http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-25

“ซูม”: แบงก์ชาติต้องอิสระแต่ไม่ใช่“รัฐอิสระ”/ สมาน: ศิลปะในการบริหารธนาคารชาติฯ

.
บทความพิเศษ
- เผือกร้อนรับ รมว.คนใหม่ ราคาพลังงานขึ้นยกแผง
- นวัตกรรมเปลี่ยนโลก 5 ปีข้างหน้า มนุษย์ใช้สมองสั่งงานแล็บท็อป-โทรศัพท์มือถือได้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

แบงก์ชาติต้องอิสระแต่ไม่ใช่...“รัฐอิสระ”
โดย “ซูม” ใน ไทยรัฐออนไลน์ . . 10 มกราคม 2555, 05:00 น.


ผมก็ได้แต่หวังว่า ร่าง พ.ร.ก.ที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อที่จะหาทางกู้เงินก้อนใหญ่มาใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะการโอนหนี้คงค้างจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน 2540 คงจะผ่านไปด้วยดีทุกฉบับ

เพราะยังไม่มีข่าวการขัดแย้งระหว่างท่านรองโต้งกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นอีก ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ (บ่ายๆวันอาทิตย์ที่แล้ว)

พาดหัวหนังสือพิมพ์ล่าสุดที่ผมอ่านพบขณะเขียนต้นฉบับก็คือ

พาดหัวว่า “ดร.โกร่งออกทีวีเฉ่ง ธปท. ...ชี้รัฐอิสระ...เดือดขวางกองทุน”

นัยว่าเป็นข่าวที่มติชนสรุปจากการออกทีวีของอาจารย์โกร่งที่มาพูดแทนนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ในรายการนายกฯยิ่งลักษณ์พบประชาชน


เมื่อวันเสาร์ที่จะเขียนวันนี้ก็คงมิได้ขัดแย้งกับ ดร.โกร่ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยด้วยซ้ำเพียงแต่อาจจะมีมุมมองบางมุมเป็นการเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น

ผมยังยืนยันและเห็นด้วยในหลักการสากลที่ว่า ธนาคารกลาง หรือธนาคารชาติ จะต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล

แต่ก็ไม่ควรที่จะเป็นอิสระเต็มตัวจนถึงขั้นเป็น “รัฐอิสระ” อย่างที่อาจารย์โกร่งท่านวิจารณ์

ในหลายๆประเทศเขาจึงผูกธนาคารกลางไว้กับรัฐสภา คือ ก็ไม่ถึงกับให้รัฐสภาควบคุมการทำงานของธนาคารอย่างเต็มที่...แต่ก็มีกฎเกณฑ์ว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางจะต้องมารายงานการดำเนินงานต่อคณะกรรมาธิการการเงินการธนาคารที่รัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นระยะๆ

หลายท่านคงเคยดู ซีเอ็นเอ็น ถ่ายทอดสดการซักไซ้ไล่เลียง ปู่ อะลัน กรีนสะแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯคนก่อน และ คุณ เบน เบอร์นานกี ประธานคนปัจจุบัน โดยกรรมาธิการรัฐสภามาบ้างแล้ว

นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เขาใช้กันอยู่ในสากล เพื่อมิให้ธนาคารกลาง หรือธนาคารชาติทำตัวเป็นรัฐอิสระจนเกินไป

อย่างน้อยก็ยังต้องมารายงานต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่เป็นระยะ ถือเป็นการควบคุมในทางอ้อม


อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะมีความเห็นเพิ่มเติมในวันนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ธนาคารชาติ ให้สำนึกไว้เสมอ จะได้มีความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้นก็คือ ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของท่านต่อระบบเศรษฐกิจ

โดยส่วนตัว ผมมีความนึกคิดอยู่ตลอดว่า ธนาคารกลางเป็นอวัยวะที่สำคัญชิ้นหนึ่งของแต่ละประเทศ หรือแต่ละชาติ ซึ่งหากอวัยวะชิ้นนี้สูญเสีย หรือเสื่อมค่าลงไป ประเทศหรือชาตินั้นจะพลอยเสื่อมโทรมไปด้วย

อาจจะมิใช่อวัยวะสำคัญเท่ากับ “หัวใจ” ที่หยุดเต้น แล้วมนุษย์จะตายทันที แต่ก็อาจเป็นเสมือน “ไต” หรือ “ตับ” ซึ่งหากเสื่อมสภาพไป มนุษย์ก็จะต้องเสียชีวิตในที่สุดเช่นกัน

ด้วยความสำคัญเช่นนี้ เมื่อเกิดเหตุวิกฤติปี 2540 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดนนายจอร์จ โซรอส โจมตีจนเสียหายยับเยิน...

รัฐบาลไทยจึงต้องเข้าประคับประคองสถานการณ์ด้วยการตั้งกองทุนฟื้นฟูขึ้นมาดังกล่าว

เพื่อที่จะรักษาอวัยวะชิ้นนี้ไว้ และขณะเดียวกันก็เพื่อจะรักษาชีวิตของประเทศไทยเราไว้ด้วย

ที่คนไทยต้องยอมกล้ำกลืนเสียภาษีอย่างหนักอยู่หลายปี ก็เพื่อจะรักษาชีวิตของประเทศไทย อันเป็นผลมาจากแบงก์ชาติ ซึ่งเปรียบเสมือน “ไต” เกิดอาการ “ไตเสื่อม” หรือ “ไตวาย” เพราะแพ้นายโซรอสนั่นแหละครับ

มาถึงทุกวันนี้...ไต...หรือแบงก์ชาติ ซึ่งดูจะแข็งแรงเป็นปกติดีแล้ว จึงควรที่จะกลับไปรับหน้าที่ในการชำระหนี้แทนคนไทยบ้าง

ปัญหาก็มีอยู่ว่า แบงก์ชาติแข็งแรงพอหรือยัง?

ถ้าแข็งแรงแล้วก็รับภาระกลับไปเถอะครับ

แต่ถ้ายังไม่แข็งยังไม่พร้อม ก็ชี้แจงเหตุผลให้ละเอียดด้วย...เพราะถ้าหากแบงก์ชาติเป็นอะไรลงไปอีก...คนที่จะเหนื่อยก็คือพวกเราประชาชนชาวไทยทั้งชาติเช่นเคย เนื่องจากไม่สามารถจะปล่อยให้อวัยวะสำคัญชิ้นนี้เสื่อมโทรมได้ด้วยเหตุผลข้างต้น


เฮ้อ การจะได้เงินกู้สักก้อนหนึ่งมาใช้เพื่อฟื้นฟูประเทศ ในยามที่หนี้สาธารณะชักจะสูง และวงเงินกู้เกือบจะเต็มวง มันก็ยุ่งยากอย่างนี้แหละครับ

ผมจึงต้องถือโอกาสจบข้อเขียนวันนี้ด้วยการ “สาปแช่ง” เอาไว้ล่วงหน้า...ว่า ถ้าได้เงินกู้มหาศาลมาแล้ว เอามาใช้จ่ายตามโครงการต่างๆแล้ว

ใครโกงกิน หรือตอดหน้าตอดหลัง หาประโยชน์จากเงินก้อนนี้ แม้แต่บาทเดียว ขอให้เป็นโรค “ไตวาย” ก็แล้วกัน จะได้สอดคล้องกับที่ผมเปรียบเทียบแบงก์ชาติว่า สำคัญเหมือนกับเป็น “ไต” ของประเทศไทยในตอนต้นนั่นแล.



++

ศิลปะในการบริหารธนาคารชาติ อย่างอิสระโดยไม่ต้องเป็นรัฐอิสระ
โดย สมาน เลิศวงศ์รัฐ
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 25


นานๆ สักครั้งหนึ่งที่ "ซูม" เจ้าของคอลัมน์ "เหะหะพาที" ในยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ จะสวมสูทผูกเน็คไทกลายเป็น สมชาย กรุสวนสมบัติ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสภาพัฒน์ ทั้งๆ ที่ได้เกษียณไปตั้งนานแล้ว ด้วยน้ำเสียงอันมีเยื่อใยไมตรีกับทั้ง "ดร.โกร่ง" วีระพงษ์ รามางกูร และท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ด้วยการตั้งชื่อบทความของท่านว่า "แบงก์ชาติต้องอิสระ แต่ไม่ใช่รัฐอิสระ"

เนื้อหา ลำดับความก็เป็นไปอย่างละเอียด เคร่งขรึม และระมัดระวัง แต่ก็ได้ข้อสรุปตามชื่อแห่งบทความไว้ทุกประการ

ผู้เขียนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่เคยได้ร่ำเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาครั้งหนึ่ง แม้จะไม่มีวาสนาได้ปริญญามาจากที่นี่ ความที่เป็นนักอ่านและเป็นนักสะสมหนังสือคนหนึ่ง ก็เลยหันกลับไปรื้อตู้หนังสือ หาสิ่งที่พอสั่งสอนตัวเองว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังปั่นป่วน เศรษฐกิจอเมริกันยังไม่เข้มแข็ง เศรษฐกิจยุโรปยังหาทางออกไม่เจอ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่หายช้ำ เศรษฐกิจไทยที่โดนท่วมด้วยน้ำที่หนักที่สุดในรอบเจ็ดสิบปี จำเป็นต้องฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และต้องวางแผนระยะยาวไว้เพื่อความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่ายนั้น เรื่อง "อิสระ" หรือ "รัฐอิสระ" คนรุ่นครูบาอาจารย์เขาบอกไว้อย่างไรบ้าง จึงพอนำมาแบ่งปันกันอ่าน

แลกเปลี่ยนกันตามประสาคนใฝ่รู้



ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก London school of economics นอกจากจะเคยเป็นคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แล้วท่านเคยบริหารมหาวิทยาลัยในฐานะของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน

ชีวิตส่วนใหญ่ของท่าน นอกจากจะเคยเป็นนักสู้กู้ชาติที่ชื่อว่า "เสรีไทย" แล้ว ตำแหน่งที่สำคัญมากของท่านคือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่ได้วางหลักการที่สำคัญไว้สำหรับการบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย

เป็นคนเก่งที่ยึดมั่นในหลักการ ซื่อสัตย์สุจริต และเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บุญน้อย เกิดมา เติบโต และทำคุณประโยชน์ไว้กับประเทศไทยบ้านเกิด แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ตายในประเทศที่ตนรัก

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ปาฐกถาเรื่อง "ศิลปะและวิทยาของการเป็นผู้ว่าการ" ตามคำเชิญของคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2512 มีผู้นำไปถอดความและตีพิมพ์ในวาระต่างๆ หลายครั้ง

ข้อความเกี่ยวกับบทความนี้ทั้งหมดอ้างจากหนังสือ "60 ปีเศรษฐกิจไทย 60 ปีเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์" เมื่อเดือนกันยายน 2551 ในบทความที่ชื่อว่า "ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง"

อาจารย์ป๋วย อื๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2502-2514 ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เราไม่อาจเอาสถานการณ์จำเพาะในขณะนั้นมาอธิบายสถานการณ์ในวันนี้ได้ เพราะในวันที่ท่านพูดเรื่องนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีอยู่เพียง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง

สถานการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคมของไทยในขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ท่านได้พูดเรื่องนี้โดยแบ่งเป็นสองหัวข้อ ข้อแรกท่านได้พูดถึง "วิทยาหรือนัยหนึ่งการพิจารณาทางทฤษฎีในด้านนโยบายการเงิน และข้อที่สอง ศิลป์ ศิลปะแห่งการดำเนินนโยบายตามเป้าหมายที่จะกำหนดไว้ในทางวิชาการ"


