http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-14

ปฏิบัติการ "รุก" "รับ".., ลึกแต่ไม่ลับ 13 ม.ค.2555

.
รายงานพิเศษ - เช็กกระแส "กรมปทุมวัน" ลือหึ่ง "บิ๊กอ๊อบ" ทิ้งเก้าอี้ ส่งไม้ "บิ๊กอ๊อด" ขึ้นแท่น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ปฏิบัติการ "รุก" ปฏิบัติการ "รับ" ทางการเมือง รัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 8


มติ ครม. เห็นชอบ 1. ร่าง พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

2. ร่าง พรก. กู้เงินเพื่อลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำทั้งระบบวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และให้ดำเนินการไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2556

3. ร่าง พ.ร.ก. กองทุนประกันภัยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และ 4. ร่าง พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยวงเงิน 3 แสนล้านบาท

เหมือนกับจะเป็นการรุก

เช่นเดียวกับมติ ครม. เห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)

ประมวลแล้วเท่ากับเยียวยาศพละ 7.5 ล้านบาท

เป็นการเยียวยาในลักษณะปรองดองสมานฉันท์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงก็ตาม

เหมือนกับจะเป็นการรุกทางการเมือง


กระนั้น ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การปรากฏขึ้นของกลุ่มผู้คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี โดยการปิดถนนวิภาวดีรังสิตขาออก หน้ากระทรวงพลังงานและเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ตอนเช้าของวันที่ 9 มกราคม

วันเดียวกัน บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินนอก แขวงและเขตดุสิต กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่นำรถประมาณ 300 คัน จอดรวมตัวกันปิดถนนประท้วง

ทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร วันที่ 9 มกราคม

พอถึงวันที่ 10 มกราคม ที่จังหวัดสงขลา กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 500 คน พร้อมรถบรรทุกน้ำยางกว่า 300 คัน รวมตัวที่บริเวณสี่แยกบ้านคูหา อ.รัตภูมิ ปิดถนนสายเอเชียขาเข้ากรุงเทพฯ 1 ช่องทาง

เป้าหมายคือ เรียกร้องต่อรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของผู้คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีบริเวณถนนวิภาวดี ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของแท็กซี่ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของชาวสวนยางที่บริเวณสี่แยกบ้านคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

ล้วนเป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ ล้วนพุ่งปลายหอกไปในเรื่องน้ำมัน ล้วนพุ่งปลายหอกไปในเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตร

เป็นการรุกเข้าใส่รัฐบาล เป็นการรุกเข้าใส่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี



ทั้งหมดนี้ อาจเป็นเรื่องธรรมดาปรกติยิ่งในทางการเมือง ทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องธรรมดาปรกติยิ่งในทางเศรษฐกิจ

แต่ก็เหมือนกับเป็น "สัญญาณ"

สัญญาณเตือนว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้เป็นฝ่ายรุกเพื่อสร้างผลงานทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างด้านเดียว

ตรงกันข้าม ภายในความพยายามนั้นก็มี "ปัญหา" เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ปัญหาอันมาจากภาคใต้โดยเฉพาะจากชาวสวนยางพาราย่อมมีความละเอียดอ่อนอย่างเป็นพิเศษ

เป็นเงาสะท้อนว่าเป็นการเคลื่อนไหวของพลังทางการเมืองฝ่ายใด



++

ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 8


"สัญญาณการเมือง" หลังรับศักราชใหม่ 2555 "ปีมะโรง" กลิ่นโชยลม "ผิดปกติ" ยังไงชอบกล ผสมผสาน ระเบิดออกมาด้วยความต่อเนื่องมากมายหลายปมเงื่อน

เริ่มตั้งแต่จู่ๆ "ม็อบคูปอง" ออกมาเคลื่อนไหวนำร่อง ด้วยการประท้วงปิดถนนพระราม 2 ทั้งขาเข้า-ขาออกย่านมหาชัย อ้างว่าได้รับคูปองน้ำท่วม 2,000 บาท แต่เมื่อนำไปซื้อของกลับถูกปฏิเสธจากร้านค้า บางแห่งปิดหนี เวลาใกล้เคียงกับ "ม็อบคูปอง" กระทำการชุมนุมประท้วงปิดถนนสายเอเชียของม็อบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี

"ม็อบคูปอง" จุดไฟเข้าตา ตีปัญหาเข้าเป้า น่าจะระบาด กลายเป็นแฟชั่นต่อไปอีกหลายพื้นที่และหลายจังหวัด เพราะได้รับความเดือนร้อนจากผลพวงอุทกภัยที่ผ่านมาหมาดๆ

หลัง "ม็อบคูปอง" ขับเคลื่อนเปิดเกมเรียบร้อยแล้ว ในเพลาถัดมาติดๆ มีม็อบเยี่ยงอย่างลอกเลียนแบบผุดขึ้นมาชุมนุมประท้วงและปิดถนนติดๆ กัน อาทิ "ม็อบสวนยาง" ที่มาในนามของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ นัดชุมนุมใหญ่พร้อมกับนำรถบรรทุกมาปิดถนน เรียกร้องให้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่สี่แยกคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

เนื่องจากราคายางในปัจจุบันเหลือกิโลกรัมละ 80 บาท จากเดิม 150 บาท แม้ว่า "นายธีระ วงศ์สมุทร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ เดินทางไปเจรจากับแกนนำม็อบสวนยาง รับเงื่อนไขจนเป็นที่พอใจ และสลายการชุมนุมไปเรียบร้อยแล้ว แต่มิได้หมายความว่า ม็อบสวนยางจะยุติการเคลื่อนไหวเรียกร้องราคายางพาราลงด้วยความถาวร

"สัญญาณ" ที่บ่งชี้ว่า "ผิดปกติ" มากที่สุด คือการออกมาปิดถนนวิภาวดีรังสิตทั้งขาเข้า-ขาออก ของบรรดารถบรรทุกสิบล้อ รถสองแถว และรถแท็กซี่ที่หน้ากระทรวงพลังงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม

เพื่อกดดันให้รัฐบาลหรือกระทรวงพลังงาน ทบทวนมาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม-1ธันวาคม 2555 รวม 6 บาท

จะส่งผลให้เกิดการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีรื่นไหลไปถึง 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาปัจจุบันเพียง 8.50 บาทเท่านั้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมปิดถนนวิภาวดีรังสิตของบรรดากลุ่มรถสิบล้อและแท็กซี่ จนทำให้การจราจรอัมพาตไปทั้งเมืองนั้น กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกและเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมเดียวกับ "คนเสื้อแดง"

และเป็นที่ทราบกันว่า ก่อนการเคลื่อนพลออกมาชุมนุมปิดถนนวิภาวดีรังสิต มีการประชุมกันเป็นการวงใน ระหว่างแกนนำกับผู้บริหารที่รับผิดชอบก่อนแล้วถึง 2-3 ครั้ง และได้ข้อยุติว่าจะไม่ทำการเคลื่อนไหวด้วยการประท้วงปิดถนน มีแต่ให้มีการตั้ง "คณะกรรมการร่วม" ขึ้นมารับผิดชอบด้วยกันเท่านั้น

ที่พิรุธและผิดสังเกต พลันการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มแท็กซี่และสิบล้อสลายตัวเพราะตกลงกันในเงื่อนไขได้ระดับหนึ่ง ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีของคนกันเองเกิดขึ้น โดย "นายเทพนม นามลี" ประธานชมรมเพื่อนทางหลวงและแกนนำ นปช.สุรินทร์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับ "นายยู เจียรยืนยงพงศ์" ประธานสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กับพวกอีกรวม 15 คน

จังหวะปะเหมาะระหว่างที่ม็อบคูปองก็ดี ม็อบเอ็นจีวีก็ดี ออกมารับลูกเคลื่อนไหวด้วยวิธีการเดียวกันคือ ปิดถนน "ธงตัวบุคคล" จงใจจะมุ่งกระแทกกลาง "พิชัย นริพทะพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนเดียวโดด

เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะมี "ใครบางคน" อยู่เบื้องหลังการทำ หวังหยิบกรณีม็อบคูปองกับม็อบเอ็นจีวีมาทิ้งบอบม์ "นายพิชัย" เพื่อให้กระเด็นออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน



เนื่องเพราะข่าวม็อบขับเคลื่อนอย่างมีจังหวะจะโคนนี้ เป็นช่วงเดียวกับที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ส่งซิกไปยังแกนนำพรรคเพื่อไทยและบรรดาพรรคร่วมเรียบร้อยแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ถึงเวลาแล้วในการปรับ "ครม.ปู 2" จะขอลงมือ "ปรับเล็ก" หลังประชุม ครม.สัญจร นัดแรกที่เชียงใหม่แล้วเสร็จ เท่ากับว่า "ปู 2" คลอดแน่ในสัปดาห์หน้า

มีการขึ้นป้ายรัฐมนตรีที่ถูกปรับออกแน่นอนแล้ว ถูกขึ้นบัญชีดำไว้ 6-7 คน และส่วนใหญ่ปรับในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยเป็นตัวหลัก มีระนาบว่าการติดร่างแหถูกเขี่ยทิ้ง 2 ราย

คนแรกหวยน่าจะออกที่ "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่การบริหารงานขัดแย้งปีนเกลียวกับ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีมาตลอด ถือเป็นเกาเหลาคู่ใหญ่

"ยิ่งลักษณ์" เลือกใช้บริการ "กิตติรัตน์" โดยให้ ควบตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้คนนอกที่มีความรอบรู้เรื่องส่งออก คือ "ยรรยง พวงราช" ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน และจะเกษียณในเดือนกันยายน ขึ้นลิฟต์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สืบแทน

สำนักนายกรัฐมนตรี การันตีชื่อ "นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" บัญชีรายชื่อเพื่อไทย มานั่งกำกับดูแลสื่อของรัฐ

ขณะที่ "พรรคร่วม" โควตายังคงเดิม แต่ "ชาติพัฒนาฯ" ของ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ขอเปลี่ยนตัวผู้ที่จะมานั่งว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจาก "หมอวรรณรัตน์ ชาญนุกูล" สุขภาพไม่สู้ดี หลังทำงานมาหนัก



+++

เช็กกระแส "กรมปทุมวัน" ลือหึ่ง "บิ๊กอ๊อบ" ทิ้งเก้าอี้ ส่งไม้ "บิ๊กอ๊อด" ขึ้นแท่น
โดย โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 99


ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการแต่งตั้งโยกย้าย "ล็อตล้างบาง" สลับหัวขบวนกลับขั้วอำนาจในตำแหน่งระดับ "แม่ทัพ" ตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จนถึงผู้บังคับการ (ผบก.)

แต่กระนั้นก็ยังไม่ครบสมบูรณ์ตามกระบวนการ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 234 นายพลตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ระหว่างนี้เหล่าบิ๊กสีกากีทั้ง 234 นาย จึงอยู่ในสถานะรักษาราชการแทนในตำแหน่งไปพลางๆ ก่อน

ด้วยอุบัติเหตุทำให้การแต่งตั้งนายพลตำรวจที่ผ่านมา ต้องมีการแต่งตั้งซ่อมทดแทน พล.ต.ต.ณรงค์ ศิวาพาณิชย์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (รอง ผบช.ภ.7) รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รรท.รอง ผบช.ก.) ที่เสียชีวิตกะทันหัน ทำให้ตำแหน่ง รอง ผบช.ก. ว่าง 1 เก้าอี้ และการแต่งตั้ง ล็อตนายพลเล็กที่เดิมมีทั้งหมด 235 ตำแหน่ง ต้องหักลบอีก 1 ตำแหน่ง ไปโดยปริยาย

เมื่อเก้าอี้ว่างก็ต้องพิจารณาแต่งตั้งทดแทนได้อีก 1 ล็อก หมายถึง แต่งตั้งผู้บังคับการขึ้นเป็น รอง ผบช. ได้อีก 1 เก้าอี้ รอง ผบก. ขึ้น ผบก. ได้อีก 1 เก้าอี้ สูตรนี้ถือเป็นสูตรปกติ แต่หากไม่ปกติ ก็อาจมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียน เขย่าโผเก่าได้อีกหลายรอบ แต่ที่แน่ๆ เหล่า พ.ต.อ.พิเศษ ที่ตกม้าในการแต่งตั้งล็อตล่าสุด พอมีโอกาสได้ลุ้นอีกเฮือก ใครจะเข้าวินต้องจับตา

ดังนั้น ภาวะนี้จึงมีฝุ่นตลบให้เห็นรำไร ที่อบอวลในแดนไกลและที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)



ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่า ยังมีตำแหน่งค้างคา เก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) ที่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบช.ก. ตีตราจองไว้ ด้วย มติ ก.ตร. ที่มติให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.1 ในวาระการแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อปี 2553 แต่มีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียน นำมาสู่การติดเบรก ตรวจสอบความชอบธรรมในการได้รับสิทธิพิเศษนับอายุราชการทวีคูณ สำหรับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผ่านมาข้ามปีเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ

ทำให้ตำแหน่ง "ผบช.ภ.1" ที่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ แปะป้ายจอง ยังเป็นเก้าอี้เจ้าที่แรง ไม่สามารถแต่งตั้งผู้อื่นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้

ทางออกกรณี เก้าอี้ ผบช.ภ.1 มี 2 ทาง คือ

1.กรณีที่ผลสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงออกมาว่า การได้รับสิทธิทวีคูณของ พล.ต.ต.ศรีวราห์ เป็นไปอย่างถูกต้อง ก็เท่ากับว่า พล.ต.ต.ศรีวราห์ จะได้ดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.1

แต่หากไม่ใช่กรณีนี้เป็นกรณีที่ 2.สมมุติว่าผลสืบสวนสอบสวนออกมาว่าสิทธิที่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ ได้รับในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นไปโดยมิชอบ ก็เท่ากับว่า ก.ตร. ต้องถอนมติแต่งตั้งครั้งนั้น และมีสิทธิเปิดเก้าอี้ฟรี คัดเลือกผู้อื่นมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในวงการสีกากีว่า หากเก้าอี้ ผบช.ภ.1 ว่างเมื่อไหร่ มีชื่อ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รอง ผบช.ภ.1 ที่ปัจจุบัน รรท.ผบช.ภ.1 รอเสียบอยู่แล้ว

ล่าสุด มีรายงานว่า คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ที่มี พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.) อดีตจเรตำรวจ (สบ 8) สรุปหลังสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 5 ก็ยังคงให้ความเห็นต่อ ผบ.ตร. ตามผลสรุปเดิม คือคณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.ต.ศรีวราห์ ไม่ได้ปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงไม่ควรได้รับสิทธิการนับอายุราชการทวีคูณเพื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยการสอบสวนเพิ่มเติมล่าสุดคณะกรรมการสอบปากคำอดีต ผบช.ก. เพื่อยืนยันวัน เวลาทำงานของ พล.ต.ต.ศรีวราห์ ในห้วงที่อ้างสิทธิทวีคูณ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเรื่องนี้อยู่ในมือ "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. แล้ว ซึ่ง ผบ.ตร. ขอสอบถามย้อนไปยังศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อีกครั้งเพื่อยืนยันว่า พล.ต.ต.ศรีวราห์ ลงไปปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องควรแก่การได้รับสิทธิหรือไม่ ก่อนที่จะชงบทสรุปเข้าสู่ ก.ตร. และมีมติต่อกรณีนี้ต่อไป

โดยบิ๊กอ๊อบ เผยว่า กรณีนี้จะต้องถึงจุดคลี่คลายเสียที

ทั้งนี้ หากการเก็บสแปร์ตำแหน่งระดับนายพลสำเร็จเรียบร้อย วาระต่อไปก็คือ การแต่งตั้งโยกย้ายระดับ รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) จนถึงสารวัตร (สว.) ซึ่ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เผยว่า จะต้องขออนุมัติ ก.ตร. เพื่อขยายเวลาในการแต่งตั้งออกไปอีก 1 เดือน

เพราะตามกำหนดเดิมที่ขอขยายเวลาจนถึงสิ้นเดือนมกราคมไม่น่าจะดำเนินการแต่งตั้งได้ทัน เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าสีกากีที่ได้รับอิทธิพลจากล็อตคำสั่งแต่งตั้งติดขัดออกช้า เมื่อหลายปีก่อนได้รับอานิสงส์ เกณฑ์ครบ มีสิทธิลุ้นคั่วตำแหน่งใหญ่ได้ทันในการแต่งตั้งวาระนี้ด้วย

กระนั้นตราบใดที่การแต่งตั้งทุกระดับยังไม่นิ่ง เหล่าสีกากีก็ยังไม่สงบ ปีใหม่นี้สำนักงาน บ้านพัก คนมีเพาเวอร์ เรียกว่าหัวกระไดไม่แห้ง จำหน่ายกระเช้าของขวัญกันไม่ทันเลยทีเดียว

แม้ตามกฎหมายสีกากี "พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547" เขียนขีดอำนาจการแต่งตั้งระดับล่างให้ ผู้บัญชาการหน่วย ผู้บังคับการหน่วยอย่างชัดแจ้ง แต่เป็นที่รับรู้ และจำต้องรับในหมู่สีกากีว่า อำนาจแต่งตั้งก็ยังส่งตรงมาจาก "หัว" ในสัดส่วนที่มากพอสมควร ทำให้ห้วงนี้ฝุ่นควันในรั้วปทุมวันตลบฟุ้ง

"บิ๊กอ๊อบ" ซึ่งดูเหมือนกำลังจะถูกโดดเดี่ยว ก็ยังพอมีอำนาจ ดึงดูดอยู่บ้าง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ชวนให้จับตามองว่า ทันทีที่การแต่งตั้งล็อตนายพลผ่านพ้นไป ผบ.ตร. คล้ายถูกโดดเดี่ยว ไม่ค่อยได้รับแรงสนับสนุนร่วมมือจากเหล่า รอง ผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร. เท่าที่ควร ว่ากันว่า เพราะสิ้นเดือนกันยายนก็จะเกษียณอายุราชการ บารมีที่เปล่งประกายในห้วง 2-3 เดือนก่อนก็อยู่ในช่วงขาลง นับนิ้วระดับบิ๊กใน ตร. ที่อยู่รายล้อมก็มีไม่กี่คน

อีกอย่างมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ผบ.ตร. คนนี้ไม่ใช่นักเรียนนายร้อยตำรวจ เลือดจึงไม่เข้มข้น และในห้วงที่เป็น รอง ผบ.ตร. ก็เก็บตัวไม่สุงสิง ไม่ร่วมเสวนากับใคร พอมาเป็นใหญ่ หมดฤดูเก็บเกี่ยว จึงถูกโดดเดี่ยวเป็นธรรมดา



ขณะที่เสียงลือ ที่ว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะโบกมือลาเก้าอี้ "พิทักษ์ 1" ก่อนกรอบเวลาราชการในสิ้นเดือนกันยายน ก็ยังไม่ซาไป

ว่ากันว่า ชั่วโมงนี้ไม่น่าเกลียดอะไรหาก "บิ๊กอ๊อบ" สลัดเครื่องแบบจะลุกจากเก้าอี้ "ตำรวจใหญ่" ไปสวมสูทถาวร เป็นรัฐมนตรีใน ครม. ของพรรคเพื่อไทย

เปิดทางเก้าอี้ ผบ.ตร. ว่างให้ "บิ๊กอ๊อด" พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ได้ลองนั่งดูบ้างก่อนเกษียณ เป็นการต่างตอบแทนแบบวิน วิน ไม่มีใครเสียอะไร มีแต่ได้ก่อนได้หลัง

เหล่านี้เป็นความเคลื่อนไหวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รับปีมะโรง ซึ่งต้องจับตามองกันต่อไป!!



.