http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-27

เสวนาปรากฏการณ์ 112ริกเตอร์ ถึงเวลาสามัญชนลุกยืนตัวตรง

.

เสวนาปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ ถึงเวลาสามัญชนลุกยืนตัวตรง
ใน www.prachatai.com/journal/2012/05/40703 . . Sun, 2012-05-27 18:30



27 พ.ค. 2555 นักวิชาการผู้ร่วมรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และพวงทอง ภวัครพันธุ์ ร่วมเสวนาหัวข้อปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ในโอกาสปิดการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากดำเนินต่อเนื่องมาทั้งสิ้น 112 วัน โดยมีจำนวนประชาชนเข้าร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 39,185 คน



ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มาตรา 112- พ.ศ. 2475 จุดร่วมมุมมองแตกต่าง ความเปลี่ยนแปลงบนเหรียญสองด้าน หัว-ก้อย

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวว่า ได้ปรับทุกข์กับอาจารย์นิธิว่าคนวัยเราไม่น่าจะต้องมาอยู่กับนักวิชาการรุ่นใหม่แล้ว แต่เมื่อได้ทบทวนสถานการณ์และบทบาทของตนเองในฐานะนักวิชาการและปัญญาชนแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้าร่วม จากนั้นได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ไทยกับมาตรฐานสากลและกฎหมายหมิ่นมาตรา 112

จากการศึกษาและการสอนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองสยามประเทศไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ขณะนี้สังคมและประชาชนคนไทยเผชิญปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่ง คล้ายปี 2475 ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ถ้ามองจากเหรียญด้านหัวของคณะเจ้าก็กล่าวได้ว่าคณะราษฎรใจร้อนชิงสุกก่อนห่าม แต่ถ้ามองจากเหรีญด้านก้อยก็จะเห็นว่าคณะเจ้านั่นเองที่ล่าช้า อืดอาดไม่ทันโลก 
จากการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ทดลองดุสิตธานี รัชกาลที่ 7 ให้ที่ปรึกษาต่างชาติร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่มีการมอบรัฐธรรมนูญเสียที จึงจำเป็นต้องมีการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 
เราจะสามารถปฏิรูปและแก้ไขกฎหมายหมิ่น ม. 112 ได้ทันท่วงทีกับสถานการณ์ภายในและสังคมระหว่างประเทศหรือไม่ เป็นเรื่องต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเหรียญด้านหัว-ก้อย กลุ่มอำนาจเดิมกับอำนาจใหม่

โดยชาญวิทย์กล่าวว่า ได้พบการชี้ถึงปัญหา ม.112 ในหนังสือล่าสุดที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นบรรณาธิการ คือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work  
ในหนังสือเล่มดังกล่าวมีอยู่บทหนึ่งที่พูดเรื่องกฎหมายหมิ่น กล่าวว่า จากพ.ศ. 2536-2547 เป็นเวลา 11 ปี จำนวนคดีหมิ่นใหม่ๆ ลดลงครึ่งหนึ่ง และไม่มีคดีหมิ่นเลยในปี 2545 ซึ่งน่าจะเป็นยุคต้นของรัฐบาลทักษิณ อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาเร็วๆ นี้จำนวนคดีหมิ่นที่เข้ามาสู่ระบบศาลไทยเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต ปี 2552 สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ (เป็นปีเดียวกับที่มีปัญหามรดกโลกและเขาพระวิหาร) 
นอกจากนั้นยังมีการขยายความว่ากฎหมายหมิ่นของไทยนั้นมีโทษรุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปี โทษขั้นต่ำของไทยเท่ากับโทษสูงสุดของจอร์แดน และสูงกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับในยุโรป ทำให้ราชอาณาจักรไทยในสมัยปัจจุบันมีคดีหมิ่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลกเช่นเดียวกัน ข้อความนี้มาจากหนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work  
ข้อมูลเชิงประจักษ์จากหนังสือเล่มนี้น่าจะเพียงพอที่ทำให้ท่านทั้งหลายจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อปฏิรูป ปรับปรุงแก้ไข โดยไม่ต้องพูดถึงอดีตที่ค้างคา รวมถึงคดีอากงที่เสียชีวิตไปแล้วในคุก 

ทั้งนี้ข้อเสนอของครก. 112 คณะนิติราษฎร์ และกลุ่มสันติประชาธรรม คนหนุ่มสาว กวี และประชาชนหากสามารถผลักดันให้ผ่านสภา มี ส.ส. ส.ว. ที่มีทัศนะกว้างไกล มีความกล้าหาญทางจริยธรรมทางการเมือง รับลูกที่จะดำเนินการต่อในกรอบของกฎหมาย และกรอบรัฐธรรมนูญ ก็จะช่วยให้สังคมไทยมีสันติสุข และทำให้สถาบันกษัตริย์มั่นคงสถาพร และที่สำคัญคือได้มาตรฐานสากล ดังเช่นนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักรและยุโรปตะวันตก ไม่ทำให้สถาบันอ่อนแอและล่มสลายอย่างในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้
จากการศึกษาทางวิชาการพบว่าสหราชอาณาจักรและยุโรปตะวันออก อาจจะรวมหรือไม่รวมญี่ปุ่นที่แพ้สงคราม ต่างก็มีสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงเพราะได้ปฏิรูปให้เป็นสถาบันที่ให้พระคุณ กอปรด้วยเมตตากรุณา มุทิตา อุเบกขา มากกว่าการใช้พระเดช ที่ข่มขู่ด้วยคุกตาราง ทำให้เกิดความกลัว

เราได้เห็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ ปรีดี พนมยงค์ เหยื่อคดีสวรรคต ร. 8 เหยื่อพฤษภาอำมหิต หรือเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้คนชนบท ชายแดนห่างไกลที่ห่างไกลจากคนที่อยู่ในเมืองหลวง 
บรรดาอารยะประเทศในยุโรปตะวันตก ส่วนใหญ่ก็มีกฎหมายหมิ่น แต่การบังคับใช้ไม่สาหัสสากรรจ์และพร่ำเพรื่อ และไม่ปล่อยให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง  
ถ้าเราจะรักษาสถาบันประชาธิปไตยให้ควบคู่กับการรักษาสถาบันกษัตริย์ต้องปฏิรูปกฎหมายหมิ่นมาตรา 112 ดูประเทศที่สถาบันกษัตริย์อยู่ควบคู่กับสถาบันประชาธิปไตย และหนีไม่พ้นต้องดูแบบประเทศอังกฤษที่เราเลียนแบบมาแม้แต่คำขวัญ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือแม้แต่เพลงสรรเสริญพระบารมี ในสมัยรัชกาลที่ 4 เครื่องราชย์ฯ การถอนสายบัว นานานัปการ มาจากอังกฤษที่เป็นมาตรฐานสากลของสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตยซึ่งทำให้รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้
ไม่ใช่ทำให้สถาบันกษัตริย์ขัดแย้งกับสถาบันประชาธิปไตย

สังคมไทยถึงจุดที่กำลังถูกท้าทายอย่างมาก เราต้องไม่ฝืนกระแสโลก ยิ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีการสื่อสารรวดเร็ว การบอกว่าประเทศเราไม่ควรนำไปเปรียบกับสังคมโลก แน่นอนแม้เราจะมีลักษณะพิเศษแต่เราก็อยูในสังคมโลก ถามว่าประเทศส่วนใหญ่ 15 หรือ 30 ประเทศเป็นสถาบันกษัตริย์ ที่เหลืออีก 85 เปอร์เซ็นต์เป็นระบบประธานาธิบดี  
ถ้าเราทำให้สถาบันกษัตริย์กับสถาบันประชาธิปไตยขัดแย้งกัน จะทำให้สังคมเรามีปัญหาแน่ๆ แต่ถ้าทำให้อยู่ร่วมกันได้ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น 14 ต.ค.2516, 6 ต.ค.2519 พฤษภาคม 2535 ทั้งนี้ ไม่ใช่พฤษภาทมิฬ “ทมิฬ” ที่เป็นผู้สร้างอารยธรรม ทมิฬไม่เกี่ยวอะไรกับราชดำเนินและราชประสงค์เลย ดังนั้นขอให้ยกเลิกคำว่า“ทมิฬ”


ท้ายสุดก็ค่อนข้างเป็นห่วงว่าการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นนี้น่าจะยากเย็นเพราะมีอำนาจเดิมที่เต็มไปด้วยโมหะและอวิชชาสูงมาก ส่วนพลังใหม่ อำนาจใหม่ก็มีทั้งที่เฉื่อยชา เมินเฉย ได้ดีแล้วทำเป็นวัวลืมตีน บางคนเกี๊ยะเซี๊ยะ บางคนมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ คนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในสังคมชั้นสูงที่ผมจำเป็นต้องพบปะเป็นครั้งคราว คุยทีไรก็บอกเห็นด้วยกับเรื่องการแก้ไขนี้ แต่น้อยคนที่จะกล้าพูดในที่สาธารณะ แสดงความคิดเห็นขีดเขียนเพื่อสังคม ผมจึงเห็นว่าถ้าเป็นอย่างนี้ก็มีโอกาสที่สังคมนี้จะแตกหักไปสู่การนองเลือดเหมือน พ.ค. 53 เกิดกาลียุคดังที่ปรากฏในเพลงยาวพยากรณ์ และบนหน้าบรรณปราสาทเขาพนมรุ้ง เขาพระวิหาร 
สังคมไทยเรายังพอมีโอกาสปลดล็อกเงื่อนไขกาลียุคหรือนองเลือดได้ แต่ก็ต้องการผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในปีกพลังอำนาจเดิม

การปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของสากลโลกใช้คนไม่มากเพียงสิบเพียงร้อยที่จะก้าวมาเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง และต้องได้รับความสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ที่เป็นตัวจริงของจริง ณ บัดนี้ สังคมสยามประเทศเรามีตัวจริงของจริงจำนวนไม่น้อย มีประชาชนที่หลากหลายจำนวนมากมายมหาศาลทั้งในกรุง ในชนบท อย่างไม่เคยเกิดมาก่อน ที่พร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายหมิ่น มาตรา 112 ที่จะให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับประชาธิปไตยได้อย่างสงบสันติ เสมอภาค ภราดรภาพ ตามเจตนารมณ์ของการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิ.ย. 2475 และการปฏิวัติประชาชน 14 ต.ค. 2516

คบเพลิงของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันได้ส่งต่อมายังประชาชนรุ่นเราท่าน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่า 14 ต.ค. 2516 กลางเก่ากลางใหม่-พ.ค. 2535 หรือรุ่นล่าสุด เม.ย.-พ.ค. 2553” ชาญวิทย์กล่าวในที่สุด



นิธิ เอียวศรีวงศ์: หกสิบกว่าปีที่ยาวนานมากที่สถาบันกษัตริย์ควบคุม เลือกการปรับตัวได้ แต่คราวนี้ไม่ใช่ มีคนหน้าไพร่ๆ อย่างพวกเราเข้ามาขอมีส่วนบ้าง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า หากอยากพูดเรื่องการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ ก็คงต้องใช้สติอย่างเต็มที่ในการอภิปรายอย่างระมัดระวัง เรื่องนี้น่าเศร้าไม่ใช่เรื่องน่าขำ เราอยู่ในอาณาจักรไรซ์ที่3 หรือโซเวียตกันแน่ ผมคาดว่าในฐานะคนที่มีลูกมีหลานที่จะต้องมีชีวีตอยู่ในประเทศนี้ต่อไปมันน่าเศร้ามากๆ เพราะโซเวียตได้ล่มสลายไปแล้ว  
เราได้ยินเสมอมาว่าสถาบันกษัตริย์ไทยดำรงอยู่มาตั้งแต่ก่อนสุโขทัยถึงบัดนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลง ผมอยากถามว่าคุณบ้าหรือเปล่าเพราะไม่มีสถาบันใดในโลกนี้ที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่ปรับเปลี่ยน แม้แต่ตัวเราเองก็ต้องปรับเปลี่ยน โดยคนอื่นเปลี่ยนแปลงเราบ้างหรือเปลี่ยนโดยเรานึกได้แล้วปรับตัวเองบ้าง ดังนั้นสถาบันอะไรก็แล้วแต่ในโลกนี้ต้องถูกเปลี่ยนเสมอ ไม่เช่นนั้นก็อยูไม่ได้

ย้อนกลับมาที่สถาบันกษัตริย์ไทยใน 100-200 กว่าปีที่ผ่านมา มีวิกฤตหลายครั้งที่สถาบันต้องชิงปรับตัวเอง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของสถาบันในการสถาปนาอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดเหนือขุนนางทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และเหนือพระ ให้ต้องอยู่ใต้อำนาจอาณัติบัญชาของการเมือง

ความล้มเหลวครั้งสำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย รัชกาลที่ 7 ก็คิดว่าจะตั้งนายกฯ แต่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ก็บอกว่าจะตั้งไปทำไม ถ้าตั้งนายกฯ เขาก็ด่านายกฯ แทนท่าน เพราะท่านเป็นคนตั้งนายกฯ ไปบอกให้ฝรั่งเขียนรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่กล้าประกาศ ไม่ทันการณ์ตลอดเวลา ผลจึงเกิด 2475 หลังจากนั้นฝ่ายสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์องค์เดียว แต่หมายถึงเจ้านายทั้งหลายก็พยายามทุกวิถีทาง เช่น อยู่ๆ นายกฯ ประกาศปิดสภา ทั้งๆ ที่อยู่ในสมัยประชุม ง่ายๆ คือรัฐประหารโดยมีพระปรมาภิไธย รัชกาลที่ 7 รับรองการรัฐประหารนั้นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเกิดกบฏบวรเดช ซึ่งหลักฐานชัดเจนมากขึ้นว่าอย่างน้อย รัชกาลที่ 7 ทรงรู้เห็นมาก่อน และไม่ได้เตือนรัฐบาลว่าจะเกิดการรัฐประหาร ช่วงเวลาดังกล่าวที่ความพยายามที่จะชิงอำนาจกลับคืนมา ถือว่าเป็นความพยายามปรับตัวแต่ไม่สำเร็จ

หลังจากปี 2476-2490 เป็นครั้งแรกที่สถาบันกษัตริย์ถูกปรับตัวโดยคนอื่น คนอื่นบังคับให้ต้องปรับ มีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของประเทศไทย พ.ศ. 2489 ที่ร่างขึ้น โดยสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนหน้านั้นเข้ามาเกี่ยวข้องเกือบจะหลายๆ มาตราด้วยซ้ำไป ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ฝ่ายสถาบันกษัตริย์ที่ประกอบด้วยเจ้านายหลายพระองค์ ขุนนางและนายทุนที่ได้รับเงินกู้จากพระคลังข้างที่  หมดกำลังอย่างสิ้นเชิง

การเคลื่อนไหวเพื่อแก้มาตรา 112 เป็นเวลาอันเหมาะสมที่ อ.ชาญวิทย์กล่าวว่าสถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ที่ อ.ชาญวิทย์พูดว่า “เห็นด้วยๆ” นี่ เขาเห็นด้วยจากใจจริง
แต่ปัญหาคือใครจะเป็นคนปรับ เพราะนี่เป็นครั้งแรกของความเคลื่อนไหวในสังคมไทยหลัง พ.ศ. 2476-2490 ที่คนหน้าตาไพร่ๆ อย่างพวกเรามีส่วนร่วมในการปรับ และสิ่งนี้ต่างหาก ท่าทีอันนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะจากช่วงเวลา พ.ศ. 2476-2490  ก็ 60 กว่าปีที่ยาวนานมากที่สถาบันกษัตริย์ควบคุม เลือกการปรับตัวได้ แต่คราวนี้ไม่ใช่ มีคนหน้าไพร่ๆ อย่างพวกเราเข้ามาขอมีส่วนบ้าง กรณีที่อ.เวรเจตน์โดนชกไม่ใช่เรื่องเล็กไม่ใช่เรื่องคนดีคนเลว แต่เพราะท่าทีที่บังอาจถึงขนาดที่จะเป็นผู้หนึ่งที่จะปรับเปลี่ยนสถาบันกษัติย์ อันนี้ต่างหากที่เขารับไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่พวกเราต้องรับต่อไป อาจจะไม่ใช่กำปั้นโดยตรง แต่เราทุกคนจะต้องโดนอย่างเดียวกับที่อ.วรเจตน์โดน เพราะคุณกำลังทำสิ่งที่มันท้าทายต่ออำนาจที่ดำรงอย่างค่อนข้างยืนนานในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ไม่มีหนทางเรียบง่ายหรือสบาย อะไรจะเกิดก็ต้องพร้อมยอมรับมัน



วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ คือสัญญาณว่าสามัญชนกำลังจะลุกขึ้นยืนตัวตรง

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า การเกิดปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากมีสัญญาณชัดเจนว่าประชาชนสามัญชนกำลังจะลุกขึ้นยืนตัวตรง และความพยายามนี้หลายคนยังรับไม่ได้ อย่างที่ อ.นิธิได้กล่าวมา ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 15 ม.ค.55 ที่ผ่านมาเขาได้นั่งอยู่บนเวทีนี้และอธิบายตัวร่างแก้ไขมาตรา 112 โดยหวังว่าคนที่ไม่เข้าใจจะเปิดใจรับฟัง เมื่อย้อนรำลึกกลับไป หลัง 15 ม.ค. สัก 1 สัปดาห์ก็ยังไม่เป็นข่าวใหญ่  แต่เริ่มเป็นข่าวเพราะว่าหนังสือพิมพ์ไปเสนอเรื่องนิติราษฎร์เสนอให้กษัตริย์ต้องสาบานตนว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอเรื่องกษัตริย์ไม่ควรมีพระราชดำรัสสด จากนั้นกระแสข่าวก็โหมโจมตีคณะนิติราษฎร์อย่างรุนแรง และทำให้ 112 ได้รับรู้สู่สังคมวงกว้างขึ้น

วรเจตน์กล่าวว่าเมื่อเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่ความรับรู้ของสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาที่ตัวเขาค่อนข้างมาก และแม้ทางเดินจะยาวก็ต้องเดินต่อไป สำหรับวันนี้เป็นจุดที่น่าดีใจที่มีรายชื่อเพียงพอ และเมื่อประชาชนพยายามลุกขึ้นยืนแล้วก็ต้องยืนให้ได้ ยืนให้ตรง และการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ต่อสภา ต่อเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน 
“คำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยคือว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม ผมคิดว่าเราหลายคนในที่นี้ก็รู้แก้ใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เรากำลังพยายามพูดถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมไทย 112 เป็นประเด็นที่สาธารณชนต้องพูดถึงต่อไป ท่าทีของนักการเมืองนั้นเห็นอยู่แล้วว่าไม่ประสงค์จะแก้ไข พรรคที่เป็นรัฐบาลก็ปฏิเสธการแก้ไขอย่างเด็ดขาด หลายคนก็สงสัยว่าแล้วจะทำไปทำไม เพราะโอกาสที่จะผ่านสภาคงมีไม่มาก ผมเรียนว่าความสำเร็จนั้นเป็นคนละเรื่องกับความพยายาม เราพยายาม ความสำเร็จเป็นเรื่องในอนาคต ผมรู้สึกว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผมรู้สึกว่าอาจจะช้าเกินไปแล้ว หรืออาจจะสายเกินไปแล้ว แต่ว่าแน่นอน นี่เป็นสิ่งที่ฝ่ายชนชั้นนำควรต้องประเมินว่าความรู้สึกของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วในกระแสโลกาภิวัตน์ การปรับตัวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
“มาตรา 112 คงเป็นอุปสรรคสำคัญอันหนึ่งทำให้การทำงานทางวิชาการเป็นไปได้ยากลำบาก โอกาสที่พัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าก็ไม่ง่าย โอกาสที่จะแก้ไขหรือปฏิรูปหรือยกเลิกเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่แค่เรื่องนักโทษที่เป็นลำดับแรกที่เราคำนึงถึง แต่รวมถึงการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไปด้วย ตลอดระยะเวลา 112 วันผมเฝ้ารอคอยการโต้เถียงอย่างเป็นอารยะจากฝ่ายที่เห็นว่ามาตรา 112 ควรดำรงอยู่ต่อไป ทุกครั้งที่มีจดหมายมาถึงผม ผมหวังว่าจะได้เห็นความเห็นที่แตกต่างอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่ 112 วันผ่านไป ผมไม่พบความเห็นที่เป็นเหตุเป็นผลทั้งในที่สาธารณะและในที่ส่วนตัว ว่าทำไม 112 จึงแก้ไม่ได้”

วรเจตน์กล่าวว่าข้อโต้แย้งที่มักพบคือกฎหมายนี้มีมานานแล้ว ซึ่งจริงๆ กฎหมายมาตรานี้มีปัญหาอย่างน้อยที่สุดในทางหลักการ และทางทฤษฎี และมีคนได้รับความเดือดร้อนจริงๆ จึงไม่สามารถปฏิเสธปัญหาของมาตรานี้อีกต่อไป 
“ผมคิดว่าวันนี้การเมืองไทยมาถึงทางแยกที่สำคัญ ปรากฏการณ์ 112 จะเป็นปัจจัยสำคัญ มีหลายคนที่ผมคิดว่าเขาอยู่ใกล้ผม แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้เขาอยู่ห่างจากผมมาก แต่บางคนในความมืด ผมไม่เคยคิดว่าเขาอยูใกล้ผม ผมก็พบว่าเขาอยู่ใกล้ๆ ผมนี่เอง”

ถึงทางแยก 112 vs ปรองดอง จะเดินต่อบนหนทางประชาธิปไตย หรือจะแยกไปเส้นทางอื่น

วรเจตน์กล่าวว่า ความพยายามเสนอเรื่องนี้ด้วยใจบริสุทธ์และซื่อตรงนี้อาจจะสร้างความขุ่นเคืองใจขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายการเมืองอาจจะประเมินเรื่องเหล่านี้ต่ำเกินไป ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นวันนี้จะละเลยเรื่อง 112 ไม่ได้ อำนาจไม่ได้อยู่ในมือชนชั้นนำไม่กี่คนอีกต่อไปแล้ว แม้แต่หมู่คนเสื้อแดงด้วยกันเอง อำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณที่มีต่อการชี้ประเด็นต่างๆ นั้นอาจจะไม่เพียงพอ เมื่อพูดถึง 112 ตอนนี้สังคมไปไกลมากแล้วและดำเนินมาถึงทางแยกสำคัญ หลังจาก 29 พ.ค. นี้ที่เสนอต่อสภา ก็คงตามมาด้วยพ.รบ.ปรองดอง สองเรื่องนี้เมื่อรวมกันเข้าก็แยกคนออกว่าใครจะเดินต่อไปบนเส้นทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ใครจะเดินไปบนเส้นทางอื่น ซึ่งก็ยากที่จะเดินร่วมกันไปได้ ที่สุดต้องตัดสินใจ จำนวนคนที่เดินไปในทางนี้อาจจะไม่มาก แต่คงจะมากขึ้นเป็นลำดับ โดยส่วนตัวผมเองอยากจะขอบคุณหลายคนที่สร้างปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ขึ้นมา ท่านหนึ่งที่ผมอยากจะเอ่ยคือ อาจารย์สมศักดิ์ [เจียมธีรสกุล] ที่ได้แสดงความเป็นห่วง แม้ความเห็นจะแตกต่างกัน แต่ท่านเป็นคนหนึ่งที่ทำให้การอภิปรายเรื่องนี้มีวิตชีวาในหมู่นักวิชาการทั่วไป ผมได้รับกำลังใจจากคนจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะมาอยู่ในจุดที่นำในทางความคิดในลักษณะแบบนี้ แต่ผมเชื่อว่าความคิดนี้ได้เข้ามาสู่สังคมแล้ว และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะขยายออกไป

“การรณรงค์เรื่องนี้คงไม่สำเร็จในเร็ววัน กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะต้องดำเนินต่อไป จากนี้ถ้าใครด่าผม ผมอาจจะทำข้อสอบปรนัย 10 ข้อ ถ้าผ่านก็มีสิทธิด่าผมได้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็อยากให้ไปทำความเข้าใจเสียก่อน แล้วค่อยมาด่าต่อไป”
เราพยายามลุกขึ้นยืนตรง และเรายืนตรงคนเดียวไม่พอ เราต้องพยายามชวนคนในสังคมให้ลุกขึ้น มีคนจำนวนไม่น้อยพอใจที่จะนั่งพับเพียบต่อไป เราอาจจะต้องบอกกับเขาว่านั่งพับเพียบนานๆ มันเมื่อย และอธิบายให้เขาเข้าใจถึงการยืนตัวตรง และในที่สุดปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์จะได้เปลี่ยนสังคมไทย ปรับทัศนะสถาบันกษัตริย์ ศาล และกองทัพให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติและปลดวงจรความสูญเสียเสียที

วรเจตน์กล่าวถึงข้อกล่าวหาว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้คนด่าเจ้าได้โดยอิสระนั้น เขาเห็นว่าการเปิดโอกาสให้คนได้วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตจะลดทอนอารมณ์เช่นนั้นออกไป เหมือนรูระบายให้แก่กาน้ำที่กำลังเดือด และเขาย้ำว่า การแก้ไขมาตรา 112 ในเวลานี้อาจจะช้าเกินไปแล้วด้วย


ถาม-ตอบ

ถาม  กษัตริย์มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่

วรเจตน์: ปกติเราอธิบายว่ากษัตริย์มาจากการสืบสันตติวงศ์ แต่ถ้ามาจากการเลือกตั้งก็จะเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ราชอาณาจักรแล้ว แต่มีกรณีที่กษัตริย์มาจากการเลือกได้ เป็นการเลือกในหมู่ราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมา แต่ที่มาจากประชาชนไปลงคะแนน ระบอบแบบนี้ไม่มีอยู่เพราะระบอบกษัตริย์ใช้ระบบการสืบสันตติวงศ์ และจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาตลอดเวลาที่มีการเปลี่ยนรัฐเข้าสู่รัฐสมัยใหม่


ถาม กษัตริย์ไม่รับรองการรัฐประหารได้ไหม

วรเจตน์: ท่านคิดว่าได้หรือไม่ ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ขอตอบว่าในประเทศสเปนเคยมีกรณีกษัตริย์ไม่รับรองการรัฐประหาร แต่ถ้าพูดกันทางหลักการ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสุ่มเสี่ยง โดยกษัตริย์สเปนถือว่ามีหน้าที่ต้องพิทักษ์รัฐธรรนูญและนี่เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่นิติราษฎร์เสนอว่าก่อนขึ้นครองราชย์ให้กษัตริย์ปฏิญาณ หรือแสดงออกว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อแสดงให้เห็นว่าประมุขของชาติ รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระองค์พิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ ต่อมาเมื่อทหารคิดจะทำรัฐประหารจะไปกำหนดให้พระมหากษัตริย์ ลงนามก็ทำให้กษัตริย์ต้องทรงฝ่าฝืนคำปฏิญาณ ผมตอบได้เท่านี้


ถาม กษัตริย์มาจากสามัญชนได้ไหม

ชาญวิทย์:  ต้องตอบด้วยวิชาประวัติศาสตร์ เพราะถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็เหมือนตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าเชื่อประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการก็ตาบอดสองข้าง คำถามนี้ ถ้าดูประวัติศาสตร์ ก็ต้องตอบแบบ น.ม.ส. ว่า “อันผู้ดีมีมาแต่ไหนแน่ สืบไปแน่แท้ก็คือไพร่” จักรพรรดินโปเลียนที่สถาปนาพระองค์ขึ้นมายิ่งใหญ่มาก ก็มาจากสามัญชน
สมเด็จพระเจ้าตากสิน พระเจ้ากรุงธนบุรี พระพุทธยอดฟ้ารัชกาลที่ 1 คือต้องเริ่มต้นจากเป็นสามัญชนทั้งนั้น เพียงแต่ว่าโลกในอดีต โลกสมัยเก่าสามารถสถาปนาราชวงศ์ใหม่ได้ แต่ปัจจุบันโลกสมัยใหม่เป็นไปไม่ได้แล้ว โลกสมัยใหม่ไม่สามารถมีราชวงศ์ใหม่ๆ ได้ ล่าสุดไม่กี่สิบปีนี้ที่อังกฤษสถาปนาให้เป็นกษัตริย์ในตะวันออกกลาง เดิมเป็นหัวหน้าเผ่าเล็กๆ เช่นซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน สวาซิแลนด์ เลโซโธ เป็นต้น

ปัจจุบันถ้าดูสถิติจากบทความที่เกษียร เตชะพีระ แปลจากงานของเบน แอนเดอร์สัน ก็จะมีรายชื่อสถาบันกษัตริย์อยู่ราว 27-30 ประเทศ เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของสหประชาชาติ ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 193 ประเทศ
โดยชาญวิทย์กล่าวว่าปัจจุบันนี้โลกไม่ยอมรับราชวงศ์ใหม่ๆ แล้ว ที่จะมีผู้ปกครองโดยคนๆ เดียว


ถาม อาจารย์นิธิคิดอย่างไรกับ พ.ร.บ. ปรองดอง

นิธิ: ขอตอบสั้นๆ ว่าไม่เห็นด้วย แต่เมื่อถามว่าความเป็นไปได้ในทางการเมือง จะปลดปล่อยผู้กระทำผิดสังหารประชาชน เราจะต่อต้านอย่างไร ก็สารภาพว่าตันมากๆ แต่แน่นอนจะไม่ไปร่วมกับ พธม. ในการต่อต้าน ขณะที่เราต้องการพลังในการที่จะควบคุมนักการเมืองไว้ต่อไปให้ได้ ฉะนั้นก็ตอบไม่ได้ 
และคิดว่าประชาชนเล่นการเมืองเรื่องการเลือกตั้งน้อยเกินไป เราต้องคิดให้ดีว่าเราจะใช้การหย่อนบัตรเพื่อคุมนักการเมืองอย่างไร นักการเมืองส่วนใหญ่เลวทั้งนั้น แต่เราอย่าเกลียดคนเลว คนดีที่คุมไม่ได้อันตรายกว่าคนเลว ปัญหาของเราคือต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ สร้างองค์กรและขบวนการที่ประชาชนอย่างเราสามารถคุมคนชั่วได้ และหนึ่งในการคุมคนชั่วก็คือมีการเลือกตั้ง เราต้องกลับมาคิดเรื่องนี้ให้ดีว่าทำอย่างไรจะคุมนักการเมืองได้

ประเด็นที่สอง เป็นความจริงที่ว่าทุกราชวงศ์ในโลกนี้กลัว ไม่ว่าราชวงศ์ใดก็แล้วแต่ถ้าคุณพบว่าเลิกไปล้มไปก็จะไม่เกิดราชวงศ์ใหม่อีก พูดง่ายๆ ก็คือตัวระบบมันอยู่ไม่ได้อีกแล้วในโลกปัจจุบันนี้ และความรู้อันนี้ผมคิดว่าสำหรับเราประชาชนไม่ได้สนใจเท่าไร แต่สำหรับคนที่อยู่ในราชวงศ์เขารู้ดี และเขารู้ดีนี่แหละที่น่ากลัว 
นิธิกล่าวถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องควีนส์ กรณีท่าทีของราชวังต่อการตายของเลดี้ไดอานา หลังจากที่รัฐบาลบอกร้อยแปดว่าไดอานานั้นมีคนรักมาก คนเริ่มออกมารำลึก วางดอกไม้ไว้อาลัย แล้วราชวังจะยังเฉยอยู่ไม่ได้ ที่สุดแล้วรัฐบาลก็ถวายคำแนะนำแนวทางปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่าในสังคมประชาธิปไตย อำนาจจะงัดกันไปมา แต่ที่สุดแล้วต้องมีอำนาจหนึ่งที่เป็นสุดยอดที่จะตัดสินและผู้มีอำนาจนั้นก็คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่แทนที่จะเป็นคำสั่งก็เป็นการถวายคำแนะนำให้ปฏิบัติ

นิธิกล่าวว่า มีนักวิชาการรายหนึ่งอธิบายว่า ก่อน 24 มิ.ย. อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ หลัง 24 มิ.ย. อำนาจธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชน ทำให้หลังรัฐประหาร อำนาจคืนมาสู่กษัตริย์ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร แต่จริงๆ แล้ว  24 มิ.ย 2475 ร.7 ได้ลงพระนามในฐานะพระมหากษัตริย์ไทยรับรองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เป็นการผูกมัดกษัตริย์ทุกพระองค์



.