.
รายงานเพิ่ม - ฮือฮาอีก! ซีเอ็นเอ็นโก ยก"ชานมเย็น"ของไทย ติดอันดับสุดยอดเครื่องดื่มของโลก
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
มาตรการกำราบรถติดแบบปักกิ่ง
โดย จีระพร จีระนันทกิจ คอลัมน์ จากเมืองจีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 45
รถติด..
ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เมืองใหญ่แทบจะทุกหัวระแหงบนโลกกลมๆ ใบนี้กำลังเผชิญอยู่เมืองหนึ่งที่กำลังปวดเศียรเวียนเกล้ากับปัญหานี้อย่างมาก ก็คือ "ปักกิ่ง"
ในนาทีนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ถนนทุกสาย (โดยเฉพาะถนนเศรษฐกิจ) กำลังมุ่งสู่จีน เพราะเศรษฐกิจจีนนั้น นอกจากจะโตวันโตคืนแล้ว ยังมีคุณประโยชน์ในแง่การช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกไม่ให้ดำดิ่งมากจนน่าใจหายไปกว่านี้ด้วย
และก็ด้วยอัตราการโตวันโตคืนของจีนนี่เอง ที่พัดพาให้เมืองหลวงอย่าง "ปักกิ่ง" ย่างเข้าไปอยู่ในทำเนียบมหานคร (หรือ Metropolitan) อย่างเต็มภาคภูมิมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งหากจะมองไปถึงรากเหตุสำคัญของการขยายใหญ่ของปักกิ่งนั้น น่าจะมีเหตุผลหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่
การเติบโตตามขนาดเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในฐานะศูนย์กลางทั้งด้านการปกครองและเศรษฐกิจที่สำคัญ
นโยบายการขยายอุปสงค์ภายในประเทศที่รัฐบาลจีนนำมาใช้เพื่อช่วยต้านทานวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ครานี้แผ่ขยายมาจากฟากตะวันตก
และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 ที่บันดาลให้ปักกิ่งเปลี่ยนโฉมหน้าไปไม่น้อย
เหล่านี้ล้วนทำให้ปักกิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเติบกล้าขึ้นอย่างน่าสนใจ
(GDP ของปักกิ่งเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.2 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2011 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ในขณะที่ GDP per Capita ต่อหัวของชาวปักกิ่งก็ทะลุ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปตั้งแต่เมื่อปี 2009 แล้ว)
แต่...อนิจจา...ดังเช่นที่ได้เกริ่นไว้แต่ต้นว่า ยิ่งเมืองโตขึ้นเท่าไร ปัญหารถติดก็ตามมาติดๆ เท่านั้น
มหานครอย่าง "ปักกิ่ง" ถือเป็นอีกเมืองใหญ่ที่กำลังประจันหน้ากับปัญหานี้อย่างน่ากลุ้มอยู่ไม่น้อย
จริงๆ แล้ว ปักกิ่งเริ่มเผชิญกับปัญหารถติดมาหลายปีแล้ว
ประเด็นง่ายๆ ก็คือ เพราะคนมีเงินมากขึ้น ทั้งคนจีนที่เป็นชาวปักกิ่ง และคนมณฑลอื่นที่เข้ามาทำงานในปักกิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง นานวันเข้า ปัญหาจำนวนรถก็สะสมเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น... "อภิมหาวิกฤติรถติด" อย่างเต็มตัว
ว่ากันว่าในแต่ละวัน มีปริมาณรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นในปักกิ่งราว 2,318 คัน
นั่นหมายความว่า ในแต่ละปี ปักกิ่งได้ต้อนรับรถใหม่บนท้องถนนมากถึงกว่า 800,000 คัน
นับเป็นปริมาณที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยทีเดียว ในขณะที่ยอดรวมของรถบนถนนปักกิ่งอยู่ที่ประมาณ 4.7 ล้านคัน
บางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า ถนนฉางอัน ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่กว้างถึง 10 เลนของปักกิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนของวัน ก็คือลานจอดรถที่ใหญ่ที่สุดในโลกดีๆ นี่เอง
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปักกิ่งต้องเผชิญกับปัญหารถติดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากฐานะของคนในเมืองที่ขยับสูงขึ้นตามการพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว
ยังเป็นเพราะจีนถือเป็นประเทศผู้ผลิตและตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย (แทนที่สหรัฐอเมริกาไปแล้วด้วยยอดจำหน่าย 18 ล้านคัน เมื่อปี 2010 และเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 32)
ทำให้รถยนต์ที่ผลิตในจีนมีตั้งแต่ราคาย่อมเยา (อย่างเช่นรถยนต์ Chery ที่ตอนนี้ก็ทยอยเข้ามาในตลาดบ้านเราแล้ว) ไปจนถึงรถยนต์เกรดแถวหน้าที่หลายค่ายยักษ์ใหญ่พาเหรดกันเข้าไปตั้งโรงงานในจีน
ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวินัยของผู้ขับขี่บนท้องถนน
ประการหลังนี้ ถ้าใครได้เคยไปเยี่ยมเยือนปักกิ่ง เชื่อว่าคงจะเข้าใจได้เป็นอย่างดีชนิดที่ว่าจินตนาการอาจจะช่วยไม่ได้มากนักในกรณีนี้สำหรับใครที่ยังไม่เคยสัมผัสด้วยตนเอง
อ่านอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าชาวปักกิ่งจะขับรถกันไม่ดี ไม่มีน้ำใจ
แต่คงเป็นวัฒนธรรมและความเคยชินของผู้คนชาวเมืองใหญ่ในปักกิ่งที่ต่างคนต่างเร่งรีบจนสุดกำลัง (กันตลอดเวลา) ทำให้มีเกมวัดใจเกิดขึ้นบนถนนให้ได้ตื่นเต้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ
และก็เป็นผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านท้องถนนที่จัดว่าอยู่ในระดับดี (อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่า ถนนปักกิ่งไม่มีประติมากรรมหลุมบ่อบนพื้นผิวถนนมากเท่าของกรุงเทพฯ แน่นอน) ต้องย่อหย่อนในประสิทธิภาพเพราะแนวทางการขับขี่ของผู้ใช้ไปไม่น้อย
กล่าวถึงปัญหากันไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูวิธีการที่รัฐบาลท้องถิ่นปักกิ่งหยิบขึ้นมาแก้ไขปัญหากันดูบ้าง
รัฐบาลปักกิ่งได้เริ่มจริงจังกับการแก้ไขปัญหาจราจรบนท้องถนนเมื่อปี 2008 ในครั้งที่จีนได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และต้องยกเครื่องปรับปรุงปักกิ่งครั้งใหญ่
ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการนำเข้าไปพิจารณาด้วย โดยได้เริ่มนำมาตรการจำกัดการวิ่งบนท้องถนนของรถโดยดูจากเลขทะเบียนรถยนต์ ด้วยการกำหนดให้เลขทะเบียนที่ลงท้ายด้วยเลขคู่และเลขคี่วิ่งสลับวันกัน
และเชื่อกันว่า วิธีดังกล่าวช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนปักกิ่งได้ถึงร้อยละ 45 ต่อวัน
ทั้งนี้ จริงๆ แล้ว มาตรการดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการจราจรเป็นหลัก แต่เน้นการปรับปรุงสภาพอากาศและมลภาวะของปักกิ่งให้มีค่าเฉลี่ยเป็นไปตามมาตรฐานของโอลิมปิกสากล
อย่างไรก็ดี ก็ต้องนับว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลเอาการอยู่ และเข้าเป้าทั้งด้านมลภาวะและสภาพการจราจร
หลังการแข่งขันโอลิมปิกเสร็จสิ้นลง มาตรการดังกล่าวก็ได้รับการยกเลิกไปท่ามกลางการคาดเดาต่างๆ นานาว่า จะมีการนำกลับมาใช้ใหม่หรือไม่
หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลปักกิ่งก็ได้ประกาศมาตรการใหม่ โดยจำกัดการวิ่งบนท้องถนนของรถยนต์โดยดูจากเลขรถยนต์เช่นกัน แต่ไม่ใช่ในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งอย่างการกำหนดเลขคู่และเลขคี่
หากแต่เป็นวิธีการกำหนดให้ในแต่ละวัน มีเลขท้ายทะเบียน 2 ตัวที่จะไม่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้
เช่น กำหนดว่าทะเบียนที่ลงท้ายด้วยเลข 0 และ 5 ห้ามวิ่งในวันจันทร์ และเลข 1 และ 6 ห้ามวิ่งในวันอังคาร สลับกันไป
ทั้งนี้ บังคับใช้ทั้งกับรถยนต์ของชาวจีนและชาวต่างชาติ (แต่ไม่รวมรถยนต์ของคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศ)
มาตรการดังกล่าวได้รับการบังคับใช้อยู่ระยะใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของรถใหม่บนท้องถนนปักกิ่งได้
ในทางกลับกัน ยังนำมาซึ่งปัญหาหลักอีก 2 ประการ กล่าวคือ บรรดาเศรษฐีผู้มีอันจะกินก็ซื้อรถเพิ่ม เพื่อให้สะดวกกับการใช้สอยได้ไม่เว้นวัน
ในขณะที่บางรายก็ใช้วิธีถอดป้ายทะเบียนในวันห้ามวิ่งออกเสียดื้อๆ และหลบเลี่ยงตำรวจจราจรเอา
จนถึงปี 2010 สถานการณ์รถติดของปักกิ่งก็น่าเป็นห่วงมากขึ้นจนเข้าขั้นวิกฤติและกลายเป็นข่าวคราวออกอากาศอยู่หลายครั้ง ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ นอกจากไม้แข็งที่นำมาใช้แล้ว ก็ยังเพิ่มไม้อ่อนมาช่วยอีกแรง ด้วยการลดค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยระบบคมนาคมพื้นฐานที่รัฐบาลวางไว้
โดยเฉพาะรถเมล์และรถไฟใต้ดิน มีทั้งการเพิ่มสายให้มีรถวิ่งมากขึ้นและให้มีสายเชื่อมโยงถึงมุมต่างๆ ของเมืองมากขึ้น
โดยขยายจากจุดใจกลางเมืองไปจนถึงถนนวงแหวนรอบที่ 5 ซึ่งอยู่รอบนอก และลดราคาค่าโดยสารลงอย่างเห็นได้ชัด
อาทิ ค่ารถเมล์ลดลงจนบางสายบางช่วงมีราคาต่ำกว่า 5 บาท ในขณะที่ค่ารถไฟใต้ดินก็เริ่มต้นที่เพียง 10 บาท เท่านั้น
หากจะถามว่า มาตรการต่างๆ ข้างต้นได้ผลหรือไม่
ก็คงต้องตอบว่าได้ผล แต่ว่าได้ผลเปรียบดังวิตามินเสริม คือได้ผล แต่ไม่ทันใจ ในขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของรถใหม่ยังคงพุ่งพรวดไม่หยุดยั้ง
ทำให้ในที่สุด รัฐบาลปักกิ่งตัดสินใจใช้มาตรการเข้มข้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการจำกัดการออกป้ายทะเบียนรถใหม่ในกรุงปักกิ่งด้วยวิธีการที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนพอควร
อาทิ ในแต่ละเดือน จะมีการออกป้ายใหม่เพียง 20,000 ใบ เท่านั้น และผู้จะขอจดป้ายทะเบียนใหม่จะต้องมีสำมะโนครัวอยู่ในปักกิ่งและต้องขอยื่นจดภายใน 8 วันแรกของเดือน
หลังจากรับคำขอทั้งหมดแล้ว จึงจะจับสลากว่า ใครจะเป็นผู้โชคดีได้รับป้ายทะเบียนใหม่ไป
ทำให้ประมาณการกันว่า ในปี 2011 นี้ จะมีรถใหม่เพิ่มขึ้นบนถนนปักกิ่งเพียง 240,000 คัน ลดลงจากจำนวนที่จดทะเบียนใหม่เมื่อปีที่แล้วถึงเกือบ 4 เท่า
โดยแบ่งสัดส่วนเป็นร้อยละ 88 สำหรับการใช้ในครัวเรือน
ร้อยละ 10 สำหรับรถของภาครัฐและองค์กรต่างๆ
และร้อยละ 2 สำหรับเชิงพาณิชย์
และหากเป็นชาวต่างชาติ จะต้องจ่ายภาษีเงินได้ให้กับจีนเป็นเวลา 5 ปี ติดต่อกันขึ้นไปจึงจะจดทะเบียนรถยนต์ในปักกิ่งได้
หรือหากใครที่มีรถยนต์อยู่แล้ว ประสงค์จะซื้อรถใหม่ ก็ต้องจำหน่ายคันเดิมออกไปก่อน แล้วจึงนำป้ายทะเบียนเดิมมาซื้อรถใหม่และไปขึ้นทะเบียนได้
ดังนั้น ต่อให้รวยเพียงใด ก็ใช่ว่าจะซื้อรถใหม่ได้ง่ายๆ
ต่อมา เพื่อให้มาตรการด้านจราจรเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้เสริมมาตรการที่จะเพิ่มภาระให้กับผู้ที่ยังยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวด้วยการขึ้นราคาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าจอดรถตามสถานที่ต่างๆ (ไม่เว้นแม้แต่ข้างทาง ซึ่งในปักกิ่งมีการเก็บค่าจอดรถตามข้างทางอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และมีใบเสร็จให้ด้วย)
อย่างเช่นค่าจอดรถตามข้างทาง เมื่อราว 4 ปีก่อนจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณชั่วโมงละ 10 บาท แต่ปัจจุบัน กำหนดให้เฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงแรก 50 บาท และชั่วโมงต่อไป 75 บาท
ขอย้ำว่า นี่เป็นค่าจอดรถริมข้างทาง ไม่ใช่ในห้างสรรพสินค้าระดับหรูแต่อย่างใด รัฐบาลปักกิ่งคงหวังว่า
ใครจะเอารถออกจากบ้านก็คงจะต้องคิดกันให้หนักมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังกำหนดเวลาห้ามรถที่ไม่ได้จดทะเบียนในกรุงปักกิ่งเข้ามาวิ่งในตัวเมืองด้วย โดยห้ามวิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน 07.00-09.00 น. และ 17.00-20.00 น. เพื่อลดปริมาณรถยนต์ในช่วงที่การจราจรหนาแน่น
พร้อมกันนั้น รัฐบาลปักกิ่งก็พยายามบังคับใช้กฎจราจรให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นด้วย
มาตรการที่เข้มข้นและเข้มแข็งที่ปักกิ่งเข็นออกมาใช้อย่างใจแข็งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการน่าเป็นห่วงของการจราจรปักกิ่งแล้ว
ยังมีเป้าหมายสำคัญอีกประการคือ เพื่อปรับปรุงสภาพอากาศของปักกิ่งให้ดีขึ้นด้วย
เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว
เพราะเรื่องสภาวะมลพิษทางอากาศของปักกิ่งก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้รัฐบาลมังกรได้รับการประณามอยู่เนืองๆ ทั้งจากในและนอกประเทศ
ได้ทราบถึงแนวทางของจีนไปแล้ว รัฐบาลไหนจะเอาตามอย่างบ้าง เชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งก็คงไม่หวงห้ามขึ้นลิขสิทธิ์ไว้
แต่ประเด็นคงอยู่ที่การจะเข็นกฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างไรให้ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ยอมรับได้...
เพราะคงไม่ใช่ทุกที่บนโลกใบนี้ที่รัฐบาลจะ "สั่งได้" เหมือนจีน...
++
"วันสู่วัยผู้ใหญ่" อนาคตจากนี้จะเป็นฉันใด?
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 46
ใกล้ๆ กับ "วันเด็ก" ของไทยที่ตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมทุกปีจะเป็น "วันผู้ใหญ่" หรือ "วันสู่วัยผู้ใหญ่" (Coming-of-Age Day) ของญี่ปุ่นคือวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม
ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 มกราคม เป็นวันหยุดราชการและมีการจัดพิธีเฉลิมฉลองที่ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นก่อนในวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม โดยหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่มีอายุย่างเข้า 20 ปี ในปีนี้จะไปร่วมพิธีที่ทางการจัดให้ ณ ศาลาว่าการของเมืองหรือเขต
ทุกคนจะแต่งกายงดงามด้วยชุดกิโมโนหรือชุดสากลสีสดใสโดยส่วนใหญ่เน้นให้มีสีแดงสำหรับผู้หญิงและสีดำหรือสีเข้มสำหรับผู้ชาย
ประธานในพิธีจะกล่าวคำต้อนรับให้โอวาทและอวยพรพร้อมมอบเกียรติบัตรและของขวัญแก่ผู้เข้าร่วมงาน หลายคนจะไปทำพิธีไหว้พระขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามศาลเจ้าต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงาม
ปี 2012 นี้ จะมีหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นอายุครบ 20 ปี ประมาณ 1.22 ล้านคน
เป็นเพศชายประมาณ 620,000 คน และเป็นเพศหญิงประมาณ 600,000 คน คิดเป็น 0.96% ของประชากรญี่ปุ่นทั้งประเทศ
เป็นจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่แปดติดต่อกันจากการบันทึกของกระทรวงกิจการภายในฯ ที่เริ่มกระทำมาตั้งแต่ปี 1968
หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของคนที่มีอายุครบ 20 ปี ที่มีจำนวนสูงสุดในปี 1970 (ผู้ที่เกิดในปี ค.ศ.1950 ซึ่งเป็นยุคเบบี้บูมเมอร์) ที่มีมากถึง 2.46 ล้านคน
รายงานข่าวเกี่ยวกับงาน "วันสู่วัยผู้ใหญ่" ของปีนี้มีความซาบซึ้งมากยิ่งขึ้นเมื่อหนุ่มสาวหลายคนในเขตที่เคยประสบกับภัยพิบัติเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วได้พร้อมใจกันนำรูปของเพื่อนๆ ซึ่งควรจะได้มานั่งร่วมพิธีในวันนี้ด้วยแต่ต้องสูญเสียชีวิตจากไปเสียก่อนในภัยธรรมชาติครั้งนั้นมาวางบนเก้าอี้ว่างข้างๆ ตัวเพื่อร่วมพิธีในวันนี้
หลายคนได้กล่าวถึงวันสำคัญนี้ว่า คนที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในวันนี้เป็นความหวังเป็นกำลังที่จะช่วยผลักดันค้ำจุนประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคตท่ามกลางวิกฤติที่โลกและประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่
โดยเฉพาะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงฟองสบู่แตกหรือวิกฤติต้มยำกุ้งในปลายยุค 1990
มาจนถึงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จากการล้มของเลห์แมนบราเดอร์ส ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันในปี 2008
ตามมาด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ของประเทศในปี 2011 และหนี้สินของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
ทำให้เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว อนาคตของผู้กำลังก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่จะต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเองต่อไปจากนี้ดูจะคลุมเครือน่าวิตกไม่แจ่มใสเอาเสียเลย
คนที่มีอายุครบ 20 ปี คือผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมซึ่งเพิ่งเข้าสู่การทำงานและผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาซึ่งจะต้องเริ่มทำงานในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า
ภาวะการจ้างงานสำหรับหนุ่มสาววัยทำงานของญี่ปุ่นเริ่มมีปัญหาล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปลายทศวรรษ 1990 ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากถูกเลิกจ้างกลายเป็นคนตกงานโดยเฉพาะคนในวัย 30-40 ปี ที่เคยเป็นแรงงานคุณภาพของประเทศ
พวกเขาต้องดำรงชีพด้วยเงินสวัสดิการจากรัฐ
งานประจำที่มั่นคงกลายเป็นของหายากทำให้แรงงานเหล่านี้รวมถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษารุ่นใหม่ต่อๆ มาต่างต้องยอมจำใจเข้าสู่ระบบงานชั่วคราว
งานประจำรายได้มั่นคงซึ่งมีจำนวนจำกัดจะตกอยู่ในมือของแรงงานที่มีคุณสมบัติดีที่สุดคือผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงซึ่งนายจ้างจะเข้าไปคัดเลือกตั้งแต่นักศึกษากลุ่มนี้เรียนอยู่ในปีสุดท้ายถึงสถานศึกษาโดยตรง
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเมื่อเข้าไปทำงานแล้วก็จะเกาะติดยึดตำแหน่งงานดีๆ ที่มั่นคงนี้ไปนานเท่านานตลอดชีวิตไม่เหลือช่องว่างสำหรับคนว่างงานรายอื่นๆ
สภาพการจ้างของงานชั่วคราวที่แรงงานญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ถือว่าเลวร้าย พวกเขาต้องทำงานหนักมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง โดยไม่มีสวัสดิการหรือโบนัส
ประมาณว่าปัจจุบันแรงงานมากกว่า 17 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสามของแรงงานทั้งประเทศญี่ปุ่นเป็นแรงงานชั่วคราวที่ไม่มีงานประจำทำ
กระทรวงกิจการภายในฯ รายงานว่าอัตราส่วนระหว่างคนงานชั่วคราวกับคนงานประจำที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี ในปี 2010 คือหนึ่งต่อสี่คนในขณะที่อัตราส่วนในปี 1991 นั้นมีเพียงหนึ่งต่อสิบคน
มีการประเมินด้วยว่าแรงงานชั่วคราวประมาณ 60% ทั่วประเทศมีรายได้น้อยกว่าปีละ 2 ล้านเยน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าสวัสดิการสังคมที่รัฐจัดสรรให้แก่คนว่างงานเสียอีก
จึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายคนเลือกที่จะเป็นคนว่างงานเพื่อขอรับเงินสวัสดิการสังคมการว่างงานจากรัฐตราบเท่าที่เขายังมีสิทธิ์และจะกลับไปทำงานอีกครั้งเมื่อสิทธิ์ในสวัสดิการนั้นสิ้นสุดลงจนเมื่อครบกำหนดที่จะใช้สิทธิ์ได้ก็จะเลิกทำงานเพื่อกลับมารับเงินสวัสดิการสังคมอีกรอบ
รายงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคมญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนคนว่างงานผู้ขอรับเงินสวัสดิการสังคมในสามไตรมาสแรกของปี 2011 (มกราคม-กันยายน) มีมากถึง 2.06 ล้านคน สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ผู้ขอรับเงินสวัสดิการสังคมสำหรับการว่างงานในปี 2009
มีถึง 112,000 คน ที่มีอายุในวัยเพียง 30 ปี เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปี 2000
การเปลี่ยนสภาพการจ้างงานแบบถาวรตลอดชีพมาเป็นแรงงานชั่วคราวไม่ประจำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤติฟองสบู่ในปลายยุค 1990 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตค่านิยมและทัศนคติในการทำงานของคนญี่ปุ่นยุคหลังปี 2000 ไปโดยสิ้นเชิง
จากที่เคยมีความจงรักภักดีผูกพันต่อองค์กร ทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้องค์กรมาเป็นที่หนึ่งกลับกลายเป็นการทำงานไปวันๆ เพียงเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพ ไม่มีอนาคตหรือความหวังใดๆ อีกในชีวิต
ชีวิตการทำงานด้วยสภาพการจ้างแบบญี่ปุ่นที่เคยมีมาตรฐานสูงสุดมีความมั่นคงตลอดชีวิตเพียบพร้อมด้วยสวัสดิการและรายได้สูงพอที่จะยังชีพเลี้ยงดูครอบครัวอย่างมีความสุขกลับกลายเป็นชีวิตการทำงานที่หนักหน่วงกดดันมีรายได้ต่ำไม่พอแม้แต่จะเลี้ยงตัวเอง
ทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นคนยากจนที่อาจจะต้องถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา
จำนวนคนตกงานไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นจนเมื่อฤดูหนาวในปี 2008 ต้องมีการจัดหมู่บ้านสำหรับแรงงานชั่วคราวขึ้นที่สวนสาธารณะฮิบิยะกลางกรุงโตเกียว
โดยองค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งผลกำไรเพื่อจัดที่พักอาศัยและอาหารร้อนๆ ช่วยเหลือคนตกงานไร้บ้านพร้อมให้คำปรึกษาด้านแรงงาน
เป็นยุคที่แสดงถึงความตกต่ำทางด้านแรงงานของประเทศญี่ปุ่นอย่างที่สุด
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมปีที่ผ่านมานี้เอง คนหนุ่มสาววัยทำงานอายุตั้งแต่ 20-30 ปี กลุ่มใหญ่ได้ร่วมชุมนุมในงานที่จัดโดย "เครือข่ายร่วมกันต่อต้านความยากจน" ที่คลับชั้นใต้ดินแห่งหนึ่งในย่าน "Roppongi Hills" แหล่งพำนักอาศัยและช็อปปิ้งหรูที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของคนรุ่นใหม่หลายคน
เป็นวันที่คนหนุ่มสาวมีโอกาสพบปะสังสรรค์กินดื่มกันเต็มที่ ได้ปลีกตัวหลีกเร้นจากสภาพชีวิตจริงที่ต้องจำทนกับงานหนักซ้ำซากจำเจกับความเครียด ความยากจนและความหวาดกลัวว่าจะต้องกลายเป็นคนว่างงานในวันหนึ่ง
"ทั้งหมดที่ผมปรารถนาก็คือชีวิตที่มีงานทำแบบปกติ นอนหลับแบบปกติและมีอาหารกินแบบปกติ" ชายหนุ่มวัย 30 ปี ที่ต้องกลายเป็นคนตกงานหลังถูกเลิกจ้างและรายได้จากสวัสดิการการว่างงานของเขากำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคมนี้กล่าวด้วยความกดดันสะเทือนใจ
หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ วันหนึ่งอาจจะมีข่าวการประท้วง "Occupy Roppongi" โดยหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นแบบเดียวกับการ "Occupy Wall Street" ของหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วก็ได้ ใครจะรู้?
+++
ฮือฮาอีก! ซีเอ็นเอ็นโก ยก"ชานมเย็น"ของไทย ติดอันดับสุดยอดเครื่องดื่มของโลก
ในประชาชาติ ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:45:30 น.
หลังจากเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลและคำแนะนำด้านไลฟ์สไตล์ "ซีเอ็นเอ็นโก" เลือก มัสมั่นไทยให้เป็นอันดับหนึ่งในการจัดอันดับสุดยอดอาหารโลกจนดังกระหึ่มทั่วโลกมาแล้ว มาในคราวนี้ ชาไทยใส่นมก็ไม่น้อยหน้า สามารถคว้าอันดับที่ 27 ในการจัดอันดับ 50 สุดยอดเครื่องดื่มของซีเอ็นเอ็นโกมาครอง โดยทางทีมงานซีเอ็นเอ็นโกย้ำมาว่า ชาไทยคุณภาพแท้ๆ ต้องชงจากชาดำคั่วรสเข้ม และเติมนมข้นหวานจะอร่อยอย่าบอกใคร แถมไม่ต้องลำบากไปหาที่ไหน ตามร้านค้าหรือรถเข็นริมถนนก็มีขายให้ได้ซื้อมาดื่มจนชื่นใจกันแล้ว แถมท้ายมาอีกว่า ถ้าชานมเมืองไทยรสชาติไม่ดีจริง ร้านอาหารเวียดนามและจีนคงไม่มาฉกสูตรไปใช้หรอก
ทั้งนี้ 10 อันดับแรกของรายชื่อ “50 สุดยอดเครื่องดื่มของโลก” มีดังนี้
1. น้ำเปล่า, ทั่วโลก
2. โคคา-โคล่า, สหรัฐอเมริกา
3. กาแฟ, เอธิโอเปีย
4. เบียร์, ทั่วโลก
5. ชา, ทั่วโลก
6. แอร์ มาตา กูซิง, มาเลเซีย
7. น้ำส้มคั้น, สหรัฐอเมริกา
8. ไวน์แดง, ทั่วโลก
9. จินและโทนิค, อังกฤษ
10. ชอคโกแลตร้อนกับมาร์ชเมลโลว์, สหรัฐอเมริกา
27. ชานมเย็น, ประเทศไทย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย