http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-19

ประเมินผลงาน..การศึกษาไทยสู่อาเซียน

.
กรณีศึกษา - ปฏิกิริยาออนไลน์เร็ว-แรง เมื่อ "สมเกียรติ" รณรงค์ ไม่ชอบปก "มติชนสุดสัปดาห์"

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประเมินผลงาน วรวัจน์ ลุ้นเหนื่อย...เคลื่อนการศึกษาไทยสู่อาเซียน
คอลัมน์ การศึกษา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 18


ผ่านมาแล้วเกือบ 5 เดือน ที่ *นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) *นางบุญรื่น ศรีธเรศ* รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และ *นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล* รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้เข้ามาบริหารงานการศึกษาในยุครัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

การเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ของ นายวรวัจน์ เป็นที่คาดหวังของคนในแวดวงการศึกษาว่าจะสามารถขับเคลื่อนงานการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะความคาดหวังที่ต้องการให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ย่ำแย่ลง

ตั้งแต่วันแรกที่นายวรวัจน์ เข้ารับตำแหน่ง ได้ประกาศนโยบายที่สำคัญๆ ออกมาหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ การใช้แท็บเล็ต (Tablet) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอน การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษามาดูแลในแต่ละพื้นที่

การบริหารงานแบบรายพื้นที่จะทำให้ในหนึ่งจังหวัดมีมหาวิทยาลัยที่ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยวางแผน นำงานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้อาชีวศึกษา การจัดการศึกษาตาม 7 กลุ่มอาชีพ เป็นต้น


จากนโยบายที่ประกาศออกมาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ สิ่งที่นายวรวัจน์ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การจัดสรรแท็บเล็ตให้กับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามนโยบายของรัฐบาลในโครงการ One Tablet PC Per Child ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 จำนวน 1,623 ล้านบาท นำมาจัดซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนในสังกัด ศธ.

ซึ่งล่าสุดสำนักงบประมาณได้อนุมัติตามที่ ศธ. เสนอ จะทำให้จัดสรรแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 477,561 คน คิดเป็น 62% ของนักเรียนชั้น ป.1 สังกัด ศธ. ทั้งหมด แบ่งเป็น นักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 347,000 คน คิดเป็น 58% ของนักเรียนทั้งหมดในสังกัด สพฐ. ใช้งบประมาณ 1,182 ล้านบาท สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 125,000 คน ใช้งบประมาณ 428 ล้านบาท คิดเป็น 74% ของนักเรียนสังกัด สช. ทั้งหมด และโรงเรียนสาธิต สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 3,791 คน ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่องทดลองใช้แท็บเล็ตในโรงเรียน 5 แห่งทั่วประเทศ ส่วนกระบวนการจัดหาแท็บเล็ต แม้นายกรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ต่อ 1 นักเรียน ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายวรวัจน์ และ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นรองประธานเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรง

และล่าสุด มีความชัดเจนออกมาจาก นายวรวัจน์ ถึงการจัดหาแท็บเล็ตว่า

"ศธ.จะเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พิจารณาใช้วิธีทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน (Government to Government) หรือจีทูจี เพื่อจัดหาแท็บเล็ตในโครงการ One Tablet PC Per Child ของรัฐบาล ที่จะจัดสรรให้กับนักเรียนระดับชั้น ป.1 ซึ่งคราวที่รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางมาเยือนเมืองไทยช่วงปีที่ผ่านมา ได้มอบแท็บเล็ตให้กับโรงเรียนไทยแห่งหนึ่งและมีการระบุว่าหากประเทศไทยต้องการจะใช้แท็บเล็ต ทางจีนก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุน"

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการจัดสรรแท็บเล็ตเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนกำลังจับตาดูอยู่ว่าโครงการนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องไหม และอาจมีใครได้ผลผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีงบประมาณจัดซื้อมหาศาล


อย่างไรก็ตาม นอกจากการผลักดันนโยบายใหม่ๆ ที่นายวรวัจน์ ได้ประกาศไว้แล้ว ก็ยังมีหลายเรื่องที่เป็นนโยบายเดิมสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เช่น นโยบายการฟื้นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ส่งนักเรียนเรียนต่อระดับปริญญาตรีในประเทศและต่างประเทศรุ่นที่ 3 จำนวน 928 ทุน จะคัดเลือกนักเรียนที่ด้อยโอกาสมาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี มารับทุนนี้ไปศึกษาต่อใน 35 ประเทศจากเดิมมีเพียง 18 ประเทศ โดยจะเน้นให้ศึกษาใน 5 กลุ่มสาขา คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ความคิดสร้างสรรค์ บริหารจัดการและวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งโครงการนี้ถูกเว้นวรรคมาแล้ว 2-3 ปี และที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม

ส่วนโครงการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาย้ายคืนถิ่น และโครงการ "พ.ศ.2555 ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ (English Speaking Year 2012)" ที่ต้องการให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนข้าราชการของ ศธ. ให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เพื่อเตรียมการเปิดเสรีอาเซียนในปี พ.ศ.2558 เป็นโครงการใหม่ที่สร้างสีสันให้กับแวดวงการศึกษาเท่านั้น

เพราะไม่ใช่นโยบายหลักที่หลายคนคาดหวังที่อยากเห็นคุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้น



ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการบริหารงานการศึกษาภายใต้การดูแลของนายวรวัจน์ ในรอบ 5 เดือน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า หลายเรื่องที่สำคัญของ ศธ. ไม่ได้นำมาสานต่อหรือให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะ "การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง" ที่ทางคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบข้อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ที่จะต้องมีการผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่นโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ได้ดำเนินการกันมา โดยจัดสรรหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องแบบนักเรียน จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้กับนักเรียนฟรีนั้น ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อเหมือนนโยบายเดิมในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ เพราะก่อนนี้มีกระแสออกมาว่า นายวรวัจน์จะให้นำงบประมาณหนังสือเรียนบางส่วน มาจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียนแทน ซึ่งหากดำเนินการจริง ก็เท่ากับลดความสำคัญของแบบเรียนลง

ส่วนการขับเคลื่อนการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ถือเป็นจุดอ่อนสุด เพราะแทบจะไม่มีความชัดเจนในนโยบายอะไรออกมา อย่างเรื่องการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่นายวรวัจน์ค่อนข้างไม่เห็นด้วย แม้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีมติและต้องการให้นายวรวัจน์ ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัย ที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน ด้านโครงการครูพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกันนั้น ยังเป็นสิ่งที่ชาวอุดมศึกษารอความชัดเจนจาก นายวรวัจน์ อยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 5 เดือน สิ่งที่สร้างความโดดเด่นในผลงานของ นายวรวัจน์ มากที่สุด คือ การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่นายวรวัจน์ได้สั่งการระดมทุกภาคส่วนของ ศธ. ลงไปช่วยเหลือประชาชน

เช่น การให้ครูอาสาสมัคร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ลงไปช่วยชาวบ้านทั้งช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด การจัดนักศึกษาอาชีวศึกษาลงในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แก่นแท้ที่สำคัญของการศึกษาไทย



นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินผลงานของนายวรวัจน์ ว่า "ผลการทำงานของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ถือว่ายังไม่ผ่าน แต่หากผ่านก็ผ่านฉิวเฉียด และคิดว่าต้องใช้เวลาในการประเมินนับปี โดยต้องยอมรับว่า นายวรวัจน์ มีโครงการและนโยบายออกมาเยอะมาก แต่ประสบความสำเร็จยากเพราะนโยบายที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากงานวิจัย หรือกลุ่มวิชาการ ที่มีความมีเหตุมีผล

แต่เป็นนโยบายที่ออกมาสร้างความหวือหวา และที่สำคัญสำเร็จได้ยาก

นอกจากนี้ นโยบายจะเป็นแบบการหักล้างและทิ้งนโยบายเก่าของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่สิ่งที่มองดูสร้างสรรค์และถือว่าสอบผ่าน คือ การมุ่งมั่นในเรื่องอาเซียน การลงไปช่วยน้ำท่วมของ ศธ. จะโดดเด่นกว่ากระทรวงอื่น

"อีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหามาก คือ การโยกย้ายข้าราชการไม่ตรงกับความสามารถ และการแบ่งงานยังมีข้อขัดแย้ง และการทำงานต้องอย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเป็นหลัก หากนโยบายด้านการศึกษาไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนให้ดีแล้ว การศึกษาไทยในปี 2558 เราจะตกยุค ไม่ทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในเรื่องการแข่งขัน การเปิดตลาดเสรีอาเซียนอย่างแน่นอน"

* ทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนการทำงานที่ผ่านมาของนายวรวัจน์ และถือเป็นการบ้านชิ้นใหม่ที่จะต้องกลับมาทบทวนว่าจะขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวสู่คุณภาพได้อย่างไร ในยุคที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมการแข่งขันในการเปิดเสรีอาเซียนในอีกไม่กี่ปี *



+++

ปฏิกิริยาออนไลน์เร็ว-แรง เมื่อ "สมเกียรติ" รณรงค์ ไม่ชอบปก "มติชนสุดสัปดาห์"
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 78


เป็นข่าวฮือฮา โดยเฉพาะในแวดวงออนไลน์

เมื่อ สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตผู้ประกาศข่าว ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 มกราคม ว่า จะหยุดซื้อมติชน ด้วยเหตุผลว่า มติชนสุดสัปดาห์ฉบับปีใหม่ นำเอาภาพ ทักษิณ ชินวัตร มาขึ้นปก

พร้อมข้อความ บุรุษแห่งปี Coming Soon

สมเกียรติคอมเมนต์ว่า บทความที่รองรับปก สั้นเกินไป ไร้สาระที่จะเป็นเรื่องขึ้นปก มติชนไม่ทำการบ้าน

เมื่อเลิกซื้อมติชน ต่อไปนี้จะไปซื้อ โพสต์ทูเดย์ อ่าน

สื่อออนไลน์หลายสำนัก นำเอาคำประกาศของสมเกียรติ ไปถ่ายทอดต่อ อาทิ คมชัดลึก บล็อกโอเคเนชั่น

พร้อมกับความเห็นด่าทอต่อท้าย ประเภทเลิกซื้อมานานแล้ว

แต่ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สมเกียรติดูจะร้อนแรงยิ่งกว่า



ปฏิกิริยาต่างๆ น่าสนใจตรงที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับ "ข้ออ้าง" และ "ข้อวิจารณ์" ของสมเกียรติ ที่ว่าด้วยเนื้อหา ความสมบูรณ์ของบทความที่รองรับปกนี้

แต่น่าจะเป็น "เรื่องอื่น" มากกว่า

มติชนออนไลน์ นำเอาข้อความในเฟซบุ๊กของสมเกียรติมาลง พร้อมกับความเห็นปฏิกิริยาจาก อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน เจ้าของฉายา มูราคามิเมืองไทย

อนุสรณ์ระบุว่า เรื่องการงดซื้อมติชนของ อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล นี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวโบราณครั้งบรมสมกัปป์ได้เรื่องหนึ่ง

ในอดีตนั้นตรงประตูเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์ จะมีแผงหนังสือตั้งติดกำแพงอยู่แผงหนึ่ง

ที่น่าสนใจคือในแผงนี้ล้วนมีแต่หนังสือหนักและยั่วยวนการแสวงหาของนักศึกษายุคนั้นเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นแผงหนังสือที่เปิดเช้าราวสิบโมงและปิดแผงไปในช่วงบ่าย

ช่วงเวลาเที่ยงที่นักศึกษาออกมาหาอาหารกลางวันทาน แผงนี้จะขายดีแบบแทบไม่เห็นตัวเจ้าของ ช่วงเวลานั้นเองที่หนังสือพิมพ์มติชนกำเนิดมาได้ไม่นาน

การวางเลย์เอาต์แบบหัวนอก ไม่มีรูปอาชญากรรม โป๊เปลือยเป็นจุดขาย ทำให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายยาก จะขายได้แต่เฉพาะนักศึกษาโดยเฉพาะที่แผงริมกำแพงนี้ หนังสือพิมพ์มติชนลงมาเท่าไหร่ทั้งนักศึกษา อาจารย์แย่งซื้อราวแจกฟรี และเป็นที่รู้กันว่าใครถือหนังสือพิมพ์มติชนเดินในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่พวกหัวก้าวหน้าก็ต้องเป็นนักกิจกรรมตัวเอ้

ข่าวใหญ่ๆ ที่มติชนเล่น และได้รับการตอบรับจากนักศึกษาช่วงนั้นมากมีหลายข่าว เช่น การคัดค้านการขึ้นค่ารถเมล์ หรือการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน เป็นต้น

กาลเวลาผ่านไปแผงหนังสือนั้นต้องล้มหายตายจากเพราะการปรากฏตัวของร้านดอกหญ้าที่แอร์เย็นและมีหนังสือให้เลือกมากกว่า

ส่วนมติชนก็กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใครก็อ่านได้ไม่น่ากลัวเหมือนดังก่อน ทว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ มติชนสุดสัปดาห์ ที่ถือว่าเป็นยอดของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ครบทุกรส และดูจะเข้าถึงคนทุกกลุ่มมากกว่าในอดีตด้วยซ้ำ

กาลเวลาผ่านไปอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา มติชนสุดสัปดาห์ กลายเป็นหนังสือที่ไม่ใช่สำหรับคนชั้นนำทางความคิด หากแต่กลายเป็นสื่อความคิดโดยแท้

ภาพของหญิงวัยกลางคนต่างอำเภอที่มาถามหามติชนถึงตลาดบางบัวทอง ภาพของชายวัยชราที่เพ่งอ่านมติชนสุดสัปดาห์ในรถโดยสาร ปาย-แม่ฮ่องสอน เป็นภาพที่ทำให้ผมหยุดมองและครุ่นคิดถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น

นี่อาจจะเป็นยุคสมัยที่แท้ ที่มติชนคือ มติ-ชน ที่ชนและเป็นของปวงชนจริงๆ

จนอาจทำให้แฟนเก่าเฉพาะกลุ่มที่สงวนมติชนไว้ให้ตนเองกำลังเจ็บปวดกับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็เป็นได้มิใช่หรือ?

นั่นคือความเห็นจากเจ้าของสมญา "มูราคามิเมืองไทย"



ส่วนในเว็บบอร์ดประชาทอล์ก "prakobna" เข้ามาโพสต์เมื่อวันที่ 6 มกราคม ว่า "ไม่ต้องเขียนอะไรก็ได้"

"...ไม่ต้องเขียนอะไรก็ได้ เขียนอย่างเดียว ว่าบุคคลแห่งปี ประชาชนเขาก็เข้าใจแล้ว ยิ่งมีคำว่า เดี๋ยวจะกลับมา ประกอบด้วย ประชาชนยิ่งตื่นเต้น"

"...เหตุผลที่กล่าวอ้างนั้นก็พอฟังได้ แต่ก็แน่ละ เมื่อต้องการหาเรื่องโจมตี อะไรๆ ก็นำมาอ้างได้"

อีกล็อกอิน "somanyl "ทุบมาสั้นๆ ว่า "...นิสัยสื่อ ที่คิดเอาเองว่า ความคิดกรูคือความคิดปวงชน"

ต่อเนื่องกัน "Mr.Freeborn" "...ผมเริ่มเมื่อเย็นนี้...ซื้อ "ข่าวสด-มติชน" 2 ฉบับเลย และจะซื้อทุกๆ วันตลอดไป"

"ก่อนหน้านี้ ซื้อ แต่ไม่ทุกวัน เพราะระยะหลังมีปัญหากับการอ่านหนังสือ (เคยผ่าสลายต้อและยาว-สั้น-เอียง) จึงหันมาตามข่าวทางเน็ต ต่อสายขึ้นจอใหญ่ 32 นิ้ว ให้อ่านสบายตา"



อีกความเห็นจาก "สายลมรัก" ปรากฏในหลายเว็บบอร์ด รวมถึง บ้านราชดำเนิน และประชาทอล์ก

จั่วหัวกระทู้เมื่อวันที่ 7 มกราคม ว่า ขอแสดงความเห็นเรื่องของคุณสมเกียรติ กับ มติชน หน่อยเถอะ

ครุ่นคิดอยู่ว่า เรื่องนายสมเกียรติ ออกมาเขียนใน FB เชิงเชิญชวนให้บอยคอตหนังสือพิมพ์มติชนนั้น

ควรหยิบยกขึ้นมาเขียนดีมั้ย

เปล่าไม่ใช่ "กลัว" หรือ "รู้จัก มักคุ้น" นายสมเกียรติ เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด

แค่มองว่าสื่อค่ายนี้ (โดยเฉพาะ มติชนรายสัปดาห์) เป็นสื่อที่สะท้อนข้อเท็จจริงในสังคมนี้ได้ตรงที่สุดเป็นอย่างยิ่ง ก็เท่านั้น

ลองมอง การวางน้ำหนักของคู่ขัดแย้งในสังคม ของนักเขียนอย่าง เสฐียรพงษ์ วรรณปก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือ นงนุช สิงหเดชะ หรืออดีต รมต. ขิงแก่ อย่าง วรากรณ์ สามโกเศศ และอีกหลายๆ คน ไว้เทียบกับ หนุ่มเมืองจันท์ ผู้หาญกล้าเขียนเรื่องการเมืองอย่างไม่เครียด คือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในโรงเบียร์ หรือ คำ ผกา "นางฟ้าของไพร่" หรือคอลัมน์ แลหนังไทย

นั่นเป็นการนำเสนอความคิดเห็นทั้งสองด้านให้ผู้อ่านได้ใช้รอยหยักในสมอง คิดตาม นั่นคือสิ่งที่ควรทำในฐานะ สื่อสารมวลชน ที่มติชนรายสัปดาห์ ได้ทำและนำเสนอให้ประชาชนเลือกเสพมานานแล้ว

แต่ผมค่อนข้างแปลกใจ กับอาการของนายสมเกียรติ ที่เรียกร้องในฐานะสื่อคนหนึ่งว่า มติชนกลายเป็นทาสรับใช้ เพียงแค่วิพากษ์การเมือง ไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองคิด

โดยไม่มีรากฐานของเหตุผล และมาจากอารมณ์อันฉุนเฉียวสุดประมาณของนายสมเกียรติเอง โดยเฉพาะ

นายสมเกียรติคงแกล้งมองไม่เห็น และไม่กล้าพูดถึงบางฉบับ

การกระทำการบิดเบือน ใส่ร้าย และนำเสนอความคิดของตนเองอย่างไร้จรรยาบรรณใน น.ส.พ.บางฉบับ

ตัวอย่างเช่น การตกแต่งภาพ นำเอารูปนักร้องเพลงคันหู มาประกบกับรูปนายกฯ ส่อไปในทางลามก

และอีกฉบับที่กำลังกระทำตัวเป็นหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เที่ยวกล่าวหาคนโน้น คนนี้ ด้วยข้อหาล้มเจ้า

นายสมเกียรติ กลับไม่นำพา และแสดงความคิดเห็น ในฐานะสื่อมวลชนออกมาบ้าง

สายลมรักสรุปข้อเขียนว่า ความพยายามของสมเกียรติคงไม่บรรลุผล

ก่อนทิ้งท้ายด้วยสายลมคันๆ แซ่บๆ ตามสไตล์ ...ว่ายังไง ต้องลองไปติดตามอ่านในเว็บบอร์ดตามที่กล่าวมาข้างต้นได้โดยพลัน



.