http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-05

ธาวิต: "เศษกระดูกบนภูเขา"ฯ, จักรวรรดิแห่งเงินยวง..และ(ตอนจบ)

.

จาก "เศษกระดูกบนภูเขา" เป็น "จักรวรรดิแห่งเงินยวง" (40) (From Bones of the Hills to Empire of Silver)
โดย ธาวิต สุขพานิช จักรวาลวิทยา, ธัญบุรี
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 63


ความยิ่งใหญ่สูงสุดของเจงกิสฯ ในฐานะ "จอมทัพ" ผู้ไม่รู้จักคำว่าปราชัย เพราะไม่ว่าจะรบกับใคร ไม่ว่าจะต้องไปรบที่ไหน (คือไม่จำต้องทราบเลย หรือ "รู้เขา รู้เรา" ใดๆ ทั้งสิ้น ก็ยังรบชนะทั้ง 100 ครั้ง 100 ครา โดยตลอด!)

เขาทำสงครามอย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัย และไม่เคยพ่ายแพ้ให้แก่ใครเลยตลอดชีวิต

แต่ความยิ่งใหญ่แท้จริงของเขานั้น มิได้เกิดในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ แต่กลับไปเกิดขณะที่เขาเพิ่งเสียชีวิต อันผิดแผกแตกต่าง ตรงกันข้าม และกลับตาลปัตร กับ "จอมทัพ" ทั้งหลายอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

เพราะเจงกิสฯ เสียชีวิตแบบ "ตกม้าตาย" กลางสมรภูมิ ขณะนั้นทัพมองโกลกำลังโจมตีอาณาจักร "ไซ่เสี่ย" (Xi Xia) หรือดินแดน "เสี่ยตะวันตก" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "จีนเหนือ" ในสมัยโบราณ

จู่ๆ เจงกิสฯ ก็ล้มลงตกจากคอม้า ในระหว่างศึกสงครามกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด หากเกิดเหตุทำนองนี้ในสมรภูมิอื่นๆ ที่ "ผู้บัญชาการสูงสุด" มาเสียชีวิตกลางสมรภูมิ ทหารหาญทั้งมวลต้องเสียขวัญเสียกำลังใจ เกิดภาวะ "ภูเขาถล่ม" กองทัพจะแตกพ่าย แยกย้ายหนีตายกันจ้าละหวั่น

แม่ทัพนายกองคนรองๆ ลงมา ไม่ว่าจะมีระเบียบวินัยเข้มแข็งขนาดไหน ก็ไม่อาจยับยั้งการแตกทัพเช่นนั้นได้ และต้องหลบหนีตายตามนักรบของตนไปด้วย โดยภาวะจำยอม

ทั้งนี้ เพราะ "ผู้บัญชาการฯ" ในสงครามดั้งเดิม เปรียบได้ว่าเป็น "หัวใจ" ของเหล่าทัพ หากเขาบังเอิญเสียชีวิตระหว่างการรบ กองทัพจะถึงการล่มสลายลงโดยปริยาย


ตํานานเกี่ยวกับ "El Cid" (Rodrigo Diaz de Vivar, 1043-1099) เป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเขาเป็น "จอมทัพ" สำคัญยิ่งของสเปน ในสงครามระหว่างชาวคริสต์ของยุโรป กับชาวมุสลิมจากแอฟริกาเหนือ ในช่วงไม่กี่สิบปีก่อนที่ทัพมองโกลของเจงกิสฯ จะบุกตีเข้าสู่ดินแดนทั้ง 2 ดังกล่าว

ระหว่างรบพุ่งทำสงครามอย่างกล้าหาญ ท่าน El Cid กลับถูกลูกศรปักเข้าที่หัวใจ เสียชีวิตไปทันทีระหว่างการรบ แต่ภรรยาเขาทราบว่ากองทัพต้องเสียขวัญ จึงสั่งให้มัดศพของสามีไว้บนหลังม้า พร้อมไม้ค้ำยันร่างกายให้ตั้งตรง จากนั้นให้คนจูงม้าและศพของสามี นำทัพเข้าโรมรันกับข้าศึกต่อไป จนสเปนเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในที่สุด

นี่เป็นกรณีของ "จอมทัพ" อื่นๆ ทั้งหลายทั้งมวล ซึ่งจะตายไม่ได้เด็ดขาด เพราะหากเกิดตายในสมรภูมิ กองทัพของฝ่ายตน จะต้องกลายเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้อย่างแน่นอน (หรือถึงเกิดตายไปจริง ก็ต้องหลอกว่ายังมีชีวิตอยู่) จึงจะได้ชัย

ที่แตกต่าง ตรงกันข้าม และกลับตาลปัตรกับกองทัพอื่นๆ คือเมื่อเจงกิสฯ ซึ่งเป็น "จอมทัพ" ของกองทัพมองโกล ได้เสียชีวิตหรือ "พลีชีพ" กลางสมรภูมิ แทนที่จะทำให้นักรบมองโกลเสียขวัญ กลับทำให้นักรบของเขาเกิดความฮึกเหิม มุ่งมั่นจะแก้แค้นให้กับท่าน "ข่าน" ของพวกตนให้จงได้

การรบจึงดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดเนื่องขาดตอน หรืออาจเป็นความแน่วแน่กว่าปกติด้วยซ้ำไป



หลังการตายของเจงกิสฯไม่กี่วัน อาณาจักร "ไซ่เสี่ย" (Xi Xia) จะถูกลบชื่อไปตลอดกาลจากประวัติศาสตร์ เมืองทุกเมืองจะถูกทำลาย คนทุกคนจะถูกสังหารทิ้ง ก้อนหินทุกก้อนจะถูกทุบป่นเป็นผง ฯลฯ จนแผ่นดินจะคืนกลับสู่ธรรมชาติในสมัยโบราณกาล

หลังจากการได้พิชิตอริราชศัตรูเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ขบวนแห่พระศพของเจงกิสฯ จึงจะเริ่มต้นขึ้น นำร่างไร้วิญญานของเขา คืนกลับสู่แผ่นดินถิ่นเกิด ซึ่งอยู่ห่างไกลไปทางทิศเหนืออีกหลายพันกิโลเมตร

เพราะอะไรกองทัพมองโกลของเจงกิสฯ จึงผิดแผก แตกต่าง ตรงกันข้ามกับกองทัพของคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่อย่างรู้ๆ กัน และได้ชี้แจงให้ทราบไปแต่ต้นแล้วว่า พวกเขาเพิ่งจะเริ่มรวมตัวกันเข้ามา เป็นคนพวกเดียวกัน ในช่วงวัยหนุ่มของเจงกิสฯ คือแค่ราว 40 ปีเท่านั้น

แต่ทัพมองโกลกลับมีเอกภาพอย่างยากจะเชื่อ เพราะสามารถจะทนร้อน ทนหนาว ทนความยากลำบาก ทนระยะห่างไกลของเส้นทาง ฯลฯ อย่างพิสดารยิ่ง

เหตุผลซึ่งพอจะช่วยทำความเข้าใจ เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของกองทัพมองโกล (ในทิศทางซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อทั่วไป) ซึ่งคนอื่นๆ โดยรวม อาจไม่ยอมเชื่อ และยากจะยอมรับ คือกองทัพมองโกลนั้น เป็นกองทัพ "ประชาธิปไตย" คล้ายกับนครเอเธนส์ ของชาวกรีกสมัยรุ่งเรือง ("Demokratia" ของเอเธนส์โบราณ ใช้ระบบการเลือกตั้งทั้งทางการเมืองการปกครอง การศาล และการทหาร และในทุกๆ ระดับชั้น ยกเว้นตำแหน่ง "ขุนคลัง" ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ)

แต่เป็นประชาธิปไตยทางการทหาร ไม่ใช่ทางการเมืองเยี่ยงอย่างของเอเธนส์


หลังการรวบรวมเผ่าทั้งหลาย ให้กลายเป็น "ชาติมองโกล" ร่วมกันแล้ว เจงกิสฯ ประกาศสลายระบบเผ่าดั้งเดิม พวกที่เคยเป็นหัวหน้าเผ่า และเหล่าญาติพี่น้องทั้งหมดถูกถอดถอน กลายเป็นชาวมองโกลสามัญ (Yassa มาตรา 4) หรือจะยอมให้ถูกประหารเขาก็ไม่ขัดข้อง หลังจากฆ่าทิ้งไปบางส่วน (เช่น ญาติพี่น้อง หรือ Bonds Men ของเผ่า Naimans) เผ่าอื่นจะยอมศิโรราบหมด

จากนั้นเขาจะจัดกำลังทัพใหม่ ให้ทุกหน่วยประกอบด้วยนักรบ 10 นาย เป็นหนึ่งหมู่ (Arban) ภายใน 10 นายนั้น ให้เลือกกันเองว่าใครจะได้เป็นหัวหมู่ แล้วให้หมู่พวกนี้ 10 หมู่รวมตัวเป็น 1 กองร้อย (Jagun) โดยให้เลือกกันเองอีก ว่าระหว่าง 10 หัวหมู่ในกองร้อยหนึ่งๆ ใครจะได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากอง

เฉพาะเมื่อขึ้นถึงระดับกองพัน (Minghaan) และกองพล (Tuman) ซึ่งบังคับบัญชานักรบ 1,000 และ 10,000 คนตามลำดับเท่านั้น ที่เจงกิสฯ จะเป็นคนแต่งตั้งมอบหมายด้วยตัวเอง

เริ่มตั้งแต่ระดับเล็กสุด คือ "หมู่" (Arban) นักรบจะถูกคละกันหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกตามเผ่าเก่าก่อน

เรื่องนี้ฟังแล้วคล้ายจะทำได้ยาก แต่ในทางปฏิบัติกลับเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะเริ่มแรกเมื่อเจงกิสฯ เริ่มปราบปรามเผ่าต่างๆ เขาสังหารทิ้งผู้ชายและเด็กชายวัยรุ่นไปทั้งหมด แล้วผนวกผู้หญิงกับลูกเล็กๆ ของพวกเธอ ให้กระจายตัวไปอยู่ร่วมกับคนที่ถูกผนวกเข้ามาก่อน

เมื่อเด็กชายจากอดีตชนเผ่าเก่าอายุได้ 12 ปี เกือบทั้งหมด ต้องเข้าร่วมในกรมกองและหมวดหมู่ตามกฎหมาย (Yasa มาตรา 6) และต้องฝึกฝนการขี่ม้า ยิงธนู ใช้ดาบ หอก เสื้อเกราะ และโดยเฉพาะหากต้องเดินทัพ ไปทำศึกระยะไกลๆ ต้องกิน/นอนอยู่ร่วมกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ทุกๆ "หมู่" หรือ "Arban" พร้อมด้วยอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ นานา

ดังนั้น สำหรับนักรบ 10 คนของทัพมองโกล พวกเขาจำต้องมีอย่างน้อย 2-3 กระโจม (Gers) ขึ้นไป


ดังที่อ้างถึงไว้ในบทต้นๆ ว่าธนูของมองโกลนั้น แม้นจะดูกะทัดรัดกว่า "ธนูยาว" (English Long Bows) ของอังกฤษมาก แต่อานุภาพทำลายล้าง กลับเหนือกว่ากันร่วม 2 เท่าตัว เพราะกรรมวิธีในการผลิต ซึ่งใช้การประกบไม้กับเขาสัตว์ เอื้อให้มีแรงยิงที่รุนแรงมาก และสามารถจะยิงทะลุเกราะเหล็กทุกชนิดร่วมสมัย รวมถึงเกราะที่ดูหนาหนักของพวกฝรั่ง ทุกประเภทอย่างไม่มีข้อยกเว้น

การจะมีความเป็นเลิศในการยิงธนูดังกล่าว และเป็นการยิงจากบนหลังม้า ในขณะห้อตะบึงอย่างเต็มเหยียด ในสภาพทุกพื้นที่ของห้วยเขาลำเนาไพร ในทุกสภาพภูมิอากาศ เช่น ร้อนเป็นไฟ หรือหนาวเหน็บใต้จุดเยือกแข็ง ลมแรง ฝนกระหน่ำ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างเข้มงวด ซ้ำแล้วซ้ำอีกนานนับปีๆ

