.
ก่อนถึงวันพิพากษาคดีที่ดินลำพูน ‘ชะตากรรมผู้บุกเบิก ที่กำลังถูกทำให้เป็นผู้บุกรุก’
โดย ไพจิต ศิลารักษ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
ใน www.prachatai.com/journal/2012/05/40662 . . Thu, 2012-05-24 20:24
ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เป็นวันที่ศาลจังหวัดลำพูน จะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชาวบ้านลำพูน บุกยึดที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ทำประโยชน์มาเป็นเวลานาน นานจนชาวบ้านในละแวกนั้นแทบไม่รู้เลยว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเจ้าของเป็นใคร และที่สำคัญที่ดินแปลงที่พิพาทนี้เดิมเป็นพื้นที่ที่จะต้องถูกนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกร แต่กลับถูกคนต่างถิ่น (ซึ่งรู้ภายหลังว่าเป็นนายทุน) เข้ามาครอบครองแย่งที่ดินซึ่งควรเป็นของเกษตรกรไปเป็นของตนเองและพวกพ้อง จนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี และจะมีคำพิพากษาสูงสุดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
เหตุการณ์เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง ปี ๒๕๓๖ โดยกลุ่มชาวบ้านในแถบอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง และกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่ดิน ๓ ประการได้แก่ ปัญหาการถูกนายทุนแย่งชิงและบุกรุกที่ดินทำกินและที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชน ปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินโดยไม่มีการทำประโยชน์ของนายทุนรายใหญ่ และปัญหาการถูกแย่งชิงสิทธิการได้ที่ดินภายใต้โครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมของรัฐ
ชาวบ้านเหล่านี้ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการยื่นหนังสือร้องเรียน การชุมนุมกดดัน ชาวบ้านได้ทำทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ จนกระทั่งนำมาสู่การใช้ปฏิบัติการเข้าบุกยึดที่ดิน และเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนายทุน ที่มีกระบวนการได้มาไม่ชอบธรรมและถูกปล่อยทิ้งร้าง ด้วยการใช้หลักสิทธิชุมชน ซึ่งมีรากฐานมาจากสิทธิ “ธรรมชาติ – สิทธิชุมชน” อันเป็นการประสานระหว่าง “จารีตเดิม” กับผลประโยชน์แบบใหม่ จนทำให้เกิดปรากฎการณ์สั่นคลอนระบอบทรัพย์สินที่รัฐกำหนด ซึ่งมีอยู่เพียงสองแบบ คือสิทธิของเอกชนและสิทธิของรัฐเท่านั้น
ปรากฏการณ์ในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่เท่านั้น แต่เงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดิน คือการที่ชาวบ้านตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรม ในการได้สิทธิในที่ดิน และที่สำคัญกระบวนการได้สิทธิในที่ดินของเอกชนที่ไม่ชอบธรรมนั้น ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติของรัฐและกลไกรัฐ ที่ตอบสนองเพียงเฉพาะคนบางกลุ่มที่มีทุน ขณะที่ชาวบ้านในท้องถิ่นดังเดิมที่ยากไร้ ก็ถูกผลักไสและปล่อยทิ้งจากการดำเนินการของรัฐ
การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้านถูกตอบโต้อย่างรุนแรง จากทั้งกลไกอำนาจรัฐในท้องถิ่นและจากนายทุน และเพื่อลดทอนพลังท้าทายและอำนาจต่อรองของฝ่ายประชาชน อำนาจรัฐและนายทุนจึงใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการปราบปรามชาวบ้าน ด้วย
การจับกุมและฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า ๑,๐๐๐ คดี ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นของมวลสมาชิก ขณะที่การได้ที่ดินแต่ไร้สิทธิที่รองรับโดยกฎหมายยิ่งถูกท้าทายจากสังคม
ชาวบ้านได้ทำการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้ที่ดินร่วมกันของสมาชิกภายในกลุ่ม โดยวิธีการแบ่งที่ดินออกเป็น ๒ ลักษณะ คือการแบ่งเป็นที่สาธารณะสำหรับหมู่บ้าน และแบ่งเป็นที่ทำกินให้กับชาวบ้านภายในกลุ่ม ซึ่งมีลักษณะเป็นการถือครองแบบปัจเจก แต่ใช้กฎระเบียบและคณะกรรมการเป็นผู้ควบคุมสิทธิการใช้ตามกฎระเบียบที่วางไว้ เช่น ห้ามซื้อขายโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ หรือคณะกรรมการอาจยึดที่ดินคืนกองกลางกรณีมีการซื้อขายที่ผิดกฎระเบียบที่กำหนดไว้ เป็นต้น
และมีการแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของและมีแนวเขต ซึ่งเรียกว่า “โฉนดชุมชน” เป็นการผสมผสานความคิดระบอบกรรมสิทธิ์แบบเอกชนเข้ากับระบอบกรรมสิทธิ์แบบจารีตประเพณี
ปฏิบัติการบุกยึดที่ดินของชาวบ้านลำพูน จึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเรื่องของที่ดิน ไม่ใช่การต่อสู้เฉพาะแค่ชาวบ้านในชนบท เพื่อครอบครองสะสมที่ดินเพื่อความมั่งคั่ง แต่เป็นการท้าทายค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ ความรู้และความคิดเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่เดิม ซึ่งถูกมอมเมาและให้คุณค่าในเชิงพาณิชย์ ว่าที่ดินเป็น “สินค้า” ซึ่งมีเพียงคนกลุ่มเล็กเท่านั้นที่เข้าถึงและครอบครองสิทธิในที่ดิน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไร้ที่ดิน แต่ปฏิบัติการของชาวบ้านที่ลำพูนได้สร้างความหมายใหม่ ด้วยการนิยามคุณค่าของที่ดินว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็น “ฐานชีวิตและปัจจัยการผลิตสำคัญสำหรับทุกคน”
จากปฏิบัติการของชาวบ้านลำพูนในครั้งนั้น ก็ได้ก่อให้เกิดกระแสการลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ในประเทศไทย จนกระทั่งปี ๒๕๔๗ รัฐบาล (ทักษิณ ชินวัตร ๑) ได้เริ่มตระหนักถึงปัญหาที่ดินทำกิน และนำไปสู่การประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน โดยมีผู้มาลงทะเบียนจำนวนกว่า ๑ ล้านคน และเมื่อข้อมูลความต้องการของเกษตรกรถึงมือรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะบรรดาเจ้าที่ดินส่วนใหญ่ ล้วนมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และที่สำคัญมีนักการเมืองจำนวนมากที่เป็นคนถือครองที่ดินเสียเอง
ปี ๒๕๕๓ รัฐบาล (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้นำเอาข้อเสนอของภาคประชาชนที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” จนนำไปสู่การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชนขึ้น และต่อมาในปี ๒๕๕๔ รัฐบาลก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งความขัดแย้งเรื่องที่ดินคงจะเกิดประเด็นให้ผ่อนคลายลงบ้าง
และต่อมาในปี ๒๕๕๔ ภาคประชาชนได้ผลักดันพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้บรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินไว้ในนโยบายของรัฐบาล จนกระทั่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำไปแถลงต่อรัฐสภาประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล (นโยบายข้อ ๕.๔ สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ) ซึ่งดูเหมือนสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องที่ดินจะมีทางออกที่ดีขึ้น
แต่เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 59 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน) โดยมีสาระสำคัญ คือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยให้ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ สามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายได้ จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 59 ทวิ ให้ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ สามารถเลือกที่จะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชน ตลอดจนเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
มติคณะรัฐมนตรี ดังกล่าว ก็สะท้อนถึงวิถีคิดแบบเดิม คือการให้สิทธิในที่ดินในระบอบกรรมสิทธิ์เอกชน และให้คุณค่าของที่ดินที่เป็นสินค้า มีความสำคัญในทางพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ล้าหลังกว่าชาวบ้านลำพูน ที่กำลังสร้างความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมให้กับที่ดินใหม่ ที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมแก่พลเมืองไทย ในการมีสิทธิในที่ดินอย่างเท่าเทียมกัน
กระบวนการยึดที่ดินของชาวบ้านลำพูน ซึ่งศาลจังหวัดลำพูนจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี้ จึงไม่ใช่จบลงเพียงแค่การตัดสินถูกผิดทางกฎหมาย หากแต่เป็นประกฎการณ์ที่ได้แสดงถึงความเติบโตของสังคมชนบท ที่ได้ทำให้เกิดการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในการจัดการทรัพยากรที่ดิน ดังเช่นการนำไปสู่การตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินหลายแห่งทั่วประเทศ ดังที่เห็นเป็นข่าวในปัจจุบัน
คุณูปการของชาวบ้านลำพูนที่ได้สร้างไว้แก่สังคมไทย กำลังเดินทางมาถึงบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง “กฎหมาย” กับ “ความเป็นธรรม” ภายใต้อุ้งมือของกระบวนการยุติธรรมไทย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
www.prachatai.com/activity/2012/05/40693
15 ปี คดีที่ดินลำพูน อาชญากร และกระบวนการยุติธรรม
Activity Date: Thu, 2012-05-31 13:00
กำหนดการ เวที Tea Talk
“ 15 ปี คดีที่ดินลำพูน อาชญากร และกระบวนการยุติธรรม”
วันที่ 31 พฤษภาคม 2555
ณ ร้าน Book Re : public ริมคลองชลประทาน
13.00 น. ลงทะเบียน
13.00-14.00 น. ย้อนรอย 15 ปี ที่ดินลำพูน : จุดเริ่มต้นการปฏิรูปที่ดิน
โดย สุแก้ว ฟุงฟู /รังสรรค์ แสนสองแคว
ดำเนินรายการโดย สุมิตรชัย หัตถสาร
14.00-15.00 น. เสวนา คดีที่ดินกับความเป็นอาชญากรในกระบวนการยุติธรรม
โดย อานันท์ กาญจนพันธ์ / ชยันต์ วรรธนะภูติ
ฉลาดชาย รมิตานนนท์ / ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ดำเนินรายการโดย สุมิตรชัย หัตถสาร
15.00-16.00 น. รับประทานอาหารว่างร่วมกัน และหารือเรื่องการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัวคดีที่ดิน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย