http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-14

นิธิ: (3)อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา อะไรและอย่างไร

.
อ่านตอนแรก - นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา อะไร และอย่างไร (1)
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/05/npt-budh.html
อ่านตอนสอง -  นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา อะไร และอย่างไร (2)
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/05/npt2budh.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นิธิ เอียวศรีวงศ์: อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา อะไร และอย่างไร (3)
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:59:38 น.

.......

ในสภาพที่พระศาสนาอ่อนแอเช่นนี้ หากต้องการจะ "อุปถัมภ์และคุ้มครอง" พระพุทธศาสนา พึงทำอย่างไร


1.ต้องหย่าขาดจากอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจเงิน ในโลกสมัยใหม่ อำนาจกลับทำให้ศาสนาเสื่อม หรือทำให้เกิดสงครามกลางเมือง (ดูตัวอย่างได้ดีจากประวัติศาสตร์ยุโรป) อำนาจที่ห้ามหมิ่นศาสดาของศาสนาในกฎหมายอาญานั้น ไม่น่าจะมีเป้าหมายที่การ "อุปถัมภ์และคุ้มครอง" พระพุทธศาสนา แต่มีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขของสังคม จึงคุ้มครองศาสดาของทุกศาสนา

ศาสนาในโลกปัจจุบัน ดำรงอยู่ได้ด้วยความสามารถที่จะตอบสนองการท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือการท้าทายจากการตีความหลักธรรม และไม่ว่าจะทำโดยศาสนิกหรือคนนอกศาสนา ถ้าไร้ความสามารถที่จะตอบสนองการท้าทายนั้น ศาสนาก็เสื่อมความนิยม คริสต์ศาสนาในหลายสังคมใช้เวลานานมาก ในการเผาหนังสือ, เก็บหนังสือ, จับคนเข้าคุก ฯลฯ ด้วยอำนาจรัฐ แต่ในที่สุดการท้าทายนั้นเช่นทฤษฎีดาร์วิน กลับยิ่งแพร่หลาย ในที่สุดจึงจับประเด็นได้ และหันมาตอบสนองการท้าทายด้วยสติปัญญา แทนอำนาจ

อำนาจจึงเป็นตัวบ่อนทำลายศาสนายิ่งกว่าสิ่งใด หากจะอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาใด อย่าให้อำนาจ ถึงอำนาจทางโลกย์ที่มีมาก่อนก็พึงถอนออกเสีย เพื่อบังคับให้ศาสนานั้นๆ ต้องตอบสนองการท้าทายด้วยสติปัญญา โดยวิธีนี้เท่านั้น ยิ่งถูกท้าทายมาก ศาสนานั้นจะยิ่งแข็งแกร่ง แต่ศาสนาใดที่หลีกเลี่ยงการท้าทายด้วยการถืออำนาจ ศาสนานั้นจะยิ่งอ่อนแอ


2.องค์กรศาสนาใดที่จะเหลือรอดในโลกปัจจุบันได้ ต้องมีฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง แบ่งอย่างหยาบๆ ความรู้มีอยู่สองอย่าง คือความรู้ทางโลกย์และความรู้ทางธรรม พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต้องจับประเด็นความทุกข์ของโลกปัจจุบันได้อย่างเป็นระบบ สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของความทุกข์ที่แต่ละปัจเจกบุคคลมี กับระบบการเมือง, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ระบบสังคม, เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ปัญหาไม่ได้อยู่เพียงว่า ความรู้ทางโลกย์เป็นสิ่งที่ใครๆ เขาก็รู้กัน ฉะนั้นพระในพุทธศาสนาจึงต้องรู้บ้าง เพื่อไม่ให้เขาดูถูก ที่จริง พระต้องรู้ความรู้เหล่านี้อย่างเป็นระบบยิ่งกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะพระไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อไปรับจ้างใครทำงานกินเงินเดือน พระจึงต้องเรียนเพื่อความเข้าใจที่ปรุโปร่ง จนสามารถสร้างญาณทรรศนะที่ล้ำลึกของตนเอง ในเรื่องที่เรียกว่าทาง "โลกย์"

ส่วนความรู้ทางธรรมนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่า ในปัจจุบันการศึกษาพระพุทธศาสนาในโลกได้ก้าวรุดหน้าไปมาก พระไทยต้องตามความรู้เหล่านี้ให้ทัน พร้อมกับสร้างฐานให้แข็งแกร่งพอจะสร้างความรู้ใหม่ๆ ได้เองด้วย ไทยต้องผลิตนักปราชญ์พุทธระดับโลก ซึ่งไม่ได้มีความรู้เพียงภาษาบาลี แต่ต้องรู้สันสกฤต, ทิเบต, จีน, ญี่ปุ่น, พม่า, มอญ, เขมร อย่างแตกฉาน สามารถวินิจฉัยข้อธรรมซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการได้ จนเป็นที่รับฟังของปราชญ์พุทธทั่วโลก ในขณะเดียวกันความรู้เหล่านี้ก็จะเป็นฐานให้แก่การปฏิบัติของชาวพุทธ และเป็นฐานวิชาการให้แก่ปัญญาชนชาวพุทธในการเสนอความเห็นบนเวทีโลกด้วย

แม้แบ่งออกเป็นความรู้สองอย่าง แต่ที่จริงแล้วก็แยกออกจากกันไม่ได้ ธรรมที่ไม่วางอยู่บนฐานข้อเท็จจริงในทางโลกย์เลยก็คงสื่อความกับใครในโลกปัจจุบันไม่ได้ และในทางกลับกันข้อเท็จจริงในทางโลกย์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร หากไม่มีการให้ความหมายแก่ข้อเท็จจริงเหล่านั้น พุทธศาสตร์คือการรวมสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน จะให้ความหมายทางพุทธธรรมแก่ข้อเท็จจริงทางโลกย์อย่างไร ไม่ใช่เพียงประทับตรายี่ห้อพุทธเท่านั้น การให้ความหมายเชิงพุทธธรรม ต้องทำให้ความเข้าใจต่อความรู้ทางโลกย์มีความลุ่มลึกขึ้น หรือเปิดแนวทางใหม่ในวิธีการมองปัญหา

การศึกษาของพระสงฆ์จึงไม่อาจฝากไว้กับการศึกษาที่จัดให้ฆราวาส หรือไม่อาจก๊อบปี้จากสถาบันการศึกษาของฆราวาสได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของวิชาความรู้ เท่ากับกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษาแนวพุทธน่าจะมีแนวทางพิเศษของตนเอง

หากองค์กรศาสนาของไทยเรียนรู้จนเกิดความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับการศึกษาแนวพุทธ ซึ่งไม่ใช่แค่สวดมนต์ทำวัตรเช้า หรือวิชาศีลธรรมทุกวัน หรือโรงเรียนที่เหมือนของกระทรวงศึกษาฯ เพียงแต่วัดเป็นผู้อุปถัมภ์ ก็น่าจะที่สร้างการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมกับกุลบุตรกุลธิดาชาวพุทธในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปกครองมีทางเลือกเกี่ยวกับการศึกษาของลูกหลาน

การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ควรหมายถึงการทุ่มเททรัพยากรเพื่อทำให้เกิดการศึกษาเชิงพุทธ ทั้งของสงฆ์และฆราวาส แต่จะทุ่มเททรัพยากรอย่างไรจึงจะบังเกิดผล การให้งบประมาณลงไปมากๆ แก่ระบบการศึกษาภายใต้มหาเถรสมาคม อาจไม่เกิดผลอะไรเลยก็ได้ อาจจำเป็นต้องสร้างระบบการศึกษาที่เป็นอิสระทั้งจากรัฐและจากมหาเถรสมาคมขึ้น โดยทำในลักษณะร่วมมือกันเป็นภาคีเสมอภาค ระหว่างรัฐและสังคมก็ได้


3.เพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รัฐควรส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนาของพลเมืองไทย เสรีภาพทางศาสนาหมายความว่าการเลือกนับถือศาสนา เป็นเสรีภาพที่ไม่มีใครมีอำนาจไปละเมิดได้ ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากนี้ยังหมายถึงการเลือกไม่นับถือศาสนาใดเลย ก็เป็นเสรีภาพที่ไม่มีใครมีอำนาจไปละเมิดได้เหมือนกัน ต้องทำให้ชาวพุทธและองค์กรของพุทธศาสนาที่เป็นทางการสำนึกว่า ตนไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นหากผู้ใดแสดงความเห็นอันบริสุทธิ์ เกี่ยวกับศาสนาใด ก็เป็นหน้าที่ของศาสนิกนั้นจะชี้แจงหรือปกป้องเอง รัฐไม่อาจให้อำนาจไปปกป้องแทนได้


4.ช่วยให้คำสอนของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นกระแสใดก็ตาม ได้มีโอกาสเผยแพร่ผ่านสื่อ โดยเฉพาะสื่อใหม่หรือสื่อทางเลือกให้มากขึ้น ที่ต้องเป็นสื่อใหม่ก็เพราะไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องฟังหรือชม เวลานี้คำสอนของพุทธศาสนาเพียงสองกระแสเท่านั้น ที่มีโอกาสเผยแพร่ผ่านสื่อเก่าอยู่ คือกระแสพุทธศาสนาที่เป็นทางการ และธรรมกาย รัฐจึงควรส่งเสริมให้กระแสอื่นๆ ได้มีโอกาสเผยแพร่คำสอนของตนบ้าง


5.พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ มีอำนาจที่จะกำหนดได้ว่า ใครเป็นหรือไม่เป็นพระภิกษุของพระพุทธศาสนาในกระแสนี้ แต่ภิกษุ (และภิกษุณี) อื่นที่บวชเรียนต้องตามพระวินัย ย่อมเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน แม้ไม่ต้องตรงตามพระวินัยของเถรวาท ก็ยังต้องนับว่าเป็นภิกษุ (เช่นพระภิกษุจีน, ญวน, ญี่ปุ่น เป็นต้น) อยู่นั่นเอง ส่วนใครจะเลือกนับถือพระภิกษุประเภทใด ย่อมเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน เป็นธรรมดาที่ย่อมเกิดมีพระภิกษุเถรวาทที่ไม่สังกัดมหาเถรสมาคมอันเป็นองค์กรปกครองของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการเท่านั้นขึ้นอย่างแน่นอน

พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการต้องทำตัวให้เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกในเมืองไทยเอง และอันที่จริงก็มีทุนเดิมที่จะทำได้ง่ายอยู่แล้วหลายอย่าง ทั้งทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงนี่แหละคือการอุปถัมภ์และคุ้มครองที่ได้ผลที่สุด เพราะผ้าเหลืองนั้น คนไม่ได้เคารพที่เป็นตัวผ้า แต่เคารพเพราะมันครองบุคคลที่น่าเคารพเลื่อมใสต่างหาก

พูดง่ายๆ ก็คือปลดทุนทางการเมืองของพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการออกเสีย คณะสงฆ์ของกระแสนี้จะขวนขวายปรับตัวให้มีคุณค่าแก่สังคมอย่างขมีขมันแน่นอน


6.รัฐควรอุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนา แต่รัฐไม่ควรใช้อำนาจของตนไปปกป้องศาสนาใดๆ จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือการท้าทายด้วยความคิดทางศาสนาที่แตกต่าง อันที่จริงบุคลากรในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ ก็วิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอื่นอยู่เสมอ เช่นเห็นว่าศาสนาที่มีพระเจ้าอาศัยแต่ความศรัทธาเท่านั้น ไม่ได้ใช้ปัญญานำศรัทธาเลย เป็นต้น



ไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์โลก ที่ศาสนาทุกศาสนาต้องเผชิญการท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเท่ายุคสมัยปัจจุบัน แค่ทำให้ตัวเลขเงินฝากเป็นเป้าหมายของชีวิตเพียงอย่างเดียว พระนิพพานและพระเจ้าก็ไม่มีที่อยู่บนโลกนี้แล้ว อำนาจรัฐไม่เคยขจัดการท้าทายไปได้ ตรงกันข้าม เสรีภาพต่างหากที่จะทำให้ศาสนาอยู่ได้ เพราะศาสนาจำเป็นต้องใช้สติปัญญาในการเสริมสร้างศรัทธาของผู้คน สนทนา (แปลว่า "เทียบ" คือทั้งสองฝ่ายได้พูด) กับผู้คน และมีคำตอบแก่ผู้คน

ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจที่จะฟังเฉพาะที่ตัวอยากฟังเท่านั้น 



.