http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-22

"นิติราษฎร์" ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร / ข้อเสนอร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

.

ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.


อันเนื่องมาจากโอกาสรอบ 100 ปี คณะ ร.ศ. 130 และโอกาสเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัตน์ 24 มิถุนายน 2475 คณะนิติราษฎร์ ได้จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการอภิปรายหัวข้อ "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม

จากข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการเสนอข้อเสนอมีปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย คณะนิติราษฎร์ได้รวบรวมคำถามที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากกระแสต่างๆ และมาเสนอคำตอบ ชี้แจงต่อข้อซักถามทั้งหลาย


นายปิยบุตร กล่าวถึง คำถามเรื่องการลบล้างผลพวงทางรัฐประหารในทางกฎหมาย ว่า ทางหลักนิตินั้น ทางนิติราษฏร์ได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างที่เกิดขึ้นอย่าง เช่น การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆของรัฐบาลเผด็จการทหารในกรีซ หรือการประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆสมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาจัดการในทางหลักวิชาทางนิติศาสตร์อย่างไร และประเทศก็ได้เข้าสู่สภาวะเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อระบบกฎหมาย และการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร


ส่วนคำถามเรื่องการเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารแต่มีข้อข้องใจว่าทำไมต้องครั้งปี 49 เท่านั้น นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ยืนยันว่านิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้นจุดยืนคือรัฐประหารทุกครั้งเป็นการทำลายประชาธิปไตย และนิติรัฐ ซึ่งเมื่อถามว่าทำไมไม่ล้างครั้งที่ผ่านมานั้น ครั้ง 24 มิ.ย. 2475 นั้นอำนาจกลับมาสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง แต่ในข้อจำกัดหลายประการ จึงเริ่มที่ครั้งปี 49 ซึ่งมันส่งผลต่อปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันนี้ก็เกิดมาจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. และหากทำสำเร็จก็เป็นไปได้ที่จะย้อนกลับไปทำลายครั้งก่อนๆที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย

"แค่เสนอลบล้างรัฐประหารครั้งที่แล้ว ก็กรีดร้องกันตายแล้ว ถ้าเสนอให้ลบล้างทุกครั้งคนอื่นจะไม่หัวใจวายตายกันเลยหรือ" นายปูนเทพกล่าว


ต่อคำถามเรื่องข้อเสนอประเด็นลบล้างผลพวงรัฐประหารที่มีคนเชื่อว่าถ้านำไปปฏิบัติจริงก็ไม่ต่างกับการทำรัฐประหารเองนั้น อ.สาวตรี สุขศรี ตอบว่า ขอวิจารณ์คำถามก่อนว่า เขามีการเอาอำนาจประชาชนไปเปรียบกับคณะรัฐประหาร ซึ่งผู้ถามเหมือนอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อมาคือ เป็นคำถามที่ดูถูกประชาชน เป็นการเอาคณะรัฐประหารที่ขโมยประชาธิปไตยจากประชาชนมายก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ส่วนคำตอบคือ ถ้าไปเปิดรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 จะพบมาตรา 3 ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย เพราะฉะนั้น รัฏฐาธิปัตย์ก็คือประชาชน ไม่ใช่คณะรัฐประหารเพราะฉะนั้นการที่เราจะลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหารที่ทิ้งไว้จึงเปรียบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องไหนก็ตาม เมื่อการทำรัฐประหารเป็นความผิดต่อกฎหมาย การที่เราลุกขึ้นมาแล้วบอกว่านี่เป็นอำนาจของเรา จะบอกว่าการกระทำของเราสุดโต่งได้อย่างไร เมื่อเรารักษาศักดิ์ศรีของกฎหมายบ้านเมือง สรุปคือการลบล้างผลพวงซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องโดยประชาชนด้วยการลงมติแล้วกลับจะบอกว่าเราทำผิด จะไปเทียบกับการขโมยอำนาจนั้น คำถามนี้ไม่ควรถามตั้งแต่แรก


