http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-23

นพมาส: FLOWERS OF WAR “ความโหดร้ายที่นานกิง”, +“การจองเวร” IN A BETTER WORLD

.

FLOWERS OF WAR “ความโหดร้ายที่นานกิง”
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 87


กำกับการแสดง Zhang Yimou
นำแสดง Christian Bale
Ni Ni
Zhang Xinji 
Atsuro Watabe


Flowers of War เป็นหนังเรื่องล่าสุดของจางอี้โหมว ผู้กำกับฯ ผู้ยิ่งใหญ่ชาวจีน ที่เคยสร้างผลงานตระการตาสำหรับพิธีเปิดและปิดกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว หลังจากมีผลงานกำกับหนังเรื่องเด่นๆ มากมาย อาทิเช่น Raise the Red Lantern, Hero และ House of the Flying Daggers
นอกจากนั้น หนังเรื่องนี้ยังเป็นตัวแทนภาพยนตร์จากประเทศจีนที่ส่งเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศในปีที่ผ่านมา และเป็นหนังที่จีนออกทุนสร้างและใช้ดาราระดับแถวหน้าของฮอลลีวู้ดนำแสดง

ข่าวว่า สตีเฟน สปีลเบิร์ก เป็นคนแนะนำ คริสเตียน เบล (Batman Begins, The Dark Knight และ The Fighter) สำหรับบทนำในหนังเรื่องนี้

ตอนยังเป็นเด็กชายอายุสิบสองสิบสามขวบ คริสเตียน เบล ได้แจ้งเกิดในหนังของสปีลเบิร์ก เรื่อง Empire of the Sun เกี่ยวกับชีวิตของเด็กชายชาวตะวันตกที่พลัดหลงกับพ่อแม่และต้องติดอยู่ในค่ายกักกันอันลำบากยากแค้นที่เมืองจีน และต้องเรียนรู้ภาษาจีนในการสื่อสารด้วย

มาคราวนี้ เขาเล่นเป็น จอห์น มิลเลอร์ สัปเหร่อชาวอเมริกันที่ถูกเรียกตัวไปทำศพบาทหลวงที่โบสถ์คาทอลิกในเมืองนานกิง

ขณะนั้นเป็น ค.ศ.1937 อยู่ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดเมืองนานกิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนอยู่ตอนนั้น กว่าที่ จอห์น มิลเลอร์ จะเดินทางไปถึงโบสถ์วินเชสเตอร์ ก็ต้องฝ่าแนวรบระหว่างทหารญี่ปุ่นผู้รุกรานและทหารจีนผู้รักษาเมือง จนกระทั่งมิลเลอร์ได้เจอเด็กหญิงสองคนจากคอนแวนต์ที่โบสถ์นั้น และเดินทางไปจนถึงอาณาเขตของโบสถ์

เรื่องราวทั้งหมดเล่าจากเด็กหญิงชาวจีนชื่อชูจวน (จาง ชิงจี) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเด็กผู้หญิงที่ตกค้างอยู่ในนานกิงที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ารุกราน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ตอนนี้ ถูกบันทึกให้ชาวโลกจดจำไว้ในวลีว่า The Rape of Nanking หรือการข่มขืนที่นานกิง ว่ากันว่า ในตอนที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานเมืองนานกิงนี้ ชาวจีนถูกฆ่าตายไปราวสองถึงสามแสนคน และผู้หญิงจีนถูกข่มขืนกระทำชำเราถึงสองหมื่นคน

นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงและความอัปยศครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ



Flowers of War สร้างจากหนังสือที่เขียนเล่าเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนครั้งนี้ เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือให้รอดจากภัยสงคราม

เมื่อตอนที่ จอห์น มิลเลอร์ เดินทางมาถึงโบสถ์คาทอลิกแห่งนี้ เขายังเป็นเพียงสัปเหร่อที่เห็นแก่อามิสสินจ้าง ขี้เมาหยำเป เสเพลและนึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ เมื่อเขามาพบว่าบาทหลวงที่เขารับจ้างมาทำศพนั้น ไม่มีศพเหลือจะให้ทำพิธีแล้ว เพราะร่างถูกระเบิดแหลกเหลวไปหมด

ทั้งโบสถ์เหลืออยู่แต่เพียงเด็กหญิงสิบกว่าคนและเด็กชายคนหนึ่งที่รับผิดชอบดูแลอยู่
จากนั้น ก็มีหญิงสาวสิบกว่าคนจากย่านโคมแดงหอบข้าวหอบของหนีสงครามเข้ามาอาศัยอยู่ในห้องใต้ดิน
เด็กสาวเหล่านี้ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสงคราม ณ ที่ซึ่งผู้ชนะถืออำนาจบาตรใหญ่รังแกฝ่ายที่อ่อนแอกว่า

แรกทีเดียว ผู้ที่ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยให้แด่เด็กๆ เหล่านี้คือพันโทหลี่ ซึ่งไม่ยอมหนีไปไหน และยอมแลกชีวิตกับทหารญี่ปุ่นที่กระทำย่ำยีต่อลูกหลานชาวจีน 
แต่ต่อมาชะตากรรมของเด็กสาวกลุ่มนี้ก็เจอกับความยุ่งยากครั้งใหม่ และพวกเธอก็ได้ผู้พิทักษ์คนอื่นๆ อีก

ถ้าจะว่าไปแล้ว หนังก็มีส่วนคล้ายกับเรื่อง Schindler"s List ของสปีลเบิร์ก ที่เป็นเรื่องของชาวเยอรมันที่คอยช่วยเหลือชาวยิวกลุ่มหนึ่งให้รอดพ้นจากพวกนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง
ดังคำที่กล่าวกันว่า สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ วีรบุรุษแห่งนานกิงในเรื่องนี้ก็ไม่ได้เริ่มด้วยความกล้าหาญเยี่ยงวีรบุรุษแต่ต้นเรื่อง ทว่า สถานการณ์ที่ทำให้เขาได้สวมเสื้อผ้าของบาทหลวง ได้สร้างให้เขากลายเป็นตัวบาทหลวงที่มีหน้าที่ปกป้องเด็กพวกนี้เอง โดยไม่อาจดูดาย เอาตัวรอด ทิ้งพวกเธอไว้กับชะตากรรมอันโหดร้ายได้

นอกจากนั้น หนังก็ยังเป็นเรื่องของความเสียสละของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ดังที่หนังนำมาใช้เป็นชื่อเรื่องว่า "ดอกไม้แห่งสงคราม"



ในอดีต จางอี้โหมวเคยสร้างนางเอกดังๆ ให้แก่วงการภาพยนตร์มาแล้ว คือ กงลี่ และจางซียี่ จนกลายเป็นดาวค้างฟ้ามาถึงปัจจุบัน ส่วนในหนังเรื่องนี้ เขาก็สร้างดาวเด่นดวงใหม่ให้แก่สาวจีนหน้าสวยใส หนี่นี่ ซึ่งสวยจับตาน่าดูไม่แพ้กงลี่และจางซียี่

หลังๆ มานี้ จางอี้โหมวไม่ยอมทำหนังทุนต่ำอีกแล้ว ด้วยความที่เขากลายเป็น "พระเจ้า" ในสายตาของคนจีน สำหรับ Flowers of War ก็ทุ่มงบไปถึง 90 ล้าน และใช้เวลาถ่ายทำนานหลายเดือน

เรื่องราวของการเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ของตน เป็นเรื่องราวของความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ตราตรึงและน่าประทับใจไม่รู้ลืม
ดอกไม้แห่งสงครามน่าจะงอกงามแบ่งบานอยู่ในใจของคนดูไปอีกนาน



++++

คอลัมน์ ภาพยนตร์ ของปีที่แล้ว 2554..นำเสนอบนพื้นฐาน กระบวนการทำความจริงหลายด้านให้แจ้งใจต่อทุกฝ่ายเพื่อการไม่จองเวร

IN A BETTER WORLD “การจองเวร”
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์ 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1600 หน้า 87


กำกับการแสดง Susanne Bier
นำแสดง Mikael Persbrandt
William Johnuk Nielsen
Ulrich Thomsen
Markus Rygaard



หนังดีที่ไม่ควรพลาดอีกเรื่องที่กำลังเข้าฉายอยู่ในช่วงนี้ คือ In a Better World ซึ่งกำกับการแสดงโดย ซูซาน เบียร์

เป็นหนังจากเดนมาร์กที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของปีที่ผ่านมา จากสองสถาบันยักษ์ใหญ่ในวงการภาพยนตร์ นั่นคือทั้งอะคาเดมี (ออสการ์) และลูกโลกทองคำ 
ซูซาน เบียร์ ชอบทำหนังดรามาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในสถานการณ์ลำบากของมนุษย์ เคยดูหนังเรื่อง Brothers ที่เธอกำกับฯ ซึ่งแสดงให้เห็นพี่น้องที่แตกต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ถูกสงครามโยนเข้ามาพัวพันในชีวิตของผู้หญิงคนเดียวกัน
กลายเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และยากจะหาจุดลงเอย


In a Better World พูดถึงสองครอบครัวที่มีลูกชายวัยเดียวกันที่กำลังประสบปัญหาการสูญเสียครั้งสำคัญในชีวิต
แอนทัน (ไมเคิล เพอร์สแบรนต์) เป็นหมออาสาที่ทำงานในโลกที่สาม ในค่ายอพยพของแอฟริกา แอนทันมีลูกชายวัยสิบขวบชื่อเอลิอัส (มาร์คัส ริกกอร์ด) และกำลังแยกทางกันอยู่กับภรรยา
เอลิอัสถูกเด็กเกกมะเหรกที่โรงเรียนรุมแกล้ง รังแก และล้อเลียนเป็นประจำ และไม่มีเพื่อนเลยสักคนที่โรงเรียน
เคลาส์ (อุลริก ทอมเซน) เพิ่งสูญเสียภรรยาที่ทนทุกข์ทรมานอยู่นานกับโรคมะเร็ง และย้ายกลับจากอังกฤษมาอยู่เดนมาร์ก พร้อมกับลูกชาย คริสเตียน (วิลเลียม โยนัก นีลเซน) 

คริสเตียนโกรธแค้นชิงชังพ่อที่ช่วยแม่ไม่ได้ และโทษว่าเป็นเพราะพ่อยอมปล่อยให้แม่ไปง่ายๆ เพราะอยากให้แม่ตายพ้นๆ ไป 
ที่โรงเรียน คริสเตียนเห็นเอลิอัสถูกกลั่นแกล้งจากเด็กอื่น เขาทนไม่ได้ และตอบโต้แทนอย่างรุนแรงด้วยการใช้อาวุธอันตรายคุกคาม
ในขณะที่เอลิอัสถูกสั่งสอนมาว่า "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" โดยระงับการตอบโต้ต่อผู้ที่ข่มเหงเขา จากตัวอย่างของพ่อผู้ทรงคุณธรรมที่ยอมให้ชายแปลกหน้าที่เข้ามาหาเรื่องกับเขาตบหน้าโดยไม่โต้ตอบ 

หนังของ ซูซาน เบียร์ เป็นการศึกษาตัวละครโดยในเรื่องนี้ชูประเด็นทัศนะการมองความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นี้ และการตอบโต้ ซึ่งไม่เพียงแต่ยุติเรื่องในตัวมันเอง แต่ยังมีผลร้ายที่คาดเดาไม่ได้ที่อาจตามมา
ดังนั้น เมื่อคริสเตียนไม่ยอมตกเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำฝ่ายเดียวโดยไม่แสดงการตอบโต้ การกระทำของเขาก็ส่งร้ายที่ตามต่อมาอย่างเหนือการคาดเดา
เป็นเรื่องการวางระเบิดเพื่อแก้แค้นต่อผู้ที่สร้างความแค้นให้ อย่างที่เราเคยพบเห็นในข่าวทั่วโลกเสียด้วย

เราเห็นวงจรอุบาทว์ของการจองเวรหรือการเรียกคืน จากตรรกะหลายด้าน ด้านหนึ่งก็คือ ความพยายามในการยุติการตกเป็นเหยื่อตลอดกาล
เพราะผู้อ่อนแอกว่าย่อมถูกข่มเหงโดยผู้ที่แข็งแรงกว่าที่ไร้คุณธรรม 
แต่ในขณะเดียวกัน วงจรอุบาทว์นี้ก็จะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด หากมนุษย์เรายังไม่ศิวิไลซ์พอจะยุติการใช้ความรุนแรงตอบโต้และจองเวรจองล้างจองผลาญกันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

ประเด็นของหนังในลักษณะนี้เด่นชัดขึ้นด้วยการทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยในแอฟริกาของแอนทอน เมื่อวันหนึ่งมีรถจี๊บติดอาวุธบรรทุกร่างทรราชโหดที่บาดเจ็บสาหัสเข้ามา ทุกคนในค่ายต่างคัดค้านกับการที่หมอแอนทอนจะให้การรักษาแก่บุคคลจอมโหดที่สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากให้แก่พวกเขาและญาติพี่น้องของเขา
แต่คุณธรรมในตัวแอนทอนก็ยังไม่ยอมให้เขาทอดทิ้งคนป่วยโดยไม่ให้การรักษาพยาบาลตามหน้าที่



เมื่อดูหนังแล้ว เชื่อว่าคำถามที่เกิดขึ้นในใจของทุกคนและคำตอบที่ได้ก็คงจะแตกต่างกันไป คือว่าเราจะทนรับความอยุติธรรมโดยไม่ตอบโต้ได้ไกลแค่ไหน และเมื่อใดที่ควรระงับเวรด้วยการไม่จองเวร หรือว่าการไม่ตอบโต้นั้นจะยิ่งทำให้ผู้ข่มเหงได้ใจใหญ่และยิ่งเหิมเกริมในการข่มเหงรังแกผู้อื่น
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ การจองเวรต่อไปนั้นไม่เคยที่จะไม่ส่งผลอันไม่น่าปรารถนาและเหนือคาดตามต่อมา 
ชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยจะต้องมาสังเวยจากการตอบโต้อย่างรุนแรงที่หวังเพียงเพื่อจะสั่งสอนให้หลาบจำ
แต่ไม่มีเสียละที่ผลพวงจากการสั่งสอนนั้นจะไม่ย้อนกลับมาใส่เจ้าตัวผู้กระทำการตอบโต้อย่างรุนแรง
จะว่าไปก็น่าจะพูดด้วยสำนวนไทยว่า "กงเกวียนกำเกวียน" ไม่มีใครที่รอดพ้นจากการกระทำของตัวเองไปได้ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว



หนังถ่ายภาพได้สวยมากๆในหลายฉากหลายตอน และเมื่อเป็นเรื่องของเด็กวัยสิบขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป มีหลายฉากที่น่าจับใจและน่าสะเทือนใจอย่างเหลือเกิน 
ผู้กำกับฯ สามารถคุมความพอเหมาะพอควรของการแสดงได้ และสามารถเล่าเรื่องได้อย่างชวนติดตามไปกับตัวละคร

เป็นหนังที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์อย่างมาก อย่างที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า "โดนใจ" และกระตุ้นความคิด อย่างน้อยก็ชวนให้ฉุกคิดว่าอะไรผิดอะไรถูก จะได้เกิดความยับยั้งชั่งใจในการกระทำอันอาจส่งผลร้ายที่คาดเดาไม่ได้ ที่จะกลายเป็นตราบาปต่อตัวเองไปจนตลอดชีวิต



.