http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-05

นพมาส: BEL AMI / คนมองหนัง: ดาราอีสาน

.

BEL AMI "ปารีสย้อนยุค"
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 87


กำกับการแสดง Declan Donnellan และ Nick Ormerod 
นำแสดง Robert Pattinson 
Uma Thurman 
Kristin Scott Thomas 
Christina Ricci


นานมาแล้ว เคยอ่านเรื่องสั้นของ กี เดอ โมปัสซังต์ เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ที่จำได้แม่นคือเรื่อง "สร้อยคอที่หาย" ที่ดัดแปลงมาจาก The Diamond Necklace และความรู้สึกว่าชื่อนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนนี้ช่างเป็นชื่อที่จำยากจำเย็น แต่ความที่เป็นชื่อจำยาก พอจำได้แล้ว เลยยังจำได้มาถึงบัดนี้ 
กี เดอ โมปัสซังต์ เขียนเรื่องสั้นไว้หลายร้อยเรื่อง แต่เขียนนิยายประมาณ 4-5 เรื่อง และหนึ่งในนั้นคือ Bel Ami ที่เขียนเมื่อ ค.ศ.1885
และนี่คือที่มาของหนังเรื่องนี้ ในฐานะนักเขียนวิพากษ์สังคม เดอโมปัสซังต์ กระเทาะเปลือก การเมือง อำนาจ และความโลภโมโทสันอันอยู่ในสันดานดิบของมนุษย์ และสะท้อนให้เห็นภาพสังคมในปารีสช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า
ยุคนั้นเป็นยุคที่เรียกว่า "ลา แบล เลป็อก" ซึ่งเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม รุ่มรวยด้วยวรรณคดี ศิลปะและดนตรี จากปลายศตวรรษที่สิบเก้า จนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 
ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของ "ยุคสมัยที่งดงาม"


Bel Ami เป็นเรื่องของชายหนุ่มยากจนชื่อ จอร์จ ดูรัว (โรเบิร์ต แพตทินสัน) ทหารผ่านศึกที่กลับจากสงคราม และมาใช้ชีวิตลำบากยากจนในปารีส เขาเห็นชนชั้นสูงใช้ชีวิตอยู่ในความหรูหราร่ำรวยจากหน้าต่างกระจกของร้านอาหาร และหันมามองสภาพอันทรุดโทรมแร้นแค้นที่เขาเผชิญหน้าอยู่ 
วันหนึ่ง จอร์จบังเอิญไปเจอเพื่อนเก่าที่เคยเป็นทหารในสมรภูมิเดียวกัน ชื่อ ชาลส์ ฟอเรสติเอร์ (ฟิลิป เกลนิสเตอร์) ชาลส์แต่งงานกับหญิงสาวผู้ที่ทั้งรวยและเก่ง และมีอิทธิพลอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ 
เพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้ตกยาก ชาลส์จึงชวนจอร์จไปงานเลี้ยงที่บ้านเพื่อให้พบมาดามฟอเรสติเอร์ และเมื่อจอร์จบอกว่าไม่มีเสื้อผ้าดีๆ จะสวมใส่ไปงาน ชาลส์ก็ยังใจดีให้เงินเขาไปหาซื้อ 
จอร์จเจียดเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายหาความสำราญจากหญิงบริการอย่างที่เขานึกใฝ่ฝันแต่ยังไม่เคยมีโอกาสมาก่อน
ที่คฤหาสน์ของ มาเดอเลน ฟอเรสติเอร์ (อูมา เธอร์แมน) จอร์จได้ก้าวเข้าสู่สังคมของชนชั้นสูงและผู้ทรงอิทธิพล โดยอาศัยความช่วยเหลือและคำแนะนำของมาเดอเลน
แรกทีเดียว เขาได้งานเป็นนักเขียนเพื่อเล่าประสบการณ์ของทหารในแนวหน้า แต่จอร์จก็ไม่ใช่คนมีการศึกษา และมาเดอเลนต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ แม้ว่าเธอจะดับความหวังของจอร์จอย่างสิ้นเชิงในอันที่จะสานสัมพันธ์รักกับเขา อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังชี้ทางสว่างให้แก่จอร์จ โดยแนะนำให้เขารู้จักกับสาวไฮโซอีกสองคน 
ซึ่งจอร์จไม่ได้รีรอที่จะโปรยเสน่ห์ของเขาใส่ 
มาดามคลอติลด์ (คริสตินา ริชชี) เป็นคนแรกที่ตกหลุมเสน่ห์ของเขา และทุ่มเงินทองให้เขา รวมทั้งเป็นสปอนเซอร์รังรักหรูหรา ซึ่งกลายเป็นสถานที่ลอบพบปะกัน แทนที่บ้านซอมซ่อของจอร์จ สามีผู้ร่ำรวยของคลอติลด์ต้องเดินทางอยู่ตลอดและแทบจะไม่เคยเจอหน้าภรรยาเลย
คลอติลด์หลงรักจอร์จอย่างหัวปักหัวปำ และไม่ว่าจอร์จจะทำร้ายจิตใจของเธอกี่ครั้งกี่หน เธอก็ยังเป็นแม่พระที่คอยให้อภัยเขาทุกครั้ง


สาวใหญ่อีกคนที่จอร์จนำชีวิตเขาไปพัวพันด้วย คือ เวอร์จีนี วอลเตอร์ส (คริสตีน สกอตต์ โธมัส) ซึ่งมีอิทธิพลเหนือสามีของเธอมาก และจอร์จอาศัยเธอเป็นหนทางที่ทำให้อาชีพการงานของเขามั่นคง 
และก่อนที่ชาลส์เพื่อนเก่าของเขาจะเสียชีวิตลงด้วยวัณโรค จอร์จก็พร้อมที่จะทิ้งคลอติลด์ไปเพื่อขอแต่งงานกับมาเดอเลน
การแต่งงานกับมาเดอเลนพาจอร์จก้าวขึ้นบันไดของสังคมอย่างสง่างามอีกขั้น และไม่นาน เขาก็ได้รู้ว่าแรงทะเยอทะยานและความอยากได้ใคร่มีนั้นถมเท่าไรก็ไม่มีวันเต็ม
ดูเหมือนว่าภรรยาของเขายังคงมีผู้ชายคนอื่นในชีวิต ซึ่งทำให้เขาต้องแก้แค้นด้วยการหาผู้หญิงอื่นมาไว้ในชีวิตบ้าง เขากลับไปหาคลอติลด์ และเริ่มโปรยเสน่ห์ใส่เวอร์จีนีจนเธอหัวปักหัวปำหลงรักเขา 
และเมื่อเขาตระหนักว่าคนรอบข้างรวมหัวกันเล่นงานเขา เขาก็หาทางแก้แค้นอย่างแสบสันต์โดยไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมทั้งนั้น



โรเบิร์ต แพตทินสัน สลัดคราบแวมไพร์หน้าขาววอกจากหนังชุด Twilight มาเป็นพระเอกชายโฉด ผู้ตะกายดาวเหินหาวสู่ฟากฟ้า โดยเหยียบหัวทุกคนเพื่อให้ได้ขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุด แต่แม้จะมีบทบาทที่มีเนื้อมีหนังให้เล่น แต่แพตทินสันก็ยังไม่หายจากลักษณะการแสดงที่แข็งเหมือนท่อนไม้ ท่ามกลางนักแสดงหญิงเจ้าฝีมือทั้งหลาย 
อูมา เธอร์แมน เล่นเป็นหญิงเก่งในยุคที่ผู้หญิงยังต้องเป็นช้างเท้าหลัง คอยเดินตามสามี แต่ในขณะเดียวกัน สังคมก็ยอมรับกันอยู่ในทีว่า คนสำคัญที่สุดในปารีสนั้นไม่ใช่พวกผู้ชายหรอก แต่เป็นภรรยาของพวกเขาต่างหาก 
ส่วน คริสติน สกอตต์ โธมัส ได้รับบทที่น่าสังเวชที่สุดของหญิงวัยกลางคนที่ "วัยกลับ" มาหลงรักหนุ่มน้อยที่คอยปั่นหัวเธอเล่นเป็นของสนุก

ความที่เราไม่รู้จะผูกตัวเองอยู่กับตัวละครตัวไหนสักตัว ทำให้หนังที่มีเนื้อหาของหญิงร้ายชายโฉดนี้ดูเป็นเรื่องน่ารังเกียจและน่าหลีกหนีไปให้ห่างไกล 
จบแล้ว ก็พูดได้คำเดียวว่า "มันเลวจัง" 

แต่หนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสันดานอันน่ารังเกียจของมนุษย์ในทำนองเดียวกันนี้ ถ้าทำให้ดีด้วยพล็อต ด้วยตัวละครที่คนดูแคร์ ด้วยการตีความให้ถูกประเด็นแล้วละก็ ก็สามารถเป็นหนังดีได้เหมือนกันนะคะ 
ดูอย่าง Dangerous Liaisons ปะไร



++

ดาราอีสาน 
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 85


"วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง" หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยคนสำคัญ เจ้าของผลงาน อาทิ ฟ้าทะลายโจร, หมานคร, เปนชู้กับผี และอินทรีแดง ซึ่งล่าสุดได้ร่วมลงชื่อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สัมภาษณ์ประเด็นเรื่องกฎหมายมาตรานี้ และปัญหาการเมืองไทยยุคปัจจุบัน ไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ชื่อ "ความมืดกลางแสงแดด" โดย "วรพจน์ พันธุ์พงศ์" และ "ธิติ มีแต้ม"

ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ซึ่งถูกนำไปแบ่งปันในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางพอสมควร ก็คือ ท่อนที่วิศิษฏ์พูดว่า
"...อีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยคิดถึง แต่เป็นจริงคือทุกคนตื่นมาแล้ว รู้สึกว่าเราเท่าเทียมกัน ตอนเด็กไม่คิดแบบนี้ คิดว่าคนเรียนสูงมีอภิสิทธิ์กว่า สังคมเมื่อก่อนเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ตอนนี้เปลี่ยน กูเป็นคนเท่ากับมึง ความคิดนี้ขยายออกไปในวงกว้าง เมื่อก่อนเกิดในวงแคบๆ และคนที่ต่อสู้พวกนั้นโดนฆ่าหมด เท่าที่สังเกตมักเริ่มในภาคอีสานก่อนเพราะถูกกระทำมากที่สุด มันไม่มีทางออก มันกระทบ เดือดร้อนจริง กระทบก่อนก็เลยเริ่มก่อน โดนปราบก่อนและเริ่มใหม่ เริ่มที่เดิมอีก
"ผมเชื่อว่าคนอีสานไม่โง่อย่างที่คนเชื่อ แต่ถูกสกัด ถีบให้เป็นคนชั้นสองตลอดเพราะชนชั้นนำรู้ว่าถ้าคนอีสานลุกขึ้นมาเมื่อไหร่ ข้างบนจะพัง ตอนคอมมิวนิสต์เกิด ช่วงที่มีการฆ่า 4 รัฐมนตรี แสดงให้เห็นชัดเจนว่าอีสานทันสมัยมาก่อน รู้เรื่องประชาธิปไตย มีผู้แทนฯ ที่ก้าวหน้า แต่โดนวาทกรรมโง่และซื้อเสียงมาอัดแม่งทุกวัน ช้ำยิ่งกว่าช้ำ ด่าว่าโง่แล้วฆ่ามัน
"ตอนนี้อีสานกำลังก้าวสู่ความทันสมัย กระทั่งเรื่องหน้าตาก็เปลี่ยนไป ลูกครึ่งเต็มอีสาน ดารามาจากอีสานทั้งนั้น ช่องเจ็ดช่องสาม มันไม่ใช่ภาพเก่าๆ อย่างที่เคยคิดแล้ว มึงไปแหกตาดูบ้าง มัวแต่เชื่อแบบเก่าๆ กันอยู่ได้ ในละครยังพยายามทำให้คนอีสานตลก ทำซ้ำมา 20-30 ปี และได้ผลกับคนที่ไม่เคยรับรู้โลก แต่สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลง"

ประเด็นที่ผมสนใจจากทัศนะข้างต้นของวิศิษฏ์ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่อง "ดาราอีสาน" มากกว่า



จริงอย่างที่ผู้กำกับฯ หัวก้าวหน้ารายนี้กล่าว คนอีสานไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ "ตัวตลก" (ทั้งในแง่คำพูดจา กิริยาท่าทาง หรือรูปร่างหน้าตา) ดัง "ภาพจำ" หรือ "ภาพแทน" ที่ปรากฏอยู่ในสื่อบันเทิงจำนวนมากมาหลายสิบปี อีกแล้ว 
เพราะคนหนุ่มสาวชาวอีสานร่วมสมัยมากหน้าหลายตา (ทั้งที่เป็นลูกจีน, ลูกครึ่ง หรือลูกอะไรไม่รู้ แต่รูปร่างหน้าตาของพวกเขาและเธอได้ผสมผสานกลืนกลายเข้ากับวัฒนธรรมสมัยนิยมในปัจจุบันที่ถูกกำหนดโดยคนชั้นกลางกรุงเทพฯ จนแตกต่างจาก "ภาพลักษณ์เหมารวม" แบบเดิมๆ อย่างลิบลับ) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นดาราระดับซูเปอร์สตาร์สังกัดช่องทีวีหรือค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 

ถ้าลองเสิร์ชคำประเภท "ดาราอีสาน" ดูในอินเตอร์เน็ต จะพบว่ามีหลายเว็บไซต์ที่รวบรวมชื่อนักแสดง-นักร้องอีสานร่วมสมัย ซึ่งเดินทางเข้ามาโด่งดังใน กทม. ไว้ค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ 
หากจะให้ยกตัวอย่าง ก็มีเช่น โฬม-พัชฏะ, ปอ-ทฤษฎี, ณเดชน์ คูกิมิยะ, เวียร์-ศุกลวัฒน์, นิว-วงศกร, จุ๋ย-วรัทยา, พีค-ภัทรศยา, อาร์ เดอะสตาร์, โตโน่ เดอะสตาร์, รุจ เดอะสตาร์, สิงโต เดอะสตาร์ ฯลฯ 
สิ่งที่น่าคิดต่อ คือ ในขณะที่สองย่อหน้าแรกจาก "วรรคทอง" ของวิศิษฏ์ แสดงนัยยะซึ่งสื่อถึงความสัมพันธ์ปริแยกอันพร้อมจะแตกหักระหว่าง "อีสาน" กับ "อำนาจรัฐที่ศูนย์กลาง"

ทว่า เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งแห่งที่ของเหล่า "ดาราอีสาน" ที่ถูกกล่าวอ้างในย่อหน้าสุดท้าย การดำรงอยู่ของพวกเขาและเธอกลับมีลักษณะต้อง "ปรับประสานต่อรอง" กับทางกรุงเทพฯ มิใช่ชนกันให้พังไปข้างหนึ่ง 
ด้านหนึ่ง ก็เป็นดังที่วิศิษฏ์ยกตัวอย่างไว้ชัดเจนว่า ทั้งๆ ที่ดาราระดับพระ-นางของทีวีหลายช่องในปัจจุบันล้วนมีพื้นเพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่กลับยังยึดติดกับขนบดั้งเดิมที่เชื่อว่า คนอีสานคือตัวตลก
ในอีกด้าน แม้การเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปลักษณ์หรือกายภาพของดาราหนุ่มสาวชาวอีสานจำนวนไม่น้อย จะเกิดขึ้นจากการที่คนรุ่นพ่อแม่ได้แต่งงานกับคนต่างชาติ (โดยเฉพาะ "ฝรั่ง") แต่ก็มีอีกหลายรายที่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องต้องตรงกับนิยาม "ความหล่อความสวย" ของวัฒนธรรมแบบส่วนกลาง ผ่านกระบวนการทำศัลยกรรม หรือจัดการควบคุมร่างกายส่วนต่างๆ ของตนอย่างเคร่งครัด


พอครุ่นคิดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจัดการรูปลักษณ์-ร่างกาย ผมพลันนึกถึง "ดาราอีสาน" อีกผู้หนึ่ง ที่ระยะหลัง มักไม่ปรากฏนามอยู่ในบัญชีรายชื่อพระ-นางอีสานร่วมสมัย ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ
ส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะเขามีผลงานการแสดงนำในภาพยนตร์กระแสหลักเพียง 4 เรื่อง มิใช่ดาราในละครโทรทัศน์ ที่มีโอกาสเข้าถึงผู้ชมจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง
อีกส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะดาราคนนี้มิได้มีรูปร่างหน้าตาที่ดีเด่นตามมาตรฐานของวัฒนธรรมบันเทิงกรุงเทพฯ เสียทีเดียว (แม้จะผ่านการปรับปรุงยกเครื่องมาบ้างก็ตาม)
ดาราอีสานที่ผมนึกถึง ก็คือ "พนม ยีรัมย์"

ใช่ว่า "จา-พนม" จะไม่เคยถูกวัฒนธรรมบันเทิงของส่วนกลางใช้อำนาจจัดการร่างกายมาก่อนเลย 
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การฝึกฝนเคี่ยวกรำร่างกายของตนเองอย่างหนัก จนกลายสถานะมาเป็นดารานักบู๊ผู้มีชื่อเสียงของเขา ก็ดำเนินไปเพื่อรับใช้วัฒนธรรมรูปแบบดังกล่าว 
อย่างไรก็ตาม อนาคตอันดับวูบลงอย่างรวดเร็วราว "ดาวตก" ของ จา-พนม อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ดารานักบู๊พยายามต่อต้านฝ่าฝืนกรอบระเบียบที่โอบล้อมคุมขังร่างกายและภาพลักษณ์ของเขาเอาไว้เช่นกัน
ใน "องค์บาก" และ "ต้มยำกุ้ง" ฝีมือการกำกับฯ ของ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" จา-พนม คือ ภาพแทนของ "ความแข็งแรงบึกบึน" ที่ถูกผูกโยงเข้ากับความน่าตื่นตาตื่นใจเชิงแปลกประหลาดแบบ "ไทยๆ" ซึ่งผู้สร้างประเมินว่าน่าจะขายได้ในตลาดต่างประเทศ

ครั้นเมื่อเขาหันมากำกับภาพยนตร์เรื่อง "องค์บาก 2" และ "องค์บาก 3" จา-พนม กลับทำลายภาพลักษณ์เดิมๆ เช่นนั้นลงอย่างราบคาบสิ้นเชิง
จา-พนม ทดแทนฉากบู๊แข็งแรง โลดโผน ตื่นเต้น แบบ "แมนๆ" ด้วยสิ่งที่เขาขนามนามว่าเป็น "นาฏยุทธ" หรือการต่อสู้ผสมนาฏศิลป์ อันแสดงออกผ่านลีลาอ่อนช้อยของเรือนร่างที่แข็งแกร่ง ซึ่งค่อยๆ หลอมรวมเข้ากับกลิ่นอายของพิธีกรรม และความเชื่อทางศาสนากึ่งพุทธกึ่งผีแบบชาวบ้าน  จา-พนม แทนที่ "ความเป็นไทยร่วมสมัย" ที่เห็นกันจนเกร่อ อย่าง ต้มยำกุ้ง, ช้าง และมวยไทย ด้วยการทำหนังย้อนไปอิงเรื่องราวยุคอยุธยาบุกตีเขมร การต่อสู้แย่งชิงอำนาจในรัฐโบราณของหนังทั้ง 2 ภาค เต็มไปด้วยการรัฐประหารที่ใช้กำลังอาวุธ การสถาปนาความชอบธรรมเชิงสัญลักษณ์ ตลอดจนชะตากรรมของชาวบ้านธรรมดาซึ่งตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง 
"จา-พนม" ใน องค์บาก 2 และ 3 จึงแทบไม่ใช่ "จา-พนม" คนเดิมที่ถูกสร้างขึ้นให้สอดรับกับตลาดหนังนานาชาติและวัฒนธรรมบันเทิงสมัยนิยมของส่วนกลาง โดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ หากเราจะมองหาดาราอีสานสักคนที่หาญกล้าท้าทาย "ความเป็นไทยร่วมสมัย" ซึ่งถูกกำหนดโดยกรุงเทพฯ อย่างค่อนข้างหรือเกือบถอนรากถอนโคน (ด้วยหนังที่แทบไม่มีความร่วมสมัยเอาเลย) 
ดาราคนนั้น อาจเป็น "พนม ยีรัมย์"



.