.
วิกฤติอาหารและสิ่งแวดล้อม : อดีตและปัจจุบัน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 39
วิกฤติอาหารและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน ตั้งแต่เมื่อแรกมีอารยธรรม โดยมีเรื่องเล่าขานและการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรบรรยายเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นประการต่างๆ
วิกฤติเหล่านี้เป็นสิ่งควบคู่กับอารยธรรมมนุษย์ ส่วนหนึ่งเกิดจากการแปรปรวนทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ที่สำคัญเกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ได้แก่ การลงหลักปักฐานอยู่อาศัยกันอย่างแออัด เป็นการใช้ทรัพยากรในที่นั้นๆ มากเกินไป หรือไม่ก็ต้องเผชิญกับวัฏจักรของการแปรปรวนทางธรรมชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
วิกฤติดังกล่าว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยทั่วไปไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนัก โดยพื้นฐาน เป็นเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก หรือขยายพื้นที่เกษตรรองรับเมืองที่ขยายตัวไป เรื่องมลพิษทางอากาศในเขตเมืองที่ผู้คนอยู่อย่างแออัด มีการทำหัตถกรรมและอุตสาหกรรมหนาแน่น เพียงแต่ว่ามันเพิ่มความกว้างขวางรุนแรงขึ้นเท่านั้น
ความซ้ำซากของวิกฤติ แสดงว่ามนุษย์ไม่สามารถเก็บรับบทเรียนจากอดีตได้เท่าใดนัก
ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าเมื่อมีการแจ้งเตือนในประเด็นเหล่านี้ ก็มักปฏิเสธไม่เชื่อถือ คงปฏิบัติต่อไปเหมือนเดิม วิกฤติจึงหมุนรอบรุนแรงขึ้นทุกที จนกลายเป็นวิกฤติระดับโลก
บางตัวอย่าง
ของวิกฤติสิ่งแวดล้อมและอาหารในอดีต
ในที่นี้จะขอยก 4 ตัวอย่าง เริ่มตั้งแต่อาณาจักรยุคแรกราว 7 พันปี ตามด้วยจักรวรรดิโรมัน การปฏิวัติอุตสาหกรรมในตะวันตก และช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
1) อาณาจักรสุเมอร์หรือสุเมเรียน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเมืองขนาดใหญ่แรกสุดของโลก อยู่ทางตะวันออกกลางปัจจุบัน อายุราว 7 พันปีมาแล้ว มีการทำการเกษตรแบบเข้มข้นตามเทคโนโลยีขณะนั้น ได้แก่ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ระบบชลประทานซับซ้อน และใช้แรงงานที่เชี่ยวชาญ ซึ่งดูก็ไม่ต่างกับในปัจจุบันนี้มากนัก
มีมหากาพย์แห่งเจ้าชายกิลกะเมชที่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในปี 2700 ก่อนคริสตกาล บรรยายถึงป่าสนซีดาร์อันกว้างไพศาล เจ้าชายกิลกะเมชไม่เชื่อฟังพระเจ้า สั่งตัดป่าไม้ พระเจ้าพิโรธสาปให้เกิดไฟ (หรือความแห้งแล้ง) ขึ้นมาผลาญทำลาย
อีก 600 ปีต่อมามีบันทึกของชาวสุเมเรียนคนหนึ่งว่า "แผ่นดินกลายเป็นสีขาว" อารยธรรมนี้ต้องอพยพขึ้นเหนือสู่บาบิโลนและอัสซีเรีย และอาณาจักรเหล่านี้ก็ทำผิดซ้ำอีก
ทุกวันนี้การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนการขยายเมืองและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมือง และการทำเหมืองแร่ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
2) จักรวรรดิโรมัน มีกรุงโรมเป็นมหานครของโลก มีมลพิษทางอากาศเป็นสำคัญ ทั่วเมืองมีกลิ่นและน้ำเสียเหม็นคลุ้งจากขยะ ท่อระบายน้ำ และอุตสาหกรรม เช่น การหลอมแร่และการฟอกหนัง อากาศเสียในเมืองใหญ่ที่เนื่องด้วยอุตสาหกรรมและการขนส่งยังต่อเนื่องมาจนถึงสมัยใหม่ เช่น กรุงลอนดอน นิวยอร์ก ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ในสมัยโรมันยังพบคนงานในเหมืองแร่ตะกั่วและปรอทเจ็บป่วยมาก พลูตาร์กนักประวัติศาสตร์โรมันกล่าวว่าควรนำทาสที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้นมาทำงานในเหมืองนี้ กล่าวได้ว่าเป็นรายงานโรคจากอาชีพรุ่นแรกๆ
ในสมัยโรมันยังมีการใช้ตะกั่วเป็นสารให้ความหวาน ใช้ทำเหล้าไวน์หวานที่ชนชั้นสูงของโรมนิยมดื่ม ซึ่งพิษจากสารตะกั่วในหมู่ชนชั้นสูงเหล่านี้ กล่าวกันว่าเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้จักรวรรดิโรมันล่มสลาย
ในปัจจุบันการปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งน้ำไม่สะอาด ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
3) ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม (ราวปี 1810-1890) มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจได้แก่
- ปี 1811 เกิดการลุกขึ้นสู้ของกรรมกรทอผ้าในอังกฤษเข้าทำลายเครื่องจักรทอผ้าที่เจ้าของกดค่าแรง สำหรับเจ้าของเครื่องทอผ้าที่ไม่กดค่าแรงไม่ถูกทำลายเครื่องจักร ทางการใช้ทหารถึง 12,000 คนเข้าปราบปราม นี่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกๆ ที่มวลชนต่อต้านเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้คนบางส่วน กระแสต่อต้านเทคโนโลยีเชิงหากำไรยังคงดำเนินอยู่ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ( 1812-1870) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ เขียนนวนิยายหลายเล่มเกี่ยวกับชีวิตที่ทุกข์ยากของคนจนอังกฤษ
- ปี 1815 ทางการอังกฤษออกกฎหมายธัญพืช เก็บภาษีสูงแก่ธัญพืชที่นำเข้า เป็นการปกป้องการเกษตรและเจ้าที่ดินของอังกฤษ ต่อมาได้ยกเลิกในปี 1848 ซึ่งไม่ใช่เพราะมีความคิดเสรีทางการค้า แต่เกิดจากการอดอยากใหญ่ที่ไอร์แลนด์ เนื่องจากเกิดโรคระบาดในมันฝรั่งที่ใช้เป็นอาหารสำคัญ ในปี 1845 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.5 ล้านคนจากความอดอยาก และโรคที่เนื่องจากความโหยหิว การเลิกกฎหมายธัญพืชจึงสายเกินไป ในปี 1849 มีชาวไอร์แลนด์นับล้านคนอพยพออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่เดินทางไปสหรัฐ
การเข้าแทรกแซงการค้าธัญพืชในรูปแบบต่างๆ เช่น กำหนดโควต้า ตั้งกำแพงภาษี การอุดหนุนเกษตรกร ไปจนถึงการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ในปัจจุบันก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งต่อเนื่องกันมาจากกฎหมายธัญพืชของอังกฤษ โดยผู้เสียหายสำคัญ ได้แก่ ผู้คนและประเทศที่อยู่ชายขอบ
- ปี 1848 เกิดการลุกขึ้นสู้ของกรรมกรและชาวนาทั่วทวีปยุโรป สืบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของลูกจ้างในชีวิตปรกติและในโรงงานย่ำแย่ ต้องทำงานหนักวันละกว่า 8 ชั่วโมง การลุกขึ้นสู้นี้ผสานไปกับแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลในขณะนั้น จนถึงทุกวันนี้การลุกขึ้นสู้ของกรรมกรชาวนา คนยากคนจนอันเนื่องจากเหตุปัจจัยเดิมๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก เพียงแต่อุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นความคิดชี้นำเหมือนเดิม
- ปี 1849 เกิดอหิวาตกโรคระบาดที่นครนิวยอร์ก มีผู้เสียชีวิตราว 5 พันคน ส่วนใหญ่เป็นชาวไอร์แลนด์ที่ยากจน สภาพเช่นนี้ในปัจจุบันไม่ปรากฏในประเทศพัฒนา แต่ยังเกิดในประเทศที่ยังยากจนอยู่
- ปี 1859 ขุดน้ำมันขึ้นครั้งแรกที่เพนน์ซิลเวเนียสหรัฐ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคน้ำมัน ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงินขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญทำให้เกิดสงครามกลางเมืองสหรัฐ ปี 1861 ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง การขยายตัวทางอุตสาหกรรมนี้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศรุนแรง
- ปี 1862 ตั้งกระทรวงเกษตรสหรัฐซึ่งขณะนั้นประชากรราวร้อยละ 90 เป็นเกษตรกร ทำให้การเกษตรสหรัฐเป็นแบบอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว
- ปี 1873 เกิด "หมอกมรณะ" ที่กรุงลอนดอน" มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,150 คนในเวลาเพียง 3 วัน ต่อมาเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีกหลายครั้ง
- ปี 1881 นอร์เวย์พบสัญญาณฝนกรดเป็นครั้งแรกในชายฝั่งด้านตะวันตก
- ปี 1889 เขื่อนที่เมืองโจห์นส์ทาวน์แตก เนื่องจากฝนตกหนัก ชาวเมืองเสียชีวิตกว่า 2,200 คน
4) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงทศวรรษ 1950 มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่
ก) การพัฒนาอาวุธและพลังงานนิวเคลียร์ โดยในสิงหาคม 1945 ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่น ปี 1947 เกษตรกรฝรั่งเศสต่อต้านการสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ปี 1954 ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่เกาะบิกินี มีชาวประมงญี่ปุ่นได้รับสารกัมมันตรังสีเสียชีวิต 1 คน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดกระแสต้านอาวุธนิวเคลียร์
ปี 1956 เปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ครั้งแรกที่อังกฤษ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่สร้างเพิ่มขึ้นทั่วโลก ได้เกิดอุบัติเหตุเป็นระยะ ที่ร้ายแรงที่สุดน่าจะได้แก่โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่ยุติ
ข) มลพิษทางอากาศที่ร้ายแรง ปี 1948 คน 600 คน ตายในหมอกมรณะที่กรุงลอนดอน และเกิดหมอกควันที่เพนน์ซิลเวเนีย คนตาย 20 คน อีก 600 คน เข้าโรงพยาบาล มีคนได้รับผลนับพัน ปรากฏหมอกควันเป็นพิษในหลายเมืองของสหรัฐ เช่น ลอสแองเจลิส และนิวยอร์กด้วย ปี 1953 นักฟิสิกส์สหรัฐ กิลเบิร์ต เอ็น. แพลส เสนอเอกสารว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศจากการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันอาจทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกและโลกร้อนขึ้นได้
ค) การปนเปื้อนทางอาหาร เนื่องจากใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงมาก รวมทั้งการขยายตัวของโครงงานอุตสาหกรรมเคมี
ที่เป็นข่าวไปทั่วโลก ได้แก่ การเกิดโรคสารพิษตะกั่ว "โรคมินามะตะ" ที่หมู่บ้านชาวประมงที่ญี่ปุ่น ปี 1956 (ดู Environmental History Timeline ใน environmentalhistory.org)
การเกษตรสมัยใหม่กับสิ่งแวดล้อม
: กรณีประเทศยูกันดา
การเกษตรสมัยใหม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในที่นี้จะยกกรณีประเทศยูกันดาเป็นตัวอย่าง
ยูกันดาเป็นประเทศไม่ติดทะเลอยู่ทางด้านแอฟริกาตะวันออก มีประชากรราว 35 ล้านคน ปลูกกาแฟเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ เป็นประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงบ่อยๆ เนื่องจากความไม่สงบและความไม่มั่นคงทางการเมืองและการแทรกแซงจากภายนอก แม้ว่าจะมีทรัพยากรแร่ธาตุ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติและดินที่อุดมสมบูรณ์ มีฝนตกพอเพียง ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นพันธมิตรกับตะวันตก
มีบทความของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรได้สรุปประเด็นปัญหาการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของประเทศยูกันดาไว้ สรุปได้ดังนี้
1. การเกษตรสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติทางการเกษตรกับสิ่งแวดล้อมเสียสมดุล ก็ส่งผลเสียกระทั่งกลายเป็นวิกฤติทั้งต่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเอง
วิกฤติสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำการเกษตรในเวลาเพียงปีเดียว แต่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาหลายสิบปี
ความเชื่อผิดๆ ว่า มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เต็มไปหมด แต่การแย่งชิงพื้นที่ทำกินและแหล่งน้ำที่เพิ่มขึ้นแสดงว่าไม่เป็นเช่นนั้น และทรัพยากรธรรมชาติมิใช่เป็นเพียงของเรา แท้จริงเป็นของลูกหลานเราด้วย
2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เนื่องจากการเกษตร ได้แก่
(1) การเสื่อมของที่ดินและหน้าดิน จาก ก) การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเป็นพื้นที่การเกษตร ข) การปล่อยสัตว์กินหญ้ามากไป มีชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ทั่วไป รัฐบาลกำลังหาทางให้ตั้งหลักปักฐาน แต่ก็เป็นวิถีชีวิตของชนเผ่าเหล่านี้ ทั่วแอฟริกามีชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ราว 20 ล้านคน ค) การปลูกพืชซ้ำซากในพื้นที่เดียว ง) ไฟป่า จ) การขุดทรายและดินลูกรัง
(2) การใช้พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) มากเกินไป โดยการระบายน้ำเพื่อใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ และเพื่อปลูกข้าวและผักรวมทั้ง การทำอิฐเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคาร
(3) มลพิษต่อแหล่งน้ำ ที่ดิน และอากาศ การปนเปื้อนสารเคมีที่ใช้ในไร่นาเพื่อควบคุมโรคพืชและสัตว์ กำจัดวัชพืชมีผลกระทบต่อชีวิตพืชและสัตว์ในสิ่งแวดล้อม สารเคมีที่ใช้มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์เอง
(4) การจับปลามากเกินไป
(5) การบุกรุกเขตป่าสงวนได้แก่อุทยานแห่งชาติและเขตเพาะเลี้ยงสัตว์
3. แนวทางแก้ไข สิ่งสำคัญพื้นฐาน ได้แก่ ที่ดินและแหล่งน้ำ รวมถึงหน้าดิน พืช และสัตว์ที่อาศัยอยู่ ซึ่งจะต้องให้เกษตรกรได้เข้าถึงอย่างพอเพียง ที่เหลือเป็นการแก้ปัญหาตามแต่ละชนิด (ดูบทความของ Victoria Sekitoleko รัฐมนตรีเกษตรแห่งยูกันดา ชื่อ Resolution of Conflicts Between Agriculture and Environment Protection in Uganda ใน njas.helsinki, 1993)
บทความข้างต้นได้ถูกเขียนมาเกือบ 20 ปีแล้ว สถานการณ์การเกษตรและสิ่งแวดล้อมของยูกันดาดูเหมือนมีแต่ทรงกับทรุด ครัวเรือนจำนวนมากยังต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร
สะท้อนว่าวิกฤติอาหารจำต้องแก้ไขในระบบที่ใหญ่กว่าตัวมัน
++
วิกฤติอาหารและสิ่งแวดล้อม : ความยากเข็ญที่กำลังแผ่ไปทั่วโลก
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 40
วิกฤติอาหารปี 2008 ที่เกิดร่วมกับวิกฤติน้ำมันและวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ นับเป็นจุดพลิกผันของสถานการณ์อาหารโลก
นั่นคือในช่วงราว 100 ปีมานี้มนุษย์สามารถเพิ่มผลผลิตอาหารราคาถูกสนองแก่ประชากรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง
ในห้วงเวลาดังกล่าว แม้จะเกิดข้าวยากหมากแพงเป็นช่วงๆ และในบางพื้นที่โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็จำกัดในวงแคบ และบรรเทาไปได้เป็นจุดๆ
แต่วิกฤติอาหารปี 2008 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันได้กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ-การเมืองโลก ที่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนในหลายมิติ
หมายถึงว่าวิกฤตินี้จะมีความยืดเยื้อ และมีแนวโน้มหนักขึ้น ก่อให้เกิดยากเข็ญขึ้นทั่วโลก
โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและคนยากคนจน
ดัชนีราคาอาหาร-ดัชนีวิกฤติอาหาร
ที่เรียกว่าวิกฤติอาหารพื้นฐานก็คืออาหารราคาแพงและเข้าถึงได้ยาก ทำให้ผู้คนที่ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารตั้งแต่ราวร้อยละ 40 ของรายได้ขึ้นไป ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเดือดร้อนไม่น้อย คนยากจนในบางประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้จ่ายเงินถึงร้อยละ 80 ในการซื้อหาอาหารก็ยิ่งทุกข์ยากลำเค็ญเป็นอันมาก
อาการของวิกฤติอาหารแสดงออกหลายประการ ได้แก่ การอดอยากและอดตาย การขาดสารอาหารเรื้อรังจนสุขภาพอ่อนแอและตายง่าย การได้รับอาหารและน้ำไม่สะอาด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายสำคัญในหลายประเทศกำลังพัฒนา การอพยพที่เนื่องจากอาหารและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการลุกขึ้นสู้และก่อการจลาจล วิกฤติอาหารจึงส่งผลระทบรุนแรงต่อการเมือง-สังคมโลก
เครื่องมือในการสังเกตวิกฤติอาหารที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาอาหาร ซึ่งมักใช้ตัวเลขขององค์การอาหารและการเกษตร สหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ นอกจากนี้ ก็มีธนาคารโลกที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้
เอฟเอโอได้ทำดัชนีราคาอาหารย้อนไปถึงปี 1900 นานกว่า 100 ปี นานพอที่จะเห็นรูปแบบของราคาอาหารโลก
ตัวเลขในช่วงแรกน่าจะเน้นในประเทศตะวันตก ต่อมาจึงรวมประเทศกำลังพัฒนาเข้าด้วยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการจัดตั้งธนาคารโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ดัชนีราคาอาหารโลกก็ยังสามารถดูได้ง่ายๆ ที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่กรุงนิวยอร์กอันเป็นตลาดใหญ่ที่สุด
ดัชนีราคาอาหารของเอฟเอโอดังกล่าว ได้กำหนดให้ดัชนีปี 1977-1979 เท่ากับ 100 และแสดงในภาพกราฟ ซึ่งเห็นได้ว่าในรอบ 100 ปีมานี้ ดัชนีราคาสำคัญลดลงโดยทั่วไป และมีจุดดัชนีพุ่งสูงเป็นช่วงๆ ได้แก่ ในปี 1913 พุ่งสูงกว่า 300 ทั้งนี้ เนื่องจากการเตรียมทำสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่แล้วก็ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเหลือไม่ถึง 180
ดัชนีราคาอาหารพุ่งขึ้นสูงอีกครั้งอยู่ที่กว่า 230 ในปี 1951 อันเป็นช่วงที่มีการบูรณะประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้น ดัชนีราคาอาหารก็ลดต่ำลงโดยลำดับเป็นเวลากว่า 20 ปี
ส่วนหนึ่งจากการปฏิวัติเขียว ที่กล่าวกันว่าใช้พันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง แต่เหตุปัจจัยที่สำคัญกว่า ได้แก่ การเพิ่มการใช้ปุ๋ยและน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวกันว่าอาจสูงถึงร้อยละ 70
การใช้ปุ๋ยและน้ำมากขึ้นหมายถึงต้องใช้ระบบชลประทานและปุ๋ยเคมีที่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเกษตรและอาหารโลกจึงไปโยงใยกับราคาเชื้อเพลิงมากขึ้นทุกที
ดัชนีราคาอาหารพุ่งกระฉูดอีกครั้งในปี 1974 อยู่ที่กว่า 230 เนื่องจากวิกฤติน้ำมัน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าการผลิตอาหารโลกขึ้นอยู่กับน้ำมันมากเพียงใด
หลังจากนั้น ราคาอาหารก็ลดต่ำลงอีกราว 30 ปี เมื่อราคาน้ำมันลดลง และพุ่งสูงอีกครั้งในปี 2008 ที่เกิดวิกฤติน้ำมันและเศรษฐกิจโลก (ดูเอกสารของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติหรือ unep ชื่อ The Environmental Food Crisis - The environment"s role in averting future food crises ใน unep-wcmc.org เผยแพร่เดือนกุมภาพันธ์ 2009)
อนึ่ง ดัชนีราคาอาหารนี้ยังสามารถใช้วัดว่าประเทศใดจะเกิดจลาจลจากอาหารราคาแพงหรือไม่ระดับหนึ่ง และน่าจะใช้วัดไปถึงทั้งโลกได้
อัตราการเพิ่มผลผลิตการเกษตรที่ลดลง
: ความจำกัดของความสมบูรณ์ของที่ดินและน้ำ
การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เป็นอาหารในรอบ 40 กว่าปีนี้ ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งเหมือนกับเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของที่ดินแบบป้อนเข้าจากภายนอก และการเพิ่มการใช้น้ำอย่างมาก ดังจะเห็นว่าระหว่างปี 1961-2009 พื้นที่ทำเกษตรโลกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 12 แต่ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 150 เนื่องจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในพืชผลสำคัญ
อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราการขยายตัวของผลผลิตได้ลดลงโดยลำดับ จนในปัจจุบันอัตราการขยายตัวของผลผลิตลดลงราวครึ่งหนึ่งของที่เคยเป็นมาในช่วงการปฏิวัติเขียว
ทำให้เกิดความไม่สมดุลรุนแรงระหว่างความต้องการที่ดินและแหล่งน้ำกับการมีที่ดินและแหล่งน้ำที่ใช้ได้ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
พื้นที่เพาะปลูกที่ผลิตได้ถึงจุดสูงสุดมีมากขึ้น นี่นับว่าเป็นทางตันใหญ่ ถ้าหากฝ่าไม่สำเร็จ ภาวะวิกฤติอาหารยืดเยื้อก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างมาก สืบเนื่องจากการเสื่อมโทรมของพื้นที่การเกษตรและการขาดแคลนน้ำ
ในด้านพื้นที่นั้นพบว่า พื้นที่เพาะปลูกในโลกนี้ราวร้อยละ 25 เสื่อมด้อย (Degrade) รุนแรง ร้อยละ 8 เสื่อมด้อยปานกลาง ร้อยละ 36 อยู่ในสภาพเสถียรหรือเสื่อมลงเล็กน้อย มีเพียงร้อยละ 10 ที่ดีขึ้น ที่ดินที่เหลือร้อยละ 18 รกร้างว่างเปล่า อีกร้อยละ 2 น้ำท่วมขัง
สภาพดินเสื่อมเกิดขึ้นในทุกทวีปเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกของอเมริกา พื้นที่ตอนใต้ของยุโรปติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาตอนเหนือไปจนถึงซาเฮล (ดินแดนเชื่อมต่อระหว่างทะเลทรายสะฮาราและทุ่งหญ้าซาวานาซูดาน) และจะงอยแอฟริกา และทั่วทั้งทวีปเอเชีย
ความเสื่อมโทรมที่สำคัญ ได้แก่ การสูญเสียคุณภาพดิน ตามด้วยการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการหมดไปของแหล่งน้ำ
อนึ่ง พื้นที่การเกษตรที่ดีที่สุดในโลกมีราว 1.6 พันล้านเฮกตาร์ ปรากฏว่าส่วนหนึ่งของที่ดินนี้ได้เสื่อมโทรมลงจากการทำการเกษตรยาวนาน เกิดการสูญเสียสารอินทรีย์ หน้าดินแข็ง ดินเค็มและมีมลพิษในดิน และการสูญเสียสารอาหาร
การเสื่อมโทรมของพื้นดินกระทบต่อประชากรทุกระดับ ที่สำคัญในประเทศยากจน
โดยร้อยละ 40 ของพื้นที่การเกษตรที่เสื่อมโทรมปรากฏในดินแดนที่มีอัตราความยากจนสูง
ร้อยละ 30 อยู่ในดินแดนที่มีระดับความยากจนปานกลาง
และร้อยละ 20 อยู่ในดินแดนที่มีอัตราความยากจนต่ำ เหล่านี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ที่ดินสูงขึ้น เช่นเดียวกับอันตรายต่อสุขภาพจากมลพิษ เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากทิ้งที่ดินทำกิน
สำหรับแหล่งน้ำก็ถูกกดดันสูงจากการใช้ที่เพิ่มขึ้นและมลพิษทั้งในน้ำ บนดินและน้ำใต้ดิน จนคาดว่าจะเกิดสงครามแย่งน้ำในหลายพื้นที่
การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรที่ดินและแหล่งน้ำมีแนวโน้มดุเดือดรุนแรงขึ้น ทั้งการแข่งขันระหว่างเมืองและภาคอุตสาหกรรมกับการเกษตร และการแข่งขันในภาคการเกษตรเอง เช่น ระหว่างการเลี้ยงสัตว์กับการเพาะปลูก (ดูเอกสารขององค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ชื่อ State of the World"s Land and Water Resource for Food and Agriculture เผยแพร่เดือนพฤศจิกายน 2011)
สาเหตุอื่นๆ ของวิกฤติอาหาร
การเกษตรที่เป็นพื้นฐานของการผลิตอาหารแก่ชาวโลกนั้น ดำเนินไปในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ด้านบวก ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์และความเหมาะสมของ น้ำ สารอาหาร ดิน ภูมิอากาศ ลมฟ้าอากาศ แมลงเพื่อผสมพันธุ์พืชและควบคุมโรคระบาด
ด้านลบ ได้แก่ การเสื่อม,ร่อยหรอของที่ดิน น้ำ ความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ แมลงและสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช การเกษตรจำต้องพยายามเสริมด้านบวกและขจัดด้านลบ อยู่ตลอดเวลาซึ่งต้องลงทุนลงแรงที่มากขึ้นโดยลำดับ ทั้งยังมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องกับการกระทำของมนุษย์ เหล่านี้ทำให้วิกฤติอาหารโลกเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก
พบว่าการผลิตอาหารสำหรับชาวโลก ต้องลดลงหรือเกิดความเสียหายถูกทิ้งขว้างไปปีละจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ประเทศในแอฟริกาหลายประเทศ การสูญเสียธัญพืชหลังเก็บเกี่ยวสูงถึงร้อยละ 25 สำหรับผลไม้ ผัก และพืชหัวที่เสียง่ายกว่า การสูญเสียสูงถึงร้อยละ 50 ในศตวรรษที่ 21 นี้ประมาณว่าการผลิตอาหารโลกอาจเสียหายถึงร้อยละ 25 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ การระบาดของศัตรูพืชและสัตว์ และการเสื่อมสภาพของที่ดิน รวมๆ แล้ว ราวครึ่งหนึ่งของอาหารที่ผลิตขึ้นในโลกต้องเสียหายไป
ความเสียหายเหล่านี้รวมกับเหตุปัจจัยอื่นทำให้สต๊อกธัญพืชลดต่ำลงโดยลำดับ โดยในปี 2008 สต๊อกธัญพืชโลกลดต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี เหลือที่จะนำมาใช้ได้ราวร้อยละ 18.7 หรือเท่ากับมีอาหารสำหรับเลี้ยงชาวโลกได้เพียง 66 วัน
การที่สต๊อกอาหารลดลงกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดอาหารที่มีลักษณะรวมศูนย์ ซึ่งยิ่งเพิ่มความผันผวนแก่ราคาอาหารขึ้นไปอีก
คาดหมายว่าภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า ราคาอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30-50
จะแก้ไขอย่างไรดี
ยูเนปได้เสนอทางเลือกไว้ 7 ประการทั้งในระยะสั้นจนถึงระยะยาว ระยะสั้น เช่น จะต้องป้องกันไม่ให้ราคาอาหารไหวตัวมากเกินไป ระยะปานกลาง เช่น ลดการใช้ธัญพืชและปลาเล็กปลาน้อยเป็นอาหารสัตว์ลง ขจัดการกีดกันการค้าอาหาร ระยะยาว เช่น จำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้สูงเกินไป ดูจะเน้นไปในทางเทคโนโลยี ทางออกของยูเนป ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นในการผลิตอาหาร ซึ่งมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง
ทางด้านเอฟเอโอ เสนอทางแก้ ได้แก่ การใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพขึ้น ปรับปรุงระบบชลประทาน การเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาทางการเกษตร ประมาณว่าระหว่างปี 2007 ถึง 2050 จะต้องใช้เงินลงทุนในการจัดการในประเทศกำลังพัฒนาเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้เงินอีกราว 160 พันล้านดอลลาร์ ในการรักษาและพัฒนาดินและควบคุมน้ำท่วมในช่วงเวลาเดียวกัน ต้องปรับปรุงองค์กรและนโยบายของชาติเกี่ยวกับการเกษตรใหม่
อย่างไรก็ตาม เป็นที่เห็นได้ว่า การแก้วิกฤติอาหารจำต้องแก้ในระบบที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือจำต้องแก้ที่ระบบเศรษฐกิจ-การเมืองโลก ลดทอนการผูกขาดรวมศูนย์ และความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก เน้นการมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะจากประชาชนรากหญ้า เปิดรับความหลากหลาย
หากไม่ทำเช่นนั้น วิกฤติอาหารจะย้อนให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ-การเมืองได้รุนแรงอย่างคาดไม่ถึง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย