.
โพสต์เพิ่มภายหลัง -
หวาดเสียว
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ภาพจำ
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 24
วันก่อนนั่งคุยกับ "กร" ของ "เวิร์คพ้อยท์" เรื่องสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "เวิร์คพ้อยท์ทีวี"
เขาเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ประมาณ 2 เดือน
ตอนนี้โฆษณาแน่นมาก
และตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป "เวิร์คพ้อยท์ทีวี" เริ่มมีกำไร
กลยุทธ์หนึ่งที่ "กร" เล่าให้ฟังก็คือ การสร้าง "ภาพจำ" ของสถานีขึ้นมา
เขายอมผลิตรายการ "นักประดิษฐ์พันล้าน" ขึ้นมาใหม่ให้ "ปัญญา นิรันดร์กุล" เป็นพิธีกร
เพราะ "ปัญญา" คือ "ภาพจำ" ของ "เวิร์คพ้อยท์"
ทำให้คนดูรู้ว่า "เวิร์คพ้อยท์ทีวี" ไม่ได้มีแต่รายการเก่า แต่ผลิตรายการใหม่ด้วย
นอกจากนั้นยังมีรายการใหม่จากพันธมิตรอื่นๆ และที่ซื้อมาจากต่างประเทศ
"ภาพจำ" เป็นกลยุทธ์ที่ "เวิร์คพ้อยท์" ใช้ในการผลิตรายการ
ทุกรายการต้องมี "ภาพจำ"
ไม่ว่าการชี้นิ้ว คำพูด เสียงดนตรี หรือภาพที่ปรากฏในรายการ
ทุกรายการล้วนมี "ภาพจำ" ทั้งสิ้น
ลองนึกดูสิครับ
"ถูกต้องนะคร้าบ" ใน "แฟนพันธุ์แท้"
เสียงกลองใน "เกมทศกัณฐ์"
หรือแก๊งสามช่า ใน "ชิงร้อยชิงล้าน"
เรื่อง "ภาพจำ" นั้นเป็นการเล่นกับความทรงจำของคน
เวลาพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทุกคนจะมี "ภาพจำ"
เช่น ถ้าพูดถึงร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
"ภาพจำ" ของ "เซเว่น อีเลฟเว่น" คือขายสินค้า 24 ชั่วโมง
มีของจำเป็นในชีวิต อยากได้อะไรไปที่นี่ต้องมี
หรือคำพูดเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าอื่น
"รับขนมจีบ ซาลาเปาเพิ่มไหมคะ"
แต่ "ภาพจำ" บางทีก็มีพัฒนาการ อย่างล่าสุดน้องคนหนึ่งถ่ายรูปหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มาโพสต์ในเฟซบุ๊กแล้วบอกว่า "ร้านนี้ของปลอม"
เพราะหน้าร้านโล่งมาก
ไม่มีร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยว
และ...ไม่มีสุนัขนอนตากแอร์อยู่หน้าประตู
ถ้าอ่านแล้วยิ้ม แสดงว่าทุกคนมี "ภาพจำ" ใหม่คล้ายกัน
สัปดาห์ที่แล้ว ผมเพิ่งกลับไปเมืองจันท์แบบ "บ่ายไป-ดึกกลับ"
ไปงานแต่งงานเพื่อนครับ
ตอนที่ "หงิม" โทรศัพท์มาบอกเมื่อเดือนก่อน เสียงของเพื่อนเขินมาก
"เฮ้ย เดือนหน้าไปงานกูหน่อย"
"งานอะไร" ผมถาม
พอ "หงิม" บอกว่างานแต่งงานของตัวเอง
"เฮ้ย"
เสียงที่ผ่านโทรศัพท์ของผมเป็นเสียงเดียวกับเพื่อนทุกคนที่ได้ข่าว
ครับ ขนาดก่อนวันแต่งงาน 1 วัน "วันชัย" ยังโทร.ไปหา "ทนายนุ" ถามย้ำว่าพรุ่งนี้ "หงิม" แต่งงานจริงหรือเปล่า
กลัวถูก "หงิม" อำ
งานแต่งครั้งแรกของ "หงิม" ผมไม่ได้ไปร่วมงาน เมื่อเพื่อนให้โอกาสอีกครั้ง ผมจึงพลาดไม่ได้
วันนั้น เป็นวันแรกที่ผมรู้ว่าชื่อเล่นจริงๆ ของ "หงิม" ชื่อ "น้อง"
เพราะตั้งแต่รู้จักกันมาก็เรียกว่า "หงิม" มาตลอด
เป็นธรรมดาของเด็กผู้ชาย ที่เรามักมีชื่อเล่นที่ไม่ตรงกับชื่อเล่นจริงเสมอ
ส่วนใหญ่จะสถาปนาชื่อพ่อมาเป็นชื่อเล่นของเรา
หรือไม่ก็ถูกตั้งชื่อเล่นใหม่ตามบุคลิกของเพื่อน
"หงิม" มาจากเหตุผลหลัง
"กนก" เพิ่งเปิดตัวในวันงานว่าเป็นคนตั้งชื่อนี้
ผมยกนิ้วให้เพื่อน ช่างเป็นคนที่ครีเอทีฟจริงๆ
"หงิม" เป็นคนขี้อาย ถึงเวลายิงมุขก็จะยิงแบบหน้าตายๆ
เป็น "ภาพจำ" ของเพื่อนๆ
หน้าตาของ "หงิม" เข้ากับชื่อมาก ชนิดถ้าเรียกชื่อแล้วใครหันไปเจอ
จะยอมรับเลยว่าไม่ได้โฆษณาเกินจริง
ในวันงาน เรื่องที่เพื่อนอยากรู้มากที่สุดคือไปรู้จักกับ "น้อย" แฟนคนนี้ได้อย่างไร
เพราะหงิม-หงิมแบบนี้ แค่คิดจีบสาว เพื่อนๆ ก็นึกไม่ออกแล้ว
ใครจะนึกว่า "หงิม" จะจีบติดถึง 2 คน
"ทนายนุ" เป็นคนเปิดโปงตำนานรักครั้งใหม่ของ "หงิม"
ลีลาการเล่าแบบทนายย่อมไม่ธรรมดา
"น้อย" เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์กับ "ติ๊ก" เพื่อนของ "หงิม" สมัยนักเรียน
เวลาเพื่อนสาวนั่งคุยกัน "ติ๊ก" ก็จะคุยเรื่องเพื่อนๆ กับ "น้อย"
และหนึ่งในตัวละครคือ "หงิม"
คุยถึงเพื่อนตั้งหลายคน แต่มีคนเดียวที่โดดเด่นติดหู "น้อย" คือ "หงิม"
ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร แต่ต้องไม่ธรรมดา เพราะถึงขั้น "น้อย" อยากเห็นตัว "หงิม" ตัวเป็นๆ
"ติ๊ก" ก็นัด "หงิม" มาคุยด้วย
บุคลิกทุกอย่างเป็นไปตามที่เพื่อนเล่า "น้อย" ประทับใจ "หงิม" มาก
จากวันนั้น "หงิม" ก็โชว์ลีลาที่เพื่อนๆ วาดภาพไม่ออก
แต่ "หนก" ที่รู้จักเพื่อนผู้หญิงของ "หงิม" ยืนยันว่าลูกหยอดของ "หงิม" ไม่ธรรมดา
หยอดแบบหน้าตายๆ แต่ทำสาวๆ เขินได้
ทุกเย็น "หงิม" จะขี่มอเตอร์ไซค์จากสวนที่กระทิง เข้าตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร รับสาว "น้อย" จากโรงเรียนไปส่งที่มะขามซึ่งอยู่อีกฟากเมืองประมาณ 12 กิโลฯ
จากนั้นก็ขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน 32 กิโลฯ
ไม่รู้นานเท่าไร แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยงานแต่งงาน
ฟังเรื่องราวแล้วทุกคนลงมติเลยว่า "หงิม" ไม่ธรรมดา
"ภาพจำ" วันก่อนมาใช้กับวันนี้ไม่ได้แล้ว
งานแต่งของ "หงิม" จัดแบบง่ายๆ เหมือนการเลี้ยงรุ่น ไม่มีพิธีรีตองอะไร ทักทายถ่ายรูปกับคู่บ่าวสารที่อยู่ในชุดคาวบอย
จากนั้นเพื่อนแต่ละกลุ่มที่ไม่เจอกันนานก็นั่งคุยกันสนุกสนาน
พักใหญ่เสียงดนตรีจากเครื่องคาราโอเกะก็เบาลง มีการเชิญ "หงิม" และเจ้าสาวไปด้านหน้า
พิธีการก็ไม่มีอะไร แค่ให้เจ้าสาวกับเจ้าบ่าวกล่าวอะไรกับแขกที่มาในงานเล็กน้อย
"น้อย" เจ้าสาวเกริ่นนิดหน่อยแล้วกล่าวขอบคุณ
พูดจบก็ยื่นไมโครโฟนมาให้ "หงิม"
"หงิม" สะดุ้งโหยง โดดหนีมาที่โต๊ะของพวกผมทันที
ก้มตัวแอบอยู่หลังเพื่อน แล้วโบกมือไม่ยอมพูด
"กูอาย"
เพื่อนหัวเราะกันลั่น ดัน "หงิม" ให้ขึ้นไป
"แค่ขอบคุณเท่านั้นเอง"
ดันอยู่ 2-3 ครั้ง "หงิม" ก็เดินไปหา "ไมโครโฟน" แบบกลัว
"ขอบคุณครับ"
พูดจบก็โดดลงทันที คราวนี้นั่งเก้าอี้ร่วมโต๊ะกับเพื่อนเลย
เหมือนเป็นการประกาศว่าจบงานพิธีการแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ขึ้นไปบนเวทีอีก
"กูไม่เคยทำอะไรเป็นทางการอย่างนี้มาก่อนเลย" หงิมพูดเสียงสั้นๆ ก่อนย้ำคำเดิม
"กูอาย"
"ภาพจำ" ของ "หงิม" ที่กำลังเปลี่ยนไปในความทรงจำของผมกลับมาเหมือนเดิม
"หงิม" ยังคงเป็น "หงิม" คนเดิม
++
สรกล อดุลยานนท์ : ผีอี “แพง”
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:59:59 น.
เห็นด้วยกับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อย่างยิ่ง
รัฐบาลไม่ควรแก้ปัญหา "ของแพง" ด้วยการตะโกนเถียงว่า "ของไม่แพง"
เพราะเรื่องนี้คนเดินตลาดที่เดินดินกินข้าวแกงทุกคนรู้ดีกว่าใครว่าของแพงขึ้นจริงหรือไม่
ยิ่งปล่อยให้กรมการค้าภายในแถลงข่าวว่าสินค้าแต่ละตัวราคาเท่าไร แต่พอออกมาเดินตลาดปรากฏว่าสินค้าเหล่านั้นกลับมีราคาสูงกว่าที่แถลงข่าว
แบบนี้ก็เรียบร้อยเรื่องความน่าเชื่อถือสิครับ
เรื่อง "ของแพง" ยอมรับเถอะว่า "แพงขึ้น"
แต่ "แพง" เท่าไร "แพง" แค่ไหน
เรื่องนี้เถียงกันได้
เพราะเป็นความจริงว่าเวลาเราบ่นนั้นบางทีเรามักจะบ่นเกินความเป็นจริง
เหมือนเรื่องความร้อนเดือนเมษายนที่คนกรุงบ่นว่าร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงก็คือปี 2523 ร้อนที่สุด และอีกหลายปีที่ร้อนพอๆ กับปีนี้
เหมือนเรื่อง "ของแพง"
เมื่อค่าแรงเพิ่ม ราคาน้ำมันเพิ่ม ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นก็ต้องขายแพงขึ้น เป็นกลไกตลาดปกติ
แต่แพงขึ้นมากแค่ไหนต่างหากที่ต้องหา "ข้อเท็จจริง" มาพิสูจน์กัน
และที่สำคัญกว่านั้นก็คือต้องดูว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นนั้นเมื่อเทียบกับ "รายรับ" ที่เพิ่มขึ้นแล้ว
อะไรมากกว่ากัน
บัญชีมี 2 ด้านครับ
มีทั้ง "รายรับ" และ "รายจ่าย"
ในขณะที่ "ค่าแรงขั้นต่ำ" เป็นต้นทุนหนึ่งที่ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น
"ค่าแรงขั้นต่ำ" ก็ทำให้ผู้ใช้แรงงานในเมืองกรุงมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 215 บาท เป็น 300 บาท
หรือประมาณ 40%
ข้าราชการมี "รายรับ" ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 15,000 บาท
เมื่อเทียบเงินที่เพิ่มขึ้นต่อวันของผู้ใช้แรงงานคือ 85 บาท กับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารจานเดียวที่เพิ่มขึ้นจานละ 5-10 บาท ค่าเดินทางที่กำลังจะเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
"รายจ่าย" ทั้งหมดรวมกันแล้ว "มากกว่า" หรือ "น้อยกว่า" วันละ 85 บาท
ประเด็นนี้ต่างหากที่ต้องให้ความสำคัญ
ต้องดูบัญชีให้ครบทั้ง 2 ด้าน
ถ้า "รายรับ" มากกว่า "รายจ่าย" เมื่อไร เรื่อง "ของแพง" ก็ไม่ใช่ปัญหา
ปัญหาจะเกิดก็เมื่อ "รายรับ" เพิ่ม แต่ "รายจ่าย" เพิ่มมากกว่า
เรื่องนี้ใช้ "ความรู้สึก" ไม่ได้ ต้องใช้ "ข้อเท็จจริง" อย่างเดียว
และเราไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาตอบหรอกครับ
ลองทำบัญชีเล่นๆ ดูก็รู้แล้วว่า "รับ" มากกว่า "จ่าย"
หรือ "จ่าย" มากกว่า "รับ"
ก่อนจะสรุปว่าที่บอกว่า "แพง" นั้น
มันเป็นแค่ "ผีอีแพง" ที่อยู่ในละครโทรทัศน์
หรือเป็น "เรื่องจริง"
+++
โพสต์เพิ่มภายหลัง
หวาดเสียว
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
จาก คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:30:13 น.
การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แม้ดูจะคลายๆ ลงบ้าง
แต่ก็ยังเข้มข้น
จึงไม่น่าแปลกใจกับ "ปฏิกิริยา" ที่เกิดขึ้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "ขยายผล" การได้วีซ่าเข้าอังกฤษให้อึกทึกครึกโครม ด้วยการเข้าไปชมฟุตบอล ชี้ชะตาแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ
ระหว่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่อยู่ในความสนใจของคนไทยจำนวนมาก
โดยหวังให้ความสนใจดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อตนเองด้วย
เป็นประโยชน์ที่จะได้ประกาศกลายๆ ว่า ขณะนี้มหาอำนาจของโลก
ทั้งจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ได้เปิดแขนต้อนรับตนเองแล้ว และในเร็วๆ นี้จะเดินทางไปสหรัฐด้วย
เมื่อโลกเปิดพื้นที่ให้เช่นนี้แล้ว คำถามก็จะย้อนกลับมาเมืองไทยว่า จะทำอย่างไร
นี่คือสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณหวังจะสื่อ และก็ทำได้อย่างที่เห็น เมื่อสื่อทั้งไทยและต่างประเทศนำเสนอ "การไปอังกฤษ"ของ พ.ต.ท.ทักษิณค่อนข้างคึกคัก
กระนั้น ก็ใช่จะมีแต่ความราบรื่น เพราะทันทีที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร เปิดประเด็นผ่านเฟซบุ๊ก ว่า "พ่อ" ต้องซื้อตั๋วผีเข้าไปดูบอลคู่ดังกล่าว เพราะตั๋วเต็ม
ก็เหมือนเขี่ยลูกเข้าใส่เท้าของฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ทันที
"ตั๋วผี" ที่ถือเป็นเรื่อง "นอกกฎหมาย" ก็กลายเป็นประเด็นร้อนที่สาดเข้าใส่ พ.ต.ท.ทักษิณ ฐานสนับสนุนสิ่ง"นอกกฎหมาย" ที่ทั้งในและนอกประเทศ "รังเกียจ"
และยังเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ด้วยเช่นกันว่า สำหรับ "คนที่หนีคดีความ" คงคุ้นเคยกับเรื่อง "นอกกฎหมาย" เช่นนี้
นี่เอง ที่ทำให้นายพานทองแท้ต้องออกมาแก้ในเฟซบุ๊กในวันถัดมาว่ามีคนจัดหาตั๋วให้พ่อแล้ว เลยไม่ต้องซื้อตั๋วผี
ประเด็นที่ทำท่าจะเผ็ดร้อนก็เลยคลายๆ ลง
แต่ก็คงเป็นบทเรียนซ้ำๆ สำหรับ "ฝ่ายทักษิณ" ที่จะต้องตระหนักว่า ในบรรยากาศแห่งการแบ่งฝ่ายที่ยังเข้มข้น
เรื่องต่างๆ สามารถเป็นประเด็นใหญ่โตได้เสมอ
นี่ยังดีเป็นเพียงแค่เรื่อง "ตั๋วผี"
ที่น่าจับตามองและเป็นเรื่องใหญ่ตอนนี้
นั่นก็คือเรื่อง "ของแพง"
ของแพงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่าเป็นทั้งเรื่อง
ข้อเท็จจริง และเป็นความรู้สึก นั่นแหละ
เรื่องนี้ละเอียดอ่อน และกำลังท้าทายฝีมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างมาก
ถ้าหากเขี่ยลูกใส่เท้าฝ่ายตรงข้ามดังกรณี "ตั๋วผี" รับรองไม่จบง่ายๆ
ซึ่งตอนนี้ก็ปรากฏให้เห็นแล้ว นั่นคือ คำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ว่าเรื่องของแพงเป็นเรื่องความรู้สึก ได้ถูกขยายและตีความไปในทางที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์โยนเรื่องของแพงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกไปเอง
เมื่อ "ทาง" แห่งการขยายความไปในแนวนี้ "เหนื่อย" แน่ๆ
เพราะด้านหนึ่งก็มี "ข้อเท็จจริง" หลายอย่างยืนยันเรื่องของที่แพงขึ้นจริง
อีกด้านหนึ่งก็มีป้ายทางการเมือง "แพงทั้งแผ่นดิน" คอยขยายความ
กลายเป็นทั้งเรื่องข้อเท็จจริงและความรู้สึกผสมกัน
ซึ่งถือเป็นงานหนักหนาสากรรจ์ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพิสูจน์ทั้ง "ฝีปากและฝีมือ" แก้ให้ตกโดยเร็ว
ไม่เช่นนั้น หวาดเสียวแทน
หวาดเสียวทั้งเรื่องข้อเท็จจริง ที่สินค้าบางส่วนแพงขึ้น
หวาดเสียวทั้งเรื่องความรู้สึก ที่ฝ่ายตรงข้ามร่วมขยายความหนักหน่วงแน่
เมื่อคนเชื่อไปแล้วว่าแพง อธิบายอย่างไร ก็ไม่ได้ยิน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย