http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-02

ผาสุก: ทำไมญี่ปุ่นจึงมีความเสมอภาคมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก? อีกครั้ง

.
บทความตอนก่อนหน้า - ทำไมความเหลื่อมล้ำสูงจึงเป็นปัญหา ? ญี่ปุ่นลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ทำไมญี่ปุ่นจึงมีความเสมอภาคมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก? อีกครั้ง
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร  คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:30:29 น.


จริงๆ แล้วญี่ปุ่นเคยเป็นสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ความเสมอภาคด้านรายได้เพิ่งเกิดขึ้นสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ผลงานวิจัยเรื่อง "วิวัฒนาการการกระจุกตัวด้านรายได้ที่ญี่ปุ่น ค.ศ.1886-2002 ศึกษาจากสถิติภาษีรายได้" โดย ชิอากิ โมริกุชิ และ เอมมานูแอล แซส เมื่อปี ค.ศ.2006 ได้ให้คำตอบกับคำถามนี้ที่น่าสนใจมาก
นักวิจัยทั้งสองได้คำนวณการกระจุกตัวด้านรายได้ของคนรวยสุดร้อยละ 1 ที่ญี่ปุ่น โดยใช้ข้อมูลสถิติภาษีรายได้ที่สรรพากรญี่ปุ่น ตีพิมพ์เป็นรายปีมาตั้งแต่ ค.ศ.1887 เมื่อเริ่มเก็บภาษีรายได้เป็นครั้งแรกทั่วประเทศ

แผนภาพนี้แสดงข้อค้นพบที่สำคัญของเขา ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้ 

1.ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คนรวยสุดร้อยละ 1 ของประเทศ คือเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ ผู้ถือหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เรียกว่าไซบัทซึ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ประมาณ 100,000 ครอบครัว (ภาษีรายได้ในระยะแรก เก็บเป็นรายครอบครัว)

2.รายได้ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มาจากที่เรียกว่า Capital income หรือรายได้จากทุนรวมกัน ได้แก่ กำไร เงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่าและดอกเบี้ย สำหรับเงินเดือนคิดเป็นส่วนน้อยของรายได้ทั้งหมด

3.ทั้งกลุ่มร้อยละ 1 นี้ มีส่วนแบ่งในรายได้ทั้งหมดของประเทศระหว่าง ร้อยละ 14 ถึงร้อยละ 20 ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเทียบกับสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ก็ไม่ต่างกันมากนัก ที่ญี่ปุ่นอาจจะสูงกว่าบ้างด้วยซ้ำ

4.เริ่มจากราวๆ ปี ค.ศ.1938 ส่วนแบ่งรายได้จากทุนของคนรวยสุดร้อยละ 1 นี้เริ่มหดตัวลง ครั้นถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คงเหลือเฉพาะกำไรและเงินเดือนบ้าง (โรงงานยังผลิตอาวุธและอุปทานต่างๆ เพื่อการสงคราม)

5.หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนแบ่งของรายได้จากเงินปันผล ค่าเช่า ดอกเบี้ย หดตัวลงอย่างมาก (ดูแผนภาพ) ส่วนแบ่งของกำไร ฟื้นตัวขึ้นมาอีกต้นทศวรรษ 1950 แต่หลังจากนั้นทุกๆ รายการ ในกลุ่มรายได้จากทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกเลย สัดส่วนของรายได้จากเงินเดือนได้เพิ่มขึ้นมาทดแทนรายได้จากทุนที่หดหายไป ทั้งนี้ อุตสาหกรรมได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

6.รายได้จากค่าจ้างและเงินเดือนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเสมอภาคสูง คือ ระดับการกระจุกตัวในกลุ่มคนมีเงินเดือนสูงสุดร้อยละ 1 และร้อยละ 5 ของทั้งหมดค่อนข้างต่ำ และต่ำกว่าที่สหรัฐในช่วงระยะเดียวกัน

ความเสมอภาคของรายได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างนี้เอง บวกกับนโยบายปฏิรูปต่างๆ (ดังจะกล่าวต่อไป) ทำให้ดัชนีค่าจีนี่ ที่แสดงระดับความเหลื่อมล้ำของรายได้ลดลง สำหรับญี่ปุ่นทั้งประเทศ ค่าจีนี่ของรายได้ก่อนนโยบายปฏิรูป เคยสูงถึง 0.573 เมื่อ ค.ศ.1937 ลดลงเหลือ 0.314 เมื่อ ค.ศ.1956 และคงอยู่ ณ ระดับนี้ในปี ค.ศ.1970 (ข้อมูลจากงานศึกษาของ Ryoshin Minami,2008)

จนญี่ปุ่นได้ชื่อว่า เป็นสังคมชนชั้นกลาง ที่มีความเท่าเทียมกันสูงเป็นที่สองของโลกรองจากเดนมาร์กเท่านั้น 


งานศึกษาของโมริกุชิและแซส ยังได้วิเคราะห์ประวัติของเหตุการณ์และการปฏิรูปสำคัญที่ญี่ปุ่นแบ่งเป็น 2 ระยะ

การปฏิรูประยะแรกเกิดก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มทำสงครามมหาเอเชียบูรพา ราวๆ ปี ค.ศ.1938 รัฐบาลได้ปฏิรูปภาษี โดยจัดเก็บภาษีรายได้ในอัตราที่สูงขึ้นและแบบก้าวหน้า เพื่อหารายได้มาทำสงคราม นอกจากนั้นยังกำหนดเพดานการเพิ่มเงินเดือนและโบนัสของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท และยังออกกฎหมายควบคุมค่าเช่าที่ดินหลังจากที่ชาวนาเช่ารวมตัวกันต่อต้านเจ้าของที่ดินที่ขึ้นค่าเช่าแบบโหดๆ 
การปฏิรูประยะที่สอง เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การริเริ่มของสหรัฐ ในช่วงที่เข้าครอบครองญี่ปุ่นอยู่

การปฏิรูปสำคัญในครั้งนี้ คือ การจัดสรรที่ดินให้กับชาวนาเช่า ทำให้กลายเป็นชาวนามีที่ของตนเอง จนปรากฏว่า สัดส่วนของชาวนาเช่าลดลงจากร้อยละ 46 ในปี ค.ศ.1941 เหลือเพียงร้อยละ 9 ในปี ค.ศ.1955 
การยกเลิกกฎหมายมรดกที่ให้ลูกชายคนโตเท่านั้นเป็นผู้รับมรดก 
การกำหนดอัตราก้าวหน้า สำหรับภาษีรายได้ ภาษีมรดก และภาษีของขวัญ  
การสลายบริษัทผูกขาดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ไชบัทซึ และยังยึดเอาหุ้นของผู้บริหารระดับสูง แจกให้กับพนักงาน  
รัฐบาลยึดร้อยละ 7 ของทรัพย์สินของครอบครัวรวยสุด 5,000 ครอบครัวเป็นของรัฐ


รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนให้คนงานโรงงานรวมตัวกันเป็นสหภาพ สหภาพและนายจ้างเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง พวกเขาเรียกร้องจากนายจ้างให้ปรับระบบการจ้างและการกำหนดค่าตอบแทน ให้มีหลักเกณฑ์ด้านความเสมอภาค และในท้ายที่สุดบริษัทขนาดใหญ่ ก็ต้องปรับตัว ทำให้เกิดระบบการจ้างงานที่ให้ความมั่นคงกับคนงาน ที่รู้จักกันว่า Life time employment และสหภาพคนงาน มีบทบาทในการกำหนดอัตราค่าจ้าง การขึ้นเงินเดือนร่วมกับฝ่ายจัดการ ทั้งมีบทบาทช่วยกำหนดเงินเดือนของคนงานผลิต และคนงานฝ่ายบริหารจัดการด้วย

ผลของการเปลี่ยนแปลงในระบบการจ้างงานเหล่านี้ ทำให้เงินเดือนและค่าจ้างของบรรดาคนงาน ซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มแรงงานจำนวนมากที่สุด มีความเสมอภาคค่อนข้างสูง และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ญี่ปุ่นมีค่าจีนี่ด้านรายได้ต่ำ จนเมื่อเร็วๆ นี้

โดยสรุป เมื่อก่อนญี่ปุ่นก็มีความเหลื่อมล้ำสูงคงพอๆ กับไทยและมีความขัดแย้งภายในมาก แต่ขณะนี้คนญี่ปุ่นให้คุณค่ากับความเสมอภาค และสนับสนุนให้รัฐบาลรักษาความเสมอภาคไว้ด้วยนโยบายต่างๆ เพราะว่าพวกเขาเห็นประโยชน์ของระบบคุณค่านี้



+++

ทำไมความเหลื่อมล้ำสูงจึงเป็นปัญหา ? ญี่ปุ่นลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:30:10 น.


ทำไมความเหลื่อมล้ำสูงจึงเป็นปัญหา? 

ประการแรก เนื่องจากทรัพย์สินเป็น "ทรัพยากร" ที่สามารถนำไปสร้างอำนาจ คือความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ คนรวยจึงใช้ทรัพย์สินที่มีเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองและพรรคพวก เช่น ด้วยการติดสินบนนักการเมือง ข้าราชการ จ้างบริษัทที่ปรึกษาให้มาช่วยหาวิธีหลีกเลี่ยงภาษี หรือวิ่งเต้นให้รัฐบาลเปลี่ยนหรือดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและธุรกิจ ผู้ที่มีหุ้นมากในบริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถเข้าควบคุมการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ และขณะที่ความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินนำไปสู่อำนาจ อำนาจก็นำไปสู่ความมั่งคั่งได้อีก ในประวัติศาสตร์ แม่ทัพสามารถเข้าถึงทรัพย์สินเมื่อชนะสงคราม ผู้นำทางศาสนา บางคนใช้สถานะตำแหน่งเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนเอง


ประการที่สอง ความเหลื่อมล้ำสูงทำให้สังคมขาดสันติสุข เพราะว่าเกิดปัญหาโครงสร้างจากอำนาจที่เหลื่อมล้ำ คนมีส่วนน้อยไม่อยากแบ่งปันให้กับคนส่วนใหญ่ที่มีน้อยกว่า ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงพยายามคงระบบเดิมไว้ด้วยกุศโลบายต่างๆ รวมทั้งการใช้อำนาจนำ (Hegemony) และการควบคุมโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งความขัดแย้งจะประทุขึ้น ดังเช่นการลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในตะวันออกกลาง ที่ยุโรปหลายประเทศ รวมทั้งที่เมืองไทยด้วย

ตัวอย่างของสังคมเหลื่อมล้ำสูง แล้วผู้มีอำนาจปิดกั้นการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมเพื่อคนส่วนใหญ่ที่รายได้น้อยกว่า คือสังคมอเมริกัน

...................


ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ชี้ว่ามีความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างสังคมเสมอภาคด้วยวิธีต่างๆ วิธีที่รุนแรงที่สุด คือการปฏิวัติล้มระบบอำนาจเดิม แล้วพยายามสร้างสังคมใหม่ที่ไร้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของส่วนบุคคล ดังเช่นในกรณีโซเวียตรัสเซีย เมื่อ พ.ศ.2457 หรือที่จีนเมื่อ พ.ศ.2492 วิธีอื่นๆ ที่ไร้ความรุนแรงแต่ค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า คือการปรับเปลี่ยนระบบการปกครองจากแบบศักดินามาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยให้พรรคการเมืองแข่งขันกันเสนอนโยบายเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ที่เยอรมนี สมัยบิสมาร์ค ขบวนการสหภาพแรงงานเป็นแรงกดดันให้บิสมาร์ค ต้องมีนโยบายประกันสังคมให้กับผู้ใช้แรงงานก่อนประเทศอื่นใด ตั้งแต่ครั้งคริสต์ทศวรรษที่ 1880 รวมทั้งระบบบำนาญ การประกันอุบัติเหตุ การรักษาพยาบาล และประกันการว่างงาน จนเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินรอยตามในระบบรัฐสวัสดิการ นโยบายดังกล่าวเป็นไปเพื่อจรรโลงอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมจะเจริญได้ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากคนงาน) และเพื่อไม่ให้เยอรมนีแตกสลาย

ที่ยุโรปเหนือขบวนการสหภาพแรงงาน ขบวนการสตรีและขบวนการแรงงานเกษตร ผลักดันให้เกิดพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย (Social democracy) นำระบบรัฐสวัสดิการเข้าเป็นแนวทางของนโยบายเศรษฐกิจสังคม โดยใช้เงินรายได้จากภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกและภาษีรายได้ มาจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชนธรรมดาสามัญ ให้ได้รับการศึกษาฟรีในระดับสูง เป็นส่วนสำคัญของนโยบายที่ช่วยสร้างสังคมชนชั้นกลางที่มีความเสมอภาคมากขึ้น

ที่อังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อพรรคแรงงาน ด้วยแรงหนุนของขบวนการสหภาพแรงงานชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ก็ได้นำระบบรัฐสวัสดิการในทำนองเดียวกันเข้ามาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสังคม ด้วยการใช้เงินภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก และภาษีรายได้ในทำนองเดียวกัน

ที่ญี่ปุ่นก็เคยได้รับแรงกดดันจากชาวนาไร้ที่ดินและจากขบวนการสหภาพคนงานที่แข็งขัน รัฐบาลญี่ปุ่นลดความเหลื่อมล้ำด้วยหลายนโยบาย รวมทั้งการปฏิรูปที่ดินถึงสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2416 ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ.2490) การจัดระบบประกันสังคม รวมทั้งบำนาญให้กับคนงานและประชาชนทั่วไป การใช้ภาษีมรดกและการใช้นโยบายจัดหาสินค้าสาธารณะเช่นสาธารณสุขและการศึกษาให้อย่างทั่วถึง


กรณีญี่ปุ่นนี้มีสถิติที่น่าทึ่งมาก แผนภาพข้างบนนี้แสดงค่าจีนีก่อนและหลังนโยบายกระจายรายได้ ค่าจีนีสูงแสดงความเหลื่อมล้ำที่สูง ยิ่งเข้าใกล้ 1 ความเหลื่อมล้ำยิ่งมาก รัฐบาลญี่ปุ่นลดค่าจีนีลงได้ด้วยสองมาตรการหลัก
หนึ่งคือนโยบายภาษี (เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ก้าวหน้า)
สองคือนโยบายประกันสังคม ที่ครอบคลุมถึงบำนาญและสาธารณสุขสำหรับทุกคน (เป็นระบบที่รัฐบาลจ่ายส่วนหนึ่ง ผู้ได้รับประโยชน์จ่ายส่วนหนึ่ง)
ระหว่าง พ.ศ.2505 และ 2524 ค่าจีนีของรายได้ก่อนรวมมาตรการกระจายรายได้ก็ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว คือน้อยกว่า 0.36 แต่ก็ยังลดลงอีกด้วยนโยบายกระจายรายได้จนเหลือเพียง 0.31-0.35
หลังปี 2524 ค่าจีนีเพิ่มขึ้นมาก แต่นโยบายกระจายรายได้ก็ส่งผลกดความเหลื่อมล้ำลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างเช่นในปี 2548 ค่าจีนีความเสมอภาคด้านรายได้ค่อนข้างสูงที่ 0.53 แต่หลังมาตรการกระจายรายได้ ค่าจีนีของญี่ปุนลดลงเหลือ 0.38 ทำให้ญี่ปุ่นมีชื่อว่าเป็นสังคมมีความเสมอภาคสูงพอๆ กับแถบสแกนดิเนเวีย และดีกว่าประเทศอเมริกาหรืออังกฤษ ถ้าหากญี่ปุ่นไม่มีนโยบายกระจายรายได้ ญี่ปุ่นก็จะมีค่าจีนี่ด้านความเหลื่อมล้ำของรายได้พอๆ กับของไทยซึ่งในปี 2549 เท่ากับ 0.52


โปรดสังเกตด้วยว่าแผนภาพแสดงอัตราการเพิ่มความเสมอภาคของรายได้จากมาตรการต่างๆ จะเห็นว่านโยบายการประกันสังคมเพิ่มความเสมอภาคได้ในอัตราสูงมากที่สุด ตามด้วยนโยบายภาษี

อย่างไรก็ตาม ค่าจีนีที่ 0.38 ซึ่งต่ำกว่าของไทยมากนี้ คนญี่ปุ่นกำลังบ่นว่าสูงไปเพราะเมื่อก่อนดีกว่านี้ 



.