http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-13

เกษียร: "มองหลากมุม ม.112: เดวิด สเตร็คฟัส", "แด่จิตรกรนักฝัน"

.
โพสต์ ประชาสัมพันธ์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112)
www.ccaa112.org วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555 เวลา 13.00 – 17.30 น.
ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รายละเอียด ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/01/bt112tul.html

*สามารถอ่านและดาวน์โหลดข้อเสนอและเหตุผลประกอบโดยละเอียดของคณะนิติราษฎร์ได้ที่ www.enlightened-jurists.com/blog/56
* คณะนักเขียนแสงสำนึก www.ccaa112.org/Open-Letter.html
(*หมายเหตุ: ผู้ประสงค์จะลงนามในวันแถลงข่าว กรุณานำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านติดตัวมาด้วย หากประสงค์จะลงนามแต่ไม่สะดวกร่วมงานแถลงข่าว เบื้องต้น สามารถติดต่อสอบถามมาได้ที่เฟซบุค sangsumnuek หรือ thaiwriteranti112@rocketmail.com และเว็บไซต์ ครก.112 WWW.CCAA112.ORG)

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เกษียร เตชะพีระ - "มองหลากมุม ม.112 : เดวิด สเตร็คฟัส"
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.

นอกจากหมอตุลย์แล้ว (ดูคำสัมภาษณ์ในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ก่อน) ดร.เดวิด สเตร็คฟัส เป็นอีกคนหนึ่งที่ Arnaud Dubus ผู้สื่อข่าวชาวฝรั่งเศสสัมภาษณ์ความเห็นประกบคู่กันเกี่ยวกับ ความแตกต่างขัดแย้งเรื่องการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงในบล็อก Axis Asia ของเขา (http:// arnodubus.blogspot.com/2011/12/david-streckfuss-there-is-broad.html) เมื่อ 28 ธ.ค.ศกก่อน เพื่อผู้อ่านผู้ฟังในฝรั่งเศสได้เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหานี้ในเมืองไทย
เดวิดจบปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา โดยมีศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เป็นที่ปรึกษา ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระในประเทศไทย
หนังสือซึ่งเขาแต่งขยายต่อเติมจากกรอบโครงแรกเริ่มในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นปีก่อนชื่อ Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste (เอาความจริงขึ้นศาลในเมืองไทย: การหมิ่นประมาท, กบฏ, และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ได้รับคำกล่าวขวัญถึงในแวดวงวิชาการไทยศึกษาว่าเป็น "หนังสือเล่มหนาที่กล้าหาญและสำคัญ..... ประวัติกฎหมายอันปราดเปรื่องและข้อวินิจฉัยความคับข้องขุ่นเคืองปัจจุบันอย่างกว้างขวาง" (คริส เบเกอร์ www.bangkokpost.com/learning/books/ 205282/defamation-vs-democracy)

ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่าเขาเป็น "นักวิจัยและนักคิดชั้นนำคนหนึ่งเกี่ยวกับรูปลักษณ์, ประวัติศาสตร์และผลกระทบของการจัดระเบียบความจริงของประเทศไทย" (http://asiancorrespondent.com/55654/ david-streckfuss-there-is-a-new-political-consciousness-emerging-exclusive-interview/)

ผมขอแปลเรียบเรียงเนื้อหาสาระของบทสัมภาษณ์คุณเดวิดบางส่วนมานำเสนอต่อ เพื่อประโยชน์แก่การถกเถียงแลกเปลี่ยนหาทางออกเรื่องนี้อย่างสันติและเสรีในสังคมไทยต่อไป: -