คำถามเรื่องนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้าง ตามที่ คปค. ต้องเสียแรงเหตุเป็นเพราะรัฐบาลที่ทำหน้าที่ทุจริต โกงบ้านเมือง เมื่อเสนอให้ลบล้างนั้น เหตุใดจึงไม่คิดกำจัดสาเหตุของการทำรัฐประหารไปด้วย นายปูนเทพ ตอบว่า เหตุของการรัฐประหารที่ยกขึ้นมาว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจโดยมิชอบนั้น ต่อคำถามง่ายๆนั้นคือทหารที่ขึ้นมาทำนั้นท่านไม่ทุจริตหรือ รัฐบาลที่เลือกมานั้นทุจริต เราตรวจสอบ เราวิจารณ์ได้ แต่ภายใต้รถถัง ปืน ประชาชนไม่มีหนทางตรวจสอบ ดังนั้นการทุจริต ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เหตุ แต่เป็นเพียงปัญหาที่ต้องแก้ไขในโครงสร้างประชาธิปไตย

นอกจากนี้ เรื่องการรัฐประหารเป็นเรื่องการคอร์รัปชั่นอำนาจ โดยที่ประชาชนไม่ยินยอม และเกิดไปตั้งพวกพ้องต่างๆขึ้นมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากข้อกล่าวหาที่กล่าวหาอีกฝ่าย


ขณะที่คำถามเรื่อง การที่ประกาศให้นิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเป็นโมฆะนั้นสุดโต่งไปหรือเปล่า หรือการทำแบบนี้ไม่ถือเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังหรือไม่ อ.สาวตรี กล่าวว่า คำถามที่ต้องตอบก่อนคือ ถ้าบอกว่าเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยประชาธิปไตย ต้องมีความชัดเจน คือการทำรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง แล้วกฎหมายบ้านเมืองนั้น นักฎหมายอาญาจะต้องมาตอบเลยว่า มาตรานี้อยู่ในม. 113 ซึ่งวันนี้ยังบังคับใช้อยู่ แต่ไม่เคยถูกใช้จริง

การตรากฎหมายเพื่อลงโทษย้อนหลังนั้นหมายถึง ในขณะที่การกระทำนั้นไม่มีการบัญญัติกฎหมายว่าเป็นความผิด แต่รัฐประหารนั้นเป็นความผิดตลอดเวลา

"การที่จะมีบทบัญญัติที่ลบล้างผลพวงรัฐประหารนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าคนตายและฆาตรกรยังมีอำนาจตรากฎหมายให้พ้นผิด โดยสังคมจำเป็นต้องปล่อยให้ฆาตรกรลอยนวล" กลุ่มนิติราษฎร์ระบุ


การลบล้างคำพิพากษาของศาลเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบบประชาธิปไตยหรือไม่ คณะนิติราษฎร์ระบุว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักแบ่งแยกอำนาจทำหน้าที่อะไร ในรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของสูงสุด หลักแบ่งแยกอำนาจให้ประกัน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ผู้ที่จะได้รับผลการคุ้มครองจากหลักก็ต้องทำหน้าที่ให้ตรงกับภารกิจของตัว องค์กรตุลาการได้รับการแต่งตั้ง เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย หากตุลาการใช้อำนาจของตนไปสนับสนุนให้วัตถุประสงค์ของการทำรัฐประหารโค่นล้มประชาธิปไตยบรรลุผล เท่ากับว่า ตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย

ขณะที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่เสนอให้ลบล้างคำพิพากษาซึ่งเป็นผลพวงของการทำรัฐประหารจะจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญและให้ประชาชนเป็นผู้ออกประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจที่สูงกว่าอำนาจตุลาการ อันเป็นการลบล้างการใช้อำนาจตุลาการที่บิดผัน จึงไม่เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่เป็นการพิทักษ์รักษานิติรัฐ และประชาธิปไตยให้มั่นคงต่างหาก


คณะนิติราษฎร์ ยกตัวอย่างกรณีการลบล้างคำพิพากษาในสมัยนาซีเป็นการยกตัวอย่างผิดตัวหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่หนักหน่วงเท่าสมัยนาซี สาเหตุที่ยกตัวอย่างนั้น เพื่อที่จะบอกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจของปชช. กลับไปลบล้างการกระทำของระบอบเผด็จการนั้นทำได้ แต่เทียบกันหมัดต่อหมัดนั้นสมัยนาซีแรงกว่าเยอะ แต่หากจะวิจารณ์คำพิพากษาของศาลไทยนั้น เราสามารถวิจารณ์อย่างเต็มที่ได้พอๆกันกับศาลสมัยนาซีไหม เมื่อเรารู้ว่าเราวิจารณ์ได้ไม่เท่ากัน แล้วจะรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น พอเราวิจารณ์ได้ไม่เต็มที่ก็ประเมินไม่ได้ว่าอะไรดีกว่ากัน


สำหรับคำถามเรื่อง การให้ประชาชนออกเสียงประชามตินั้นยังไม่ใช่สิ่งสูงสุด ยังมีองค์กรตุลาการที่มีอำนาจชี้ขาดว่าประชามตินั้นขัดต่อกฎหมายและไม่มีผลบังคับ อย่างกรณีตัวอย่างคดี Perry v. Schwazenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐฯพิพากษาออกเสียงให้ผลการลงประชามติของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ประชาชนเสียงข้างมากในมลรัฐแคลิฟอร์เนียลงมติบัญญัติในธรรมนูญของมลรัฐว่าการสมรสจะทำได้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย?

นายวรเจตน์ กล่าวว่า ความมั่วของคำถามเรื่องนี้อยู่ที่บอกว่า คดีนี้เป็นคำพิพากษาของศาลสูง มันไม่ถูกต้อง คำพิพากษาเป็นศาลชั้นต้นในระดับสหพันธรัฐของสหรัฐฯ ไม่ใช่การพิพากษาของศาลสูงสุดตามที่มีคนกล่าวอ้าง และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในระดับสหพันธรัฐ คำพิพากษาดังกล่าวจึงยังไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน

"การออกเสียงประชามติ ต้องดูว่าเป็นเรื่องอะไร ในอเมริกาปกครองในระบบสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นคนละระบบของเรา หากไทยเป็นสหพันธรัฐไทยเวลาที่แบ่งอำนาจหน้าที่ แต่ละมลรัฐก็จะมีธรรมนูญการปกครองตัวเอง และจะตกอยู่ภายใต้กฎหมายของสหพันธ์"

การที่ศาลตัดสินนั้นเป็นการตรวจสอบธรรมนูญของมลรัฐเป็นการตรวจสอบธรรมนูญของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มิให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของประเทศ อันเป็นรูปแบบการปกครองในประเทศที่เป็นสหพันธรัฐ


ส่วนกรณีรัฐธรรมนูญ 2549 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้นจะยังถูกยกเลิกได้อีกหรือไม่นั้น อ.วรเจตน์ กล่าวว่า นักฎหมายจำนวนมากจะเชี่ยวชาญหลังจากที่มีการรัฐประหาร ยกเว้นการเขียนกฎหมายเอาผิดกับคนที่เอารถถังมาปล้นอำนาจ ความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์การเมืองพัฒนาไปถึงขีดสูงสุดวันที่ 19 ก.ย.

หลังจากที่มีการยึดอำนาจก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวมี สองมาตรา คือม. 36 และ37 คือให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ยึดอำนาจ จนกระทั่้งต่อมามีการจัดทำร่างรธน.ปี 50 มีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติ มีบทบัญญัติม.309 และเป็นมาตราที่บอกว่าการกระทำใดๆที่รับรองนั้นให้ถือว่าชอบตามรธน.และกฎหมาย

