http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-12

อีก 3 ปี...ตัดสินการเมืองและการลงทุนในพม่า ในมือ ปธน. เต็ง เส่ง และ ออง ซาน ซูจี

.

อีก 3 ปี...ตัดสินการเมืองและการลงทุนในพม่า ในมือ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง และ ออง ซาน ซูจี
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 20


ในขณะที่การเมืองไทยฉุดรั้งการพัฒนาด้านอื่นๆ มาหลายปี จนมีคนคิดว่าพม่าที่มีแนวโน้มปรองดอง จะพัฒนาแซงหน้าไป
แต่ทีมวิเคราะห์มองว่าถ้าดูจากประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โอกาสพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจให้สำเร็จในช่วงเวลาสั้นๆ มีน้อยมาก
เพราะนอกจากคนพม่ายังมีอีก 7 ชนชาติใหญ่ และกลุ่มชนชาติเล็กๆ อีกหลายสิบเผ่าพันธุ์ เมื่อพื้นฐานทางประชาธิปไตย ไม่มีความมั่นคง ปัญหาทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

ใครที่เคยผ่านบทเรียนทางการเมืองในประเทศแบบนี้ย่อมรู้ดีว่า ถ้าเข้าไปลงทุน ต้องยอมรับความเสี่ยงทางการเมือง จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้
แต่การพัฒนาประชาธิปไตยก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นถ้ามีเวลามากพอ
แต่ผู้ลงทุนจำนวนมากก็ไม่หวั่น มองพม่าเหมือนเห็นขุมทรัพย์พระอุมา สำหรับทุนใหญ่ ต่อให้ล้มเหลวในพม่าพวกเขาก็ยังมีทุนเหลืออยู่ที่อื่นๆ อีก ที่พม่าเป็นเพียงเกมหนึ่งเท่านั้น


การเมืองในพม่ายังเป็นประชาธิปไตย...ไม่ถึงครึ่งใบ 

การปกครองของพม่าตลอด 50 ปีหลัง กล่าวได้ว่าอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเกือบตลอดเวลา ระบอบสังคมนิยมแบบพม่า เดิมมีพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าพรรคเดียว ผู้นำเผด็จการรุ่นหนึ่ง คือนายพลเนวิน ปกครองนานถึง 26 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2505 ถึง พ.ศ.2531 ถ่ายโอนอำนาจให้กับเผด็จการรุ่นสอง คือคณะกรรมการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐหรือ SLORC ซึ่งมีการปราบประชาชนครั้งใหญ่ และจับ ออง ซาน ซูจี ขังไว้ 
ในปี ค.ศ.1990 พม่าได้จัดการเลือกตั้ง  พรรค NLD (National League for Democracy) นำโดย นางออง ซาน ซูจี ชนะอย่างท่วมท้น ทั้งๆ ที่ซูจีถูกกักอยู่ในบ้านและแกนนำถูกขังอยู่ในคุกอิน เส่ง กลับได้ ส.ส. ถึง 392 จาก 485 ที่นั่ง
พรรคทหารพม่าที่เคยปกครองได้เพียง 10 ที่นั่ง พรรคของกลุ่มไทใหญ่ ยังได้ 23 ที่นั่ง แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้กับพรรค NLD กลับขังซูจีต่อไป

หลังจากนั้น SLORC ได้เสนอขั้นตอนสู่ประชาธิปไตย มีการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น แต่ต้องลงประชามติรับ พม่าได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในรอบยี่สิบปี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.2010
แผนการแปลงกายจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยของพม่า ใช้วิธีง่ายๆ คือ ให้นายทหารลงไปชุบตัวในการเลือกตั้ง 2010 บางส่วนก็ชุบตัวผ่านการแต่งตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้ทหารมีสิทธิ์ได้รับแต่งตั้งเข้าไปเป็นผู้แทนฯ ในสภา 25% 
อดีตคณะผู้นำทหารจึงเป็นได้ตั้งแต่ประธานาธิบดี รัฐมนตรี จนถึง ส.ส.ธรรมดา

ส่วนโครงสร้างการปกครองก็กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาแห่งสหภาพ (Union Parliament) คล้ายๆ รัฐสภามีผู้แทนฯ ได้ทั้งหมด 659 ที่นั่ง แบ่งเป็นสภาประชาชนและสภาแห่งชาติ (วุฒิสภา) อีกส่วนหนึ่งคือสภาแห่งภูมิภาคและแห่งรัฐ (Regional and State Parliament) สภานี้เป็นสภาท้องถิ่น โดยให้รัฐที่เป็นสมาชิกสหภาพทั้ง 7 รัฐ คือ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐยะไข่ รัฐชิน รัฐคะยาห์ และรัฐคะฉิ่น มีอำนาจเทียบเท่ากับมณฑลหนึ่งของพม่าเท่านั้นเอง มีสมาชิกสภาได้ทั้งหมด 883 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้ง (ซึ่งพรรค NLD ไม่ได้ร่วมด้วย) พรรคที่ได้ผู้แทนฯ มากที่สุดคือพรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งนำโดย พลเอก เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เมื่อรวมกับผู้แทนจากกองทัพพม่า จะมากกว่า 80% ของสมาชิกสภาทั้งหมด ส่วนพรรคที่มาจากรัฐที่เป็นสมาชิกสหภาพทั้ง 7 รัฐ รวมกันกับพรรคการเมืองของพม่าอีกหลายพรรค ได้ไม่ถึง 19%

พรรค USDP มาจากกลุ่มพลังมวลชนที่กองทัพจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1993 โดยผู้นำเผด็จการรุ่นสอง พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย เตรียมการเอาไว้สืบทอดอำนาจ ในรูปพรรคการเมืองเมื่อมีการเลือกตั้ง


อำนาจวันนี้อยู่ที่ใครบ้าง?

พลเอกเต็ง เส่ง อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลทหารพม่า หัวหน้าพรรค USPD (แกนนำอันดับ 4 ของกองทัพ) ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่า ส่วนรองประธานาธิบดีคนที่ 1 คือ นายทิน อ่อง มิน อู (แกนนำอันดับ 5 ของกองทัพ) รองคนที่ 2 คือ ดร.นพ.จาย หมอกคำ สมาชิก USDP ชาวไทใหญ่
ตูรา ฉ่วยมาน (แกนนำอันดับ 3 ของกองทัพ) ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 
พล.ท.มิน อ่อง หล่าย อดีตแม่ทัพภาคสามเหลี่ยมทองคำและผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพม่า ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า แทนที่ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย
รัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุว่า เมื่อประเทศชาติมีภาวะวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยและความมั่นคงในชาติ ประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด


ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ก็มีอำนาจเพราะประชาชนและต่างประเทศสนับสนุน

วันนี้ ออง ซาน ซูจี ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ ก้าวออกนอกบ้านทันทีที่ประตูรั้วเปิด หนทางข้างหน้ายังยาวไกลและเต็มไปด้วยกับดักขวากหนาม ด้วยอายุ 67 ปี เธอจะเดินไปได้แค่ไหนไม่รู้  
เธอเปลี่ยนทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี นุ่งผ้าซิ่นเสียบดอกไม้ที่มวยผมเหมือนจะบอกว่ายังเป็นซูจีคนเดิม แต่จะเดินหน้าเข้าเล่นเกมระบอบประชาธิปไตยแบบพม่าๆ ต้องเลือกตั้ง ต้องเข้าไปทำงานในสภากับ ส.ส. ทหารนับพัน 
ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับทหาร แก้ไขปัญหาชนชาติ สร้างสัมพันธ์กับต่างประเทศ 
แต่มีกองเชียร์ทั้งในประเทศและทั่วโลก

ชัยชนะของพรรค NLD ในการเลือกตั้งซ่อมแม้ได้มาอย่างง่ายดาย แต่ฝ่ายรัฐบาลครองเสียงส่วนใหญ่ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ไปแล้ว ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการสาบานตัวว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญของ ส.ส. ฝ่ายค้านได้จบลงแล้ว

การยอมอ่อนให้ของ ออง ซาน ซูจี เพื่อก้าวเดินไปบนทางสายประชาธิปไตยแบบพม่า ทำให้นักลงทุนทั้งหลายถอนหายใจอย่างโล่งอก แต่จะสงบได้นานเท่าใด



อะไรคือขุมทรัพย์ในพม่า

แม้พม่าจะมี หยก ทับทิม ทองคำ แต่นั่นไม่ใช่ขุมทรัพย์ที่สูงค่าที่สุดในยุคปัจจุบัน ในโลกการค้าการผลิตยุคใหม่ขุมทรัพย์สำคัญคือ ทำเลที่ตั้งพม่า ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับเอเชียใต้และจีน เป็นประตูเปิดข้ามมหาสมุทรอินเดีย ไปถึงแอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป เปิดประตูหลังผ่านไทยไปลงมหาสมุทรแปซิฟิกที่เวียดนาม มีประชากรที่เป็นแรงงานค่าจ้างต่ำและมีผู้บริโภคถึง 60 ล้านคน 
มีแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 
มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำหลายแห่ง  
มีแร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น สังกะสี ทองแดง ปิโตรเคมี จึงเหมาะที่จะลงทุนเพื่อทำนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

กฎหมายการลงทุนใหม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจที่ลงทุนได้ 100% ถ้าร่วมทุนกับเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบาลต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 35% 
อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินจากรัฐหรือเอกชนนาน 30 ปี ต่ออายุการเช่าได้อีก 15 ปี
ปัจจุบันราคาที่ดินกลางเมืองย่างกุ้งได้พุ่งขึ้นไปสูงมากแล้ว มีคนกล่าวว่า ราคาพอๆ กับที่ดินกลางเมืองในกรุงเทพฯ เพราะกลางเมืองของพม่ามีที่ดินสำหรับการค้าการบริการน้อยมาก อีกเมืองหนึ่งที่ราคาที่ดินแพงก็คือเมืองมัณฑะเลย์  
กฎหมายห้ามรัฐบาลเข้ายึดกิจการไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ในขณะที่ยังไม่ครบกำหนดอายุสัมปทานหรือการต่ออายุสัมปทาน เว้นแต่จะซื้อกิจการตามราคาตลาดในขณะนั้น

ปัจจุบัน มีการลงทุนจากจีนมากที่สุดประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามด้วยประเทศไทย 9.5 พันล้านดอลลาร์ 
ส่วนการลงทุนของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน ในการสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย มีคนวิเคราะห์ว่ายังไม่ราบรื่นนักเพราะต้องใช้เงินทุนมหาศาล 
ขณะนี้ แม้มีผู้สนใจร่วมทุนจากหลายชาติ แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ เงื่อนไขการต่อรองก็มีมาก

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศว่าพม่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี "เราจะเอาผลประโยชน์ชาติไว้ข้างหน้า จะควบคุมเข้มงวดตลาดแต่เพียงน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะพัฒนาด้านเกษตร ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรม และจะเปิดประตูทำการปฏิรูป และต้อนรับการลงทุน ซึ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาประเทศชาติและประชาชน"
ผู้ที่เข้าไปลงทุนอยู่แล้วบอกว่ายังมีโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสาธารณูปการพื้นฐานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเรือ ถนน พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม แม้แต่ SME ประเภทของกินของใช้  
จุดอ่อนในการลงทุน ได้แก่ ภาคการเงิน-การธนาคารที่ยังคงล้าหลังซึ่ง IMF กำลังช่วยปรับปรุง การทำงานของหน่วยงานราชการยังมีความล่าช้า ระบบไฟฟ้ายังไม่ทั่วถึง การขาดแคลนช่างฝีมือ
ในอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับคนใหม่ การร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น จะช่วยได้มาก

ทีมวิเคราะห์คิดว่าปัญหาใหญ่ในช่วง 5 ปีนี้ คือปัญหาการเมืองของพม่า นี่จะเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะขุมทรัพย์ในพม่าคือประเทศและคนทั้งชาติ ย้ายไม่ได้ หอบหนีไปไหนไม่ได้ อยากได้อะไรต้องสร้างต้องทำแล้วแบ่งกันกิน 



อนาคตการเมืองที่ไม่แน่นอนคือปัญหาใหญ่

ถ้ามีการเลือกตั้งใหญ่ อีก 3 ปีข้างหน้า ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น พรรค NLD นำโดยซูจี ถูกประเมินแบบธรรมดาว่าน่าจะได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา แต่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ส.ส. จากทหารก็จะแต่งตั้งเข้ามา 1 ใน 4 และอาจเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ มาให้คนเลือก ในท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจจากการพัฒนา

เต็ง เส่ง กล่าวว่า ประเทศพม่ามี 3 สิ่งที่จำเป็นในการสร้างประเทศ คือ ความแข็งแกร่งทางการเมือง ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และความแข็งแกร่งทางการทหาร  
ทีมวิเคราะห์...เห็นว่านั่นเป็นเป้าหมายที่ไปถึงได้ยาก เพราะ 
1.ความแข็งแกร่งทางทหารยังไม่มี จึงยังมีชนชาติต่างๆ ท้ารบมาตลอด 50 ปี ถ้าช่วงไหนสงบก็เป็นเพราะการเจรจาทหารพม่าแข็งแกร่งกว่าประชาชนมือเปล่าแน่นอน 
2.ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ มีทางเป็นไปได้ถ้าใช้เวลาซัก 10 ปี...ถ้าการเมืองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยซัก 60% และถ้าสงครามภายในค่อนข้างสงบ 
3.ความแข็งแกร่งทางการเมือง ต้องเป็นความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง และถ้าระบบแข็งจริง แต่พรรคอื่นชนะและจะได้เป็นรัฐบาล ถ้าฝ่ายทหารรู้ว่าแพ้แน่ การรัฐประหารจะเกิดได้หรือไม่ คำตอบคือ มีโอกาส

ก่อน พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ก้าวลงจากเบอร์ 1 น่าจะวางหมากไว้ในแต่ละกลุ่มให้มีกำลังสนับสนุนที่ถ่วงดุลกันได้เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล แต่กลุ่มของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ถ้าอยู่ในตำแหน่งนานๆ ก็น่าจะเข้มแข็งที่สุด 
แต่ถ้าผลประโยชน์ไม่ลงตัว กลุ่มรองประธานาธิบดีทิน อ่อง มิน อู และกลุ่ม ผบ.สส. อย่าง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ก็อาจแยกตัวได้ ยังมีกลุ่มของ ตูรา ฉ่วย มาน ประธานสภาประชาชน อดีตนายพลเอก ผู้นำหมายเลข 3 กองทัพ อาจตั้งพรรคขึ้นมาได้ 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักศึกษา ที่เคยนำขบวนต่อสู้กับเผด็จการทหารในปี 1988 และถูกปราบปรามถูกจับกุม หลายคนจะกลับมาเล่นการเมือง ซึ่งอาจจะอยู่กับซูจี หรือตั้งตนเป็นอิสระก็ได้


ในหน้ากระดาษที่จำกัดนี้ ยังไม่สามารถเขียนถึงปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาของชนชาติต่างๆ คงต้องขอในโอกาสหน้า อยากให้ผู้สนใจลงทุนคิดให้รอบคอบ ให้เหมาะกับประเภทธุรกิจและทุนที่มี


สรุปว่า 3 ปีข้างหน้า คู่แข่งขันหลักน่าจะเป็น เต็ง เส่ง กับ ออง ซาน ซูจี ผู้วิเคราะห์เห็นว่าอุปสรรคของทั้งคู่ คือ อายุ เพราะช่วงนั้นทั้งคู่จะอายุ 70 เท่ากัน

วันที่นายพลออง ซาน ถูกสังหาร ซูจีเพิ่งจะ 2 ขวบ ส่วน เต็ง เส่ง ก็ยังเล่นดิน อยู่ในเขตทุรกันดารหลังเขา

ก่อนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของพม่าจะมาฝากไว้กับเด็กน้อย 2 คนที่ดูเหมือนทั้งชีวิตจะไม่มีทางได้พบกันเลย เพราะเมื่อโตขึ้น ซูจีก็ไปต่างประเทศแล้ว แต่เพราะการเมือง ทำให้ทั้งคู่อาจจะต้องร่วมกัน หรือสู้กันโดยมีชะตากรรมของประเทศเป็นเดิมพัน

และน่าจะเป็นผลงานเด่นชิ้นสุดท้ายในชีวิตที่จะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์



.