ธนูซึ่งยิงได้ไกลมากๆ เช่นนี้ แปลว่าทั้ง "คันธนู" และ "สายธนู" ต้องมีความแข็งเหลือร้าย

ใครเคยฝึกการดีดกีตาร์มา อาจพอนึกออกว่ามันจะ "แข็ง" ระดับไหน เพราะขนาดสายกีตาร์ที่พอขันขึ้นให้แข็ง เพื่อให้มีเสียงสูงตามต้องการ ยังทำให้ปลายนิ้วแตกเป็นแผลได้ ทั้งๆ ที่เป็นกีตาร์ไฟฟ้าช่วยขยายเสียงให้ (นักเขียนนิยายกำลังภายในชาวจีน นิยมเขียนให้ตัวเอกของพวกตน มีความสามารถล้ำเลิศในการยิงธนู แต่ตัวของผู้ประพันธ์เอง กลับไม่มีความรู้เกี่ยวกับธนูเลย คือใส่ลูกแล้วก็ยิงออกมาได้โดยอัตโนมัติ แต่ธนูเป็นอาวุธระบบคานดีดที่แข็งมาก ซึ่งต้อง "ขึ้นสาย" ก่อนจึงจะพร้อมยิงเท่านั้น จะขึ้นสายไว้นานๆ ล่วงหน้าไม่ได้ มิเช่นนั้นตัวคันธนูจะร้าและสายธนูจะยืด และแรงดีดของลูกธนูจะลดต่ำลงอย่างมากพร้อมๆ กันนี้ วิธีการ "ขึ้นสาย" ของธนูยังต้องใช้ทักษะพิเศษ (คล้ายกับการ "เหวี่ยงแห" ปากกว้าง 10-12 ศอก บนหัวเรือแจวขนาดย่อมๆ) จะมา "โม้" เอาเองแบบที่ชอบนำเสนอกันไม่ได้เด็ดขาด)

แต่นักรบมองโกลไม่มี "ธนูไฟฟ้า" มาช่วยผ่อนแรง พวกเขาต้องเหนี่ยวคันธนูด้วยแรงนิ้ว แรงแขน และแรงไหล่ของตนเอง (โดยไม่มี "ปิ๋ก" ใดๆ มาช่วยผ่อนปรน) จึงสามารถจะกระทำได้แบบนี้อย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก วันแล้ววันเล่า ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานของศึกสงคราม

พวกเขาจึงผูกพัน และฝากชีวิตไว้ระหว่างกันเอง ภายในหมู่ (10) และในหมวด (100) เฉพาะของตัวเองเท่านั้น การผสานงานในระดับสูงๆ ขึ้นไป หรือในวงกว้างของสมรภูมิโดยรวมทั้งหมด เป็นความรับผิดชอบของหัวหมู่ (10) หรือผู้หมวด ผู้กอง (100) ขึ้นไปสู่ระดับกองพัน (1,000) และกองพล (10,000) ยิ่งห่างไกลจากนักรบส่วนรวมมากขึ้นไปอีก

การเสียชีวิตของเจงกิสฯ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของทัพมองโกล ระหว่างการรบกลางสมรภูมิ จึงไม่มีผลใดๆ เลยต่อเหล่าทหารของเขา เพราะทุกหน่วยรบจากระดับล่างสุด จะฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาสายตรงของพวกตนเป็นหลักเท่านั้น หรือหากนายสิบ นายร้อยระดับล่างพวกนี้ล้มตายไป ความวุ่นวายจะถูกจำกัดเฉพาะในหน่วยรบย่อยๆ เสมอ

และนี่เป็นความแตกต่างอันจริงแท้แน่นอน ระหว่างทัพมองโกลกับอื่นๆ ทั้งหมด...



+++

จักรวรรดิแห่งเงินยวง (41) (Empire of Silver)
โดย ธาวิต สุขพานิช จักรวาลวิทยา, ธัญบุรี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 75


ร้อยละ 99 ของกองทัพมองโกลสมัยเจงกิสฯ เป็นกองทัพ "ทหารม้า" แทบจะโดยสิ้นเชิง (ยกเว้นทหารช่าง) และเหล่าทหารม้าต่างจากพลเดินเท้าอย่างมาก เพราะพวกเขามีจุดเด่นที่การเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ซึ่งมิใช่เฉพาะตอนรุกเข้าโจมตีเท่านั้น ตอนถอยหนีหลบเลี่ยงการตอบโต้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน

อีกนัยหนึ่งคือทั้งการรุก และการรับจำต้องกระทำอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้รับผลเสียหายต่ำสุดพร้อมๆ กันด้วย

คือทั้งการบุกการถอย การรุกการรับ ต้องอาศัยความว่องไว และการมุ่งมั่นฝึกฝน มิใช่อย่างโดดเดี่ยวโดยลำพัง แต่ทั้งหมู่ 10 นายของตัวเอง ผสานร่วมกับหมู่ 10 ของอีกหมู่หนึ่งในกองร้อย และกับกองร้อยอื่นๆ ในกองพัน ขึ้นสู่ระดับกองพลจำนวนหมื่นนาย ห้อตะบึงเข้าไปยิงใส่ศัตรู แล้วเบี่ยงม้าออกไปภายนอก เพื่อให้หน่วยอื่นเข้าไปยิงบ้าง

ระหว่างนั้นเป็นช่วงบรรจุลูกศรใหม่เข้าสู่แล่ง เมื่อพร้อมยิงจึงค่อยเคลื่อนพล นำหมู่หมวดของพวกตนเอง กลับเข้ามาจู่โจมอีกรอบหนึ่ง สลับหมุนเวียนกันเช่นนี้ จนกว่าลูกธนูจะหมด (ราว 80-100 ดอก) ถึงจะเริ่มใช้หอก-ดาบทำการรบแบบประชิด

ซึ่งถึงตอนนั้นข้าศึกส่วนใหญก็ถอดใจแล้ว เพราะทุกกองพลของนักรบหนึ่งหมื่นนาย มีลูกธนูรวมกันราว 1,000,000 (หนึ่งล้าน) ดอก และทุกนายยังยิงได้แม่นยำราวจับวาง กว่าลูกธนูจะถูกยิงจนหมด ทัพของศัตรูก็แทบพังพินาศสิ้น

และนี่คือเหตุผลพื้นฐานให้ทัพของเจงกิสฯ พิชิตชัยไปครึ่งค่อนโลกชนิดไร้ผู้ต่อต้าน


บางครั้งศัตรูเลือกชัยภูมิที่ล่อแหลมอันตรายที่สุด ให้พวกตนเป็นฝ่ายได้เปรียบที่สุด และแถมยังมีกำลังทัพเหนือกว่าของเขา 5-6 เท่าตัว ยังปราชัยยับเยินภายในวันเดียว

สมรภูมิครั้งที่เจงกิสฯ ภาคภูมิใจที่สุด คือครั้งที่รู้จักกันในนามของ Battle of Badger"s Mouth Pass (1210) ซึ่งเป็น "ด่าน" ระหว่างซอกเขาสูง 2 ลูก ห่างขึ้นไปทางเหนือของนครเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ราว 50 กิโลเมตร

(ด่าน "Badger"s Mouth" นี้ ต่อๆ มาจะถูกกำแพงปิดตาย แต่ในสมัยราชวงศ์หมิง (1368-1644) จะย้ายไปเปิดด่านหรือ "ทางเข้า" กำแพงเมืองจีนแห่งใหม่ (ด่านเดิมเป็นอัปมงคล เพราะมีซากศพไม่ได้กลบฝังของทหารจีนร่วม 500,000 ซาก) เลยไปทางทิศตะวันออกจากด่านเดิม และเป็นทำเลติดกับทะเล ซึ่งก็คือ "ด่านซันไห่กวน" ที่ชาวจีนยึดถือเป็น "ด่านอันดับหนึ่งของแผ่นดิน")

แม่ทัพใหญ่ของฝ่าย Chin/Jin (จีนเหนือ) ได้กรีธาทัพกว่า 500,000 นาย มาอุดช่องทางออก ที่จะลงใต้ไปสู่นครหลวงของพวกตน พร้อมกันนี้ยังได้สร้างป้อมค่าย และเตรียมการตั้งรับราวกับ "ปราการเหล็กกำแพงทองแดง" (สำนวนนิยายจีนกำลังภายใน) เสริมด้วยมาตรการอื่นๆ สารพัน หวังจะบดขยี้ทัพมองโกลให้สิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากพื้นพิภพ

ส่วนทัพของเจงกิสฯ มีนักรบราว 80,000 นาย (8 กองพล) ต้องใช้ "จุดอ่อน" ของตนเอง ไปปะทะกับ "จุดแข็ง" ของศัตรูแบบซึ่งหน้า เพราะทหารม้าของเขาคุ้นเคยกับการสู้รบในทุ่งกว้าง สามารถโจมตีข้าศึกแบบละลอกคลื่น แปรขบวนผลัด เปลี่ยน หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันจู่โจม

แต่เพราะ "ด่าน" แห่งนี้มีพื้นที่คับแคบ ยินยอมให้ม้าเพียงไม่กี่ตัวเรียงแถว ค่อยๆ ทยอยเข้าไปตามลำดับเท่านั้น

แผนของฝ่าย Chin/Jin คือปล่อยให้ทัพมองโกล ผ่านเข้ามาสักครึ่งหนึ่งก่อน จากนั้นจะใช้ไม้ซุงยักษ์จำนวนมาก ที่เตรียมไว้ล่วงหน้าข้างบนผาสูง เพื่อตัดทัพมองโกลให้ขาดออกจากกันเป็น 2 ส่วน แล้วค่อยบดขยี้ให้แต่ละส่วน

ให้ยับเยินจนไม่มีชิ้นดี



ต่อเมื่อการรบเริ่มต้นขึ้นจริง มาตรการทุกประการที่เตรียมไว้อย่างดีเลิศ มีนักรบมากมายและกล้าหาญชำนาญศึก ทั้งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งดีเยี่ยม เหนือล้ำกว่ากันอย่างเทียบไม่ติด มีเสบียงอาหารและทุกๆ สิ่งอย่างพร้อมสรรพ ฯลฯ แต่กลับถูกทัพของเจงกิสฯ โจมตีจนวอดวายในไม่กี่ชั่วโมง หรือภายในเวลาไม่กี่พริบตา ในช่วงเวลาของสงครามเท่านั้น

ทหารจีนโดยรวมราว 550,000 นาย จะอยู่เหลือรอดตายไปไม่กี่พันคน

แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายจีนเหนือ (Zhi-zhong) ซึ่งกรำศึกมาร่วม 40 ปี ตื่นตระหนกอย่างสุดขีด เพราะไม่เคยพบเจอเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน และไม่เคยคาดคิดว่าเรื่องราวดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้

ลงท้ายจึงหลบลี้หนีภัย ร่วมกับเหล่าองครักษ์ซึ่งคอยคุ้มกันให้กับตัวเขาจำนวนไม่กี่ร้อยนาย คืนกลับสู่นครเป่ยจิงชนิดหัวซุกหัวชุน

เขาต้องรีบหนีคืนกลับสู่นครหลวง ก่อนข่าวสารของความพ่ายแพ้จะกระจายออกไป และก่อนที่องค์ฮ่องเต้จะทรงทราบ ถึงความวิบัติของตัวเขา และกองทัพของพระองค์ เพราะหากข่าวสารของความพินาศวอดวายมาถึงก่อน การต้องถูกประหารทั้งตระกูลของตัวเขาเอง รวมทั้งของแม่ทัพนายกอง ต้องตามติดมาอย่างแน่นอน

นี่เป็นระเบียบปฏิบัติของราชสำนักจีน ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นใหรือข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น


แม่ทัพใหญ่ Zhi-zhong ตระหนักดีถึงกฎระเบียบของทางราชการ เขาจึงรีบคืนกลับสู่นครหลวงแต่ย่ำรุ่ง แล้วขอเข้าเฝ้าในทันที ทำนองว่าต้องรายงานผลของการรบ ต่อองค์ฮ่องเต้แบบเร่งด่วน ซึ่งก็เป็นไปตามแผนทุกประการ เพราะยุวฮ่องเต้ไม่ทราบความนัย พอถูกปลุกให้ตื่นจากบรรทมขึ้น ก็รีบมารับรายงานเกี่ยวกับการศึก แล้วจะถูกปลงพระชนม์อย่างอุกอาจ โดยแม่ทัพและในท้องพระโรงของตนเอง

จากนั้น Zhi zhong จะแต่งตั้งตัวเอง ขึ้นเป็นผู้สำเร็จว่าราชการแผ่นดิน แล้วมอบหมายให้หนึ่งในพระโอรสของฮ่องเต้เดิม ขึ้นเป็น "โอรสสวรรค์" ตามประเพณี และเฝ้ารักษากำแพงเมืองเป่ยจิง ไม่ให้ทัพมองโกลบุกรุกเข้ามาได้ ซึ่งจะเกิดการยื้อกันไปยื้อกันมายาวนานกว่า 3 ปี และจะเกิดการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ครั้งสำคัญที่สุด สำหรับ "ชาติมองโกลอันยิ่งใหญ่" ของเจงกิสฯ ด้วย

เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาของเจงกิสฯ เขาสามารถจู่โจมพิชิตทุกเมือง และทุกสมรภูมิอย่างง่ายดาย และในเวลาอันรวดเร็วอย่างยากจะเชื่อ แต่กำแพงของเมืองเป่ยจิงถูกสร้างขึ้นเป็นพิเศษ โดยมีรากฐานอยู่บนหินแกรนิต และมีทั้งความหนา และความสูงหลายๆ สิบเมตร มิหนำซ้ำยังมีการสร้างแบบซ้ำซ้อน หลายๆ ชั้นป้องกันมิให้ข้าศึกบุกหักเข้าไปได้

จึงเหลืออยู่เพียงวิธีเดียว ในการจะพิชิตนครหลวงของคนจีน (เหนือ) แห่งนี้ คือการ "ล้อมเมือง" ไว้ให้ไร้ของอาหารการกิน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะภายในตัวเมือง มีการสำรองอาหารไว้ในระดับหนึ่ง ยังมีพอกินนานนับปี

และที่แย่ไปกว่านั้น เจงกิสฯ จะบริหารจัดการกับเหล่านักรบของตัวเอง ซึ่งมาจากการรวบรวมชายฉกรรจ์จากนับร้อยๆ ชนเผ่า และสัตว์เลี้ยงของทุกๆ ชนเผ่าทั้งหลายได้อย่างไร?



ในขณะที่มีศึกสงครามอยู่เบื้องหน้า ความผูกพันต่อชนเผ่าเก่าก่อน และเหล่าสัตว์เลี้ยง ซึ่งจำต้องมีแหล่งหญ้าแหล่งน้ำ ให้ต้องดื่มต้องกินเหมือนๆ กันหมด ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี แต่ละชนเผ่าจะรบราฆ่าฟัน และแย่งชิงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้กันวุ่นวาย แต่เมื่อทุกเผ่ากลายเป็นคนชาติเดียวกัน การแย่งชิงระหว่างกันทำไม่ได้อีกเพราะมีกฎหมายห้ามไว้เด่นชัด

อย่างไรก็ตาม การจะต้องล้อมเมืองเป่ยจิงนานแรมปี สร้างความตึงเครียดร้ายแรงภายในสังคมมองโกล เพราะแทนการโยกย้ายที่อยู่อาศัย ตามแหล่งหญ้าแหล่งน้ำเช่นปกติ พวกเขาทั้งหมดรวมถึงสัตว์เลี้ยงนับล้านตัว ต้องมาจับเจ่าอยู่ในสถานที่เดียวอย่างยาวนาน

แค่การหาเชื้อเพลิงเพื่อการหุงหาอาหาร หญ้าให้สัตว์เลี้ยงได้กิน พื้นฐานการใช้ชีวิตธรรมดาๆ กลับกลายเป็นปัญหาไปหมด

ประกอบกับฝ่ายจีนไม่มีทัพจะสู้รบกับมองโกล จึงเปลี่ยนไปใช้วิธีส่งมือสังหารไปลอบทำร้าย จนเจงกิสฯ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้นำชนเผ่าเดิมและเหล่าเครือญาติ (เท่าที่ยังหลงเหลืออยู่) จึงพยายามทวงอำนาจคืน เช่น การเป็นปากเสียงให้กับเผ่าเก่าของตนเอง โดยการเรียกร้องสิทธิเช่นนั้นเช่นนี้

จนชนชาติมองโกลซึ่งเพิ่งก่อตัวขึ้น เกือบจะต้องล่มสลายไปจากการล้อมเป่ยจิงคราวนั้น...



+++

บทสรุป "จักรวรรดิแห่งเงินยวง" (จบ) (Empire of Silver : Concluded)
โดย ธาวิต สุขพานิช จักรวาลวิทยา, ธัญบุรี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 71


ในแง่หนึ่งซึ่งไม่เคยมีคนเอ่ยถึง คือที่กองทัพมองโกลยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนั้น เป็นเพราะในขณะที่ชาวโลกส่วนรวม ต่างชื่นชมยกย่องสินแร่ทองคำ ว่าเป็นแร่โลหะทรงคุณค่าสูงสุด เพราะมันสุกปลั่งเปล่งประกาย งดงามด้วยตัวของมันเอง ท้าทายสภาพดินฟ้าอากาศ และกาลเวลาไม่ว่าจะผ่านไปกี่เดือนกี่ปี

แต่ชาวมองโกลกลับมีระบบคิดที่ตรงกันข้าม

ถึงพวกเขาจะตีชิง และได้รับทองคำเป็นบรรณาการ ในปริมาณมากมายมหาศาล เพราะโดยส่วนตัวแล้ว พวกเขา แทบไม่เห็นคุณค่าของมันเลย (ยกเว้นในเชิงสัญลักษณ์ เพราะคนอื่นๆ ทั่วไป ยกย่องให้ความสำคัญต่อมัน)

ด้วยเหตุว่าทองคำมีประโยชน์ใช้สอยน้อย แถมมีน้ำหนักมาก ยากลำบากในการขนย้าย

สำหรับชาวปศุสัตว์เร่ร่อน ซึ่งต้องโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยตามฤดูกาล การครอบครองทองคำในปริมาณสูง เป็นภาระมากกว่าเป็นประโยชน์ เพราะทองคำมีน้ำหนักต่อมวลของมัน ที่หนักหนาสาหัสอย่างเหลือเชื่อ

สำหรับชาวไทยที่ชอบสวมใส่สร้อยคอทองคำ เอาเป็นว่าขนาดราว "3 บาทไทย" (เกือบๆ จะ "ครึ่งกิโลฯ") คงสำนึกดีว่ามัน "หนัก" ขนาดไหน ไม่รู้ว่าจะเอาไปแบกไว้ ใส่บนคอกันทำไม?

ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ เจงกิสฯ ได้ครอบครองทองคำพวกนี้นับเป็นพันๆ ตัน อันเป็นภาระในการเดินทางขนย้ายอย่างมหาศาล

เขาจึงยินดีที่จะแจกจ่ายมันออกไป ให้กับใครๆ ก็ได้ทั้งนั้น ที่ให้คุณค่าความสำคัญกับโลหะสินแร่ชนิดนี้ ซึ่งก็คือทุกผู้ทุกคนที่เขาได้สัมผัส ซึ่งเกือบทั้งหมดที่เขาจ่าย "ทองเชลย" พวกนี้ออกไป คือเพื่อการ "ซื้อข้อมูล" เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ

เมื่อทั้งตัวของเจงกิสฯ เอง และเหล่าทายาทของเขาทั้งหมด ต่างเห็นว่าโลหะ "ทองคำ" อาจมีค่าบ้างก็จริง แต่พวกมันเป็น "ภาระ" มากยิ่งกว่า พวกเขาจึงใช้จ่ายพวกมันออกไป อย่างง่ายดายยิ่งกว่ากระแสน้ำ

ข้อมูลกี่ยวกับสภาพแวดล้อม จึงหลั่งไหลเข้ามา ให้ทัพมองโกลพิจารณาเตรียมการ และดำเนินแผนการรุกราน ขยายเขตแดนได้อย่างพร้อมสรรพที่สุด


สินแร่โลหะที่ชาวมองโกลยกย่อง ให้ความสำคัญสูงสุด กลับเป็นแร่โลหะเงิน เมื่อลูกชายคนที่ 3 ของเจงกิสฯ ชื่อ Ogedei (1186-1241) ขึ้นเป็นข่านสืบต่อ เขาได้สร้างเมืองหลวงชื่อ Karakorum อันเป็นเมืองแรกและเมืองๆ เดียวของชาวมองโกล ซึ่งคนส่วนรวมก็ไม่เข้าใจ ว่าเขาสร้างมันขึ้นมาเพื่ออะไร

ใช้ป้องกันภัยใดๆ ก็ไม่ได้ เพราะมันมีกำแพงเมืองสูงไม่ถึง 1 เมตร เด็กตัวน้อยๆ ยังสามารถปีนข้ามได้โดยง่าย

แต่ภายในนครแห่งนี้ จะเป็นที่สะสมโลหะเงินจำนวนมหาศาล เพราะใจกลางพระราชวังของเมืองแห่งนี้ จะให้ช่างฝีมือชาวฝรั่งเศส ชื่อว่านาย Guillaume Boucher สร้าง "ต้นไม้เงิน" (The Silver Tree) ขนาดยักษ์ จากเงินบริสุทธิ์แผ่กิ่งก้านสาขาทั่วทั้งท้องพระโรงอันไพศาล*

(ดู Thomas J. Craughwell, The Rise and Fall of the Second Largest Empire in History..., 2010, ซึ่งเป็นงานวิชาการที่ดีมาก แต่เพราะผู้เขียนเป็นคนอังกฤษ และเชื่อมั่นว่าประเทศของตัวเอง เป็น "จักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์" ของมนุษยชาติ จึงจัดอันดับให้ของมองโกลเป็นอันดับ 2 รองจากของตน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง จักรวรรดิของอังกฤษหรือ British Empire นั้น กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย และอาศัยความเหนือกว่าทางเทคโนโลยี จึงพิชิตดินแดนเหล่านั้นได้ ผิดกับของมองโกลซึ่งเป็นแผ่นดินต่อเนื่อง เป็นผืนใหญ่ผืนเดียวกัน โดยไม่มีเทคโนโลยี่ใดๆมาเกี่ยวข้องเลย)

ตรงโคนของต้นไม้เงินนี้ โอบรัดไว้ด้วยงูใหญ่ 4 ตัวชูปากกว้าง ในปากฝังไว้ด้วยระบบท่อขนาดย่อม เมื่อได้รับสัญญาณคนรับใช้ 4 คน ซึ่งอยู่ในต้นไม้ จะขับดันสุราเลิศรส 4 ชนิด ออกจากปากงูใหญ่ใส่ ลงในอ่างเงินเบื้องล่างของปากงู ให้แขกบ้านแขกเมืองในท้องพระโรง ได้ตักไปดื่มกินกันอย่างสะดวก

แต่เหตุใดชาวมองโกลจึงให้ความสำคัญกับโลหะเงิน เหนือกว่าโลหะทองคำซึ่งชาวโลกทั่วไปชื่นชอบยกย่อง อนุชนรุ่นหลังของชาวมองโกลเอง ก็คงยากจะเข้าใจวิธีคิดของบรรพชนของตนเอง เพราะพวกเขาได้ไปรับคติคิด ค่านิยมแบบอย่างจีน คือหันไปยกย่อง "ทองคำ" ว่าดีงามสูงสุดมานับร้อยปีแล้ว

(เห็นได้ชัด จากความนิยมในการตั้งชื่อลูกสาวว่า "ดอกทอง" หรือ "กิมฮวย" กันอย่างท่วมท้น)


ความเป็นไปได้เท่าที่เห็น มีอยู่ 2 ประการ คือ

ก. สีของโลหะเงินเป็นสีที่ดูแล้ว ใกล้เคียงกับสีของ "สุนัขป่าเทา/เงิน" ซึ่งชาวมองโกลถือว่าเป็นต้นกำเนิดของตน ชาวมองโกลจึงฝังใจและให้ความสำคัญ กับโลหะสีเงินนี้เป็นพิเศษ

ข. สินแร่ "เงิน" โดยพื้นฐาน มีความงดงามสุกสกาว เปล่งปลั่งไม่ต่างอะไรกับทองคำ ความต่างกันจริงๆ อยู่ที่ว่าทองคำนั้นแทบไม่ต้องดูแลรักษาเลย จะปล่อยปละทอดทิ้งไว้อย่างไรๆ มันก็ยังสดใสสวยงามอยู่เช่นเดิม

ตรงข้ามกับสินแร่เงิน ซึ่งหากทอดทิ้งมันแบบตามมีตามเกิด มันจะดำคล้ำ หมองมัว ไม่มีความสดใสเรืองรองใดๆ จึงต้องได้รับการเอาใจใส่ ขัดถู ดูแลอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะสุกใสเรืองรองอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสะท้อนคุณลักษณะของมนุษย์ได้ดียิ่งกว่าทองมาก

(พวกอินเดียนแดงของทวีปอเมริกาเหนือ ดูจะเป็นคนอืกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งให้ความสำคัญกับสินแร่เงิน โดยไม่แยแสโลหะทองคำเลย แม้นว่าทางภาคตะวันตกของประเทศสหรัฐ จะมี "ก้อนทอง" (Nugget) กระจายทั่วตามพื้นลำธาร จนคนขาวเข้ามาเยือน จึงเกิดการ "ตื่นทอง" (Gold Rush) ของปี 1849 (The Forty Niners) อินเดียนแดงกลับนำเงินมาทำเครื่องประดับ สายสร้อยเงินลาย "Squash Blossom" (ดอกแตงบาน) ของพวกเขา เป็นสิ่งซึ่งอ่อนช้อยสวยสง่า และงดงามอย่างยิ่ง (ดู Squash Blossom + necklace)

มนุษย์เองหากเกียจคร้าน ขาดการฝึกปรือสม่ำเสมอ ก็มีแต่เสื่อมถอยสถานเดียว



ในงานวรรณกรรมเกี่ยวกับชีวประวัติของเจงกิสฯ และบทความชุดนี้ของผม พึ่งพาอาศัยเป็นแนวทางตีความสำคัญ เพราะผู้เขียนได้ศึกษาตรวจสอบข้อมูลได้ถี่ถ้วน ลึกซึ้ง และรอบด้าน เคยให้ Yesugei ผู้เป็นบิดาของเขา สั่งสอนเจงกิสฯ ไว้ดังนี้

"Courage cannot be left like bones in a bag. It must be brought out and shown the light again and again, growing stronger each time. If you think it will keep for the times you need it, you are wrong. It is like any other part of your strength. If you ignore it, the bag will be empty when you need it most."

("ความกล้าหาญไม่อาจถูกยึดถือเป็นเช่นของตายภายในถุง มันจะต้องมีการสำแดงออกให้ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำอีก และการสำแดงครั้งหน้า จะต้องเหนือกว่าครั้งที่ผ่านมาแล้ว หากเจ้าคิดจะเก็บซ่อนมันไว้ สำหรับเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการเท่านั้น เจ้าคิดผิดแล้ว เพราะมันก็เหมือนพลังอำนาจอื่นๆ ของตัวเจ้า ด้วยเหตุว่าเมื่อมันถูกละเลยทอดทิ้งไปนานๆ ถุงที่เจ้าเก็บซ่อนมันไว้ จะกลับกลายเป็นสิ่งว่างเปล่า โดยเฉพาะเมื่อเจ้าจำเป็นต้องพึ่งพามันมากที่สุด")

บทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกเช่นนี้ จะเคยเกิดขึ้นหรือไม่ในความเป็นจริง ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครยืนยันได้ แต่อย่างน้อยๆ ที่สุด มันได้สะท้อนแก่นสารสำคัญของความเป็นมองโกล และความนิยมชมชอบในสินแร่เงิน เหนือกว่าทองคำ ซึ่งชาวโลกนิยมชมชอบอย่างถึงแก่น

กล่าวคือโลหะเงินนั้นโดดเด่นเหนือกว่าทองคำ เพราะมันเป็นสิ่งซึ่งต้องการความเอาใจใส่ดูแล เฉกเช่นเดียวกับ คมมีด คมดาบ และหัวของลูกศร ฯลฯ จะปล่อยปละละเลยไม่ได้โดยเด็ดขาด ต้องหมั่นลับหมั่นฝน ให้มีความแหลมคม และมีความเงางามอยู่ตลอดเวลา

มิเช่นนั้น เมื่อถึงคราวที่เราจำเป็นต้องใช้งานมัน คุณประโยชน์ของพวกมันจะสิ้นสลายหายไปหมด ไม่หลงเหลือให้เราได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป



อย่างไรก็ตาม เจงกิสฯ โดยพื้นฐานแล้ว ไม่เคยมีแผนการยิ่งใหญ่ใดๆ เลย การบุกโจมตีจีนเหนือมีสาเหตุประการเดียว คือพิสูจน์ว่าชาวมองโกลก็มีความเก่งกล้าสามารถ ไม่ด้อยกว่า หรืออาจเหนือกว่าคนจีนด้วยซ้ำ เพราะชาวจีนชอบแสดงกิริยาดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามชิงชังรังเกียจ ชอบมีทีท่าทางอันยโสโอหัง หมิ่นประมาทและประณามว่าพวกเขาเป็นพวกคนป่าเถื่อน ไร้ซึ่งความคิดและสติปัญญา เขาจึงต้องการพิสูจน์ให้ชาวจีนเห็น ให้คนจีนทราบ ว่าพวกเขาไม่ได้ด้อยกว่าจีนใดๆ เลย

เมื่อสุขภาพจากการถูกลอบสังหารของเขาเริ่มกระเตื้องขึ้น จนสามารถเรียกประชุมผู้นำเหล่าทัพได้ เจงกิสฯ จึงตัดสินใจขั้นเด็ดขาด โดยประกาศขยายแนวรบออกไปทุกทิศทุกทาง เพราะอย่างไรๆ ร่างกายเขาต้องรอให้ทุเลาหายขาด เหมาะกับการอยู่โยงเฝ้าล้อมเป่ยจิงต่อไป

ส่วนแม่ทัพและนักรบอื่นๆ ที่ต้องแกร่วอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จึงควรกระจายตัวออกไปยังดินแดนโดยรอบ ใครอยากบุกไปสู่ทิศใด ก็สามารถเลือกได้เสรี เพียงอย่าเลือกไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และยังสามารถโดดเดี่ยวเป่ยจิงจากโลกภายนอกอย่างเด็ดขาดพร้อมๆ กันด้วย

การตัดสินใจของแจงกิสฯ ครั้งนั้น (1212) จะมีผลต่อสถานการณ์โดยรวมอย่างสำคัญยิ่ง เพราะถึง "กองพล" (Tuman) จะมีจำนวนแค่ 10,000 (หนึ่งหมื่น) คน แต่มันเป็นหน่วยรบที่เกรียงไกรที่สุดของยุคสมัย ทั้งๆ ที่ดั้งเดิมพวกเขามาจากต่างๆ ชนเผ่าของทุ่งหญ้าแห่งมองโกเลีย ยังรวมถึงชาวเติร์กและอุยเกอร์ที่เป็นมุสลิม พวกไซ่เสี่ยกับชาวจีนเหนือซึ่งนับถือขงจื๊อและพุทธ ฯลฯ แต่กลับร่วมรบร่วมเป็นร่วมตายกันอย่างเป็นเอกภาพ

จนชาวมองโกลกลายเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ" หนึ่งเดียว และอย่างแท้จริงในประวัติศาสตร์

เจงกิสฯ ล้อมเป่ยจิงนานถึง 4 ปี คนในเมืองต้องกินศพของพวกเดียวกันเอง เมื่อถึงเวลาจะยอมแพ้ หญิงสาวพรหมจารีในทุกระดับของสังคม มีจำนวนมากกว่า 60, 000 ราย ที่เกรงจะถูกข่มเหงย่ำยี จึงนุ่งขาวห่มขาวพร้อมใจกัน กระโดดลงจากกำแพงเมืองสละชีวิตไปอย่างอนาถ (The Fallen Petals Incident)

ระหว่างนั้นกองพลทั้งหลายของเขา จะบุกตะลุยไปยังทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะทัพที่ไปด้านตะวันตก 2 กองพล เพราะกองทัพมองโกลไม่เคยมีใครต่อต้านได้ สุดท้ายกองพลแรกจะบุกไปไกลถึงตะวันออกกลาง กับอีกกองพลถึงรัสเซีย และยุโรปตะวันออก

สิ่งที่แยกย้ายไปสู่สมรภูมิ ร่วมกับกองทัพยังแดนไกล คือครอบครัวของนักรบ เด็ก ผู้หญิง คนชรา เครือญาติทั้งหมด และฝูงสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ชีวิตยังดำเนินไปตามปกติของการศึก หนุ่มสาวยังมีพิธีแต่งงาน ให้กำเนิดชีวิตใหม่ มีเทศกาลต่างๆ ตามฤดูกาล มีพิธีกรรมทางศาสนา ตามความเชื่อถือ ตามศรัทธาของคนแต่ละกลุ่ม

กำลังพลที่ยังอยู่ล้อมนครเป่ยจิง ร่วมกับตัวของเจงกิสฯ เองนั้น มีจำนวนแค่ 2 กองพลหรือเพียง 2 หมื่นนาย ซึ่งต้องโอบล้อมนครใหญ่ที่สุดของโลกโบราณ เพราะมีอาณาบริเวณโดยรอบกว่า 8 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน

แต่เพราะทหารจีนส่วนใหญ่เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว และทัพมองโกลทั้งมวล เป็นทหารม้า การดูแลพื้นที่กว้างใหญ่ขนาดนี้ จึงไม่ยากลำบากกระไรนัก

และในระหว่าง 4 ปีนั้นเช่นกัน ที่นักรบจากสารพัดชนเผ่า ซึ่งร่วมรบ ร่วมเป็นร่วมตาย ร่วมกินร่วมนอนอยู่ด้วยกัน ห่างไกลจากชนเผ่าเดิมของตนกว่า 7,000 กิโลเมตร ฝากฝังชีวิตความคิดความเป็นอยู่ไว้ด้วยกัน ละทิ้งคติความยึดมั่นถือมั่น เกี่ยวกับระบบเผ่าย่อยแบบดั้งเดิม และค่อยๆ หล่อหลอมให้ทุกคน เข้าเป็น "ชาติมองโกลอันยิ่งใหญ่" (Yeke Mongol Ulus) ตามที่เจงกิสฯ ตั้งความหวังไว้

และทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ภายในช่วงชีวิตของคนๆ เดียวอย่างสุดจะเชื่อ!!!!!!!!!



เท่าที่ได้บอกเล่ากล่าวขานมาแต่ต้นจนบัดนี้ เป็นเพียงวีรกรรมของผู้ชายชาวมองโกล โดยมีเจงกิสฯ เป็นแกนกลางของเรื่อง แต่ก็ได้กินพื้นที่ของมติชนฯ ไปมากแล้ว จึงขอจบเรื่องเกี่ยวกับมองโกลในเบื้องต้น ไว้แต่เพียงหอมปากหอมคอเท่านี้ก่อนหากไม่ถูก "น้ำเหนือ" ซึ่งท่วมท้นลงมา จนต้องล้มหายตายจากกันไป แทบไม่ต่างจากการรุกรานของทัพมองโกล คงจะได้พบกันอีกวาระอันใกล้ในอนาคตครับ

ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าเหตุใดคนไทยจำนวนมาก ชอบพูดว่า "น้ำมันมาเร็วมากๆ" ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ทราบดี ว่า "น้ำเหนือ" มันหลากลงมาตั้ง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้แล้ว และในเชิงเปรียบเปรย การรับรู้ของชาวจีนต่อทัพมองโกล คงไม่ต่างอะไรจากที่น้ำเหนือถล่มกรุงเทพฯ กับทัพมองโกลของเจงกิสฯ บุกถึงนครเป่ยจิงของชาวจีน ซึ่งถึงจะรู้ล่วงหน้ามาเป็นเดือนๆ แต่ก็ไม่มีใครคาดคิด ว่ามันจะร้ายแรงระดับนี้...

(บทความชุดนี้ของผมโดยรวม เกิดจากแรงผลักดันของ Conn Iggulden ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และนักประพันธ์ชาวอังกฤษครับ)



.