http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-04

แรงเสี้ยม-เสียงชาวบ้าน พึงรับฟังใคร/ บทเสี้ยม..จาก ประชาธิปัตย์

.
บทวิจารณ์ - ฐากูร บุนปาน : ย่องตอด
บทวิจารณ์ - ผลลัพธ์ ยิ่งลักษณ์ พนมมือ เข้าบ้าน "เปรม" กับงาน "ภาคใต้"


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อนุสนธิจาก'ดำหัว' แรงเสี้ยม-เสียงชาวบ้าน รัฐบาลพึงรับฟังใคร
จากมติชน ออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:00:49 น.


เพราะการเดินทางเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ เกิดขึ้นหลังจากพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่ปทุมธานี 
และมีปฏิกิริยาของ "คนเสื้อแดง" บางกลุ่ม-โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 91 ศพ ติดตามมา
ที่ตามมาด้วยโดยอัตโนมัติก็คือการ "เสี้ยม" จากฝ่ายที่ยืนตรงข้ามกับรัฐบาล

ไม่เพียงแต่เสี้ยมให้รอยแยกที่แคบลงระหว่าง พล.อ.เปรมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถ่างกว้างออกไปอีกเท่านั้น
ยังตอกลิ่มให้รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง เพิ่มความระแวงที่มีต่อกันด้วย

คำถามก็คือ แล้วประชาชนทั่วไปคิดเช่นนั้นหรือไม่
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านโพลใหญ่สองสำนักเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สะท้อนว่า-ไม่เป็นไปตามที่แรงเสี้ยมหวังไว้ 

เอแบคโพลล์ เปิดเผยผลวิจัยเรื่องเสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อความปรองดองของคนในชาติ จริยธรรมการเมือง พบว่า

ร้อยละ 49.8 เห็นว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะเข้ารดน้ำขอพร พล.อ.เปรม ช่วยสร้างความปรองดองได้ดีกว่าการออกกฎหมายปรองดองและนิรโทษกรรม
เพราะเป็นรูปธรรม รวดเร็ว เห็นชัด ไม่ขัดแย้งและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ขณะที่ร้อยละ 26.0 ไม่คิดว่าทั้ง 2 อย่างจะช่วยสร้างความปรองดอง ส่วนร้อยละ 22.6 เห็นว่าทั้ง 2 อย่างช่วยสร้างความปรองดอง
โดยที่ร้อยละ 73.1 เชื่อว่ามีขบวนการขัดขวางความปรองดอง เพราะจะสูญเสียทั้งอำนาจและผลประโยชน์ 
หากประเทศชาติมีความสงบสุขอย่างแท้จริง


สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเรื่องเดียวกัน และพบว่า

ร้อยละ 53.19 เห็นว่าเป็นการปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม แสดงถึงความเคารพผู้ใหญ่ในบ้านเมือง 
ร้อยละ 27.23 น่าจะมีเหตุผลอื่นมากกว่า อาจมีการปรึกษาหารือในเรื่องสำคัญ หรือเรื่องที่ไม่ต้องการเปิดเผยให้บุคคลภายนอกรับรู้
ร้อยละ 14.47 เป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น และร้อยละ 5.11 เป็นเรื่องของการเมืองที่รัฐบาลต้องการสร้างภาพ  
ขณะที่ร้อยละ 43.30 มองว่ามีนัยสำคัญทางการเมือง รัฐบาลต้องการสื่อสารให้เห็นถึงความพร้อมเดินหน้าสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง ร้อยละ 36.78 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 19.92 ไม่มีนัยสำคัญทางการเมือง 
ทั้งนี้ ร้อยละ 54.79 พึงพอใจกับการพบกันครั้งนี้ ร้อยละ 38.70 เฉยๆ เป็นเรื่องปกติ 
ร้อยละ 6.51 ไม่พอใจเพราะอาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝง สร้างความไม่พอใจให้แก่คนบางกลุ่ม

ส่วนจะทำให้บรรยากาศความปรองดองของบ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ ร้อยละ 48.65 เชื่อว่าดีขึ้นเพราะการมีท่าทีอ่อนน้อม ไม่ถือทิฐิของรัฐบาลเป็นการส่งสัญญาณปรองดอง ร้อยละ 45.56 เหมือนเดิม
และร้อยละ 5.79 ทำให้บรรยากาศปรองดองแย่ลง

สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงนายกฯ หลังเข้าพบ พล.อ.เปรมคือ ร้อยละ 81.95 สิ่งที่รัฐบาลทำขอให้มาจากความตั้งใจจริง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง ร้อยละ 80.49 รัฐบาลต้องเป็นผู้นำและตัวอย่างที่ดีของการสร้างปรองดอง
ร้อยละ 77.56 ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ร้อยละ 74.63 รัฐบาลเร่งแก้ของแพง น้ำท่วม คอร์รัปชั่น
และร้อยละ 70.24 ควบคุมดูแลพฤติกรรมของนักการเมืองโดยเฉพาะในการประชุมสภา



ภาระหน้าที่ของการเป็นรัฐบาลนั้นไม่ง่ายนัก
ยิ่งเป็นรัฐบาลในช่วงที่ความคิดของสังคมแยกออกเป็นฝั่งเป็นขั้วอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งยากขึ้นไปอีก 
ฉะนั้น ในขณะที่ภารกิจปรองดองก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อจะได้มีโอกาสทำงานอื่นโดยราบรื่นขึ้น 
ภารกิจอำนวยความยุติธรรมเพื่อล้างปัญหา "สองมาตรฐาน" อันเป็นหนึ่งในต้นตอของความแตกแยก ก็ต้องเดินหน้าต่อไปเช่นกัน
ไม่นับว่าภารกิจหลักอย่างการดูแลปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ที่ยังต้องทำให้เป็นปกติสม่ำเสมอ

ทั้งหมดนี้มิได้ขัดแย้งกัน ตรงข้ามกลับเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน
และถ้าทำเป็น-ทำได้ จะเป็นแรงเสี้ยมจากที่ใดก็ไร้ความหมาย



++

บทเสี้ยม การเมือง / เสี้ยม รัฐบาล กับ เสื้อแดง / จาก ประชาธิปัตย์
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง  ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


 แม้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเดินทางเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อรดน้ำ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรองนายกรัฐมนตรี 
 แต่ก็มิได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ 
 หากศึกษาแถลงการณ์ที่ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด อ่านในการทำบุญเนื่องในวันเกิดปีที่ 27 ของบุตรสาว
 จะเห็นชัด
 เห็นชัดว่ายังคงเรียกร้องให้นำตัวคนที่สั่งการอันนำไปสู่การสังหารประชาชนมากกว่า 90 ศพในเหตุการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
 ไม่เปลี่ยนแปลง
 และแน่นอนเป้าหมายยังคงเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เหมือนเดิม


 ความพยายามของพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรที่จะใช้วาทกรรมทะลวงให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงกับคนเสื้อแดงด้วยกัน ระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย ระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาล 
 จึงไม่สำเร็จ
 ในเบื้องต้นท่าทีอาจสับสน ก้ำกึ่ง เพราะความไม่กระจ่างในภารกิจอัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แบกรับ แต่หลังจากทำความเข้าใจแถลงจาก นายณัทพัช อัคฮาด ก็แจ่มชัด
 เป็นหน้าที่ของรัฐบาล?

 กลุ่มญาติวีรชนยังคงสนับสนุนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อไปจนถึงวินาทีสุดท้าย เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะนำกระบวนการยุติธรรมเข้ามาใกล้เรามากที่สุด?
 ชัด

 มีความพยายามจากพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรที่จะทะลวงลิ่มเข้าไปสร้างความแตกแยกภายในรัฐบาล เข้าไปภายในกลุ่มคนเสื้อแดง
 ตรงนี้สามารถเข้าใจได้ 
 อย่างเช่นเมื่อรัฐบาลไม่นำเอาญัตติของนปช.เข้ามาพิจารณา พรรคประชาธิปัตย์ก็โวยวายเป็นเรื่องใหญ่โต 
 ทั้งๆ ที่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์จะแก้ไขก็ไม่เคยสนใจ

 เช่นเดียวกับเมื่อเห็นรูร่องของความไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเสื้อแดงบางฝ่าย พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ลังเลที่จะถ่างให้กว้างพร้อมกับราดน้ำเกลือเข้าไป
 แต่ก็ไม่สำเร็จตามปรารถนา


 ความต่างทางความคิดบางประการระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องสร้างสรรค์ 
 ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นองค์กรภาคประชาชนอันต่างไปจากพรรคการเมือง หากที่สำคัญเป็นอย่างมากองค์กรเช่นนี้มีความเป็นอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเอง
 และเติบใหญ่ขยายตัวตามความเป็นจริงของสังคม



+++

ฐากูร บุนปาน : ย่องตอด
คอลัมน์ส สถานีคิดเลขที่ 12  ในมติชน ออนไลน์  วันพุธที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


ท่านสุนทรภู่นั้นสมกับเป็นมหากวีรัตนโกสินทร์โดยแท้ 
ไม่ใช่แค่สำนวนกลอนแพรวพราว หรือการผูกเรื่องนิทาน-นิยายอย่างพระอภัยมณีจะสนุกสนานชวนติดตามเท่านั้น
การตั้งชื่อตัวละครให้สะท้อนบุคลิกภาพก็เป็นข้อเด่นอีกอย่างหนึ่ง
อย่าง "ย่องตอด" หนึ่งในหน่วยปฏิบัติการพิเศษของนางละเวงนั่นก็ใช่

ลูกชายเศรษฐีที่ขี้อายและโง่ๆ งึ่มๆ พ่อแม่หาเมียให้ก็ไม่กล้าเข้าหอ แต่ใช้วิธีบุกเข้าไปปล้ำแทน เมียตกใจถีบเอาจนตาบอด ก็คว้าเอาลูกตามากิน แล้วเลยหนีเข้าป่าไปอยู่กับภูตผีปีศาจ 
เรียนวิชาอยู่ยงคงกระพันกับปีศาจ ตายแล้วถ้าแดดส่องมาโดนตัวก็ฟื้นได้อีก
ชอบกินเลือดสดๆ เนื้อดิบๆ วันหนึ่งย่องไปกินม้าของนางละเวงเลยถูกจับตัวได้ แล้วก็กลายเป็นบริวารของนางละเวงไป 
ทั้งย่องทั้งตอด สมชื่อจริงๆ

แต่ที่เกริ่นเรื่องย่องตอดมาเสียนานนั้น เพราะเห็นบุคลิกและวิธีการทำงานของพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองบางคน ว่าเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ผิดอะไรกับย่องตอด 
อย่างล่าสุด ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก 
ที่นอกจากจะพบกับเจ้าหน้าที่และตัวแทนชาวบ้านแล้ว ยังนัดหมายหารือกับผู้นำทางศาสนาในพื้นที่อีก
แทนที่จะมีข้อเสนอในเชิงนโยบายหรือวิพากษ์วิจารณ์ ว่าแนวทางที่รัฐบาลทำอยู่นั้นถูกหรือผิดอย่างไร
ถ้าไม่ถูกจะมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอย่างไร

พรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองบางคน กลับใช้วิธีตอดเล็กตอดน้อยด้วยถ้อยคำโวหารเสียดสี 
ประเภทไม่รู้มาแก้ปัญหา สร้างปัญหา หรือมาแก้บน 
ประเภทลงไปทั้งทีก็ต้องคุ้มกันกันยกใหญ่ กำหนดการเป็นการลับจนเจ้าหน้าที่ทำอะไรไม่ถูก 
จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
 
หรือถึงจริง ท่านก็ลองไปเดินอาดๆ ประกาศตัวเองดังๆ ว่ามาแล้วให้ดูเป็นตัวอย่างสักหน่อยเถอะ

ไม่ได้ผิดอะไรกันกับเรื่องที่ผ่านมา
ที่วิจารณ์ ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ กันสนุกปากจนชาวบ้านด่าให้ก็เพราะอย่างนี้ 
ที่วิจารณ์เครื่องแต่งตัวหรือพุงของนายกรัฐมนตรี แทนที่จะวิจารณ์เนื้อหาสาระเวลาที่เดินทางไปพบปะเจรจาความเมืองกับต่างประเทศก็อีหรอบนี้

ถนัดทางย่องๆ ตอดๆ ทำเรื่องใหญ่ไม่เป็น ไม่ได้เห็นภาพรวม ไม่ได้เน้นเรื่องประโยชน์คนส่วนใหญ่  
ชัยชนะที่ปทุมธานีไม่ได้ช่วยให้กลับมาคิดใหม่หรือประเมินตัวเองในทางที่ถูกที่ควรเลย 
นึกไม่ออกหรือว่า เกียรติศักดิ์ ส่องแสง ชนะที่ปทุมธานีหลังน้ำท่วมใหญ่ ก็เหมือนกับที่กฤษณ์ ศรีฟ้า ของพรรคไทยรักไทยเคยชนะเลือกตั้งพังงาหลังสึนามิ
นึกไม่ออกจริงๆ หรือว่า ชาวบ้านเขามีสติปัญญา เขารู้ว่าจะตอบแทนคนทำงานหนักทำงานจริงอย่างไร

ยังจับประเด็นไม่ได้ ถนัดแต่ย่องๆ ตอดๆ ไปอย่างนี้
ก็เสร็จนางละเวงเหมือนที่สุนทรภู่ท่านเขียนนั่นแล้ว



+++

ผลลัพธ์ ยิ่งลักษณ์ พนมมือ เข้าบ้าน "เปรม" กับงาน "ภาคใต้"
ในมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:00:26 น.


การเดินทางไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 29 เมษายน ทรงความหมายเป็นอย่างสูงในทางการเมือง
ไม่เพียงแต่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จะไปปูทางเอาไว้ก่อนล่วงหน้า 1 วัน
หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก ในขบวนที่เดินทางไป มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทบ. มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.ร่วมอยู่ด้วย
อบอุ่นอย่างยิ่ง

อย่าได้แปลกใจหากในวันที่ 1 พฤษภาคม นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้นำกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดภาคใต้ เข้าพบและหารือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ ศอ.บต.จังหวัดยะลา
ใครที่เคยตั้งคำถามการเดินทางเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับคณะรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน คงได้คำตอบ
เป็นคำตอบอันเด่นชัดว่า รัฐบาลเริ่มประสานและรับงานโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้เข้ามาเป็นงานของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
การเดินทางไปภาคใต้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือคำเฉลย



มีการขยับขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนอันแผกต่างไปจากจังหวะการขยับขับเคลื่อนในยุคของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างแน่นอน
เป็นการขยับขับเคลื่อนโดย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
เป็นการขยับขับเคลื่อนโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุคที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ

สัมผัสได้จากไหน
สัมผัส 1 จากปฏิกิริยาอันมาจากขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ระดับ นายถาวร เสนเนียม เรื่อยไปจนถึง นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ
ไปไกลถึงขนาด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุยกับขบวนการพูโล
ไปไกลถึงขนาดไม่เพียงแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น หากแต่ยังมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าร่วมด้วย
เป้าหมายเพื่อ "เสี้ยม"
เสี้ยมให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ กองทัพบก อันเป็นกำลังสำคัญในการปราบ 
แต่เมื่อความจริงที่จริงแท้เริ่มแสดงตัว ออกมา พลังเสี้ยมก็ "วืด" 
สัมผัสได้จากการเดินทางลงใต้ของ ผบ.ทบ. และ เสธ.ทบ. พร้อมกับคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


อาจมีการคาดหมายอย่างมากด้วยสีสันว่า การเดินทางเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อไปกล่าวคำขอโทษ 
เหมือนกับเป็นการขอขมาต่อผู้อาวุโส 
เป็นการคาดหมายอันปรากฏผ่าน วาทกรรมที่ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ควรจะอยู่ในคณะด้วย
เป็นวาทกรรมอันเท่ากับร่องรอยของหางที่โผล่แสดงความในใจ

กระนั้น ในความเป็นจริง ปฏิบัติการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ ส่วนหนึ่งแห่งยุทธศาสตร์แปรศัสตราเป็นแพรพรรณ 
ลดทอนความขัดแย้ง คลี่คลายความตึงเครียด 
จึงไม่เพียงแต่ เจ้าของบ้านสี่เสาเทเวศร์จะช่วยให้งานการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าไปด้วยความราบรื่น หากแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งเก็บปากเก็บคำ 
เก็บปากเก็บคำด้วยลูกเล่นแพรวพราวในการตอบ ไม่ว่าจะเป็นเสียง "หือ" หรือ บ่น "อากาศร้อน" เมื่อปะเข้ากับคลื่นแห่งคำถามในเรื่องการปรับ ครม.หลังปลดล็อก บ้านเลขที่ 111 
ตรงนี้ต่างหากเป็นวรยุทธ์อันได้มาจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์


รูปธรรมแห่งผลงานพนมมือเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เริ่มแจ่มชัดเป็นลำดับ ณ
เบื้องหน้าประชาชน

เป็นความแจ่มชัดของความรัก ความสามัคคี ร่วมแบ่งเบาภาระ ช่วยกันทำงานตามความสันทัด ตามความชำนาญที่สะสมมา รวมถึงรวบยอดแห่งความสำเร็จของอดีตนายกรัฐมนตรีสำคัญ 
ความสำเร็จจากฉายาแห่ง "เตมีย์ใบ้"



.