http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-03

นกุล: อาหาร-ถึงคราวต้องพึ่งพาตนเอง, จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น กับความร่วมมือเรื่องสินค้าเกษตรฯ

.
โพสต์เพิ่ม - พูดไทยในญี่ปุ่น โดย นิตยา กาญจนะวรรณ
แนะนำ - จิราชิ-ซูชิ โดย สุยดา ด่านสุวรรณ์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อาหาร-ถึงคราวต้องพึ่งพาตนเอง
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 52


เหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงในช่วงปี 2007-2008 ที่อาหารในกลุ่มธัญพืช ทั้งข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพดและถั่วเหลืองขาดแคลนถูกปั่นราคาให้พุ่งทะยานสูงขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติอาหารโลกและเป็นชนวนเหตุให้เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้นในประเทศเฮติและอีกเกือบ 30 ประเทศทั่วโลกโดยประชาชนที่อดอยากขาดแคลนอาหารอยู่พักใหญ่ 
ทำให้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะต้องพึ่งพาตนเองผลิตอาหารให้เพียงพอเพื่อการบริโภคภายในประเทศ

องค์การสหประชาชาติรายงานว่าในปี 2011 โลกมีประชากรประมาณ 7,000 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,300 ล้านคน ในปี 2050 ทำให้โลกจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตอาหารขึ้นอีก 70% เพื่อให้เพียงพอในการเลี้ยงดูพลโลก
แต่ในทางกลับกันจำนวนเกษตรกรของโลกกลับลดจำนวนลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านด้วยเหตุที่มาผู้คนพากันย้ายถิ่นละทิ้งไร่นา
ทำให้โลกเริ่มมีคนเมืองมากกว่าคนชนบทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในปี 2008



ประเทศญี่ปุ่นที่นอกจากประชากรส่วนใหญ่จะแก่ชราเป็นประเทศของคนสูงอายุแล้ว จำนวนเกษตรกรที่ลดน้อยลงทุกทีก็ยังเป็นผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่
วันนี้เกษตรกรญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ปี ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาเกษตรกรญี่ปุ่นลดจำนวนลงถึง 20% เหลือเพียง 2.6 ล้านคน และมีการประเมินว่าจะลดลงอีก 1 ล้านคน ในอีกสิบปีข้างหน้า
ในขณะเดียวกัน พื้นที่การเกษตรของประเทศญี่ปุ่นได้ลดลงจาก 6.08 ล้านเฮกตาร์ ในปี 1961 มาเหลือ 4.56 เฮกตาร์ ในปี 2011
จากการสำรวจในปี 2010 พบว่ามีพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศญี่ปุ่นถูกทิ้งให้รกร้างมากถึง 390,000 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 6.25 ไร่ หรือ 10,000 ตารางเมตร) ทำให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารจากนอกประเทศเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลของกระทรวงการเกษตร ป่าไม้และการประมง ญี่ปุ่นเคยผลิตอาหารเลี้ยงประชากรภายในประเทศได้ 73% ของปริมาณการบริโภคทั้งประเทศในยุคปี 1965 และลดลงมาเหลือประมาณ 40% ในช่วงปลายยุคปี 1990 จนมาเหลือเพียง 39% ในปัจจุบัน มีเพียงข้าวเจ้าเท่านั้นที่ญี่ปุ่นสามารถผลิตได้เพียงพอแก่การบริโภคภายในประเทศ
ส่วนธัญพืชอื่นๆ เช่น ข้าวสาลีและถั่วเหลือง ประเทศญี่ปุ่นยังต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ
ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในเช่นกัน


เพื่อประกันว่าประเทศจะมีอาหารเพียงพอ นักลงทุนญี่ปุ่นได้เริ่มมองหาลู่ทางลงทุนเพื่อกิจการการเกษตรในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากที่เคยทำอยู่แล้วในจีนและไต้หวัน 
ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ นายโตโมฮิโระ นากาดะ เจ้าของธุรกิจพืชผักจากจังหวัดกิฟุ ได้ตั้งบริษัท Gialinks Co. โดยมีกลุ่มผู้ร่วมทุนชาวจังหวัดเดียวกันเพื่อลงทุนผลิตและจัดหาพืชผลการเกษตรจากประเทศกลุ่มละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา และปารากวัย ซึ่งเกษตรกรจำนวนมากมีเชื้อสายญี่ปุ่น 
บริษัทแห่งนี้มีพื้นที่การเกษตรเพื่อเพาะปลูกถั่วเหลืองและพืชผลอื่นๆ กว่า 1,200เฮกตาร์ ในเมือง Pampa ประเทศอาร์เจนตินา 
ทั้งยังมีสัญญาซื้อขายถั่วเหลืองกับกลุ่มเกษตรกรเชื้อสายปารากวัย-ญี่ปุ่น 
โดยในปีที่ผ่านมาสามารถนำเข้าถั่วเหลือง 3,000 ตัน
บริษัทระบุว่าจะสามารถจัดหาถั่วเหลืองได้ถึงปีละ 150,000 ตัน (ประเทศญี่ปุ่นบริโภคถั่วเหลืองมากถึงปีละประมาณ 3.6 ล้านตัน)

นายชินอิจิ คิมูระ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในจังหวัดอาโอโมริ เป็นอีกผู้หนึ่งที่กำลังมองหาลู่ทางขยายการปลูกถั่วเหลืองเข้าไปในประเทศยูเครนโดยพยายามขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทการค้ารายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น
เขาหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะเป็นเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ในต่างแดนเพื่อจัดหาธัญพืชที่เพียงพอและมีราคาคงที่สำหรับชาวญี่ปุ่น 

นอกจากธัญพืชแล้วอาหารทะเลโดยเฉพาะปลาก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาหารหลักของชาวญี่ปุ่นโดยชาวญี่ปุ่นบริโภคปลามากเป็นอันดับสี่ของโลก
ชาวมัลดีฟบริโภคปลามากเป็นอันดับหนึ่งคือตกคนละกว่า 150 กิโลกรัมต่อปี
ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นบริโภคปลาคนละประมาณ 70 กิโลกรัมต่อปี 
พูดง่ายๆ ก็คือในหนึ่งปีคนญี่ปุ่นหนึ่งคนกินปลาน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของตัวเองเสียอีก

ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างประเทศจีนซึ่งประชากรเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นทำให้จีนกลายเป็นผู้บริโภคปลารายใหญ่อีกรายที่บริโภคปลามากถึง 30% ของผลผลิตโลก 
ปริมาณการบริโภคอาหารทะเลหรือปลาทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 110 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นประมาณ 50% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
เพื่อให้แน่ใจว่าชาวญี่ปุ่นจะมีปลาพอเพียงแก่การบริโภค บริษัทการค้าหรือ Trading Firm รายใหญ่ของญี่ปุ่นจึงได้เร่งลงทุนด้านการประมงในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น 
บริษัทมารูเบนิได้ลงทุนซื้อโรงงานผลิตอาหารทะเลปลาแซลมอนธรรมชาติและปลาชนิดอื่นๆ ในอลาสก้าเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาในราคา 47 ล้านดอลลาร์
ทำให้บริษัทมารูเบนิสามารถจัดส่งอาหารทะลซึ่งส่วนใหญ่คือปลาแซลมอนปริมาณปีละ 57,000 ตันสู่ตลาดญี่ปุ่น ยุโรปและอื่นๆ ทั่วโลก

ในขณะที่บริษัทมิตซูบิชิ คอร์ป ได้ลงทุนซื้อฟาร์มปลาแซลมอนในประเทศชิลีในราคา 125 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ฟาร์มแห่งนี้สมารถผลิตเนื้อปลาแซลมอนได้ 20,000 ตันต่อปี 
นอกจากการลงทุนในต่างประเทศแล้ว หลายบริษัท เช่น บริษัทโซจิทซ์ และบริษัทโตโยต้าทูโซ่ ยังได้ลงทุนเพิ่มการเพาะเลี้ยงบลูฟินทูน่าในฟาร์มปลาแถบน่านน้ำญี่ปุ่นโดยอาศัยเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ก้าวหน้าในการพัฒนาผลิตผล 
บลูฟินทูน่าคือทูน่าที่มีคุณภาพและราคาสูงที่สุดเป็นที่ต้องการของตลาดจนมีการออกมาจำกัดปริมาณการจับบลูฟินทูน่าในแหล่งธรรมชาติทำให้ต้องมีการเพิ่มปริมาณด้วยการเพาะเลี้ยงในฟาร์มแทน


เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระทรวงการเกษตรฯ ได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างเกษตรรุ่นใหม่ของประเทศโดยเริ่มจากปีงบประมาณ 2012 นี้เป็นต้นไป รัฐบาลจะจัดสรรเงินอุดหนุนปีละ 1.5 ล้านเยน เป็นเวลา 7 ปี ร่วมกับการฝึกงานอีก 2 ปี ให้แก่ผู้ที่ต้องการเป็นเกษตรกรซึ่งมีอายุต่ำกว่า 45 ปี รวมเป็นเงินให้เปล่ารายละไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านเยน 
โดยรัฐบาลได้จัดเตรียมงบประมาณเริ่มแรกไว้แล้ว 10,000 ล้านเยน การเปลี่ยนวิธีอุดหนุนเกษตรกรจากเดิมที่เป็นเงินยืมปลอดดอกเบี้ยมาเป็นเงินให้เปล่าก็เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจทำการเกษตรโดยมิต้องกังวลกับรายได้ในระยะเริ่มต้น 
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงคนหนุ่มสาวเข้าสู่อาชีพเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี

สื่อญี่ปุ่นอย่างหนังสือพิมพ์โยมิอูริได้กล่าวถึงมาตรการอุดหนุนเพิ่มจำนวนเกษตรกรของรัฐบาลไว้อย่างน่าสนใจว่า รัฐบาลจะต้องระมัดระวังว่ามาตรการดังกล่าวจะต้องไม่จบลงด้วยการเป็นเพียงนโยบายลดแลกแจกแถม 
แต่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องคอยติดตามให้คำแนะนำเพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้ 
การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกรคือหนทางที่จะดึงให้พวกเขาทำงานต่อไป

และหนึ่งของการสร้างรายได้ก็คือการพัฒนาผลิตผลต่อยอดเกษตรกรรมขั้นต้นให้เป็นเกษตรกรรมขั้นสองและขั้นสูงด้วยการเพิ่มค่าให้แก่ผลิตผล เช่น การแปรรูปอาหาร เป็นต้น 
เมื่อวันนั้นมาถึงคนหนุ่มสาวก็จะกลับคืนสู่ชนบทไร่นาช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแก่แม่เฒ่าที่ต้องเหน็ดเหนื่อยในท้องไร่ท้องนามาเนิ่นนานให้ได้พักผ่อนในบั้นปลายของชีวิตกันเสียที 



++

จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น กับความร่วมมือเรื่องสินค้าเกษตรและอาหาร
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 47


"กองทัพเดินด้วยท้อง" เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ กำลังพลที่อ่อนล้าหิวโหยย่อมไม่สามารถขับเคลื่อนกองทัพไปสู่ชัยชนะในสงคราม 
พลเมืองที่อดอยากหิวโหยก็ย่อมไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญเติบโตก้าวหน้า

ประเด็นเรื่องอาหารและผลิตผลการเกษตรจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลของทุกประเทศมุ่งส่งเสริมพัฒนาเพื่อให้มีอาหารเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูประชากรภายในประเทศทั้งยังสามารถส่งออกส่วนที่เกินไปเพื่อเลี้ยงดูชาวโลกเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้านำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง
จึงไม่แปลกที่แม้แต่ประเทศยักษ์อุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่นก็ยังต้องให้ความสำคัญกับการเกษตรของประเทศ 
การจับมือของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเพื่อความร่วมมือด้านการค้าซึ่งย่อมต้องรวมสินค้าการเกษตรไว้ด้วยจึงเกิดขึ้นหลายต่อหลายกลุ่มทั่วทุกภูมิภาคของโลก 
นำโดยกลุ่มสหภาพยุโรปคือ EU ตามมาด้วย FTA สำหรับทุกประเทศ และ TPP สำหรับประเทศในกลุ่มภาคพื้นแปซิฟิก เป็นต้น

ในขณะเดียวกันประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของสินค้าอุตสาหกรรมและผลิตผลการเกษตรราคาสูงเลือกที่จะทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีเป็นรายประเทศ หรือ "EPA" (Japan"s Economic Partnership Agreement) ที่ญี่ปุ่นจะสามารถหยิบยกรายการสินค้าที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน เช่น ข้าว เนื้อวัว ขึ้นมาเจรจาทำข้อตกลงเป็นรายๆ ไป 
ทั้งยังมีการเจรจาทำข้อตกลงการค้ากับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มอาเซียน กลุ่มอียู 
และล่าสุดญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีในเบื้องต้นด้านสินค้าการเกษตรกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่ค้าสินค้าอาหารรายใหญ่คือ จีนและเกาหลีใต้


เมื่อสุดสัปดาห์กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีเกษตรของสามประเทศคือ นายฮัน จางฟุ จากประเทศจีน นายซู คิว ยอง จากประเทศเกาหลีใต้และ นายมิจิฮิโกะ คาโนะ จากประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมประชุมหารือกันเป็นเวลาสองวันที่เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ 
เป็นการประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีเกษตรเป็นครั้งแรก 
หลังการประชุม รัฐมนตรีทั้งสามได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันอาทิตย์ที่ 15 เมษายนว่า ทั้งสามฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในความร่วมมือด้านการเกษตรโดยจะร่วมกันในการต่อสู้ป้องกันและควบคุมโรคระบาดในพืชและสัตว์ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคปากและเท้าในปศุสัตว์ซึ่งเป็นโรคระบาดที่พบได้บ่อยในภูมิภาค 
รวมถึงข้อตกลงในการส่งเสริมการค้าเสรีของสินค้าอาหารและผลิตผลทางการเกษตร การทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนผ่านทางกรอบข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสามประเทศ 
"เราสามารถบรรลุข้อตกลงในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสามประเทศในภาคการเกษตร" นายมิจิฮิโกะ คาโนะ รัฐมนตรีเกษตรญี่ปุ่นกล่าวต่อผู้สื่อข่าวและบอกด้วยว่าจะเป็นวิถีทางในการรับมือกันการเพิ่มของจำนวนประชากรและความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้นในโลกอย่างได้ผล

แหล่งข่าวของฝ่ายญี่ปุ่นบอกด้วยว่านอกจากกรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสามประเทศแล้ว ที่ประชุมสามฝ่ายยังได้วางกรอบการเจรจาความร่วมมือกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าไว้ด้วย 
ผลของการหารือครั้งนี้จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำของทั้งสามประเทศซึ่งกำหนดจะมีขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนระหว่าง วันที่ 13 และ 14 พฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง


ในการหารือนอกรอบแบบทวิภาคีกับคู่เจรจาทั้งสองประเทศในวันเสาร์ที่ 14 เมษายน รัฐมนตรีเกษตรของญี่ปุ่นได้ร้องขอให้จีนและเกาหลีใต้ลดความเข้มงวดของกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารและผลิตผลการเกษตรจากญี่ปุ่นซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาไดอิจิที่ทำให้ประเทศและเขตเศรษฐกิจประมาณ 50 ประเทศได้มีคำสั่งระงับการนำเข้าสินค้าอาหารและผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตจากจังหวัดฟุคุชิมาและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งก็รวมถึงแหล่งผลิตในเขตคันโตะและโตเกียว

จนแม้เวลาได้ล่วงเลยมาแล้วกว่าหนึ่งปี ข้อกำหนดหรือมาตรการอันเข้มงวดต่อสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นก็ยังคงถือปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศรวมถึงจีนและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารรายใหญ่จากญี่ปุ่นทำให้การนำเข้าสินค้าอาหารญี่ปุ่นของจีนลดลงถึง 35.5% และของเกาหลีใต้ลดลง 12% ในช่วงปีที่ผ่านมา 
นอกจากจะประสบกับปัญหาจำนวนเกษตรกรและพื้นที่การเกษตรภายในประเทศที่ลดน้อยลงทุกทีแล้ว วันนี้ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากในการส่งออกสินค้าอาหารและผลิตผลทางการเกษตรซึ่งเคยได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีมีความปลอดภัยสูงที่แม้จะมีราคาแพงก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดระดับบนทั่วโลก 
แต่ภายหลังอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าฟุคุชิมาไดอิจิเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นต้องทำงานอย่างหนักในการเรียกร้องให้นานาประเทศผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดต่อการนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น 
แม้ทางการญี่ปุ่นจะรับรองในความปลอดภัยว่าได้กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบที่เข้มข้นแล้วก็ตาม



ในช่วงหนึ่งปีหลังเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าฟุคุชิมาไดอิจิ ตลาดสินค้าอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศได้ถูกแทนที่โดยสินค้าจากประเทศจีนและเกาหลีใต้รวมถึงสินค้าที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา นอกจากจะต้องถูกกีดกันด้วยมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐแล้ว ประชาชนในประเทศต่างๆ ก็ยังไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นด้วยเกรงการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีจึงหันไปหาสินค้าทดแทนจากแหล่งผลิตอื่นทำให้เกษตรกรญี่ปุ่นในเขตที่ประสบภัยจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาไดอิจิไม่สามารถขายผลิตผลทางการเกษตรของตน 
ดังเช่นชาวนาในจังหวัดยามางาตะที่ต้องงดการปลูกข้าวเพื่อการส่งออกในฤดูกาลที่ผ่านมาและดำริที่จะทำเช่นเดียวกันสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกของปีนี้ 
ความหวังของเกษตรกรญี่ปุ่นที่จะผลักดันให้การส่งออกสินค้าอาหารเข้าสู่ระดับเดียวกันกับเมื่อก่อนช่วงอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้ายังคงดูมืดมนเช่นเดียวกันกับผู้ส่งออกสินค้าอาหารชาวญี่ปุ่นที่ก็ยังคงกังวลกับอนาคตของตน
จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ยังมีถึง 47 ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่ยังคงมาตรการที่เข้มงวดในการนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น
จากรายงานของกระทรวงเกษตรฯ รายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารและผลิตผลการเกษตรของประเทศในปี 2011 ลดลง 8.3% จากปีก่อนหน้าลงมาเหลือ 451,300 ล้านเยน


นอกจากการเจรจากับรัฐบาลนานาประเทศเพื่อขอให้ลดความเข้มงวดและกฎเกณฑ์ในการนำเข้าสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นโดยขอให้ยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและผลของการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว 
รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในต่างประเทศด้วยการตระเวนจัดงานแสดงสินค้าอาหารญี่ปุ่นตามเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นตลาดสำคัญ 
วันนี้คนรักอาหารญี่ปุ่นจึงได้เริ่มเห็นสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นที่เคยขาดหายไปเริ่มปรากฏตามชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ตบ้างแล้ว 
"เราจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการเข้าถึงนานาประเทศและบอกให้เขารับรู้ความปลอดภัยของอาหารญี่ปุ่น" รัฐมนตรีเกษตรญี่ปุ่นผู้ต้องรับภาระหนักในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรญี่ปุ่นได้แถลงข้อความดังกล่าวไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
และเขาก็ได้เร่งทำงานอย่างเต็มสูบแล้วด้วยการเริ่มต้นที่เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานี่เอง.



+++

พูดไทยในญี่ปุ่น
โดย นิตยา กาญจนะวรรณ nitayak@hotmail.com  คอลัมน์ มองไทยใหม่
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 72


คงมีคนไทยหลายคนที่มีโอกาสพูดภาษาไทยในญี่ปุ่น แต่ผู้เขียนคงไม่มีโอกาสไปสำรวจมาได้จนครบ เลยต้องขออนุญาตเล่าประสบการณ์ของตนเอง
ผู้เขียนมีโอกาสไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัย Tenri จังหวัด Nara ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา ๖ ปี เลยพอจะเล่าให้ฟังได้บ้าง
เมื่อตอนที่เขาเชิญให้ไปสอนนั้นก็เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว ผู้เขียนไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยนอกจาก sakura, arigato, sayonara, Toshiba, Honda, Mitsubishi และอื่นๆ ที่เป็นชื่อสินค้าและชื่อเมือง แต่เขาก็ไม่เห็นว่าอะไร 
ตอนที่อาจารย์ญี่ปุ่นพาเข้าไปในห้องเรียนชั่วโมงแรกนั่นแหละถึงได้รู้ว่า เขาเจตนาให้เราพูดไทย จะทำอย่างไรก็ได้ให้นักศึกษาปี ๑ วัย ๑๘ ปี ประมาณ ๒๐ คนในห้องพูดภาษาไทยให้ได้ 

แรกๆ ก็อึดอัดด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็จ้องกันแล้วยิ้มแหยๆ เราพูดภาษาไทยอะไรไปเขาก็ไม่รู้เรื่อง เขาพูดญี่ปุ่นมา เราก็ไม่รู้เรื่อง ลงท้ายต้องอาศัยภาษาใบ้กับภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ อธิบายภาษาไทยแบบผสมผานกันไป
อันที่จริงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่นนั้นนับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เรียน เพราะเป็นการใช้ภาษาต่างประเทศสอนภาษาต่างประเทศ แล้วก็อย่านึกว่านักศึกษาญี่ปุ่นทุกคนจะเก่งภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ก็พูดได้กล้อมๆ แกล้มๆ พอๆ กับนักศึกษาไทยนั่นแหละ ยกเว้นคนที่เคยไปอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมาแล้ว 
ในที่สุดผู้เขียนก็ยอมแพ้ ต้องไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อจะได้เข้าใจนักศึกษาบ้าง แต่อย่านึกว่าเก่งกาจถึงขนาดบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็แค่กล้อมๆ แกล้มๆ พูดกันไปเท่านั้น



นอกจากเรื่องการสอนภาษาที่อาจารย์ชาวต่างประเทศทุกคนสามารถใช้ภาษาของตนได้อย่างเต็มที่ก็ยังมีโอกาสอื่นๆ อีกที่ทางญี่ปุ่นต้องการให้เราใช้ภาษาของตนเอง 
เช่น ในการประชุมอาจารย์ซึ่งใช้ภาษาญี่ปุ่นตลอดนั้น อาจารย์ชาวต่างประเทศก็ต้องเข้าไปนั่งฟังด้วย แต่จะมีเพื่อนอาจารย์ชาวญี่ปุ่นในภาควิชาเดียวกันกระซิบแปลให้รู้เรื่อง เมื่อถึงคราวลงคะแนนเสียงจะได้ตัดสินใจได้ถูก ถ้าอยากจะแสดงความเห็นก็ให้แสดงความเห็นเป็นภาษาของตนเองได้ แล้วอาจารย์ญี่ปุ่นจะช่วยแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นให้เอง 
ในฐานะศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชา Thai Studies ผู้เขียนต้องเข้าประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ เช่น การตัดสินตำแหน่งศาสตราจารย์ การรับอาจารย์ใหม่ ซึ่งหัวหน้าภาคต้องลุกขึ้นกล่าวเป็นภาษาไทย แล้วมีอาจารย์ญี่ปุ่นทำหน้าที่ล่ามแปลให้

แม้แต่การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในเรื่องเกี่ยวกับภาควิชา ก็ต้องพูดภาษาไทย แล้วมีล่ามแปลให้เช่นเดิม ยิ่งตอนที่ประชุมรับรองการเรียนจบเพื่อรับปริญญา ยิ่งต้องใช้ภาษาญี่ปุ่น เขาไม่มีธรรมเนียมให้ผู้ที่มิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ใช้ภาษาอังกฤษกับคนญี่ปุ่นในการประชุมที่เป็นทางการ 
ในกรณีของภาษาไทย เขาบอกว่าแปลโดยตรงจากไทยไปญี่ปุ่นเลยดีกว่า ซึ่งก็ถูกของเขา ลองนึกถึงสมัยที่โปรตุเกสเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก กว่าจะพูดกันรู้เรื่องก็แทบตาย เพราะโปรตุเกสต้องพูดผ่านล่ามเป็นภาษามลายูก่อน แล้วล่ามมลายูก็แปลต่อมาเป็นไทยอีกทีหนึ่ง

มิน่าเล่าคำว่า "สบู่" ที่ใครๆ บอกว่ามาจากภาษาโปรตุเกสนั้นจึงออกเสียงไม่เหมือนกับคำที่แปลว่า "สบู่" ในภาษาโปรตุเกสปัจจุบันเลย



อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษก็มีประโยชน์ในประเทศญี่ปุ่น เพราะใช้สื่อสารกันโดยทั่วๆ ไปได้ 
อาจารย์ญี่ปุ่นที่ไม่ยอมพูดภาษาอื่นที่ประชุมเมื่ออยู่นอกห้องประชุมก็คุยเป็นภาษาอังกฤษได้ 
ญี่ปุ่นเองก็กำลังสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับประเทศไทย คนรุ่นใหม่จึงพอใจที่จะทดสอบภาษาอังกฤษของตนกับชาวต่างประเทศอยู่เสมอ 
ผู้เขียนเคยพยายามพูดภาษาญี่ปุ่น (อันเลวร้าย) กับมัคคุเทศก์ชาวญี่ปุ่นบางคน เขาก็กล่าวอย่างสุภาพว่า "Please speak English."
ฉะนั้น การจะพูดภาษาอะไรในญี่ปุ่นนั้นก็ต้องดูกาลเทศะให้เหมาะสมด้วย



+++

จิราชิ-ซูชิ
โดย สุยดา ด่านสุวรรณ์  คอลัมน์ ปรุง ชิม ลิ้มรสอาหารญี่ปุ่นรสมือแม่
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 54


ในการทำอาหารครั้งนี้ฉันต้องหาวัตถุดิบมาทำอาหารเองเพราะเกรงใจคุณแม่มิซึเอะ และด้วยความที่คิดว่า แถวบ้านก็มีครบเลยอุ่นใจ
พอวันที่จะทำอาหารใกล้เข้ามากลายเป็นของไม่ครบ ซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านก็มีแต่ของพื้นๆ เช่น ข้าวญี่ปุ่น ไข่ อะไรประมาณนั้น
ส่วนของเด็ดๆ ที่ยังไงก็อยากใส่ไปในจิราชิ เช่น คาซูโนโกะ (ไข่ปลาตระกูลปลาทู) และอิคุรา (ไข่ปลาแซลมอน) กลับไม่มี และสองอย่างนี้ขาดไม่ได้ด้วยเนื่องจากลูกสาวตัวน้อยชอบมาก

เช้าตรู่ของวันพุธวันนัดทำอาหาร ฉันตื่นแต่เช้าเพื่อที่จะไปซูเปอร์มาร์เก็ตแถวสุขุมวิทแล้วก็จะไปรับคุณแม่มิซึเอะมาทำอาหารที่บ้านฉัน
แต่รถเจ้ากรรมถนนนายเวรก็ติดแบบไม่เกรงใจใครกว่าจะถึงทองหล่อก็เกือบสองชั่วโมง (ปกติ 30 นาที) เลยรีบบึ่งไปรับคุณแม่ก่อน แล้วแวะซื้ออาหารสดที่ฟูจิซูเปอร์ที่แม่บ้านญี่ปุ่นมาช็อปทุกวี่ทุกวัน 
วัตถุดิบต่างๆ เช่น อิคุรา ใบโอบะ (green perilla) รากบัวได้มาครบ เว้นแต่...คาซูโนโกะหาเท่าไรก็ไม่มี...คุณแม่บอกว่า ช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูกาลนะ แต่ในตู้เย็นของฉันมีแช่แข็งอยู่ไปเอากันไหม 
คุณแม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างใจเย็น อืม...เกรงใจจริงๆ...แต่...ในหัวก็เห็นแต่ภาพคาซูโนโกะสีเหลืองวางเรียงอย่างน่าเอร็ดอร่อยอยู่บนจานจิราชิซูชิ ฉันได้แต่ยิ้มน้อยๆ โค้งหัวรับความเมตตาอย่างเกรงใจสุดๆ 
การอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองเทวดาฟ้าอมรแห่งนี้ช่างลำบากและเครียดเอามากๆ ตั้งแต่การขับรถแข่งกัน เบียดเสียดกันอย่างไม่ยอมลดละ รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่คนขับรถในประเทศนี้ไม่เคยรักษา ไม่เคยใส่ใจก็ทำให้ปวดหัวเอามากๆ
เฮ้อ...เมืองเทพก็อย่างนี้ละ ต้องทำใจ


ว่าแล้วก็ต้องนำเอาธรรมะมาพรมหัวใจให้ใสสดชื่น รีบปลงกับสิ่งที่เราทำอะไรไม่ได้ และลงมือทำอาหารกับคุณแม่อย่างรวดเร็ว เหมือนจะเข้าใจคุณแม่ยิ้มพร้อมพูดว่า
-- สำหรับฉันกรุงเทพฯ คือเมืองแห่งการก่อสร้าง คุณแม่หัวเราะเบาๆ จริงสิ บ้านข้างๆ ฉันก็ต่อเติม ตอกโป้กเป้กดังสนั่นหวั่นไหว เสียงตัดเหล็กก็แสบแก้วหูเหลือหลาย 
ที่ดินตรงปากซอยหน้าบ้านติดถนนเลียบทางด่วนก็กว้านมาทำเป็นศูนย์การค้า ความโกลาหล อึกทึก ของเสียงเกิดขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืนด้วยความรีบเร่งในการก่อสร้างให้ทันรองรับลูกค้าช่วงขาขึ้น ทั้งฝุ่นเล็ก ฝุ่นใหญ่ ฝุ่นหนัก ฝุ่นเบา รวมควันพิษเข้าไปด้วยต่างปลิวว่อนเริงระบำกันอย่างสนุกสนานในอากาศที่เรากำลังหายใจอยู่ 
น่าขันจริงๆ ที่ประเทศนี้ปล่อยให้การก่อสร้างเกิดขึ้นตามชอบใจโดยไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ในการควบคุม

นึกถึงญี่ปุ่นเมื่อมีการก่อสร้าง บริเวณนั้นจะถูกล้อมรอบ และหุ้มไว้อย่างหนาแน่น แน่นอนกันฝุ่น กันเสียงได้เป็นอย่างดี ในนั้นมีอะไรไม่มีใครเห็นจนกระทั่งที่คลุมถูกดึงออก ณ ตอนนั้นตึกก็สวยงามปิ๊งๆ เสร็จพร้อมใช้งานแล้ว
เมื่อไรกรุงเทพฯ ของเราจะเป็นอย่างนั้นบ้างนะ โรคภูมิแพ้ฝุ่นละอองสกปรกจะได้หายไปจากเด็กๆ และผู้ใหญ่อย่างฉันเสียที

บ่นไปก็เท่านั้นกลับมาหาอาหารที่น่ารื่นเริงของเรากันดีกว่า



จําได้ว่าสมัยที่ฉันเรียนที่ญี่ปุ่นมีหญิงวัยกลางคน คนหนึ่งพูดไว้ว่า 
-- จิราชิซูชิคืออาหารแห่งการเฉลิมฉลอง
ค่ะคุณป้าที่อาศัยอยู่ติดๆ กับร้านอาหารที่ฉันทำงานพิเศษด้วยการล้างจานเมื่อครั้งเป็นนักเรียนในประเทศญี่ปุ่นหน้าตาอวบอิ่มสดใสในวัย 57

-- วันนี้ฉันได้หลานชาย
ใช่ๆ ฉันจำได้แล้วคราวที่แล้วคุณป้าก็เอาจิราชิซูชิมาแล้วบอกว่า
-- วันนี้วันเกิดลูกชายฉัน แล้วก็อีกวัน
-- ฉันได้หลานสาว...มีแต่เรื่องที่น่ายินดีทั้งนั้นเลย 
-- คนคนนี้ทั้งชีวิตทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือ จิราชิซูชิ ฉันน่ะเบื่อแล้ว พวกเธอเชิญเลย ทานกันให้อร่อย

คุณลุงซึ่งเป็นลูกค้าประจำของร้านพูดขึ้นอย่างอารมณ์ดีและหัวเราะสดใส ซึ่งผิดกับคุณป้าที่หน้าตาดูจะไม่ค่อยรับแขกนัก
-- มันยากนะรู้ไหม ต้องหั่นทุกๆ อย่างให้ฝอยๆ แล้วไปแช่น้ำซุปสต๊อก ก่อนจะนำมาคลุกเคล้ากับข้าวซูชิ นี่รู้ไหมฉันใช้เวลาตั้งแต่เช้าเลยนะ คุณป้าในชุดกิโมโนตอบกลับอย่างหงุดหงิดแต่ยังคงความน่ารักบนใบหน้าที่อวบอิ่ม 
ฉันเรียนหนังสือช่วงกลางวัน และทำงานล้างจานที่ร้านนี้ตอน 6 โมงเย็น ทราบว่าอาหารเพิ่งเสร็จ...อืม...ช่างเป็นเวลาที่ยาวนานจริงๆ คุณป้าคงทำทั้งวันเพื่อให้อาหารออกมาอร่อย และดูดีอย่างที่เห็น

คุณลุงสนิทสนมกับเจ้าของร้านเล็กๆ นี้ มักจะแวะเวียนเอาอาหารมาให้บ่อยๆ ฉันโชคดีที่ได้รับความเมตตาด้วยเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการเรี่ยไรซื้อรถจักรยานให้ใช้เพื่อความสะดวกในการกลับที่พักยามค่ำคืน หรือหม้อหุงต้มอาหาร ถ้วยชามต่างๆ ก็นำมาให้ฉันหัดทำอาหารญี่ปุ่นทานในห้องเช่าแคบๆ เพื่อจะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย ของนักเรียนจนๆ คนหนึ่ง 
ความมีน้ำใจของเขาเหล่านี้ซาบซึ้งใจ และประทับใจฉันเสมอมิอาจลืมเลือน 
คำแรกที่ฉันได้ลิ้มลองจิราชิซูชินั้นจืดสนิทสำหรับคนไทยที่เคยชินแต่รสเข้มข้นเช่นฉัน ในยามนี้ฉันต้องการพริกน้ำปลา...

-- อร่อยไหมฉันทำสุดฝีมือนะนี่ คุณป้าถามด้วยความเมตตา
ฉันรีบตอบอย่างคล่องแคล่วว่า
-- อร่อยค่ะ
แต่สีหน้าที่เก็บความลับไม่ค่อยอยู่ของฉันคงเผยให้เห็นคำว่า...ไม่...อยู่บนใบหน้า 
-- ฉันว่าเธอยังไม่เข้าใจรสชาติอาหารญี่ปุ่นนะ เดี๋ยวพอเธอเข้าใจดีอย่ามาบอกให้ฉันทำให้ละ 
คุณป้าผู้ซึ่งไม่ค่อยแวะเวียนมาที่ร้านบ่อยนักเหน็บพอหอมปากหอมคอ

ตอนนั้นฉันคงยังไม่เข้าใจรสชาติของอาหารญี่ปุ่นดีพอ แต่ก็ซาบซึ้ง และประทับใจในการแสดงความยินดี และการเฉลิมฉลองกันด้วยอาหารที่ตั้งใจทำมาทั้งวัน หน้าตาอาหารช่างมีสีสันที่สวยงาม ดูแล้วก็เพลินตา และสดใสยิ่งนักท็อปปิ้งที่โรยหน้าเพื่อประดับประดาบนข้าวซูชิก็ไม่ธรรมดา มีแต่วัตถุดิบราคาแพงที่เราไม่สามารถทานกันได้ทุกวันแทบทั้งนั้น 

จิราชิซูชิในวันนี้ของฉันจะให้ความรู้สึกน่ายินดี น่าประทับใจเหมือนวันก่อนๆ ไหมหนอ



ฉันหวนคำนึงถึงอดีตที่ผุดขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ ที่จริงจิราชิซูชิก็เหมือนกับซูชิ เพียงแต่ไม่แบ่งออกมาเป็นคำๆ เท่านั้น แต่จะจัดรวมกันเป็นชุดใหญ่ไว้ตักแยกทีหลัง หรือเลือกตัก เลือกทานกันได้ตามใจชอบ
วิธีการปรุงก็ไม่ได้ยากอะไร เราจะเริ่มด้วยการหุงข้าวกันก่อน ก่อนอื่นต้องแช่ข้าวญี่ปุ่นไว้เล็กน้อยแล้วก็เทน้ำออก ใช้อุ้งมือ (ใกล้ๆ ข้อมือ) กด นวด และนวด เติมน้ำเทน้ำทิ้งทำอย่างนี้ 3-4 ครั้งแล้วก็ใส่ตะแกรงกรองน้ำ พักทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จึงนำไปหุงในหม้อไฟฟ้าเหมือนปกติแค่นี้ก็ได้ข้าวญี่ปุ่นเม็ดสั้นกลมอ้วนที่แวววาวน่ารับประทาน (กรุณาดูวิธีการ "หุงข้าวให้อร่อย" ประกอบ)
ระหว่างรอข้าวที่หุง เราก็มาเตรียมการในส่วนของท็อปปิ้งโรยหน้าที่จะนำไปประดับบนข้าวซูชิ โดยจะเริ่มด้วยการเจียวไข่ซึ่งต้องเจียวให้บางสุดๆ แล้วนำมาซอยให้ฝอยๆ เล็กๆ

ฉันกำลังจะเทไข่ลงกระทะ ก็ถูกคุณแม่มิซึเอะบ่นว่า 
-- ทำไมตีไข่ฟูอย่างนั้น ทำใหม่ 
เอาละสิ ฝีมือทอดไข่ฉันก็ใช่ย่อยนะ แล้วทำไมคะนี่ 
-- เราไม่ได้ทำอาหารไทยนะที่ต้องตีไข่ให้ฟูๆ ต้องแบบนี้ดูนะ ว่าแล้วคุณแม่ก็เอาตะเกียบมาแยกไข่ขาวออกจากไข่แดงก่อนแล้วก็คนเบาๆ
คุณแม่ทำด้วยความชำนาญ

-- น้ำมันในกระทะต้องเอาทิชชูทำอาหารเช็ดให้ทั่วนะ ผิวไข่จะได้เรียบบางสวยงาม
คุณแม่ย้ำอีกครั้ง
ฉันเทไข่ใส่กระทะ แล้วตะแคงกระทะให้ไข่ไหลไปเป็นวงกลม น่าทึ่งมากออกมากลม และบางดูดีจริงๆ
-- เก่งมาก เอาไข่นี้ไปทำไข่ห่อข้าวได้ด้วยนะ ลองทำดู

แหม...ชมก็เป็นด้วยแฮะ (แอบดีใจ) ต่อไปก็ถั่วลันเตา แค่เอาไปลวกในน้ำเดือด แล้วซอยเฉียงๆ บางๆ เห็ดหอม รากบัวเอาไปต้มในน้ำซุปสต๊อกสาหร่ายคอมบุ ใส่น้ำตาล เกลือ เล็กน้อย การต้มต้องใช้ไฟอ่อนๆ น้ำตาลจะได้ละลายได้ดี เสร็จแล้วพักไว้ให้เย็น แครอตหั่นฝอยๆ เล็กๆ แยกเอาไว้
ถ้ามีเหลือก็แกะสลักเป็นรูปดอกไม้ไว้ประดับเพื่อความสวยงาม

เมื่อข้าวในหม้อสุกก็ตักออกมาพักไว้ในชามใหญ่ปากกว้าง ไอร้อนจะได้ระเหยได้ดีขึ้น จังหวะนี้เองที่ต้องเอาซูชิซึ (น้ำส้มสายชูญี่ปุ่นผสมมิรีน : มีขายทั่วไป หรือจะทำเองก็ได้) มาคลุกกับข้าว 
วิธีคลุกคือต้องเอาทัพพีตัดๆ ข้าวที่สุกในหม้อให้ทั่วแล้วก็คลุกทำสลับไปมา พร้อมๆ กับให้ผู้ช่วยช่วยพัดให้ไอร้อนระเหยไปพร้อมๆ กันอย่างรวดเร็ว
แต่วันนี้ฉันใช้เครื่องทุ่นแรงคือเปิดพัดลมเป่าเลย (ฮิๆ ไม่ทราบว่าสูตรไหนจริงๆ แล้วใช้มือพัดดีกว่าค่ะ)

หลังจากนั้น ก็เอาเห็ดหอม แครอตฝอย และงาคลุกเข้าด้วยกันกับข้าว กลิ่นหอมเริ่มโชยแตะจมูกหน้าตาของข้าวซูชิดูดีขึ้นมาก แล้วเราก็ตกแต่งประดับประดาให้สวยงามซึ่งก็แล้วแต่ว่าจินตนาการใครจะเป็นอย่างไร 

ส่วนฉันใช้สีดำของโนริที่ใช้กรรไกรตัดจนฝอยมาโรยทั่วๆ บนข้าวซูชิก่อน แล้วโรยทับด้วยไข่สีเหลือง ใช้สีเขียวของถั่วลันเตาคั่นตัดกับสีขาวของรากบัวซึ่งวางเรียงอยู่รอบๆ ถ้วย เติมสีแดงใสของอิคุรา สีเหลืองเข้มของคาซูโนโกะไว้ตรงกลางข้างๆ เส้นสีเขียวของใบโอบะ (กลิ่นฉุนของมันมีเสน่ห์มาก) 
วันนี้ถ้วยชามอันมีค่าที่อุตส่าห์หอบมาจากญี่ปุ่นได้ถูกนำมาวางเรียงให้เลือกใช้ได้ตามใจชอบอีกครั้ง ช่วงเวลาในการเลือกถ้วยชามให้เข้ากับอาหารก็เป็นอีกหนึ่งความสุขที่ฉันชื่นชอบ
ฉันเลือกถ้วยสีเขียวมรกตเข้มมาใส่จิราชิซูชิ สีสันที่ตัดกันทำให้อาหารมีสีสันสวยงามขึ้นอย่างง่ายดาย
เราสองคนนั่งดื่มชาเขียวและทานจิราชิซูชิกันอย่างสงบ เมื่อท้องเริ่มอิ่มบทสนทนาเกี่ยวกับการถ่ายรูปก็ออกรสชาติยิ่งนัก เนื่องด้วยเราต่างก็ชอบถ่ายรูป

คุณแม่เน้นถ่ายดอกไม้ในสวน ฉันเน้นถ่ายรูปลูกสาวและอาหารที่ทำรวมทั้งภาพธรรมชาติ 
น่าขำที่เราต่างก็คุยโอ้อวดกันอย่างสนุกสนาน จริงๆ แล้วเราทั้งสองคนไม่ได้เก่งเลิศเลออะไรเลย แค่สนุกกับการที่ได้ทำอะไรๆ ด้วยตัวเองเท่านั้น แม้ว่ามันจะไม่ได้ตามมาตรฐานของคนอื่นก็ตาม 
แต่สำหรับเราแล้วมันช่างสมบูรณ์แบบที่สุด


ตกเย็นครอบครัวฉันพร้อมหน้าพร้อมตากันนั่งรอบโต๊ะเหมือนจะเป็นโอกาสพิเศษ ฉันยกจิราชิซูชิ ชามพิเศษที่จัดลงบนจานไม้จากญี่ปุ่นและประดับด้วยอิคุราของโปรดของลูกสาวแบบจัดเต็ม หน้าตาที่ยิ้มแย้มของทั้งสองแสดงถึงความสุข ลูกสาวกรี๊ดขึ้นเบาๆ สามีรีบตักใส่ถ้วยทานอย่างเอร็ดอร่อย ช่วงเวลาสั้นๆ อาหารหมดไปจากจานอย่างรวดเร็วลูกสาวบอกว่า
-- อร่อยค่ะคุณแม่ หนูชอบ คุณแม่เป็นนางฟ้าที่ทำอาหารเก่งที่สุดค่ะ
อาการยินดีกับอาหารของลูกสาวนั้นหาได้ยากมาก วันนี้คงถูกปากเธอจริงๆ สายตาที่แวววาวยิ้มจนตาหยี หัวเราะอย่างถูกใจกับรสชาติอาหารของทั้งคู่มันช่างน่ายินดีจริงๆ

ครอบครัวเราไม่ได้มีงานฉลองอะไรเป็นพิเศษแต่วันนี้เป็นวันพิเศษที่พ่อ แม่ ลูก ได้ห่างจากความเครียด และการแข่งขัน แก่งแย่ง นั่งทานอาหารกันอย่างสงบ จิราชิซูชิ ยังคงเป็นอาหารที่น่ายินดียิ่งสำหรับฉัน


คำศัพท์
คาซูโนโกะ ไข่ปลานิชชิน ปลาตระกูลปลาทู 
อิคุรา ไข่ปลาแซลมอน 
ใบโอบะ หรือใบชิโซะ ใบไม้กลิ่นฉุนไว้สำหรับตกแต่งจานอาหาร 
ซูชิซึ น้ำส้มสายชูญี่ปุ่นผสมกับมิรีน หรือน้ำตาลไว้คลุกข้าวเพื่อทำข้าวซูชิ

ฯลฯ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ในบทความมี ..ส่วนผสม และ วิธีการทำ .. หาอ่านได้จากคอลัมน์และนิตยสารดังกล่าว



.