ถาม : เราน่าจะคาดหวังได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะจัดการปัญหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยไม้นวมกว่าเก่า แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้นนะครับ
เดวิด : ผมไม่แน่ใจว่าเราจะพูดตอนนี้ได้ว่ารัฐบาลปัจจุบันใช้กฎหมายแข็งกร้าวกว่าเดิม เพราะมีสถิติปีนี้ (พ.ศ.2554) ที่แสดงว่าจำนวนคดีลดลงเมื่อเทียบกับ ปีก่อน (พ.ศ.2553) แต่สถิติดังกล่าวก็ไม่ได้แจกแจงตัวเลขออกมาเป็นรายเดือน (รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 - ผู้แปล)
ดูทีแล้วสุดท้ายคงมีคดีที่ส่งฟ้องศาลชั้นต้นรวมราวหนึ่งในสามของคดีเมื่อปี พ.ศ.2553 ดังนั้นจึงออกจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพรรคเพื่อไทยใช้กฎหมายนี้ทำอะไรบ้างจนกว่าเราจะเห็นรายละเอียดมากกว่านี้
แต่มองพื้นผิวแล้ว ก็ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยเลือกจะปลีกตัวออกห่างกลุ่มเสื้อแดงที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันหรือต่อตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้น เพื่อที่คนพรรคเพื่อไทยเอง จะได้ไม่ถูกหาว่าไม่ป้องกันสถาบันมากพอ...

ถาม : เราพูดได้ไหมครับว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องพระราชวงศ์เท่านั้น หากถูกใช้เป็นเครื่องมือปกป้องระบบอำนาจด้วย?
เดวิด : ถึงตอนนี้ก็มีเหตุผลพอจะพูดได้ว่ากฎหมายมาตรานั้นเองได้กลายเป็นตัวนิยามสถาบันไปเสียแล้ว ซึ่งหมายความว่าถ้าเป็นแค่กฎหมายเพื่อปกป้องบุคคลสำคัญบางคน เราก็จะได้สภาพการณ์แบบหนึ่ง แต่ตอนนี้มีความเข้าใจกันทั่วไปว่ากฎหมายนี้มีไว้เพื่อปกป้องสถาบัน และก็มีไว้เพื่อปกป้องระบบอำนาจอะไรก็ตามที่ก่อตัวขึ้นรอบสถาบันด้วย ดังนั้น มันจึงกำลังทำอะไรเลยเถิดกว่าสิ่งที่กฎหมายหมิ่นประมาทปกติธรรมดาจะทำไปมาก

ถาม : หมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ สมาชิกเครือข่ายสยามสามัคคี ใช้ข้อถกเถียงเรื่องแผนการร้ายมาคัดค้านบรรดาผู้ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นวิธีการลดความน่าเชื่อถือของข้อถกเถียงให้ปฏิรูปด้วยเหตุผลหรือเปล่า?
เดวิด : ความคิดที่ว่ามีแผนการร้ายบางอย่างอยู่ข้างนอกนั่นมันบั่นทอนความชอบธรรมและตีขลุมคำเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายใดๆ ไปในทางลบ ผมเดาว่าพูดให้ถึงที่สุดแล้วกลุ่มเสื้อเหลือง หรือเสื้อหลากสีหรือสยามสามัคคีคงหวาดวิตกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไปแตะต้องกฎหมายนี้เข้า
ผมคิดว่าพวกเขารู้สึกว่าวิธีเดียวที่จะธำรงรักษาสถาบันไว้ได้คือต้องมีกฎหมายอุกฉกรรจ์คอยกำราบ เพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันจะได้รับความเคารพในแบบที่แน่นอนหนึ่ง
แต่ผมก็คิดว่าสาธารณชนตื่นตัว เกี่ยวกับปัญหานี้มากขึ้นเรื่อยๆ และความตื่นตัวนี้กำลังนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดังกล่าว และภัยคุกคามต่อคุณค่าประชาธิปไตยและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงออกด้วยเป็นอย่างน้อย
นั่นแสดงว่าเมื่อไปถึงจุดหนึ่งแล้ว การคิดผูกโยงระหว่างคนที่วิตกห่วงใยเกี่ยวกับผลของกฎหมายอันแข็งกร้าวที่มีต่อสถานะของประชาธิปไตยในเมืองไทย กับท่าทีใดๆ ก็ตามที่พวกเขาอาจมีต่อสถาบันนั้น จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ทว่าก่อนจะไปถึงจุดที่เลิกผูกโยง สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน ก็คงจะมีการกล่าวหาตามทฤษฎีสมคบคิดวางแผนร้ายอีกเยอะแยะมากมาย
แต่ท้ายที่สุดแล้ว การที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะคลี่คลายไปสู่ความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสาธารณชนมากขึ้นนั้นย่อมเป็นลักษณะปกติธรรมดาอย่างหนึ่งของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ว่าแห่งหนตำบลอื่นใดในโลก และเมื่อดูกันตามตัวบทกฎหมายแล้ว มันยังไม่ค่อยชัดว่าจะต้องถือว่าขัดกฎหมายไหมถ้าเผื่อคุณเป็นคนไทยและมีความคิดทางการเมืองไปในแนวอื่น.....

