http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-20

18 พฤษภา วันพิพิธภัณฑ์สากล 19 พฤษภา วันฆ่าคนที่ราชประสงค์ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

18 พฤษภา วันพิพิธภัณฑ์สากล 19 พฤษภา วันฆ่าคนที่ราชประสงค์
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn
คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 76


สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศ หรือ ICOM (International Council of Museums) กำหนดให้วันที่ 18 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวัน "พิพิธภัณฑ์สากล" มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) เพื่อให้ความสำคัญกับสถานที่เก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นปัจจุบันของแต่ละประเทศ 
18 พฤษภาคม พิพิธภัณฑ์ส่วนมากจึงเปิดให้คนเข้าชมฟรี หลายแห่งจัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา

จำได้ดีว่าเมื่อสองปีก่อนหน้าที่ดิฉันจะเออรี่รีไทร์ ยังทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้เตรียมแผนจัดกิจกรรมสัมมนาด้านโบราณคดีในวันพิพิธภัณฑ์สากล มีผู้สนใจลงทะเบียนมากกว่า 250 คน แต่แล้วจู่ๆ เช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลฆาตกร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกคำสั่งในนาม "ศอฉ." ห้ามไม่ให้ประชาชนไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือชาวบ้าน ทำการชุมนุมใดๆ ทั้งสิ้นเกินกว่า 5 คน นับแต่วันนั้นเป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนด 
ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริการสังคมด้านวิชาการวัฒนธรรม กิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์สากลของดิฉันจึงถูกเลื่อนออกไปอย่างไร้กาลเวลา

ความไม่พอใจรัฐบาลไม่ได้หนุนเนื่องมาจากการถูกเลื่อนวันจัดกิจกรรม 
ทว่า เกิดจากการที่รัฐบาลทำการ "กระชับพื้นที่" สังหารคนที่เข้าชุมนุมอย่างเลือดเย็น ขณะที่พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 พฤษภาคม

ซึ่งชาวพิพิธภัณฑ์ได้เคยถูกภาครัฐบังคับให้ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมทำนองนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อันตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทย 
เป็นวันที่คณะ คมช. ได้กระทำรัฐประหารลบล้างประชาธิปไตยด้วยฝุ่นใต้ฝ่าเท้าของมหาอำมาตย์

สรุปแล้วไม่ว่าวันพิพิธภัณฑ์ไทยหรือพิพิธภัณฑ์สากล คนพิพิธภัณฑ์ต่างก็เคยถูกบังคับให้ระงับการจัดประชุมสัมมนาที่มีคนเข้าร่วมเกินกว่า 5 คนมาแล้วทั้งสองหน 
เวรกรรมแท้ๆ งบประมาณหลายหมื่นบาท ใจคอจะให้เชิญคนมาร่วมงานเพียงแค่ 4 คน!

ความสะเทือนใจซ้ำซาก ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจยื่นใบลาออกจากระบบราชการก่อนกำหนด อย่างแน่นหนักโดยไม่มีทางเลือกอื่น 
ลาแล้ว ขอลาออกจากความเป็น "ข้า-ราช-การ" เพื่อมายืนอยู่อย่าง "ข้า-ราษฎร" เต็มขั้น!  
และถือเป็นการโบกมืออำลา บทบาทของแม่งานที่จัดกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์สากล-วันพิพิธภัณฑ์ไทยเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ท่ามกลางการถูกจ้องจับผิดอย่างทุลักทุเล



ยังมิทันครบรอบสองปีเต็มแห่งการ "กระชับพื้นที่" 19 พฤษภาคม ข่าวความตายของ "อากง" ก็เดินทางมาถึงก่อนกาล
18 พฤษภาคม ประเทศเครือข่ายสมาชิก ICOM ทั่วโลก ป่านนี้คงเตรียมแผนจัดกิจกรรมวันพิพิธภัณฑ์สากลกันอย่างไม่รู้หนาวรู้ร้อนตามปฏิทินรอบปี 
แต่... พิพิธภัณฑ์จะมีความหมายอันใด หอจดหมายเหตุ หอสมุด จะมีคุณค่าอะไรหรือ หากไม่มีการบันทึกความจริงทางประวัติศาสตร์

ในทางสากล พิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่ให้คนไปเสาะค้นหลักฐาน "ข้อเท็จ-จริง" ไม่ว่ามันจะเป็นความจริงอันขมขื่น ชวนสลดหดหู่ ยิ่งใหญ่ หรือเล็กกระจ้อยร่อยก็ตาม หากมันเกี่ยวข้องกับความเป็นหรือตายของผู้คน

แต่หอสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย กลับกลายเป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมแต่ "ข้อจริง (เท็จ)" ของสถาบันชั้นสูงที่ถูกสร้างขึ้นจากนโยบายชาติ กำหนดให้สถานที่เหล่านั้นเลือกสรรที่จะเก็บรักษาบางเรื่องราวที่เป็นบวก และจงใจที่จะทำลายหลายเหตุการณ์ที่อาจสร้างความมัวหมองให้แก่ราชวงศ์หรือบุคคล (ที่คิดว่า) สำคัญ 
เราจึงจมปลักอยู่กับการสั่งสมซากโบราณวัตถุจอมปลอมของสถาบันหลัก มากกว่าที่จะสร้างความกระจ่างให้คนเข้าใจรากเหง้า ความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ตามที่มันเกิดขึ้นจริง



ในฐานะคนที่เคยเป็น "ภัณฑารักษ์" มาหนึ่งทศวรรษเต็ม (2543-2553) แน่นอนว่าชั่วชีวิตนี้ย่อมไม่ลืมวันที่ 19 กันยายน และ 18 พฤษภาคม ไปได้ง่ายๆ 
แต่วันที่ 18+1 ในปีสุดท้ายของชีวิตราชการนั้นเล่า จักไม่ยิ่งฝังแน่นอยู่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์ยิ่งกว่าวันที่ 18 พฤษภาคม วันพิพิธภัณฑ์สากลดอกล่ะหรือ 
เพราะมันคือวันที่ศักดิ์ศรีและเสรีภาพของความเป็นคนนับแสนนับล้านถูกทำลายลงอย่างสะบั้น เป็นวันที่มีการสังหารโหดประชาชนบนท้องถนนด้วยคำสั่งของ "มือที่มองไม่เห็น" เกือบ 100 ศพ เป็นวันที่วีรชนถูกสาดโคลนว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" 

และเชื่อได้เลยว่า ประวัติศาสตร์หน้านี้จักถูกบิดเบือนอีกนานเท่านาน ไม่ต่างไปจากกรณีการสวรรคตของ ร.8 หรือการฆ่าหมู่เผานั่งยางศพในเหตุการณ์ 6 ตุลามหาโหด

เนื้อหา เรื่องราว ใบหน้าคนตาย ของผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจนิยม จักไม่มีวันถูกบันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติใดๆ ในประเทศนี้อย่างแน่นอน 
อาจไม่มีแม้แต่อนุสาวรีย์เล็กๆ ให้รำลึกถึงด้วยซ้ำ

ทั้งๆ ที่ทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการพิพิธภัณฑ์ หลายแห่งปรับปรุงรูปโฉมให้ดูทันสมัยไม่คร่ำครึ พิพิธภัณฑ์ไม่น้อยเลยที่รื้อสคริปต์บทเดิมๆ ประเภทกว้าง ยาว สูง ทำด้วยหินดินทรายทิ้งไป แล้วเพิ่มเติมมิติชีวิตที่มีเลือดเนื้อทดแทน ภาพรวมของพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศกำลังค่อยๆ ดูดีน่าเข้าชม ห่างไกลจากสภาพของ "ปู่โสม-ย่าโสมเฝ้าทรัพย์" 
เกิดกระแสการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นอย่างคึกคักชนิดไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่พิพิธภัณฑ์ปูมเมืองหรือ City Museum พิพิธภัณฑ์วัด พิพิธภัณฑ์ชุมชนของเทศบาล พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอ พิพิธภัณฑ์ตามธนาคาร โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสงครามโลก รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งเกจิอาจารย์ชื่อดัง ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในยุคสมัยของเรา

ในขณะที่ด้านหนึ่งนั้นความหลากหลายรุ่มรวย "ประเภทของพิพิธภัณฑ์" ได้ก้าวข้ามพ้น "ตัวโบราณวัตถุ" ไปไกลลิบ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากเสียงเรียกร้องของชุมชน แน่นอนว่าอีกส่วนหนึ่งยังคงเป็นเรื่องของค่านิยมที่เชื่อว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์นั้นจะช่วยยกระดับสังคมให้ดูดีมีรสนิยมวิไล ทำให้ประเทศของเรามีพิพิธภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น


แต่จะมีสักแห่งไหม ที่พิพิธภัณฑ์เหล่านั้นจักกล้านำเสนอ "ความจริงอันเร้นลับ" "ประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิด" หรือที่เรียกว่า "ประวัติศาสตร์นอกกระแส" มากกว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์ไปตามขนบจารีต เน้นประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครอง การยกยอเฉลิมพระเกียรติ 
จะมีภัณฑารักษ์คนใดไหมกล้าเปิดเปลือย "ข้อจริง-เท็จ" สู่ "ข้อเท็จ-จริง" อย่างล่อนจ้อน 
โดยกล้าฝ่าด่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ "ระดับชาติ" ที่คอยจ้องจะรื้อสคริปต์ที่ตรงไปตรงมานั้นทิ้ง ภายใต้คำพูดที่ฟังดูดีว่า "อย่านำเสนอสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก" "เราต้องสมานฉันท์ ปรองดองกันเข้าไว้" "อะไรที่ทำให้เกิดการยั่วยุต้องลบทิ้ง"

แต่ก็แปลกเหมือนกันที่คำพูดเหล่านี้ไม่เคยถูกนำไปใช้กับ คำใส่ร้ายหรือบทเพลง บทกวีที่เร่งเร้าให้เกิดความเกลียดชังผู้เข้าชุมนุม 19 พฤษภาคม ของอีกฝ่ายหนึ่งที่รวมหัวกันพิมพ์บทกวีชื่อ "เพลิงพฤษภา"

พิพิธภัณฑ์ ศิลปะ วรรณกรรม จึงกลายเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการฝ่ายเดียว ทำหน้าที่ปกป้องฆาตกรอำมหิตให้พ้นจากความผิด โดยเหวี่ยงขว้างเสียงเพรียกของประชาชนให้ออกไปยืนไกลๆ นอกเขตรั้วสถานที่ราชการอันทรงเกียรติ


...ต่อไป พื้นที่เสมือนในสังคมออนไลน์ จะกลับกลายเป็น พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต หรือ Living Museum ที่จักช่วยปลุกความทรงจำผู้คนไม่ให้ลืมเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม, 10 เมษายน หรือ 6 ตุลาคม 2519

และคนเล็กๆ ที่ถูกบีฑากุมเหงด้วยอำนาจอธรรมอย่าง นายชิต นายบุศย์ นายเฉลียว ลุงนวมทอง หรือล่าสุด "อากง" คนเหล่านี้จักกลายเป็นโบราณวัตถุหรือปูชนียบุคคลที่ลูกหลานภายหน้าต้องต่อแถวกันยาวเหยียดเข้าไปรำลึกศึกษาในพิพิธภัณฑ์



.