http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-06

เหี้ยม? โดย ปราปต์, อมธ. ออกแถลงการณ์กรณี ‘ก้านธูป’ เรียกร้องต่อสื่อมวลชน-มหาวิทยาลัย

.
มีโพสต์บทสัมภาษณ์ - เจาะใจ “ดร.ไชยันต์” เสนอยกเลิก ม.112 กับเหตุผลที่มากกว่า “ความจงรักภักดี ”
____________________________________________________________


' เหี้ยม ' ?

โดย ปราปต์ บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 05 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ปีใหม่ 2555 อาจเริ่มต้นขึ้นอย่างสุขสันต์ ลั้ลลา สำหรับคนไทยหลายคน

แต่คงไม่ใช่ทุกคน

อย่างน้อยก็สำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งผู้ใช้นามแฝงว่า "ก้านธูป "

"ก้านธูป" เคยทำ เคยโพสต์ข้อความอะไรไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต


ควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้พิสูจน์ "ความถูก-ผิด" ของเธอ

ตามประจักษ์พยาน ข้อเท็จจริง และบริบทของสังคม

หลังจากมีผู้แจ้งความเด็กสาวใน "ข้อหาร้ายแรง"

และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกหมายเรียกให้เจ้าตัวเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 เรียบร้อยแล้ว

ที่อยากฝากไว้ให้คิดเกี่ยวกับกรณีนี้ ก็คือ

เมื่อ "ก้านธูป" ต้องเข้าไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในระบบกระบวนการยุติธรรม

บรรดา "ศาลเตี้ย" ตลอดจน "กระบวนการล่าแม่มด" นอกระบบ ที่คอยคุกคามสิทธิเสรีภาพ

เช่น การเปิดโปง "ข้อมูลส่วนตัวที่พึงปกปิด" ของเยาวชนรายนี้ ให้โหมกระพือไปอย่างลุกลามรวดเร็ว ในหมู่ผู้เกลียดชังหรือรับไม่ได้กับทรรศนะของเธอ

ก็ไม่ควรจะบังเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สมควรยิ่งที่จะยุติลงไป

ที่สำคัญคือ สื่อมวลชนเองก็ไม่ควรเข้าไปร่วมวง "ไล่ล่าแม่มด" ด้วยท่าที "โหดเหี้ยม" กับเขาเสียเอง


อีกประเด็นหนึ่งซึ่งคงต้องย้ำเตือนกันก็ได้แก่

ข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการยุติธรรมผ่าน "ตำรวจ-อัยการ-ศาล-เรือนจำ" นั้น

ถือเป็นกลไกหนึ่ง ที่รัฐชาติต่างๆ ใช้จัดการ-กล่อมเกลาทางอุดมการณ์ต่อผู้คนหรือสมาชิกของตน

ไม่ต่างอะไรกับ "สถาบันการศึกษา" ซึ่งทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน

ทว่าระดับการบังคับควบคุมอาจ "รุนแรง-เข้มงวด" น้อยกว่า

ด้วยอัตรา "ความลึกซึ้ง-ซับซ้อน" ทางความคิดจิตใจที่มากกว่า



ในกรณีละม้ายกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ดูเหมือน "ครู" ในมหาวิทยาลัยไทยบางแห่ง จะไม่เชื่อมั่นกับศักยภาพของตนเองในฐานะ "กลไกรัฐ" มากนัก

ยามต้องเผชิญหน้ากับ "ศิษย์" ที่คิดต่างจากอุดมการณ์รัฐ/อุดมการณ์หลัก

นำไปสู่การผลักภาระให้กลไกอื่น อาทิ กระบวนการยุติธรรม

หรือหนักกว่านั้น ก็ตัดหาง "ศิษย์" ปล่อยวัด จนต้องลอยเคว้งคว้างกลางกระแสความขัดแย้งอันเชี่ยวกรากไปเลยอย่างน่าเสียดาย


อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของ "ก้านธูป" ดูเหมือนว่า "ครูใหญ่ๆ " หลายคนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเชื่อมั่นกับศักยภาพของตนเองมากกว่า "ครู" ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ

เมื่อ "ครูๆ" เขาเชื่อกันเช่นนั้น

สังคมไทยและกลไกรัฐส่วนอื่นๆ ก็คงไม่จำเป็นต้องลงมือกับ "ศิษย์" โดย "โหดเหี้ยม" แต่อย่างใด

อนึ่ง คนเป็น "นักศึกษา" ล้วนมีพันธะยากหลีกเลี่ยง ในการเรียนรู้หรือปรับตัวเข้าหา "อำนาจ" ที่ "เหนือ" และ "มาก" กว่า (เช่น อาจารย์ หรือ เพื่อนฝูงในมหาวิทยาลัย เป็นต้น)

แต่หากเรา "เหี้ยม" กับ "นักศึกษา" เสียแล้ว

เขาและเธอก็อาจจะไม่อยากเป็น "นักศึกษา" อีกต่อไป



++

อมธ. ออกแถลงการณ์กรณี ‘ก้านธูป’ เรียกร้องต่อสื่อมวลชน-มหาวิทยาลัย
จาก www.prachatai.com/journal/2012/01/38614 . . Thu, 2012-01-05 16:27


แถลงการณ์องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง กรณีบทความ "ธรรมศาสตร์ ในวันที่อ้าแขนรับ ก้านธูป" ทางผู้จัดการออนไลน์

ตามที่ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้ลงบทความ "ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับก้านธูป" ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 นั้น บทความดังกล่าวนำเสนอเรื่องราวของ ... เป็นที่รู้จักกันในนาม "ก้านธูป" ซึ่งโดยหลักการแล้วการนำเสนอถึงชีวประวัติของบุคคลย่อมกระทำได้ตามสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นหลักการที่ถูกรับรองไว้ใน มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่บทความดังกล่าวมีการนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นไม่เป็นกลาง ไม่ตั้งในกรอบจริยธรรม หากแต่เป็นการนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวที่ขาดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกพาดพิงโดยมีอคติ มีลักษณะการใช้ภาษาในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามต่อผู้ที่ถูกพาดพิง อันเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ของสื่อสารมวลชน(ที่จะต้องนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้องและการวิพากษ์วิจารณ์จะต้องทำอย่างสัตย์ซื่อ) ไม่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมในงานวารสารศาสตร์ ทั้งหลักการนำเสนอความจริงที่แท้จริง (objectivity) หลักความบังควรและไม่บังควรที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน (decency) และหลักการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น (privacy right) รวมถึงขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2541 หมวด 2 ข้อ 6,8,9,11,15,18,20,27 และ 30


ดังนั้นองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากนักศึกษาธรรมศาสตร์ เห็นว่าบทความดังกล่าวพาดพิงทั้งต่อมหาวิทยาลัย และตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้


1. ขอเรียกร้องให้นักสื่อสารมวลชนทุกแขนง ทั้งในกระแสหลักและกระแสรอง ต้องนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงที่ปราศจากอคติและข้อคิดเห็นส่วนตัว เพื่อคงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมอันดีของวิชาชีพ


2. การนำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เป็นสิ่งที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นสิทธิพึงมีตามมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่ก็ได้ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของ "ก้านธูป" อันเป็นผู้พึงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนกัน


3. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงเคารพต่อสิทธิของบุคคลที่พึงได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคกัน อันเป็นอุดมการณ์ขั้นต้นในการสถาปนามหาวิทยาลัย และเป็นสิทธิพึงได้รับตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550


4. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า "ก้านธูป" เป็นผู้มีสิทธิในการเข้ารับการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะลิดรอนสิทธิดังกล่าว


ท้ายสุดนี้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชื่อมั่นว่าการนำเสนอข่าวสารทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองของสื่อสารมวลชนทุกแขนงจะยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่บั่นทอนพื้นที่แห่งเสรีภาพในทางความคิดแม้เพียงตารางนิ้วเดียว


ด้วยจิตคาราวะ
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4 มกราคม 2555


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีบทความเกี่ยวข้องที่เคยเสนอ

'คอป.' เสนอแก้ 'ม.112' หนักสุดคุกไม่เกิน7ปี, 6กลุ่ม นศ.ประณามเครือ ผจก.กรณีข่าว'ก้านธูป'
โพสต์เพิ่ม บันทึกการวางอำนาจของคนบาปที่ไล่ 'ล่าแม่มด ' ...
อ่านได้ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/horror.html



+++
หมายเหตุ บทความดีๆฯ ภูมิใจถ่ายทอดบทความนี้ แม้เราจะมีข้อไม่เห็นด้วยในบางประเด็น ตัวอย่างเช่น ที่อาจารย์กล่าวว่า "เพราะสิ่งที่เหนือกว่าความเสมอภาคเสรีภาพก็คือชีวิตที่ดี ถ้ามีความเสมอภาคกันแล้ว แต่ชีวิตไม่ดี ก็ไม่รู้จะมีไปทำไม " ...เพราะเวลาเราพูดถึงชีวิต ที่มันก็มาพร้อมกับการบริหารการเมือง เรากำลังพูดถึงทั้งตัวคนพร้อมคณะผลประโยชน์ทั้งชั้นหรือพลังขับเคลื่อนที่เกื้อหนุนปฏิบัติการทั้งระบบที่ตกกระทบมายังผู้คน(โดยเฉพาะส่วนใหญ่ของสังคม) จึงไม่น่าจ่อมจ่ออยู่เพียงพฤติกรรมที่เห็นหรือความสามารถเฉพาะตัวของคนใดคนหนึ่งเหมือนหากผู้นั้นไม่แสดงออกมาโดยชัดแจ้งได้แล้ว การเมืองการปกครองจะหงายท้องตามผู้นั้นไป (ไม่ได้พลิกหงายจากอำนาจอื่นๆ) ผลประโยชน์โภชน์ผลที่ดีทางสังคมจากกระแสด้านล่างจะเกิดขึ้นไม่ได้ ...การที่สังคมการเมืองยอมให้บางสถาบันคงอยู่ก็เพื่อทำหน้าที่แทนประชาชน มิใช่หวังให้มาสะสมสร้างสิ่งกีดขวางความเสมอภาคที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น เสรีภาพภาคปฏิบัติสมบูรณ์ขึ้น การประนีประนอมให้มีเอกสิทธิ์อย่างสูงบางประการก็เพื่อลดความความระส่ำระสายในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่เอกสิทธิ์นั้นไม่มีทางทำให้เกิดระบบประกันอันมั่นคงให้แก่ชีวิตในสังคมแต่อย่างใด ชีวิตที่ดีของคนทั้งสังคม คงไม่ใช่แค่ทางกาย เช่น หลักประกันมีข้าวกินให้พอเพียงฯลฯโดยไม่ต้องมีสิทธิธรรมอื่นอะไรอีก ...หรือ 'ชีวิตที่ดี' ของใครจะหายไปเมื่อสังคมมีความเสมอภาคขึ้น เราจะเรียกว่าเป็นชีวิตที่ดีละหรือ?! . . ชีวิตที่ดีแก่ทุกคนในทุกด้านเท่าที่เกิดขึ้นแล้วในโลก ได้พัฒนาภายใต้ระบบบริหารอันมีฐานจากอำนาจต่อรองที่สูงเด่นของประชาชนพื้นฐาน เมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสแสดงความต้องการทางการเมืองและฝึกฝนความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ มิใช่จากคุณธรรมความสามารถของผู้มีตำแหน่งสูงจำนวนหยิบมือเท่านั้น การมีชีวิตที่ดีเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับความเสมอภาค-เสรีภาพในการร่วมบริหารสังคม . .เป็นต้น

ในบทสัมภาษณ์ อ.
(ในฐานะต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไป จากเหตุผลที่เหนือกว่า'ความจงรักภักดี' อีกคนหนึ่ง)ได้ชี้ให้เห็นแจ่มชัดด้วยว่า ม.112 ก็เป็นอุปสรรคในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์อย่างสูงสุดของสถาบันฯด้วยสติปัญญาเช่นกัน จึงเสนอให้ทำประชาพิจารณ์เพื่อยกเลิก

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * *

เจาะใจ “ดร.ไชยันต์” เสนอยกเลิก ม.112 กับเหตุผลที่มากกว่า “ความจงรักภักดี”
เรื่อง/ภาพ โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
จากมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:48 น.