หรือเกิดคุณบอกว่า "ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับสถาบัน ผมก็แค่ทำมาหากินของผมไปเฉยๆ" อันนั้นเป็นประสบการณ์ร่วมธรรมดาสามัญของสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรรดาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในยุโรป จะมีคนในประเทศยุโรปเหล่านั้นราว 10 ถึง 20% เสมอที่คัดค้านสถาบันกษัตริย์ โดยตัวเลขจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนั้น

ดังนั้น ยกตัวอย่างสมมุติว่าวันหนึ่งสวีเดนเกิดจัดหยั่งเสียงและประชาชน 75% ตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการรักษาสถาบันไว้ สถาบันก็จะคงอยู่ในสวีเดนหรือที่อื่นๆ ในยุโรปต่อไป แต่ถ้าเกิดเสียงประชาชนเปลี่ยน สถาบันในสวีเดนหรือยุโรปที่ว่าก็อาจมีอันเป็นไป แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันจะต้องดำเนินไปตามวิถีทางประชาธิปไตย และนั่นแหละคือประเด็นหลักสำคัญ
แต่แน่ล่ะครับว่าในเมืองไทย แนวคิดแบบสาธารณรัฐถูกคิดเห็นว่าขัดกฎหมายและเป็นอย่างนี้มานมนานกาเลแล้ว

ถาม : มีข้อถกเถียงทำนองว่าประเทศไทยมีเอกลักษณ์ เป็นกรณียกเว้น และนี่ให้ความชอบธรรมแก่ความเห็นว่าไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับสถาบันใช่ไหมครับ?
เดวิด : ใช่ครับ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีเอกลักษณ์อย่างยิ่งในความหมายที่ว่าสถาบันได้รับการปกป้องจากกฎหมายที่มีโทษสูงสำหรับยุคสมัยใหม่และสำหรับความมุ่งมาดปรารถนา ของเมืองไทยที่จะเป็นประชาธิปไตย... แต่ถ้าพูดกันในความหมายว่าเมืองไทยมีระบบคิดบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมแบบที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งทำให้คนไทยเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้แล้วละก็ ผมคิดว่านั่นเป็นวิธีการโดดเดี่ยวเมืองไทยในความหมายที่คนจำนวนมากคงไม่อยากจะทำ เมืองไทยมุ่งมาดปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมรัฐชาติสมัยใหม่ เหมือนสหรัฐอเมริกานั่นแหละ แต่สหรัฐไม่ค่อยฟังใครและบางทีก็มองตัวเองในกรอบความเชื่อว่าตนมีลักษณะพิเศษเป็นกรณียกเว้นเหมือนกัน
แต่กระนั้นในบางระดับ สหรัฐเองก็ยอมรับว่ามันมีกฎระเบียบ บางอย่างต้องปฏิบัติตามอยู่ถ้าคุณอยากถูกเรียกขานว่าเป็นประชาธิปไตย.....
และผมคิดว่ามีคนเป็นจำนวนมากพอที่อยากให้เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยและมีสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมกันไปด้วย

และยินดีที่จะเห็นเมืองไทยเปิดรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาของตน ในแง่นี้ พวกเขาไม่ต้องการให้เมืองไทยเป็นกรณียกเว้นในความหมายนั้นนะครับ

ถาม : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูด เมื่อไม่กี่วันก่อนว่าคนที่อยากให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ควรออกไปอยู่ต่างประเทศเสีย ในทำนองว่าถ้าคุณไม่รักในหลวง คุณก็ไม่ใช่คนไทย ในสายตาของคุณ การเชื่อมโยงความรักสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ากับความเป็นคนไทยสะท้อนมุมมองเบื้องหลังอะไร?
เดวิด : อันนี้เป็นลักษณะธรรมดาสามัญที่สุดอย่างหนึ่งของข้อหา มันเป็นอย่างนี้มานมนานกาเลแล้วและมักเป็นส่วนหนึ่งของการกล่าวหากันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูไม่เหมาะไม่ควรเลยที่จะตั้งป้อมแบ่งข้างแยกขั้วแบบนี้ขึ้นมา มีสิ่งต่างๆ เยอะแยะมากมายในข่าวสารบ้านเมืองทุกวันนี้ที่กำลังช่วยขับเคลื่อนเราให้พ้นการแบ่งแยกดังกล่าวและช่วยเมืองไทยให้สามารถเคารพและอดกลั้นต่อความแตกต่างกัน รวมทั้งสร้างการสานเสวนาข้ามผ่านมันไป ผมเกรงว่าคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เป็นตัวช่วยทำนองนี้

เมืองไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมดั้งเดิมสู่สังคมที่ผู้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น เชื้อมูลอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านนี้ได้แก่ข้อโต้แย้งถกเถียงเกี่ยวกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ น่าคิดว่าทำไมจึงรวมศูนย์สนใจเรื่องนี้กันนักแทนที่จะเป็นเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์.....?
วิธีที่ความเป็นไทยถูกสร้างขึ้นในรอบศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระยะ 50 ปีหลังนี้ เกี่ยวพันกับบทบาทบางแง่มุมที่สถาบันมีในชีวิตของประชาชน และผมคิดว่าบรรดาผู้ที่คัดค้าน การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยประการใดๆ ก็ตามอาจมีความกลัวอยู่
คือ กลัวว่าถ้าเปลี่ยนแล้ว จะเหลืออะไรอยู่บ้าง

หากปัจจัยดังกล่าวขาดหายไป เมืองไทยจะสามารถสามัคคีกันเป็นปึกแผ่นล้อมรอบหลักการบางอย่าง อาทิ การเคารพรัฐธรรมนูญหรือหลักนิติธรรมหรือคุณค่าแบบประชาธิปไตยได้ละหรือ
ผมเดาว่าบรรดาผู้คัดค้านการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นนึกไม่ออกว่าจะคิดความเป็นไทยออกมาอย่างไรถึงจะดูพอประคับประคองทั้งหมดเอาไว้ด้วยกันได้ พวกเขาคาดว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้น

ผมคิดว่าเพื่อเข้าแก้ไขปัญหานี้ ทุกคนจะต้องย่างเท้าก้าวใหญ่เลยทีเดียว และถือเป็นโชคดีที่ในสองสามสัปดาห์หลังนี้ ปรากฏฉันทามติค่อนข้างกว้างขวางชัดเจนในสังคมไทยว่ากฎหมายหมิ่นเปิดช่องให้ถูกบิดเบือนฉวยใช้ไปในทางมิชอบได้ง่าย การพิจารณาจัดการเรื่องนี้ในฐานะปัญหาด้านสิทธิจะช่วยความพยายามแก้ไขมันได้มาก
หลังจากนั้นแล้วใครจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น? แน่ล่ะว่านั่นเป็นคำถามใหญ่ทีเดียว ถ้าเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ผมคิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนย้ายในสังคมไทยที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้แม่นยำ
โดยเฉพาะเมื่อผู้คนพากันวิตกห่วงใยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ผมจึงคิดว่ามันเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทำให้คนหวั่นไหวกันมาก



++

"แด่จิตรกรนักฝัน"โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13:02:06 น.


