http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-12

ขบวนประชาธิปไตยไทยเติบใหญ่! รำลึกการลุกขึ้นสู้ของชาวเสื้อแดง โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ขบวนประชาธิปไตยไทยเติบใหญ่! รำลึกการลุกขึ้นสู้ของชาวเสื้อแดง
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 37


"ผู้ที่ยอมฝ่าย ที่ตนมองว่าเป็นศัตรูนั้น
เชื่อว่าถ้าพวกเขาโยนสเต็กให้เสือกินไปเรื่อยๆ แล้ว
เสือจะเปลี่ยนเป็นพวกมังสวิรัติ"
Heywood Broun 
นักสื่อสารมวลชนอเมริกัน(ค.ศ. 1888-1939)


จวบจนปัจจุบันแล้ว หากบรรดานักรัฐประหารและกลุ่มผู้สนับสนุนการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 มี "ประตูกาลเวลา" ของโดราเอมอน ที่จะเปิดย้อนเวลากลับสู่อดีตได้แล้ว พวกเขาจะยังคงยืนยันที่จะทำรัฐประหารอีกหรือไม่?
หรือพวกเขาเชื่อว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการเมืองไทยก็ตาม รัฐประหารยังคงเป็นเครื่องมือที่ "ถูกต้องและชอบธรรม" ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และยังเป็นสิ่งที่จะต้องใช้ต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงว่า ผลสืบเนื่องจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม...

สำหรับนักรัฐประหารแล้ว พวกเขายังคงยืนอยู่ในจุดที่เชื่อเสมอว่า ยึดอำนาจรัฐให้ได้ก่อน เพราะเมื่อได้อำนาจมาแล้ว พวกเขาจะมีสถานะเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ในฐานะของการเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ พวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลกับปัญหาในทางกฎหมาย เพราะอย่างไรเสีย นักกฎหมายไทยโดยทั่วไป ตลอดรวมถึงบรรดาบุคลากรในสถาบันตุลาการส่วนใหญ่ก็อยู่กับความเคยชินทางการเมืองที่ว่า ผู้ชนะในการรัฐประหารคือ "องค์อธิปัตย์" โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงว่า รัฐประหารโดยตัวของมันเองมีความถูกต้องเพียงใด 
ตราบเท่าที่การยอมรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจยังเกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับกับสังคมในวงกว้างแล้ว โอกาสของการรัฐประหารก็จะยังคงอยู่ต่อไปในการเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้เกิดจากการรัฐประหารเสียแล้ว หรือไม่มีอำนาจใดจะมาทำให้เกิดขึ้นได้จริงไม่ว่าอำนาจเช่นนี้จะมาจากภายในหรือภายนอกระบบก็ตาม บางทีเมื่อนั้นรัฐประหารอาจจะค่อยๆ ลบเลือนออกไปจากการเมืองไทย 
เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ทำให้กลุ่มผู้ยึดอำนาจมีความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ 
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว การยึดอำนาจของพวกเขาก็ไม่อาจทำให้พวกเขาเข้ามาเป็นผู้ยึดกุมอำนาจรัฐได้ ไม่ว่าจะในบริบททางรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ก็ตาม 
ผลพวงที่สำคัญก็คือ ถ้าความเป็นรัฏฐาธิปัตย์เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว พวกเขาจะทำการนิรโทษกรรมตนเองก็เป็นไปไม่ได้ด้วย อันจะทำให้กระบวนการ "ลบล้างความผิด" ด้วยเงื่อนไขของกฎหมายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในตัวเอง แม้จะใช้อำนาจพิเศษจากสถาบันภายนอกเข้ามาเป็นผู้กระทำแทนก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกัน  
เพราะความผิดดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจลบล้างได้ตั้งแต่ต้นเสียแล้ว


สังคมไทยในปัจจุบันอาจจะยังเดินไปไม่ถึงจุดดังกล่าว เพราะในการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง ไม่ใช่เรื่องของผู้นำทหารแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ 
บางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่า การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีตของการเมืองไทยนั้น เป็น "การลงขัน" ของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของชนชั้นนำเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ 
เพราะหลายต่อหลายครั้ง รัฐประหารเป็นเครื่องมือชนชั้นนำในการจัดการกับกลุ่มต่อต้านพวกเขาในระบบการเมือง โดยกองทัพเป็นเพียง "เครื่องมือ" ในการจัดการนี้เท่านั้นเอง

รัฐประหาร 2490 จึงไม่ใช่เพียงการหวนคืนของกลุ่มราชานิยม และกลุ่มทหารนิยมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการบดขยี้กลุ่มปรีดีนิยมที่เป็นรากฐานของคณะราษฎร์สายพลเรือนให้ต้องสูญสิ้นสภาพไป...

...รัฐประหาร 2500 ก็คือการผนึกกำลังของกลุ่มราชานิยมและกลุ่มทหารนิยมอีกครั้งในการจัดการกับการเติบใหญ่ของกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม,จอมพลผิน ชุณหะวัณและพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ...

รัฐประหาร 2519 อาจจะแตกต่างออกไป เพราะไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจในระบบเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการผนึกกำลังกันอีกครั้งในการต่อต้านการขยายตัวของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทน 
รัฐประหารครั้งนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบดขยี้ฝ่ายซ้ายทั้งหลาย จนกลายเป็นการสิ้นสุดของ "ยุคทองของนิสิตนักศึกษาไทย" และส่งผลให้คนเหล่านี้เป็นจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ชนบทร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย...

รัฐประหาร 2534 ก็คือการผนึกกำลังของกลุ่มต่อต้านทุน ที่กังวลกับการเติบใหญ่ของระบบทุนนิยม และกังวลกับปัญหาการขยายตัวของการเมืองแบบการเลือกตั้ง จนในที่สุดกำลังทหารก็เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการทำลายคู่ปฏิปักษ์เช่นเคย...

รัฐประหาร 2549 ไม่ได้แตกต่างกันที่เป็นการรวมกำลังครั้งใหญ่ในการจัดการกับการเมืองแบบการเลือกตั้ง และการขยายตัวของทุนใหม่ที่เติบโตเข้มแข็งจนกลายเป็น "ความกลัวใหญ่" ของบรรดาชนชั้นนำและกลุ่มธุรกิจเก่า

สุดท้ายพวกเขาก็ใช้การยึดอำนาจเป็นการทำลายเป้าหมายของความกลัวเหล่านี้ลง ไม่แตกต่างกับการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือเช่นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ นั่นเอง



ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพเป็นเครื่องมือที่ "ทรงพลัง" ในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม บรรดาฝ่ายต่อต้านทั้งหลาย เพราะว่าที่จริง เครื่องมือนี้ถูกออกแบบเพื่อใช้ในการสงครามของประเทศ แต่เมื่อชนชั้นนำร่วมกับผู้นำทหาร ใช้เพื่อการเข้ายึดอำนาจของระบบการเมืองแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลพลเรือนจะต้านทานอำนาจของกองทัพอันเป็นกองกำลังติดอาวุธขนาดใหญ่ได้เลย  
จึงไม่แปลกอะไรนักที่การต่อต้านจากรัฐบาลพลเรือนของไทยแทบจะไม่เคยประสบความสำเร็จ 
ตัวอย่างของการต่อสู้ในยุคก่อน เช่น กรณีกบฏวังหลวงในปี 2492 ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มพลเรือน (แม้จะมีอาวุธบางส่วน) ไม่อาจหยุดยั้งการล้อมปราบของกองทหารได้

การต้านทานอาจจะเป็นไปได้อยู่บ้าง ก็ดูจะเป็นกรณี "กบฏยังเติร์ก" ที่รัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งสามารถควบคุมกำลังทหารบางส่วนไว้ในมือได้ ตัดสินใจต่อสู้กับการรัฐประหารของ "กลุ่มยังเติร์ก" โดยมี "ความสนับสนุนพิเศษ" เป็นพื้นฐาน จึงสามารถปราบปรามการก่อรัฐประหารดังกล่าวลงได้ 
แต่พ้นจากนั้นแล้ว ล้วนเป็นตัวแบบที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลแทบไม่อาจต้านทานการรัฐประหารได้อย่างจริงจังเท่าใดนัก รัฐประหาร 2534 และ 2549 ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ตอกย้ำข้อสังเกตข้างต้น

ถ้าเช่นนั้น พลังอำนาจของกองทัพในทางการเมืองพ่ายแพ้อะไร?


ดังได้กล่าวแล้วว่า พลังอำนาจทางทหารในการยึดอำนาจรัฐนั้นยังเป็น "อำนาจชี้ขาด" ในการเปลี่ยนการเมืองเป็นไปตามความต้องการของชนชั้นนำและผู้นำทหารได้ตราบที่เรายังไม่สามารถทำให้สถาบันตุลาการปฏิเสธสถานะความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จากการยึดอำนาจได้ 
และไม่ว่าเราจะตรากฎหมายออกมากี่ฉบับเพื่อป้องกันการรัฐประหาร แต่หากผู้ยึดอำนาจมีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้แล้ว กระบวนการล้มล้างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด 

หากเป็นเช่นนี้ปัญหาสำคัญจึงเป็นประเด็นว่า ทำอย่างไรที่สถาบันตุลาการจะไม่ทำให้เกิดสถานะของความเป็นรัฏฐาธิปัตย์แก่ผู้ยึดอำนาจ

ซึ่งว่าที่จริงแล้วปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดได้จริงก็ต่อเมื่อสังคมการเมืองพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า "Democratic Consolidation
ความเข้มแข็งเช่นนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มการเมืองต่างๆ ล้วนแต่ยอมรับว่า การแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่ภายใต้ "กรอบประชาธิปไตย" เท่านั้น หรือที่อธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นเกมสำหรับการแข่งขันเกมเดียวเท่านั้น (อธิบายในทางทฤษฎีก็คือ "Democracy is the only game in town.")

ถ้าการยอมรับเช่นนี้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะนำไปสู่สภาพที่ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพ และมิได้หมายความว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ในทางตรงข้ามระบอบการเมืองเช่นนี้เปิดรับความขัดแย้ง หากแต่ทำให้การแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ นั้นถูกจัดให้อยู่ในกระบวนการเมืองแบบรัฐสภา
แม้จะมีการขับเคลื่อนการเมืองจากนอกรัฐสภา แต่ก็มิใช่สิ่งที่จะนำไปสู่ความพยายามในการลากเอากองทัพเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการเมือง
กล่าวคือการเมืองนอกสภาดำเนินการเป็น "กลุ่มพลัง" เพื่อสะท้อนถึงความต้องการของกลุ่มเหล่านั้นในทางการเมือง และหวังว่าพรรคการเมืองจะนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา

ในอีกด้านหนึ่งพัฒนาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบรรดาชนชั้นนำเลิกคิดที่จะใช้กองทัพเป็นฐานทางการเมืองของตน และยุติความคิดที่จะผลักดันให้กองทัพเป็นเครื่องมือในการจัดการกับกลุ่มการเมืองที่ฝ่ายตนไม่ต้องการ 
ฉะนั้น ตราบเท่าที่พวกเขายังเชื่อเสมอว่า พวกเขาเป็นผู้ควบคุมกองทัพ และกองทัพไม่ใช่กลไกรัฐ หากเป็นกลไกของชนชั้นนำแล้ว ตราบนั้น รัฐประหารก็จะยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำขัดแย้งกับรัฐบาลแล้ว เมื่อนั้น พวกเขาก็จะผลักเอากองทัพมาขับเคลื่อนบนกระดานการเมือง



ถ้าเช่นนั้นในอีกมุมหนึ่งก็จะต้องทำให้กองทัพเป็น "ทหารอาชีพ" (professional soldier) ที่บรรดานายทหารทั้งหลายจะต้องตระหนักว่า กองทัพไม่ใช่เครื่องมือของการยึดอำนาจ หรือเป็นพลังของชนชั้นนำและบรรดาชนชั้นสูงที่จะใช้เพื่อการควบคุมทางการเมือง 
หากแต่กองทัพเป็นกลไกรัฐ และเป็นเครื่องมือของรัฐในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง 
และที่สำคัญก็คือ ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐบาลเป็น "ผู้ควบคุมกองทัพ" งบประมาณของกองทัพจึงมาจากภาษีของประชาชน ที่ถูกจัดสรรโดยข้อเสนอของรัฐบาลและผ่านกระบวนการด้วยความเห็นชอบจากรัฐสภา 
งบประมาณทหารไม่เคยได้มาจากทรัพย์สมบัติของบรรดาชนชั้นนำหรือชนชั้นสูงแต่อย่างใด

ในอีกส่วนหนึ่งก็จะต้องพัฒนาจิตสำนึกของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร การต่อต้านเช่นนี้อาจจะมีตั้งแต่ระดับของการ "ดื้อแพ่ง" ไปจนถึงระดับของการต่อต้านด้วยความรุนแรง ซึ่งก็อาจขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานการณ์การเมืองของแต่ละประเทศ 

สำหรับในกรณีของไทย แรงต้านรัฐประหารปรากฏชัดอย่างเป็นรูปธรรมหลังจากการยึดอำนาจในปี 2549 เป็นต้นมา 
และอย่างน้อยการตัดสินใจของ "ลุงนวมทอง ไพรวัลย์" เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเมือง ที่คนขับรถแท็กซี่กล้าปฏิเสธรัฐประหารด้วยการขับรถชนรถถัง


นอกจากตัวแบบเช่นนี้แล้ว การปรากฏตัวของขบวนการ "คนเสื้อแดง" ก็คือภาพสะท้อนของแรงต่อต้านรัฐประหารอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทย  
และแม้พวกเขาจะผ่านการล้อมปราบถึง 3 ครั้งไม่ว่าจะเป็นการล้อมปราบในสงกรานต์ 2552 สงกรานต์ 2553 และราชประสงค์ 2553 แต่การล้อมปราบที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถบดขยี้และสลายพลังของบรรดาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเช่นนี้ได้

ถ้าเป็นเช่นนี้กองทัพจึงไม่ใช่เครื่องมือของการปราบปรามทางการเมืองที่ทรงพลังอีกแต่อย่างใด การล้อมปราบที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพไทย "ติดลบ" อย่างมาก เช่นเดียวกับภาพของบรรดาชนชั้นนำที่เกี่ยวข้องก็ติดลบอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน


บทพิสูจน์ซึ่งแลกด้วย "เลือดและชีวิต" ของชาวเสื้อแดงจากการถูกล้อมปราบถึง 3 ครั้งเช่นนี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า ขบวนประชาธิปไตยไทยกำลังก้าวหน้าและเติบใหญ่
แต่ขณะเดียวกันรัฐประหารก็ไม่ทรงพลังเช่นวันวานในการเมืองไทย!



.