ในข้อแรกที่ว่าด้วยวิชาหรือวิชาการนั้น ท่านได้นำเสนอหลักการและทฤษฎีบริหารการเงินในแง่มุมของท่าน ในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางอย่างง่ายๆ

ภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นมีเรื่องใหญ่ที่ต้องทำให้ได้คือ พยายามส่งเสริมให้การดำเนินเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปด้วยดีและมีการพัฒนา

ซึ่งมีการเอ่ยถึงบทบาท ภาระหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศในยุคของท่านตามที่เป็นไปในขณะนั้น

ไม่ว่าเรื่องการออกพันธบัตร

การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของรัฐบาล

การให้คำปรึกษาด้านงบประมาณแก่รัฐบาล

การรักษาเสถียรภาพให้คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

การรักษาเงินสำรองระหว่างประเทศให้อยู่ในฐานะดี

เป็นต้น



ในข้อที่สอง นี่คือหัวข้อที่น่าสนใจมาก ท่านพูดถึงศิลปะในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย (นโยบายของธนาคารชาติ)

ท่านพูดถึงศิลปะในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายไว้ 3 ด้าน

ศิลปะในการทำงานกับธนาคารพาณิชย์

ศิลปะในการทำงานกับข้าราชการ รวมทั้งกับข้าราชการรวมทั้งนักการเมือง

และศิลปะในการทำงานกับบุคคลภายในธนาคารแห่งประเทศไทยเอง

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้พูดถึงศิลปะในการทำงานกับข้าราชการซึ่งรวมทั้งนักการเมืองไว้ดังนี้ว่า

"คุณธรรมข้อนี้ ศิลปะข้อนี้กินความรวมไปจนกระทั่งการติดต่อระหว่างผู้ใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยกับผู้ใหญ่ของทางราชการ ตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาตินี้ในทำเนียบราชการไทยเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่ารัฐมนตรี และเราจำเป็นต้องติดต่อกับรัฐมนตรี เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้กำกับการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย"

"ให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อถือว่าเราไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ผลประโยชน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน"

"ผู้ว่าการและผู้ใหญ่ในธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมีความกล้าหาญพอสมควร ถ้ามีอะไรไม่ดีแล้วจำเป็นต้องพูดได้ ถ้าไม่มีความกล้าแล้วอย่าเป็นดีกว่า เมื่อจำเป็นต้องติงรัฐบาลก็ต้องท้วง ไม่ท้วงก็บกพร่องต่อหน้าที่"

"อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจให้ชัดว่าระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น "รัฐบาลมีความรับผิดชอบขั้นสูงสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลดำเนินนโยบายซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยและคัดค้านแล้วยังไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมได้ ถ้าเป็นนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับหลักการหรือ ความหายนะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีทางออกอยู่อีกทางหนึ่งที่จะคัดค้านคือลาออก...เขียนหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า "การที่ข้าพเจ้าลาออกเพราะเหตุว่าข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล"

"นี่เป็นการคัดค้านอย่างชัดแจ้ง ก็เป็นธรรมเนียมที่เขาทำกันอยู่ แต่ไม่ควรจะทำบ่อยนัก ทำบ่อยนักไม่ศักดิ์สิทธิ์ ควรที่จะเอาเรื่องที่สำคัญจริงๆ"



กฎหมายอันเกี่ยวกับการกำกับธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ประสาน ไตรรัตน์วรกุล นั้นแตกต่างกันมากแล้ว

สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศยังคงเดิม ยังอยู่ในกรอบแห่งหลักการเดิม

ไม่มีใครต้องการที่จะละเมิดหลักการแห่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศแต่อย่างใด

เพียงแต่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีพันธะที่ต้องดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนเท่านั้น



+++

เผือกร้อนรับ รมว.คนใหม่ ราคาพลังงานขึ้นยกแผง
คอลัมน์เศรษฐกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 22


กระแสต่อต้านพลังงานราคาแพงที่มีต่อรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรัฐบาลดำเนินการตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขึ้นราคาทั้งระบบ ประกอบด้วย

1.ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 รวม 6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเอ็นจีวีสิ้นปีจะอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม

2. ปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อัตรา 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 หรือราคาหน้าโรงกลั่น รวม 9 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีสิ้นปีจะอยู่ที่ 27.13 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม

3. ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบอัตรา 1 บาทต่อลิตร ทำให้เบนซิน 91 อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 อยู่ที่ 42.42 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.44 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จะอยู่ที่ 37.19 บาทต่อลิตร และอี 20 อยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล อัตรา 60 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยน้ำมันทั้ง 2 ชนิดปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ส่วนการปรับขึ้นครั้งต่อไป กระทรวงพลังงานระบุว่าจะพิจารณาอัตราที่เหมาะสมและเสนอ กพช. พิจารณาอีกครั้ง

ผลพวงจากการปรับราคาพลังงาน คงสวยงามและได้รับการชื่นชมกว่านี้ เพราะเหตุผลหลักคือต้องการให้ราคาสะท้อนกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะเอ็นจีวีและแอลพีจี ส่วนการขึ้นราคาน้ำมันก็เพราะต้องการรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมัน ไม่ให้ติดลบไปมากกว่านี้ (ตัวเลขฐานะกองทุน ณ วันที่ 6 มกราคม 2555 อยู่ที่ 14,550 ล้านบาท)

แต่ในความจริงกลับถูกต่อต้านจากประชาชน นั่นเพราะนโยบายรัฐบาลเองที่ผิดพลาดมาแต่แรก ผิดพลาดเพราะบิดเบือนกลไกตลาด ประจวบเหมาะกับต้องมาเจอแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งต่อเนื่อง


เริ่มตั้งแต่รัฐบาลเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 โดยรัฐบาลอ้างว่าต้องการผลักดันนโยบายลดการเก็บเงินกองทุนน้ำมัน 3 ชนิด คือ เบนซิน 91 เบนซิน 95 และดีเซล ที่ประกาศไว้กับประชาชน ดังนั้น กพช. จึงมีมติปรับลดเงินส่งเข้ากองทุน โดยน้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 7.17 บาท เหลือ 34.77 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 ลิตรละ 8.02 บาท เหลือ 39.32 บาทต่อลิตร และดีเซล ลิตรละ 3.00 บาท เหลือ 26.99 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมัน สูญรายได้ 6,160 ล้านบาทต่อเดือน จากฐานะกองทุน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่มีรายได้เป็นบวก 1,064 ล้านบาท

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น เมื่อราคาเบนซินแตกต่างจากแก๊สโซฮอล์น้อยมาก จึงทำให้ผู้ใช้รถหันไปใช้น้ำมันเบนซินมากกว่า ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันแก๊สโซฮลล์ตกฮวบ ขัดกับนโยบายประเทศที่จะพึ่งพาพลังงานทดแทนไม่ใช่เชื้อเพลิงที่รอวันหมดอย่างน้ำมัน

ปลายเดือนกันยายน 2554 รัฐบาลจึงกลับมาปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน และเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันของกลุ่มแก๊สโซฮอล์ใหม่ โดยลดเก็บเงินจากน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 ลง 1 บาทต่อลิตร ราคาจึงอยู่ที่ 35.37 บาทต่อลิตร เพิ่มเงินชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร ราคาจึงอยู่ที่ 32.34 บาทต่อลิตร และเพิ่มเงินชดเชยให้กับอี 20 ขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร ราคาอยู่ที่ 31.34 บาท ต่างกับราคาเบนซิน 95 ซึ่งอยู่ที่ 39.32 เบนซิน 91 อยู่ที่ 35.37 บาทต่อลิตร เพราะต้องการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนเหมือนเดิม

สรุปแล้ว นโยบายประชานิยมแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ นอกจากจะไม่ได้รับคำชม หนำซ้ำยังก่อปัญหาให้ต้องตามแก้แล้ว รัฐบาลยังต้องคิดหนัก เพราะทำให้ฐานะกองทุนเริ่มติดลบ 1,302 ล้านบาท


กลับมาที่นโยบายขึ้นราคาพลังงานทั้งระบบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 เช่นกัน แรกเริ่มนโยบายนี้ไม่ถูกพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์มากนัก เพราะเป็นช่วงที่ประเทศกำลังประสบกับอุทกภัยครั้งร้ายแรง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่างยุ่งอยู่กับปัญหาน้ำท่วม แต่เมื่อสถานการณ์น้ำคลี่คลาย รอยรั่วของนโยบายเพราะถูกต่อต้านก็ดังขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มที่การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี โดยเอ็นจีวีเป็นก๊าซที่เหล่าผู้ขับแท็กซี่ออกมาต่อต้านการขึ้นราคา โดยอ้างว่าเป็นต้นทุนทางตรงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 70% และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนพร้อมข่มขู่ว่าจะก่อม็อบปิดถนน ซึ่งรัฐบาลทราบท่าทีมาโดยตลอด แต่เลือกเสนอให้ส่วนลด 2 บาทต่อกิโลกรัม ผ่านบัตรเครดิตพลังงาน

สุดท้ายบัตรเครดิตก็ส่อเหลว สมาชิกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้ขับแท็กซี่อ้างว่าวงเงินบัตรน้อยเกินไปและไม่มีใบขับขี่สาธารณะตามหลักเกณฑ์การขอบัตร จึงเห็นรัฐบาลตามแก้ปัญหาทั้งการเพิ่มวงเงินบัตรและประสานกระทรวงคมนาคมอำนวยความสะดวกเรื่องการทำใบขับขี่สาธารณะ

เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ วันที่ 9 มกราคม 2555 จึงได้เห็นปรากฏการณ์กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายของบรรดาแท็กซี่ รถสาธารณะอื่น และรถบรรทุก จับมือกันออกมาปิดถนนเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลปรับขึ้นราคา โดยกระจายกันปิดถนนวิภาวดี ขาออก และทำเนียบรัฐบาล

ลงท้ายด้วยการยอมอ่อนข้อของรัฐบาล โดยยอมขอโทษม็อบที่ไม่สื่อสารให้เข้าใจตรงกัน พร้อมยอมให้ส่วนลดรูปแบบเดียวกับบัตรเครดิตพลังงานกับรถสาธารณะทั้งหมด และตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา แต่ขอขึ้นราคาเอ็นจีวีและแอลพีจีก่อน แต่ไม่เกิน 4 เดือน

ผลก็คือ รถสาธารณะได้ประโยชน์ถ้วนหน้า แต่รถบ้านเป็นกลุ่มเดียวที่รับภาระการขึ้นราคาเอ็นจีวี-แอลพีจี

เป็นผลงานที่แสดงถึงความอ่อนแอของรัฐบาล !!



ส่วนการขึ้นราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน และดีเซล เพื่อเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันนั้น ในส่วนของเบนซินอาจไม่สร้างผลกระทบมากนัก เพราะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่รับภาระส่วนเพิ่มได้ แต่สำหรับดีเซลถือเป็นเชื้อเพลิงที่สัดส่วนมากที่สุด และครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งรถบ้าน เกษตรกร รถ-เรือขนส่ง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของดีเซลจึงส่งผลกระทบกับราคาสินค้า ค่าครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกโรงเตือนรัฐบาลให้ดูแลราคาดีเซลไม่ให้สูงกว่า 31-32 บาทต่อลิตร เพราะกระทบกับราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น 7% หากน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อลิตร เนื่องจากภาคขนส่งใช้น้ำมันดีเซลมากถึง 70%

นอกจากนี้ยังเตือนว่าราคาน้ำมันมีสิทธิพุ่งไปถึง 40 บาทต่อลิตรภายในปีนี้ เพราะแนวโน้มของราคาในตลาดโลกยังพุ่งต่อเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา

ขณะที่นักวิชาการด้านน้ำมันเตือนรัฐบาลด้วยเช่นกัน ว่า ต้องบริหารจัดการราคาดีเซลให้ดี เพราะนอกจากปัจจัยการเก็บเข้ากองทุนน้ำมันแล้ว ราคายังต้องเพิ่มจากการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโรโฟร์ และอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ยังงดเก็บอยู่ประมาณ 5 บาทต่อลิตร

เป็นสัญญาณเตือนที่รัฐบาล โดยเฉพาะ อารักษ์ อารักษ์ ชลธารนนท์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ต้องฟัง เพื่อตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ราคาพลังงานปรับขึ้นไป ให้ประชาชนรับสภาพที่แท้จริง หรือจะยังใช้นโยบายประชานิยม ช่วยเหลือจนติดนิสัยเสพติดของถูกต่อไป

เป็นเผือกร้อนที่รอพิสูจน์ฝีมือ !!



++

นวัตกรรมเปลี่ยนโลก 5 ปีข้างหน้า มนุษย์ใช้สมองสั่งงานแล็บท็อป-โทรศัพท์มือถือได้
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 78


โลกทุกวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

ใครจะคิดบ้างว่า มือถือเครื่องเล็กๆ จะสามารถทำงานได้สารพัดรูปแบบ ทั้งค้นหาข้อมูล ส่งอี-เมล บันทึกตารางเวลานัดหมาย ทำให้ชีวิตคนทำงานง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

ยิ่ง iPhone 5 ออกมาเขย่าตลาดด้วยโปรแกรมการทำงานที่ล้ำยุค มีการปลดล็อกด้วย "หน้า" เจ้าของ ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่เพียงให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากขึ้นแต่ยังมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง

การพัฒานวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นบนมือถือเพียงอย่างเดียว แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้กับสินค้าหลากหลายรูปแบบ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ "เมอร์เซเดสเบนซ์" ผู้นำแห่งโลกยานยนต์ที่ได้มีการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ ดีไซน์ สมรรถนะ ตลอดจนเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ทรงประสิทธิภาพด้วยการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นการควบคุมสมรรถนะรถยนต์

การดีไซน์ตามหลักสรีรศาสตร์ การควบคุมระบบปรับอากาศภายในรถ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อให้ง่ายต่อการขับขี่และปัจจัยต่างๆ ที่สามารถช่วยสร้างความสะดวกสบายอย่างเหนือชั้นให้แก่ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร จนสามารถครองใจลูกค้าระดับบนมาอย่างยาวนาน

นี่คือนวัตกรรมที่เราสัมผัสได้ในยุคนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้านวัตกรรมไอทีจะเปลี่ยนโลกอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง



เมื่อเร็วๆ นี้ "นางพรรณสิรี อมาตยกุล" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า ไอบีเอ็มได้คิดค้นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างสรรค์โลกให้ฉลาดขึ้นภายใต้แนวคิด "สมาร์ตเตอร์ แพลนเน็ต" (Smarter Planet) มาอย่างต่อเนื่องจากผลงานวิจัยในห้องทดลองของไอบีเอ็มทั่วโลก ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นจริงได้

โดยล่าสุดไอบีเอ็มได้เปิดเผย 5 นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนเราในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์ (IBM Five in Five)

นวัตกรรมแรกคือ "มนุษย์สามารถสร้างพลังงานมาใช้ได้เอง" ซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง ขี่จักรยาน และสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เช่นความร้อนจากคอมพิวเตอร์ก็สามารถสร้างพลังงานได้ และสามารถที่จะเก็บรวบรวมมาใช้งานภายในบ้าน สถานที่ทำงาน และเมืองต่างๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มในไอร์แลนด์กำลังศึกษาวิธีการแปลงพลังงานคลื่นในมหาสมุทรให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมที่ 2 ก็คือ "มนุษย์จะใช้เสียงพูด ใบหน้าและดวงตาแทนรหัสผ่านได้" โดยในอนาคตเราจะไม่ต้องใช้รหัสผ่านอีกต่อไป เพราะข้อมูลทางไบโอเมตริก (Biometric) เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเค้าโครงใบหน้า การสแกนม่านตา และไฟล์เสียงพูด จะถูกประกอบเข้าด้วยกันผ่านทางซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างรหัสผ่านออนไลน์ เราจึงสามารถเดินไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อถอนเงินอย่างปลอดภัย โดยเพียงแค่พูดชื่อหรือมองเข้าไปในเซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่สามารถรับรู้ความแตกต่างในม่านตาของแต่ละคน

ส่วนนวัตกรรมที่ 3 คือ "มนุษย์สามารถใช้สมองสั่งงานแล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือได้"การอ่านใจจะไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้เฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มในสาขาวิชาชีวสารสนเทศ หรือไบโออินฟอเมติกส์ (Bioinformatics) กำลังทำการค้นคว้าวิธีการเชื่อมโยงสมองของคนเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน รวมถึงการออกแบบชุดหูฟังที่มีเซ็นเซอร์พิเศษสำหรับอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง รวมถึงสีหน้า ระดับความตื่นเต้น การมีสมาธิจดจ่อ และความคิดของบุคคล โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องขยับร่างกาย

ภายใน 5 ปีข้างหน้าเราจะเริ่มเห็น

การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีนี้ในอุตสาหกรรมเกมและความบันเทิง รวมถึงวงการแพทย์เพื่อทดสอบแบบแผนของสมอง และอาจช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตก และช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของสมอง เช่น โรคสมาธิสั้น ได้อีกด้วย

สำหรับนวัตกรรมที่ 4 คือ "ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีโมบาย" โดยในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ช่องว่างระหว่างผู้ที่มีข้อมูลและผู้ที่ไม่มีข้อมูลจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโมบายอย่างเช่น ในอินเดียที่ไอบีเอ็มใช้เทคโนโลยีเสียงพูดและอุปกรณ์พกพาเพื่อช่วยให้ชาวชนบทที่ไม่รู้หนังสือสามารถถ่ายทอดข้อมูลผ่านทางข้อความที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ และการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การช่วยให้คนเหล่านี้สามารถตรวจสอบรายงานสภาพอากาศ รู้ว่าจะมีแพทย์เดินทางเข้ามาในเมืองเมื่อไร และยังสามารถตรวจสอบระดับราคารับซื้อที่ดีที่สุดสำหรับพืชผลทางการเกษตร

และนวัตกรรมที่ 5 คือ "คอมพิวเตอร์จะช่วยคัดกรองและแจ้งข้อมูลสำคัญที่สอดคล้องกับความต้องการของเรา" ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า โฆษณาที่ไม่พึงประสงค์ อาจมีลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับอย่างมาก

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อกลั่นกรองและผนวกรวมข้อมูลจากทุกแง่มุมของชีวิต ตั้งแต่ข่าวสารไปจนถึงกีฬาและการเมือง

เทคโนโลยีจะรู้ว่าผู้รับชื่นชอบและต้องการอะไร เพื่อนำเสนอและแนะนำข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ตรงใจ ทำให้ต่อไปตั๋วคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่ชอบจะถูกจองไว้ให้ทันทีที่เปิดขาย และจะสามารถซื้อตั๋วนั้นได้ทันทีจากอุปกรณ์พกพา

นี่คือความสะดวกสบายที่กำลังจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเราในอีก 5 ปีข้างหน้า โปรดอดใจรอ



.