http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-02

สุรพศ ทวีศักดิ์ : "ความเป็นอนิจจังของสังคม", “ความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนา,รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว

.

"ความเป็นอนิจจังของสังคม" อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18:45:00 น.


"ความเป็นอนิจจังของสังคม" อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
แด่ Hyper Royalists และชนชั้นกลางวัฒนธรรม


อ่านที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ใน "โฉมหน้าศักดินาไทย" ตอนหนึ่งว่า

การศึกษาของศักดินาเป็นการศึกษาที่สอนให้คน "ยอมรับ" (accept) กล่าวคือ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ศิษย์คิดเสียก่อน เมื่อเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ หากสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องคิด ทั้งนี้เพื่อปิดทางความคิดริเริ่มทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความหายนะแห่งชนชั้นศักดินา

...แต่เล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปี มีสูงกว่าชนชั้นกลาง และประกอบกับชนชั้นกลางมีท่าทีประนีประนอม ศักดินาจึงสามารถแทรกแซงเข้าไปในสถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางได้อย่างลอยชาย ศักดินาซากเดนยังคงกำเอาหลักสูตรและการหันเหจุดหมายปลายทางแห่งการศึกษาไว้ได้ในกำมือ วิชาประวัติศาสตร์ก็ยังคงตกอยู่ในกำมือและในอิทธิพลของชนชั้นศักดินาต่อไป (หน้า 65-66)


จนบัดนี้การศึกษาไทยยังคงเป็นการสอนให้ "ยอมรับ" อยู่เหมือนเดิม "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" ก็ยังมีท่าทีประนีประนอมกับศักดินาอยู่เหมือนเดิม หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเมื่อมองจากปรากฏการณ์ของ "ลัทธิเจ้านิยมล้นเกิน" (Hyper Royalism) ที่มีพวก Hyper Royalists ออกมาตั้งคำถามกับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนท่องตามกันมาว่า "คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า" หรือ "เห็นว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม ไม่เสมอภาค ก็ออกจากประเทศไทยไปเลย ไปอยู่ต่างประเทศได้เลย"

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ที่พูดถึง "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ข้างล่างนี้ บรรดา Hyper Royalists ควรนำมาเป็น "ข้อคิด" ทบทวนพฤติกรรมของตนเองเท่าที่เป็นมาในปีนี้บ้าง คือ

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกทั้งระบบ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่า หรือส่วนของระบบเก่าจะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไป และคล้ายกับเป็นวิถีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง

แต่สิ่งลวงตาเช่นนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า " สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ " ...แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจัง และระบบใหม่ที่ได้ชัยชนะนั้น ก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกัน โดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอดๆ ต่อไป ดังที่ปรากฏตามรูปธรรมของมนุษยสังคมมากหลายในสกลโลก (หน้า 32-33)

การเบียดเบียนกันและข่มเหงกันย่อมไม่คงอยู่กับที่ คือจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด โดยการต่อสู้ของสมาชิกส่วนมากแห่งสังคม ซึ่งอาจเป็นวิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ "วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์" สังคมก็จะได้กำจัดการเบียดเบียนให้หมดไปในทางปริมาณทีละน้อยๆ ถ้าสมาชิกในสังคมมีทางประนีประนอมกันได้ ในที่สุดสมาชิกส่วนมากของสังคมก็จะต้องได้ชัยชนะ เพราะประชาธิปไตยย่อมถือเอาเสียงข้างมาก (หน้า 85)



สำหรับพวก Hyper Royalists ในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นมักอ้างธรรมะอ้างพุทธศาสนาเพื่อรับรองการปกป้อง "ระบบเก่า" ของพวกตนว่าถูกต้องชอบธรรม ในแง่ว่า พวกตนกตัญญูรู้คุณสถาบันและประณามฝ่ายที่คิดต่างว่า อกตัญญู เป็นต้น ผมอยากชวนให้ทบทวนอย่างน้อย 2 ประการ ต่อไปนี้

1. พุทธศาสนาสอน "หลักกาลามสูตร" ซึ่งเป็นหลักเสรีภาพทางความคิดที่เรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นจากทุกแหล่งที่มา ตั้งแต่เรื่องเล่า ตำรา การคาดเดา ระบบตรรกะนิรนัย/อุปนัย กระทั่งครูที่เราเคารพ ซึ่งหมายความว่า ตามหลักการของพุทธศาสนานั้น นอกจาก "ไม่มีการบังคับความเชื่อ" แล้ว ยังเรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อทุกแหล่งความรู้อีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นหลักการที่ให้ "เสรีภาพทางความคิด" อย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาแบบครอบงำทางความคิดตามที่จิตรเขียนไว้ ซึ่งยังดำรงอยู่ในยุคปัจจุบัน ย่อมเป็นระบบการศึกษาที่ขัดแย้งกับหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง และยิ่งสังคมนี้มีกฎหมายที่ปิดกั้น free speech ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประชาชนไม่มีสิทธิสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ในสิ่งที่พวกเขาควรมีสิทธิสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ


ฉะนั้น Hyper Royalists ที่มักอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาจะยอมให้มีกฎหมายที่ขัดต่อหลักการสำคัญของพุทธศาสนา คือหลักเสรีภาพทางความคิดและการแสวงหาความจริงได้อย่างไร เพราะการที่หลักกาลามสูตรเรียกร้องให้เราสงสัยทุกแหล่งความรู้ก็เพื่อให้เราตรวจสอบทุกแหล่งความรู้เพื่อให้สามารถค้นพบ "ความจริงที่เชื่อถือได้" มากที่สุดนั่นเอง

หลักกาลามสูตรจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแสวงหา "ความจริง" ในบรรยากาศของการมีเสรีภาพ หากชาวพุทธ Hyper Royalists ที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนามีความเชื่อ หรือศรัทธาในสิ่งที่พวกตนกล่าวอ้างจริง การออกมาปฏิเสธ กล่าวหา ใส่ร้าย ประณามฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ว่าล้มเจ้าและอื่นๆ ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักธรรมะ หรือหลักการของพุทธศาสนาที่พวกตนชอบกล่าวอ้างนั่นเอง เพราะข้อเรียกร้องของฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 (เป็นต้น) คือข้อเรียกร้องให้สังคมนี้มีเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพในการแสวงหาความจริงนั่นเอง


2. ที่สำคัญคือ พุทธศาสนาสอนหลักอนิจจังว่า "สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่" และ "ความเป็นอนิจจังทางสังคม" ย่อมเป็นไปตามที่ปรีดีเขียนไว้ การขัดขวางความเปลี่ยนแปลงย่อมไม่อาจสำเร็จได้ รัฐประหาร 19 กันยา และการสลายการชุมนุมปี 2553 คือตัวอย่างของความรุนแรงและความล้มเหลวของการต่อต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศที่คล้อยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งให้คุณค่าสูงต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

เมื่อคนจำนวนมากตาสว่างแล้ว เราจะปิดตาให้เขาลืมสิ่งที่เขาได้มองเห็นแล้วได้อย่างไร เมื่อเขาเห็นชัดแจ้งแล้วว่าอะไรคือปัญหา จะปิดปากไม่ให้เขาพูดถึง "ความจริงของปัญหา" เพื่อหาทางแก้ให้ถูกจุดได้อย่างไร

มีแต่วิถีทางประชาธิปไตยคือ วิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ "วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์" ตามที่ปรีดีเสนอไว้เท่านั้น จึงจะเป็นทางออกที่ไม่รุนแรงนองเลือด และเป็นประโยชน์ทั้งแก่สถาบันเก่าแก่ และประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง



สำหรับ "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" ผมขอฝากข้อเขียนของปรีดี (ในหนังสือเล่มเดียวกัน) เป็นการสรุปท้าย ดังนี้

…มีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่า "สภาวะเก่าเป็นของถาวร" และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่า ยิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า...ฉะนั้น จึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลอง...แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังก็ต้องประจักษ์ขึ้น (หน้า 34)

บังเอิญว่าข้อเขียนของจิตรและปรีดี ตามที่ยกมา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 เช่นเดียวกัน จนบัดนี้กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ยังคงเหมาะกับยุคปัจจุบันที่ควรนำมาเป็น "อนุสติ" ส่งท้ายปีเก่า 2554 เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในปีใหม่ 2555 ได้เป็นอย่างดี



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีโพสต์ความคิดเห็นท้ายบทความเดียวกันนี้ ที่ www.prachatai.com/journal/2011/12/38523



++

“ความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนา
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Sun, 2011-12-25 22:13


ดูเหมือนพุทธเถรวาทไทยพยายามเสนอคำตอบของพุทธศาสนาแก่ปัญหาชีวิตและสังคมแทบทุกเรื่อง แต่เริ่มจะถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า เป็นการเสนอมั่วๆ หรือสับสนหรือไม่? โดยเฉพาะข้อเสนอทางแก้ปัญหาสังคมการเมืองที่อยู่บนพื้นฐาน “ศีลธรรมเชิงปัจเจก” (individual morality) ที่ว่า “ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมก็จะดีเอง

หลักการ “ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมก็จะดีเอง” ถูกขยายความว่า “คนดี” หมายถึง คนที่คิดดี พูดดี ทำดี หรือที่พูดภาษาพระว่า “คนที่ทำดีด้วยกาย วาจา ใจ” นั่นเอง ฉะนั้น ข้อเรียกร้องในทางสังคมการเมืองที่ออกมาจากพระสงฆ์ หรือฝ่ายที่อ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง 5 ปี มานี้ จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กติกาของสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น แต่เป็นการเรียกร้องไปที่ “ตัวบุคคล” ว่า นักการเมืองต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม ประชาชนต้องเลือกคนดี คนไทยต้องไม่โกรธ ไม่เกลียดกัน ต้องรักกัน สามัคคี สมานฉันท์ ปรองดองกัน กระทั่งให้ปล่อยวางอคติ ปล่อยวางความยึดมั่นในตัวกู ของกู ฯลฯ

ขอเรียกร้องทำนองนี้กลายเป็น “กระแส” ในสื่อหลักตลอดมา แต่ก็มีปัญหาที่น่าพิจารณา คือ 1) ข้อเรียกร้องทำนองนี้ จะบรรลุผลได้อย่างไรภายใต้โครงสร้างสังคมการเมืองที่ให้อำนาจนอกระบบอยู่เหนือการตรวจสอบ และเครือข่ายของอำนาจนอกระบบนั้นยังแทรกแซงอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ (เป็นต้น)ได้ 2) ที่สำคัญข้อเรียกร้องทำนองนี้มันเหมือนจะมีสมมติฐานล่วงหน้าว่า นักการเมืองและประชาชนเป็น “คนไม่ดี” (มีกิเลส โกง โกรธ เกลียด ไม่สามัคคี ไม่รักกัน ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฯลฯ) จึงทำให้ละเลยปัญหาเชิงระบบ หรือปัญหาเกี่ยวกับกติกา โครงสร้างของ “อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

ฉะนั้น การที่พระสงฆ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อ้างพุทธศาสนา อ้างธรรมะนำการต่อสู้ ได้เสนอข้อเรียกร้องทำนองนี้ให้เป็นทางออกของปัญหาสังคมการเมือง มันจึงเท่ากับเป็นการเสนอข้อเรียกร้องที่ไปขับเน้น “ปัญหาปลอม” ขึ้นมากลบเกลื่อน “ปัญหาจริง” แล้วก็เสนอ “ทางออกเทียม” ทำให้สังคมละเลยที่จะถกเถียงเกี่ยวกับ "ปัญหาที่แท้จริง" เพื่อให้เกิดการทุ่มเทพลังทางสังคมไปสู่การแสวงหา “ทางออกที่แท้จริง” ร่วมกัน

ยิ่งกว่านั้น การที่พระสงฆ์และชาวพุทธนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเสนอข้อเรียกร้องเทียมๆ ขับเน้นปัญหาเทียมๆ หรือทางออกเทียมๆ แก่สังคมเช่นนั้น กลับทำให้คุณค่าของพุทธศาสนาต่อสังคมลดความหมายลงอย่างที่ไม่น่าจะเป็น ซ้ำร้ายข้อเสนอเทียมๆ การขับเน้นปัญหาเทียมๆ และทางออกเทียมๆ ดังกล่าวนั้น ยังกลายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่การดำรงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างเผด็จการ หรือ “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง” ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนตลอดมาอีกด้วย



เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังได้แล้วว่า ทำไมการอ้างธรรมะและพุทธศาสนามาขับเคลื่อนสังคมการเมือง พระสงฆ์และชาวพุทธจึงไม่ขับเคลื่อนบนจุดยืนของ “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) ของพุทธศาสนาเองที่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยมากกว่า

ผมหมายความว่า ถ้าจะอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในทางที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมการเมือง ทำไมจึงไม่นำทัศนะทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนามาอ้างถึง หรือเป็นจุดยืนในการต่อสู้ !

ทัศนะทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือทัศนะเรื่อง “ความยุติธรรม” หรือทัศนะที่ว่า สังคมการเมืองที่มีความเป็นธรรมควรกำหนดโครงสร้างอำนาจ กติกาการอยู่ร่วมกันบน “หลักความยุติธรรม” (the principle of justice) อะไร

ทัศนะดังกล่าวนี้ เราสามารถเห็นได้จากข้อโต้แย้งของพระพุทธเจ้าต่อแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของศาสนาพราหมณ์ ที่ถือว่าสังคมที่ยุติธรรมคือสังคมที่จัดระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกแห่งสังคมแบบ “อินทรียภาพ” (organism) เช่น ระบบวรรณะ 4 คือ การกำหนดชนชั้นสูง-ต่ำทางสังคมตามโครงสร้างของร่างกายว่า คนในวรรณะพราหมณ์เกิดจากปากของพรหม กษัตริย์เกิดจากแขน (หรือไหล่) ของพรหม จึงเป็นชนชั้นสูง มีอภิสิทธิ์ต่างๆ เหนือคนทั่วไป แพศย์เกิดจากสะดือเป็นสามัญชน ขณะที่ศูทรเกิดจากเท้าของพรหมจึงเป็นคนชั้นต่ำ

คนในแต่ละชนชั้นต่างมีหน้าที่ที่แน่นอนของตนเอง เช่น กษัตริย์เป็นนักรบ พราหมณ์สอนศาสนาและจัดการศึกษา แพศย์ค้าขาย สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ศูทรเป็นคนรับใช้ หรือผู้ใช้แรงงาน ในทัศนะของศาสนาพราหมณ์การที่คนแต่ละชนชั้นไม่เสมอภาคกันไม่ใช่ความไม่ยุติธรรม เพราะความยุติธรรม หมายถึง การที่คนในแต่ละชนชั้นต่างทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน เหมือนนิ้วมือแต่ละนิ้วแม้ไม่เท่ากัน แต่ต่างทำหน้าที่ของตนไม่ก้าวก่ายกัน


พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว จึงเสนอข้อโต้แย้งว่า 1) ไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดจากพรหม ทุกคนล้วนเกิดจากโยนีของมารดา 2) ระบบวรรณะ 4 ไม่ได้ถูกำหนดไว้โดยพระพรหม แต่เป็นผลของวิวัฒนาการทางสังคม 3) คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นกับชาติกำเนิดแต่อยู่ที่ “กรรม” หรือการกระทำ ฉะนั้น ทุกคนเสมอภาคกันโดยกรรม หรือการกระทำ

การที่พระพุทธเจ้าถือว่า ทุกคนเสมอภาคกันโดยกรรมหรือการกระทำมีความหมายสำคัญว่า “บุคคลเสมอภาคกันภายใต้กฎศีลธรรม” คือ ภายใต้กฎศีลธรรมเดียวกัน ทุกคนทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว เสมอเหมือนกัน ไม่สามารถอ้างสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้นมาเป็นข้อยกเว้น หรือเป็นข้อซ้ำเติมได้

และในเรื่อง “กรรม” หรือการกระทำนั้น พุทธศาสนาถือว่า การกระทำเกิดจาก “เจตนา” หรือเสรีภาพในการเลือกกระทำของแต่ละบุคคล เมื่อเราเลือกทำสิ่งที่ดี หรือชั่วอย่างอิสระด้วยตนเอง เราจึงต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำที่ตามมา การที่เรามีเสรีภาพเลือกการกระทำเท่ากับเรามีเสรีภาพเลือกปกครองตนเองได้ด้วย อย่างที่เรียกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ซึ่งหมายถึง เราสามารถเลือกกระทำสิ่งที่ดีทางศีลธรรมได้ด้วยเสรีภาพของตนเอง การเลือกทำสิ่งที่ดีด้วยตนเองได้ เท่ากับเลือกปกครองตนเองให้เดินตามครรลองที่ถูกต้องได้


แน่นอนว่า พุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์มีกิเลส แต่พุทธศาสนาก็สอนด้วยว่า มนุษย์สามารถมีเสรีภาพจากกิเลส (วิมุติ) ได้ ซึ่งเสรีภาพจากกิเลส ก็คือผลขั้นสุดท้ายของการใช้เสรีภาพในการเลือกทำความดีนั่นเอง

ฉะนั้น ความคิดที่ว่ามนุษย์เสมอภาคกันโดยการกระทำ หรือเสมอภาคกันภายใต้กฎศีลธรรม และมนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกกระทำ หรือมีเสรีภาพปกครองตนเอง (พึ่งตนเอง) ได้ สะท้อนว่า “หลักความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนา คือหลักความเสมอภาคและเสรีภาพ รูปธรรมของชุมชนทางพุทธศาสนาที่ยึดหลักความยุติธรรมดังกล่าวนี้คือ “สังฆะ” หรือชุมชนสงฆ์ในสมัยพุทธกาล

แต่ชุมชนสงฆ์เถรวาทไทยปัจจุบันกลับมีระบบชนชั้นเข้มข้นมาก คือ “ระบบสมณศักดิ์” ที่เป็นเช่นนี้เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคราชาธิปไตยและมีวิวัฒนาการมาภายใต้ระบบราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุทธศาสนาเองนอกจากไม่มีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองให้มีความเสมอภาคและมีเสรีภาพตามหลักคำสอนครั้งพุทธกาลแล้ว คำสอนของพุทธในระยะต่อมายังถูกตีความ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้นตามวัฒนธรรมทางสังคมการเมืองแบบราชาธิปไตย และสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย

พุทธศาสนาเถรวาทไทยในปัจจุบันนี้ก็คือ “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ยังถูกใช้สนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่อย่างเข้มข้น ฉะนั้น พระสงฆ์และชาวพุทธที่อ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนา ในการต่อสู้ทางการเมืองในระยะ 5 ปี มานี้ จึงเป็นการอ้างธรรมะและพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่เหนือประชาธิปไตยทั้งโดยตรง และโดยปริยาย


ฉะนั้น การอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในทางการเมืองอย่างที่ทำๆ กันมานี้ จึงควรถูกตั้งคำถามว่า ในเมื่อหลักความยุติธรรมซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรมทางสังคมของพุทธศาสนานั้น คือ “หลักเสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ซึ่งเป็นหลักที่พุทธศาสนาใช้ปฏิเสธระบบวรรณะ 4 มาก่อน แต่ทำไมหลักการดังกล่าวนี้จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดยืนในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทว่าการอ้างธรรมะและพุทธศาสนากลับเป็นไปในทางสนับสนุนอุดมการณ์ทางชนชั้นมากกว่า

ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่พระสงฆ์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาต้องตอบ และเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ และ/หรือระบบการศึกษาสงฆ์ควรทบทวนให้ชัดเจนว่า การประยุกต์พุทธศาสนากับปัญหาสังคมการเมืองนั้น ทำอย่างไรจะไม่เป็นการนำศีลธรรมเชิงปัจเจกมาเสนอ “ทางออกเทียมๆ” แก่สังคม และทำอย่างไรจึงจะอ้างอิงหลักศีลธรรมทางสังคม หรือ “หลักสังคมที่มีความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนามาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีโพสต์ความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2011/12/38487



++

รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Sat, 2010-12-04 23:29


คนจนนำแผ่นซีดีเก่าสิบ-ยี่สิบแผ่นมาวางขายหาเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อ ถูกจับและเรียกปรับเป็นแสน ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐไทยช่างเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเหลือเกิน

และเมื่อปรากฏภาพข่าวนายตำรวจขวัญใจประชาชนควักเงินส่วนตัวจ่ายค่าปรับแทนคนจน เราต่างตื้นตันใจว่าสังคมนี้ช่างมีตำรวจที่เปี่ยมเมตตาธรรมต่อประชาชนผู้ยากไร้หาเช้ากินค่ำเหลือเกิน แต่เป็นภาพที่ขัดแย้งกับภาพตำรวจตามด่านตรวจบางแห่ง ที่ก้มลงหยิบเศษเงินข้างๆ เท้าของคนขับรถบรรทุก

ภาพที่ขัดแย้งกันสองภาพดังกล่าว ภาพแรกเป็นภาพจงใจถ่ายทำ แต่ภาพหลังเป็นภาพแอบถ่าย หรือภาพแรกเป็นภาพจงใจนำเสนอเพื่อต้องการบอกสังคมว่า ตำรวจไทยเอาจริงเอาจังและเที่ยงตรงกับการบังคับใช้กฎหมาย และตำรวจไทยก็มีเมตตาธรรมต่อประชาชนผู้ยากไร้ ส่วนภาพหลังเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้จงใจนำเสนอ แต่เป็นข้อเท็จจริงของวิถีชีวิตประชาชนที่หาเช้ากินค่ำถูกรีดไถจนชาชิน


คลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ภาพที่จงใจนำเสนอ แต่ภาพที่จงใจนำเสนอคือภาพการฟ้องร้องสื่อและมือที่มองไม่เห็นที่เผยแพร่คลิป เป็นความจงใจนำเสนอว่าข้อเท็จจริงในคลิปจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือคนเผยแพร่คลิปและสื่อที่นำเสนอข่าวจะต้องรับผิดทางกฎหมาย เพราะจงใจทำลาย “ความน่าเชื่อถือ” ของศาลรัฐธรรมนูญ

(ภายในประเทศนี้ ความน่าเชื่อถือของสถาบันใดๆ ช่างเปราะบางและถูกทำลายได้ง่ายดายเหลือเกิน โดยบุคคลอื่น หรือขบวนการของผู้ไม่หวังดี ฉะนั้น เราต้องปกป้องความน่าเชื่อถือของทุกสถาบันด้วยการใช้อำนาจ ด้วยกองทัพ พยายามปิดกั้นการตรวจสอบ การใช้เสรีภาพในการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ผู้ “เป็นนายตัวจริง” ของเรา [แต่ไม่มีอำนาจจริง] ให้มากที่สุด)


และอีกภาพที่ศาลรัฐธรรมนูญจงใจนำเสนอคือ ภาพการตัดสิน “ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์” ด้วยมติ 4 ต่อ 2 เพราะ “กระบวนการยื่นค้ำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในประเด็นอื่นๆ อีกต่อไป จึงให้ยกคำร้อง”

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ของ “การจงใจนำเสนอ” ในกรณีดังกล่าวนี้คือ การนำเสนอว่า ตามข้อเท็จจริงพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำผิดหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับความต้องการท้าทายสังคมว่า “ก็เห็นว่าคดีหมดอายุความแล้ว แต่รับไว้พิจารณาเพื่อจะตัดสินแบบนี้ ใครจะทำไม? ”

เป็นการท้าทายที่ไม่สนใจว่า สังคมนี้จะคิดอย่างไรกับความเป็นจริงที่ว่าในการดำเนินคดีกับอีกฝ่าย กระบวนการยุติธรรมของรัฐมุ่งไปที่ข้อเท็จจริง หรือการเอาผิดให้ได้โดยแทบไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ถูกต้องทางกฎหมาย เช่น ทำรัฐประหารแล้วเป็นโจทย์เอง ตั้งคณะบุคคลมาดำเนินการสืบสวนสอบสวนเอง ฟ้องศาลเอง หรือเวลาศาลตัดสินก็อ้างนิยามในพจนานุกรมกรณีทำกับข้าวออกทีวี อ้างการไม่เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมกรณีเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน อ้างงานวิจัยของนักวิชาการกรณีคดียึดทรัพย์ ฯลฯ


หลายๆ กรณีที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้เสมือนดำเนินการโดยยึดหลักเกณฑ์ว่า “คนชั่วต้องได้รับกรรมชั่ว คนดีต้องได้รับกรรมดี” แต่หลักความยุติธรรมตามกฎหมายต้องยึดตัวบทกฎหมาย กระบวนการดำเนินการที่ชอบธรรม และข้อเท็จจริงของพยานหลักฐาน

ส่วนความเป็นคนดีคนชั่วจะเอามาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะการเป็นคนดีคนชั่วอาจเป็นเพียงภาพที่ถูกสร้างและขยายจนเกินความเป็นจริง เพราะถ้ายึดเกณฑ์เช่นนี้ฝ่ายที่ถูกมอง/ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนชั่วไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิด ฝ่ายที่ถูกมอง/ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนดีไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ผิด

ยิ่งบังเอิญว่าประเทศนี้ภาพของคนดี-คนชั่วถูกนำไปผูกโยง “อย่างเหนียวแน่น” กับ “ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี” แต่ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี มักเป็น “ภาพที่จงใจสร้างขึ้น” ใครก็ตามที่ประกาศตัวเป็นผู้จงรักภักดีก็จะกลายเป็นคนดีขึ้นมาทันที และใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีก็จะกลายเป็นคนชั่วขึ้นมาทันที

และการกลายเป็นคนดีคนชั่วในทำนองนี้ส่งผลให้ฝ่ายที่มี “ภาพคนดี” ละเมิดหลักการ กติกาประชาธิปไตยได้โดยไม่ผิด เช่น เรียกร้องรัฐประหาร ทำรัฐประหาร ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง สลายการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้คนตายจำนวนมาก ฯลฯ ก็ไม่ผิด

แต่อีกฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย ถูกล้อมปราบด้วยวิธีรุนแรง กลายเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นขบวนการล้มเจ้า เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกขังลืม ฯลฯ

แน่นอนว่าในฝ่ายหลังอาจมีคนทำผิดกฎหมาย ใช้วิธีรุนแรงต่างๆ แต่การดำเนินการของรัฐบาลต้องจำเพาะเจาะจงตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดเช่นนั้น ไม่ใช่กวาดล้างแบบเหมาเข่ง เหวี่ยงแห มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายแล้วก็ไม่รับผิดชอบ หรือพยายามสร้างภาพคนเสื้อแดงให้เป็นฝ่ายบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นภัยต่อความสงบสุขของบ้านเมือง



นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ทัศนคติเช่นนั้นได้กลายเป็นทัศนคติของชนชั้นนำไทยตลอดมา และกำลังเป็นทัศนคติที่ทำให้รัฐไทยกลายสภาพเป็น “รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว” ภาพกระบวนการยุติธรรมไทยแต่ก่อนคนไม่เชื่อถือตำรวจ แต่ขณะนี้ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แทบจะไม่เหลือความน่าเชื่อถืออีกต่อไป

ต่อให้ดำเนินคดีกับสื่อและมือเผยแพร่คลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญได้ ต่อให้ร้องขอให้สังคมยอมรับคำตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ (ที่จริงสังคมต้องยอมรับอยู่แล้ว) จะบังคับหรือร้องขอให้สังคม “เชื่อถือ” ในความสุจริตยุติธรรมของศาลได้หรือครับ?

ผู้พิพากษาซึ่งมีบทบาทรักษาระบบนิติรัฐ ปกป้องความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชน หากสังคมไม่เชื่อถือในเรื่องความสุจริต และการอำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมแก่ทุกฝ่ายในมาตรฐานเดียวกัน จะมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไปได้อย่างไร?

และใน “รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว” และ/หรือ “รัฐที่ความน่าเชื่อถือของทุกสถาบันล่มสลาย” การเล่นละครปฏิรูปประเทศ ปรองดอง จงรักภักดี สมานฉันท์ สามัคคี คือหนทางนำพาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เสรีภาพ ประชาธิปไตยไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สู่สังคมสมดุล มีความมั่นคง ยั่งยืน อย่างที่พยายามกล่าวอ้างกันจริงๆ หรือ ?

การพยายามรักษาอำนาจที่ขาดความน่าเชื่อถือ กับยอมคืนอำนาจให้ประชาชนได้แสดงความเชื่อถือในตัวเขาเองผ่านการเลือกตั้ง แล้วเดินหน้าต่อในการฟื้นฟูรัฐให้มีความยุติธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตยจริงๆ อย่างไหนที่ผู้ซึ่งยังมี “ความเป็นมนุษย์” พอเพียงที่จะเคารพเหตุผลของประชาชนส่วนใหญ่พึงกระทำ !


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีโพสต์ความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2010/12/32167



.