http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-09

ไบโอแบตเตอรี่ฯ, สีแสงอาทิตย์, วันโลกาวินาศ, ..ต่ออายุวรรณกรรมด้วยอีบุ๊ก โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.

ไบโอ แบตเตอรี่ พลังงานจากเศษกระดาษ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 100


สังคมไร้กระดาษที่เคยพูดๆ กันมานับสิบๆ ปี หลังจากการใช้คอมพิวเตอร์ขยายตัวกว้างขวางขึ้น มีระบบการจัดเก็บข้อมูลดิจิตอลมากมายที่นับวันขยายใหญ่โตขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนบัดนี้ก็ไม่เคยปรากฏเป็นจริงขึ้นมาได้ ตรงกันข้ามการใช้กระดาษไม่ได้ลดลงอย่างที่เคยทำนายๆ กันไว้

ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยกระดาษ

ทุกวันนี้กระดาษถูกที่เลิกใช้แล้ว ถูกนำไปใช้ประโยชน์ซ้ำใหม่ในหลายๆ แง่หลายมุม และมุมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตพลังงานจะเรียกว่าเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ แต่ไม่ได้เอาไปเผานะครับ

ผลงานต้นแบบของบริษัทโซนี บริษัทที่มากด้วยนวัตกรรมจากแดนอาทิตย์อุทัย นำออกสาธิตเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็คือไอ้ที่ว่ามานี้ละครับ

การใช้กระดาษผลิตพลังงาน


ในการสาธิต โซนีเปิดให้เด็กๆ ที่ไปเดินดูงาน "อีโค โปรดักต์" ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว หย่อนเศษกระดาษ เศษกระดาษกล่องลงในของเหลวที่ประกอบด้วยน้ำเปล่าและเอ็นไซม์ จากนั้นก็เขย่าๆๆ

อุปกรณ์ที่ว่านี้เชื่อมต่อเข้ากับพัดลมจิ๋วซึ่งเริ่มพัดในไม่กี่นาทีหลังจากนั้น

น่าสนใจนะครับเอาเศษกระดาษหย่อนลงไปแล้วได้ไฟฟ้ามาทำให้พัดลมทำงานได้ อารมณ์อาจจะใกล้เคียงกับในหนังแบ๊ก ทู เดอะ ฟิวเจอร์ ที่ใช้เศษขยะสร้างพลังงานให้รถบินได้ลำนั้นทั้งย้อนไปในอดีตและพุ่งไปในอนาคต

กระบวนการทำงานที่ทีมงานของโซนีคิดค้นนั้นลอกแบบมาจากธรรมชาติซึ่งก็คือมดและปลวกที่ย่อยสลายไม้และเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงาน วิธีการของโซนีก็คือใช้เอ็นไซม์ เซลลูเลสเพื่อย่อมสลายเศษกระดาษให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส จากนั้นผสมออกซิเจนกับเอนไซม์ ก็จะได้อิเล็กตรอน และไฮโดรเจน อิออน ออกมา

อิเล็กตรอนคือส่วนที่แบตเตอรี่เอาไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ส่วนน้ำและกรดกลูโคโนแลกโทนเป็นของเหลือที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ เหมือนกับที่เกิดจากกระบวนการผลิตเครื่องสำอางทั่วไป

ทั้งหมดนี้ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีหรือโลหะ ขณะเดียวกันก็เป็นการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ไปสร้างพลังงานทดแทนพลังงานที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้


แน่นอนว่านี่เป็นเพียงต้นแบบ

ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะพัฒนาให้สามารถใช้ได้จริงในขอบเขตที่ใหญ่ขึ้นและกว้างขวางขึ้น

ในอนาคตเราอาจจะมีถังใส่เศษกระดาษเหลือใช้ที่บ้านเพื่อสร้างพลังงานเอาไว้ชาร์จเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัดที่ใช้กันอยู่ก็ได้



++

สีพลังงานแสงอาทิตย์ ความหวังใหม่ของพลังงานทดแทน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 100


ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แม้ทุกวันนี้จะราคาถูกลงมามากแล้วแต่ก็ยังแพงอยู่ดี ทั้งที่แสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่มีล้นเหลือ แต่เมื่อราคาแพงระดับการเอามาใช้ก็ยังต่ำ

ความตื่นตัวจริงๆ ในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่งจะเห็นเป็นจริงเป็นจังในระยะไม่กี่ปีมานี้จากหลายๆ ส่วนด้วยกัน ทั้งภาครัฐบางส่วนบางประเทศ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ในหลายประเทศลงไปถึงระดับชุมชนและครัวเรือน

เพราะแผงพลังงานแสงอาทิตย์นั้นนอกจากจะแพงโดยตัวมันเองแล้ว ค่าติดตั้งก็แพงด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งในนานาประเทศพยายามจะคิดค้นวิธีการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากการพึ่งพาซิลิกอนในการทำแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์

หนึ่งในวิธีที่คิดกันว่าน่าจะเป็นไปได้และจะทำให้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงอย่างมากก็คือการหาทางทำสีแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ เพนต์ ที่เอาไปทาหลังคาทาบ้านเหมือนกับการทาสีธรรมดาทั่วไป

แต่ทาเสร็จแล้วสีที่ทานั่นเองที่จะกลายเป็นโซลาร์เซลล์ในการแปรรูปแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าให้ใช้กันตามอาคารบ้านเรือน

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยน็อตเตอร์ดัม ประสบกับความสำเร็จในการคิดค้นสีแสงอาทิตย์แล้ว ถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ส่งท้ายปีเก่าเลยทีเดียว


ในเนื้อสีดังที่ว่านี้จะประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า "ควอนตัม ดอต" ผสมอยู่ ซึ่งมันคือผลึกตัวนำกึ่งยิ่งยวดหรือ เซมิคอนดักเตอร์ คริสตอล ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 2-10 นาโนโมตร (1 นาโนเมตร เท่ากับ 1 ในพันล้านส่วนเมตร) ควอนตัม ดอต นี้จะนำไปผสมกับสีย้อมดูเหมือนสีธรรมดาทั่วไปที่ใช้ทาบ้าน

นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าจากอนุภาคนาโนของไทเทเนียม ออกไซด์ หุ้มด้วยแคดเมียม ซัลไฟด์ หรือ แคดเมียม เซเลไนด์ ทำให้เป็นเนื้อสีโดยการผสมลงในน้ำกับแอลกอฮอล์ เมื่อนำเนื้อสีไปผสมกับสื่อตัวนำยิ่งยวดและโดนแสงก็จะเกิดกระไฟฟ้าขึ้น

ผลการทดสอบในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยเพียงแค่นำสีแสงอาทิตย์ทาลงบนพื้นผิวให้ได้รับแสงแดด แต่ในเบื้องต้นยังคงมีประสิทธิผลต่ำเพียงร้อยละ 1 หรือไม่ถึง 1 ใน 10 ของแผลงพลังงานแสงอาทิตย์โดยทั่วไป

แต่ก็ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่ให้ความหวังค่อนข้างมาว่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ดึงพลังแสงอาทิตย์มาใช้งานได้ในราคาถูกกว่ากันมากในอนาคต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นและพัฒนาเชื่อมั่นว่าในที่สุดก็จะสามารถทำให้มีประสิทธิภาพได้เทียบเท่าหรือดีกว่าโซลาร์เซลล์

แน่นอน ว่าเราคงไม่ได้เห็นความก้าวหน้าในเร็ววันจนมีใส่กระป๋องมาวางขาย เนื่องจากนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น หนทางยังอีกยาวไกลกว่าจะไปถึงขั้นนั้น เช่น ทำอย่างไรให้มีความเสถียร มีอายุยืนนาน เป็นต้น

แต่ว่ามีความหวังก็ยังดีกว่าไม่มีมิใช่หรือ



++

วันโลกาวินาศ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 100


ปีหน้าฟ้าใหม่เป็นปีที่พูดกันถึงวันโลกาวินาศกันเยอะ และเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พาให้คนตื่นเต้นกันได้ทุกทีไป

ยิ่งในสภาพที่ภูมิอากาศแปรปรวน เกิดภัยพิบัติใหญ่ที่คร่าชีวิตคนที่โน่นที่นี่ทั่วโลกค่อนข้างถี่มากเป็นพิเศษ ความตื่นตระหนกต่อความคิดเรื่องวันโลกาวินาศก็ยิ่งแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น

ความจริงแล้วนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าภัยภิบัติในทางกายภาพอย่างเราเผชิญกันมาไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ หรือน้ำท่วมอย่างที่เราและฟิลิปปินส์เผชิญอย่างหนักเป็นรายล่าสุดนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้โลกาวินาศได้

แต่วันโลกาวินาศหรือดูมส์เดย์ 2012 ที่กล่าวขานกันนั้นมีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น พื้นฐานมาจากความเชื่อที่ได้มาจากปฏิทินของชาวมายันอีกว่าวันสิ้นโลกจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2012 เพราะดาวนิบิรุ ที่เชื่อกันว่าชาวสุเมเรียนเป็นผู้ค้นพบจะพุ่งชนโลกในวันดังกล่าว

คำทำนายนี้เลื่อนวันมาจากเดือนธันวาคม 2003 หลังจากวันนั้นที่ทำนายไว้ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นตามคำทำนาย

กระนั้น เมื่อเลื่อนวันความตื่นเต้นของผู้คนก็ยังคงมีอยู่ดี ยิ่งยุคอินเตอร์เน็ตฝังเข้าไปในวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลกราวกับเสพยาเสพติด เรื่องราวเกี่ยวกับวันโลกาวินาศก็ยังกระพือไปได้เร็วและแรงยิ่งกว่า มีการนำเสนอข้อมูลมากมาย


นาซ่าเคยตอบคำถามนี้มาแล้วว่าดาวนิบิรุไม่ส่อแววว่าจะพุ่งชนโลก ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยัน อย่างน้อยหากมันจะพุ่งชนโลกจริง ตอนนี้ควรจะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้แล้ว แต่การตรวจสอบและติดตามมาเป็นสิบปีของนาซ่าไม่พบหลักฐานที่ว่า

แน่นอนว่าชาวโลกาวินาศไม่ได้อ้างถึงเรื่องดาวนิบิรุพุ่งชนโลกอย่างเดียว แต่ยังมีอย่างอื่นๆ อีก เช่น พายุสุริยะที่เกิดจากจุดดับของดวงอาทิตย์ ความรุนแรงของพายุสุริยะที่จะนำไปสู่วันโลกาวินาศนั้น อาจจะมีความเป็นได้อยู่เหมือนกัน

แต่นาซ่าเคยอธิบายไว้แล้วอีกเช่นกันว่าพายุสริยะ ที่จะเกิดทุก 11 ปีตามวัฏจักรของมัน และรอบที่จะมาถึงนี้อยู่ในช่วงปี 2012-2014 แต่ก็คาดว่าจะวงวัฏจักรพายุสุริยะตามปรกติไม่แตกต่างจากรอบอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา

ซุปเปอร์โนวา หรือการระเบิดของดาวฤกษ์ เป็นข้ออ้างหนึ่งเช่นเดียวกันที่ว่าจะส่งผลให้เกิดการทำลายล้างโลกและสิ่งมีชีวตบนโลกไป แต่เนื่องจากดาวฤกษ์ที่มีโอกาสจะระเบิดเกิดเป็นซุปเปอร์โนวาที่ใกล้โลกที่สุดนั้นอยู่ห่างออกไปมากกว่า 50 ปีแสง ซึ่งเป็นระยะของซุปเปอร์โนวาที่อาจจะมีผลต่อชั้นบรรยากาศของโลกมาก

เพราะฉะนั้น ประเด็นโลกาวินาศที่จะเกิดจากซุปเปอร์โนวาก็เป็นอันตัดไปอีก


เรื่องที่เชื่อกันว่าถ้าเกิดขึ้นก็จะน่ากลัวก็คือรังสีคอสมิกที่มีฤทธิ์ทำลายล้างจริงๆ เมื่อดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่หมดเชื้อเพลิงแล้วยุบตัวนำไปสู่การเกิดหลุมดำที่จะดึงดูดเทหวัตถุเข้าไปในสภาวะซิงกูลาริตี้ (ไร้กาลอวกาศ) รังสีจะพ่นกระจายออกมาด้วยพลังรุนแรงจากขั้วดาวที่ระเบิด แต่เหตุการณ์ที่จะเกิดแบบนี้โดยเฉลี่ยเกิดขึ้นทุก 15 ล้านปีหรือกว่านั้น และเท่าที่บันทึกไว้การพ่นกระจายรังสีคอสมิกด้วยเหตุดังกล่าวที่ใกล้โลกที่สุดอยู่ห่างออกไปถึง 1,300 ล้านปีแสง

สรุปว่าเหตุที่จะเกิดวันโลกาวินาศตามที่กล่าวกันนั้นข้อมูลหลักฐานค่อนข้างอ่อนหรือไม่มีเลย

มีคนบอกว่าวันโลกาวินาศที่จะเกิดจากน้ำมือมนุษย์อาจจะเป็นภัยใกล้ตัวมากยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ



++

ช่องทางดิจิตอล ต่ออายุวรรณกรรมด้วยอีบุ๊ก
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 100


เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปร่วมงานปิดค่าย Young Writer ที่มติชนกับ SCG ร่วมกันจัดอบรมการเขียนให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ แล้วท่านบรรณาธิการบริหารมติชนสุดสัปดาห์ก็เปิดประเด็น "เรื่องสั้นตายแล้ว" จริงๆ หรือขึ้นมา เพื่อโยงเข้าสู่การจัดประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์กำลังดำเนินการอยู่ แล้วพบว่ามีผลงานหลั่งไหลกันเข้ามานับพันชิ้นให้เลือกสรร

ตัดฉับกลับไปไม่กี่วันก่อนหน้านั้นในที่ประชุมกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน เราหารือกันถึงความยากลำบากของตลาดพ็อกเก็ตบุ๊กประเภทรวมเรื่องสั้น ซึ่งเป็นปัญหาของแทบทุกสำนักพิมพ์

มีคนอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นผลพวงจากโซเชียล มีเดีย ที่คนหันเหจากการอ่านหนังสือน้อยลง แต่เท่าที่ผมจำได้ตลาดเรื่องสั้นมันวายไปก่อนโซเชียล มีเดีย จะแผ่อิทธิพลมานานมากแล้ว

ในทางกลับกัน โซเชียล มีเดีย ก็กลับเป็นช่องทางหนึ่งในการบอกกล่าวเล่าสิบว่ามีหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ออกสู่ท้องตลาดในท่ามกลางตลาดหนังสือที่แน่นขนัดจนไม่มีที่ทางพอให้หนังสือออกใหม่ได้โชว์ปกหนังสืออย่างเสมอหน้ากันหรือได้นานเพียงพอ

แน่นอนว่าเวลาที่ถูกแย่งชิงไปโดยโซเชียล มีเดีย นั้นมีอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน โซเชียล มีเดีย ก็เป็นช่องทางที่เปิดกว้างอย่างเสรีในการนำเสนอผลงาน

เราก็อาจจะปรับตัวเข้าหามันในฐานะช่องทางใหม่ๆ ในการนำเสนอผลงานสู่สาธารณชนได้เช่นกัน เช่น เขียนลงบล็อก เขียนลงในเฟซบุ๊ก หรือทำออกมาเป็นอีบุ๊กไปเลยก็ไม่เลวเสียทีเดียวเพื่อไม่ต้องแบกภาระความเสี่ยงเรื่องต้นทุนใดๆ


เมื่อไม่กี่วันมานี้สำนักพิมพ์เพนกวิน เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่รายล่าสุดที่เข้าสู่ตลาดอีบุ๊ก โดยคัดสรรเนื้อหามาทำอีบุ๊กประเภทอ่านกันแบบใช้เวลาไม่นาน เรื่องสั้นก็เป็นหนึ่งในประเภทอีบุ๊กที่เพนกวินตัดสินใจทำ และเป็นอีบุ๊กประเภทดิจิตอล โอนลี นั่นคือไม่มีฉบับบนกระดาษให้ซื้อหา ราคาเทียบเท่ากับกาแฟหนึ่งแก้ว หรือ 1.99 ปอนด์ เทียบเท่ากับการเปิดตลาดเปเปอร์ แบ๊ก หรือปกอ่อนของเพนกวินเมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้วนั่นเอง

สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ของโลกวิ่งเข้าสู่ช่องทางใหม่กันเป็นทิวแถว แต่ช่องทางใหม่ทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสำนักพิมพ์ นักเขียนก็สามารถทำเองได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ที่ผ่านด่านสำนักพิมพ์หรือนิตยสารได้ยากลำบากเพราะความจำกัดของตลาด แอพพลิเคชั่นที่สามารถจัดทำอีบุ๊กทั้งบนคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตก็สามารถหาได้ไม่ยากนัก

อีกแนวทางหนึ่งของเรื่องสั้นที่เคยเห็นจากเว็บไซต์ One Story (www.one-story.com) ของสหรัฐอเมริกาที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับนักเขียนเรื่องสั้นโดยเฉพาะ รูปแบบคือการรับเรื่องสั้นจากใครก็ตาม เมื่อผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะบรรณาธิการ ก็จะจัดทำเป็นรูปเล่มเป็นแมกกาซีนฉบับละเรื่อง วาระการออกสามสัปดาห์ต่อครั้งโดยประมาณ มีการออกแบบอย่างสวยงาม แล้วจัดส่งให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกทางไปรษณีย์

ราคาสมาชิกปีละ 21 เหรียญในสหรัฐ จะได้รับเรื่องสั้นทั้งหมด 13 เรื่อง มีผู้เขียนหลายคนที่ผ่านเวที One Story แล้วสามารถได้แจ้งเกิดในวงการมีผลงานออกมาเป็นเล่มผ่านสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ

นี่ก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ เพียงแต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมันมาเป็นรูปแบบของอีแมกกาซีนแทน ก็น่าจะไม่เลวเสียทีเดียว



________________________________________________________________________________________________________

รายงานพิเศษ: E-Book ทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์หรือ?
www.youtube.com/watch?v=o1nlHK2Y84M




.