http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-27

นางนากพระโขนง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นางนากพระโขนง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 30


ผีไทยนั้นไม่มีตัวตนเฉพาะเจาะจง (individuality) นะครับ เหมือนกับจิ้งจก, ตุ๊กแก หรือแมลงสาบ อย่างน้อยก็ไม่มีใครตั้งชื่อให้แก่สัตว์เหล่านี้
แม้แต่ผีเรือน ซึ่งว่ากันว่าเป็นผีบรรพบุรุษ ก็มิได้หมายถึงยายมา, ยายสุข หรือตากล่ำ คนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงพลังลี้ลับบางอย่าง ซึ่งคอยควบคุมกฎเกณฑ์ทางสังคมของครอบครัวหรือตระกูล 
ผีเจ้าที่ก็อย่างเดียวกัน คือพลังที่ปกป้องคุ้มครองอาณาบริเวณอันหนึ่ง (เช่น หมู่บ้าน) มีศาลตั้งอยู่ใกล้โขลนทวารทางเข้าหมู่บ้าน แต่ก็ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามโดยเฉพาะ และจึงไม่มีประวัติความเป็นมาว่าสืบเนื่องกับพระเจ้าองค์ไหน หรือเมื่อเป็นคนเคยทำอะไรไว้
(ผมเข้าใจว่าประวัติพระภูมิเจ้าที่ซึ่งมาเขียนตำรากันขึ้นในภายหลัง-ประมาณปลายอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์-ซึ่งเชื่อมโยงพระภูมิเจ้าที่กับเทวดาฮินดูบางองค์ และให้ชื่อเสียงเรียงนามไว้ทุกองค์ เป็นพัฒนาการรุ่นหลังเมื่อพวกผู้ดีในเมืองเริ่มตั้งศาลพระภูมิในเขตเรือนของตนเองแล้ว)

วัฒนธรรมไทยนั้นเต็มไปด้วยผีซึ่งรวมถึงผีที่เราเรียกว่าเทพารักษ์ด้วย ที่ไหนๆ ก็มีผีทั้งนั้น ในป่า, บนเขา, ต้นน้ำ, ปากน้ำ, ประตูเมือง, เมือง, ในบ้านเรือน, ไปจนแม้แต่วัดก็ยังมีผีคอยดูแลปกป้องอยู่ด้วย ยังไม่นับผีอีกชนิดที่เข้ามารบกวนเกี่ยวข้องกับคนเช่นผีโขมด, ผีกระสือ, ผีกระหัง, ผีนางแมว, ผีสากตำข้าว, ผีลิงลม ฯลฯ แต่ก็ล้วนเป็นผีที่ไม่มีตัวตนเฉพาะทั้งนั้น เป็นใครมาจากไหนก็ไม่ทราบ แต่มีอยู่ เหมือนสัตว์ตามธรรมชาติที่อยู่ร่วมโลกทั้งหลายล้วนมีอยู่ แต่เป็นใครมาจากไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน (ยกเว้นสัตว์เลี้ยง)  
ผมคิดว่า คนไทยมองผีเหมือนสัตว์ร่วมโลกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเราต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เหมือนสัตว์อื่นๆ ผีบางอย่างต้องล่ามไว้ด้วยอามิสนานาชนิด เพื่อคอยปกป้องดูแลเรา บางอย่างต้องข่มขู่ให้กลัว บางอย่างเอาไว้เล่นกัน แต่ไม่มีผีที่มีตัวตนเฉพาะของตนเอง เช่น แดร็กคิวล่า (ซึ่งมีประวัติว่าเป็นอัศวินเจ้าครองแคว้นที่เคยรบกับมุสลิม จนตัวตายอย่างทรมาน) หรือแฟรงเกนสไตน์
ทุกตนล้วนเป็นผีเฉยๆ เหมือนกับเสือสิงห์กระทิงแรดที่บังเอิญเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ในโลก



ผีที่มีตัวตนเฉพาะตนแรกในเมืองไทย ตามความเข้าใจของผมคือนางนากพระโขนง ซึ่งเป็นผีรุ่นบุกเบิก เปิดพื้นที่ให้ผีประเภทมีตัวตนเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ได้ตามมาอีกนับไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน 
ดังนั้น นางนากพระโขนงจึงเป็นประจักษ์พยานความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่สำคัญอันหนึ่งของไทย ผมจึงอยากรู้ว่า เรื่องนี้เริ่มเล่ากันแพร่หลายเมื่อไร และอยากเดาต่อว่าทำไมถึงเกิดในตอนนั้น

ท่านอาจารย์นิยะดา เหล่าสุนทร เขียนบทความลงในศิลปวัฒนธรรมฉบับล่าสุดนี้ เล่าการอ้างถึงนางนากในบทเสภาของครูแจ้ง 
นางนากของครูแจ้งนั้นมีตัวตนเฉพาะอย่างเด่นชัด คือเป็นหญิงชาว "บางพระโขนง" ตายทั้งกลม ลูกในครรภ์นั้นเป็นชาย ส่วนที่เป็นผีเที่ยวหลอกหลอนผู้คนแถบบางพระโขนงนั้น ครูแจ้งไม่ได้พูดถึง แต่เข้าใจว่าคงมีชื่อเสียงอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นครูแจ้งจะเอามาลงในท้องเรื่องขุนช้างขุนแผนไปทำไม 
ก่อนที่เรื่องของนางนากจะถูกแต่งเติมเสริมต่อในภายหลัง รายละเอียดชีวิตของนางนากเท่าที่จะพอหาได้ก็มีเพียงเท่านี้ 
ครูแจ้งมีชีวิตอยู่ระหว่างรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 เราไม่รู้ว่าท่านแต่งบทเสภาตอนนี้ขึ้นเมื่อไรแน่ แต่การที่บทเสภาจะนำเอาเรื่องที่ฮือฮากันในสมัยที่แต่งใส่ลงไปด้วยนั้น เป็นปรกติธรรมดา เหมือนใครแต่งเสภาในสมัยปัจจุบัน ไม่พูดถึงทักษิณและอำมาตย์เลย ก็ออกจะพิลึกอยู่


บทเสภาของครูแจ้งนี้ตรงกับหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง คือพระประวัติของสมเด็จกรมฯ พระยาดำรงราชานุภาพ ที่ตรัสเล่าไว้ในที่แห่งหนึ่ง ท่านเล่าว่าเมื่อทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้ทดลองทำ "วิจัยเชิงสำรวจ" แบบเล่นๆ ขึ้น โดยไปยืนที่ประตูวัดพระแก้ว แล้วถามคนเดินผ่านเข้าไปว่า รู้จักชื่อใครบ้าง ผู้ที่มีคนรู้จักมากที่สุดคือนางนากพระโขนง 
กะเวลาก็คงต้นรัชกาลที่ 5 หรืออย่างเก่งก็ปลายรัชกาลที่ 4 ที่เรื่องนางนากเป็นที่ฮือฮากันในกรุงเทพฯ ตรงกับที่บทเสภาครูแจ้งจะนำเข้ามาใส่ไว้พอดี  
แน่นอนว่าเรื่องนางนากที่ถูกแต่งเติมเสริมต่อในภายหลังนั้นย่อมไม่ตรงกับข้อสันนิษฐานนี้แน่ เช่นที่เล่าว่า "พี่มาก" ผัวนางนากถูกเกณฑ์ทหาร ต้องจากเมียสาวไปแต่ยังได้เสียกันไม่นานนั้น ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะในปลาย ร.4-ต้น ร.5 ยังไม่มี พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร จะเล่าว่าถูกเกณฑ์ไปรบในศึกเชียงตุงยังเข้าเค้ากว่า 
ผมชี้เรื่องนี้เพื่อบอกว่า เรื่องผีนางนากนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ผมไม่ยืนยัน แต่อยากจะยืนยันเรื่องเดียวว่า ความสำเหนียก (perception) ว่ามีผีตนหนึ่งที่เที่ยวอาละวาดหลอกหลอนผู้คน ชื่อนางนากพระโขนง ได้เกิดมีแล้วในสังคมกรุงเทพฯ (และใกล้เคียง?) ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างช้า

จากนั้น ผีที่มีตัวตนเฉพาะอย่างนางนากก็เริ่มแพร่หลายไปในที่ต่างๆ มากขึ้น เช่น ผีของบุญเพงหีบเหล็กและหญิงที่ถูกบุญเพงฆ่า อาละวาดอยู่แถววัดสุทัศน์
ผมควรกล่าวด้วยว่า ครูแจ้งเรียกผีนางนากว่า "พราย" คำนี้มีความหมายอย่างไรแน่ ผมก็ไม่ทราบ พจนานุกรมแปลว่าผีจำพวกหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าแตกต่างจากผีจำพวกอื่นอย่างไร หรือ "พราย" จะหมายถึงผีของบุคคลที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่ามี "พราย" อย่างนั้นมาก่อนนางนาก 

ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า เรื่องนางนากพระโขนงนั้นแพร่หลายในหมู่คนไทยกรุงเทพฯ และโดยรอบมาก่อนเป็นเวลานาน จะหาวรรณกรรมท้องถิ่นห่างไกลอื่นๆ ที่อ้างถึงนางนากในสมัยเดียวกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมปักษ์ใต้, ล้านนา หรืออีสาน 
ความเป็นผีกรุงเทพฯ ของนางนากทำให้ผมเข้าใจว่า ผีประเภทเดียวกันนี้ คือมีตัวตนเฉพาะ เช่น บุญเพงหีบเหล็ก ก็คงแพร่หลายเฉพาะในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงด้วยเหมือนกัน สะท้อนให้เห็นว่า ผีที่มีตัวตนเฉพาะเกิดขึ้นในบริเวณที่ถูกกระทบด้วยความเปลี่ยนแปลงมาก่อน แล้วจึงขยายไปยังส่วนอื่นในภายหลัง  
โดยเฉพาะเมื่อมีสื่อสมัยใหม่ เช่น สิ่งพิมพ์, วิทยุ, ทีวีและภาพยนตร์ ช่วยขยายให้กว้างไกลออกไป



ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้คนคิดถึงผี อย่างที่เหมือนเป็นบุคคลเฉพาะ มีบุคลิกภาพเฉพาะสำหรับผีแต่ละตน (เช่น นางนากก็ต้องยื่นมือให้ยาวจนสามารถเก็บสากที่ตกใต้ถุนได้ แต่ผีตนอื่นอาจมีบุคลิกภาพอีกอย่างหนึ่ง เช่น ชอบเดินหิ้วหัวตัวเอง) เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนมีสำนึกถึงความเป็นปัจเจกของตนเอง, ของคนอื่น, ของสถาบัน, ขององค์กรทางสังคม ฯลฯ มากขึ้น 

สำนึกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะอธิบายว่าเป็นอิทธิพลตะวันตกก็ได้ เพราะตะวันตกคิดอย่างนี้มานานแล้ว แต่ก็น่าประหลาดที่ว่าเหตุใดอิทธิพลตะวันตกจึงแพร่ขยายไปถึงระดับชาวบ้านได้รวดเร็วอย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่ของชาวบ้านในช่วงปลาย ร.4 ต้น ร.5 อาจไม่เคยเห็นฝรั่งตัวเป็นๆ เลยก็ได้ ไม่พักต้องพูดถึงอ่านหนังสือฝรั่งออกหรือไม่ คงมีปัจจัยภายในอะไรที่ช่วยเสริมสร้างสำนึกปัจเจกเช่นนี้ นอกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตะวันตกมากขึ้น 
ผมอยากเดาว่าตลาดครับ คนในกรุงเทพฯ และใกล้เคียงมีชีวิตที่เข้ามาสัมพันธ์กับตลาดมากขึ้น ตลาดคือสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างบุคคลกับบุคคลโดยตรง 
มนุษย์เราแลกเปลี่ยนสินค้ากันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องแลกเปลี่ยนกันในตลาดเสมอไป ส่วนใหญ่แล้วแลกเปลี่ยนกันผ่านพิธีกรรม โดยเฉพาะการ "ทำบุญ" ผ่านพ่อค้าเร่ซึ่งนานๆ จึงจะเข้ามาสักที ผ่านพ่อค้าทางไกลเช่นนายฮ้อย ซึ่งทำให้ไม่ได้เห็นหน้าค่าตาผู้ซื้อเลย เป็นต้น 
แต่แลกเปลี่ยนกันในตลาดไม่ใช่อย่างนั้น มีการพบปะหน้าตาและต่อรองกันอย่างบุคคลต่อบุคคล หากต้องทำบ่อยๆ มากขึ้น ก็ทำให้สำนึกที่มีต่อสังคมรอบข้างเปลี่ยนไป จากสิ่งที่เป็นนามธรรมไม่มีตัวตนกลายเป็นรูปธรรมที่มีบุคคลที่เห็นหน้าเห็นตากันได้ มีตัวเราและมีตัวเขาชัดเจนขึ้น


ผมขอยกตัวอย่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสมัยอยุธยา คงมีคนไทยน้อยคนมากที่เคยเห็นแม้แต่บางส่วนขององค์พระมหากษัตริย์ เพราะท่านไม่ให้เห็น พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่อยู่พ้นออกไปจากชีวิตของไพร่ฟ้า เป็นอำนาจเบื้องบนที่ใครๆ ก็สัมผัสไม่ถึง
แต่เมื่อสำนึกปัจเจกขยายตัวในกรุงเทพฯ มากขึ้น ร.4 ก็โปรดให้ยกเลิกธรรมเนียมปิดบ้านปิดช่องเมื่อมีขบวนเสด็จผ่าน หรือยิงกระสุนเข้าตาผู้ลักลอบชมขบวนเสด็จ พระองค์กลายเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งที่คนอื่นอาจมองเห็นได้ กษัตริย์กลายเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ เป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษ ยิ่งมาถึงต้น ร.5 มีการถ่ายรูป และซื้อขายแลกเปลี่ยนพระบรมรูป รวมทั้งพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ลงบนเหรียญกษาปณ์ และแสตมป์ ใครๆ ก็เคยเห็นพระมหากษัตริย์อย่างมนุษย์ทุกคน 
นี่เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนโลกทรรศน์จากสถาบันที่เป็นนามธรรมกลายเป็นรูปธรรม และความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผีไทยเปลี่ยนไปเป็นผีที่มีตัวตนเฉพาะขึ้น จนเกิดผีอย่างนางนากพระโขนง และผีอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

กระบวนการเปลี่ยนผีที่เป็นนามธรรมมาสู่ผีที่เป็นรูปธรรม ยังดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ผีมเหสักข์ซึ่งแต่เดิมหมายถึงผีเจ้าเมืองคนแรก (และคนแรกๆ) ที่ตั้งชุมชนเมืองขึ้น บัดนี้ก็กลายเป็นอนุสาวรีย์ของบุคคล ที่ต้องทำพิธีกราบไหว้บูชาประจำปีกันในหลายจังหวัด บางตนก็เฮี้ยนในด้านต่างๆ ที่เป็นการเฉพาะ เช่น เหมาะจะบนบานศาลกล่าวในเรื่องบางอย่าง 
ฮวงซุ้ยของคอซู้เจียงในเมืองระนอง กลายเป็นศาลเจ้าประจำเมืองไปแล้ว เป็นต้น

หอผีบ้านในชุมชนอีกหลายแห่ง ซึ่งแต่เดิมไม่มีรูปอะไร ตั้งเป็นศาลไว้เฉยๆ บัดนี้ก็มีที่นอนหมอนมุ้ง และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เหมือนผีเป็นคน บางแห่งปั้นรูปขนาดใหญ่ขึ้น (มักทำเป็นรูปตา-ยาย) แล้วแต่งประวัติของสองสามีภรรยาซึ่งเป็นผู้ตั้งชุมชนไว้ให้เสร็จ

ความเป็นบุคคลหรือความเป็นตัวตนนั้น ในแง่หนึ่งก็ดีเพราะเฮี้ยนหนักขึ้น ผู้คนทั้งกลัวทั้งรัก แต่ความเป็นสถาบันก็สำคัญ เพราะถ้าอยากให้อยู่ยั่งยืนยาวนานต่อไปในอนาคตได้ บุคคลก็ต้องมีความสำคัญน้อยลง แต่ต้องให้ความเป็นสถาบันเด่นกว่า เพราะสถาบันนั้นถูกล้มยากกว่าบุคคลแยะ 



.