http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-25

วิกฤติอารยธรรมอุตสาหกรรม โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติอารยธรรมอุตสาหกรรม
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 39


โลกสมัยใหม่อยู่ในยุคอุตสาหกรรมตอนปลาย นั่นคือ ก้าวจากอุตสาหกรรมโรงงานในศตวรรษที่ 19 สู่อุตสาหกรรมข่าวสาร อุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมบริการอื่น

อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้เชื่อมโยงทั้งโลกเข้าด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ได้พบว่าอารยธรรมอุตสาหกรรมนี้กำลังประสบวิกฤติรุนแรง จนเกรงว่าจะไม่สามารถทนทานต่อวิกฤติได้

เราควรทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรม อารยธรรมอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และอุตสาหกรรมได้ก่อวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมและแก่ตนเองอย่างไร


ความเป็นมนุษย์กับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป็นสิ่งเก่าแก่มาก ดำรงควบคู่ไปกับวิวัฒนาการของมนุษย์เมื่อราว 2.5 ล้านปีมาแล้ว นักบรรพชีวินวิทยา (Paleontologist) เรียกชื่อสายพันธุ์มนุษย์รุ่นแรกๆ ว่า โฮโม แฮบิลิส (Homo Habilis) แปลว่า มนุษย์ช่าง เนื่องจากมีความสามารถในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างโดดเด่น โดยมีหลักฐานจำนวนมาก ได้แก่ เครื่องมือหิน แต่คาดว่ามนุษย์ช่างนี้น่าจะใช้วัสดุอื่นที่คงทนน้อยกว่าสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ด้วย เช่น ไม้ เปลือกไม้ ใบหญ้า หนัง เปลือกไข่ กระดองเต่า น้ำเต้า แต่หลักฐานเหล่านี้สูญหายไป

โฮโม แฮบิลิส นี้มีชีวิตเมื่อราว 2.3 ล้านปี และสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 1.4 ล้านปี มานี้ (ตัวเลขนี้เป็นโดยประมาณ กล่าวต่างกันไปบ้างตามแต่ละแหล่ง) มีขนาดสมองใหญ่ราว 450 ซีซี (สมองมนุษย์ปัจจุบันราว 1,350-1,400 ซีซี)

เมื่อราว 1.9-1.5 พันล้านปีมาแล้ว โฮโม แฮบิลิส ได้เข้าจับจองบริเวณช่องเขาโอลดูไว (Olduvai Gorge) ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศแทนซาเนีย เป็นแหล่งหินภูเขาไฟที่ใช้เป็นวัสดุในการสร้างเครื่องมือที่มีคุณภาพดี ช่องเขาโอลดูไวนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานและพัฒนาเครื่องมือหินของเผ่ามนุษย์มาหลายแสนปี จึงมีผู้ขนานนามว่าเป็น "อู่แห่งมนุษยชาติ"

โฮโม แฮบิลิส นี้ได้สร้างอุตสาหกรรมโอลโดวัน (Oldowan Industry) บางทีเรียกกลุ่มอุตสาหกรรมโอลโดวัน (Oldowan Industrial Complex) เนื่องจากมีการผลิตขนาดใหญ่และเกี่ยวเนื่องกัน

พบว่ามีการขนส่งหินควอร์ตไซต์ (Quartzite) เพื่อทำเครื่องมือไปทั่วบริเวณ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ในบริเวณนั้น

อุตสาหกรรมโอลโดวันนี้ต่อมา สายพันธุ์โฮโม อิเรกตัส (Homo Erectus) ที่มีชีวิตระหว่าราว 1.8 ล้านปี ถึง 150,000 ปี ได้พัฒนาให้ละเอียดซับซ้อนขึ้นเป็น อุตสาหกรรมเอเกอเลียน (Acheulean Industry) จุดเด่นอยู่ที่ขวานมือที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องมือเดิม และมีดหิน 2 คม

มนุษย์ยืนตรงซึ่งอาจเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์ มีขนาดสมองราว 900 ซีซี หรือราว 2 ใน 3 ของสมองมนุษย์ปัจจุบัน ตัวอย่างมนุษย์ยืนตรงที่มีชื่อเสียงเช่น มนุษย์ปักกิ่ง

กลุ่มอุตสาหกรรมในสมัยหินนี้ ได้พัฒนาจนปัจจุบันได้แปรโฉมเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร (Military-industrial Complex) ที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐ


วิวัฒนาการร่วมทางชีวะ-เทคโนโลยีของมนุษย์

สายพันธุ์มนุษย์นี้มีพฤติกรรมทั้งในด้านการสร้างและการใช้เครื่องมือ ก่อรูปเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนและมั่นคงในตัวมนุษย์ เกิดการพัฒนาของสมองสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพฤติกรรมการสร้างและการใช้เครื่องมือ

วิวัฒนาการของสมองที่ใหญ่ขึ้นนี้ อาจเกิดจากเหตุปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) เกิดจากการอยู่รวมกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสะดวกในการล่าและป้องกันตนเอง ดังนั้น จึงต้องการสมองที่ใหญ่ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทางด้านสังคมในการติดต่อสัมพันธ์กัน

2) การใช้เครื่องมือ การกินเนื้อและไขกระดูกที่มีสารอาหารและพลังงานสูง ทำให้ลดขนาดของกระเพาะลำไส้ลง นำพลังงานที่เหลือนั้นไปใช้กับสมอง

3) การอุบัติขึ้นของภาษาเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากความจำเป็นในการต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมทางสังคมที่ซับซ้อน

อนึ่ง วิวัฒนาการของสมองมนุษย์ ไม่ได้เพิ่มแต่ขนาดหรือปริมาณอย่างเดียว พบว่ามนุษย์ใหม่ก็ไม่ได้มีโครงสร้างสมองต่างกับมนุษย์โบราณ ยังคงใช้สมองแบบเดิม แต่ปรับเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกันใหม่เกิดการรับรู้ การเรียนรู้และภาษาแบบมนุษย์ขึ้น เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้สายพันธุ์มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายได้ดีกว่าสัตว์ทั้งหลาย
(ดูคำบรรยายนิทรรศการชื่อ From the Big Bang to the World Wide Web ใน stoneageinstitute.org, 2011)



อารยธรรมอุตสาหกรรมและแบบรูปของวิกฤติเป็นอย่างไร

อารยธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Civilization) มีลักษณะ 2 ด้าน ทั้งที่เป็นจุดอ่อนข้อบกพร่อง และจุดแข็งที่ทำให้เติบโตและยืนยงอยู่ได้

ในด้านจุดอ่อนนั้นมีการชี้ว่า อารยธรรมอุตสาหกรรมนั้นปล้นทุกอย่างไปจากตัวมนุษย์ ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อหากำไร มีลักษณะเด่นดังนี้คือ

(1) การแผ่ของตัวเมืองอย่างรวดเร็ว ในหลายแห่งรายล้อมด้วยหมู่บ้านชานเมืองอันกว้างขวาง หลายแห่งมีเมืองสลัมอันเป็นแหล่งอาชญากรรมใหญ่ มีระบบเมืองที่ซับซ้อนและสิ้นเปลืองในการสร้างและดูแล กล่าวอย่างย่อก็คือเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืน ต้องนำทรัพยากรและความมั่งคั่งจากภายนอกมาหล่อเลี้ยงอย่างไม่จบสิ้นและมากขึ้นทุกที

(2) การผลิตปริมาณมาก ขาดความคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชีวิตของสัตว์อื่น และทำลายธรรมชาติแวดล้อมอย่างไม่ยั้งมือ

(3) เป็นการผลิตมาตรฐานเดียว เพื่อค้าขายทำตลาดหากำไรไปทั่วโลก จากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมเดี่ยวที่มีรูปแบบเหมือนกันไปทั้งโลก ศิลปะทั้งหลายถูกทำให้เป็นเชิงพาณิชย์

(4) สร้างลัทธิผู้บริโภค ที่บริโภคแบบหรูเกินความจำเป็น

(5) ก่อให้เกิดการไล่ล่าอาณานิคมทั่วโลก การวางตัวเป็นใหญ่แบบจักรวรรดิ และสงครามที่มีอาวุธร้ายแรงมีอำนาจทำลายล้างสูงขึ้นทุกที ก่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม

(6) ต้องการการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ในโลกที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด

กล่าวในเชิงบวกหรือจุดแข็ง อารยธรรมอุตสาหกรรมมีด้านที่ผลักดันความก้าวหน้าของมนุษย์ ดังนี้

(1) การสร้างวิธีการและความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ สร้างองค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้ที่ใหญ่ขึ้นทุกที ขจัดความงมงาย ความเข้าใจธรรมชาติที่ผิดไป ทำให้คนเรามีความเข้าใจธรรมชาติ สังคม และตัวมนุษย์เองได้ดีขึ้น

(2) การสร้างของกินของใช้หรือปัจจัย 4 สนองแก่มนุษย์ รวมทั้งการสร้างความมั่งคั่งให้แก่สังคม เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตที่สะดวกสบาย สวยหรู มีสุขภาพดีและอายุยืนยาวขึ้น

(3) สร้างสังคมที่มีการแบ่งงานกันทำที่ซับซ้อน เปิดทางเลือกและช่องทางแห่งโอกาสแก่ผู้คนจำนวนมาก กับทั้งสร้างระบบการศึกษาที่ทั้งถ่ายทอดและพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ที่สร้างนวัตกรรมทางความรู้และเทคโนโลยีอยู่ไม่ได้ขาด

สำหรับรูปแบบของวิกฤตินั้น เป็นทำนองนี้ว่า อารยธรรมอุตสาหกรรมในช่วงเริ่มขึ้นด้านบวกมีสูง จะเจริญเติบโต เมื่อเผชิญปัญหา ก็พยายามปรับตัว เพื่อให้คงทนอยู่รอด ขณะที่ทำเช่นนี้ปรากฏว่า การเสริมพลังด้านบวกได้ผลลดลงไปทุกทีๆ พลังด้านลบจึงได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

จนกระทั่งกลบลบด้านบวก เกิดเป็นวิกฤติ ที่แก้ไขได้ยากโดยลำดับ



อารยธรรมอุตสาหกรรมกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม

ในที่นี้จะกล่าวถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมใหญ่ 3 ประการที่สามารถทำให้อารยธรรมอุตสาหกรรมล่มสลายได้

1) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุทางธรรมชาติหลายประการ เช่น การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ รังสีคอสมิก วงโคจรของโลก การเคลื่อนที่ของทวีปที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และการก่อตัวของเทือกเขาสูง แต่ที่ถกเถียงกันมากในปัจจุบันได้แก่ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่มนุษย์น่าจะมีส่วนสำคัญในการก่อขึ้น

นับแต่ยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 มนุษย์ได้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้ส่งก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญขึ้นสู่บรรยากาศ นั่นคือ คาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณมหาศาล โดยเพิ่มจาก 280 ส่วนในล้านส่วนเป็น 390 ส่วนในปัจจุบัน

ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เปรียบเหมือนผ้าห่มโลก กักไม่ให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์สะท้อนออกสู่อวกาศ ทำให้บรรยากาศและผิวน้ำของโลกอุ่นขึ้น ความเข้าใจทำนองนี้ได้เป็นที่ยอมรับในประชาคมนักวิทยาศาสตร์และสาธารณชนมากขึ้น

แต่ปัญหาก็คือว่า แม้จะมีการประชุมสัมมนาระดับโลกหลายครั้ง จนได้ข้อตกลง เช่น อนุสัญญากรุงเกียวโต (บังคับใช้ปี 2005) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง แต่ก็ดูไม่ได้ผล

มีรายงานว่าในปี 2010 มนุษย์ได้ส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 5.9 จากปี 2009 ที่อัตราการปล่อยก๊าซนี้ลดลงเนื่องจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แคนาดา ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้และผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ ยังถอนตัวจากอนุสัญญาเกียวโตในตอนปลายเดือนธันวาคม 2011 โดยอ้างว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของตน

ดังนั้น สถานการณ์โลกร้อนจึงอยู่ในภาวะตัวใครตัวมัน

2) การทำลายป่าไม้และดิน การทำลายป่าเป็นสาเหตุการล่มสลายของอาณาจักรโบราณหลายแห่ง การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 1850 เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเต็มที่ เริ่มต้นในยุโรป สหรัฐก่อน จากนั้นกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประมาณว่าราวครึ่งหนึ่งของไม้เขตร้อนถูกทำลายไป ถ้าหากไม่จัดการแก้ไขภายในปี 2030 ป่าไม้จะเหลือที่สมบูรณ์เพียงร้อยละ 10 ร้อยละ 10 เสื่อมโทรม และร้อยละ 80 สูญหายไป

การตัดไม้ทำลายป่านั้นเป็นไปเพื่อเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ทำเชื้อเพลิง ใช้ไม้เพื่อเป็นวัสดุ และเพื่อการเพาะปลูก

การทำลายป่าเป็นการทำลายประโยชน์จากป่า 2 ด้านด้วยกัน

ด้านแรกเป็นประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จากป่า ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนับพันล้านคน

อีกด้านหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เช่น การรักษาวงจรคาร์บอน วงจรน้ำ ซึ่งมีผลต่อภาวะโลกร้อน การป้องกันการเสื่อมของดินและการทำให้เป็นทะเลทราย การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

การทำลายป่าและดินจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่ง


วิกฤติมหาสมุทร (Oceanic Crisis)

มหาสมุทรกินเนื้อที่ราวร้อยละ 70 ของพื้นผิวโลก เป็นสิ่งควบคุมอุณหภูมิ ลมฟ้าอากาศของโลก และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของผู้คนจำนวนมาก วิกฤติมหาสมุทรในปัจจุบันกล่าวได้ว่ามีสาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ที่รุนแรงขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม

วิกฤติมหาสมุทรมีที่สำคัญ ได้แก่

1) การจับปลามากเกินไป ซึ่งเริ่มตั้งแต่มีการนำเรือประมงกลไฟมาใช้ตั้งแต่ปี 1906 การเปลี่ยนมาใช้อวนลากสมบูรณ์ในปี 1920 การขยายกองเรือประมง การติดตั้งห้องเย็นในเรือ ไปจนถึงการตั้งโรงงานในเรือประมง

การประมงแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่แพร่ไปทั่วโลกได้ทำให้ปริมาณปลาลดลงอย่างรวดเร็ว ที่แอฟริกา ภายใน 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรปลาในทะเลลดลงราวร้อยละ 50 ชาวประมงรายย่อยหลายพันคนหมดที่ทำกิน

2) วิกฤติอื่น ได้แก่ มลพิษทางทะเล เช่น เกิดจากการขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น การเกิดกรด (Acidification) ภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) เนื่องจากมีปุ๋ยที่พัดพาจากแม่น้ำ จนเกิดสาหร่ายที่ใช้ออกซิเจนไปจนหมด บรรดาปลา กุ้งและสัตว์น้ำอื่นที่หนีไปไม่ทันจะตายหมด

วิกฤติอุตสาหกรรมที่ทำลายโลกอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ จึงเป็นวิกฤติความเป็นความตายเป็นวิกฤติอันดับสูงสุดของมนุษย์ และนี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบแสนปีมานี้



.