http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-04

"สินค้า"อันตราย, โรงไฟฟ้าชีวมวลฯ, โลกในภาวะ "เสี่ยง" โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

คำเตือน "สินค้า" อันตราย
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 40


สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่กำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี หลายพื้นที่น้ำลดแล้วและผู้คนต่างพากันฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย

บางบ้านน้ำท่วมจนเกือบมิด ทรัพย์สินภายในบ้านได้รับความเสียหายมากใช้การไม่ได้ กลายเป็นขยะกองใหญ่นำไปสู่ปัญหาการกำจัดทำลาย ส่วนตัวบ้านชำรุดทรุดโทรม โดยเฉพาะฝาผนังตัวอาคาร มีคราบไคลสกปรก เชื้อราที่มาจากความชื้น

การหาวัสดุมาทดแทนสิ่งที่เสียหายชำรุดไปกลายเป็นสิ่งที่ต้องคิดต้องทำในช่วง "ฟื้นฟู"

เลยขอถือโอกาสนี้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุผลิตภัณฑ์ภายในบ้านเรือนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บางทีจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมและผู้บริโภคยุคใหม่ที่ดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม


สํานักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา หรืออีพีเอ (U.S. Environmental Protection Agency) ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่า อากาศในที่ร่มทั้งบ้านพัก อาคารสำนักงานนั้น มีมลพิษร้ายแรงกว่าในที่โล่งแจ้งตามเมืองใหญ่ๆ แออัดหรือแหล่งอุตสาหกรรม

ในการศึกษาพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ร่มคิดเป็นสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์

ผลจากการรับอากาศเป็นพิษภายในบ้านพัก อาคารสำนักงาน จะกระทบต่อสุขภาพร่างกาย อาจเกิดอาการภูมิแพ้ แสบตา แสบจมูก ไอจามไปจนถึงปวดหัว เมื่อยล้า

ถ้าอาการดังกล่าวเรื้อรังหรือได้รับพิษต่อเนื่องทำให้เกิดเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ มะเร็ง

แต่เราสามารป้องกันปัญหาหรือแก้ไขสภาพแวดล้อมเสียใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว



อีพีเอชี้ให้เห็นตัวอย่างสินค้าบางชนิดที่เป็นอันตรายและข้อแนะนำในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังนี้

1. พรมใหม่ พรมบางชนิดใช้วัสดุที่อาจจะปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยหรือวีโอซี (Volatile organic compounds, VOCs)

สารอินทรีย์ระเหยที่ว่ามีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก และมีไฮโดรเจน, ออกซิเจน, ฟลูออไรด์, คลอไรด์, โบรไมด์, ซัลเฟอร์ หรือไนโตรเจน ประกอบกันเป็นพวกอะลิฟาติก (Aliphatic) หรืออะโรเมติก (Aromatic) รวมถึงกลุ่มคาร์บอนิล (อัลดีไฮด์, ดีโทน) และกลุ่มแอลกอฮอล์ ที่สามารถระเหยกลายเป็นไอหรือก๊าซได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส เป็นตัวทำละลายที่ดี

ในประเทศญี่ปุ่น ให้ความหมายของสารอินทรีย์ระเหย หมายถึงสารอินทรีย์ที่อยู่ในรูปของก๊าซสามารถปล่อยหรือแพร่กระจายได้ในอากาศ

ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา สารอินทรีย์ระเหยคือสารอินทรีย์ที่ทำปฏิกิริยาเคมีกับแสงแดดในอากาศ

ทางเลือกใหม่ เมื่อคิดจะซื้อพรมต้องถามผู้ขายว่า เป็นพรมชนิดโลว์-วีโอซี (Low-VOCs) และใช้กาวที่ไม่มีส่วนผสมของฟอร์มัลดีไฮด์ เนื่องจากเป็นสารที่ก่อโรคมะเร็งหรือเปล่า

การติดตั้งพรมใหม่ต้องเปิดห้องให้ระบายอากาศทิ้งไว้ราวๆ 5-6 วัน

2. หลอดไฟประหยัดแบบเกลียว (Compact Fluorescent Lamps, CFLs) หลอดไฟชนิดนี้มีสารเคมี อาทิ ปรอท หรือนิวโรท็อกซินเคลือบอยู่ซึ่งมีขนาดเล็กมาก หากแตกกระจายจะแผ่ปะปนในอากาศ

อีพีเอแนะนำว่า บ้านที่มีเด็กๆ หรือคนตั้งครรภ์ให้หลีกเลี่ยง และถ้าหลอดไฟดังกล่าวแตกให้เปิดหน้าต่าง ปิดเครื่องปรับอากาศ ทำความสะอาดห้องอย่างละเอียดเป็นเวลา 15 นาที

3. เครื่องใช้พลาสติกและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำมาจากพอลีไวนิล คลอไรด์ สามารถปล่อยสารพทาเลต (phthalates) สารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งตัวร้าย และทำให้ฮอร์โมนภายในร่างกายผิดปกติ

นอกจากนี้ พลาสติกยังมีสารพิษอื่นๆ ผสมอยู่ด้วย เช่น พอลีโบรมิเนต ไดฟีนีล อีเทอร์ หากสะสมในร่างกายนานๆ จะทำให้ระบบประสาทส่วนควบคุมพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

ข้อแนะนำ หากนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้สอยในบ้านให้วางไว้ในบริเวณที่มีการระบายอากาศได้ดีและปล่อยให้กลิ่นเหม็นจากสารเคมีจางลง อีกทั้งควรดูดฝุ่นรอบๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ ปริ๊นเตอร์และทีวีเป็นประจำ

4. กาวและสารเคลือบติดผนึก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารระเหย เช่น เมทิล เอทิล คีโทน หรือเรียกกันย่อๆ ว่า เอ็มอีเค (methyl ethyl ketone) และอะซีโทน (acetone) สารทั้งสองชนิดมีผลต่อระบบประสาท และทำให้ระเคืองสายตา ส่วนกาวนั้นมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ผสมอยู่ด้วย

ข้อแนะนำ ให้หาซื้อกาวที่ปลอดสารฟอร์มัลดีไฮด์ หากต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ควรจะเปิดพื้นที่ให้โล่งระบายอากาศได้ดีและเมื่อใช้แล้วอย่าวางทิ้งไว้ใกล้โต๊ะทำงาน

5. อุปกรณ์ทำความร้อน เช่น เตาไฟฟ้า เตาแก๊ส จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา จะทำให้เกิดอาการปวดหัว กล้ามเนื้ออ่อนล้า และยังปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์และอนุภาคที่ทำให้เกิดอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ สายตาและลำคอ

ข้อแนะนำให้ตรวจระบบทำความร้อนทุกปี รวมถึงการดูแลรักษาอุปกรณ์

6. สีทาบ้าน โดยเฉพาะสีลาเท็กซ์หรือสีอีมัลชั่น เมื่อทาแห้งแล้วจะปล่อยสารระเหยออกมาทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดหัว อาเจียน ส่วนน้ำยาลอกกาว สเปรย์สีกระป๋อง มีสารเมทิลีน คลอไรด์ เป็นสารก่อมะเร็ง

ข้อแนะนำ ให้ใช้สีที่ใช้ส่วนผสมของสารระเหยง่ายต่ำหรือที่เรียกว่า โลว์-วีโอซี ขณะที่ทาสีบ้านให้เปิดหน้าต่าง ประตู ใช้พัดลมระบายอากาศ และสวมหน้ากากกรองกลิ่น

7. อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ทำจากไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ทิเคิลบอร์ด ที่เพิ่งทำใหม่มีส่วนผสมของสารฟอร์มัลดีไฮด์ หากสูดกลิ่นเข้าไปจะทำให้เกิดอาการแพ้เช่นกัน

ข้อแนะนำ ให้หาเฟอร์นิเจอร์หรือผลิตภัณฑ์ไม้ปลอดฟอร์มัลดีไฮด์ ระหว่างติดตั้งให้ระบายอากาศออก



++

โรงไฟฟ้าชีวมวล ปมขัดแย้งที่ต้องเคลียร์
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 41


การรวมตัวของชาวปากแพรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ของบริษัท บางสะพานน้อยไบโอแมส ขนาด 9.5 เมกกะวัตต์ มูลค่า 700 ล้านบาท ด้วยเกรงว่าหากก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวในพื้นที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มผู้ประท้วงยื่นขอให้ศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษายกคำสั่งของกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่มีมติเอกฉันท์ ให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่แจ้ง "ไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง"

ขณะที่ทางผู้บริหารโรงไฟฟ้าบางสะพานน้อยไบโอแมส แจ้งความดำเนินคดีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากแพรก ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะไม่ลงนามอนุมัติให้ก่อสร้าง

นี่เป็นอีกความขัดแย้งภายในชุมชน "ปากแพรก" ที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กับชุมชนอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่า ถ้าหากมีโรงไฟฟ้าแล้วจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ชุมชนมีอันตราย

ความเชื่อนี้มีที่มาที่ไปจากเหตุการณ์ในอดีต เมื่อโรงไฟฟ้าปล่อยควันดำ มลพิษทำให้ผู้คนรอบๆ โรงไฟฟ้าเจ็บป่วย สัตว์เลี้ยงล้มตาย ไร่นาพืชพันธุ์เสียหาย

เป็นภาพอดีตที่ฝังใจ


ทั้งที่จริงแล้ว โรงไฟฟ้ามีทั้งคุณประโยชน์และให้โทษ เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน อยู่ที่ใครจะมองจากด้านไหน

คุณประโยชน์จากโรงไฟฟ้ามีมากมายอย่างที่รู้กันทั่ว บ้านไหนไม่มีไฟฟ้าใช้สักวันจะรู้สึกว่าชีวิตเหมือนขาดอะไรไป

แต่โรงไฟฟ้ามีหลายประเภท โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน น้ำมันหรือใช้น้ำจากเขื่อนมาปั่น รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานลม แสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล

แต่ละประเภทนั้น ให้คุณประโยชน์และเกิดโทษต่างกัน

ผู้คนหวาดกลัวกัมมันตรังสีอาจรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน จะเกิดควันพิษ อากาศรอบๆ โรงไฟฟ้าชุมชนสกปรก เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา นอกจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษแล้วยังสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งนับวันหายากขึ้นทุกที

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล ถือเป็นพลังงานสะอาดเมื่อเปรียบเทียบโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ



คุณไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร หรือ กากจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ เส้นใยและกะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า ขยะมูลฝอย น้ำเสียจากโรงงาน หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์ต่างๆ มาผลิตไฟฟ้า จะช่วยอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

"ถ้าผู้บริหารโรงไฟฟ้าชีวมวลทำถูกต้องตามขั้นตอน ให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา ชุมชนและโรงไฟฟ้าจะอยู่ด้วยกันได้ไม่มีปัญหา" คุณไกรฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ผ่าน "มติชน" รายวัน

แต่ปัญหากำลังเกิดขึ้นที่ "ปากแพรก" เพราะต่างฝ่ายต่างได้ข้อมูลคนละด้าน

โรงไฟฟ้าเชื่อว่าทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ แต่ชาวบ้านกลับมองว่าโรงไฟฟ้าจะทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนเป็นพิษ ถ้าเรื่องนี้ไม่เคลียร์ให้เกิดความเข้าใจความขัดแย้งจะบานปลายกลายเป็นขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด

ชาวบ้านต่อต้าน โรงไฟฟ้าก็เกิดไม่ได้ ผลที่ตามมากระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน "ปากแพรก" จะเกิดขึ้นลำบากและเป็นอีกกรณีตัวอย่าง ที่ชุมชนอื่นๆ ได้เห็นและจดจำ

ผมคิดว่าหน่วยงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน จะต้องให้ข้อมูลจริงและทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าโรงไฟฟ้าประเภทใดที่สร้างปัญหาเรื่องของมลพิษ และมีวิธีการป้องกันแก้ไขได้หรือไม่ โรงไฟฟ้าประเภทใดที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

อย่าให้คำว่า "โรงไฟฟ้า" กลายเป็นคำลบๆ มิฉะนั้น แล้วประเทศไทยจะไม่มีทางออกในเรื่อง "พลังงาน"



++

โลกในภาวะ "เสี่ยง"
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 33


วันเวลาไม่คอยใครจริงๆ เผลอแค่แวบเดียว ผ่านวูบไปอีกปี อาจถือได้ว่าปีกระต่าย กลายเป็นปีที่โหดร้ายกว่าปีไหนๆ ในรอบหลายสิบปีเพราะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่มีเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้คนนับสิบล้านประสบทุกข์ยากสาหัสมูลค่าความเสียหายเป็นแสนๆ ล้านบาท เศรษฐกิจทรุดวูบ

แถมปิดท้ายปลายปีด้วยพายุ "วาชิ" ถล่มฟิลิปปินส์ พังยับเยิน

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ตลอดปี 2554 มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพนิเวศน์ครั้งใหญ่ ระดับก๊าซเรือนกระจกติดสถิติ น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลายเกือบเทียบเท่ากับสถิติในปี 2550 และอุณหภูมิพุ่งสูงสุดติดอันดับที่ 11 จากที่เคยสำรวจมา

คำนวณกันว่าอุณหภูมิที่สหรัฐในปีกระต่าย มีทั้งร้อนระเบิดเถิดเทิงและเย็นสุดขั้ว ที่ยุโรปและทวีปแอฟริกามีทั้งแห้งแล้งและเกิดคลื่นความร้อน

นอกจากนี้แล้ว ประชากรโลก ก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 7,000 ล้านคน ขณะที่เกิดวิกฤติภัยนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น นับว่าเป็นคร้งเลวร้ายที่สุดที่ เป็นอันดับ 2 รองจากเหตุการณ์ระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

แต่ในทางตรงกันข้าม การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ในปี 2554 ติดอันดับสูงสุด


สํานักงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ สำรวจพื้นที่ทางทะเล ทางบกและอากาศ 41 แห่งพบว่า อุณหภูมิทั้งในทะเลและบนบก เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเถาะ

ส่วนในช่วง 300 เดือนที่ผ่านมานั้น อุณหภูมิเฉลี่ยสูงอีกด้วย นอกจากนี้แล้วยังเป็นปีที่อุณหภูมิโลกร้อนมากที่สุด นับจากปี 2540

ปรากฏการณ์ "ลานิญา" ทำให้ผิวน้ำทะเลเย็นขึ้นและอุณหภูมิลดลงทำให้หลายๆ แห่งมีอุณหภูมิหนาวเย็นนานกว่าปกติ

แม้เศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม แต่เมื่อวัดปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกาะฮาวาย เมื่อเดือนพฤษภาคม มีปริมาณมากกว่า 394 ส่วนต่อล้านส่วน

เป็นปริมาณสูงมากถึง 34 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบย้อนหลังตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในเดือนกันยายน นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเบรเมน แห่งเยอรมนีรายงานว่าน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก ละลายมากทะลุสถิติที่เคยทำไว้เป็นอันดับสอง

หรืออาจกล่าวได้ว่า การละลายของก้อนน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือนั้น ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าอุณหภูมิผิวทะเล ชั้นบรรยากาศในขั้วโลกเหนือร้อนขึ้นและน้ำทะเลที่ไหลขึ้นไปทางมหาสมุทรอาร์กติกจะกัดกร่อนก้อนน้ำแข็งทั้งด้านล่างและบน

อุณหภูมิที่ผันผวนนั้นทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทั้งในยุโรปตะวันออก รัสเซีย ปากีสถาน ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย

ถ้ากล่าวเฉพาะสหรัฐอเมริกา น้ำท่วมใหญ่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำมิสซิสซิปปี้และแม่น้ำมิสซูรี่ ถือได้ว่ารุนแรงมาก แถมยังมีไฟป่าและภาวะแห้งแล้งในบริเวณภาคใต้

ส่วนอุณหภูมิทั้งร้อนจัดและหนาวสุดขีดนั้น เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของสหรัฐรวมถึง 50 รัฐ

มูลค่าความเสียหายเกิดจากความแปรปรวนของอากาศในสหรัฐ ประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท

ปี 2544 ยังเป็นปีแห่ง "ทอร์นาโด" โดยช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน มีพายุทอร์นาโดเกิดขึ้นในสหรัฐ 1,600 ครั้ง และมีฟ้าผ่ารุนแรงถึง 43 ครั้ง



ถ้าพูดในภาพรวมๆ ปีกระต่าย กลายเป็นปีแห่งน้ำมากเกินและน้ำน้อยเกิน

กล่าวคือ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในออสเตรเลีย ประเทศไทย ฟิลิปปินส์

ส่วนที่บริเวณทางเหนือของจีน มีภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

คลื่นความร้อนและความแห้งแล้งลามไปถึงรัฐเท็กซัส สหรัฐ ต้นไม้ตายซากเพราะขาดน้ำราว 100-500 ล้านต้น

อุณหภูมิในยุโรปตอนเหนือ ตลอดทั้งปีเฉลี่ย 5.3 องศาเซลเซียส สูงกว่าปกติ และความร้อนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำดานูบ แห้งเหือดระดับน้ำต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี

ภัยธรรมชาติในปี 2554 โดยเฉพาะภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว รุนแรงสั่นสะเทือนมากทำลายสถิติเช่นกัน

ในช่วงเพียง 7 สัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 21 กุมภาพันธ์ ชาวเมืองอาร์เจนตินา ชิลี อิหร่าน ปากีสถาน ทาจิกิสถาน ตองกา หมู่เกาะโซโลมอน สุลาเวสี ฟิจิ พม่าและนิวซีแลนด์ ต่างประสบกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว

พอมาถึงวันที่ 11 มีนาคม ญี่ปุ่นเจอแผ่นดินไหวมีแรงสั่นสะเทือนถึง 9.0 ริกเตอร์ ตามด้วยคลื่นยักษ์ "สึนามิ" พัดกระหน่ำชายฝั่งตะวันออก ฆ่าคนไปถึง 15,500 ชีวิต

ผลจากแผ่นดินไหว สึนามิยังกระทบไปถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ

แรงสั่นสะเทือนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิด กัมมันตรังสีรั่วไหล ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่ถึง 160,000 คน

พิบัติภัยครั้งนี้ ทำให้การผลิตสินค้าในญี่ปุ่นหยุดชะงัก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดต้องใช้เงินซ่อมแซมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราวๆ 15,000 ล้านเหรียญ

ภาพข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิด ทำให้ชาวโลกตะลึง ผวาภัยนิวเคลียร์มากขึ้น ประเทศต่างๆ รวมถึงรัฐบาลไทยไม่กล้าเดินหน้าแผนก่อสร้างหรือขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บางแห่งถึงเลื่อนกำหนดเวลาทุบทิ้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ให้เร็วขึ้น


ในท่ามกลางข่าวร้าย ก็มีเรื่องดีๆ จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนป สำรวจพบว่า การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในปี 2554 โตขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 211,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

คาดการณ์กันว่า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตก้าวกระโดดตลอดช่วง 8 ปีข้างหน้า และในปี 2563 มูลค่าการลงทุนทะลุ 395,000 ล้านเหรียญ

แต่กระนั้น การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนยังไม่เพียงพอที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะ "โลกร้อน" เพราะยังมีโรงงาน บ้านเรือนทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลทำให้อากาศโลกแปรปรวนอีกจำนวนมหึมา

นั่นแปลความได้ว่า ปีมะโรงใหญ่ ชาวโลกยังต้องมีลมหายใจอยู่ภายใต้ภาวะ "เสี่ยง" กับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเหมือนเช่นปี 2554



.