หนึ่งในประเด็นร้อนส่งท้ายปีเก่า ส่อสุมไฟให้ปีใหม่ 2555 ได้มีการปะทะทางความคิดอย่างจริงจัง คือการแก้ไขหรือไม่แก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยล่าสุด “15อาจารย์” ได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" อันเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 15 ท่าน ต่างมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น “เสื้อแดงสุดขั้ว” หรือ “เสื้อเหลืองสุดขีด” ต่างเห็นร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ดังกล่าว

“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย . . 1 ในอาจารย์ผู้ไม่ใช่เสื้อแดงและไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้น่าเคลือบแคลงสงสัยในความจงรักภักดี เปิดเผยมุมมองที่น่าสนใจเพราะไม่บ่อยนัก ที่จะได้รับฟังความเห็นของผู้ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลชุดที่เหนือกว่า “อารมณ์ความรู้สึก” โดยมีประเด็นสำคัญ เรื่องต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่สังคมไทยสอดคล้องกับระบอบนี้ รวมถึงความจำเป็นในการถกเถียงเพื่อหาบทสรุปจัดวางบทบาทสถาบันและความจำเป็นใน “การเล่นไพ่หลายหน้า” เพื่อถ่วงดุลทางการเมือง


#ท่าที ผบ.ทบ. ระบุว่าไม่ควรพูดเรื่องแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 และใครไม่เห็นด้วยก็ควรออกนอกประเทศ

ผบ.ทบ. น่าจะเปิดกว้างรับฟังเหตุผลของคนที่ต้องการให้แก้ ม.112 ถ้าไม่รับฟังแล้วให้ไปอยู่ประเทศอื่น ก็จะเป็นผลเสียต่อ ผบ.ทบ.ในฐานะผู้นำกองทัพ แต่ท่านอาจจะพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่งเพราะกองทัพทั้งหมดอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น


#อาจเป็นเพราะความเชื่อว่า ถ้าใครจงรักภักดี ก็ต้องไม่คิดแก้มาตรานี้หรือเปล่า

ผมถึงบอกว่า เราต้องฟังเหตุผลของคนที่อยากให้แก้กฎหมายมาตรานี้ ว่าเหตุผลคืออะไร แล้วถ้าไม่เห็นด้วย และมีเหตุผลที่ดีก็ต้องโต้แย้ง ส่วนผมในฐานะ 1 ใน 15 คนที่ลงชื่อ ก็อยากให้มีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองในการดำเนินการมาตรานี้ ไม่อยากให้ใครไปจ้างความกล่าวหาใครก็ได้


#ตอนลงชื่อแถลงการณ์ อาจารย์คิดว่าตัวเองเป็นคนเสื้อสีอะไรหรือไม่

คือคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นสีไหน ทั้ง 15 คน ต่างคนก็มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน แต่ว่าเราเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ ก็ยิ่งดี แสดงให้เห็นว่านักวิชาการที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างก็สามารถสนับสนุนเรื่องนี้ได้ ซึ่งสังคมน่าจะลองคิดดูว่าทำไมนักวิชาการที่คิดแตกต่างเคยขัดแย้งกันสามารถเห็นพ้องต้องกัน อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ อาจารย์พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ก็ยิ่งต่างกันใหญ่ อีกฝ่ายเสื้อแดง อีกฝ่ายเสื้อเหลือง


#อาจารย์หวังว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเอาด้วยไหม เพราะอย่างน้อย รองนายกฯ ก็บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้

คือตอนนี้ เน้นเรื่องสบัญญัติ วิธีพิจารณาความอาญามากกว่าไปแก้สารบัญญัติ เพราะว่ากระบวนการฟ้องร้องกล่าวหากล่าวโทษ ไม่น่าจะให้คนทั่วไปทำได้ แต่เนื้อหาข้อความ ก็อาจจะไม่ต้องแตะต้อง เพียงแต่ไปเพิ่มหรือแก้ไข วิธีพิจารณาความอาญา ขณะที่ “นิติราษฎร์” เขาพูดชัดว่าจะแก้ ม. 112 แต่แถลงการณ์อาจารย์ 15 คน ก็ทราบว่าการแก้สารบัญญัติเป็นเรื่องใหญ่ จึงเห็นว่าเบื้องต้น ต้องป้องกัน ไม่ให้ใครใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กันเปรอะไปหมด


#จุดยืนส่วนตัวของอาจารย์คืออะไร

จุดยืนส่วนตัวของผมในขณะที่มีคนบอกว่าให้แก้ไข แต่ผมเห็นว่าควรยกเลิก มาตรา 112 แต่ต้องประชาพิจารณ์ ที่ผมคิดแบบนี้ เพราะเรามีมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วที่คุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ แล้วจำเป็นต้องประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนถกเถียงพูดคุยกันว่า ตกลงแล้วสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครองที่เรามีอยู่จะเป็นอย่างไร แล้วเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์จะมีแค่ไหน และการวิพากษ์วิจารณ์กับการหมิ่นประมาทต่างกันอย่างไร แล้วคนในสังคมจะวางระเบียบให้ตัวเอง ซึ่งถ้าแก้ไขกันเงียบๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นว่า กฎหมายนี้คุ้มครองใครบ้าง คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะรวมใครบ้าง หรือแยกออก เพราะในกรณีพระบรมวงศานุวงศ์ ทำสิ่งซึ่งกระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะทำอย่างไร จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ไหม ถ้าคนที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่เป็นคนใกล้ชิดสถาบันพระมหากษัตริย์ แทรกแซงกิจการราชการ หรือมีพฤติกรรมที่ไปเกี่ยวข้องกับระบบราชการแล้วทำให้เกิดความเสียหาย แล้วคนเหล่านี้จริงๆ ต้องถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะ ทำให้คนเป็นห่วงสถาบัน ห่วงองค์พระมหากษัตริย์

ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดการปรับตัว ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชน ในแนวที่ไม่ใช่เป็นแนวดิ่งถึงขนาดต้องรอการเชื่อฟัง แต่ถ้าแนวความสัมพันธ์บนลงล่างที่เอนลง ลดความชันลงมาหน่อย ไม่ถึงขนาดเสมอภาคหรอก แต่พอสื่อสารกันได้ ไม่ได้อยู่ในระนาบสูงเกินไป ก็จะทำให้เกิดความมั่นคง ความปรับตัวขึ้น เพราะมักมีข่าวลือ ที่ทำให้เราไม่สบายใจเกี่ยวข้องกับอนาคตสถาบันด้วย ถ้าเราต้องการให้สถาบันมีความเข้มแข็ง ก็ต้องทำให้คนรอบข้างสถาบันไม่ทำอะไรที่กระทบกระเทือนการปกครองระบอบนี้


#คนที่ไม่อยากให้แก้ไข ม. 112 ก็มองว่าในเมื่อใครไม่ได้ทำผิด ก็ไม่เห็นต้องเดือดร้อนมาตรานี้ ขณะที่หลายคดีก็ยังเป็นที่สงสัยว่าเข้าข่ายความผิดจริงหรือไม่

เราแยกแยะชัดเจนได้หรือยัง ระหว่างวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน กับการหมิ่นประมาทดูแคลนอาฆาตมาดร้าย ถ้ามาหมิ่นประมาทด่าสาดเสียเทเสีย แน่นอนก็น่าจะผิดและต้องแจ้งความฟ้องร้อง


#จะพิสูจน์ความจงรักภักดีอย่างไร ขณะที่ตัวเองเสนอให้แก้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นวิธีสบัญญัติหรือสารบัญญัติเกี่ยวกับมาตรานี้

คำว่าจงรักภักดีหมายความว่าต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรเลยเหรอ ได้ยินข่าวลือที่ไม่ดีก็ทำอะไรไม่ได้เลยหรือ ต้องให้ประชาชนจำนน ยอมรับสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า

ในทางรัฐศาสตร์ ถ้าจะจงรักภักดีก็ต้องมีเหตุผลและความชอบธรรม ไม่ใช่มืดบอดหลับหูหลับตาจงรักภักดีหรือด้วยความเกรงกลัวอย่างไพร่ทาสกลัวนาย


#คนที่บอกว่ารักสถาบัน เขาไม่ไว้ใจคนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรานี้ โดยมีสมมติฐานสำคัญว่า คนเหล่านั้นไม่จงรักภักดี

คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เอาเจ้า แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง เขามีอยู่จริง ทีนี้ ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้เขาอธิบายเหตุผลของเขา เขาไปพูดใต้ดินในช่องทางอินเตอร์เนต มันก็จะผสมกับเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างหมิ่นประมาทไปใหญ่ แต่ถ้าเราเปิดกว้างให้เขาได้พูดด้วยเหตุผลว่า เขาไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะอะไร

ผมต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไปด้วยเหตุผลทางรัฐศาสตร์ ผมไม่ได้ตอบด้วยแค่คำว่าจงรักภักดี แต่ผมตอบด้วยหลักทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย ฉะนั้น ผมพูดเพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ ผมพูดได้อย่างไม่มีอุปสรรค แต่คู่ต่อสู้ทางความคิดของผมสิ (คนที่คิดแตกต่าง) เขาพูดไม่ได้ ผมอยากให้เปิดโอกาสให้เขากับผม มาโต้เถียงกันอย่างเสรี ผมก็มั่นใจในเหตุผลของผมที่จะโต้กับเขา แต่ถ้ายิ่งมีกฎหมายไปห้าม มีเงื่อนไขทางสังคมที่ไปปิดกั้นเขาออกไป มันก็ยิ่งไปยืนยันว่าสิ่งที่เขาต้องการให้เปลี่ยน มันสมควรต้องเปลี่ยน มันยืนยันสิ่งที่เขาตำหนิว่าเราไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วก็เราเป็นระบอบราชาธิปไตยที่กดขี่เป็นเผด็จการ แต่ถ้าเขาหมิ่นประมาทเรื่องส่วนตัวที่ทำให้สาธารณะเสียหาย คนอื่นก็ควรพูดได้ตั้งคำถามได้ แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับสาธารณะก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นสถาบัน

ถ้าจะชกกันก็ชกกันอย่างแฟร์ๆ การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง รับได้ในเงื่อนไขเดียวคือต้องการให้ระบอบการปกครองนั้นเป็นระบอบที่ดีต่อประชาชน แก้ปัญหาและตอบสนองประชาชนได้ ฉะนั้น คนที่มองว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญทำงานได้ไม่ดี ก็ต้องแจกแจงมาสิ ว่าเป็นยังไง ไม่ใช่คิดแต่เรื่องความเสมอภาค เพราะสิ่งที่เหนือกว่าความเสมอภาคเสรีภาพก็คือชีวิตที่ดี ถ้ามีความเสมอภาคกันแล้วแต่ชีวิตไม่ดี ก็ไม่รู้จะมีไปทำไม


#บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

สถาบันกษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนา ก็คงมีปัญหาเยอะมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อยประเทศในแถบสแกนดิเนเวียน ก็คงไม่มีปัญหาต้องให้กษัตริย์ต้องลงมาดูแลโครงการพัฒนาชนบทหรอกมันไม่เหมือนกัน ส่วนกษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนา ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็คงถูกด่าเหมือนกันว่านั่งกินนอนกินไปเฉยๆ ถ้าทำก็หาว่าไปแทรกแซง หาว่าสร้างอิทธิพลสร้างอำนาจบารมีขึ้นมา คือถูกด่าทั้งขึ้นทั้งร่องถ้าคนจะหาเรื่องด่า

อย่างกรณีของหนังสือ Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand, edited by Soren Ivarsson and Lotte Isager, (2010) บางตอนของบทนำของหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลย (unthinkable) ที่กษัตริย์ของเดนมาร์กจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการพัฒนาชนบท (rural development) เหมือนอย่างที่กษัตริย์ไทยทำ เพราะเขามองว่า กษัตริย์ ไม่ควรทำอะไรเลย เขาก็อ้างของเขาว่ากษัตริย์เดนมาร์คไม่ทำอะไรแบบนี้ ซึ่งผมก็ต้องถามต่อว่า เดนมาร์ค ไม่เคยด้อยพัฒนา เขาเป็นประเทศนำความเป็นสมัยใหม่ตลอดเวลา ถามว่าถ้ากษัตริย์ไทยไม่เคยทำอะไรเลยตั้งแต่ปี 2500 ก็คงถูกว่าเหมือนกัน ถูกด่าหนักด้วยว่าคนก็ยากจน คอมมิวนิสต์ก็คงบอกว่ากษัตริย์ไม่ทำอะไรแล้วมีไว้ทำไม ซึ่งตอนนั้นท่านทำอะไรก็ไม่มีใครว่า แต่พอมาตอนนี้กลับมาวิพากษ์วิจารณ์ย้อนหลังว่าสิ่งที่พระองค์ทำไปนั้นไม่ถูกต้องเพราะทำให้เกิดอำนาจบารมีขึ้นมา กลายเป็นว่าทำก็แย่ไม่ทำก็แย่


#การถกเถียง จะทำให้คนไทย ไม่กลัวสถาบันหรือเปล่า

คนที่ทำให้คนอื่นกลัวสถาบัน คงเป็นข้าราชการบางกลุ่ม และกลุ่มคนที่จงรักภักดีไม่ลืมหูลืมตา ผมว่าความกลัวเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน แต่มีคนที่ไปแจ้งความ ทั้งที่สถาบันไม่เกี่ยวอะไรด้วยเลยทำให้เกิดความน่ากลัว ถ้าจะกลัวคือกลัวที่จะเอาสถาบันมาอ้างอิงในการเล่นงานคนอื่นมากกว่า

ผมเห็นว่าควรมีประชาพิจารณ์หากจะยกเลิกกฎหมาย 112 เพราะต้องให้โอกาสคนที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ เช่น ตั้งคำถามกับสำนักงานทรัพย์สิน หรือตั้งคำถามกับข่าวลือบางอย่าง

ในฐานะที่ผมยืนยันว่าต้องมีสถาบัน ผมจะไปอธิบายปกป้องสถาบัน ในเรื่องเหล่านี้ผมก็พูดไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงคนที่มีสิทธิพูดก็คงพูดได้ ถ้ามันเป็นข่าวลือก็ต้องพูดออกมาตรงๆ แล้วมีหน่วยงานที่จะตอบว่าเป็นข่าวลือ


#เหตุผลทางรัฐศาสตร์ที่อาจารย์เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องดำรงอยู่ คืออะไร

ถ้าเราไม่เอาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็จะไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีกษัตริย์ ซึ่งมีให้เลือก 1)แบบสหรัฐอเมริกา 2)กึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา หรือเปลี่ยนประมุขของรัฐจากกษัตริย์เป็นประธานาธิบดี ถ้าเลือกตั้งทางอ้อม ตัวสภาซึ่งกำหนดตัวนายกฯ และประธานาธิบดี จะทำให้เสียงข้างมากในสภาเลือกนายกฯ และประธานาธิบดีไม่ต่างกัน แล้วจะถ่วงดุลกันยังไง แต่ถ้าเลือกตั้งทางตรง แล้วคุณคิดว่าเสียงข้างมากที่เลือกพรรคหนึ่งเข้าสภาแล้วจะเลือกคนที่ไม่ใช่พรรคนั้นได้หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องยากเพราะฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน เป็นปัญหาการถ่วงดุล ต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะในการลงคะแนนเสียง

ถ้าเราเปลี่ยนการปกครองแบบไม่มีกษัตริย์อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานมาก กว่าจะลงตัวในการเลือกตั้งทางตรงหรืออ้อม เพราะตั้งแต่ 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร


#ต่อให้ต้องใช้เวลานาน แล้วปัญหาคืออะไร กลุ่มอีลีทเปลี่ยนกลุ่มหรือเปล่า

กลุ่มอีลีทเก่าอาจจะหมดไป แล้วกลุ่มอีลีทใหม่ครอบงำทั้งหมดเลย ซึ่งประธานาธิบดีต้องเป็นที่เกรงใจและสามารถคัดค้านนายกรัฐมนตรีในบางกรณีได้ด้วย อย่างประสบการณ์ของประเทศสิงคโปร์ สมัยลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ประธานาธิบดี เรียก ลีกวนยูว่า “บอส” แล้วประธานาธิบดีไม่มีความหมาย แต่พอลีกวนยูจะเลิกเล่นการเมือง ก็แก้รัฐธรรมนูญ อยากให้ประธานาธิบดีเข้มแข็ง เพราะเขาไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะดีเท่าเขาหรือเปล่า เพราะเขาเพิ่งรู้ เขาไม่อยากให้นายกฯและประธานาธิบดีเกี้ยเซี้ยอย่างที่ผ่านมา

แล้วเรา “จำเป็น” ต้องเปลี่ยนระบอบด้วยหรือ? อย่างที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พูด ในเมื่อเรามีต้นทุนอยู่แล้ว ประมุขที่สืบสายโลหิต ย่อมไม่จำเป็นต้องพึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง แล้วเขาสามารถที่จะเป็นกลาง สามารถเล่นไพ่ได้หลายหน้า เขาไม่จำเป็นต้องเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็สามารถถ่วงดุลรัฐบาลได้แน่นอน

ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ที่สำเร็จก็เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐานชีวิตดีที่สุดในโลก คือแถบสแกนดิเนเวีย เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงสุดมากกว่าสหรัฐและอังกฤษ เพราะอังกฤษอาจจะไม่ได้ดูแลชีวิตผู้คนได้ดีเท่ากับยุโรปเหนือ ส่วนประเทศที่ล้มเหลวในการปกครองระบอบนี้ ล่าสุดก็คือเนปาล

ประเทศไทยมีตำแหน่งแห่งที่ในการประสบความสำเร็จอยู่ตรงไหน เราคงเทียบกับสแกนดิเนเวียไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้แย่ขนาดเนปาล


#ถ้ามีคนบอกว่า ต่อให้ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ก็ยอมเสียเวลา แล้วอาจารย์คิดว่าการใช้เวลาเป็นปัญหาหรือเปล่า

คือถ้ามันเป็นกิจกรรมอื่น ก็น่าลองผิดลองถูก แต่เรื่องนี้มันชีวิตคนทั้งประเทศ ต้องไปลองด้วยหรือ เอาแค่คุณทักษิณทดลองให้คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาเรียนรู้งาน ผมว่ามันก็แย่เต็มทีแล้วนะ การทดลองแบบนี้อันตรายขนาดไหน แล้วประชาชนจำนวนหนึ่งก็ยังอุตส่าห์ยอมให้ทดลองอีก มันไม่ได้ ชีวิตคนเกิดมาช่วงชีวิตหนึ่งไม่ใช่ให้คุณมาทดลองทางการเมือง กรณีคุณยิ่งลักษณ์ แค่จะต่อรองทางการเมือง เขาก็ไม่มีประสบการณ์ หรือแม้เขาเรียนรู้การต่อรองได้ แต่การตัดสินใจสุดท้าย ไม่ได้อยู่ที่เขา อันนี้ก็แย่ คุณไม่แคร์ว่าประชาชนจะเป็นยังไง คุณไม่แคร์ว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นยังไงเลยนะ คุณเอามาเสี่ยงเพื่อสนองความต้องการอะไรบางอย่างของคุณ



.