.
ทักษิณาภิวัตน์! อนุสนธิจาก “มหาสงกรานต์ข้ามชาติ”
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 37
"ฉันมา ฉันเห็น ฉันชนะ"
จูเลียส ซีซาร์
รัฐบุรุษชาวโรมัน
ผมขอเริ่มบทความนี้ด้วยคำกล่าวของ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเป็นทั้งรัฐบุรุษและแม่ทัพใหญ่ของกองทัพโรมันเมื่อครั้งประกาศชัยชนะใน "Pontic Campaign" อันถือว่าเป็นหนึ่งในชัยชนะที่สำคัญในการยุทธ์ของเขาในปีที่ 47 ก่อนคริสตกาล
ผมเชื่อว่าเมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาพบกับคนเสื้อแดงใน "มหาสงกรานต์ข้ามชาติ" จากไทยไปลาวและกัมพูชานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ได้รำพึงเช่นที่ซีซาร์กล่าวไว้
แต่ภาพการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงโดยเฉพาะที่เสียมราฐซึ่งมีคนไทยไปร่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้ผมอดคิดถึงคำกล่าวของซีซาร์ไม่ได้...
มหาสงกรานต์ข้ามชาติครั้งนี้สั่นสะเทือนการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านทักษิณแล้ว มหาสงกรานต์ของชาวเสื้อแดงในกัมพูชายิ่งสั่นสะเทือนพวกเขาอย่างมาก!
การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณและคนเสื้อแดงในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองไทย และอย่างน้อยก็คงต้องยอมรับว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
เพราะหลังจากถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว แทนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะถูกทำให้เงียบและหมดบทบาททางการเมืองลง หรือกลุ่มผู้สนับสนุนเขาจะถูกทำลายทิ้งในทางการเมือง
แต่กลับกลายเป็นว่า รัฐประหารดังกล่าวกลายเป็น "เชื้อไฟ" อย่างดี
แม้กลุ่มอนุรักษนิยมและบรรดาพลพรรคที่สนับสนุนรัฐประหารจะใช้วิธีการต่างๆ ในการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจผ่านองค์กรอิสระและกระบวนการตุลาการ จนกลายเป็น "ตราบาป" ครั้งใหญ่ของการใช้อำนาจทางกฎหมายในการเมืองไทย
เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำเช่นนี้ ปัญญาชนบางส่วนจึงออกมาปกป้องพร้อมกับเสนอแนวคิดที่บิดเบือนด้วยวาทกรรม "ตุลาการภิวัฒน์" ทั้งที่แนวคิดดังกล่าวในเวทีสากลก็คือ การใช้อำนาจของสถาบันตุลาการเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในขณะที่ปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยสร้างความชอบธรรมอย่างง่ายๆ ว่า ตุลาการภิวัฒน์คือการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อทำลายกลุ่มทักษิณ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็น "นิติรัฐ" ของระบบกฎหมายไทย
ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากการรัฐประหาร 2549 จนกลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของสถาบันตุลาการไทย อันนำไปสู่วาทกรรม "สองมาตรฐาน" ในเวทีสาธารณะ
ประเด็นเช่นนี้ให้ข้อคิดอย่างชัดเจนว่า ถ้ากระบวนการตุลาการไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง หรือไม่ถูกดึงเข้าสู่การเป็นเครื่องมือของการทำลายทางการเมืองแล้ว วาทกรรมสองมาตรฐานจะเป็นประเด็นที่ "ขายไม่ได้" ในเวทีสาธารณะแต่อย่างใด
ซึ่งผลพวงเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างจากบทบาทของบรรดาองค์กรอิสระ ซึ่งก็กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของการทำลายทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549
กระบวนการเช่นนี้แม้จะดูมีพลัง จนสามารถจัดการกับพรรคไทยรักไทยได้ถึง 2 ครั้งด้วยการยุบพรรค แต่ก็ดังได้กล่าวแล้วว่า การตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ครั้งแรกของกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยม-จารีตนิยมก็คือ การตัดสินใจทำรัฐประหาร 2549 และความผิดใหญ่ครั้งที่สองก็คือ การใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ในการยุบพรรค โดยหวังว่าจะทำให้พลังสนับสนุนในเวทีรัฐสภาที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคการเมืองของกลุ่มนี้จะต้องยุติลง
แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏก็คือ การใช้อำนาจในแบบ "เสนาภิวัตน์" ด้วยการรัฐประหาร พร้อมๆ กับการใช้อำนาจแบบ "ตุลาการภิวัฒน์" ด้วยการใช้กฎหมายเพื่อการแทรกแซงทางการเมือง กลับกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างมาก และกลายเป็น "แนวร่วมมุมกลับ" อย่างดี
นอกจากนี้ อาจจะต้องยอมรับว่า กลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นนั้น ก็ไม่ใช่กลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด หากแต่พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มเสรีนิยมที่ปฏิเสธบทบาทของกองทัพในการเมืองไทย
แต่เมื่อระยะเวลานานขึ้น พร้อมๆ กับการต่อสู้เริ่มเข้มข้นมากขึ้น และยังประกอบกับผลของ "แนวร่วมมุมกลับ" จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบินระหว่างประเทศของไทย ตลอดรวมถึงการเคลื่อนไหวด้วยวิธีคิดแบบ "ชาตินิยมสุดขั้ว" ในกรณีปราสาทพระวิหาร ล้วนส่งผลให้บรรดาชาวเสรีนิยมถูกผลักให้ต้องเข้าร่วม
และในที่สุดก็กลายเป็นขบวนการการเมืองใหญ่ของคนเสื้อแดงในเวลาต่อมา
น่าสนใจว่าขบวนการเมืองชุดนี้ใช้เวลาก่อตัวไม่นานนัก แต่ก็สามารถเติบใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว หากเปรียบเทียบกับการก่อตัวของขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ขบวนการคนเสื้อแดงเกิดและขยายตัวเร็วมาก
แม้จะเปรียบกับขบวนของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมอย่างขบวนการของคนเสื้อเหลือง ซึ่งก็ก่อตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็หดตัวลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จนอาจกล่าวได้ว่า พลังการชุมนุมของกลุ่มนี้ในที่สาธารณะลดลงอย่างมาก และเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มเสื้อเหลืองจะหวนกลับมาเติบใหญ่ได้อีกก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนคนจากพรรคการเมืองอนุรักษนิยม และได้รับการเกื้อหนุนจากผู้นำกองทัพ ตลอดรวมถึงการได้รับเงินจากแหล่งทุนเก่า
ซึ่งหากปราศจากการสนับสนุนใหญ่จากสามส่วนนี้แล้ว สื่อ ปัญญาชน และชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นฐานล่างของขบวนอนุรักษนิยมนี้ ก็ไม่สามารถก่อการเคลื่อนไหวใหญ่ได้จริง
ภาพของขบวนเสื้อเหลืองในปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมดูจะแตกต่างจากภาพของขบวนเสื้อแดงอย่างมาก
ความต่างไม่ใช่แค่เพียงในเรื่องของจุดกำเนิดและแนวคิดทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังต่างอย่างมากในเรื่องของพัฒนาการ
สำหรับขบวนเสื้อเหลืองซึ่งถือกำเนิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยม เมื่อความคลี่คลายทางการเมืองมีการพัฒนามากขึ้น แรงขับเคลื่อนดังกล่าวก็ดูจะอ่อนแรงลง เพราะรากฐานของอุดมการณ์และความสนับสนุนยืนอยู่กับสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความต้องการของประชาชนและกระแสโลกที่เรียกร้องประชาธิปไตย
ในขณะที่ขบวนเสื้อแดงนำพาตนเองไปสู่การเป็น "ขบวนประชาธิปไตยไทย" แม้ด้านหนึ่งพวกเขาจะถูกมองว่าเป็นเพียงกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก ทัศนะเช่นนี้ละเลยว่าคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น "ผู้รับจ้าง" จากกลุ่มของทักษิณมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประชาธิปัตย์และทหาร
การต่อสู้ด้วยการโหมโฆษณาชวนเชื่อ และใช้การสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นศัตรู ทำให้ในที่สุดแล้ว รัฐบาลประชาธิปัตย์ร่วมกับทหารได้ตัดสินใจที่จะใช้การ "ล้อมปราบ" เป็นเครื่องมือในการตัดสินอนาคตทางการเมือง
การล้อมปราบครั้งที่ 1 ในสงกรานต์ 2552
ครั้งที่ 2 ในสงกรานต์ 2553
และครั้งที่ 3 ซึ่งถือเป็นการล้อมปราบครั้งใหญ่ที่ราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม 2553
การล้อมปราบในเมืองถึง 3 ครั้งถือเป็นอีกครั้งของการตัดสินใจที่ผิดพลาดโดยเอาอนาคตไปผูกไว้กับความเชื่อว่า พลังอำนาจทางการทหารสามารถจัดระเบียบใหม่ทางการเมืองได้
ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่แตกต่างจากการทำรัฐประหาร หากแต่ในการรัฐประหารนั้น ผู้นำทหารใช้กำลัง "ประหารรัฐ" แต่ในการล้อมปราบพวกเขาใช้กำลังเพื่อ "ประหารประชาชน" อันนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นปมปัญหาของการเมืองไทยที่ยังไม่อาจมีข้อยุติได้ แม้จะมีการนำเสนอเรื่องปรองดองในรูปแบบต่างๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การล้อมปราบก็ไม่อาจยุติการขยายตัวของขบวนการคนเสื้อแดงได้ หลังจากการล้อมปราบเสร็จสิ้นลง ในสัปดาห์ต่อมาก็มีการออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเสียแล้ว แตกต่างจากการใช้อำนาจทหารในการเมืองไทยในอดีตอย่างมาก
หากเป็นช่วงเวลาในอดีตหลังจากการรัฐประหารแล้ว เพียงผู้นำทหารออกมา "พูดเสียงดัง" หน่อย ประชาชนที่เป็นฝ่ายต่อต้านก็มักจะเงียบเสียงลง นักการเมืองบางส่วนก็เก็บกระเป๋ากลับจังหวัดตน รอคอยการเลือกตั้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกจากความกรุณาของผู้นำทหารคนใหม่
ในสภาพเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงขยายตัวอย่างมาก ใช่แต่เพียงจากจังหวัดสู่จังหวัดเท่านั้น หากแต่ยังขยายจากประเทศสู่ประเทศอีกด้วย จนต้องยอมรับว่า ขบวนเสื้อแดงมีลักษณะ "อินเตอร์" มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการขยายตัวของแนวร่วมในเวทีสากลก็มีมากขึ้นเช่นกัน
ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไรนักที่การล้อมปราบทั้ง 3 ครั้งได้กลายเป็นดังการเติมเชื้อให้ไฟแห่งการต่อสู้ให้ลุกโชนขึ้นอีก ดังจะเห็นได้ว่าเสียงเรียกร้องให้เอาคนผิดผู้สั่งสังหารมาลงโทษดังกึกก้องมาตลอด... พวกเขาไม่เคยเรียกร้องหานิรโทษกรรม เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้ผู้สังหารสามารถหลุดรอดลอยนวลไปได้
การเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคสมัยที่เป็นโลกาภิวัตน์ นอกจากจะทำให้กระแสขยายตัวไปสู่วงกว้างในเวทีโลกได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีผลให้กระแสการเมืองภายในได้รับผลกระทบจากกระแสในเวทีโลกอีกด้วย พร้อมๆ กับกระแสชุดนี้ก็ไหลลึกลงสู่รากหญ้าของสังคม ซึ่งก็สอดรับกับการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยการใช้ "เวทีโลกล้อมรัฐไทย"
ฉะนั้น การขับเคลื่อนการต่อสู้แบบโลกาภิวัตน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรืออาจจะขอเรียกว่าเป็น "กระแสทักษิณาภิวัตน์" ซึ่งอาศัยกระแสโลกรองรับไว้ด้วยนั้น จึงทำให้การต่อสู้ของขบวนเสื้อแดงสอดรับกับกระแสในเวทีสากลได้ไม่ยากนัก และในขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดเจนว่า กระแสเสื้อเหลืองมีลักษณะที่ขัดต่อกระแสโลกเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น เมื่อสงกรานต์ 2555 มาถึงพร้อมกับชัยชนะของพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งก็ดูจะมีเงื่อนไขการเมืองใหม่เข้ามาเป็นองค์ประกอบจากการเคลื่อนไหวที่เสรีมากขึ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณอีกด้วย สงกรานต์ 2555 จึงไม่ใช่เทศกาลของการเล่นน้ำอย่างธรรมดาอีกต่อไป
ภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ขยับขยายพื้นที่การเมืองด้วยการเล่นสงกรานต์จากไทย ไปลาว และกัมพูชานั้นต้องถือว่าเป็น "ปรากฏการณ์ใหม่" เป็นอย่างยิ่ง จนทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตที่น่าขบคิดอย่างมากว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน คือ "ประธานใหญ่เสื้อแดง" ในกัมพูชา เป็นต้น
ภาพ "สงกรานต์ข้ามชาติ" ของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ เปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นว่า การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของเส้นเขตแดนของรัฐอธิปไตยอีกต่อไป
การหลอมรวมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยได้ขยับข้ามพรมแดนไปแล้ว และมีเพื่อนบ้านด้านตะวันออกตลอดแนวพรมแดนเป็น "หลังพิง" คู่ขนานกับการต่อสู้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
คงไม่ผิดอะไรนักที่สงกรานต์ 2555 จะเป็นดัง "ฝันร้าย" ของกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมเป็นอย่างยิ่ง โลกาภิวัตน์ของทักษิณล้อมกรอบพวกเขาแน่นขึ้นทุกวัน
ปัญหาจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า แล้วรัฐบาลปัจจุบันจะขับเคลื่อนการเมืองไทยไปสู่อนาคตอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย