.
“ชอบ” - “ช็อป”
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 80
“เรามาที่นี่กันทำไม?
เรามาเพื่อซื้อของ
เรามาเพราะพรุ่งนี้เป็นวันแม่
เรามาเพื่อซื้อซีดีของ แอวริล ลาวีญ์น
เรามาเพื่อปลดปล่อย
เรามาเพื่อซื้อลิปกลอส
เรามาเพราะแม่บังคับ
... ” *
เรื่องของเรื่องมันเริ่มจากการพูดคุยถามไถ่ในหมู่เพื่อน ว่าอายุมากันถึงขนาดนี้แล้ว มีเงินเก็บกันบ้างไหมเธอ?
บ้างก็มี บ้างก็ไม่มี ส่วนใหญ่จะค่อนไปในทางยังไม่มีเสียมากกว่า
ครั้นถามไถ่ต่อว่าแล้วอุปสรรคอันใดกันที่มาขวางกั้นเราไว้จากการมีเงินเก็บออม
คำตอบก็คือการจับจ่ายซื้อของหรือการช็อปปิ้งนั่นเอง
คุณชอบช็อปปิ้งมั้ยคะ?
ถ้าถามคำถามนี้กับผู้หญิงส่วนใหญ่ คำตอบน่าจะบอกว่า "ชอบ"
แต่ถ้าถามผู้ชาย คำตอบที่ได้คงตรงกันข้าม
ฉันเป็นประเภทผู้ชาย คือไม่ชอบช็อปปิ้ง ไม่ชอบเดินเรื่อยเปื่อยดูของในห้างสรรพสินค้า (ฉันเพิ่งรู้จากข้อมูลในหนังสือว่า มีศัพท์บัญญัติให้แก่กลุ่มคนผู้ชอบเดินเรื่อยๆ เอื่อยๆ เป็นแถวหน้ากระดานในร้านค้า ว่าใช้การเคลื่อนตัวในแบบโลกเก่าจึงเรียกกันว่า-Meanderthals-อยากได้อะไรฉันจะพุ่งตรงไปยังแผนกนั้น ซื้อเสร็จ ขึ้นรถ กลับบ้าน
หลายๆ ทีฉันจึงงงว่าเวลาสาวๆ บอกว่าจะไปช็อปปิ้งแต่ทำไมไม่เห็นจะได้อะไรติดไม้ติดมือกันมาเลย
แล้วจะเรียกว่าไปซื้อได้อย่างไร
จะว่าไปเดี๋ยวนี้ห้างสรรพสินค้าก็ไม่ได้เป็นแค่ที่เอาไว้ซื้อของ ซื้อเสื้อผ้าเท่านั้น
มันมีทั้งแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายของสด โรงหนังเรียงรายกันเป็นสิบๆ โรง ร้านอาหารทุกชาติทุกระดับ ตั้งแต่ฟู้ดเซ็นเตอร์แบบธรรมดารับคูปองกระดาษไปแลกข้าว จนถึงฟู้ดคอร์ตหรูหราค่าแรกเข้าเป็นพัน ไม่รวมถึงเบเกอรี่หรือร้านแฟรนไชส์ดังๆ จากเมืองนอกอีก จนชั้นธรรมดาที่สุดก็คือมีคนไปอาศัยเดินตากแอร์แค่นั้นก็เอา
ไปๆ มาๆ ผู้คนเดี๋ยวนี้แทบไม่เดินไปไหนไกล ไม่ว่าจะบนทางเท้าริมถนนหรือเดินออกกำลังกาย เราไปทุกที่ทุกแห่งด้วยรถ ยกเว้นห้างสรรพสินค้าเท่านั้นที่เราจะยอมเคลื่อนย้ายร่างกายด้วยการเดิน
เดินดูบ้าง เดินซื้อบ้างก็ว่ากันไป
บางทีเราก็ไม่ได้อยากได้ของนั่นมากขนาดนั้นหรอก, ฉันเชื่อเช่นนั้น
แต่มันเป็นเพราะอะไรหลายๆ อย่างประกอบกันทำให้มันเกิดอาการจะเป็นจะตายขึ้นมาทันทีเวลาไปเดินห้าง เราจะยังไม่เกิดอาการอยาก จนกว่าเราจะเห็นอะไรแวบผ่านสายตาขึ้นมา
สมัยยังเด็กๆ บ้านฉันมีกติกาว่าถ้าอยากได้ของอะไร ก่อนที่จะมาร้องขอจากพ่อแม่ ให้ไปเขียนเหตุผลที่ควรจะได้ครอบครองของนั้นมา 5 ข้อก่อน โดยไม่รวมเหตุผลที่ว่า "เพราะเพื่อนมี"
จริงๆ ต่อให้รวมเหตุผลต้องห้ามนั่นฉันก็ไม่สามารถจะเขียนอะไรให้ถึง 5 ข้อได้อยู่ดี
มันยากจะตาย แล้วความต้องการส่วนใหญ่ก็จะถูกลืมเลือนไป เพราะเราเองก็เป็นฝ่ายถูกกระตุ้นให้คิดขึ้นมาว่า "เออ มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรจำเป็นนี่หว่า" ทุกวันนี้ฉันก็ยังใช้กติกานี้กับตัวเองอยู่ ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ว่ากันไป
ส่วนใหญ่จะควบคุมได้อย่างไร้ปัญหา
จริงๆ จะไปโทษห้างสรรพสินค้าอย่างเดียวก็ไม่ถูก ว่าเป็นตัวการทำให้เราฟุ่มเฟือย
เขาก็แค่ทำหน้าที่ของเขา
วิเคราะห์ วิจัย พัฒนากันอย่างมีระบบเป็นขั้นเป็นตอน
เพื่อธุรกิจ
ก็เพื่อเงินที่พวกเขาจะเก็บนั่นล่ะ
“เรามาเพราะฝนตกหนัก
เรามาเพราะเขาต้องซื้อกางเกงใน
เรามาเพราะเธอต้องซื้อกางเกงใน
เรามาเพราะทุกคนต้องซื้อกางเกงใน
เรามาเพราะโทรทัศน์ไม่มีอะไรดู
เรามาดูหนุ่มๆ
เรามาดูสาวๆ
เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาทำไม
...” *
หนังสือ “ยกพลขึ้นห้าง” นี่จะว่าไป ก็วิเคราะห์เหตุที่คนจะไม่ซื้อมากกว่า
เรียกว่าเป็นประหนึ่งคู่มือของคนทำห้างร้านต่างๆ แต่ฉันก็อ่านมันในมุมกลับด้วย คือมองว่าเขาทำอย่างไร ทำไมเราถึงชอบช็อปปิ้งกันเสียเหลือเกิน
ในห้างมันมีอะไรดี
ทำไมเราถึงไปมันได้ทุกวี่ทุกวัน
อ่านแล้วก็สนุกเพลิดเพลินได้ความรู้ แถมเตือนใจเราได้ไม่น้อย
ว่าเจ้าของห้างเค้าต้องทำถึงแค่ไหนกันที่จะเรียกคนให้เข้าไปในห้าง
และเราจะต้องพยายามมากถึงแค่ไหนกัน ที่จะกุมเงินของเราเอาไว้ให้มั่น
จนกว่าจะถึงวันสิ้นเดือน!
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* ข้อความจากในหนังสือ “ยกพลขึ้นห้าง”
++
เลิกถามฉันเรื่องแต่งงานได้แล้ว!
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 80
นี่มันเดือนอะไรกัน
รู้, ว่าต้องมีคนตอบว่าเดือนพฤษภาคม
แต่ไอ้ที่ฉันเปรยเป็นประโยคเปิดหัวมานั่นเป็นแค่การพึมพำเริ่มต้นของประโยคเต็มที่ว่า นี่มันเดือนอะไรกัน ทำไมทุกคนถึงมะรุมมะตุ้มมาสุมกันแต่งงานกันทั้งหมดทั้งสิ้นในเดือนนี้!
เช็กข่าวความเคลื่อนไหวทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้มีแว่วมาแต่อย่างใดว่าดาวหางจะพุ่งชนโลกในวันนี้พรุ่งนี้จนโลกแตกพังพินาศ เลยต้องรีบแต่งรีบใช้เวลาร่วมกันเสียให้คุ้ม
แล้วไม่ใช่เฉพาะคู่รักดารานักแสดงหรือคนดังในสังคมเพียงเท่านั้น ยังเลยรวมไปถึงคนที่ฉันรู้จักอีกเยอะแยะมากมายที่พร้อมใจกันแต่งงานช่วงนี้
เรียกว่าใส่ซองช่วยงานกันกระเป๋าสตางค์ครางฮือเลยทีเดียว
ไอ้เรื่องจุ๊บจิ๊บยิบย่อยนี่มันไม่เท่าไหร่หรอก
ใครแต่งฉันก็อนุโมทนาซาบซึ้งไปด้วยตามสมควรแก่ความยินดีในรักของเขาและเธอ
แต่ปัญหามันมามีจริงๆ ก็เวลาคนมาถามฉันต่อเหมือนไม่รู้จักนิสัยกันมาก่อน ว่าฉันไม่เคยมีคำตอบให้หรอกสำหรับคำถามโลกแตกพรรค์นี้
ก็ไอ้คำถามว่า "แล้วเมื่อไหร่จะถึงคิวทรายบ้างค้าาาาาา" (ลากเสียงยาว/พูดกลั้วหัวเราะ/ทำตาเล็กตาน้อย)
ทําไมวะ? การแต่งงานหรือไม่ได้แต่งงานนี่มันสำคัญต่อการรับรู้ขนาดไหนกัน
ฉันอาจจะมีสามีลึกลับซุกซ่อนอยู่สัก 18 คน หรืออาจคิดจะสละทางโลกละเว้นกามาก็ได้
แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้คนที่ถามจะบรรลุอะไรขึ้นมา
นอกจากการถามไปเรื่อยและถึงจุดสุดยอดทางการตั้งคำถามมันก็แค่นั้น
ฉันชอบการมีคู่รัก
ก็มันดี มันสนุก มันเพลิดเพลินเมามัน หรืออะไรก็ตาม
แต่ฉันไม่ชอบเลยที่คู่รักจะโดนกดดันด้วยคำถามประเภทนี้ เราแค่รักกัน มีเวลาดีๆ ด้วยกัน มีเพศสัมพันธ์กัน ทะเลาะกันบ้าง จูบปากกันบ้างโดยไม่ต้องห่วงการหารจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือผลัดกันเลี้ยงลูกไม่ได้หรือไร
หรือหากอยากจะมีลูกก็มีกันไป ไม่เห็นต้องกดดัน อยู่ไม่ได้ก็เลิกกันไป เพราะสำหรับฉัน การล้อเลียนโง่ๆ ที่กลัวเด็กจะถูกกดดันกันว่า "อี๋ ไม่มีพ่อ/แม่" นี่มันหมดยุคมาก
เราควรจะบอกความจริงถึงชีวิตจริงๆ ของพ่อแม่ให้ได้ตั้งแต่ต้น
ไม่ใช่ให้เด็กมันมากดดันเพราะคำพูดของคนอื่นมากกว่าพ่อแม่
การเป็นคู่รักกันนั้นจะไม่สนุกที่สุดเวลาพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูงและคนรอบตัวมาถามคำถามว่า "เมื่อไหร่จะแต่ง"
การผจญภัยมันหมดสนุกก็เวลามีคนถามถึงปลายทางนี่แหละ
จะแค่จีบกัน รักกัน แต่งงานกันหรือจะเลิกกันมันก็มีท่วงทำนองและห้วงเวลาอยู่แล้ว
อยู่กันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องตั้งคำถามไม่ได้หรือไร
บางคนอาจรู้สึกว่ามันเสียเวลาในการคบกันไปเรื่อยๆ แบบไม่มีเป้าประสงค์ หรือถ้าไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่น่าจะแต่งกันได้ก็จะได้เลิกๆ แล้วแยกย้ายไปหาคนใหม่กันตามทาง
แต่ฉันกลับรู้สึกว่าคนเรามันเกิดมาแล้วมันก็ต้องหายใจต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีคู่รักหรือไม่
เวลามันไม่ได้เสียมากหรือน้อยไปกว่าเดิมหรอก แต่งงานแล้วก็ใช่ว่าเราจะเลเวลอัพ เพิ่มเวลาในชีวิตขึ้นมาได้เสียหน่อย
แล้วก็ยังไม่มีปรากฏมาก่อนด้วยว่าพวกที่มีคู่รักแต่ยังไม่แต่งงานจะมีชีวิตไม่ยืนยาวเพราะเป็นหน่วยพลังงานที่ไร้ค่า ไม่ยอมเชิดชูสถาบันครอบครัว หรืออะไรประหลาดๆ แบบนั้น
ใครแต่งก็แต่ง, ยินดีด้วย
แต่ถ้าใครเขายังไม่แต่งก็ปล่อยเขาเถิด
ไม่ต้องไปทำหน้าเหมือนเขาเป็นโรคติดต่อร้ายแรงแล้วไม่ยอมไปปลูกฝีฉีดวัคซีนก็ได้
มีคนสำคัญในประวัติศาสตร์ตั้งหลายคนที่มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีครอบครัว
-มีครอบครัว-ไม่ใช่-มีคู่รัก-นะ มันคนละความหมายกัน
ราชินีเอลิซาเบธที่ 1 เป็นหนึ่งในคนที่ฉันชอบ
พระนางแวดล้อมไปด้วยข้าราชบริพารที่มีทั้งหล่อแต่ไม่เก่ง และเก่งแต่ไม่หล่อ
พระองค์มีคู่รักที่แสดงออกมาในแนวคนโปรดที่รู้กันโดยทั่วไป
พระองค์ไม่แต่งงาน
แต่รัชสมัยของเอลิซาเบธนั้น, ไม่มีใครจะกล่าวได้ว่าไม่เกริกก้องเกรียงไกร
ความสัมพันธ์ระหว่างคนโปรดของพระนางกับนางสนมกำนัลหรือเลดี้อะไรซักคนจะอยู่ในสายตาของพระองค์เสมอ แถมพระองค์ยังใช้เอาความสัมพันธ์อันซุกๆ ซ่อนๆ นั้น มาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเรียกร้องการมอบความรักได้มากขึ้นไปเสียอีก
ฉันอดคิดไม่ได้ว่าถ้าพระพี่นางของพระองค์คือราชินีแมรี่ (หรือที่ได้รับการตั้งฉายานามได้แบบทำร้ายหัวใจผู้หญิงคนหนึ่งอย่างยิ่ง ว่า "แมรี่บ้าเลือด/Bloody Mary") ฝืนใจฝืนตัวไว้ไม่ยอมแต่งงานและไม่ยอมรักเจ้าชายสเปนองค์ที่มาแต่งงานกับพระองค์ด้วยเหตุทางการเมืองแล้ว รัชสมัยของพระนางน่าจะดีกว่านี้
พระนางน่าจะเป็นตัวของตัวเองกว่านี้โดยไม่ต้องเอาความรักเทิดทูนทั้งที่มีต่อพระสวามีและพระเจ้ามาเป็นแรงขับดันในการฆ่าคนตายไปเป็นเบือจนคนจำมาถึงปัจจุบัน
ฉันจะเป็นราชินีอินทิราที่ 1
สนุกสนานและเพลิดเพลินในโลกแห่งการวางแผนและความรักในอาณาจักรส่วนตัวของฉันเอง
แล้วก็...นะ
เลิกถามฉันเรื่องแต่งงานได้แล้ว!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย