.
มีโพสต์ - "ปรองดอง" ในไร่ส้ม? "สนธิ" ยอมขออภัย "ไทยรัฐ" รับเสนอข้อเท็จจริง "คลาดเคลื่อน"
คอลัมน์ แนวโน้ม - บริจาคภาษีคนละ 100 บาท "ประชาธิปัตย์" นำโด่ง
คอลัมน์ แนวโน้ม( ปีที่แล้ว) - เบื้องหลังเงิน 600 ล้านบาท บริจาคให้"ประชาธิปัตย์"
_____________________________________________________________________________________________________
"ทักษิณ" คิด "ยิ่งลักษณ์" เลือก เปิดแผน 3 มิติวันปลดล็อก 111
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 10
โหมโรงกันมาตั้งแต่ต้นปี สำหรับวงปี่พาทย์การเมืองที่บรรเลงต้อนรับ "สมาชิกบ้านเลขที่ 111" ในการคืนสู่เวทีการเมืองอีกครั้ง หลังจากถูก "โซ่ตรวน" พันธนาการนานถึง 5 ปี นับแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) พร้อมเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550
บางคนที่อยู่แต่ "เบื้องหลัง" เริ่มขยับตัวมาแสดงบทบาทใน "เบื้องหน้า"
บางคนที่ซ่อนเร้น-หายลับไปกับคำตัดสินของศาล เริ่มกลับมาปรากฏกายในที่โล่งแจ้งอีกครั้ง
ดังจะเห็นได้จากความคึกคัก-ครึกครื้นในการจัดงานฟุตบอล 4 เส้านัดกระชับมิตร เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ที่ปรากฏบรรดา "บิ๊กเนม ทรท." ร่วมโชว์ฝีเท้ากันอย่างคับคั่ง
มีทั้งคนหน้าเก่าอย่าง "จาตุรนต์ ฉายแสง" "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" "วีระกานต์ มุสิกพงศ์" "อดิศร เพียงเกษ" "วิชิต ปลั่งศรีสกุล" "วิเชษฐ์ เกษมทองศรี" "เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช" ฯลฯ
แต่ที่ "เซอร์ไพรส์" เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยคือการมาเยือนของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" และ "อนุชา นาคาศัย" แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ที่ไปอาศัยชายคา "พรรคภูมิใจไทย" (ภท.) มานาน แม้ "แขกรับเชิญ" ทั้ง 2 จะทำที "แบ่งรับแบ่งสู้" กับคำถามของสื่อมวลชนว่าจะกลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือไม่
แต่กระนั้น "คำตอบ" ที่เป็น "วัจนภาษา" หาใช่สิ่งจำเป็นไม่ เพราะการ "ปรากฏตัว" ในงานที่จัดขึ้นโดยแกนนำ พท. ไม่ต่างอะไรจากการ "ทอดไมตรี" เพื่อขอ "คืนดี" กับ "มิตรเก่า"
เป็นการตอบด้วย "อวัจนภาษา" ที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งของคนชื่อ "สมศักดิ์"
คงไม่พลาดหากจะเดาล่วงหน้าว่า "บิ๊กอีเว้นต์" รวมพลคน 111 ในวันที่ 30 พฤษภาคม ที่จะจัดขึ้นที่ "มูลนิธิ 111" เพื่อ "ฉลอง" การกลับมาเป็น "พลเมืองชั้น 1" ได้รับสิทธิการเมืองคืนนั้น
บรรดา "เลือดเก่า" ที่เคย "ทะลัก" ออกไปจะไหลย้อนกลับมารวมตัวกันอย่างคับคั่ง
และน่ามีไม่น้อยที่ "ประเดิม" ชีวิตใหม่ด้วยการตบเท้าเข้าสมัครเป็นสมาชิก พท. ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
แม้การ "คืนสิทธิ" ของอดีตกรรมการบริหาร ทรท. จะไม่เกี่ยวกันกับการครบรอบ 1 ขวบของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในเดือนสิงหาคมนี้
แต่บังเอิญเป็นอย่างยิ่งที่การ "กลับมา" ของ "ทีมเอ" เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงบ่น-ก่นด่าจากประชาชนทั่วประเทศถึง "ความล้มเหลว" ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหลายด้าน
หนึ่งคือ นโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ไม่เกิดการขับเคลื่อน-ยังผลที่เป็นรูปธรรม
ตรงกันข้ามประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหา "แพงทั้งแผ่นดิน" เมื่อค่าครองชีพถีบตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายรับหยุดนิ่งอยู่ แม้รัฐบาลจะประกาศเดินหน้าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
สองคือ ปัญหาการควบคุม "เกมในสภา" ที่ยังไม่สามารถ "รับมือ" กับฝ่ายค้านมืออาชีพได้
แม้ "คีย์แมน พท." จะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ด้วยการปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตีรวน-ถ่วงรั้งกระบวนการรัฐสภาเต็มที่ เพราะเชื่อกันว่าเมื่อประชาชนเห็นภาพดังกล่าว จะเกิดอาการแหนงหน่ายการเล่นการเมืองไม่รู้จบของ "พลพรรคสะตอ"
แต่เอาเข้าจริงเมื่อ "เสียงข้างมาก" คือผู้กำหนดเกมในสภา ทำให้ประชาชนบางส่วนเฉลี่ยความไม่พอใจกลับมาที่รัฐบาล
และสามคือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับ "ฐานเสียง-คนเสื้อแดง" ที่ "2 ขา" เริ่มเดินสวนทางกัน หลัง "หัวขบวนไพร่" เปิดเกมปรองดองกับ "มหาอำมาตย์"
ด้วยเหตุนี้จึงมีการคาดการณ์กันว่าจะมีการเปิดทางให้ "ทีมเอ" ซึ่งมี "จุดแข็ง" เข้ามารับบางตำแหน่ง เพื่อกำจัด "จุดอ่อน" ในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ และป้องกันเสถียรภาพ-ความเชื่อมั่นของรัฐบาลจะตกวูบลงไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เป็นไปไม่ได้ที่ "อดีตขุนพล ทรท." จะ "คัมแบ๊ก" แบบยกแผง เพราะสถานการณ์ของพรรค ณ วันนี้ แตกต่างจาก 5 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง
วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจโลกรุกเร้า-รุนแรง-รับมือยากกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด
ปัญหาการเมืองสลับซับซ้อนมากขึ้น
หรือกระทั่ง "นักการเมืองโนเนม" ที่เคยเป็นพวก "นกแล" ก็ปีกกล้า-ขาแข็งกว่าเดิมมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่บรรดาเด็กเจ๊-ลูกน้องเฮีย จะยอมลุกจากเก้าอี้ทันทีเพื่อเปิดทางให้ "ลูกพี่" เข้ามานั่งต่อ
"คนไม่มีสิทธิ แต่มีบารมีการเมือง" ประเมินว่าการหวนคืนการเมืองของ "บ้านเลขที่ 111" จะเกิดขึ้นใน 3 มิติคือ เป็นคนข้างหน้า คนข้างข้าง และคนข้างหลัง
"คนข้างหน้า" คือ กลุ่มคนที่จะเข้ามา "ชิมลาง" รับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม. "ปู 3" ก่อนใคร
โดยคุณสมบัติพิเศษของคนกลุ่มนี้คือ ต้องแสดงตนเป็น "หัวหอก" ร่วมเรียง-เคียงรบกับ "นายใหญ่" ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทั่ง ทรท. ถูกสั่งยุบในปี 2550 แต่ก็ยังช่วยประคอง "รัฐบาลน้องเขย" กระทั่งพรรคพลังประชาชน (พปช.) โดนทุบในปี 2551 แต่ยังตามมาเป็นแบ๊กให้ "รัฐบาลน้องสาว" ในยุค พท.
สำหรับชื่อคนกลุ่มนี้ที่ถูกเนมมาแรกๆ อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, วราเทพ รัตนากร และอาจรวมถึงชื่อ "วีระกานต์ มุสิกพงศ์" อดีตประธาน นปช. เพื่อบริหารความรู้สึกคนเสื้อแดง
นอกจากนี้ ยังมี 2 ตำแหน่งที่ว่ากันว่าจะมี "ตัวจริง" ขึ้นเวทีทันทีที่ 111 ปลดล็อก นั่นคือ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่ง 2 จุดนี้นอกจากต้องเป็นคนที่ "นายใหญ่" ไว้วางใจแล้ว ยังต้องเป็นคนที่เข้ากันได้ดีกับ "น้องหญิง" ด้วย เพราะเป็นตำแหน่งที่ต้องอยู่ติดตัว "นายกฯ" เกือบตลอดเวลา
ส่วน "คนข้างข้าง" คือ กลุ่มที่กระสันอยากได้ใคร่ดี-อยากพิมพ์นามบัตร "รัฐมนตรี" อีกครั้ง แต่โอกาสไม่เอื้อ ด้วยข้อจำกัดของตำแหน่งแห่งหนซึ่งมีเพียง 35 คน หรืออาจเป็นเพราะเคยปันใจไปอยู่ที่ค่ายอื่นมาก่อน หรืออาจเป็นเพราะชื่อ-ชั้น-ฝีมือยังไม่เข้าตา "คนดูไบ" นัก
จึงเป็นไปได้ที่คนเหล่านี้จะถูกจัดลงใน "ตำแหน่งอุปโลกน์" อาทิ เป็นที่ปรึกษาโน่นนี่ เป็นบอร์ดต่างๆ ฯลฯ
ขณะที่ "คนข้างหลัง" คือแกนนำระดับ "มันสมอง" ที่อาสา "คิด" แต่ไม่ประสงค์ออกนาม อย่าง "พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" อดีตเลขาธิการนายกฯ "สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" ที่ประสงค์จะให้คำปรึกษารัฐบาลแบบไร้ร่องรอยต่อไป
โดยทั้งหมดนี้ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมทั้งสัดส่วน-ปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง
ว่ากันว่า เงื่อนไขในใจ "คนดูไบ" คือ 1."บ้านเลขที่ 111" ที่จะเข้ามา จะถูกส่งไปลงใน "จุดยุทธศาสตร์สำคัญ" นั่นหมายความว่าต้องผลิตผลงานชิ้นโบว์แดงได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
2.ต้องไม่ทำให้เกิดภาพการเข้ามาขี่-ข่ม "นายกฯ โคลนนิ่ง" มากเกินไป
และ 3.ต้องไม่ทำให้พรรคกระเพื่อมจนเกินงาม
อย่าได้แปลกใจหากเงื่อนไขไม่รับพวกที่เคย "หักหลัง" ไปโหวตสนับสนุน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้า ปชป. เป็นนายกฯ คนที่ 27 จะถูกกางออกมาตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่
อย่าได้แปลกใจหาก "บางชื่อ" จะไม่ถูกพูดถึง เพื่อลดความเสี่ยงการเมืองภายใน-ป้องกัน "หัวหน้ามุ้ง" ต่างๆ แข็งเมืองในยามที่ "หัวหน้าพรรคตัวจริง" ยังพเนจรอยู่ต่างแดน
ส่วนใครจะเป็น "ผู้ถูกเลือก" นั้น คำเฉลยคงมีขึ้นไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้
แต่ด้วย "ข้อจำกัด" ของจำนวนเก้าอี้ที่มีอยู่ จำนวนคนล้นงาน จึงเชื่อว่าจัดคนข้างหน้า-คนข้างข้าง-คนข้างหลัง คงไม่ราบเรียบและลงตัวนัก
ถือเป็นภาวะท้าทายความคิดของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และการร่วมเลือกของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อย่างยิ่งยวด!!!
++
สไปเดอร์แมน "ทักษิณ" กับเครือข่ายใยแมงมุม "มันสมอง" รัฐบาล "ปู"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 13
หลังพฤษภาคม 2555 ไม่เพียงบ้านเลขที่ 111 จะกลับสู่สนามการเมืองอีกครั้ง แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือ การกลับมาของทีมที่ปรึกษายุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ตลอดจนมือไม้ที่จะเข้ามาช่วยงานรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้ขับเคลื่อนประเทศครั้งใหญ่
จริงๆ แล้ว ทีมที่ปรึกษา Think Tank ที่รวมเอามันสมองก้อนโตเข้ามาทำงานให้รัฐบาลที่ถูกบันทึกเป็นตำนานทางการเมืองไทย เริ่มต้นชัดเจนที่สุด คือทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ในสมัยของ น้าชาติ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงตั้งแต่ปี 2531 นั่นเอง
"ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ" ยุคนั้นประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ดร.ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
กล่าวกันว่า พวกเขาคือ เบื้องหลังนโยบายสำคัญ "เปลี่ยนสนามรบเป็นเป็นสนามการค้า"
มาถึงยุครัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" ทีมที่ปรึกษากลับมาก่อตัวอย่างคึกคักอีกครั้ง มันสมองก้อนโตที่อยู่เบื้องหลังนโยบายประชานิยมและสิ่งใหม่ภายใต้รัฐบาลไทยรักไทยมาจาก "เดอะ ดรีมเมอร์" พันศักดิ์ วิญญรัตน์
ยุคของรัฐบาลทักษิณ มักถูกวิจารณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้ใช้ที่ปรึกษาเปลืองมาก "ดร.โกร่ง" วีรพงษ์ รามางกูร ก็เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
และยังมีชื่อของ "นิพัทธ พุกกะณะสุต" อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เขาคือ แมวเก้าชีวิตที่กลับมาได้ทุกครั้ง ยกเว้นช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์มีอำนาจ และยังมีชื่อ นายวิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทีมที่ปรึกษากลุ่มนี้คือ ล้วนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้า
นอกจากทีมเศรษฐกิจ ก็ยังมีที่ปรึกษาคนสำคัญที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ มากที่สุดคนหนึ่งคือ "หมอมิ้ง" นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ผู้อยู่เบื้องหลังแคมเปญการรณรงค์ทางการเมืองก่อนจะกลายมาเป็นรัฐมนตรีใน ครม.ทักษิณ และผลักดันนโยบายประชานิยมอย่างเป็นรูปธรรม
ครั้งหนึ่ง "อัมมาร สยามวาลา" กูรูใหญ่แห่งทีดีอาร์ไอ เคยกล่าวว่า นโยบายประชานิยมในยุครัฐบาลทักษิณ จะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ไทยรักไทยหาเสียงไว้อย่างไรก็ทำตามนโยบายที่หาเสียง ขณะที่รัฐบาลชุดอื่นๆ ไม่ทำตามที่หาเสียง
ทีมที่ปรึกษาของ พ.ต.ท.ทักษิณ แตกกระจาย และยุติบทบาทที่ปรึกษาชั่วคราว หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ส่วนยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ปรากฏทีมที่ปรึกษา Think Tank อย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และเพื่อนๆ ก๊วนอ๊อกซ์ฟอร์ด เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง จนไม่ต้องพึ่งที่ปรึกษาจากภายนอก
และเมื่อถึงยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ทีมที่ปรึกษาก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ที่ปรึกษาคนสำคัญของพี่ชายที่กลายมาเป็นตัวช่วยสำคัญในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คือ "ดร.โกร่ง" วีรพงษ์ รามางกูร นั่นเอง
ในยุครัฐบาลปู "ดร.โกร่ง" สวมหมวกหลายใบ ไม่ว่าจะเป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และที่ต้องรอลุ้นในเร็ววันคือ เก้าอี้ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้น ยังมีสมองก้อนโตที่ชอบอยู่เบื้องหลัง แต่มักจะคิดดังๆ อยู่เสมอ
นั่นคือ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์"
หลายเดือนก่อนเขาให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า
"รัฐบาลจะต้องมี vision ที่ practical (ใช้ได้จริง) มีวิสัยทัศน์ ที่ตีนติดดิน ไม่ใช่วิสัยทัศน์ที่ลอยๆ ไม่ใช่ความสามารถที่ฝันว่าจะมี แล้วกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข ก็จะมีงานทำ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีหน้าที่แค่ไปจับคนที่มาขายของเป็นพิษให้กับประชาชน แต่มีหน้าที่ส่งเสริมให้สังคมไทยมีกระบวนการผลิตที่มีพิษน้อยลง เพราะคุณไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นผู้ช่วยให้ประชาชนทำมาหากินได้ สำหรับผมคิดว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความสำคัญมากกว่ากระทรวงพาณิชย์ เพราะเป็นส่วนที่เสริมให้ประชาชนสามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพ เป็น adviser (ที่ปรึกษา) ของการหารายได้ของประชาชนที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค"
ล่าสุด พันศักดิ์ เข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของประเทศ (กนภอ.) เรียบร้อย (มติ ครม. 1 พ.ค.2555)
กล่าวกันว่า กลุ่มที่ปรึกษา Think Tank รุ่นเดอะ อันประกอบด้วย ดร.วีรพงษ์, พันศักดิ์, นพ.พรหมินทร์ และแมวเก้าชีวิต อย่าง "นิพัทธ" สุมหัวคุยกันบ่อยครั้ง และหลายครั้งก็กลายมาเป็นข้อเสนอและการบ้านส่งถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์
และหลายครั้ง ดร.วีรพงษ์ คือ ผู้ออกมาจุดประกายขายฝัน แบบดังๆ เช่น ล่าสุดในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ประเทศไทยจะไปทางไหน ในงานสัมมนา เรื่อง เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ : การสร้างภูมิคุ้มกัน ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา
ดร.โกร่ง จุดประกายความคิดหลายเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นทันที 60,000 ล้านบาท หรือ การกลับไปใช้สนามบินดอนเมือง อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่นับรวมวิสัยทัศน์การพัฒนาอนาคตประเทศ เพิ่มศักยภาพการขนส่งระบบราง-อากาศ-การศึกษา
และแน่นอนว่า สิ่งที่ ดร.โกร่งและพันศักดิ์ จับจ้องมองเป็นโอกาสมากที่สุดคือ พม่า เพราะไม่ต้องการให้สิงคโปร์หยิบชิ้นปลามัน
ทีมงานเดิมของอดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่ใช่มีแต่ฝ่ายบุ๋นและสมองก้อนโต แต่ยังมีฝ่ายปฏิบัติการ หรือมือทำงาน ที่ผลักดันให้นโยบายที่อยู่ในกระดาษไปสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง
ทีมบู๊ที่พับแขนเสื้อ ออกลุยงานในภาพสนาม ประกอบไปด้วย ทีมงานที่มองตารู้ใจ อย่าง อารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เขาอยู่กับตระกูลชินวัตร มาตั้งแต่เป็นผู้บริหาร แอดวานซ์ อินโฟร์ ปี 2534
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล หรือชื่อเดิม นิวัฒน์ บุญทรง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) ความถนัดของเขาคือ งานด้านภาพลักษณ์
ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่วันนี้เข้าไปกำกับดูแลกระทรวงมหาดไทยอย่างเบ็ดเสร็จในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เพื่อนร่วมรุ่น เตรียมทหาร รุ่น 10 อดีต ผอ.กองสลาก ผู้ขับเคลื่อนหวยบนดิน ในยุครัฐบาลทักษิณ วันนี้ เขากลับมาใหญ่คับกองสลากอีกครั้ง
รวมถึง "อ้วน" ภูมิธรรม เวชชชัย หนึ่งในคนบ้านเลขที่ 111 ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายชุดกองทุน จากกองทุนหมู่บ้านสู่กองทุนพัฒนาสตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ไม่นับรวม "เดอะปุ้ม" สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่เข้ามาเป็นโฆษกประจำตัวนายกรัฐมนตรีแบบเต็มตัว จนทำให้ทีมงานด้านสื่อเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
นี่คือ ทีมที่ปรึกษาและมือปฏิบัติงานในยุคทักษิณ ที่บางคนก็เข้ามาช่วยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เต็มตัวแล้ว
และบางส่วนก็เตรียมกระโดดเข้ามาอย่างเต็มตัวในเร็ววัน
+++
"ปรองดอง" ในไร่ส้ม? "สนธิ" ยอมขออภัย "ไทยรัฐ" รับเสนอข้อเท็จจริง "คลาดเคลื่อน"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 14
หนังสือพิมพ์ "ไทยรัฐ" ฉบับประจำวันที่ 1 พฤษภาคม พาดหัวข่าว "สนธิ ลิ้มทองกุล ขออภัยไทยรัฐ หลังไกล่เกลี่ยในคดีหมิ่นฯ" ลงหน้าหนึ่ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
"เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 เมษายน ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลนัดสืบพยานโจทก์หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีหมายเลขดำ อ.3680/2550 ที่ บริษัท วัชรพล จำกัด โดย นายกมล ศรีวัฒนา ผู้รับมอบอำนาจที่ 1 และ นายไพฑูรย์ สุนทร โดย นายกมล ศรีวัฒนา ผู้รับมอบอำนาจที่ 2
"เป็นโจทก์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ นายขุนทอง ลอเสรีวาณิช และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
"โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความอันเป็นเท็จ หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ทั้งสอง
"จำเลยที่ 2 นำไปเผยแพร่โฆษณาในทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม จำเลยที่ 3 นำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ จำเลยที่ 4 นำไปเผยแพร่บทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของนั้น
"เป็นการแสดงเจตนาที่จะมุ่งร้ายใส่ความโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียง ฐานะทางสังคม และส่งผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างร้ายแรงรวม 3 ครั้ง ขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมายและลงโฆษณาคำพิพากษา"
"ปรากฏว่า นัดนี้ นายสราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ นายสนธิ ลิ้มทองกุล มาพร้อมกันที่ห้องพิจารณาแล้วแถลงต่อศาลว่า โจทก์จำเลยตกลงกันได้แล้ว
"ต่อมาศาลจึงมีคำสั่งรายงานกระบวนพิจารณาว่า นัดสืบพยานโจทก์หรือนัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความวันนี้ โจทก์จำเลยมาศาล นายสราวุธ วัชรพล ผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ และจำเลยที่ 1 มาศาล แถลงร่วมกันว่าสามารถตกลงยอมความกับจำเลยทั้ง 5 ได้แล้ว
"โดยจำเลยจะลงโฆษณาประกาศขออภัยรายละเอียดตามประกาศที่ยื่นต่อศาลทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 วัน และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 3 วัน และไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไป ศาลจึงสอบจำเลยทั้ง 5 แล้วแถลงไม่คัดค้านการถอนฟ้อง ศาลเห็นว่าคู่ความสามารถตกลงกันได้แล้ว และขอถอนฟ้องแล้ว จึงอนุญาตให้ถอนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความต่อไป"
ภายหลังการประนีประนอมยอมความ นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยรัฐว่า
"รู้สึกดีใจที่คดีนี้ลุล่วงไปได้ เพราะคดีระหว่าง นสพ.ไทยรัฐ กับนายสนธิ ก็น่าเห็นใจทุกฝ่าย เมื่อตกลงกันได้ก็เป็นการดี เพราะการไกล่เกลี่ยจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่คู่ความต่อรองกัน ยอมลดข้อเรียกร้องและต้องยอมรับปฏิบัติไปตามที่ตกลง
"คดีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าคดีความต่างๆ แม้ช่วงแรกจะตกลงกันไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มคลี่คลายและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และคดีนี้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนว่าความปรองดองจะยุติความขัดแย้งในสังคมได้"
ทั้งนี้ ข้อความ "ประกาศขออภัย" ของนายสนธิ ที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีเนื้อหาระบุว่า
"ตามที่ข้าพเจ้า นายสนธิ ลิ้มทองกุล เคยพูดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ "เอเอสทีวี" ในรายการยามเฝ้าแผ่นดิน และได้นำเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.manager.co.th และเผยแพร่ใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2550 กล่าวหาว่า "หนังสือพิมพ์ไทยรัฐไม่มีส่วนสร้างสรรค์พัฒนาสังคม ย่ำยีสังคมไทย ดึงให้สังคมไทยถอยหลัง มีอิทธิพลเป็นหนังสือพิมพ์สถุล...คุณอยู่ในขบวนการจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปล่า..."
"เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2550 กล่าวหาว่า "คอลัมนิสต์ของไทยรัฐหลายคนกินเงินเดือนของพวกพรรคไทยรักไทย ไทยรัฐไม่เคยพูด...ผมพูดมาหลายครั้งแล้วว่าวิธีเดียวที่จะสั่งสอนไทยรัฐได้ สั่งสอนความยิ่งใหญ่จอมปลอมของเขาได้คือเลิกซื้อ นสพ.เขา...ผมถามพ่อแม่พี่น้องโชวห่วย 3 แสนเจ้าในประเทศไทย ไทยรัฐเคยต่อต้านเทสโก้ โลตัส ให้คุณบ้างไหม แล้วคุณไปซื้อมันอ่านทำไม..."
"และเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2550 กล่าวหาว่า "...คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ได้คุณหญิงมาเพราะว่าพระบารมีของสถาบันกษัตริย์ แต่กลับปล่อยให้ลูกน้องตัวเองมาทำงานอย่างนี้ คุณกำพล วัชรพล ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ตอนตายยังมีโกศให้ ยังมาทำอย่างนี้อีกเหมือนกัน นายสราวุธ วัชรพล เป็น สนช. อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คำพูดซักคำก็ไม่เคยพูดในสภา ปล่อยให้ลูกน้องตัวเองทำอย่างนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นอัปมงคลของประเทศ มีอยู่ในประเทศ ประเทศไทยมีแต่จะล่มสลายเพราะไม่เคยก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่สังคมไทยเลยแม้แต่นิดเดียว..."
"บัดนี้ ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้อความที่ได้กล่าวในรายการยามเฝ้าแผ่นดิน และเว็บไซต์ www.manager.co.th กับ นสพ.ผู้จัดการรายวัน ได้นำไปเผยแพร่ดังกล่าวคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ข้อความดังกล่าวทำให้คุณหญิงประณีตศิลป์ และ นสพ.ไทยรัฐได้รับความเข้าใจผิดจากสังคมอย่างมาก
"ข้าพเจ้า นายสนธิ ลิ้มทองกุล เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงประกาศขออภัยต่อคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล และ นสพ.ไทยรัฐ"
ข่าวนี้ก่อให้เกิดกระแสตอบรับอย่างฉับพลันในโลกออนไลน์ ดังความเห็นบางส่วนที่ปรากฏใน "ห้องราชดำเนิน" ของเว็บไซต์พันทิป อาทิ
ผู้ใช้นามว่า "Mekatang" ระบุว่า "ดีครับ การขอโทษเป็นสิ่งที่ดี ต่อไปอาจจะขอโทษทักษิณก็ได้ เมืองไทยจะได้สงบซักที"
"เจ้าเกาะดอกท้อ" แสดงความเห็นว่า "ยกเว้นคนนี้ไว้คนเหอะ ไม่มีไม้บรรทัด หรือการปรองดองใดๆ ไปสกัดเขาได้ ประเทศเรา ทำได้แค่ภาวนาให้เขาพูดหรือหุบปาก"
ส่วน "Rajin" ตั้งคำถามว่า
"...รอลงอาญามาหลายคดี ผมเห็นเสื้อแดงหลายคนไม่มีสิทธิ์นี้ แม้กระทั่งอุทธรณ์ ยิ่งช่วงเมษาปีที่แล้วยิ่งแย่ ไม่ทราบเพราะคดีอาญาหรือเปล่า แล้วเค้าได้สิทธิ์ทางกฎหมายอะไรบ้าง อยากให้ผู้รู้ช่วยอธิบายครับ แค่อยากทราบความจริงเรื่องกฎหมาย เพื่อก้าวไปสู่การปรองดอง"
+++
บริจาคภาษีคนละ 100 บาท "ประชาธิปัตย์" นำโด่ง
คอลัมน์ แนวโน้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 37
กรมสรรพากรกำหนดให้ประชาชนยื่นเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2555 โดยประชาชนสามารถบริจาคภาษีคนละ 100 บาทให้กับพรรคการเมือง
พรรคการเมืองขณะนี้มี 56 พรรค
ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้รับเงินบริจาคจากภาษีของประชาชนมากที่สุดทุกครั้งตั้งแต่ปี 2551-2553 คือพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งสิ้น 22,291,700 บาท
รองลงมาคือพรรคการเมืองใหม่ 6,033,000 บาท
ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ 5,343,800 บาท พรรคชาติไทยพัฒนา 156,100 บาท พรรคภูมิใจไทย 40,200 บาท พรรคมาตุภูมิ 17,600 บาท
ในความเห็นของ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
"การบริจาคเงินภาษีของประชาชนให้พรรคการเมืองต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขจำนวนประชากรถือว่าน้อยมาก คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองต่างๆ จะประชาสัมพันธ์อย่างไรเพื่อเป็นคำตอบประชาชนว่าเงินที่เขาบริจาคให้จะนำไปใช้พัฒนาประเทศหรือตอบสนองนโยบายได้อย่างไร"
ท้ายที่สุด ก็ยังเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
ที่มา : โพสต์ทูเดย์, 15 กุมภาพันธ์ 2555
++++
รายงานของปีที่แล้ว 2554
เบื้องหลังเงิน 600 ล้านบาท บริจาคให้"ประชาธิปัตย์"
คอลัมน์ แนวโน้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1603 หน้า 28
อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ ติดประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงินซื้อโต๊ะงานระดมทุนพรรคเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 บางส่วน
โดยมียอดรวมเงินบริจาค 202,540,900 บาท จาก 406 ราย
กลุ่มที่บริจาค 4 ล้านบาทมี 1. บริษัท รัตนคีรี จำกัด 2. บริษัท ออล อิน มายด์ 1 จำกัด 3. บริษัท สำนักงานศักดิ์สิทธิ์ จำกัด 4. บริษัท ทรงวาด ริเวอร์ไซด์ จำกัด 5. บริษัท ดลภาค จำกัด 6. บริษัท ยู.ดับลิว.ดี. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 7. บริษัท แอลเอสพีวี จำกัด
กลุ่มที่บริจาค 2.5 ล้านบาท มี 1. บริษัท ปีติ ซีฟู้ด แอนด์ มารีน มหาชัย จำกัด 2. บริษัท คอนสตรัค ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด
กลุ่มที่บริจาค 2 ล้านบาทมี 1. บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด 3. บริษัท 888 มีเดีย จำกัด 4. บริษัท 999 มีเดีย จำกัด 5. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ไฮกรีต โปรดักส์ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด 8. บริษัท สยามไวร์ อินดัสตรี จำกัด 9. บริษัท ไพรเวต อินเตอร์ คอนสตรัคชั่น จำกัด 10. บริษัท ประมวลผล จำกัด 11. บริษัท เทพอรุโณทัย จำกัด 12. อ แก้วขวัญ จำกัด 13. บริษัท อธิมาตร จำกัด 14. บริษัท เอส.พี.เอ็ม. อาหารและเครื่องดื่ม จำกัด 15. บริษัท เอเชีย เบฟ จำกัด 16. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 17. บริษัท ถาวรลาภ (2010) จำกัด 18. บริษัท ทองพล จำกัด 19. บริษัท ที.พี.ดี. พิทักษ์สิทธิ์ จำกัด 20. บริษัท เบตเตอร์ อิมแพค คอมมูนิเคชั่น จำกัด 21. บริษัท เพิ่มโกศล จำกัด 22. บริษัท เอ็นวาย เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 23. บริษัท ช. ทวีก่อสร้าง จำกัด 24. บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด
กลุ่มที่บริจาค 1 ล้านบาท มี บริษัท เลควู้ด คันทรี่คลับ จำกัด
นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ผู้อำนวยการพรรคระบุว่า ยอดรวมบริจาคที่ได้กว่า 600 ล้านบาท โดยรายชื่อที่นำมาเปิดเผยเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ที่มา : มติชน, 18 เมษายน 2554
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย