที่เฟซบุ๊กจะไม่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทะลุหลักหนึ่งพันล้านคน โดยยอดตัวเลขดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

แฟนเฟซบุ๊กที่พุ่งกระฉูดขนาดนี้ทำให้นักการตลาดดิจิตอล ต้องมานั่งถกกันว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากช่องทางเครือข่ายทางสังคมแห่งนี้

จนเมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยจาก Constant Contact และ Chadwick Martin Baily. ที่ทำการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคที่ใช้งาน Facebook จำนวน 1,491 ตัวอย่าง อายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วอเมริกา พบว่าส่วนใหญ่มักแนะนำ เพื่อนต่อให้ติดตามแบรนด์และตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ หลังติดตามบน facebook

เรียกว่า คนจำนวนมาก ใช้ facebook เป็นช่องทางสื่อสาร ติดตามแบรนด์มากที่สุดมีถึง 34% เมื่อเทียบกับ twitter อยู่ที่ 4% ส่วน LinkedIn มีแค่ 1% เท่านั้น

โดยข้อมูลที่น่าสนใจที่เก็บตกได้จากงานวิจัยเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคบน facebook 10 เรื่อง ประกอบด้วย

1. ลูกค้ามีการปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์บน facebook มากกว่า social media อื่นๆ

2. 56% ของผู้บริโภคบอกว่า อยากที่จะบอกต่อเพื่อน หลังจากที่ได้ติดตามแบรนด์บน facebook

3. 51% ของผู้บริโภคอยากที่จะซื้อสินค้าหรือบริการหลังจากที่ได้ติดตามแบรนด์บน facebook

4. 52% ของผู้ที่ Online บอกว่า ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ใน facebook

5. 76% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าไม่เคยคิดที่จะกด "unlike" แบรนด์ บน facebook

6. 77% ของผู้บริโภค ตอบว่า พวกเขาสื่อสารกับแบรนด์โดยการอ่าน โพสต์ และอ่าน news feed บนเพจ

7. 78% ของผู้บริโภคที่ Like แบรนด์บน facebook มีแบรนด์ที่ like เกิน 10 แบรนด์

8. 58% ของผู้บริโภคบอกว่า like แบรนด์บน facebook เพราะว่าเขาเหล่านั้นเป็นลูกค้า

9. 45% ของกลุ่มตัวอย่างใช้วาจาส่วนใหญ่ในหน้า news feed

10. 69% ของผู้บริโภค ต้องการฟังแค่บางแบรนด์มากกว่าทุกแบรนด์ที่ like

Facebook ในวันนี้จึงจัดเป็นช่องทางหลักที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคมากกว่า Social media อื่นๆ

และจากการที่ผู้บริโภคได้ทำการติดตามแบรนด์บน facebook แล้ว ตัวเลขที่ช่วยให้กลับมาเป็นลูกค้า มีถึง 51% แปลว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดความรู้สึกอันดีจากการที่ได้ติดตามและสื่อสารกับแบรนด์ จนตัดสินใจที่จะมาเป็นลูกค้า

จากผลสำรวจนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ยุคนี้ นักการตลาดดิจิตอล จะนึกถึง facebook เป็นอันดับแรกในการวางแผนการตลาดออนไลน์



+ + + +

บทความให้ระลึกถึง ของต้นปี 2554

บทเรียน"คลิตี้" (จบ)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1586 หน้า 31


ถึงจะมีผลพิสูจน์ว่า ปริมาณตะกั่วในเลือดของชาวคลิตี้สูงเกินมาตรฐานถึง 20 เท่ามานานแล้ว แต่น่าแปลกใจว่า ไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้าไปแก้ไข ทำให้ปัญหาเรื้อรังและสะสมจนกระทั่งเหยื่อ "สารตะกั่ว" ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมด้วยตัวเอง นี่เป็นบทเรียนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของภาครัฐกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

ผมขอลำดับความให้เห็นภาพความไม่จริงใจและความล้มเหลว

เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2510 กระทรวงอุตสาหกรรม อนุมัติให้บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเทรตส์ (ประเทศไทย) จำกัด สร้างโรงแต่งแร่ตะกั่วขนาดใหญ่ บริเวณหมู่บ้านคลิตี้ ตั้งอยู่ใน ต.นาสวน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

โรงแต่งแร่ดังกล่าวผลิตหัวแร่ตะกั่วความเข้มข้นสูง ด้วยวิธีลอยแร่ ใช้ตะกั่วดิบที่ขุดจากเหมืองบ่องาม ห่างออกไปราว 6 กิโลเมตร

เวลานั้น ไม่มีใครมองว่ากระบวนการผลิตของโรงแต่งแร่จะนำไปสู่ความหายนะทางสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ หมู่บ้านคลิตี้

โรงแต่งแร่ทิ้งน้ำเสียจากกระบวนการผลิตลงในลำห้วยคลิตี้ มานานเป็นเวลาถึง 20 ปี

น้ำเสียปนเปื้อนด้วยตะกั่ว ตกตะกอนอยู่ใต้ท้องห้วยคลิตี้ ค่อยๆ แผ่อิทธิฤทธิ์ แทรกซึมในตัวปลาสัตว์น้ำ ขณะที่คนในหมู่บ้านคลิตี้ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำนี้เพียงแห่งเดียว เริ่มมีอาการผิดปกติทางร่างกายเพราะฤทธิ์ตะกั่วที่สะสมจนเกินปริมาณ

ตะกั่วที่ร่างกายสะสมเอาไว้เป็นเวลานานจะเกาะในกระดูก บางส่วนไปเคลือบเซลล์ประสาทและสมอง

ชาวคลิตี้เกิดอาการเบื่ออาหารคลื่นไส้ อาเจียน บ่อยครั้งที่รู้สึกปวดท้องรุนแรงจนดิ้นตัวงอ หลายคนมีร่างกายอ่อนล้า แขนขาเหยียดออกไม่ได้และปวดเมื่อย อารมณ์ฉุนเฉียคุ้มดีคุ้มร้าย เด็กๆ ในหมู่บ้านหลายคนร่างกายแคระเตี้ย หัวโต ตัวลีบและสมองรับรู้ช้า

พวกเขาเพิ่งมารู้ในภายหลังว่า อาการป่วยเช่นนี้คือโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง



ชาวคลิตี้คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ถึงอาการป่วยด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง มีอาการปวดหลัง ปวดตามข้อเสียวไปถึงท้ายทอย บางทีปวดหัวแทบแตก แต่ไม่มีไข้ บางครั้งก้าวเดินได้แค่ 100 เมตร จะก้าวขาไม่ออก พับขาไม่ได้ ไปหาหมอเอ็กซเรย์ดูพบมีเส้นตะกั่วสีขาวเต็มไปหมด

อีกคนย้อนรำลึกถึงความหลัง เมื่อครั้งที่สูญเสียลูกที่เพิ่งคลอดมาเพียง 3 เดือนว่า ลูกอาเจียน หายใจไม่ออก พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา หมอให้ยากินตอนสี่ทุ่ม กินสองครั้งแต่ไม่ดีขึ้น ตกดึกปากเริ่มดำ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตในเที่ยงคืนวันนั้น หมอบอกว่าลูกสิ้นใจเพราะกินนมมากจนสำลัก พอเด็กตายทางโรงพยาบาลถามทันทีว่าจะส่งเด็กกลับบ้านหรือให้โรงพยาบาลจัดการ

เงินในกระเป๋าของหนุ่มคลิตี้ผู้สูญเสียลูกรักมีแค่ 1,500 บาท ไม่พอจ้างเหมารถส่งศพลูกกลับหมู่บ้าน ต้องให้ทางโรงพยาบาลจัดการ

เมื่อโรงพยาบาลเอ็กซเรย์ศพเด็กพบแถบเส้นสีขาวปรากฏในกระดูก บ่งชี้เด็กคนนี้มีตะกั่วสะสมอยู่ในร่างกายเป็นปริมาณที่สูงมาก



ปี 2541 บ่อกักเก็บกากตะกอนตะกั่วของโรงแต่งแร่คลิตี้ พัง น้ำเสียที่กักเก็บเอาไว้ไหลทะลักลงห้วยคลิตี้มีระยะทาง 19 กิโลเมตรอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมาก

กรมทรัพยากรธรณีมีคำสั่งปิดโรงแต่งแร่ในอัตราสูงสุด 2,000 บาท

กล่าวได้ว่าเป็นคำสั่งที่น่าอเนจอนาถที่สุด เพราะโรงแต่งแร่ปล่อยน้ำเสียเปื้อนตะกั่วมานาน 20 ปีสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คนอย่างรุนแรง กลับได้รับโทษทัณฑ์ด้วยการจ่ายค่าปรับสูงสุดแค่สองพันบาท

ต่อมากรมควบคุมมลพิษเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำและดินตะกอนในลำห้วยคลิตี้ไปตรวจพบว่า ปริมาณตะกั่วในน้ำเกินค่ามาตรฐานหลายร้อยเท่า และพบตะกอนตะกั่วหน้าประมาณ 1 ฟุต ตลอดลำน้ำ เป็นตะกอนถึง 14, 989 ตัน

หากแยกเฉพาะตะกั่วจะได้ตะกั่ว 294 ตัน และยังตรวจพบระดับตะกั่วในสิ่งแวดล้อมสูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ได้แก่ ตะกั่วในน้ำตรวจวัดได้ 0.008-0.550 มิลลิกรัมต่อลิตร ในดิน 109-1,323 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตะกอนดินท้องน้ำ 152-102,574 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

กรมควบคุมมลพิษรู้ต้นตอปัญหา แต่ล้มเหลวในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และเก็บกากตะกอนตะกั่วออกจากลำห้วย



ปี 2547 ชาวคลิตี้ 22 คนรวมตัวยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครอง ฐานละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมของลำห้วยคลิตี้ และเรียกค่าเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540

อีก 4 ปีต่อมา ศาลพิพากษาสั่งให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าเสียหายรายละ 1,000 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 743,226 บาท ส่วนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้นั้นศาลไม่ได้สั่ง

เวลานี้เหตุการณ์ล่วงเลยมานานแล้ว ชาวคลิตี้ยังไม่ได้รับค่าเสียหาย และปล่อยทิ้งให้ลำห้วยคลิตี้จมอยู่กับสารตะกั่วเช่นเดิมเพราะกรมควบคุมมลพิษยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

แสดงให้เห็นว่ากรมควบคุมมลพิษไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาให้กับชาวคลิตี้

หันไปมองที่สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย เข้าไปตรวจสุขภาพของชาวบ้านคลิตี้ล่างประมาณ 200 คน 40 หลังคา พบตะกั่วในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน

กรมอนามัยทำได้เพียงเฝ้าระวัง แต่ไม่วิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงว่า ชาวคลิตี้มีสารตะกั่วในเลือดสูงนั้นมาจากอะไร จึงไม่มีมาตรการเชิงรุกในการดูแลรักษาชาวคลิตี้ให้พ้นจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษ

นี่จึงทำให้ปัญหา "คลิตี้" เรื้อรังสะสมและเป็นอีกบทเรียนชิ้นสำคัญของวงการสิ่งแวดล้อมไทย



.