เราเสนอประกาศให้ม. 36 และ 37 เป็นโมฆะ ซึ่งกลุ่มนั้นก็บอกว่า มันถูกยกเลิกไปแล้วไม่ต้องไปแตะ คนที่ตั้งคำถามแบบนี้เราไม่ได้ยกเลิกสิ่งที่ยกเลิกไปแล้ว แต่เราจะให้อำนาจประชาชนไปประกาศบทบัญญัติว่าถือเป็นเสียเปล่าไม่เคยมีมาก่อนในระบบกฎหมาย และผลก็คือจะทำลายกล่องดวงใจของรัฐประหาร เมื่อทำลายแล้ว ผลคือไม่เคยมีการนิรโทษกรรม บทบัญญัติ 309 จะไม่มีผลอะไร ก็ถือว่าไม่เคยมีการยกโทษให้กับคนที่มีการกระทำความผิด และคนที่ทำนั้นก็ต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมและอยากจะบอกว่าการเขียนกฎหมายแบบนี้ตบตาเราไม่ได้


คำถามเรื่องการเสนอลบล้างเป็นการเสนอเพื่อ"ทักษิณ"หรือไม่ อ.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล กล่าวว่า เมื่อฟังแล้วของขึ้นและเสียดายที่หากคนถามเป็นนักกฎหมาย ท่ามกลาางการแย่งชิงอำนาจ นักกฎหมายเป็นผู้ที่ต้องมองและชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าอะไรคือกติกาที่ทุกคนต้องยอมรับ ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจต้องมีกติกา ข้อกล่าวหาที่บอกว่าเราทำเพื่อทักษิณ นั้นเราพูดถึงทักษิณมากกมายขนาดนั้นหรือ

"อยากถามกลับไปว่าถ้าเป็นนักกฎหมายแล้วคุณไม่ได้เรียนสิ่งนี้มาเลยหรือ เรื่องกติกาทางความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย เป็นผม ผมจะคืนปริญญาบัตร หมายถึงสิ่งที่เราทำมา ทักษิณเป็นเรื่องที่เล็กน้อย พวกเราจะจัดการคุณทักษิณเองถ้ามีปัญหา ความชัดเจนของเราชัดอยู่แล้ว ทักษิณเป็นนายกฯได้เดี๋ยวเดียวก็ไปแล้ว แต่โครงสร้างอุดมการณ์นิติรัฐต้องอยู่ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ"



นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องล้มสถาบันในช่วงหลังที่พยายามโยนข้อกล่าวนี้มาทำลายการเคลื่อนไหวทางความคิด ซึ่งถ้าดูตามกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น เราบอกชัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักร ซึ่งคือรัฐที่ประมุขเป็นกษัตริย์ แต่การล้มเจ้าเป็นการเปลี่ยนเป็นระบอบเป็นสาธารณรัฐต่างหาก แต่เราก็มีการปฎิรูปกฎเกณฑ์สถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรายละเอียดต้องเพิ่มเติมที่จะต้องกล่าวในภายหลัง โดยรายละเอียดต่างๆที่บอกว่าห้ามแตะต้องจริงๆแล้วถูกแตะต้องมาตลอดหลังรัฐประหาร


ยันไม่มีผลประโยชน์

นายวรเจตน์ กล่าวทิ้งท้่ายว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมา เราถูกโจมตีจากหลายฝ่าย การโจมตี การกล่าวร้ายต่างๆก็มีมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องข้อกล่าวหาเรื่องแรก เรื่องการรับเงินหรือการได้ผลประโยชน์จากอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งหลายคนที่โจมตีนั้นใช้จิตใจของตนเองประเมินคนอื่น ตนยืนยันว่าไม่มีเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่าเรามุ่งหวังให้ประเทศเป็นนิติรัฐและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภายหลังข้อกล่าวหาเหล่านั้นก็น้อยลงและถูกยกระดับไปในเรื่องทางความคิด

เรื่องพยานที่พิสูจน์ไม่ได้ก็มีเรื่องข้อกล่าวหาในเรื่องความคิด กลายเป็นบอกว่า "รู้นะเราคิดอะไรอยู่" มีคนบอกว่า บางคนมาอ้างว่ารู้จักตน หรือคนอื่นๆในนิติราษฎร์ดี ซึ่งกล่าวได้ว่า ถ้าอ้างแบบนี้หมายความว่า "ไม่รู้จักดี" การที่พูดนั้นเขาไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร นี่คือความพยายามในการดิสเครดติมาทำลาย มีการพูดจาต่างๆนานาซึ่งเป็นเท็จ แต่เชื่อว่าสังคมไทยอยู่กับความเท็จมานานหลายปีแล้ว ตนเองก็ไม่มีปัญหากับสื่อ เพื่อนร่วมวิชาชีพ หรือใครทั้งสิ้น แต่อยากขอให้สู้กันแบบยุติธรรมในทางความคิด อย่าทำร้ายด้วยวิธีการสกปรกอย่างที่ทำมาโดยตลอด


"สำหรับเรื่องการจัดสถานที่ที่นิติศาสตร์นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีก็เล็กๆน้อยๆเราก็ลงขันกันทำ แต่การจัดงานครั้งนี้ มีการใช้สถานที่ซึ่งไม่อาจสะดวกต่อการเรียนการสอน การที่มาจัดที่หอประชุมศรีบูรพาแม้จะมีค่าใช้จ่ายบ้างแต่ถึงวันนี้ เราไม่รับบริจาคใดๆ เพื่อให้เป็นการประชุมทางวิชาการโดยไม่มีข้อครหาใดๆ แต่หากครั้งต่อไปมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความจำเป็นใดๆก็จะชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ขอให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการรับเงินใดๆ ส่วนที่ผ่านมามีการติดต่อขอสนับสนุน ซึ่งตนคิดว่าอยากแค่เผยแพร่ความคิดไปสู่ประชาชน เราลงทุนน้อยแต่ผลกำไรที่ได้กลับมานั้นสูง สิ่งที่ทำไปทุกคนทำด้วยใจไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ใดๆแม้แต่น้อย "

ทั้งนี้ ในงานคณะนิติราษฎร์ยังได้เสนอรูปแบบและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในงานด้วย อ่านที่นี่
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327226024&grpid=03&catid=no&subcatid=0000 ....เป็นบทความถัดไป...



++

เปิดข้อเสนอ "นิติราษฎร์" ร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในงานอภิปรายที่ มธ.
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:59:21 น.


อันเนื่องมาจากโอกาสรอบ 100 ปี คณะ ร.ศ. 130 และโอกาสเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัตน์ 24 มิถุนายน 2475 คณะนิติราษฎร์ ได้จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการอภิปรายหัวข้อ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง”ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม

คณะนิติราษฎร์ได้เสนอข้อเสนอ เรื่อง "รูปแบบองค์กรยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และกระบวนการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่" เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้


ให้มีองค์กรผู้มีหน้าที่ยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญโดยใช้ชื่อเรียกว่า "คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย" มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยกรรมการ 25 คนมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เลือกกรรมการ 20 คน โดยแบ่งตามอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองและกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

วุฒิสภา เลือกกรรมการ 5 คน โดย 3 คนมาจากการเลือกของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และ 2 คนมาจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา โดยการแบ่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลือกกรรมการตามสัดส่วนจำนวนดังกล่าว คำนวณจากฐานจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 150 คน โดยให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าวุฒิสภา และให้ความสำคัญสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา


ทั้งนี้ กรรมการต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือข้าราชการการเมือง สำหรับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หลังจากออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตยพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย


โดยการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตยดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้

กำหนดกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ - 30 วัน
รับฟังความคิดเห็น - 60 วัน
ยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา - 60 วัน
นำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาเพื่อรับฟังความเห็นและอภิปรายรายมาตรา แต่ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นรัฐสภา - 60 วัน
นำความเห็นของรัฐสภากลับไปพิจารณาแก้ไข - 30 วัน
นำร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนศึกษาและรณรงค์ก่อนออกเสียงประชามติ - 30 วัน
ประชาชนออกเสียงประชามติ ในฐานะประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ผลการออกเสียงประชามติให้ถือเป็นเด็ดขาด
พระมหากษัตริย์ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 9 – 10 เดือน



คณะนิติราษฎร์ยังได้เสนอกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ดังนี้


รัฐธรรมนูญและเอกสารทางการเมืองที่ใช้เป็นพื้นฐานของการจัดทำรัฐธรรมนูญ

- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัย

- ประกาศคณะราษฎร

- ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarati0n 0f Human Rights) ลงวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ของสหประชาชาติ


คำปรารภของรัฐธรรมนูญ

- การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475
- ความเลวร้ายของรัฐประหารอันก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย
- การหวนกลับไปหาเจตนารมณ์ของคณะราษฎร และอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร
- ประกาศหลักการพื้นฐานของราชอาณาจักรไทย


ประเด็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูป “สถาบันกษัตริย์ – ศาล – กองทัพ –สถาบันการเมือง” โดยให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและนิติรัฐ ดังนี้

1. หลักราชอาณาจักร
- ประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์
- ปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
- จัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นๆ

2. หลักประชาธิปไตย
- อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน
- อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นฐานแห่งอำนาจของระบบการปกครองประเทศและองค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหลาย
- เจตจำนงของประชาชนแสดงออกโดยการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่กำหนดให้มีขึ้นตามระยะเวลาที่แน่นอน โดยทั่วไป โดยเสมอภาค โดยเสรี และโดยลับ
- เคารพเสียงข้างน้อย และเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยสามารถกลับมาเป็นเสียงข้างมาก

3. หลักนิติรัฐ
- การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม
- กฎหมายที่ใช้ปกครองประเทศต้องมาจากความเห็นชอบของผู้แทนประชาชนหรือประชาชนโดยตรง
- หลักการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิเสรีภาพ

4. ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
- รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
- กำหนดให้มีองค์กรควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
- หน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของกษัตริย์
- กำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

5. ความเป็นรัฐเดี่ยวแบบกระจายอำนาจ
- ราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกมิได้
- รัฐต้องเคารพหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

6. หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- กำหนดให้สิทธิและเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นมีผลโดยตรง และผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งปวง
- รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

7. การแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมือง
- แบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็น 3 องค์กร ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
- กำหนดให้วิธีการใช้อำนาจเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเป็นระบบรัฐสภา

8. โครงสร้างของสถาบันทางการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้ระบบเลือกตั้งที่มีความยุติธรรมและเสมอภาคแก่ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งทั้งในแง่จำนวนคะแนนเสียงและค่าของคะแนนเสียง
- กำหนดให้มีการปฏิรูปกฎหมายรัฐสภา
- กำหนดให้มีพระราชบัญญัติรัฐมนตรี และข้อบังคับการประชุมคณะรัฐมนตรี
- ยุบเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่ไม่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหา
- ประกันความเป็นสถาบันขององค์กรอิสระในทางปกครอง
- กำหนดให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว แต่หากต้องการให้ใช้ระบบสองสภา ที่มาของสภาทั้งสองต้องมาจากการเลือกตั้ง

9. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ
- ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
- กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์ที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง
- การแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ
- คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
- ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการและว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล

10. การยอมรับความเป็นสังคมพหุนิยม
- รับรองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ

11. การตรวจสอบใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรให้ได้ประสิทธิภาพและดุลยภาพ
- ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ

12. หลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
- เคารพหลักเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยกลไกตลาด
- ส่งเสริมให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และจัดให้มีระบบสวัสดิการอย่างทั่วถึง

13. หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร
- กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร
- รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง
- การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งระดับสูงในกองทัพเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี

14. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย
- การเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารเท่านั้น
- การพิจารณาและให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
- องค์กรอื่นใดไม่อาจเสนอหรือแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้

15. การต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน
- กำหนดให้มีบทบัญญัติในหมวดว่าด้วย “การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” โดยมีเนื้อหาสาระตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
- กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน
- กำหนดให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น



.