รอบปีที่ผ่านมา บรรดาจิตรกรนักฝันบ้านเราประสบอุปสรรคความยากลำบากหนักพอควร ถูกหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบ้างล่ะ ("เป็นคนไทยหรือเปล่า?") แสดงความอาฆาตมาดร้ายบ้างล่ะ ("ไปอยู่ต่างประเทศซะ") ราวกับว่าพวกเขาไม่ใช่พลเมืองไทยผู้ทรงสิทธิ์เป็นเจ้าของแผ่นดินโดยชอบ และเสมอภาคเท่าเทียมกับคนไทยทุกคนด้วยคนหนึ่ง หากเป็นแค่ไพร่ข้าที่มาอาศัยนายอยู่

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ผมจึงขอฝากกลอนเป็นกำลังใจถึงจิตรกรนักฝันทุกท่าน ขอจงยืนหยัด ดำรงชีพอยู่ในสัจจะและอหิงสาธรรมต่อไป เพราะชัยชนะไม่ได้อยู่ที่ปลายทางแห่งใด หากอยู่ตรงทุกขณะจิตที่ท่านตั้งตนคงมั่นอยู่ในความดี ความงามและความจริง เบื้องหน้าอสัตย์อธรรมทั้งมวล


" ความเป็นจริงโลกนี้เป็นสีเทา เป็นสีเก่าแก่ที่มีมานาน
จิตรกรก่อนเราก็หลายรุ่น มุ่งวาดโลกสีละมุนละไมหวาน
ขึงผ้าใบห่มจินตนาการ ผสมสีใส่จานจุ่มพู่กัน
บรรจงวาดโลกที่ไม่มีโลก ไม่มีความโสโครกเขย่าขวัญ

ไม่มีคนอดอยากลำบากครัน ไม่มีการฆ่าฟันทำสงคราม
ไม่มีการกดขี่เหยียบยีย่ำ ไม่มีน้ำตาทุกข์ที่ท่วมหลาม
ไม่มีอำนาจใดให้ยอมตาม ไม่มีความมั่งคั่งบนหลังคน
ไม่มีคำตอบหนึ่งซึ่งต้องถูก ไม่มีศาสดาผูกขาดเหตุผล

ไม่มีการสอบเอ็นท์ตามเกณฑ์ตน ไม่มีความอับจนทางปัญญา
และไม่มีไม่มีล้วนไม่มี อะไรที่เคยมีไม่เข้าท่า
แต่มั่งมีมากมายล้วนมีมา อะไรที่ฝันว่าอยากให้มี
ความเป็นจริงหยิ่งผยองครองโลกอยู่ ชี้นิ้วกราดตวาดขู่เจ้าของสี

ไอ้ความฝันจัญไรไม่เข้าที เหยียบขยี้ยีย่ำคว่ำผ้าใบ
หักพู่กันเขวี้ยงจานจนแหลกยับ เข้ารวบจับจิตรกรผู้อ่อนไหว
ขึงด้วยตรวนแส้ฟาดเจียนขาดใจ หยิบสีเทายื่นให้เจ้าจงทา
ทาที่หน้าทาตัวให้โชกชุ่ม ทาแผ่นดินให้เทาคลุมทั้งผืนหล้า

ทาความฝันดวงจินต์และวิญญา ทาจนกว่าเจ้าจะเห็นเป็นสีเทา
ทาจนหมดยิ้มละไมที่ในโลก จนเหลือแต่ความโศกที่ซึมเศร้า
จนลืมสิ้นสีอื่นใดไม่เหลือเงา จนกว่าเจ้าเห็นสีเทาเป็นธรรมดา
ในความจริงสีเทาอันเศร้าหมอง น้ำตาจิตรกรนองทั้งใบหน้า

สีเทาหยดเข้าปากสากลิ้นคา จิตรกรกัดชิวหาฆ่าตัวตาย
เขายอมตายกับความฝันอันผุดผ่อง ดีกว่าอยู่ในโลกหมองหมดความหมาย
สำหรับเขาเขาไม่ได้วอดวาย ซากสีเทาทั้งหลายไร้ชีวิต
ลมหายใจเทาเทาเปล่าคุณค่า ตายดีกว่าความฝันตายสนิท

นิทานนี้มีสาระน่าคิด ฝากมิ่งมิตรทั้งผองไตร่ตรองดู "



.