.
เขื่อนแม่วงก์...เขื่อนแม่ดัน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 100
เมืองไทยเรามีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นได้เสมอ
กรณีโครงการเขื่อนแม่วงก์ก็เป็นหนึ่งในความแปลกที่ว่านั้น
อยู่ๆ ก็มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาอนุมัติให้สร้างด้วยเหตุผลหลักคือช่วยป้องกันน้ำท่วมภาคกลาง เป็นส่วนหนึ่งแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ของรัฐบาล โดยในแผนที่ว่านี้มันต้องมีเขื่อนอะไรสักเขื่อน และเขื่อนแม่วงก์คือเขื่อนที่ถูกยัดไส้เข้ามา
เนื่องจากปริมาณกักเก็บน้ำทั้งหมดของเขื่อนแม่วงก์ตามที่เสนอนั้นได้เพียง 238 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับมวลน้ำนับหมื่นๆ ล้านลูกบาศก์เมตรที่ทะลักเข้าถล่มพื้นที่ภาคกลางเมื่อปลายปีที่ผ่านมา น้ำในเขื่อนแม่วงก์ก็เหมือนน้ำแก้วเดียวที่เอาไปรองน้ำเททิ้งทั้งโอ่ง อย่าว่าแต่ป้องกันเลยครับ แค่บรรเทาก็ยังไม่ได้
นี่เป็นคณิตศาสตร์ระดับ ป.1 ที่ใครๆ ก็น่าจะคิดได้
พลันที่เสียงคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ดังระงมมาจากขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็มีเสียงหนึ่งเล็ดลอดออกมาจากปากของนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น บอกว่าเขื่อนแม่วงก์นั้นเอาไว้แก้ภัยแล้งของคนในพื้นที่ต่างหาก
แปลกไหมครับ เขื่อนที่คณะรัฐมตรีมีมติให้สร้างอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการ กลายเป็นเขื่อนป้องกันภัยแล้งเสียยังงั้น
ลองไปดูข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์จะพบว่าที่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่พยายามดันกันมาตลอดร่วม 30 ปี ริเริ่มคิดกันราวปี 2525 และหาสืบสาวความเป็นมาที่เขื่อนนี้ไม่ยอมเกิดจะพบสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์อันดับต้นๆ ของโลก
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรรวบรวมข้อมูลเอาไว้ระบุว่าเมื่อปี 2532 คณะรัฐมนตรีที่ไปประชุมกันที่เชียงใหม่มีมติให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ซึ่งก่อนหน้านั้นมี JIKA ศึกษาไว้แล้ว ให้ไปศึกษาในส่วนที่ไม่ซ้ำกันมา
ต้นปี 2534 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำเสร็จ ถัดจากนั้นก็มีการให้ไปศึกษาผลกระทบอีก จนถึงปี 2541 คณะกรรมการผู้ชาญการ (คชก.) มีมติครั้งที่ 1 ไม่เห็นชอบกับการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์
ปีเดียวกันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตีกลับโครงการเขื่อนแม่วงก์ที่ควรเรียก เขื่อนดันเพราะดันกันจัง ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็น และให้จัดทำประชาพิจารณ์
ซึ่งอีกสองปีถัดมาการทำประชาพิจารณ์เกิดขึ้นด้วยการลักไก่สอดไส้ชื่อคนขอเข้าร่วมแปดพันกว่าคน แต่รายชื่อที่ผ่านการกรองแล้วของคณะกรรมการเหลือแค่ห้าร้อยกว่าคน
ปี2543 นายวิษณุ เครืองาม เลขานุการคณะรัฐมนตรีตอนนั้นทำหนังสือด่วนมากถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า โครงการนี้ควรจะผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535
แต่ล่วงมาจนถึงปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็มีมติอีกเป็นครั้งที่ 3 ... ครับครั้งที่ 3 ตาไม่ฝาดแน่ ว่ายังไม่เห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ย้ำให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ถึงปี 2547 สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมพิจารณารายงานของกรมชลประทานแล้วท้วงติงว่าที่ให้ไปศึกษาเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบยังไม่ได้ศึกษา รายงานที่ส่งมามีแต่ข้อมูลเดิมๆ
จนมาถึงปี 2555 ผลกระทบอะไรต่างๆ ก็ยังไม่ได้ศึกษาไปถึงไหนเหมือนเดิม มีแต่ข้อมูลดิบๆ ด้านๆ ว่าป่าเสียหายหมื่นไร่ ต้นสักห้าหมื่นต้นทั้งที่เขาให้ไปศึกษาผลกระทบทั้งหมดที่จะเกิดทั้งกับสัตว์ป่า กับคน กับป่ารอบข้าง ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา
แต่สุดท้ายก็ดันกันจนสำเร็จทั้งที่ผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านนี่แหละ และคงไม่ยากที่จะดันให้มันผ่านจนได้ เพราะไหนๆ รัฐบาลก็อนุมัติให้สร้างล่วงหน้าไปแล้ว
++
ขบวนการสิ่งแวดล้อมอเมริกา แผ่ว แต่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่แผ่ว
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 100
ในฐานะคนที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผมอ่านบทความของ ลิซ่า เคาร์ติส ในเว็บ grist.org เมื่อวันก่อนแล้วรู้สึกว่ามีประเด็นน่าสนใจ
เธอเริ่มต้นบทความว่า เธอเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธอทำงานที่บริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ ซื้อสินค้าออร์แกนิกและสินค้าท้องถิ่นเท่าที่สามารถทำได้ เธอยังอายุน้อย เป็นพวกลิเบอรัลและอุดมคตินิยม แต่เธอไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่าพวก environmentalist
และไม่ใช่เธอคนเดียวเท่านั้น คนอเมริกันสมัยนี้จำนวนมากก็ไม่ได้เป็น
เธอว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมาคนอเมริกันที่สนับสนุนขบวนการสิ่งแวดล้อมลดน้อยถอยลง
แต่อย่างไรก็ตาม คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างแข็งขัน มีความเชื่อว่าปัญหาสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญ และปรับพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นนิจ อย่างน้อยที่สุดก็ตามที่คนเหล่านั้นบอกกับนักวิจัย
จากผลสำรวจของแกลลับ ร้อยละ 83 ของคนอเมริกันต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนพลังงานสะอาดให้มากขึ้นอีก
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยเยลและจอร์จ เมสัน พบว่าร้อยละ 72 เชื่อว่าปัญหาภาวะโลกร้อนควรเป็นปัญหาที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
อีกผลสำรวจหนึ่งของแกลลับพบว่า 3 ใน 4 ของคนอเมริกันมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
ทว่า คนอเมริกันจำนวนมากกลับไม่นับรวมตัวเองเข้ากับขบวนการสิ่งแวดล้อม
ลิซ่าตั้งข้อสังเกตว่ามีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นกับขบวนการสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังคงใช้วิธีคิดแบบเดิมอันเก่าแก่ ที่จะอนุรักษ์สภาพธรรมชาติไว้เต็มที่
ในขณะที่ความเป็นจริงของโลกก็คือการอนุรักษ์แบบสุดตัวตอบโจทย์สำคัญคือปัญหาความอยู่รอดของพลโลกไม่ได้ ประชากรโลกเพิ่มขึ้นมาก
เว้นแต่ทางออกในเรื่องสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์การดำรงชีวิตจริงของมนุษย์แต่ละพื้นที่ได้
ซึ่งลิซ่าก็บอกว่ามีทำกันอยู่ในหลายประเทศ เช่น ในประเทศไนเจอร์ที่เธอเคยไปอยู่มา หมู่บ้านที่เธออยู่ชาวบ้านตอบรับโจทย์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เร็วมากเมื่อมันตอบโจทย์ชีวิตที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพราะมันตอบปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ได้ผลกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี
ผมอ่านบทความนี้ด้วยความรู้สึกว่ามันมีประเด็นที่น่าสนใจ และน่าตั้งคำถามเหมือนกันกับขบวนการสิ่งแวดล้อมเมืองไทย
ซึ่งจะว่าแผ่วก็ไม่เชิง แต่การตอบรับจากคนในท้องถิ่นรู้สึกว่าเหมือนจะมีปัญหามาตลอด
ยกเว้นในบางพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าอกเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้าใจก็จะเป็นแบบลิซ่าบอก คือมันตอบโจทย์การดำรงชีวิตของเขาได้จริงๆ
++
ก้าวที่กล้าของ Ubuntu 12.04
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 100
วันก่อนมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่รู้จักกันถามลอยๆ ขึ้นมาด้วยการทวิสต์ลงบนเฟซบุ๊กว่าการที่แรมหรือหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์น้อยทำให้เน็ตช้าลงหรือไม่ คำตอบที่มีคนตอบไปรวมทั้งผมก็คือ "ช้า" แต่ความจริงแล้วแรมน้อยไม่ได้ทำให้เน็ตช้า มันทำให้การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ช้าลง
ในการทำงานของบราวเซอร์ต้องอาศัยแรม เมื่อแรมน้อยการประมวลผลของมันก็ช้าตามไปด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเน็ตช้า แต่ความจริงแล้วแรมไม่ได้มีผลต่อความเร็วของเน็ต มีผลต่อการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
เมื่อลองถามเจ้าตัวดูว่ามีแรมอยู่เท่าไหร่ คำตอบคือ 1 gb และคอมพิวเตอร์เก่าใช้งานมานาน 6 ปีแล้ว มีคนบอกว่าน้อยมาก อย่างน้อยสมัยนี้ต้อง 4 gb
สําหรับผมแล้ว แรม 1 gb ไม่ถือว่าน้อย เครื่องคอมพิวเตอร์น้อยๆ ที่เรียกว่าเน็ตบุ๊กของผมก็มีแรมอยู่แค่ 1 gb อายุ 3 ปี แต่ยังทำงานได้เร็วปรู๊ดปร๊าดเหมือนเครื่องใหม่ แน่นอนว่าอาจจะมีบ้างกับบางโปรแกรมที่ไม่ราบรื่นนัก แต่นับเป็นส่วนน้อย เช่น พวกโปรแกรมสำหรับตัดต่อวิดีโอ เป็นต้น แต่เครื่องที่มีแรมระดับนี้เราก็ต้องรู้ว่ามันไม่เหมาะกับงานแบบไหนด้วย
สาเหตุไม่มีอะไรมากไปกว่าระบบปฏิบัติการที่ผมใช้อยู่คือลินุกซ์สายพันธุ์อูบุนตู เวอร์ชั่น 10.10 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นเก่ามากแล้ว ใช้แบบทั้งวันทั้งคืน ใช้ท่องเน็ต ทำงาน ไม่มีปัญหาเรื่องช้ามากวนใจทั้งที่แรมมันก็แค่ 1 gb เท่านั้น
บนเครื่องเดียวกันมีระบบปฏิบัติการวินโดวส์แบบถูกลิขสิทธิ์อยู่ด้วย ซึ่งผมแทบไม่ได้เปิดมาดูเลย วินโดวส์บนเครื่องเดียวกันทำงานได้ช้ากว่าลินุกซ์เยอะ สาเหตุแบบไม่ลึกซึ้งมากเห็นจะเป็นเพราะวินโดวส์อาจจะมีตัวถ่วงที่มาแย่งใช้แรมเยอะ และตัวที่ฉกาจฉกรรจ์มากก็คือโปรแกรมป้องกันไวรัส เพราะมันต้องโหลดมาตั้งแต่ตอนเปิดเครื่องและทำงานไปตลอดเวลา
ลินุกซ์ไม่มีปัญหานี้ ใช้ลินุกซ์แล้วลืมเรื่องไวรัสไปได้เลย
ถึงตอนนี้อูบุนตูที่ผมใช้อยู่ก้าวมาถึงเวอร์ชั่น 12.04 แล้ว เวอร์ชั่นใหม่นี้เพิ่งออกมาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เวอร์ชั่นนี้ได้รับเสียงชื่นชมกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมากจากนักวิจารณ์และนักพัฒนา มีการนำเอาระบบ HUD (Head-UP Display) มาใช้แม้จะไม่ใช่แนวคิดใหม่เอี่ยมเสียทีเดียวแต่ก็ถือว่าใหม่อยู่ดี ระบบนี้คือการสั่งงานแบบไม่ผ่านเม้าส์ ด้วยการกดปุ่ม alt แล้วพิมพ์คำในช่องค้นสิ่งที่เราต้องการลงไป
ระบบนี้ถ้าชินแล้วจะทำงานได้เร็วกว่าการลากเม้าส์คลิกมาก และแน่นอนดีต่อสุข4าพนิ้วและข้อมือมากกว่าด้วย
อูบนตูตั้งเป้าที่จะเพิ่มคนใช้ให้ได้ถึง 200 ล้านภายใน 4 ปี ซึ่งนับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากเหลือเกินสำหรับลินุกซ์ เดสก์ท็อป แต่ มาร์ก ชัตเติ้ลเวิร์ธ มีความมุ่งมั่นเช่นนั้น และจากเวอร์ชั่น 12.04 เราก็เห็นวี่แววที่ดีหลายอย่าง เพียงแต่ผมไม่แน่ใจนักว่าแรมระดับ 1 gb จะเอาอยู่ขนาดไหน เพราะตอนนี้ ผมก็ยังไม่ได้ลงจริง
แต่ลองใช้แบบทดลองผ่านธัมบ์ ไดรฟ์
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย