http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-18

คำพิพากษา(..ยุค“อากง”), เกาะกระแส “รูปล้อเลียน”..

.
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม - ข่าวระดับอินเตอร์ สิ้น "อากง-Uncle SMS" คนละโลกเดียวกัน
คอลัมน์ ในประเทศ - ย่อยก๊ก สลายก๊วน "พท." "ทักษิณ" สั่งจัดโซน "นิ่ง" ! สยบแรงกระเพื่อม "ปู 3"

_____________________________________________________________________________________________________

คำพิพากษา
คอลัมน์ ในประเทศ จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 9


ภายหลังการเสียชีวิตของ “อากง” อำพล .... ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะเรื่องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา
คลื่นความคิดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่เริ่มเงียบหายไปกลับก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

และเมื่อมีคนที่สนับสนุน "อากง" ก็ย่อมต้องมีฝ่ายที่ "ไม่เห็นด้วย"
และหนึ่งในฝั่งที่ "ไม่เห็นด้วย" ก็คือ "ตั๊ก" บงกช คงมาลัย
"ตั๊ก" ดาราสาวเซ็กซี่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์ "อากง" และผู้สนับสนุนด้วยถ้อยคำรุนแรง
"เวรกรรมของอากง"
"แต่อากงไม่อยู่ก็ดีนะค่ะ แผ่นดินจะได้ดีขึ้น ^-^"
"จริงๆ แผ่นดินก็ดีอยู่แล้ว จะได้ดียิ่งขึ้นเน้อออออ" 
"ถึงฉันจะเปิดนม เปิดอะไร หรือมีชื่อเสียงไม่ดี หรืออะไรก็ตามที่คุณจะสันหามาด่า แต่ฉันก็ไม่โง่ แล้วทำไมคุณกล้าสู้เพื่ออากง แล้วเมื่อไรคุณจะตายคะ จะได้ไปช่วยอากงต่อในนรก เพราะอากงคุณตกนรกแน่ จากกรรมที่หมิ่นพ่อของฉัน"
"คุณรักอากง ฉันก็รัก ครอบครัวพ่อของฉัน ทำไมเหรอ"

ข้อความทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึง "ความเชื่อ" ของ "ตั๊ก" ที่มีต่อ "อากง"
เธอเชื่อว่า "อากง" ส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เชื่อว่า "อากง" เป็นคนเลว ตายแล้วแผ่นดินจะสูงขึ้น
เชื่อว่าคนที่ออกมาต่อสู้เรื่อง "อากง" จะตกนรกเหมือน "อากง"


ทันทีที่ข้อความในเฟซบุ๊กของ "ตั๊ก" แพร่กระจายออกไป ทฤษฎี "แรงตกเท่ากับแรงสะท้อน" ก็เริ่มทำงาน 
ฝ่ายสนับสนุน "อากง" ออกมาโจมตี "ตั๊ก" อย่างรุนแรง   
นอกเหนือจากทัศนคติที่ไม่ตรงกันแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่คนไม่พอใจ "ตั๊ก" เพราะเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมใส่ "คนตาย" 
ซึ่งตามปกติคนทั่วไปจะไม่มีใครทำเช่นนี้

ปฏิกิริยาที่ฮือฮาที่สุดก็คงจะเป็น "จดหมายถึงตั๊ก" ของ "โด่ง" อรรถชัย อนันตเมฆ 
เนื้อหาในจดหมายพยายามชี้แจงให้ "ตั๊ก" เข้าใจถึงเรื่องราวที่ "อากง" ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการส่ง SMS ไปถึงเลขานุการส่วนตัวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี 
ก่อนตบท้ายว่า "ตั๊กไม่ใช่คนโง่ แต่ที่ตั๊กไม่รู้ พี่วิเคราะห์ว่าเพราะตั๊ก "ไม่ฟัง" และการไม่ฟังอาจเกิดจากอคติ"


แต่แรงโต้กลับที่รุนแรงที่สุดกลับมาจากกลุ่ม "คนเสื้อแดง" เมืองพัทยา
ทันทีที่รู้ว่า "ตั๊ก" มาถ่ายหนังที่พัทยา คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งก็รวมตัวกันขี่มอเตอร์ไซค์ขับไล่ "ตั๊ก" ออกจากพัทยา 
การแสดงปฏิกิริยาดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเช่นกันทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเดียวกัน 
เพราะเท่ากับการใช้ "โคลน" สาด "โคลน" 
แม้วันนี้ "ตั๊ก" จะพยายามเงียบ ไม่ออกมาตอบโต้ 
แต่ดูเหมือนเรื่องราว "ตั๊ก" จะไม่จบลงง่ายๆ 
และสะท้อนให้เห็นถึง "ความน่ากลัว" ของ "อคติ" ในใจคน



"ตั๊ก" บงกช เป็นนักแสดงที่ต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครในภาพยนตร์หลายเรื่อง 
และหนึ่งในนั้นบทของ "สมทรง" ในหนังเรื่อง "ไอ้ฟัก"

"ไอ้ฟัก" สร้างจากนวนิยายซีไรต์เรื่อง "คำพิพากษา" ของ "ชาติ กอบจิตติ" 
นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า "ความเชื่อ" ฆ่าคนได้ 
และสิ่งที่คนในสังคม "เชื่อ" อาจไม่ใช่ "ความจริง" 

"คนดี" แท้จริงอาจเป็น "คนเลว"
คนที่สังคมเชื่อว่า "เลว" แท้จริงอาจเป็น "คนดี"
ถ้า "ตั๊ก" อ่านนวนิยายเรื่องนี้อย่างละเอียด และตีบทเรื่องนี้แตก เธอน่าจะถึงฉุกคิดอะไรขึ้นมาบ้างหลังจากรับรู้เรื่องราวของ "อากง" และความขัดแย้งในสังคมไทย

ในบทความ "25 ปี คำพิพากษา" ที่เคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ "ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์" บอกว่า "สิ่งที่ทุกคนจดจำได้เกี่ยวกับนวนิยายคำพิพากษา คือ ประเด็นเรื่องความเหี้ยมโหดอันเกิดจากการตัดสินผู้อื่นอย่างมีอคติ 
ฟักถูกกล่าวหาว่าหลับนอนกับเมียของพ่อโดยปราศจากมูลความจริง และไม่ว่าฟักจะพยายามแก้ตัวอย่างไรก็ไม่มีใครยอมเชื่อ เพราะชาวบ้านได้ปักใจเชื่อไปเสียแล้วว่าเขานอนกับแม่เลี้ยง 
ฟักกลายเป็นหมาหัวเน่าในสังคม เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์จากคนทั้งหมู่บ้าน จนต้องกันไปกินเหล้าแก้กลุ้ม
และในท้ายที่สุดก็ลงแดงตายเหมือนหมาข้างถนน"

คำประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการซีไรต์ได้หยิบประเด็นนี้มายกย่อง โดยชี้ว่านวนิยายเล่มนี้ได้เสนอแง่คิดที่ว่า
"คนในฐานะปัจเจกชนตกเป็นเหยื่อความเชื่อและคำตัดสินของสังคม แม้ว่าจะมีความจริงหรือไม่ก็ตาม"
แง่คิดนี้ยังเป็นจริงแม้ในวันนี้


"ชาติ" สร้างตัวละคร "ครูใหญ่" ให้เป็นบุคคลที่คนทั้งหมู่บ้านให้ความเคารพและเชื่อว่าเป็น "คนดี" 
"ไอ้ฟัก" ฝากเงินไว้กับครูใหญ่มาตลอดด้วยความเชื่อแบบเดียวกับที่คนทั้งหมู่บ้านเชื่อ 
จนวันหนึ่งวันที่เขาถูกประณามจากทั้งหมู่บ้านว่าเป็น "คนเลว" และหาทางออกด้วยการดื่มเหล้า 
"ฟัก" ไปขอเงินที่ฝากไว้จาก "ครูใหญ่" 
แต่ "ครูใหญ่" ไม่ยอมคืนให้

เมื่อ "ฟัก" โมโหไปตะโกนด่าหาว่า "ครูใหญ่" โกงเงินหน้าโรงเรียน
แน่นอนระหว่าง "ไอ้ฟัก" ขี้เมา และทำบัดสีกับเมียพ่อ กับ "ครูใหญ่" ที่ภาพพจน์เป็น "คนดี" 
คนทั้งหมู่บ้านก็พิพากษาได้อย่างง่ายๆ 
"ไอ้ฟัก" ผิด
"คนดี" อย่าง "ครูใหญ่" ไม่มีวันโกงเงิน "ไอ้ฟัก" อย่างแน่นอน


"ตั๊ก" แสดงเป็น "สมทรง" ผู้หญิงที่ไม่สมประกอบ ที่เป็นเมียของพ่อ "ฟัก" 
ในเรื่องเธอต้องใส่เสื้อลายดอกแดง ผ้าถุงสีส้ม 
เธอชอบโชว์ "ของลับ" ในที่สาธารณะ

"ชูศักดิ์" บอกว่าในวันที่ "ฟัก" ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้ายที่สุด เขาถูกจับเข้าคุกเพราะไปด่าครูใหญ่หน้าโรงเรียน 
"ลุงไข่" ผู้รู้ความจริงเรื่อง "ครูใหญ่" โกงเงิน "ฟัก" ก็ไม่กล้าแก้ต่าง หรือแม้แต่ไปเยี่ยมที่โรงพัก 
"เพราะถ้าแกไปก็คงไม่ผิดกับการเดินสวนพายุร้ายไปเดียวดาย มีแต่อันตรายเท่านั้นเองที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า"

แต่มีเพียงคนเดียวที่กล้าเดินสวนพายุร้ายแห่ง "ความเชื่อ" ไปเยี่ยม "ฟัก" ที่โรงพัก
นั่นคือ "ตั๊ก" หรือ "สมทรง"
เธอกล้าแม้แต่ถ่มน้ำลายรด "คนดี" อย่าง "ครูใหญ่" ในวันที่เขาและชาวบ้านพยายามเอาศพไอ้ฟักออกจากกระต๊อบ
สุดท้าย "สมทรง" ก็ถูกชาวบ้านพิพากษาว่าไม่ควรอยู่ในหมู่บ้านนี้ต่อไป 
ด้วยเหตุผลว่า "ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายต่อคนดีๆ ดีไม่ดีอาจทำร้ายเด็กๆ..."

"สมทรง" ถูกจับมัดมืดมัดเท้า ปิดปาก แล้วนำขึ้นรถสองแถวไปปล่อยที่เมืองกรุง 
เธอถูกกำจัดพ้นจากหมู่บ้านแห่งนี้ เพียงเพราะ "อคติ" ในใจคน 

นวนิยาย "คำพิพากษา" จบลงไปตั้งแต่ปี 2524 
แต่ "คำพิพากษา" ในโลกแห่งความจริงในปี พ.ศ.2555 ยังไม่จบ 
ตัวละครอย่าง "ไอ้ฟัก, สมทรง" หรือ "คนดี" อย่าง "ครูใหญ่" และอีกหลายๆ คนยังคงโลดแล่นอยู่ 
"ตั๊ก" บงกช ก็เป็นหนึ่งในตัวละครใน "คำพิพากษา" 2555

เพียงแต่บทที่เล่นวันนี้ไม่แน่ชัดว่าจะเป็น "สมทรง" คนเดิม
หรือเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ตัดสินคนจาก "อคติ" ในใจ



++

เกาะกระแส “รูปล้อเลียน” กระหึ่มเฟซบุ๊ก เมื่อ “ธรรมศาสตร์” และ “ประเทศไทย" ไม่มีกฎหมายหมิ่น “ปรีดี พนมยงค์”
คอลัมน์ ในประเทศ จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 11


จู่ๆ ก็เกิดวิวาทะขึ้นในประชาคมธรรมศาสตร์ ที่เชื่อกันว่า "มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว"
เมื่อปรากฏบุคคลผู้หนึ่งนำรูปถ่ายไปเผยแพร่ลงเฟซบุ๊ก เป็นภาพตนเองนั่งยกขาชันเข่าข้างหนึ่ง แล้วนำมือไปโหนบ่ารูปปั้น "ปรีดี พนมยงค์" อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แกนนำคณะราษฎร และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 2 ของตึกโดม มธ. ท่าพระจันทร์
พร้อมเขียนคำบรรยายประกอบว่า "ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน"

นำไปสู่วิวาทะต่อเนื่องของศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน-บุคคลทั่วไป มีทั้งเสียงสนับสนุนว่าพฤติกรรมยั่วล้อเสียดสีเช่นนี้สามารถกระทำได้เต็มที่ตามหลักการเสรีประชาธิปไตย และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าบุคคลในภาพถ่ายไม่รู้จักกาลเทศะ


ความเห็นที่แสดงภาพรวมของวิวาทะดังกล่าวได้ดีพอสมควร เห็นจะเป็นมุมมองของ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และ "เกษียร เตชะพีระ" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน

สมศักดิ์ แสดงความเห็นต่อรูปล้อเลียนนี้ว่า "หุหุ เท่ดี เดี๋ยวเอาไปโปสเตอร์ โฆษณา 24 มิถุนา หรือวันสถาปนา (27 มิถุนา) ที่กำลังจะมาถึงดีกว่า"
ต่อมา เมื่อเกิดกระแสโจมตีรูปภาพและคนโพสท่าในรูปหนักขึ้น นักประวัติศาสตร์ผู้นี้จึงแสดงความเห็นอีกครั้งว่า
"จริงๆ ผมเซอร์ไพรส์มากๆ นะที่รูปคุณ ... "ถ่ายคู่" กับ รูปปั้นปรีดี กลาย "เป็นเรื่อง" ขึ้นมาได้ 
"ปรีดี กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้ไปได้ไง

"แล้วพูดก็พูดเถอะ บรรดาคนที่มา "เซนสิทีฟ" มากๆ โดยเฉพาะใครที่เรียน มธ. น่ะ โทษที เคยศึกษาประวัติศาสตร์บ้างไหมว่า กว่าปรีดีจะกลายมาเป็นอะไรที่ "เว่อร์ๆ" ขนาดนี้ มันมีความเป็นมายังไง

"มหา"ลัยที่ปรีดีตั้งเอง ไม่กล้า แม้แต่เอ่ยถึงชื่อปรีดี เป็นเวลาหลายสิบปี ยังไง? แม้แต่ชื่อ ห้องสมุด ที่ตอนนี้ ตั้งเป็นชื่อปรีดีน่ะ ตอนที่เริ่มมีประเพณีตั้งชื่อแบบนี้น่ะ ปรีดีไม่ใช่ชื่อแรกด้วยซ้ำที่มีการตั้งกัน ตั้งชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์ ก่อนด้วยซ้ำ เพราะไม่กล้าขนาดนั้น ชื่อปรีดีน่ะ ตั้งตามหลัง "ห้องสมุดสัญญา" ถึง 8 ปี ตามหลัง "ห้องสมุดป๋วย" ถึง 5 ปี

"บอกตรงๆ อย่าดัดจริตมากไปครับ"


ขณะที่เกษียรแสดงความเห็นต่อรูปดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กว่า
"กับปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นของคนอื่น ควรต้อง handle with care (แตะต้องโดยระมัดระวัง-มติชนสุดสัปดาห์) 
"ในชุมชนแห่งความทรงจำหนึ่งๆ ย่อมมีบุคคล เหตุการณ์ วัตถุพยานแห่งความทรงจำ (อนุสรณ์ อนุสาวรีย์ ฯลฯ) ที่ประกอบส่วนสร้างเป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกชุมชน ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการจำและสืบทอดส่งต่อการจำนั้นเป็นชั้นๆ เป็นรุ่นๆ ต่อกันมายาวนานพอสมควร 
"สถานะของสิ่งนี้เสมอเหมือนปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็น เมื่อมันถูกกระทบโดยผิดธรรมเนียมประเพณีของชุมชน สมาชิกชุมชนก็จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้แทบว่าจะราวอัตโนมัติก่อนการคิดด้วยซ้ำไป

"ความจริงเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนความจริงนี้ได้ไหม? เปลี่ยนได้ แต่จะเปลี่ยนก็ต้องช่วยให้สมาชิกชุมชนเข้าใจฐานะบทบาทหน้าที่ของปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นนี้และพลานุภาพของมันเสียก่อนเมื่อพวกเขาเข้าใจแล้วก็จะง่ายขึ้น

"วิธีที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจคือ handle with care ค่อยๆ ทำให้พวกเขาเห็นฐานความเชื่อของปุ่มกลางหลังนี้ จนพวกเขามองเห็นมัน เมื่อพวกเขาเห็นแล้ว การจะคงสถานะของปุ่มนี้ไว้ต่อไปหรือไม่ จะเลิกเชื่อหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่พวกเขาจะเลือกด้วยความเข้าใจและปัญญาอย่างรู้เท่าทัน เลิกเชื่อก็ด้วยความเข้าใจและไม่เกลียดชังหลังเลิกเชื่อ, ถ้าเชื่อต่อก็ด้วยรู้เท่าทัน ไม่ปลูกปั้นจนเหนือล้ำล้นเกินขอบเขตเหตุผลออกไป

"กับปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นของคนอื่น จึงควรต้อง handle with care"



จากนั้น เว็บไซต์ประชาไทได้สัมภาษณ์เจ้าของรูปล้อปรีดีอันลือลั่น ซึ่งใช้นามแฝงว่า "อั้ม เนโกะ" เธอเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังแห่งอื่นมาแล้วหนึ่งปี ก่อนจะตัดสินใจสอบแอดมิสชั่นส์ใหม่ กระทั่งปีนี้กลายเป็นเฟรชชี่ธรรมศาสตร์

อั้มเล่าว่า วันที่ถ่ายรูปดังกล่าวเป็นวันปรีดี (11 พฤษภาคม) ที่บริเวณรูปปั้นด้านล่างมีคนมาวางพาน พวงมาลา กราบไหว้อาจารย์ปรีดี เมื่อรุ่นพี่ได้พาเดินทัวร์ตึกโดม ได้เห็นรูปปั้นอาจารย์ปรีดี จึงอยากลองทำอะไรท้าทายกระแสสังคมดูบ้าง โดยมีคำถามว่าถ้าเราเท่ากัน ทำไมจึงต้องทำให้อาจารย์ปรีดีกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

"เหมือนเราให้ความสำคัญ อ.ปรีดี ในฐานะคนที่มากกว่าคน สร้างความศักดิ์สิทธิ์มากเกินไปหรือเปล่า" เธอตั้งข้อสังเกต และว่า อาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นคนที่วิเศษวิโส วิจารณ์ได้ หากกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีนิยมยังมีข้อยกเว้น ไม่วิพากษ์วิจารณ์ อ.ปรีดี แล้วจะใช้หลักการวิจารณ์โดยเท่าเทียมกันได้อย่างไร 
อั้มบอกด้วยว่าเธอยังไม่ทราบเรื่องที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในอินเตอร์เน็ต เพราะช่วงนี้ต้องเตรียมเอกสารสอบสัมภาษณ์ แต่ก็ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ 
"วันหนึ่ง ถ้าหนูเกิดไปทำความดีอะไรเข้า แล้วตัวเองเป็นรูปปั้น มีคนมากระทำชำเรารูปปั้น ก็ไม่แคร์อะไร เพราะเป็นแค่หุ่นธรรมดา" เธอแสดงความเห็น



นอกจากปรากฏการณ์ภาพถ่ายล้อเลียนรูปปั้น "ปรีดี พนมยงค์" ภายในรั้วแม่โดม ดูจะมีความเชื่อมโยงกับวิวาทะทางด้านนิติศาสตร์ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว 
ปรากฏการณ์ครั้งนี้ยังบ่งชี้ให้เห็นถึงสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังความเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งระบุว่า

"ไม่ได้อยากติฉินหรือยกย่องการกระทำของน้องที่โหนรูปปั้นปรีดี แต่สนใจมากกว่า ว่านี่คือตัวอย่างของเด็กที่โตมาพร้อมกับเมืองไทยหลังรัฐประหาร เด็กรุ่นนี้แทบไม่มีความทรงจำเป็นชิ้นเป็นอัน เกี่ยวกับเมืองไทยยุคที่ทุกองคาพยพหันหน้าไปทางเดียวกัน

"ประเทศไทยของน้องเค้าเป็นคนละประเทศไทยกับที่พวกเราเติบโตมา พี่ๆ อาๆ ลุงๆ อย่างเราจะสามารถเข้าใจพวกเขาได้แค่ไหน และเด็กรุ่นนี้จะพาสังคมไปในทิศทางใด

"นี่ต่างหากที่น่าจับตามองเอามากๆ"



++++

ข่าวระดับอินเตอร์ สิ้น "อากง-Uncle SMS" คนละโลกเดียวกัน
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 78


กรณี "อากง" ที่ถูกลงโทษจำคุก 20 ปี ฐานส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นเบื้องสูง เป็นความผิดตามมาตรา 112 เป็นข่าวโด่งดังในต่างประเทศ

สำนักข่าวต่างประเทศ และองค์กรสิทธิมนุษยชน ต่างนำเสนอข่าวและบทความวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้คำเรียกอากงว่า Uncle SMS
และเมื่ออากง หรือ นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) วัย 61 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเรือนจำที่คุมขังอยู่ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ก็ยิ่งเป็นข่าวใหญ่

น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความนายอำพล เผยว่า ที่ผ่านมายื่นขอประกันตัวมา 8 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต หากได้ประกันตัวออกมาและไปพบแพทย์ประจำทุก 3-6 เดือน ก็อาจจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ 
"อากงปวดท้องเป็นเดือนแล้ว แต่มาเป็นหนักเมื่อวันศุกร์ ขณะนี้ถอนอุทธรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีกำหนดจะทำภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้า? "



หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม หลายฉบับ นำเสนอข่าวการเสียชีวิตของอากง

ส่วนยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ เสนอเป็นข่าวสั้น ก่อนจะพลิกกลับมาขึ้นหน้า 1 ในวันต่อมา และเล่นข่าวพาดหัวนำ เมื่อมีกรณีของดาราทรงโต "ตั๊ก" บงกช คงมาลัย เข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาต่อข่าวอากง คึกคักอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะในเว็บของกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่เว็บของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง ก็ระดมข้อโต้แย้งมาตอบโต้อย่างดุเดือด 
ความเห็นของทั้งสองฝ่าย แตกต่างราวกับมาจากคนละโลก

ย้อนกลับไปที่กรณี ตั๊ก บงกช เป็นอีกแง่มุมที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยตั๊กได้โพสต์เฟซบุ๊ก มีข้อความดังนี้ 
09.57 เวรกรรมของอากง / 09.59 แต่อากงไม่อยู่ก็ดีนะคะ แผ่นดินจะได้ดีขึ้น ^-^ / 
10.00 จริงๆ แผ่นดินก็ดีอยู่แล้ว จะได้ดียิ่งขึ้นเน้อออออ / 17.08 ถึงฉันจะเปิดนม เปิดอะไร หรือมีชื่อเสียงไม่ดี หรืออะไรก็ตามที่คุณจะสัน (สรรค์) หามาด่า แต่ฉันก็ไม่โง่ แล้วทำไมคุณกล้าสู้เพื่ออากง แล้วเมื่อไหร่คุณจะตายคะ จะได้ไปช่วยอากงต่อในนรก เพราะอากงคุณตกนรกแน่ จากกรรมที่หมิ่นพ่อของฉัน 
17.09 คุณรักอากง ฉันก็รักครอบครัว พ่อของฉัน ทำไมเหรอ

และกลายเป็นเรื่อง เมื่อเว็บบอร์ดต่างๆ นำไปเสนอต่อ และวิพากษ์ความคิดของตั๊กอย่างดุเดือด

ก่อนที่จะมี "จดหมายถึงตั๊ก" จากดาราชื่อดัง "โด่ง" อรรถชัย อนันตเมฆ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง 
ด้วยท่าทีแนะนำ ตักเตือน มีข้อความบางตอนว่า ตั๊กคงไม่เข้าใจเรื่องอากง มันไม่ใช่อย่างที่ตั๊กแสดงความคิดออกมา
ตั๊ก รู้ไหมว่าอากงไม่ใช่คนเสื้อแดง ตั๊กรู้ไหม ว่าอากงรักในหลวงเหมือนตั๊ก? ตั๊กรู้ไหมว่า อีมี่ โทรศัพท์มือถือ ที่ใช้เป็นหลักฐานมัดอากงนั้น มันปลอมได้ (มาบุญครองทำซ้ำขายมากมาย) 
ตั๊กรู้ไหมว่า อากงส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นดังกล่าวไปยังเลขาฯ อภิสิทธิ์ 
ตั๊กคิดไหมว่า หากใครสักคนต้องการส่งข้อความหมิ่นเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบัน เขาจะส่งไปยังเลขาฯ "ส่วนตัว" นายกฯ เพื่ออะไร 
ตั๊กคิดว่าเบอร์โทรศัพท์ ของเลขาฯ "ส่วนตัว" ของนายกฯ นี่มันหามาส่งกันง่ายๆ หรือ 
ประเด็นของอากง มันเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่า "อากงผิดจริงหรือไม่" ไม่ใช่เรื่อง "หมิ่นสถาบัน" อย่างที่ตั๊กเข้าใจ 
และตอนท้าย ระบุว่า เราเป็นดารา มีชีวิต มีอาชีพวันนี้ได้ แท้จริงก็เพราะประชาชน เราเป็นคนของประชาชน ต้องรักประชาชน ประชาชนทุกคนมีบุญคุณกับตั๊ก "ไม่เว้นแม้แต่อากง" 
แค่ขจัดอคติที่มีกับประชาชน รับฟังพวกเขาบ้าง แค่นี้ก็ดีมากแล้ว หวังว่าตั๊กคงได้อ่านที่พี่เขียน และทบทวนสิ่งที่ตัวเองคิดให้ดี เชื่อพี่ รักประชาชน กตัญญูต่อประชาชน รับใช้ประชาชน อยู่ข้างประชาชน แล้วจะเจริญอย่างมีเสรีภาพ ครับ

แต่เรื่องของดาราสาวชื่อดังยังไม่จบแค่นั้น



ในอีกมุมหนึ่ง ตั๊กก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจจาก สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนและอดีตผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ซึ่งทวีตข้อความในทวีตเตอร์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ว่า "...ตั๊กรับ โพสต์ไม่เห็นด้วยกับพวกเชียร์อากง ถามทำเพื่อคนที่ตนเคารพรักผิดหรือ?"

มีการติติงความเห็นของตั๊ก และสุริยะใส โดย นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ธรรมศาสตร์ ซึ่งเว็บไซต์ต่างๆ นำมาเผยแพร่ว่า "ฝากถึงยะใสกับ คุณบงกช คงมาลัย : การแสดงความรักที่ไม่กอปรด้วยปัญญาและความเข้าใจ อาจทำร้ายผู้อื่นที่เจ็บปวดอยู่แล้วได้ ด้วยความเขลาและขาดความรับผิดชอบ การทำด้วยความรัก โดยตัวมันเองไม่ผิด แต่สิ่งที่ทำนั้น หากขาดความรู้ความเข้าใจที่รอบคอบรัดกุมรองรับ ก็อาจกลายเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมทำร้ายผู้อื่นที่เจ็บปวดสูญเสียอยู่แล้วให้เขาเสียใจยิ่งขึ้นได้ 
"ลองคิดถึงกรณีทำนองเดียวกันแล้วมีคนมาโพสต์ด้วยน้ำเสียงเลือดเย็นคล้ายๆ กันกับการจากไปของน้องโบว์ดูแล้ว ญาติมิตรของเธอจะรู้สึกอย่างไร มันถูกต้องหรือไม่? เป็นสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ควรทำต่อกันหรือไม่?
"น่าเสียดายที่คุณยะใสที่น่าจะมีความเข้าใจและรับผิดชอบทางการเมืองจากประสบการณ์ที่มีมากกว่าก็ดูจะเป็นแบบนี้ด้วยเหมือนกัน"


เหตุการณ์บานปลายออกไปอีก เมื่อตั๊กถูกคนเสื้อแดงพัทยาขับไล่ เมื่อไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ จ.ชลบุรี เมื่อคืนวันที่ 12 พฤษภาคม

อาจารย์เกษียร โพสต์ข้อความในวันที่ 13 พฤษภาคม ว่า "ไล่ตั๊กได้ยังไม่สะใจเท่าสามารถดึงตั๊กและคนอื่นๆ ให้เปลี่ยนใจมาเห็นใจอากง"
ก่อนเสนอว่า งานการเมืองมีบางด้านที่เหมือนละครทีวี คนที่ชนะคือนางเอกที่สามารถทำให้คนดูทั้งตลาดร้องไห้สงสารได้ คนที่แพ้คือนางอิจฉาที่ไม่กล้าเดินเข้าตลาด เพราะกลัวแม่ค้าด่าใส่หรือเอาเปลือกทุเรียนตบ
ในความหมายนี้ งานการเมืองคืองานหาพวก ปฏิบัติการบางอย่างพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมจึงทำและก็อาจสะใจสาสมกับความรู้สึกโกรธแค้น แต่ถ้าใจเย็นๆ มองยาวๆ ทำแบบนี้เปลี่ยนใจคนดูและคุณตั๊กเองไม่ได้เลย มีแต่ทำให้พวกเขาโกรธและกลัว

หากทำให้คนอย่างคุณตั๊กและคนดูทั่วไปเปลี่ยนสำนึก กลับใจ หันมาเห็นใจและเข้าใจความอยุติธรรมที่อากงเผชิญ นั่นแหละครับชัยชนะอย่างแท้จริง (ในลักษณะข้อเขียนของคุณโด่ง อรรถชัย อนันตเมฆ ถึงน้องตั๊ก)
"จะทำยังไงถึงจะได้สิ่งนั้น ลองไตร่ตรองดูนะครับ" อาจารย์เกษียรสรุป

และนี่คือบางส่วนของ "ข่าว" ที่มีความเห็นต่างมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง 



+++

ย่อยก๊ก สลายก๊วน "พท." "ทักษิณ" สั่งจัดโซน "นิ่ง" ! สยบแรงกระเพื่อม "ปู 3"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 13


31 พฤษภาคม 2555 จะเป็นวันที่ "111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (กก.บห.ทรท.)" จะพ้นโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบ "พรรคไทยรักไทย (ทรท.)" และกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง
แม้ขณะนี้ตัวเลขจะยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับเข้าสู่การเมืองทั้งหมดหรือไม่ 
แต่จำนวนที่ "111" จะกลับเข้าสู่ร่มเงาของ "พรรคเพื่อไทย (พท.)" นั้น สูงมากกว่า 60 คนไปแล้ว 
ซึ่งนั่นได้ทำให้ "พท." ที่เต็มไปด้วย "บุคลากรการเมือง" ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากมาย 
เกิดปฏิกิริยาทั้งด้านบวกและลบตามมา

ด้านหนึ่ง มองว่า "111 อดีต กก.บห.ทรท." ล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์การเมือง ย่อมเข้ามาช่วยให้ "พท." และ "รัฐบาล" แข็งแกร่งมากขึ้น ในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้ง
แต่อีกด้านหนึ่ง แน่นอนว่าย่อมทำให้โอกาสที่ "ส.ส.พท." ที่จะได้ก้าวขึ้นรับตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง ลดน้อยลง ผกผันกับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งยิ่งใกล้ระยะเวลาที่ "111 อดีต กก.บห.ทรท." จะพ้นโทษแบน และกลับเข้าร่วมงานการเมืองกับ "พท." จึงทำให้เห็นกระบวนการขยับขับเคลื่อนเพื่อรักษาดุลอำนาจของ "ส.ส." หลายกลุ่ม 
โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสข่าวการ "ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)" ของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่กะเกณฑ์กันว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน "กรกฎาคม-สิงหาคม"
ยิ่งทำให้ "พท." เกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนัก ทั้งจากผู้ที่มีตำแหน่ง "รัฐมตรี" อยู่แล้ว และผู้ที่คิดว่ายัง "มีโอกาส" รับตำแหน่ง "รัฐมนตรี"

ที่ชัดเจนก็คือ แอ๊กชั่นของ "ฉลอง เรี่ยวแรง" ส.ส.นนทบุรี พท. ที่ออกมาขวางการเข้ารับเก้าอี้ "รมช.มหาดไทย" ของ "จตุพร พรหมพันธุ์" ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง 
ท่ามกลางกระแสการ "ผนึกกำลัง" กันของ "ส.ส.ภาคกลาง" เพื่อปกป้องโควต้ารัฐมนตรีของ "ภาค" ในส่วนของ "ชูชาติ หาญสวัสดิ์" รมช.มหาดไทย 
หรือแม้แต่กรณี "ส.ส.อีสาน 5 จังหวัด" ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม และ ยโสธร เตรียมตั้งกลุ่มการเมือง ภายใต้ชื่อ "กลุ่มทุ่งกุลา"
โดยมี "ศักดา คงเพชร" รมช.ศึกษาธิการ เป็นแกนหลัก มีเป้าหมายสำคัญเพื่อการ "ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี" ในการปรับ ครม.

กลายเป็น "กระแสการต่อรองอำนาจ" ภายใน "พท." ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น 
จนนายกรัฐมนตรี ต้องออกมา "ยุติศึกใน" ด้วยการยืนยันว่ายังจะไม่มีการปรับ ครม. ในช่วงนี้



แต่เพียงเท่านั้นก็ใช่ว่าจะสามารถสยบ "ความเคลื่อนไหว" ลงได้ เพราะแรงสั่นสะเทือนภายใน "พท." ดูเหมือนจะยังคงหนักหน่วงและต่อเนื่อง
ล่าสุด แม้แต่ ส.ส.เสื้อแดง ที่ถูกมองว่าเป็นสายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" เอง ก็กลับเริ่มจับตัวเป็น "กลุ่มก้อน" ที่ชัดเจนมากขึ้น
และเริ่มส่งสัญญาณทวงเก้าอี้ "รัฐมนตรี" ตามสิทธิ์และสัญญาใจที่เคยมีให้กัน 
ส่งผลให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องหาหนทางในการแก้ไขปัญหา

ล่าสุด จึงมีการอนุมัติแผน "ปรับโครงสร้าง" การบริหารงาน ส.ส.พท. ใหม่ โดยจากเดิมที่แบ่งการทำงานกันออกเป็น 5 ภาคคณะทำงาน เหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้ และ กทม." 
ก็ได้แบ่งเป็น "19 โซนกลุ่มจังหวัด" ให้แกนนำพรรคเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะมีทั้ง "แกนนำพรรค-รัฐมนตรี-ส.ส." และ "111 อดีต กก.บห.ทรท." เข้านั่งหัวโต๊ะคุมตำแหน่ง "ประธานโซน" ทั้งหมด 

เบื้องต้น กทม.33 เขตเลือกตั้ง แบ่งออก "3 โซน" คือ 1.กทม.ชั้นใน มอบหมายให้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม 2. ฝั่งตะวันออก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดูแล และ 3.ฝั่งธนบุรี เป็นพื้นที่ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี

"ภาคกลาง" 25 จังหวัด มี 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม โซนที่ 2 เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน โซนที่ 3 นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข โซนที่ 4 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม

"ภาคเหนือ" 17 จังหวัด แบ่งเป็น 3 โซน คือ โซนที่ 1 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ โซนที่ 2 นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง โซนที่ 3 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

"ภาคอีสาน" 20 จังหวัด แบ่งเป็น 6 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 โซนที่ 2 นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข โซนที่ 3 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โซนที่ 4 นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ โซนที่ 5 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม โซนที่ 6 นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และ "ภาคใต้" 14 จังหวัด จะมี 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 นาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี โซนที่ 2 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และโซนที่ 3 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

ซึ่งนัยหนึ่ง ในการส่ง "แกนนำพรรค" ลงไปดูแลแต่ละพื้นที่นั้น ก็เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในแต่ละพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในทางการเมืองของพรรค 
แต่ "นัยยะ" สำคัญ นั้นมองได้ว่าเป็นการเดินเกมสยบแรงกระเพื่อมภายใน "พท." ด้วยการส่งแกนนำพรรคลงไปกำกับ "ส.ส." แต่ละจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ "รวมกลุ่ม" จนกลายเป็น "ก๊ก-ก๊วน" การเมือง ขึ้นมามีอำนาจต่อรองในอนาคต


ซึ่งถ้าย้อนไปในสมัย "รัฐบาล ทรท." และ "รัฐบาลพรรคพลังประชาชน (พปช.)" พ.ต.ท.ทักษิณ เคยพยายามจะใช้ "โครงสร้างกลุ่มจังหวัด" เข้ามาบริหารจัดการภายในพรรค เพื่อย่อยสลายกลุ่มก๊วนทางการเมือง ในการแก้ปัญหาการ "ต่อรอง" ภายในพรรคและรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง 

โดยใน "รัฐบาล ทรท." ซึ่งนับได้ว่าเป็นรัฐบาลที่เกิดปัญหาการ "ต่อรองอำนาจ" อย่างหนักครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองที่ประกอบกันของหลายกลุ่มการเมือง ไม่ว่าจะเป็น "วังน้ำเย็น-วังน้ำยม-วังพญานาค-วังบัวบาน" ไปจนถึง "วังทองหลาง" ของ "ภาค กทม."

เช่นเดียวกันกับสมัย "รัฐบาล พปช." ที่กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งยึดกุม "74 ส.ส.ภาคอีสาน" เอาไว้ในมือ ซึ่งถือว่าสูงสุดในยุคนั้น 
ซึ่งทั้งสองกรณีส่งผลโดยตรงให้ พรรค และ รัฐบาล เกิดความปั่นป่วนตลอดเวลา 
แล้วก็เป็น เงื่อนปมสำคัญ ที่ทำให้ทั้ง "พรรค ทรท." และ "พปช." ถึงจุดจบทางการเมืองมาแล้ว

แน่นอนว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ" ย่อมไม่อยากให้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอย อีกครั้ง 
ระบบโซน "นิ่ง" ใน "พท." จึงถูกงัดเอาออกมาใช้!!! 



.