http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-26

ความแตกต่าง ทักษิณ..เพื่อไทย..คนเสื้อแดง ในสถานการณ์ครบรอบ 2ปี พฤษภามหาโหด โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ความแตกต่าง ทักษิณ...เพื่อไทย...คนเสื้อแดง ในสถานการณ์ครบรอบ 2 ปี พฤษภามหาโหด 
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 20


ตํานานนักสู้ธุลีดินฉบับที่แล้ว ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจกล่าวถึงผู้เสียสละได้ทั่วถึงทุกแนวรบ แต่ควันหลง เรื่องการต่อสู้เดือนพฤษภาคม 2553 ยังไม่จบ
มีผู้ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ครบรอบ 1 ปี และ 2 ปี มีความแตกต่างกันอย่างมาก 
มากเสียจนเกิดความเห็นที่แตกต่างเมื่อฟังคำพูดของ ทักษิณ ชินวัตร จบลง จนมีผู้คิดว่าอาจกลายเป็นแตกแยก 
ที่จริงในขบวนประชาธิปไตย จะมีความเห็นต่าง ทั้งแนวทาง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี 
ทีมวิเคราะห์ มีความเห็นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนดังนี้


พฤษภาคม 2554 ช่วงครบรอบ 1 ปี สถานการณ์ขณะนั้น องค์ประกอบที่สำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยคือ คนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย และทักษิณ แม้แตกต่างจากปี 2553 แต่ก็ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย 
1. สถานการณ์การเมืองในช่วงนั้น ทั้งสองส่วนมีความสามัคคีกลมเกลียวกันอย่างดี เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้าม คล้ายกัน เป็นผู้ที่ถูกกด ถูกบีบ ไม่มีอำนาจ มีโอกาสติดคุกได้เหมือนกัน  
2. มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เอาชนะฝ่ายตรงข้าม และกำหนดเป้าหมายที่เป็นศัตรู ใกล้เคียงกันมาก  
3. ผลประโยชน์เรื่องทรัพย์สินและอำนาจวาสนายังมีไม่มาก แต่ยังมีนักโทษการเมืองอยู่ในคุกจำนวนมาก 
4. มีจุดมุ่งหมายเฉพาะหน้าร่วมกันคือการเอาชนะการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554


พฤษภาคม 2555 องค์ประกอบทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตย มีคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย และทักษิณ แต่มีกลุ่มคนที่ได้ตำแหน่งในรัฐบาลและสภาผู้แทนฯ 
1. สถานการณ์การเมือง เปลี่ยนไปบางส่วน พรรคเพื่อไทยได้คุมอำนาจบริหาร มีตำแหน่งนายกฯ และรัฐมนตรีต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งฝ่ายการเมือง ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติก็มีคนได้เป็น ส.ส. จำนวนมาก คนเสื้อแดงมีโอกาสได้เข้าร่วมในอำนาจบ้างเล็กน้อย คือส่วนที่เป็นแกนนำบางคน
แต่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่กลับสู่สภาพประชาชนเต็มขั้น กลับไปทำมาหากินในท้องถิ่นของตนเอง มีผู้โชคร้ายบางคนยังคงได้รับโทษ บางคนต้องเสียญาติมิตร บางคนได้รับผลกระทบทางอาชีพการงาน 

2. จากจิตใจที่มุ่งมั่นในการต่อสู้ทำให้มวลชนเสื้อแดงธรรมดาบางคนกลายเป็นนักเคลื่อนไหว บางคนอยากเป็นนักปฏิวัติ หลายคนก็ยังเป็นแค่คนรักทักษิณ แต่ความรู้ความเข้าใจการเมืองไทย และระบอบประชาธิปไตยยกระดับสูงขึ้น 
บางคนเริ่มลังเลในแนวทางการต่อสู้ ชักไม่แน่ใจว่า สันติ อหิงสา รัฐสภา เลือกตั้งจะไปรอดหรือ 
บางคนก็เริ่มพัฒนาไปสู่การเมืองระดับท้องถิ่น ผลประโยชน์ในบางแห่งเริ่มขัดกัน ความสามัคคีกลมเกลียวเหนียวแน่นไม่ได้เป็นดังเดิม

3. ความรู้สึกของผู้ที่สูญเสียและผู้ที่ถูกคุมขังกลายเป็นช่องว่างระหว่างพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง เพราะในขณะที่แกนนำของเพื่อไทยกุมอำนาจ แต่เพื่อนร่วมรบบางส่วนยังต้องติดคุก

4. แรงบีบคั้นของฝ่ายตรงข้ามคลายตัวลงทำให้หลายคน คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวและอำนาจ มากกว่า ยามที่ถูกรุมล้อมโจมตี แต่บางคนบางกลุ่มก็คิดถึงผู้เสียสละชีวิต คิดถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและยังยืนหยัดต่อสู้


เพียงหนึ่งปี สองปี สัจธรรมของการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราเห็นทั้งสองฝ่าย มีสถานภาพที่เปลี่ยนไป บางคนเข้าคุก บางคนออกจากคุก บางคนเดินลงจากเก้าอี้ของอำนาจ บางคนปีนป่ายขึ้นไปแทน แต่ทั้งหมดไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพราะสถานการณ์การเมืองยังอยู่ในขั้นยัน และวันนี้ยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายคือการเจรจา สร้างภาพปรองดอง แต่ยุทธวิธี หยิกข่วนกัด หรือเตะตัดขา เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ทีมวิเคราะห์ชี้ว่า สถานการณ์และแรงกดดัน อาจทำให้เกิดการใช้อารมณ์ ไม่ว่าจากความโกรธ ความแค้น หรือความกลัว แต่จะให้มามีอิทธิพลต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดการผิดพลาด มีผลต่อคนทั้งบ้านทั้งเมือง เหมือนที่กลุ่มอำนาจเก่าเคยผิดมาแล้ว 
การต่อสู้และเจรจาของทั้งสองฝ่ายยังจะต้องทำควบคู่กันไปอีกหลายยก ไม่ว่าใครจะพอใจหรือไม่ก็ตาม 
ปัจจัยชี้ขาดแพ้ชนะ มิได้อยู่ที่ยุทธศาสตร์การเจรจา แต่อยู่ที่ใครมีความสามารถสะสมอำนาจได้มากกว่า



อำนาจจริงๆ อยู่ที่ใคร?

ทําไมพรรคไทยรักไทยจึงถ่อยร่นตั้งแต่ปี 2548 จนถึงการถูกรัฐประหาร และตุลาการภิวัฒน์ ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลมี ส.ส. ถึง 377 คน มีคนเลือกพรรคไทยรักไทยถึง 19 ล้านเสียง และตัวทักษิณก็ยังอยู่ 
การถูกรุกไล่จนต้องถอยไปตั้งรับถึง 3 ปี เมื่อฝ่ายตรงข้ามใช้กลุ่มมวลชนพันธมิตรเสื้อเหลืองเข้ากดดัน ใช้กำลังทหารยึดอำนาจ แต่ ส.ส. 300-400 คน และมวลชน 19 ล้านที่เลือกพรรคช่วยอะไรไม่ได้เลย แม้ในปี 2550 จะกลับมาชนะเลือกตั้ง ได้เสียงลดลง แต่ก็ยังถูกกำลังจัดตั้งของพันธมิตรและตุลาการภิวัฒน์ยึดอำนาจซ้ำอีกครั้ง  

ทำไมถึงต้านการรุก ในปี 2552-2554 ได้ ทั้งๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นรัฐบาล ตัวทักษิณก็ไม่อยู่ในประเทศ 
เมื่อมีการจัดตั้งมวลชนเสื้อแดง ในปี 2552 และได้เริ่มโต้ตอบกลับในทางการเมือง การรุกด้วยรูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆ แม้จะถูกปราบ แต่มวลชนก็เห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น การขยายตัวจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

มีการรวมตัวแบบแนวร่วมหลวมๆ จึงสามารถขับเคลื่อนขบวนไปใช้ต่อสู้ไปใช้กับองค์กรและแนวร่วมของกลุ่มอำนาจเก่าได้ จนกระทั่งเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม 2553 
ผลของการปะทะ แม้จะไม่ได้รับชัยชนะ แต่การรวมตัวสู้ตายของคนเสื้อแดงจำนวนมากทำให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นพลังของมวลชนและเกิดความหวั่นเกรง ในการเลือกตั้งกรกฎาคม 2554 แม้ฝ่ายตรงข้ามจะใช้ทุกวิถีทางแต่ก็ไม่สามารถ เอาชนะความต้องการของมวลชนได้ 
นี่เป็นการพิสูจน์อำนาจมวลชนครั้งสำคัญ


อำนาจที่สำคัญคือกำลังของมวลชนที่สนับสนุน

จากสถานการณ์ 3 ปีแรก และ 3 ปีหลัง ที่กล่าวมา ผู้วิเคราะห์เห็นว่า ถ้าเป็นการเดินหมาก เดินอีกไม่กี่ตาก็จะตัดสินแพ้ชนะ ถ้าเดินหมากไปตามที่ฝ่ายตรงข้ามบังคับให้เดินก็จะแพ้แน่นอน แต่ถ้าเดินหมากตามแผนที่คิดขึ้นเอง โอกาสชนะจะสูงมาก

ไม่ต้องกลัวการเอาม้าแลกม้า เอาเรือแลกเรือ เพราะยิ่งกลัว ยิ่งจะทำให้แพ้ ถ้าเดินไปตามแผนจะบีบให้ฝ่ายตรงข้ามจนกลางกระดาน 
ตาเดินสำคัญที่สามารถต้านการรุกของฝ่ายตรงข้ามได้ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา คือกำแพงแถวยาวของเบี้ย เม็ด โคน สามารถข่มขวัญจนม้าและเรือของฝ่ายตรงข้ามไม่กล้าเดิน

เพียงแต่วันนี้กำลังมวลชนที่กระจายอยู่ทั้งโครงสร้างและความคิดยังไม่แหลมคมพอที่จะทิ่มแทงฝ่ายตรงข้าม ในขณะเดียวกันก็ยังไม่มีประสบการณ์และเล่ห์เหลี่ยมที่จะต่อสู้กับความเหนือกว่าทางอำนาจของศัตรู 
ที่สำคัญกำลังในส่วนพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพล้าหลัง ยังมุ่งหวังกับลาภยศตำแหน่ง ดังนั้น จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับของมวลชนส่วนที่ก้าวหน้า

การปรับขบวนของกลุ่มอำนาจใหม่ให้เป็นลิ่มสามเหลี่ยมแห่งพลังที่จะตอกหินผาให้แตกกระจาย จึงต้องอยู่ในภาวการณ์ของการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน



บทบาทของคนเสื้อแดง ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และรัฐบาล 

คนเหล่านี้อยู่ในสถานะต่างกัน มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหมือนกัน แนวทางใกล้เคียงกัน แต่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี อาจแตกต่าง เป้าหมายเฉพาะหน้าก็แตกต่าง ดังนั้นบทบาทที่แสดงออกก็แตกต่าง ทักษิณรู้ว่าเมื่อเขาเสนอแนวทางปรองดอง ชนิดให้ลืมความหลัง ต้องมีคนไม่พอใจ แต่ทักษิณก็ชูธงปรองดองตั้งแต่ต้นจนจบการปราศรัย เช่น...

...สิ่งที่เกิดขึ้น ใน 6 ปีนี้ จริงๆ แล้วเกิดจากความเข้าใจผิด คนรักษากติกาคิดไม่เป็น 
...วันนี้ผมขออีกครั้งหนึ่งว่าบ้านเมืองหมดเวลาทะเลาะกันอย่างนี้อีกแล้ว ถึงเวลาหันหน้าเข้าหากัน ลืมอดีตมองไปข้างหน้า แต่ศึกษาอดีตเพื่อเป็นแนวทางอย่าให้เกิดสิ่งเหล่านี้อีกเลย คนไหนกำลังมีประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องปล่อยวางได้แล้ว พอแล้วให้บ้านเมืองกลับมาอยู่ที่เดิม จะได้เริ่มต้นกันใหม่ 
...พี่น้องทำมาเยอะแล้ว เมื่อทำมาถึงจุดหนึ่ง เหมือนผมจะข้ามฝั่งพี่น้องแจวเรือพาผมข้ามฝั่ง มาถึงฝั่งผมต้องเดินต่อขึ้นภูเขา พี่น้องจะแบกเรือขึ้นภูเขาทำไม ถึงเวลาที่ผมจะนั่งรถขึ้นภูเขาแต่ผมไม่เคยลืมคนขับเรือมาส่ง 
...ขออภัยสำหรับคนที่ยังไม่พอใจในสิ่งที่ผมพูด ทั้งนี้ทั้งนั้นผมทำด้วยความปรารถนาดี มองภาพรวมมากกว่าปัจเจกบุคคล ดังนั้น ถ้าผมทำอะไรผมคิดภาพรวมทั้งนั้น 
...ยอมแพ้หรือ ไม่มีครับ ผมตายผมยังไม่รู้ว่าแพ้คืออะไร


มีหลายคนติดใจเรื่องเป็นเรือที่ส่งถึงฝั่ง พวกที่เสี้ยมก็บอกว่าเสื้อแดงถูกถีบหัวส่ง 
ทีมวิเคราะห์มีความเห็นดังนี้ 

1. ทักษิณมีสิทธิเสนอแนวทางปรองดองแบบทักษิณ แต่พรรคเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดงจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน จะเห็นว่าวันนี้แม้แต่ในพรรคเพื่อไทย การส่งคนสมัครเทศบาลหรือนายก อบจ. แม้ทักษิณจะห้ามก็ยังมีคนลงแข่ง

2. คนเสื้อแดงบางกลุ่มก็มีสิทธิเสนอแนวทางของตนเอง ซึ่งอาจเป็นแบบไม่ยอมลืมเหตุการณ์ในอดีต ต้องค้นหาความจริง ต้องเอาฆาตกรมาลงโทษ ซึ่งใครจะไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิของเขา

3. อย่าประเมินทักษิณต่ำเกินไป มีบางคนบอกว่าทักษิณเป็นผู้ร่วมขบวนการเปลี่ยนแปลงคนหนึ่งเท่านั้น แม้ต้องแยกจากไปก็ไม่เป็นไร ปัจจุบันทักษิณมีความสำคัญมากกว่านั้นเยอะ มีผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้

4. การประเมินตนเอง...ต้องเข้าใจความสำคัญที่ว่าคนเสื้อแดงทั้งกลุ่มไม่ใช่องค์ประกอบย่อยของขบวนแต่เป็นกำลังหลักที่จะชี้ขาดการเปลี่ยนแปลง คนเสื้อแดงแต่ละคนจึงเป็นองค์ประกอบย่อย ทักษิณคิดว่าคนเสื้อแดงเป็นเรือที่มาส่งข้ามแม่น้ำแล้วเขาจะเดินทางไปเจรจาต่อ ถ้าคนเสื้อแดงคิดว่าการขึ้นไปเจรจามีแต่อันตรายก็ไม่ต้องตามไป ถ้าทักษิณคิดผิดถูกโจมตี วิ่งหนีกลับมา ก็เอาเรือรับแล้วเดินทางไปตามทางน้ำต่อ เมื่อถึงถนนเส้นใหม่เขาอาจหารถบรรทุกให้ แทนการเดินเท้า ขบวนก็จะไปเร็วขึ้น

5. การเจรจาปรองดองเป็นได้ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ในทัศนะของผู้วิเคราะห์การปรองดองครั้งนี้เป็นเพียงตาเดินหมากตาบังคับบนกระดาน ของทั้งสองฝ่าย ที่ยังไม่มีผลอะไร เป็นการต่อสู้ที่เหมือนกับการสร้างภาพ ถ้ามีใครให้ความหวังกับทักษิณ ก็ต้องเตรียมรับความผิดหวัง แต่ทักษิณอาจเต็มใจให้หลอก

การเจรจาที่ไม่เสียเปรียบ จะต้องอยู่บนฐานของการสนับสนุนจากกำลังที่เข้มแข็งจึงสามารถต้านรับการข่มขู่การคุกคามเอาเปรียบได้ เพราะฝ่ายตรงข้ามจะมีข้ออ้างห้ามกระทำอย่างโน้นอย่างนี้ ห้ามแก้ไขบางเรื่อง ห้ามแต่งตั้งบางคน ซึ่งทุกเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามอ้างก็เพื่อต้องการเอาเปรียบหรือทำให้เกิดการแตกสามัคคีในหมู่มิตร

ดังนั้น การปรองดองที่ยอมมากเกินไป จะเป็นการทำลายตนเอง ทำลายมิตร ทำลายแนวร่วม



ทั้งขบวนประชาธิปไตย มีความแตกต่าง เพราะการมาร่วมเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่มีใครเชิญใคร นี่ไม่ใช่งานเลี้ยง ทุกคนมาจากทุกสารทิศ หลายอาชีพ หลายชนชั้น มาร่วมกันด้วยจุดประสงค์ทางอุดมการณ์ 
ใครจะเดินหน้า จะอยู่กับที่ หรือจะถอยหลัง เป็นสิทธิของพวกเขา แต่การจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจ
ดังนั้น การแสวงหาแนวร่วมหรือแรงสนับสนุนจึงเป็นเรื่องจำเป็น และจะมีทุกระดับ เพราะการสนับสนุนมีตั้งแต่ 10 บาท 1,000 บาท หรือแม้แต่ชีวิตของคนเพื่ออุทิศให้การเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจึงมีค่าเสมอในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

การขับเคลื่อนขบวนยาวๆ ที่มีความแตกต่างออกไปโดยไม่ให้แตกแยกจึงเป็นทั้งฝีมือของกลุ่มนำ และความฉลาดรู้เท่าทันของผู้คนในขบวน ชัยชนะจึงจะเกิดขึ้นได้ 



.