http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-06

สำนึก “บ้าน บ้าน” โดย คำ ผกา


.

สำนึก “บ้าน บ้าน”
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 89


ช่วงนี้เพื่อนสนิทของฉันคนหนึ่งกำลังเครียดอย่างน่าเห็นใจ
เธอตัดสินใจขายบ้านอันเป็นมรดกชิ้นใหญ่ ใหญ่แค่ไหนก็คือใหญ่เกินกว่าผู้หญิงหนึ่งคนจะดูแลบ้านตามลำพังได้ เพราะการมีบ้านย่อมหมายถึงการดูแลสวน รดน้ำต้นไม้ ฉีดยากันปลวก ทาสีบ้าน แก้ปัญหามอดกินไม้ บ้านโบราณมีหน้าต่างนับยี่สิบบาน พายุมาทีวิ่งปิดหน้าต่างกันอ่วม
ไม่นับภาระค่าน้ำค่าไฟที่ออกจะเกินความจำเป็นของการอยู่ตามลำพังคนเดียว

หากต้องไปต่างประเทศนานๆ ก็ต้องหาคนมาเฝ้าบ้าน และอีกสารพัดที่เจ้าบ้าน "เก่า" น่าจะเข้าใจภาระในการดูแลบ้านสักหลังหนึ่งนั้นหนักใช่น้อย
เป็นเช่นนี้สาวยุคใหม่จึงเลือกที่จะอยู่คอนโดมิเนียม แน่นอนต้องเลือกทำเลใกล้ที่ทำงาน ใกล้รถไฟฟ้าและรถใต้ดิน
สุดท้ายมาลงตัวที่คอนโดฯ เก่ากลางเมือง ราคาสมเหตุสมผล ทว่า ต้องปรับปรุงซ่อมแซมห้องเดิมจากเดิมน่าจะเป็นห้องของผู้สูงวัยให้กลายมาเป็น "ที่อยู่อาศัย" สำหรับหญิงสาววัยทำงาน


เพื่อนของฉันวางแผนในการปรับปรุงห้องอย่างดี ทั้งการออกแบบ เลือกเฟอร์นิเจอร์ เลือกวัสดุที่จะใช้ ไปจนการเลือกผู้รับเหมาที่เชื่อถือได้
ทั้งหมดนี้บริโภคทั้งเงิน เวลา และพลังงานไปอย่างมหาศาล 
แต่แล้วผลที่ออกมาคือ สารพัดความบกพร่องในงานก่อสร้าง ตั้งแต่เรื่องเล็กแต่ไม่เล็กอย่างการปูกระเบื้องผิด พื้นระเบียงไม่ได้ลาดเอียงตามระดับ ทำให้น้ำขัง
อ่างอาบน้ำ (แสนแพง) ได้รับการติดตั้งอย่างมักง่าย (ลงไปนั่งแล้วโยกคลอน) มีการหมกเม็ดเศษขยะไว้ในพื้นโบกปูนทับ ไปปิดจุดระบายน้ำ ลืมเว้นที่ไว้สำหรับติดรางผ้าม่าน ไฟเครื่องปรับอากาศชอร์ต 
ช่างไม้ ช่างสีทำงานผิดๆ ถูกๆ ทำงานช้า ทำไปเถียงไป มีลักไก่ไม่ยอมทำตามที่ระบุไว้ในแบบ 
สุดท้ายปัญที่เครียดสุดๆ คือ พบน้ำรั่วที่นั่นที่นี่ทุกวันตามท่อที่วางไว้ หลังจากการก่อสร้างเสร็จคือโบกปูนทาสี ติดกระเบื้องผนังไปแล้ว เพราะฉะนั้น การแก้ไขคือต้อง สกัด กะเทาะ เจาะ 
หนักกว่านั้นคือน้ำรั่วไปสร้างความเสียหายแก่ห้องพักผู้อื่นที่อยู่ข้างลงไปถึงสามชั้น!!!

ผู้รับเหมามองว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เกิดได้ก็แก้ได้ จะโวยวาย ซีเรียสไปไย 
ส่วนเพื่อนของฉันซึ่งต้องเช่าห้องพักที่อยู่และเช่ามาเกินกว่าที่กำหนดเอาไว้เพราะการก่อสร้างล่าช้าได้แต่เอาตีนมาก่ายหน้าผาก 
ส่วน "สารพัดช่าง" ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะทำงานกินค่าแรงรายวัน ทำให้จบไปวันๆ รับค่าแรง ทำงานผิด มาแก้งานก็ได้ค่าแรง 
วันไหนเมามากหน่อยก็หยุดงาน ปิดโทรศัพท์ ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะทั้งผู้รับเหมา ทั้งเจ้าของบ้านยังต้องง้อช่าง เพราะช่างหาไม่ง่าย



สถาปนิกคนหนึ่งเคยบอกฉันว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังสร้างบ้านแบบแฮนด์เมด คือทำกันด้วยมือตั้งแต่การทำฐานราก ก่ออิฐ ฉาบปูน ไสไม้ ตัดไม้ มัดเหล็ก ผูกเหล็ก ตัดเหล็ก ทำโครงหลังคา 
โชคดีที่สมัยนี้มีปูนผสมสำเร็จจากโรงปูนไม่ต้องมาให้ช่างตักทราย ตักน้ำ ตวงปูนผสมกันเองแกรกๆ 
โชคดีอีกนิดที่ยังมีแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จ แล้วมีอะไรสำเร็จรูปอีก? 
เมื่อเป็นดังนี้ การสร้างบ้านในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องโกลาหลยิ่ง การตบตีทะเลาะเบาะแว้งระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้รับเหมา ระหว่างผู้รับเหมากับช่าง ระหว่างบ้านที่กำลังก่อสร้างกับบ้านใกล้เรือนเคียงอันเนื่องมาจากฝุ่นละออง เสียงดังจากการก่อสร้าง กลิ่นสี กลิ่นทินเนอร์

เจ้าของบ้านที่รวยมากๆ อาจตัดปัญหานี้ด้วยการจ้างทีม "ที่ปรึกษา" มาคุมบริษัทรับเหมาอีกที นั่นคือมีการตรวจงานอย่างละเอียดทุกงวดงานก่อนจ่ายเงิน 
ส่วนเจ้าของบ้านสามัญชน หากไม่สละเวลามาคุมงานเต็มเวลาด้วยตนเองก็ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างที่เพื่อนของฉันเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกกรณีไป
มีบ่อยครั้งที่สร้างบ้านเสร็จไปแล้วเกือบครึ่งปี เจ้าบ้านแก้ปัญหาส้วมเหม็นในบ้านของตนเองไม่ได้ กว่าจะหาเจอว่า "สารพัดช่าง" ของเราลืมใส่ท่อดักกลิ่นในห้องน้ำ ไม่ต้องพูดถึงปัญหาอย่างประตูปิดไม่สนิท หน้าต่างบางบานเบี้ยว พื้นไม่ได้ระดับ ผนังไม่ได้ดิ่ง 
และโปรดเชื่อว่าบ้านส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่มีมาตรฐานของการวางระบบน้ำและไฟภายในบ้านที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถังบำบัดน้ำเสีย บ่อบำบัดไขมัน การใช้ท่อที่มีคุณภาพสำหรับน้ำร้อน น้ำเย็น
และเรายังมีร้านอาหารในตึกแถวที่ส้วมเป็นชักโครกแต่ระบบการใช้น้ำเป็นส้วมซึมคือตักน้ำราดลงไป!!!!


ในประเทศที่ค่าแรงแพง การสร้างบ้านแบบ "แฮนด์เมด" เช่นนี้คงสูญพันธุ์ เพราะบ้านกระฎุมพีโดยทั่วไปล้วนสร้างจากส่วนประกอบสำเร็จรูปจนเกือบจะเป็นบ้านแบบน็อกดาวน์ อาจจะโหล แต่ประหยัดแรงงาน ไร้ฝุ่น รวดเร็ว คุณภาพได้มาตรฐาน (ตามโรงงาน) และนั่นหมายความว่าไม่มี "สารพัดช่าง" คนงานที่ต้องเอาสุขภาพมาเสี่ยงกับการดมกลิ่นสี ทินเนอร์ หรือตายไปด้วยโรคปอดจากฝุ่นของยิปซัม ฝุ่นจากการไสไม้ การตัดเหล็ก ฝุ่นจากปูนซีเมนต์ ฝุ่นจากการตัดกระเบื้อง

ปัญหา "บ้าน บ้าน" นี้ทำให้ฉันนึกถึงปัญหาอีกหลายอย่างในสังคมไทย
เช่น ทำไมเรายังอยู่ในเทคโนโลยีการสร้างบ้านแบบแฮนด์เมด?  
เพราะค่าแรงบ้านเรายังต่ำพอจะใช้คนงานมานั่งแปะกระเบื้องทีละแผ่น ตัดหินอ่อนปูท็อปเคาน์เตอร์ครัวได้ทีละแผ่น?
เรามีแรงงานเหลือเฟือเช่นนั้นจริงหรือไม่?
คำตอบคือทั้งจริงและไม่จริง 
เพราะคนงานที่เราคิดว่ามีอยู่เหลือเฟือนั้นเป็นแรงงานที่ไม่คิดว่าตนเองเป็น "ช่างปูกระเบื้อง" ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานกระเบื้องจนกระทั่งเจ้าบ้านจะภาคภูมิใจในพื้นปูกระเบื้องของตน

เรามีแค่แรงงานที่พวกเขาคิดว่า ทำงานอะไรก็ได้ที่ได้ค่าแรงรายวัน และพร้อมจะผละงานหากไม่พอใจ เพราะยังมีไซต์ก่อสร้างมหาศาลทั่วประเทศให้พวกเขาเข้าไปเอาแรงงานแลกกับค่าจ้างรายวันโดยไม่ต้องพูดถึงฝีมือ
เพราะฝีมือห่วยแตกกับฝีมือพอใช้ได้ทำงานออกมาโดยถัวเฉลี่ยก็ได้ค่าแรงไม่ต่างกันมาก 
ถามต่อว่าทำไมเราไม่มี "สารพัดช่าง" ที่มีคุณภาพ มีระเบียบวินัย ทำงานตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ 
ก็ต้องย้อนกลับไปที่การสร้างบ้านแบบแฮนด์เมดที่จ่ายค่าแรงแก่ "สารพัดช่าง" ในราคาของ "กรรมกร"

เมื่อเป็นเช่นนั้น สังคมไทยจึงไม่เคยมีกลุ่มอาชีพ "ช่าง" ที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทว่า เราพยายามรักษาอาชีพ "กรรมกร" เอาไว้ เพื่อความอยู่รอดของชีวิตความเป็นอยู่ของกระฎุมพีซึ่งในความเป็นจริงไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตพอที่จะมีบ้านแบบแฮนด์เมดทั้งหลัง แต่ควรเป็นบ้านแบบประตูหน้าต่าง พื้น ผนัง หลังคา สำเร็จรูปจากโรงงาน 
แต่ถามว่าทำไมเรายังไม่มีเทคโนโลยีการสร้างบ้านแบบนี้ในระดับที่เป็นสินค้ามวลชนและได้รับความนิยมก็ต้องกลับมาที่พฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตแบบไทยๆ 
ฉันกำลังคิดถึงคำว่า "วินัย"



เด็กนักเรียนในญี่ปุ่นตั้งแต่อนุบาลจะถูกสอนวางแผนชีวิตในแต่ละวันผ่านสมุดลงตารางเวลานัดหมาย เขียนไม่ได้ก็ใช้สติ๊กเกอร์น่ารักกุ๊กกิ๊กแปะสมุด 
ไอ้เจ้าสมุดนี้เราเรียกว่า organizer ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้ในสมาร์ทโฟนมากกว่าสมุดเป็นเล่มๆ 
การมี organizer ทำให้ชีวิตได้รับการ organized สมชื่อ 
สำหรับฉันอย่างน้อยเป็นการฝึก การวางแผนชีวิตและทักษะของการ "คิดยาว" แทนการลุกลี้ลุกลนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเป็นวันๆ

ส่วนเด็กไทยได้รับการปลูกฝัง "วินัย" อีกแบบหนึ่ง นั่นคือ ต้องแต่งกายถูกระเบียบเป๊ะ ต้องตัดผม ตัดเล็บถูกระเบียบเป๊ะ ต้องยืนแถวตรงเคารพธงชาติเป๊ะ ต้องยืนนิ่งฟังโอวาทเป๊ะ
วินัยที่เด็กไทยได้รับการปลูกฝังเป็นวินัยแห่งการทำให้สิ่งมีชีวิตหนึ่งเชื่องลง สมยอม น้อมรับคำสั่งสอน ชอบทำดีเอาหน้าผู้ใหญ่ ไร้สติ คิดไม่เป็น สอพลอ 
ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก เช่น แต่งตัวเรียบร้อยถูกระเบียบหรือไม่ ไหว้สวยหรือไม่ มากกว่าจะสนใจว่ามีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ มีความสามารถพิเศษอะไร 
เด็กรักในการแสวงหาความรู้จะไม่ได้รับความเอ็นดูเท่ากับเด็กที่อยู่ในโอวาท 
เด็กในอุดมคติของสังคมไทยคือเรียนเก่งเพราะท่องจำคำสอนในแบบเรียนโดยไม่ตั้งคำถาม พร้อมกันนั้นต้องมีรางวัลมารยาทงาม และเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาได้ศักดิ์สิทธิ์-สั่งสมความสามารถได้เช่นนี้รับรองว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในสังคมไทยแน่นอน 

"วินัย" เหล่านี้เกี่ยวอะไรกับปัญหา "บ้าน บ้าน"


คุณภาพการก่อสร้างและคุณภาพของ "ที่อยู่อาศัย" ของคนไทยส่วนใหญ่สะท้อน "วินัย" ในแบบที่สังคมไทยเชิดชู 
คนไทยไม่นิยมการออกแบบบ้านที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำ ท่อประปา ระบบไฟ ระบบบำบัดของเสีย  
การไม่เคยถูกฝึกให้คิดยาวและ organize ชีวิตอย่างมีแบบแผน ทำให้ที่อยู่อาศัยแบบไทยเป็นที่อยู่อาศัยแบบอยู่ไป คิดไป อยู่ไปแก้ปัญหาไป น้ำรั่ว ท่อแตก ท่อตัน ปลั๊กไฟไม่พอ หรือปลั๊กไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ 
ภาพห้องน้ำที่ฝักบัวไปแขวนอยู่บนชักโครก การมีชักโครกแต่ระบบเป็นส้วมซึม การติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นแบบปราศจากการวางแผนล่วงหน้า
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยโดยแท้

ขณะเดียวกัน สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยก็ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก เช่น การทาสี การทำรั้วอลังการล้านเจ็ด ประตูเหล็กอัลลอยด์ ป้ายชื่อบ้านสีทองแกะสลัก โอ่งจีน โซฟานวดได้ ฯลฯ 
"สารพัดช่าง" ชาวไทยก็ผ่านระบบการศึกษานี้มาเช่นกัน จึงเป็น "ช่าง" ที่ไม่เข้าใจว่า สิ่งสำคัญที่สุดของบ้านคือสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำหรือสายไฟและ "ระบบคิด" ที่คิดยาว คิดจนทะลุปรุโปร่งก่อนลงมือทำ 
สารพัดช่างบ้านเราจึงสามารถปูกระเบื้องไปครึ่งผนังแล้วตระหนักว่า เฮ้ย ไอ้นี่มันกระเบื้องปูพื้น และไม่รังเกียจที่จะนั่งเลาะทำใหม่โดยปราศจากความรู้สึกผิด 

เทคโนโลยีบ้านสำเร็จรูปจึงไม่พัฒนาในบ้านเราได้ เพราะบ้านสำเร็จรูปให้ความสำคัญกับคุณภาพที่ได้ "มาตรฐาน" ที่ "มวลชน" เข้าถึงได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มความฟุ่มเฟือยให้กับ "ความงาม" ภายนอกที่ไม่จำเป็นเท่ากับการให้ความสำคัญกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน กลไกของบานพับประตูหน้าต่างที่ปิด เปิดได้ ไร้ปัญหา มุ้งลวดที่เลื่อนได้ไม่ติดขัด ไม่ตกราง
แต่ดูเหมือนคนไทยจะอยากได้บานประตูสวยๆ แต่ไม่สนใจว่าคุณภาพของบานพับประตูทำงานอย่างไร ทำได้ดีแค่ไหน?

เพื่อนของฉันเครียดกับ "บ้าน" ของเธอ
ส่วนฉันเครียดกับ mentality "บ้าน บ้าน" แบบ "ไทย ไทย"

และนั่งมองตึกรามบ้านช่องและถนนรนแคมในเมืองไทยอย่างสิ้นหวัง
ทั้งภาพเด็กนักเรียนที่เคยใช้ organizer เพื่อ organize ชีวิตตนเองแต่แต่งตัวได้เรียบร้อย เข้าแถวได้มีวินัยถูกใจคุณครู



* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อ่านบทความของ คำ ผกา เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/03/blog-post_07.html



.