http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-05

ฉัตรสุมาลย์: เมื่อพระเป็นผู้หญิง, ไปประกวดขี้ควายที่บาเรปูร์

.

เมื่อพระเป็นผู้หญิง
โดย ฉัตรสุมาลย์ คอลัมน์ ธรรมลีลา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 65


ในช่วงที่ภิกษุณีธัมมนันทาเดินทางไปสอนธรรมะที่สังกิสสะ อินเดีย นอกเหนือจากการบรรยายและจัดกิจกรรมในสถานที่แล้ว ท่านยังได้ออกไปเยี่ยมครอบครัวชาวพุทธหลายครั้ง
ผู้หญิงจะเป็นผู้จัดการในเรื่องอาหารการขบฉันทั้งหมดที่จะถวายพระ แต่คราวนี้เมื่อพระที่นิมนต์มาฉันที่บ้านเป็นพระภิกษุณี พระผู้หญิง ผู้หญิงจึงมีบทบาทมากขึ้น
ท่านธัมมนันทาจะเรียกร้องให้ผู้หญิงออกมาถวายอาหารกับมือ มิฉะนั้น ผู้หญิงทำงานหนักในครัว แต่คนที่ถวายจะเป็นผู้ชายเสมอ
ในระหว่างฉัน ท่านจะให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงโดยถามไถ่ถึงอาหารที่ถวาย
ไม่ว่าจะเป็นปูรี แป้งทอด จะปาตี แป้งปิ้ง ในช่วงต้นมีนาคม จะมีขนมพิเศษ คล้ายกะหรี่ปั๊บ แต่ไส้หวานเรียกว่า กุจียา รายละเอียดข้อมูลเหล่านี้ต้องถามผู้หญิงจึงจะได้ความ

หลังจากฉันและให้พรแก่เจ้าของบ้านแล้ว ก็มีการทักทายกันตามระเบียบ แม่บ้าน ชื่อศีลา ศากยะ ฟ้องว่า ตัวเองทำงานทุกวันต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า เพื่อเตรียมอาหารให้ครอบครัว สามีต้องนั่งลงรับประทานอาหารเช้าเวลา 7 โมงครึ่ง และออกไปทำงานเวลา 8 โมง บางวันช้า ก็จะโดนสามีบ่นว่า บางทีเธอเหนื่อยล้ามาก แล้วบวกกับถูกบ่นว่าจากสามี เคยคิดว่า จะตามภิกษุณีไปอยู่วัตรให้มันรู้แล้วรู้รอดไป 
เธอถามภิกษุณีว่า กรณีอย่างนี้ จะให้เธอปฏิบัติธรรมอย่างไร
สมาชิกทั้งครอบครัวรวมทั้งสามีก็นั่งอยู่ด้วย การที่ได้มีโอกาสบอกกับพระถึงความทุกข์ในชีวิต แม้เพียงการบอกกล่าวก็เป็นการระบาย คลายทุกข์ไปส่วนหนึ่ง
ท่านธัมมนันทาแนะนำว่า ลองให้สามีเตรียมอาหารเช้าเองสักวันหนึ่ง 
ทุกคนหัวเราะขึ้นพร้อมๆ กัน สามัคคีธรรมเป็นเรื่องสำคัญ การเห็นอกเห็นใจกัน แบ่งเบาภาระรับผิดชอบในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ



ภควานเทวีเป็นผู้หญิงชาวบ้านที่หมู่บ้านสังกิสสะ เธอเข้ามาหาภิกษุณีธัมมนันทาตั้งแต่ทริปก่อน ตอนนั้นมีปัญหากับสุมิต ลูกชายวัยรุ่นที่ไม่สนใจเรียนหนังสือ
ท่านธัมมนันทาก็เลยแนะนำให้เอาลูกชายมาฝากไว้ในกลุ่มอาสาสมัครของยุวพุทธิกสมาคมอินเดีย จะได้เปิดหูเปิดตาช่วยทำงานพระศาสนาในส่วนที่ตนพอจะช่วยได้ 
กลับไปคราวนี้ ก็เห็นแม่ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

คราวนี้ ภควานเทวี มาสะกิดขอนิมนต์ท่านธัมมนันทาไปฉันที่บ้าน 
ท่านธัมมนันทาตกลงรับปากทันที เพราะคราวก่อน เธอถูกคนอื่นตัดหน้าไป 
ทันทีที่รับปากกับภควานเทวี ก็มีภควานเทวีอีกคนหนึ่งอยู่หมู่บ้านเดียวกันด้วย ขอนิมนต์ซ้อนกัน ท่านธัมมนันทาเลยแก้ปัญหาว่าให้ทำอาหารมาสมทบที่บ้านภควานเทวีคนแรก แล้วขากลับจะแวะไปเยี่ยมบ้านของเธอด้วย 

วันนั้น ภควานเทวีแต่งตัวสวยเป็นพิเศษ ส่าหรีสีฟ้าแจ่มแจ๋ว ผมสีดอกเลาของเธอ คนกรุงคงอิจฉาว่าจะย้อมอย่างไรให้เป็นสีอย่างนั้น เธอถักเป็นเปียยาว 
เมื่อรถของคณะเราเลี้ยวเข้าไปในหมู่บ้าน เด็กๆ วิ่งออกมารับกันเกรียวทีเดียว บ้านของภควานเทวีเป็นบ้านดิน ถูกใจท่านธัมมนันทาทีเดียว ตัวเธอเองออกมาแตะเท้าท่านธัมมนันทา ท่านธัมมนันทาตอบว่า "นโมพุทธายะ" เป็นคำทักทายของชาวพุทธที่นั่น 
เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวที่มีในบ้านคือเตียงเชือก ขอบและขาเป็นไม้ ตรงกลางสานด้วยเชือก เป็นเตียงที่เห็นได้ทั่วไปในชนบท ท่านธัมมนันทานั่งบนเตียงเชือก พ่อบ้านวิ่งไปขอยืมโต๊ะพลาสติกเตี้ยๆ ชนิดถอดขาได้มาจากเพื่อนบ้าน เพื่อวางอาหาร
เพื่อนบ้านที่มาช่วยก็นั่งอยู่กับพื้นบ้านที่เป็นดินอัดแน่น ไล้ด้วยขี้ควาย


ชาวบ้านที่นี่เริ่มรู้จักถวายอาหารพระโดยเข้ามายกถวาย แต่นั่งถวายไม่เป็น ยังยืนถวายอาหารของท่านธัมมนันทามาในถาดสแตนเลส มีถ้วยสแตนเลส 2 ใบ ใบหนึ่งใส่ดาล คือ แกงถั่ว อีกใบหนึ่งใส่ผักผัดกับเครื่องเทศ มีจาปาตี (แป้งปิ้ง) 2 แผ่น นั่นคืออาหารมื้อหนึ่งของชาวบ้านที่นั่น
ท่านธัมมนันทารับประเคนแล้ว ให้พร 
ตอนนี้คนเฒ่าคนแก่และเด็กๆ มารับพรกันเต็มบ้าน
ขณะที่พระฉัน เพราะพระเป็นผู้หญิง ทั้งแม่บ้านลูกสะใภ้ คุณยาย เพื่อนบ้านผู้หญิง เข้ามานั่งล้อมรอบ คนหนึ่งลูกเล็กร้องไห้งอแง ก็จับลูกนั่งตักควักนมให้ลูกกินตรงนั้น เจ้าของบ้านเดี๋ยวก็พาคนนั้น คนนี้มาไหว้ 
พอพระฉันเสร็จ ภควานเทวีอีกคนหนึ่งก็เร่งให้ไปแวะบ้านเขาด้วย ภควานเทวีเจ้าของบ้านคนแรก เข้ามาปรับทุกข์ว่า มีแผลที่หน้าอก เปิดให้ดูเลย ที่เต้านมของเธอเป็นปื้นแดง นี่เพราะเป็นพระผู้หญิงนะ จึงปรึกษาความทุกข์อย่างเป็นรูปธรรม 

พอดียุวพุทธิกสมาคมของอินเดียจัดแคมป์การแพทย์ออกเยี่ยมที่นั่นในอาทิตย์ถัดมา ท่านธัมมนันทาจึงแนะให้เธอไปให้หมอตรวจดูอีกที
แม้เพียงได้ปรับทุกข์ มีคนฟัง เธอก็รู้สึกดีขึ้นมากทีเดียว


แวะไปอีกบ้านหนึ่งเดินเพียง 2 นาที บ้านนี้น่าจะมีฐานะมากกว่า เพราะพ่อบ้านมีรถแทร็กเตอร์และเครื่องยนต์ที่ใช้ในการเกษตร
ท่านธัมมนันทาทักทายทุกคนในบ้าน แม่บ้านปรารภเรื่องสามี โดยหวังให้ท่านธัมมนันทาเป็นคนกลางอบรมสามีให้ด้วย 
ท่านธัมมนันทาก็ทักทาย บางครั้งล่ามไม่อยู่ท่านก็พยายามสื่อความด้วยภาษาฮินดีบ้านๆ ทักทายถามชื่อ ถามว่ามีลูกกี่คน ลูกชื่ออะไรบ้าง ฯลฯ เป็นอารัมภบทที่คลี่คลายและก่อให้เกิดความรู้สึกสนิทสนม 
มาเที่ยวนี้ท่านมียาหม่องมาแจก ทุกคนได้รับของแจก ดูแฮปปี้กันดี 
เมื่อกลับไปสอนต่อในตอนบ่าย ภควานเทวีคนแรกก็ตามไปเรียนต่อ พอสอนจบ ท่านธัมมนันทาต้องไปเก็บของที่วัดเขมรที่อยู่ตรงกันข้ามกับโรงเรียน ภควานเทวี ซึ่งตอนนี้ ลูกศิษย์แซวว่าเป็นแม่ยกของท่านธัมมนันทา ขอติดรถไปด้วย ไปช่วยยกกระเป๋า เอา ไม่ว่ากัน

ตอนจากกันก็โศกมากหน่อย พระพุทธเจ้าทรงสอนนางวิสาขาเมื่อหลานตายว่า "รัก 100 ก็ทุกข์ 100" เมื่อมีความผูกพัน เวลาต้องจากกัน ก็ทุกข์เป็นธรรมดาของโลก



ในช่วงที่เดินทางในกลุ่มของชาวพุทธนั้น เขาจะนิมนต์ไปฉันตามบ้านต่างๆ เพราะเป็นโอกาสที่หาได้น้อยมาก เนื่องจากไม่ค่อยมีพระไปที่นั่น เช้าวันหนึ่งขณะที่อยู่ที่เมนปุรี ลูกพี่ลูกน้องของ สุเรศ ศากยะพุทธ์ ประธานยุวพุทธิกสมาคม ชื่อโอมการ พุทธ์นิมนต์ไปฉันที่บ้าน ภรรยาชื่อวินีตา บ้านของเขาเป็นบ้านเล็กๆ เช่าอยู่เดือนละ 2,000 รูปี เจ้าของบ้านอยู่ชั้นบน ตอนที่ท่านธัมมนันทาไปฉัน เจ้าของบ้านที่เป็นฮินดูก็ลงมานั่งจิบชาอยู่ด้วย
บ้านนี้ นอกจากสามี ภรรยาแล้ว มีลูกเล็กๆ คนหนึ่ง อายุขวบกว่า แล้วยังมีหลานสาวรุ่นสาว 2 คน ลูกของพี่ชายและพี่สาวมาอาศัยอยู่ด้วยเพื่อไปเรียนหนังสือ คนที่ทำกับข้าวเป็นหลานสาวๆ 2 คนนี้ ส่วนภรรยาอุ้มลูกมานั่งข้างๆ ท่านธัมมนันทา 
อาหารที่ฉันเรียบง่ายเช่นเคย ชาร้อนหนึ่งถ้วย จะปาตี 1 แผ่น และมีไข่เจียวสีขาว เพราะไก่ของแขกไม่ได้รับสารอาหารเหมือนไทย
เมื่อฉันเสร็จ ตอนให้พร ท่านธัมมนันทาสอนให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลด้วย ชาวพุทธที่อินเดียยังไม่คุ้นกับประเพณีนี้ แต่ก็รู้สึกดี เจ้าของบ้านที่เป็นฮินดูก็ประทับใจกับประเพณีของพุทธ ออกปากว่า "ดีนะ ที่มีสาธุจี (คำเรียกพระด้วยความเคารพ) มาเยี่ยมถึงบ้าน"

หลังจากให้พรแล้ว วินีตาเข้ามาบอกท่านธัมมนันทาให้ช่วยสอนสามีด้วย ว่าสามีไม่ค่อยสวดมนต์ และสามีขี้เกียจไม่ค่อยอาบน้ำตอนเช้าก่อนไปทำงาน
ที่พูดนี่พูดต่อหน้าสามี ไม่ได้เป็นการกล่าวโทษลับหลัง ท่านธัมมนันทาหันไปชี้หน้าสามี
เป็นเชิงสรรพยอก แล้วก็สอนเบาๆ ว่า สวดมนต์ นึกถึงพระก่อนไปทำงานจะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น
 
แต่เรื่องไม่อาบน้ำนั้น ท่านก็เกรงว่าสามีจะอาย ท่านแก้ตัวให้แทนว่า มันหนาวจัดนี่ (เพราะพระก็ไม่ได้อาบเหมือนกัน บางวันต่ำกว่า 10 องศา)



บรรยากาศที่ฝ่ายหญิงจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะพระที่มาก็ล้วนเป็นพระผู้ชาย แต่การไปเยี่ยมเยียนของภิกษุณีเริ่มสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้สตรีชาวพุทธในอินเดีย เห็นชัดเจนว่า เมื่อพระเป็นผู้หญิง จะเป็นปัจจัยให้เกิดการพัฒนาที่ฐานรากของครอบครัว คือผู้หญิง ที่เป็นหัวใจของบ้าน ย่อมนำไปสู่การพัฒนาครอบครัวชาวพุทธที่ดี

ในการถวายอาหาร ส่วนใหญ่แล้วในประเพณีชาวพุทธ เนื่องจากที่ผ่านมาพระสงฆ์เป็นผู้ชาย เราก็จะถนัดเรียกผู้ชายให้ออกมาปฏิบัติพระ คราวนี้ กลับกัน ให้ผู้หญิงซึ่งเป็นคนทำกับข้าวเองได้ถวายอาหารพระด้วยมือ เธอก็รู้สึกว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญด้วยอย่างแท้จริง 

การทำความเข้าใจกับคำสอนของพระพุทธศาสนาเริ่มต้นด้วยการที่ศาสนิกทั้งผู้หญิงผู้ชายมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถเข้าหาพระได้โดยอิสระ ไม่ถูกจำกัดว่า เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
พระพุทธองค์ทรงเข้าใจในการสร้างสมดุลทางสังคมเช่นนี้ จึงกำหนดให้พระสงฆ์มีทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์



++

ไปประกวดขี้ควายที่บาเรปูร์
โดย ฉัตรสุมาลย์ คอลัมน์ ธรรมลีลา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 65


เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสติดตามภิกษุณีธัมมนันทาไปสอนธรรมะแก่ชาวบ้านในตระกูลศากยะ โชคดีที่ได้ตระเวนไปเยี่ยมชาวพุทธที่กระจุกตัวอยู่ตามหมู่บ้านที่เราเองไม่มีทางไปถึง ถ้าไม่มีคนนำทางท้องถิ่น
ท่านธัมมนันทามีโปรแกรมสอนบ่ายวันที่ 2 มีนาคม วันที่ 1 เจ้าภาพจัดให้เราเข้าไปเยี่ยมหมู่บ้านชาวพุทธที่บาเรปูร์ อยู่ห่างจากเมนปุรีที่เราพัก 60 ก.ม. แต่เพราะเส้นทางในชนบทยังไม่พัฒนานัก การเดินทางจึงใช้เวลานานกว่าปกติ 
การรักษาภาวะจิตที่เดินทางในอินเดียนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างดี จะคาดการณ์ล่วงหน้าให้ไปดังใจเราไม่ได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายนอก
พอทำความเข้าใจอย่างนี้ได้ การเดินทางก็เป็นสุข ไม่มีภาวะบีบคั้น ทุกอย่างอยู่ที่ใจจริงๆ ดังที่ภิกษุณีธัมมนันทาเคยเขียนหนังสือชื่อเรื่องนี้มาแล้ว

เจ้าภาพเช่ารถให้อย่างดี ราคาทั้งวันเพียง 650 รูปี ค่าน้ำมันที่จ่ายตอนขากลับก็ 650 รูปีเหมือนกัน คนขับก็เป็นศากยะ ดูเป็นการเล่นพวกที่จำเป็น เพราะศากยะเป็นชนกลุ่มน้อย ถ้าไม่ช่วยเหลือกันแล้วใครจะช่วย
หมู่บ้านแรกที่เราไปแวะเช้าวันนั้นเป็นหมู่บ้านบาเรปูร์ เราแวะที่บ้านของ"สันโดษ" ซึ่งเป็นกรรมการยุวพุทธิกสมาคม สันโดษเคยมาเป็นอาสาสมัครฝึกงานที่เมืองไทย 10 เดือน เป็นคนที่คุ้นเคยกับเมืองไทยมากที่สุด นิสัยดี ร่าเริง แจ่มใส และเพิ่งแต่งงานเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ตัวสันโดษเองไม่อยู่ ให้น้องชายชื่อ ติรัฐ หนุ่มหล่อเป็นผู้รับรองเรา
บ้านเล็กๆ ห้องที่ดีที่สุดคือห้องนอนของสันโดษนั่นเอง แม่ของเขาชื่อสันติ ไม่ได้ออกมาต้อนรับเพราะมัวง่วนเตรียมชาถวายพระ จนเสร็จภาระในครัวแล้วจึงออกมาพร้อมหน้ากัน



ท่านธัมมนันทาท่านสนใจขี้วัว แต่ที่หมู่บ้านนี้จะเป็นขี้ควาย และกรรมวิธีที่ชาวบ้านเก็บขี้วัว ขี้ควายไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิง
ที่สนใจเพราะกระบวนการทั้งหมดอยู่ในมือผู้หญิง
การเก็บรักษาขี้วัว ขี้ควายจึงเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ถ่ายทอดจากมือของผู้หญิง เด็กผู้หญิงวัย 8-9 ขวบในหมู่บ้าน ก็จะได้รับการสอนให้เก็บขี้วัว ขี้ควาย แล้วพอวัวหรือควายขี้แผล็ตออกมาก็เดินตามเก็บใส่ตะกร้าสานที่ทูนอยู่บนศีรษะ 
ถ้าวัวหรือควายมันขี้เละหน่อย ก็เวรกรรม ต้องเอามือลูบกวาดไปให้หมด 
ขี้วัว หรือขี้ควายนี้เหมือนกัน เพราะทั้งวัวและควายกินหญ้าเหมือนกัน แยกแยะไม่ออกจริงๆ นอกจากว่าเราจะเป็นคนเก็บเองจึงจะรู้ว่า กองไหนเป็นขี้วัว กองไหนเป็นขี้ควาย 

เมื่อได้เป็นกองขนาดสัก 1 เมตร เขาจะเอามือนวดผสมกับฟางแห้งที่สับเล็กๆ และหญ้าแห้งที่ตากไว้ เมื่อได้ส่วนผสมที่ไม่เละเกินไป ไม่แข็งเกินไป จะปั้นเป็นลูกกลมๆ เท่าๆ กัน 
ทีนี้ก็เอาลูกกลมๆ ที่เป็นขี้วัวขี้ควายนี้ใส่ตะกร้า ไปที่ผนังบ้าน ใช้มือกดลงไปให้แบนแปะติดแนบฝาบ้าน บ้านของชาวอินเดียในแถบพิหาร ที่ทัวร์ไทยคุ้นเคยจะเห็นแผ่นแพนเค้กขี้วัวนี้จนคุ้นตา 
แน่นอนที่สุด ผู้หญิงก็ต้องฉลาดที่จะหาจุดที่แปะขี้วัวที่จะได้แดดเต็มที่ ยิ่งได้แดดทั้งตอนเช้าและบ่ายยิ่งดี แต่ถ้าแปะกับผนังด้านนอกของบ้าน มักนิยมแปะฝั่งตะวันตก เพราะแดดแรงกว่าช่วงเช้า พอด้านหน้าแห้งแผ่นขี้วัวก็จะร่วงลงมา กลับตากอีกครั้ง 2 วันต่อมาก็จะเก็บลงกระจาดได้
แผ่นขี้วัวที่แห้งสนิทดีแล้วนี้ เป็นเชื้อเพลิงที่ดี วิธีการเก็บก็เป็นศิลปะเฉพาะจากผู้หญิงอีก คราวนี้เธอจะเอาแผ่นขี้วัวมาตั้งเรียงกันจนกลมเป็นชั้นๆ ชั้นที่สองก็เล็กกว่าชั้นล่างเล็กน้อย ลดหลั่นกันขึ้นไป 
เสร็จสรรพเราก็จะได้แผ่นขี้วัวเป็นรูปเจดีย์


คราวนี้ ถ้าจะรักษากองขี้วัวที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงนี้ให้อยู่ได้นาน เขาจะไล้ปิดด้วยดินเหนียวด้านนอกเพื่อให้แผ่นขี้วัวแห้งใช้งานได้นาน ทั้งหมดเป็นงานของผู้หญิงจริงๆ
ถ้าไม่มีแผ่นขี้วัวเป็นเชื้อเพลิงก็จะหุงข้าวช้า เพราะลำพังจะติดไฟจากท่อนฟืนเลยทีเดียว ช้ากว่ามาก ถ้าหุงข้าวทำอาหารช้า คุณผู้ชายก็ต้องรอนะเจ้าคะ แล้วก็จะหงุดหงิดอารมณ์เสียเพราะหิว 
แผ่นขี้วัวที่ว่านี้ มีพัฒนาการที่ต้องเล่าต่ออีก เพราะในแต่ละแคว้น รูปทรงของแผ่นขี้วัวก็จะต่างกันออกไป ขึ้นไปทางเหนือพอเข้าเขตลุมพินีขี้วัวไม่เป็นแผ่นแล้วค่ะ คราวนี้เป็นแท่งยาวๆ ประมาณเกือบฟุต ทำเป็นรูปสามเหลี่ยม เหมือนหลังคาบ้านยาว เวลาตากแดดให้แห้ง จะตากเรียงกันไป มีการพลิกตะแคงซ้ายขวาตามรูปทรงสามเหลี่ยมนั้น  
เมื่อแห้งสนิทเขาจะวางคู่ให้ห่างกันเล็กน้อย ชั้นต่อมาจะวางไขว้สับหว่าง เมื่อตั้งสูงขี้นมาจะเป็นรูปทรงหอคอยสี่เหลี่ยม ได้ศิลปะกองขี้วัวที่ต่างกันอออกไป

ทางแถบตอนกลาง คือแถบสังกิสสะและหมู่บ้านบาเรปูร์ที่เพิ่งไปเยี่ยมมานี้ รูปทรงขี้ควายจะเป็นรูปทรงค่อนข้างยาว วางโค้งเล็กน้อยเพื่อให้ทรงตัวตั้งบนดินได้ดี ฐานล่างหนากว่าตอนบน เวลาวางซ้อนเก็บเป็นวงกลม จะเอาด้านฐานออก ชั้นต่อไปก็จะทำแบบเดียวกัน แต่ตั้งวงกลมให้เล็กลง เล็กลงในแต่ละชั้น แล้วใช้ดินเหนียวโบกปิดเหมือนกันเพื่อให้ใช้งานได้นาน 
ที่กลัวที่สุดคือฝน เพราะถ้าถูกฝนแล้ว แผ่นขี้วัวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง้ปียกชื้นติดไฟยาก



ตอนที่รถของเราแล่นเข้ามาในหมู่บ้าน ท่านธัมมนันทาเหลือบตาไปเห็นการเรียงขี้ควายกองหนึ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น เป็นกองเดียวจริงๆ ที่ไม่เหมือนคนอื่น โดยเรียงสลับกัน ชั้นที่หนึ่ง วางแผ่นขี้ควายเรียงไปทางซ้าย ชั้นถัดมาสลับวางไปทางขวา ทำให้เกิดลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง 
หลังจากเสร็จธุระการเยี่ยมเยียนชาวบ้านแล้ว ท่านยืนยันจะกลับไปดูกองขี้ควายที่ท่านเห็น บรรดาชาวบ้านที่มาต้อนรับก็ยืนยันว่า กองขี้ควายก็เหมือนกันหมด เรียงแบบนี้ แล้วชี้ให้ดูกองขี้ควายที่อยู่ในบริเวณนั้น 
ท่านธัมมนันทาท่านยืนยันว่าที่ท่านเห็นตอนรถเลี้ยวเข้ามาในหมู่บ้านนั้น มีกองขี้ควายกองหนึ่งที่อยู่ทางด้านซ้ายมือ วางไม่เหมือนคนอื่น
ชาวบ้านไม่รู้จะเถียงท่านอย่างไร ตกลงเราเดินย้อนกลับไปจนถึงกองขี้ควายที่ท่านว่า จริงๆ ด้วย ไม่เหมือนกองอื่นจริงๆ

ชาวบ้านผู้ชายที่ยืนยันกับท่านเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า แป้นขี้ควายเรียงเหมือนกันหมด พยักหน้ายอมรับว่า ใช่ กองนี้ไม่เหมือนคนอื่น 
ท่านบอกว่า กองนี้น่ะ "อัชชะลักตาแฮะ" มองดูสวยดีนะ 
ถามว่าใครทำ ไปตามตัวมาที จะให้รางวัล คราวนี้เอิกเกริกทั้งหมู่บ้าน ผู้หญิงคนที่กองขี้ควายสวยที่สุด ชื่อมิตเลส ท่านธัมมนันทาจูงมือเธอเข้าไปที่กองขี้ควายถ่ายรูปไว้ยืนยันเป็นหลักฐาน พร้อมกับส่งปัจจัยให้เป็นรางวัล 100 รูปี เธอรับอย่างเหนียมอาย 
รางวัลนี้เป็นรางวัลแห่งการสร้างสรรค์ที่ไม่ต้องตามคนอื่น และยังทำได้สวยงามอีกด้วย

ถ้ามิตเลสอยู่ในเมือง คงทำงานเป็นครีเอทีฟได้นะเนียะ คราวหน้าไป อยากจะรู้ว่าหมู่บ้านนี้จะมีการเรียงแผ่นขี้ควายหลากหลายรูปแบบขึ้นหรือเปล่า การให้รางวัลเพียงน้อยนิด เป็นการแสดงออกที่อยากจะชื่นชมความคิดสร้างสรรค์ของผู้หญิงค่ะ 
ชาวบ้านที่ออกมาแสดงความยินดีกับเธอสนุกสนานเฮฮา ขอถ่ายรูปหมู่เก็บมาอีกต่างหาก 
เราได้แบบของแป้นขี้ควายมาถึง 3 แบบแล้วนะคะ สุดท้ายมาเห็นแบบที่สี่ ตอนที่รถไฟเข้าไปที่แถบอัมริตสาร์ แคว้นปัญจาบ

ภูมิปัญญาของผู้หญิงปัญจาบเธอปั้นขี้ควายขี้วัวเป็นทรงกลม รูปร่างเหมือนมะพร้าว แล้ววางซ้อนกันตั้งขึ้นไปตรงๆ มองไกลๆ เหมือนกับเอาหม้อลูกเล็กๆ วางคว่ำซ้อนกันไว้ค่ะ 
ทำไมเขาจึงปั้นขี้วัวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นรูปทรงต่างกัน อันนี้เป็นปริศนาธรรมที่ยังต้องค้นคว้าต่อ 
แม้แต่เรื่องขี้วัวก็ยังต้องทำการค้นคว้านะคะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้าน

เออ ใช่ ชาวบ้านผู้หญิงนั่นแหละ
ไม่มีเชื้อเพลิงก็อดกินจะปาตีนะ จาบอกให้



.