.
มีโพสต์เพิ่ม 1 - เศรษฐกิจบราซิลตามทันอังกฤษ
มีโพสต์เพิ่ม 2 - ชี้การสร้างตึกสูงสัมพันธ์กับการเกิดวิกฤติการเงิน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"วาคลาฟ ฮาเวล" ผู้ดำรงอยู่ด้วย "รัก" และ "สัจจะ"
คอลัมน์ ต่างประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 102
"วาคลาฟ ฮาเวล" (หรือ วาซลาฟ ฮาเวล ตามสำเนียงเชก) ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีสถานะหลากหลายอย่างยิ่ง ตามความสามารถที่หลากหลายอย่างยิ่งของชายผู้นี้ เขาเป็นทั้งกวี นักเขียน นักเขียนบทละคร และประธานาธิบดี
แต่บทบาทที่ทำให้ชายร่างเล็ก แจ่มใส ติดจะขี้อายผู้นี้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ก็คือ การเป็นนักเคลื่อนไหว คัดค้านและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและเสรีภาพ ที่ยึดมั่นในแนวทางสันติอย่างถึงที่สุด
นี่คือชายผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อกำเนิด "ปรากสปริง" และ "เวลเว็ต เรฟโวลูชั่น-ปฏิวัติกำมะหยี่" ที่เป็นต้นแบบของการปฏิวัติของมวลชน ที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแห่งยุคสมัยอย่าง "จัสมีน เรฟโวลูชั่น" เรื่อยไปจนกระทั่งถึง "อาหรับสปริง" ที่เบ่งบานอยู่ในโลกอาหรับในเวลานี้
ฮาเวล เกิดและเติบใหญ่ในกรุงปราก เมืองหลวงของเชโกสโลวะเกีย ในอดีต ขณะที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองเบ็ดเสร็จของรัฐบาลคอมมิวนิสต์
น่าสนใจที่ฮาเวลถือกำเนิดในครอบครัวที่ถูกตีตราว่าเป็น "กระฎุมพี" ในสังคม เพราะบิดาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน ส่วนมารดามาจากตระกูลชั้นสูง ครอบครัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตตัวแทนของประเทศ
แต่ความมั่งคั่งของครอบครัวส่งผลในทางลบต่อเขาในวัยเด็ก เพราะหลังจากสำเร็จการศึกษาภาคบังคับแล้ว รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ไม่อนุญาตให้เขาได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการใดๆ อีกเลย
ฮาเวล ต้องเข้าทำงานเป็นพนักงานฝึกหัดในห้องปฏิบัติการทางเคมีไปพลาง เรียนภาคค่ำไปพลาง จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับมัธยม แล้วจึงเลือกเข้าศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเทคนิคเชก แต่ต้องเลิกเรียนกลางคัน หันไปสมัครเป็นทหาร
หลังปลดประจำการ เข้าทำงานในโรงละครสตาเกฮันด์ ในปราก ซึ่งเป็นการเปิดทางให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานเขียนบทละคร จากประสบการณ์หลากหลายผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเชก ที่เป็นค่านิยมสำคัญซึ่งอบรมสั่งสอนกันในครอบครัว
จนถึงเวลานั้น วาคลาฟ ฮาเวล แทบไม่มีคุณลักษณะของนักปฏิวัติ เขาไม่ใช่นักพูด ไม่ใช่นักปราศรัยปลุกระดม ไม่มีคุณลักษณะหรือบุคลิกที่โดดเด่นแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ตรงกันข้าม ฮาเวล ออกจะเป็นคนขี้อาย หลายครั้งที่ดูเหมือนแปลกแยก แตกต่างไปจากหลายๆ คนที่แวดล้อม บ่อยครั้งที่คำพูดของเขาเต็มไปด้วยปรัชญาหรือไม่ก็เป็นวาทะเชิงประชดประเทียดที่เหมือนเป็นธรรมชาติติดตัวของปัญญาชนยุโรปตอนกลางซึ่งทำเอารอบข้างงุนงง
แต่อาจเป็นเพราะภูมิหลังที่ผิดแผกออกไปนี่เอง ที่กลายเป็นเครื่องผลักดันให้ ฮาเวลสามารถบุกเบิกรูปแบบการปฏิวัติทางการเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมา รูปแบบที่ยังคงสดใหม่และยึดกุมกันอยู่ในปีนี้เช่นเดียวกับที่เขาเคยรังสรรค์มันขึ้นเมื่อกลางทศวรรษ 1970 ด้วยแนวความคิดง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อ
เขาเชื่อว่าเผด็จการอำนาจนิยมสามารถเอาชนะได้ง่ายๆ เมื่อผู้คนทั้งหลายพากันปฏิเสธ "การโป้ปดมดเท็จทั้งมวล" ของเผด็จการและหันมาดำรงตนอยู่ใน "สัจจะ" ที่เป็นจริง
นั่นหมายถึงว่า ไม่เพียงแต่ทุกคนต้องบอกเล่าความเป็นจริงเพื่อตอบโต้กับโฆษณาชวนเชื่อของทางการ แต่ยังต้องดำรงวิถีชีวิตของตนเองให้เป็นไปตามพื้นฐานที่ควรจะเป็นทางด้านมนุษยธรรม
ซึ่งรัฐเผด็จการทั้งหลายต่างกล่าวอ้างว่าตนเองยึดถืออีกด้วย
นี่เป็นยุทธวิธีต่อสู้อย่างสันติ ที่ต้องอาศัยความองอาจกล้าหาญอย่างยิ่ง แต่ วาคลาฟ ฮาเวล ไม่เพียงคิด เผยแพร่ แนวความคิดนี้เท่านั้น
เขายังแสดงให้เห็นว่า วิถีที่แท้ของมันนั้นเป็นอย่างไร เพราะหลังจากเขียนความเรียงเลื่องชื่อ "เพาเวอร์ ออฟ เดอะ เพาเวอร์เลส" หรือ "พลังของผู้ไร้อำนาจ" ในปี 1978 ฮาเวล ถูกส่งตัวเข้าคุมขังอยู่นานถึง 5 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่ไม่เพียงเต็มไปด้วยแรงบีบคั้นและทารุณกรรมนานา
ยังส่งผลกระทบถึงสุขภาพส่วนตัวของฮาเวลอย่างร้ายแรง ต่อด้วยห้วงเวลาอีก 16 ปี ที่ฮาเวลจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ไกลจนหายไปจากสายตาตรวจสอบของตำรวจลับเชโกสโลวะเกีย แต่ต้องไม่ใกล้จนกลายเป็นการเปิดโปงให้เห็นว่า ฮาเวลและกลุ่มต่อต้านเล็กๆ ของเขา กำลังดำเนินการอะไรอยู่
ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่กลุ่มของฮาเวลร่วมกันจัดทำ คำประกาศธรรมนูญ 77 ที่เป็นบรรทัดฐานให้เลียนแบบและเอาอย่างไปทั่วโลก รวมทั้งในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มันกลายเป็นที่มาของ "ชาร์เตอร์ 08" ของ หลิวเสี่ยวโป โนเบลสันติภาพคนแรกชาวจีน
24 พฤศจิกายน 1989 ขบวนการชาร์เตอร์ 77 ของฮาเวล เรียกร้องให้ชุมนุมใหญ่กันขึ้นที่จัตุรัส เวนเซสลาส พวกเขาเรียกการชุมนุมครั้งนั้นว่า "ระฆังสุดท้าย-เดอะ ลาสต์ เบลล์" ที่จะเคาะให้ดังสนั่นเป็นสัญญาณการสิ้นสุดในการครองอำนาจของรัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ยาวนานถึง 4 ทศวรรษ
วันนั้นชาวเชกชุมนุมกันมากเกินความคาดหมาย ล้นทะลักไปจนถึง โอลด์ ทาวน์ สแควร์ จัตุรัสเก่าใกล้เคียงกัน พร้อมใจกันเขย่ากุญแจในกระเป๋า จำลองเป็นเสียงระฆังบอกสัญญาณหมดเวลา
วาคลาฟ ฮาเวล กล่าวปราศรัยจากเฉลียง เขาทำนายต่อหน้าผู้คนเรือนแสนเรือนล้านว่า การกดขี่ที่พวกเขาโดนกระทำตลอดมานั้นนั่นเอง จะเป็นปัจจัยนำชัยชนะมาสู่ทุกคน
คลื่นมหาชนครั้งนั้นเขย่าจนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ได้ชื่อว่า อำมหิตที่สุดนอกเหนือจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ยุทธวิธีของฮาเวลได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล
อีก 1 เดือนต่อมา วาคลาฟ ฮาเวล ในวัย 53 ปี กลายเป็นประธานาธิบดี ปฏิวัติกำมะหยี่กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เลื่องลือไปทั่วโลก
และเป็นการสถาปนารูปแบบของการเคลื่อนไหวที่สะพัดออกไปทั้งโลก จาก เซอร์เบีย ลุกลามต่อไปยัง ยูเครน เลบานอน คีร์กิซสถาน ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาสู่ ตูนิเซีย และอียิปต์ ต่อสู้กับการทดสอบใหม่ๆ เผชิญหน้ากับการตอบโต้ด้วยการสังหารหมู่ในซีเรีย และถูกกดขี่ ปราบปรามอย่างราบคาบในจีน
กระนั้น ความสำเร็จของ วาคลาฟ ฮาเวล ก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ยืนหยัดต่อสู้ต่อไป
แมเดอลีน อัลไบรต์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กลายเป็นเพื่อนสนิทกับอดีตผู้นำเชกผู้ล่วงลับ ยืนยันว่า วาคลาฟ ฮาเวล ไม่เคย "สบาย" กับการได้ครองอำนาจสูงสุดทางการเมือง ตรงกันข้าม ถึงแม้จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเชกถึง 2 สมัย ฮาเวล ยังยึดถือตัวเองเป็นเสมือน "คนนอก" อยู่ตลอดเวลา
ด้วยความหวั่นเกรงว่า "อำนาจ" จะส่งผลกระทบต่อ "จริยะ" ภายในตัวเอง
เขาอยาก และสามารถหันหลังให้กับทุกอย่างได้ แต่จำเป็นต้องรับตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะความรับผิดชอบ และความรักในเสรีภาพ
ความรักที่ไม่ใช่เพื่อการได้ครอบครองเสรีภาพ หากแต่เพื่อให้สามารถใช้เสรีภาพเพื่อวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง
สิ่งนี้ผูกพัน วาคลาฟ ฮาเวล กับประชาชนผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายตั้งแต่ในเชโกสโลวะเกีย ต่อไปยังยุโรปและเรื่อยมาจนถึงพม่า จีน และแม้กระทั่งการแสดงท่าทีสนับสนุนการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบปูติน ในรัสเซีย
เป็นความผูกพันที่อยู่กับชายผู้นี้จนถึงวาระสุดท้ายอย่างแท้จริง
++
เหตุเกิดที่ "อู๋กัน" ความสำเร็จ "หนึ่งในร้อย" ที่จีน
คอลัมน์ ต่างประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 102
"อู๋กัน" หรือ "หวูกัน" เป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดไม่ใหญ่โต แต่ก็ไม่เล็กนัก อยู่ในเมืองลู่เฟิง เมืองชายทะเลด้านตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ประชากรของหมู่บ้านแห่งนี้มีอยู่ราว 13,000 คน
ที่นี่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ไม่ได้มีสิ่งมหัศจรรย์ แต่กลับเป็นที่รู้จัก โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้จากเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "ยึดอู๋กัน-เดอะ ซีจ ออฟ อู๋กัน"
ที่น่าศึกษาอย่างยิ่งก็คือ "อู๋กัน" เป็นเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นต่อต้านเจ้าหน้าที่ทางการเพียงเหตุการณ์เดียวในจีน ที่ประสบความสำเร็จ สามารถกดดันจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องลงมาจัดการปัญหาและรับปากจะทำตามคำขอทุกประการของชาวบ้านในหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้ทุกประการ
ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในจีน ถือว่า อู๋กัน เป็น "ข้อยกเว้น" ของเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวในจำนวนนับร้อยนับแสนเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีนในแต่ละปี ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการกวาดจับหัวหน้าหรือแกนนำในการชุมนุม
และมีการเพิ่มเติมมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมากยิ่งขึ้นตามมา
การชุมนุมประท้วงของชาวบ้านในอู๋กัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาวบ้านหลายพันคนรวมตัวกันบริเวณหน้าที่ทำการท้องถิ่นของพรรคคอมมิวนิสต์ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน กล่าวหาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่ายักยอกเงินของพวกตนรวมแล้วไม่น้อยกว่า 110 ล้านดอลลาร์ จากการนำเอาที่ดินที่เป็นที่พักอาศัยได้ในอาณาบริเวณ "คอมมูน" ของหมู่บ้านราว 80 เปอร์เซ็นต์ไปขายให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับพวกตนตามความเหมาะสม
พวกเขาเคยทำเรื่องร้องเรียนขึ้นไปยังสำนักงานพรรคประจำมณฑลและถึงรัฐบาลทั้งในปี 2009 และ 2010 แต่เรื่องกลับเงียบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
การประท้วงลุกลามกลายเป็นการเผชิญหน้า ชาวบ้านส่วนหนึ่งบุกเข้าไปในที่ทำการสาขาพรรค, สถานีตำรวจ และนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินขึ้นจำนวนหนึ่งสืบเนื่องจากข่าวลือสะพัดที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าเด็กชายผู้หนึ่งระหว่างการประท้วง
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ปัญหาที่อู๋กันลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น กลายเป็นที่มาของความตึงเครียดที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง
เจ้าหน้าที่ทางการจีนพยายามลดทอนความตึงเครียดกับชาวบ้านลงด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเลือกตัวแทนจำนวน 13 คน เข้าไปเป็นตัวแทนในการเจรจาแก้ปัญหากับทางการ แต่เหตุการณ์กลับแย่ลงเมื่อถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในท้องถิ่น ลอบลักพาตัว 5 ใน 13 แกนนำไปควบคุมตัวไว้ รวมทั้ง ซู่ จิ้น โป ที่เสียชีวิตอย่างน่าเคลือบแคลงระหว่างถูกควบคุมตัว
การชุมนุมประท้วงเริ่มเข้มข้นมากยิ่งขึ้น มีประชาชนเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น ข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวตัวแทนของพวกตนเป็นอิสระและหาตัวผู้รับผิดชอบในการเสียชีวิต เพิ่มเข้ามาและทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตอบคำถามไม่ได้มากขึ้นทุกที
ในที่สุด บรรดาเจ้าหน้าที่พรรค กลุ่มคนชั้นสูงและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เผ่นหนีออกจากอู๋กันทั้งหมดในวันที่ 11 ธันวาคม ทิ้งทั้งเมืองไว้ให้อยู่ในมือของชาวบ้านโดยสิ้นเชิง
ความสำเร็จในการชุมชุมประท้วงของชุมชนอู๋กัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอย่างใหม่ขึ้นตามมา เพราะในสภาวการณ์ที่ชาวบ้านยึดทั้งเมืองเอาไว้ในมือตัวเองนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การท้าทายต่อทางการท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการท้าทายต่ออำนาจรัฐ ต่อกฎระเบียบของบ้านเมืองที่ยึดถือกันมานานว่า ประชาชนทุกคนต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐโดยสิ้นเชิงเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศตกอยู่ในสภาพโกลาหลถึงขั้นกลียุค
10 วันเต็มๆ ที่อู๋กันไม่มีเจ้าหน้าที่ปกครอง ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ทุกอย่างกลับสงบสันติอย่างยิ่ง ไม่มีการโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจากทางมณฑลกวางตุ้งที่ตั้งมั่นปิดล้อมหมู่บ้านทั้งหมดอยู่ภายนอก
คณะกรรมการชั่วคราวที่ถูกจัดตั้งขึ้นรองรับช่องโหว่ของอำนาจ ประกาศให้การชุมนุมประท้วงเป็นการประท้วงโดยสันติ ไม่มีการบุกรุกทำลายทรัพย์สินและอาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่และชนชั้นสูงที่หลบหนีออกไปก่อนหน้านั้น
ไม่มีการปล้นสะดม แต่กลับจัดเส้นทางลำเลียงอาหารจากภายนอกหมู่บ้าน หลีกเร้นการปิดกั้นของเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อใช้ยังชีพ
พวกเขาร่วมมือกันชุมนุมประท้วง จัดทำป้ายเรียกร้องและลาดตระเวนหมู่บ้านเพื่อรักษาความสงบ
สุดท้ายเมื่อ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำมณฑลกวางตุ้ง จำเป็นต้องเดินทางมายังอู๋กัน เปิดการเจรจากับตัวแทนของชาวบ้าน และให้สัญญาว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวอู๋กันทุกประการ ตั้งแต่การปล่อยตัวตัวแทนชาวบ้านเป็นอิสระ มอบศพของ ซู่ จิ้น โป ให้กับครอบครัว และเปิดการเจรจาโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการชั่วคราวที่ชาวบ้านเลือกตั้งกันเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้านดังกล่าวถูกตีตราว่าเป็น "อาชญากร" จากทางการ
ความสำเร็จที่น่าสนใจของชาวอู๋กันนั้น แน่นอนพื้นฐานประการสำคัญย่อมเกิดขึ้นจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวบ้าน ผู้สื่อข่าวตะวันตกรายหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ระบุว่าสปิริตของชาวบ้านสูงอย่างยิ่ง
ผู้สื่อข่าวคร่ำหวอดชาวฮ่องกงบรรยายถึงสิ่งที่เขาพบเห็นที่นี่ว่า เทียบเคียงได้ในระดับเดียวกันกับจิตวิญญาณของบรรดานักศึกษาและประชาชนในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนหน้าถูกกวาดล้าง แท็กซี่ ขับรถให้ผู้ประท้วงโดยไม่คิดเงิน นักเลงหัวไม้ หัวขโมย กลายเป็นการ์ด เป็นผู้ลงบทุนเสี่ยงภัยโดยไม่คำนึงถึงตัวเองอีกต่อไป ทุกคนร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
องค์ประกอบอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ แกนนำของชาวบ้านทั้งหมดรวมทั้ง หยาง ซิ เหมา หัวหน้าคณะกรรมการหมู่บ้านวัย 43 ปี ล้วนเป็นคนรุ่นแรกๆ ของหมู่บ้านที่อพยพ โยกย้ายถิ่นฐานออกไปแสวงหาโชคลาภจากโรงงานในเมืองใหญ่ แล้วกลับคืนมายังหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่าที่พวกเขาพบเห็นในมหานครทั้งหลายของประเทศ
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนบอกว่า เหตุการณ์ที่อู๋กันในทางหนึ่งนั้นก็คือ ผลพวงของการพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น การชุมนุมของชาวอู๋กัน ไม่ได้ดำเนินไปเพียงลำพัง ในทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะอู๋กันมีนักเคลื่อนไหวอย่าง "จาง" เด็กหนุ่มวัย 20 ปีที่ใช้เวลานาน 2 ปีร่ำเรียนวิชาการถ่ายทำวิดีโอจากโรงเรียนฝึกอาชีพด้วยหวังจะกลายเป็นนักสร้างภาพยนตร์อิสระ
แต่กลายเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เผยแพร่ภาพเหตุการณ์ความโหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านทางไมโครบล็อกในจีนและเผยแพร่ออกไปทั่วโลก
กลายเป็นวัตถุดิบให้ชาวเน็ตในจีนใช้ความสามารถหลบหลีกการปิดกั้นของเจ้าหน้าที่ เพื่อเผยแพร่มันออกไปทั่วประเทศ โดยอาศัยการใช้ตัวสะกดชื่อเมืองที่แตกต่างออกไปจากชื่อทางการ วิดีโอและข้อความบางอย่างถูกส่งต่อกันไปหลายพันหลายหมื่นครั้งก่อนที่จะถูกเซ็นเซอร์ตรวจจับและลบทิ้งไปในที่สุด
เหตุการณ์ที่อู๋กันจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่อู๋กัน หากแต่โด่งดังออกไปทั่วโลก
สุดท้าย ชาวอู๋กันชาญฉลาดและใจเย็นเพียงพอที่จะจำกัดการเคลื่อนไหวของตนเอาไว้เพียงเฉพาะในข้อเรียกร้องเดิม แม้จะมีความเย้ายวนอยู่ไม่น้อยในอันที่จะขยายมันออกไปให้เป็นประเด็นในระดับชาติ
พวกเขาเชื่อว่า อู๋กัน เป็นแบบอย่าง เป็นจุดเริ่มต้น แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของทั้งหมดในคราวเดียวกัน
กระนั้น อู๋กัน ก็น่าสนใจและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในฐานะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอนาคตของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนทั้งประเทศ
++
จากจริงกลายเป็นหลอก จากหลอกกลายเป็นจริง
คอลัมน์ เทศมองไทย ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 102
ผมอ่านข้อเขียนเรื่อง "ไฟเบอร์กลาส ดัมมี่ คอปส์" ของ "เจมส์ ฮุคเวย์" ในวอลสตรีต เจอร์นัล เมื่อ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา แล้วอดคิดไม่ได้ว่า เพราะเหตุใดหนอ หนังสือพิมพ์ระดับสากลอย่างนี้ถึงให้ความสนใจในเรื่องที่หลายๆ คนในเมืองไทยแทบไม่เปลืองเวลาคิดถึงมันด้วยซ้ำไป
แน่นอน เขาเริ่มต้นเรื่องจากกรณี "จ่าเฉย" ยุคใหม่ ที่ว่ากันว่าจะติดตั้งกล้อง "ซีซีทีวี" กล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพ "ผู้ฝ่าฝืน-ละเมิดกฎหมาย" ที่เคยเป็นข่าวอยู่พักหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป
แต่ เจมส์ ฮุคเวย์ ทำให้เรื่อง "จ่าเฉย" ที่จะไม่ "เฉยๆ" อีกต่อไปนี้ ให้น่าสนใจมากขึ้น ด้วยการเท้าความถึงเรื่องกล้องวงจรปิด ที่ติดตั้งให้เห็นกันอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังเมื่อกันยายนที่ผ่านมา ก่อนน้ำจะไหลบ่ามากลบข่าวเสียสนิท ว่า ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย กลายเป็น "กล้องหลอก"
ถ้าตามข้อมูลของ ฮุคเวย์ ก็คือ เกือบครึ่งหนึ่งของกล้องซีซีทีวีราว 3,000 ตัว ที่เราเห็นกันอยู่ตามท้องถนนรนแคมต่างๆ นั้น เป็นเพียงกล่องเปล่าๆ ไม่มีกล้อง ไม่ได้เชื่อมต่อกับเครื่องบันทึกภาพใดๆ ทั้งสิ้น
เขาเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมเชิงประชดประชันของบรรดาผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเมืองไทย ที่ประกาศประกวดภาพ "กล้องวงจรปิด" ที่ดู "งี่เง่า" ที่สุดในประเทศไทย ออกมาอวดกัน ฮุคเวย์ ไม่ได้บอกว่า ภาพไหนชนะ แต่เขาเล่าให้ฟังถึงภาพหนึ่งที่ชวนให้ประทับใจ
ภาพกล้องวงจรปิดที่แหงนส่องตรงไปยัง "ท้องฟ้า"
แต่ เจมส์ ฮุคเวย์ ก็ยังพยายามเสาะแสวงหาแง่มุมที่แตกต่างเอามาเล่าสู่กันฟังด้วยเช่นกัน
เขาสอบถามไปยัง กาวิน สมิธ ศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยา ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบติดตามจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ความเห็นที่น่าสนใจมากว่า
ถึงแม้จะเป็นแนวความคิดที่แปลกจนเข้าขั้นพิลึกกึกกือ แต่ก็ถือว่า "เมก เซนส์" หรือ "เข้าท่าเข้าทาง" อยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคำนึงถึงว่า ราคากล้องแต่ละตัวไม่ใช่น้อยๆ
แล้วในความเป็นจริง ระบบจริงๆ ก็ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา แต่ "ล่ม" มากครั้งกว่าที่ใครต่อใครคิดมาก
ศาสตราจารย์สมิธ ยังบอกด้วยว่า ถึงที่สุดแล้ว กล้องวงจรปิดทุกตัวก็ต้องใช้คนดู และอาจไม่มีประโยชน์อะไรมากกว่า "กล้องหลอก" แต่อย่างใด ถ้าหากคน(ที่ต้อง)ดู ไม่ดู กลับไปสนใจโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องเล่นเกมในมือแทน
ที่สำคัญในแง่ของศาสตราจารย์ชาวออสเตรเลียผู้นี้ก็คือ การใช้กล้องหลอก ถือเป็นการใช้ประโยชน์จาก "ป็อปคัลเจอร์" ว่าด้วยกล้องวงจรปิด อย่างชาญฉลาดเลยทีเดียว
เป็นงั้นไป
แต่ เจมส์ ฮุคเวย์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เขาเชื่อว่า "ปัญหาจะเกิดขึ้น" เพราะในที่สุด ทุกคนก็จะคิดว่า "กล้องจริง" กลายเป็น "กล้องหลอก" ไปเสียหมด
แล้วก็จะยิ่งเป็นปัญหากับเมืองไทย ที่เป็นแหล่งใหญ่ไม่ใช่เล่นของบรรดา "ของปลอม" ทั้งหลาย ตั้งแต่ดีวีดี เรื่อยไปจนถึง "โรเล็กซ์" เรือนทองฝังเพชรอะไรเทือกนั้น
บอกเอาไว้ด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์เขาเรียกปมนี้ว่า เป็น "โศกนาฏกรรมของส่วนรวม" ครับ
เจมส์ ฮุคเวย์ ยังย้อนอดีตไปถึงเรื่องของ "เครื่องตรวจหาระเบิด" ที่สั่งซื้อจากบริษัทสัญชาติอังกฤษรายหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าใช้เทคโนโลยี อิเล็กโตรสตาติก ในการตรวจสอบเพื่อค้นหาวัตถุระเบิด
ที่ไปๆ มาๆ ก็เป็นที่แน่ชัดกันว่า รัฐบาลอังกฤษเองสั่งห้าม "ส่งออก" สินค้าของบริษัทนี้ไปให้กับหน่วยงานทางทหารในอัฟกานิสถานและอิรัก บนมูลเหตุที่ว่า "จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นกับกองกำลังของสหราชอาณาจักรและมิตรประเทศ"
จนถึงตอนนี้ ยังไม่รู้ว่า กรณีเครื่องตรวจหาระเบิดที่ว่านั้น
ใครแหกตาใครกันแน่ ?
แล้วก็มาถึงเรื่องของ "จ่าเฉย" ที่เจมส์ ฮุคเวย์ เรียกว่า "ซาเจนต์ เลซี่-แพนต์" เจ้าของรอยยิ้มไฟเบอร์กลาสที่ดูทีไรขนลุกทุกที (อันนี้ความเห็นส่วนตัวผมเองครับ)
เขาว่ากันว่า "จ่าเฉย" รุ่นใหม่จะทำให้เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของธุรกิจพากันสบายอกสบายใจขึ้น เพราะคุณจ่าจะมี "ตา" เป็นกล้องวงจรปิด ที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้จริง ขู่คนร้ายให้กลัวได้จริงๆ ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรจนเคยตัวก็จะคร้ามเกรงกันจริงๆ
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจ่าเฉยที่น่ากลัวจริงๆ จะได้ผลอีกหรือไม่ ฮุคเวย์ สัมภาษณ์ผู้ใช้ถนนรายหนึ่งเอาไว้ว่า "ถ้าจ่ามีปัญหานักก็ ชนจ่าซะก็สิ้นเรื่อง"
แต่ที่สำคัญ ช่วยจำแนกให้รู้ๆ กันหน่อยได้ไหมครับ ว่าอันไหนที่เป็นของจริง แล้วกลายเป็นของหลอก แล้วอันไหนที่เคยหลอกๆ แล้วกลายเป็นของจริงขึ้นมา
งงนะเนี่ย-อย่าหลอกกันอีกเลยคร้าบ.!
+++
เศรษฐกิจบราซิลตามทันอังกฤษ
คอลัมน์ ต่างประเทศ วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2554
จาก www.kaohoon.com/daily/16990/เศรษฐกิจบราซิลตามทันอังกฤษ-.htm
บีบีซี – CEBR ชี้ เศรษฐกิจบราซิลตามทันอังกฤษในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจอันดับหกของโลกแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจบราซิลพึ่งพาการผลิตโภคภัณฑ์ ในขณะเดียวกันหลายประเทศในเอเชียได้เลื่อนอันดับขึ้น แต่หลายประเทศในยุโรปมีอันดับลดลง
ดักลาส แมควิลเลียมส์ ประธานบริหารศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) กล่าวว่า บราซิลตามทันอังกฤษส่วนหนึ่งเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมาก โดยไม่เพียงแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากตะวันตกไปยังตะวันออกเท่านั้น แต่ยังมีหลายประเทศที่ผลิตสินค้าที่จำเป็น อย่างเช่น อาหารและพลังงานและอื่นๆ ได้ดีมาก และค่อยๆ ไต่อันดับในตารางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ
รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ก็ระบุว่า เศรษฐกิจบราซิลตามทันอังกฤษแล้วในปี 2554
บราซิลมีประชากรประมาณ 200 ล้านคน มากกว่าประชากรของอังกฤษกว่าสามเท่า และในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจบราซิลโตประมาณ 7.5% แต่รัฐบาลได้ลดประมาณการเติบโตของปี 2554 เหลือ 3.5% หลังจากที่เศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงไตรมาสสาม โดยนักวิเคราะห์โทษว่าเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยสูงและสถานการณ์ในยูโรโซนแย่ลง
แม้ว่าในขณะนี้บราซิลขายสินค้าให้กับจีนมากกว่านำเข้า แต่ผู้ผลิตของบราซิลก็บ่นว่า อุตสาหกรรมของพวกเขากำลังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีน
ในตารางเศรษฐกิจโลกล่าสุดของ CEBR ยังชี้ว่า หลายประเทศในเอเชียได้เลื่อนอันดับขึ้น และหลายประเทศในยุโรปมีอันดับลดลง นอกจากนี้ CEBR ยังทำนายว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะตามทันฝรั่งเศสภายในปี 2559 และเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 0.6% ในปี 2555หากมีการแก้ไขปัญหายูโร แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้จะหดตัว 2%
ในขณะเดียวกัน CEBR กล่าวว่า รัสเซียขยับขึ้นหนึ่งอันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 9 ในปี 2554 และทำนายว่ารัสเซียจะขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับสี่ของโลกภายในปี 2563 ส่วนอินเดีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับ 10 ของโลก CEBR ทำนายว่า จะขึ้นไปอยู่อันดับ 5 ภายในปี 2563
อย่างไรก็ดี หลายประเทศในยุโรปจะมีอันดับลดลง โดยเยอรมนีร่วงจากอันดับสี่ในปี 2554 ลงไปอยู่ที่อันดับเจ็ดในปี 2563 ส่วนอังกฤษลดจากอันดับเจ็ดลงไปอยู่ที่อันดับแปด และฝรั่งเศสลดจากอันดับห้าลงไปอยู่ที่อันดับเก้า
+++
ชี้การสร้างตึกสูงสัมพันธ์กับการเกิดวิกฤติการเงิน
คอลัมน์ ต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2555
จาก www.kaohoon.com/daily/17343/ชี้การสร้างตึกสูงสัมพันธ์กับการเกิดวิกฤติการเงิน-.htm
บีบีซี - บาร์เคลย์ แคปิตอล ชี้ มีความสัมพันธ์ในทางที่ไม่ดี ระหว่างการสร้างตึกสูงระฟ้า กับการเกิดวิกฤติการเงินในเวลาต่อมา พร้อมทั้งแสดงความวิตกต่อจีนและอินเดีย ซึ่งกำลังมีการสร้างตึกสูงเป็นจำนวนมาก
บาร์เคลย์ แคปิตอลได้ยกหลายๆ ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ดังว่า เช่น การสร้างตึกเอ็มไพร์ สเตท ในระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำครั้งใหญ่สุด และ ตึกเบิร์จ คาลิฟา ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในขณะนี้ สร้างขึ้นก่อนที่ดูไบใกล้จะฟุบได้ไม่นาน
นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ แคปิตอล กล่าวว่า ตึกสูงที่สุดของโลก คือการก่อสร้างขนาดใหญ่ในช่วงที่การก่อสร้างตึกสูงระฟ้ากำลังบูมในวงกว้าง ซึ่งสะท้อนว่า มีการจัดสรรเงินทุนอย่างไม่เหมาะสมในวงกว้าง และใกล้จะมีการปรับฐานทางเศรษฐกิจ
ธนาคารยังตั้งข้อสังเกตว่า ตึกสูงระฟ้าแห่งแรกของโลก หรือ ตึก อีควิเทเบิล ไลฟ์ ในนิวยอร์ก สร้างเสร็จเมื่อปี 2416 และเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่เกิดภาวะถดถอยนาน 5 ปี และตึกแห่งนี้ถูกรื้อลงในปี 2455
ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกเช่น วิลลิส ทาวเวอร์ ในชิคาโก ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในชื่อ เซียร์ ทาวเวอร์ ก่อสร้างเมื่อปี 2517 ในขณะที่กำลังเกิดวิกฤติน้ำมันและเลิกผูกเงินดอลลาร์กับทองคำ ส่วนตึกปิโตรนาส ทาวเวอร์ของมาเลเซีย สร้างเสร็จในปี 2540 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชีย
ข้อสรุปนี้นี้อาจเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับชาวลอนดอน ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างตึกที่จะสูงที่สุดในยุโรปที่มีชื่อว่า เดอะ ชาร์ด ซึ่งมีความสูง 1,017 ฟุต หรือ 310 เมตร อย่างไรก็ดี บาร์เคลย์ กล่าวว่า นักลงทุนควรจะวิตกมากที่สุดเกี่ยวกับจีน ซึ่งการก่อสร้าง 53% ในขณะนี้ เป็นการก่อสร้างตึกสูงในโลกทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน มีรายงานจากเจพี มอร์แกน เชส ว่า ตลาดที่ดินในเมืองใหญ่ๆ ของจีน อาจมีมูลค่าลดลงถึง 20% ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า
ในอินเดีย เศรษฐีมูเคส อัมบานี่ สร้างตึกระฟ้าของตนเองในมุมไบ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยสูง 27 ชั้น ที่เชื่อกันว่า จะเป็นบ้านที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยมีรายงานจากหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นว่า บ้านดังกล่าวต้องมีพนักงานดูแล 600 คน และมีราคามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
จากข้อมูลของบาร์เคลย์ ทุกวันนี้อินเดียมีตึกสูงระฟ้าที่มีความสูงกว่า 240 เมตรเพียง 2 แห่งจากจำนวน 276 แห่งในโลก แต่ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีตึกสูงระฟ้าใหม่ๆ สร้างเสร็จถึง 14 แห่ง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย