http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-04

“สานใจ”..สู่ยุทธศาสตร์ “ดับไฟใต้”/ ลึกแต่ไม่ลับ 4 พ.ค.55

.
รายงานพิเศษ - "สุกำพล" ใน Peace Mission กระชับหัวใจ ผบ.เหล่าทัพ ยิ่งสูง "บิ๊กตู่" จะหนาวมั้ย?? กับข้อความจาก "ทักษิณ"
คอลัมน์ โล่เงิน - "ก.ต.ช." ลดบทบาท "ศชต." ดันตั้ง "ศปก.ส่วนหน้า" ถาวร เขย่าเหล้าเก่าในขวดเก่า?!!
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม - ฟังความจากโลก "ออนไลน์" เมื่อ "ทีวี" งดเสนอข่าวนายกฯ ตอบโต้ "แทรกแซง" สื่อ

_____________________________________________________________________________________________________

ยิ่งลักษณ์ “สานใจ” ป๋า" จาก “ปรองดอง”การเมือง สู่ยุทธศาสตร์ “ดับไฟใต้”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 11


ท่ามกลางเสียงคาดเดาต่างๆ นานา 
ถึงเบื้องหลังการปิดห้องคุยส่วนตัวระหว่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา 
เท่าที่ได้รับการเปิดเผย คือ ช่วงหนึ่งใน 30 นาที มีการพูดคุยถึงโครงการช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ พล.อ.เปรม ดำเนินการมายาวนาน 
และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับปากว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนและสานต่อโครงการของ พล.อ.เปรม ในทุกโครงการ
"ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เราพูดคุยกันในเชิงของการทำงานช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ และอีกหลายโครงการที่ท่านมีประสบการณ์ ก็ได้แลกเปลี่ยนและรับฟังแนวคิด"

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา 1 ในรองนายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมคณะรดน้ำ พล.อ.เปรม ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ติดตามนโยบายแก้ไขสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า 
พล.อ.เปรม ได้เล่าให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟังถึงโครงการที่ทำอยู่ บางโครงการท่านไม่ได้บอกใคร เช่น การให้ทุนนักศึกษาภาคใต้จากเงินรายได้โครงการประมูลขายภาพของท่านเอง ทุนละ 3-4 หมื่นบาท และเล่าถึงโครงการ"สานใจไทยสู่ใจใต้"
"เท่าที่ฟัง พล.อ.เปรม พูดถึงโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือภาคใต้ นายกฯ บอกว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกโครงการที่เกิดประโยชน์กับประเทศ ซึ่ง พล.อ.เปรม ยิ้มรับ บอกว่าได้รับการช่วยเหลือจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว"
พล.อ.ยุทธศักดิ์ และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ยังเสนอแนวคิดรื้อฟื้นโครงการรักเมืองไทย โครงการเดิมของ พล.อ.เปรม ในการนำกีฬาลงไปสู่เด็กภาคใต้อีกด้วย


โครงการ"สานใจไทยสู่ใจใต้" เกิดจากแนวคิด พล.อ.เปรม เป็นการจัดกิจกรรมนำเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อายุ 15-18 ปีที่ได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียนต่างๆ
มาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตครอบครัวคนมุสลิมในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
เพื่อสร้างทัศนคติการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยจะสานต่อโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ที่ พล.อ.เปรม ดำเนินการมาต่อเนื่อง 
และพร้อมสนับสนุนโครงการการกุศลต่างๆ ของ พล.อ.เปรม โดยจะประสานรายละเอียดผ่าน พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ทั้งนี้ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในข้อ 1.5 ในส่วนนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ระบุว่า

เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่การขจัดความยากจน ยาเสพติดและอิทธิพลอำนาจมืด
น้อมนำกระแสพระราชดำรัส"เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เป็นหลักปฏิบัติในแนวทางสันติวิธี เน้นการส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับประชาชนในพื้นที่
อำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง เพิ่มโอกาสการศึกษาและคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
เคารพอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบสอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
บูรณาการการบริหารจัดการทุกภาคส่วน ให้มีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ปรับปรุง พัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทันสมัยกับสภาพความเป็นจริงของปัญหา
ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม



จากวันที่ 26 เมษายน หลังนำคณะเข้ารดน้ำและหารือกับ พล.อ.เปรม
ถัดจากนั้น 3 วัน วันที่ 29 เมษายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 
ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินทร อ.ยะรัง โดยมี นายยงยุทธ นายกิตติรัตน์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ รอรับอยู่ก่อนแล้ว 

นอกจากตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เนื้อหาสำคัญในการลงพื้นที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้ อยู่ที่การพบปะมวลชน ผู้นำศาสนา 5 จังหวัดภาคใต้ ผู้นำชุมชน และตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 3 จังหวัด
เพื่อรวบรวมข้อมูลจากการรับฟังทั้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์  
ทั้งยังประชุมร่วมหน่วยงานความมั่นคง ประกอบด้วย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัด 4 จังหวัด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านั้น 1 วัน นายกิตติรัตน์ ได้นำคณะตัวแทนกระทรวงการคลังและมหาดไทย ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เข้าร่วมประชุม 
เป็นการประชุมเน้นไปยังยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดภาคใต้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ขณะที่นายยงยุทธ และนายณัฐวุฒิ เดินทางลงพื้นที่ จ.ยะลา ติดตามงาน ศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 
ก่อนที่คณะของนายยงยุทธ และนายกิตติรัตน์ จะมาร่วมกันในงานเชื่อมั่นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการค้าธุรกิจในพื้นที่ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 

ต่อมาในการประชุม ครม. วันที่ 1 พฤษภาคม 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รายงานให้ ครม. ทราบถึงการลงพื้นที่ภาคใต้ โดยย้ำยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหาคือ น้อมนำปรัชญา"เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"เป็นตัวนำ 
มอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ บูรณาการงาน 17 กระทรวง 66 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
เชื่อมต่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาตร์ชาติ


นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังขอให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้  
โดยประสานผ่าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ และนายยงยุทธ พร้อมทั้งมอบหมายนายกิตติรัตน์ กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ดีกินดี 
วันเดียวกัน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัด โดยมีเลขาธิการ ศอ.บต. เข้าร่วมรับฟังด้วย 

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ในฐานะประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานทั้งหมดเป็นเอกภาพและบูรณาการ
ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณ เป็นเจ้าภาพจัด"เวิร์กช็อป" 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน
เพื่อเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ทั้งของ กอ.รมน. และ ศอ.บต. เข้าด้วยกัน เพื่อแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
พร้อมกำหนดเป้าหมายการทำงาน 3 ปี แต่จะประเมินผลการทำงานของแต่ละกระทรวง หรือแต่ละหน่วยงาน รายงานให้นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. รับทราบทุก 3 เดือน

"เราไม่ได้คิดว่าจะทำงานให้เสร็จในปีเดียว เอาแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละแผนยุทธศาสตร์ เมื่อครบ 3 ปี ได้ 85-90 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว มองเห็นแสงสว่างแล้ว"
เป็นแสงสว่างแห่งการดับไฟใต้ เช่นเดียวกับแสงสว่างแห่งการปรองดองทางการเมือง
นั่นคือการเริ่มต้นจุดประกาย นับตั้งแต่หลังวันที่ 26 เมษายน เป็นต้นมา



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 8


ขอเกาะติดกับ "คนฮิต-พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อีกครั้ง กับคิวสำคัญ บินเข้ากรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชมบิ๊กแมตช์ระหว่าง "เรือใบสีฟ้า-แมนเชสเตอร์ ซิตี้" ดวลเดือดกับ "ปีศาจแดง-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด" เป็นเกมดาร์บี้แมตช์ ของ 2 ทีมชั้นนำร่วมเมือง และทราบผลกันไปแล้ว "เรือใบสีฟ้า" เฉือนหวิวไป 1-0
"ทักษิณ" ไม่ยอมนั่งชมชั้นวีไอพี แต่กลับซื้อชั้นธรรมดาเข้าสนาม เพื่อต้องการวัดเรตติ้ง กับแฟนคลับชาวเรือใบ ว่ายังจำหน้าตากันได้หรือไม่ 
เป็นที่ทราบกันดีว่า "แมนฯ ซิตี้" คือทีมเก่าที่ "ทักษิณ" เคยนั่งเก้าอี้ประธาน เข้าไปช้อนซื้อหุ้นหลังถูกปฏิวัติและยึดอำนาจ ราคาเฉียด 100 ล้านปอนด์ เมื่อปี 2550 
และว่าจ้าง "อีริกสัน" อดีตผู้จัดการทีมชาติ มาเป็นกุนซือ และทุ่มทุนซื้อนักเตะชั้นนำมาร่วมทัพหลายคน
ดัน "เรือใบสีฟ้า" จากทีมท้ายๆ ตาราง ขึ้นมาอยู่ระนาบกึ่งกลาง-หัวแถวได้เป็นผลสำเร็จ

ขณะที่ธุรกิจฟุตบอลกำลังไปได้สวย การเมืองในประเทศไทยเกิด "กลับข้าง" ทักษิณตกที่นั่งเสือลำบากตามไปด้วย ตัดสินใจขายทีม "เรือใบสีฟ้า" ให้กับกลุ่มธุรกิจชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฟาดกำไรไปเฉียด 1,000 ล้าน
แต่ข่าวบางกระแสระบุว่า "ทักษิณ" รวยอู้ฟู่เฉพาะตัวเลข แต่เม็ดเงินกำไรจริง ถูก "เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด" ฟาดไปทั้งต้นทั้งดอก ยังเก๊กซิมไม่หายจนทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม การคืน "เอติฮัด สเตเดี้ยม" อีกครั้งของคนชื่อ "ทักษิณ" และปล่อยวางอย่างผู้ชมธรรมดา ปรากฏว่า กลับได้รับการต้อนรับจากพลพรรค "เรือใบสีฟ้า" อย่างอบอุ่น อาทิ กรูมารุมล้อมถ่ายรูป ขอลายเซ็น ร้องเพลงเชียร์ต้อนรับ 
ชาวเรือใบมองว่า "แมนฯ ซิตี้" ขึ้นจากก้นเหว มายืนแถวหน้า และอาจจะคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกประจำฤดูกาลนี้ได้ ก็เพราะ "ทักษิณ" จุดประกายไว้

การได้รับอนุญาตให้เข้าอังกฤษ ดูเหมือน "ทักษิณ" จะระแวดระวังโรคเดิมกำเริบ คือ พูดประเด็นการเมือง จึงค่อนข้างรัดกุมเป็นกรณีพิเศษ
มีข่าวความว่า นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคร่วม หรือจากเมืองไทย เดินทางไปรอพบกันน้อยมากๆ มีที่ขึ้นบัญชีไว้คณะเดียว คือ "คุณแดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" น้องสาว นำลูกน้องในคาถา "วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" ไปเยี่ยม หลังชมฟุตบอลคู่ "ผีแดง-เรือใบสีฟ้า" จบเรียบร้อยแล้ว
"ทักษิณ" จะพักผ่อนอยู่ที่คฤหาสน์ย่านเซอร์เรย์อีกประมาณ 10 วัน 
จากนั้น มีโปรแกรมจะบินเข้ากรุงปักกิ่ง ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มีกำหนดการจะพักยาว เพราะช่วงนี้อากาศในเมืองจีน ดีทุกเมือง ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป กะไว้ว่า จะตะลอนตีกอล์ฟให้อย่างเดียว สัก 15 วัน



เหลือเวลาไม่ถึงเดือน หรือ 30 วันแล้วที่ "ประชากรบ้านเลขที่ 111" จะพ้นโทษแบนทางการเมือง ผลสืบเนื่องมาจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค "ไทยรักไทย" ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550 
และวินิจฉัยให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งชุด ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองคนละ 5 ปี ด้วยมติ 6 ต่อ 3 
ขณะศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิ์ พรรคไทยรักไทยมีกรรมการบริหารพรรคอยู่ทั้งหมด 119 คน

บังเอิญว่า กรรมการจำนวน 7 คนลาออกก่อน จึงสิ้นสภาพการเป็นกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย 1.นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ 2.นายเสนาะ เทียนทอง 3.นายฐานิสร์ เทียนทอง 4.นายลิขิต ธีรเวคิน 5.นายสฤต สันติเมทะนีดล 6.นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ 7.นายกร ทัพพะรังสี และ 8.นางกอบกุล นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี ถูกยิงเสียชีวิต
จึงเหลือยอดที่ถูกเว้นวรรค จำนวน 111 ราย มีชื่อแถวหน้า ดังๆ ประกอบด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายไชยยศ สะสมทรัพย์ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายเนวิน ชิดชอบ นายประชา มาลีนนท์ นายประยุทธ มหากิจศิริ นายปองพล อดิเรกสาร นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายพินิจ จารุสมบัติ นายโภคิน พลกุล นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสมชาย สุนทรวัฒน์ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายสุชาติ ตันเจริญ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายชานนท์ สุวสิน นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี นายภูมิธรรม เวชยชัย

นางสิริกร มณีรินทร์ น.ต.ศิธา ทิวารี นายกันตธีร์ ศุภมงคล นายจำลอง ครุฑขุนทด นายฉัตรชัย เอียสกุลท พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ นายบุญชู ตรีทอง นายประจวบ ไชยสาส์น นายเทวัญ ลิปตพัลลภ นางพวงเพชร ชุนละเอียด นายระวี หิรัญโชติ นายวราเทพ รัตนากร นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย พ.ต.ท.อดุล บุญเสรฐ นายกฤษ ศรีฟ้า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายชาญชัย ปทุมารักษ์ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายเรืองวิทย์ ลิกค์ นายอดิศัย โพธารามิก นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายอนุชา นาคาศัย เป็นต้น 
เท่ากับว่า ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ครบกำหนด 5 ปี ที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ และกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ์คนละ 5 ปีเต็ม

สามารถออกจากกรงเล็บ มาโผบินได้เต็มพิกัด อย่างน้อย ถูกขานชื่อว่า มีโอกาสสูงที่ถูกวางตัวให้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3" ได้โดยพลัน ในการปรับ ครม. ในช่วงเดือนมิถุนายน ก่อนวันที่ 21 มิถุนายน วันเกิด "นายกฯ ปู"



+++

"สุกำพล" ใน Peace Mission กระชับหัวใจ ผบ.เหล่าทัพ ยิ่งสูง "บิ๊กตู่" จะหนาวมั้ย?? กับข้อความจาก "ทักษิณ" 
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 16


เมื่อ "นายใหญ่" ส่งสัญญาณให้ "ปรองดอง" หยุดแค้น ช่างแม่มัน ทั้งองคาพยพแห่งระบอบทักษิณก็ต้องเบนเข็มยูเทิร์น กลับลำกันหมด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำทีม ทำแคมเปญปรองดอง เป็นซีรี่ส์ กับ ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ถูกยกให้เป็นหัวขบวนของฝ่ายอำมาตย์ เรื่อยมา ตั้งแต่พบกันครั้งแรกในงานเลี้ยงวันกองทัพบก จนเชิญป๋า ย่างเหยียบทำเนียบรัฐบาล เอาดนตรีและบทเพลงของป๋า ขับกล่อม จนนำมาถึงการยอมสยบต่อ "มือที่มองไม่เห็น" มุดเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ รดน้ำขอพรเนื่องในวันสงกรานต์ เมื่อ 26 เมษายน 
แม้จะปิดประตูห้องคุยกันแค่สองคน ท่ามกลางการคาดเดาไปต่างๆ นานา ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องขอโทษหรือขอขมาแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชาย ที่เคยล่วงเกิน เข้าใจผิด และขอกลับเข้าประเทศ 
แต่ข่าวในบ้านสี่เสาฯ เม้าธ์กันว่า ตามสไตล์ป๋าแล้ว ไม่ปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นฝ่ายรุกถามหรือรุกพูด แต่ป๋าใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการพูดคุยเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ อันเป็นเรื่องที่ป๋าเป็นห่วง ใส่ใจและสนใจติดตามมาตลอด เพื่อฝากให้นายกรัฐมนตรีช่วยแก้ไขเอาจริงเอาจัง
เพราะป๋าเองก็ช่วยด้วยการให้มูลนิธิรัฐบุรุษฯ ทำโครงการ "สานใจไทยสู่ใจใต้" นำเยาวชนมุสลิม 5 จังหวัดใต้มาเที่ยวกรุงเทพฯ ให้ศึกษาวิถีมุสลิมในภาคกลาง ด้วยการไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์มาแล้วหลายรุ่น ที่ป๋ามักมาเปิดและปิดโครงการ พบปะเด็กๆ และครอบครัวด้วยตนเองทุกรุ่น 
นี่กระมังที่ทำให้หลังออกจากบ้านป๋า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงโทร.ทางไกลถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ระหว่างการร่วมคณะ รมว.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพเยือนจีน ให้เตรียมตัวลง 3 จังหวัดใต้ 29 เมษายน ด้วยกัน ทำให้ ผบ.ทบ. ต้องกลับไทยก่อน



ที่น่าแปลกก็คือตั้งแต่พบนายกฯ หญิง ครั้งนี้ ป๋าเปรม ยังไม่เอ่ยปากแสดงความรู้สึกใดๆ แต่ติดตามอ่านข่าวและดูข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ตลอด ที่สำคัญคือ ป๋าอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความพอใจ สบายใจ ได้เป็นอย่างดี 
อีกเป้าหมายของการปรองดองของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ กองทัพ ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องพยายามใช้ความอ่อนนุ่มเยี่ยงอิสตรีถอดเขี้ยวเล็บนี้ออกให้ได้ 
เธอจึงต้องญาติดีกับกองทัพ โดยเฉพาะ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จนกลายเป็นคู่หวานที่ถูกจับตามอง อย่างคาดไม่ถึง 

รวมทั้ง บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่คุมกองทัพโดยตรงนั้น ก็ต้องถอดเขี้ยวเล็บของทหารอากาศเหยี่ยวเวหาของตัวเองออก เพื่อปรองดองกับ ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทายาทอำนาจของ คมช. และสายตรงอำมาตย์ 
แรกๆ พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งถูกมองว่าเป็นคนแรง ถูกจับตาว่าจะมีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็แรงเหมือนกันหรือไม่ มีการประลองกำลังหยั่งเชิงกันพอหอมปากหอมคอ แต่การแต่งตั้งโยกย้ายทหารกลางปี เมื่อปลายมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ รู้ว่า การเมืองไม่เข้าแทรก 
อีกทั้ง พล.อ.อ.สุกำพล ก็มักชวนเชิญทานข้าวเช้า หรือกลางวัน พูดคุยกันอย่างเปิดอกมาหลายครั้ง


แต่ที่ยิ่งเป็นการกระชับพื้นที่ความห่างในหัวใจของ พล.อ.อ.สุกำพล กับ ผบ.เหล่าทัพ และโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี ก็เมื่อร่วมคณะประวัติศาสตร์ไปเยือนจีนกันพร้อมหน้าเมื่อ 25-28 เมษายนที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ส.ส. พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. และ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ.
เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการให้ความสำคัญกับจีน เพื่อคานอำนาจสหรัฐอเมริกาที่กำลังแผ่มาในภูมิภาคนี้ เพราะยังไม่มีการไปเยือนเต็มคณะเช่นนี้มาเป็นเวลา 15 ปี ตั้งแต่ยุค บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น รมว.กลาโหม แล้ว
งานนี้นอกจากจะได้ผลสำเร็จด้านการบ้านการเมืองระหว่างประเทศที่จะเพิ่มความสำคัญให้ไทยในสายตามหาอำนาจอย่างสหรัฐที่ต้องงอนง้อเอาใจไทยมากขึ้น ร่วมมือกันผลิตจรวดหลายลำกล้อง การฝึกร่วมทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อความสงบในภูมิภาค เพราะไทยยันจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาคแล้ว ยังส่งผลให้เกิดบรรยากาศแห่งความปรองดองกันเองในหมู่ทหาร เป็น Peace Mission ทั้งนอกและในประเทศเองด้วย
ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นของกรุงปักกิ่ง คืนแรก พล.อ.อ.สุกำพล ก็ชักชวน ผบ.เหล่าทัพ ที่แต่งสูทไปเดินเล่น ย่าน "เฉียนเหมิน" กันเป็นแผงท่ามกลางการ รปภ. ของฝ่ายจีนระดับสูงสุด ราวเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้


อีกวันต่อมาหลังจากร่วมกรำศึกประชุมหารือร่วมกัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ในการพบเจรจากับ ทั้ง นายสี จิ้น ผิง รองประธานาธิบดีจีน ที่กำลังจะขึ้นเป็นประธานาธิบดี และ พล.อ.เหลียง กวง เลี่ย รมว.กลาโหมจีน ตกเย็นหลังจากทำศึกเหมาไถกับผู้นำทหารจีนที่มากันเต็มคณะด้วยเช่นกันแล้ว พล.อ.อ.สุกำพล ก็ชวน ผบ.เหล่าทัพ มานั่งดื่มตามอัธยาศัย เพื่อถอนพิษเหมาไถ 
พล.อ.อ.สุกำพล พล.ร.อ.สุรศักดิ์ เลือกดื่มชา กาแฟ ส่วน พล.อ.ธนะศักดิ์ เลือกใช้ความหวานของไอศกรีม ทำลายความมึนจากเหมาไถ ส่วน 3 ทหารเสือ ทั้ง พล.อ.เสถียร พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อ.อิทธพร เลือกใช้ เบียร์ "ชิงเต่า" เบียร์ท้องถิ่นของจีน กระชับมิตร พอหอมปากหอมคอ ด้วยบรรยากาศพี่น้อง 
"ไปด้วยกันได้ดีเลยล่ะ ผบ.เหล่าทัพให้เกียรติผมมาก โดยเฉพาะ ตู่ ผบ.ทบ. ที่จับตามองกัน เค้าน่ารักมากนะ แล้วผมก็ไม่ได้เป็นยักษ์เป็นมารอะไรอย่างที่ว่ากัน ไม่ได้ไปแทรกแซงก้าวก่ายกองทัพเลย" บิ๊กโอ๋ ประเมินผลงานกว่า 3 เดือนเศษของตนเอง  
ความใกล้ชิดสนิทสนม เพิ่มมากขึ้นทุกวันจากการทำงาน "มีอะไรก็โทร.คุยกันโดยตรง แต่ถ้าไม่จำเป็นผมก็จะไม่กวน ผบ.เหล่าทัพเค้านะ คุยกันได้ทุกเรื่อง ผบ.เหล่าทัพ เรียกผม พี่โอ๋ ก็ยิ่งดูสนิทเป็นพี่น้อง"  
แต่กระนั้นก็ตาม ในบางเรื่องที่ต้องพูดคุยตกลงใจกันให้ได้ พล.อ.อ.สุกำพล ก็จะปล่อยให้ปลัดกลาโหม ผบ.สส. และ ผบ.สามเหล่าทัพ แสดงความเห็นต่างๆ เต็มที่ เพื่อเลือกและตกลงใจในสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด 
"บางทีดื้อ บางท่านไม่ยอม ผมก็ต้องดุเอาบ้างเหมือนกัน แต่ก็ด้วยเหตุผลที่ดีกว่า ก็ยอมรับกันได้ตกลงกันได้" บิ๊กโอ๋ เผย


ในสายตา พล.อ.อ.สุกำพล แล้ว เขาแฮปปี้กว่าที่เคยคาดคิด เพราะเบื้องแรกคิดว่าจะต้องมาเล่นบทบู๊ แต่เมื่อมีสัญญาณปรองดอง เขาก็ต้องกลับมาเล่นบทรัก ซึ่งเป็นบทที่ถนัดและเต็มใจอยากเล่น  
"ก็พี่น้องกันหมด เรียนเตรียมทหารด้วยกันมา มีอะไรก็คุยกัน ถ้าเป็นแบบนี้ ผมว่า อยู่กันไปได้เรื่อยๆ ยาว" บิ๊กโอ๋ ตบท้าย 
ฝ่าย ผบ.เหล่าทัพ ก็พึงพอใจใน รมว.กลาโหม คนนี้ ที่แสดงบทพี่ใหญ่นำน้องๆ มาโลดแล่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอย่างองอาจ 
ยิ่งในทัศนะของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยถูกจับตามองว่าจะเป็นคู่เกาเหลากัน ก็ยิ่งมีแต่เรื่องแฮปปี้ 
"พี่โอ๋ ท่านเข้าใจกองทัพนะ มีอะไรก็คุยกันตรงๆ ได้ไม่ได้ยังไง ก็พี่ผมทั้งนั้น ไม่ว่าจะ รมว.กลาโหม คนไหน แม้แต่ พี่ป้อม พล.อ.ประวิตร ก็พี่ แต่ผมก็ต้องวางตัวให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่มีปัญหาอะไร" บิ๊กตู่ เปรย



ด้วยเพราะการเป็น ผบ.ทบ. ตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า ทุกสายตากำลังจับตามองมาที่ตนเองในทุกย่างก้าว 
"ผมก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อกองทัพ เพื่อชาติบ้านเมือง และเพื่อสถาบัน ทำหน้าที่ของเรา ในฐานะทหาร ไม่ใช่เพื่อปรองดองอะไร แต่ผมมองว่า ชาติบ้านเมืองจะต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ไม่อย่างนั้น ก็จะเป็นอยู่แบบนี้ ยิ่งเมื่อไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในอีก 3 ปีข้างหน้า กองทัพเองก็ต้องเตรียมตัว ปรับตัว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
บางครั้งการเป็น ทบ.1 เป็นเบอร์หนึ่งของกองทัพบก เหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด มีบทบาทสูงสุดในทางการเมือง ก็ย่อมมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เข้าใจและไม่เข้าใจ บางครั้งต้องเลือกกองทัพ เลือกส่วนรวม ก่อนเรื่องส่วนตัว จนอาจทำให้บางคนรู้สึกว่า ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว 
"เคยคิดเหมือนกัน แต่สำหรับผมยิ่งสูง แต่ไม่หนาว เพราะผมเป็นคนเอาเพื่อน ช่วยเหลือคนอื่น ไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยวเลย" บิ๊กตู่ เปรย เมื่อถูกกระแซะถามถึงการเป็น ผบ.ทบ. ของประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองวิกฤติ 
"ผมแค่อยากให้บ้านเมืองมันไปต่อให้ได้ ไม่ได้ทำเพราะกลัวว่าผมจะถูกย้ายจาก ผบ.ทบ. ไม่มี คนอย่างผมไม่กลัวอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงบทบาทของเขากับรัฐบาลและนายกฯ หญิงในเวลานี้

"นายกฯ ท่านเป็นผู้บังคับบัญชา สั่งการมาเราก็ทำตามหน้าที่ ไม่ได้ไปใกล้ชิด สนิทสนมดู๋ดี๋อะไรนี่นา ใครจะมองอะไรก็มองกันไปเรื่อย ไม่มีอะไรเลย" บิ๊กตู่ ออกตัว 
เพราะในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่า บ้านเมืองจะไปทางไหนขึ้นอยู่กับประชาชนและรัฐบาล ทหารก็ทำหน้าที่กลไกของรัฐบาล ไม่เลือกข้าง เป็นทหารอาชีพและเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
"ผมไม่ได้สนใจว่า จะมีการนิรโทษกรรมหรือเปล่า คุณทักษิณ จะกลับมั้ย หรือกลับมาแล้วบ้านเมืองจะเป็นยังไง มันเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ที่ต้องหารือกัน และยึดหลักกฎหมาย" บิ๊กตู่ กล่าว 
แต่ก็ยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เคยต่อสายผ่านบางคนฝากข้อความมาถึงตนเอง เมื่อไม่นานมานี้ 
"ท่านก็ฝากข้อความผ่านคนอื่นมาถึงผมว่า ขอบคุณที่ทำงานในการช่วยเหลือรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมาตลอด แต่สำหรับผมมันเป็นหน้าที่ของกองทัพอยู่แล้ว" บิ๊กตู่ เผย 
แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีการเจรจาต่อรองใดๆ เรื่องอื่น หรือการหนุนนิรโทษกรรม แม้แต่คดี 91 ศพคนเสื้อแดง

"จะนิรโทษกรรมหรือไม่ ก็แล้วแต่ แต่เรื่องคดีนี้ ผมจะดูแลปกป้องกองทัพและลูกน้องผมเอง เพราะเขาทำหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง ภายใต้กฎหมาย เราทำตามกฎหมาย ถ้าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่มีกฎหมายรองรับ ทหารก็ออกมาไม่ได้ อยากให้เข้าใจทหารด้วย เราก็ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ และต้องช่วยกัน อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก" 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


บรรยากาศแห่งความปรองดองเช่นนี้ ไม่ว่าจะนายกฯ ปู กับ ป๋าเปรม รัฐบาลกับกองทัพ โดยเฉพาะ รมว.กลาโหม กับ ผบ.เหล่าทัพ เช่นนี้ สยบข่าวลือเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารเสียสนิท 
คงมีแต่ความข้องใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่อคำตอบของ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ที่ไม่ยอมตอบอะไรนอกจาก ถึงตายก็พูดไม่ได้  
"แหม...ก็น่าจะแอ่นอกพูด ยอมรับไปเลยว่า ผมเป็น ผบ.ทบ. ผมคิดเอง นำการปฏิวัติเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่น แต่ก็เข้าใจว่า ท่านอาจจะคิดไม่ทัน เลยต้องตอบไปแบบนั้น" บิ๊กตู่ เปรย 

ในภาพรวมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ พอใจกับบทบาทของรัฐบาลที่มีต่อกองทัพ "ผมเองก็จะทำหน้าที่ทหารอาชีพ ทำหน้าที่ของทหารและปกป้องสถาบัน เพราะท่านนายกรัฐมนตรีเอง ก็ยืนยันว่า จะไม่เข้ามาแทรกแซงหรือก้าวก่ายกองทัพ ต่างคนต่างทำงาน และให้เกียรติกัน ผมว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่แสดงออกต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการช่วยงานรัฐบาลและความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นต่อกันนั้น 
"ไม่ใช่การแสดงละคร ผมแสดงละครไม่เป็น เป็นคนตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่เราทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หรือทำเพราะกลัวจะถูกย้าย ไม่มีแน่สำหรับผม" พล.อ.ประยุทธ์ ลั่น 
ฉะนั้น จึงขออย่าได้สงกาสงสัยในตัว ผบ.ทบ. ผู้นี้เลย "ชีวิตผมมีแต่กองทัพกับชาติบ้านเมือง สถาบัน และประชาชน เท่านั้น"
โปรดติดตามตอนต่อไป ก็แล้วกัน...



+++

"ก.ต.ช." ลดบทบาท "ศชต." ดันตั้ง "ศปก.ส่วนหน้า" ถาวร เขย่าเหล้าเก่าในขวดเก่า?!!
คอลัมน์ โล่เงิน  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 99


เหตุคาร์บอมบ์ที่ชายแดนใต้ เมื่อปลายเดือนมีนาคม นอกจากสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ สะท้อนชัดเจนว่ากลุ่มผู้ก่อความรุนแรงยังมีศักยภาพสูงในการก่อการ
แม้ภาครัฐจะมีศักยภาพในการตั้งรับแบบไม่น้อยหน้า แต่กระนั้นยังมีช่องโหว่ให้คนร้ายฉวยโอกาสได้ทุกเมื่อ แรงสั่นสะเทือนครั้งนี้เขย่าหอคอยหน่วยงานความมั่นคงให้หันมาปรับกระบวนใหม่อีกคำรบ

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ฝังลึกเกาะติดพื้นที่ เป็นนายกสมาคมผู้สื่อข่าวภาคใต้ ให้ความเห็นว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึง จ.สงขลา วินาศกรรมเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อโอกาสเปิด คนร้ายยังมีพัฒนาการ การป้องกันการก่อเหตุร้ายแบบได้ผล 100% ไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ อ.หาดใหญ่ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะเป็นช่วงโอกาสเปิด กำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบด้านความสงบเรียบร้อย อยู่ในภาวะสุญญากาศ ขาลอย?! 
ถอดรหัสคำวิเคราะห์ของ "ไชยยงค์" โฟกัสที่ ช่องโหว่อันเนื่องมาจากภาวะ "ขาลอย" ซึ่งในช่วงวันที่ 31 มีนาคม ตรงกับช่วงวันสุกดิบ ที่คำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ถึงสารวัตร (สว.) จวนเคาะ แต่ยังไม่เคาะ อาจอนุมานได้ว่าเป็นภาวะ "เกียร์ว่าง"??
หลังบอมบ์ลีการ์เดนส์ สิ่งท้าทายคือการปกป้องเมืองหาดใหญ่ที่เสมือนหัวใจของชายแดนใต้ และพื้นที่ชายแดนใต้ทุกตารางนิ้วให้รอดพ้นจากวินาศกรรมซ้ำรอย!!

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในบทบาทผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 29 เมษายน มอบหมาย "สร.4" พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และ สงขลา และผุดคำว่า "เอกภาพ" ขึ้นกลางวงประชุม โดยให้ "สร.4" จัดเวิร์กช็อป 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน กระชับสัมพันธ์ ลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานเพื่อรับมือปัญหาชายแดนใต้ ไม่ใช่ต่างคนต่างมีแนวทาง เฉกเช่นทุกวันนี้ 
เป็นมุมมองเดียวกับ "ไชยยงค์" เคยให้ความคิดเห็นว่า เรื่องการขาดเอกภาพยังเป็นเรื่องบั่นทอนประสิทธิภาพการแก้ปัญหาของภาครัฐในจังหวัดชายแดนใต้ 
"ทุกวันนี้เมื่อพูดคำว่าบูรณาการ ก็บูรณาการกันในห้องประชุมเท่านั้น แต่พอลับก็เดินคนละทาง หน่วยนั้นจับ หน่วยนั้นปล่อย หน่วยนั้นขอ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องบูรณาการกัน แค่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไม่ล้ำเส้นกันก็สามารถขับเคลื่อนการทำงานได้แล้ว" 
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ เมื่อรัฐกำหนดทิศทางว่าจะต้องบูรณาการอย่างจริงจังอีกครั้งเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้ามขวาน ก็เป็นเรื่องที่ต้องลุ้นว่าจะนำมาซึ่งสันติได้ในเร็ววันหรือไม่ 
ซึ่งในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ซึ่งมี นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ มีมติเกี่ยวเนื่องกับการจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจรองรับปัญหาชายแดนภาคใต้โดยตรง หลังจากคาราคาซังมา 1 ปีเต็ม



ย้อนไปในการประชุม ก.ต.ช. ครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 มี "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานการประชุม เคยมีมติให้พิจารณาโครงสร้าง "ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต." ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 โดยแยกจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ออกจากกองบัญชาการตำรวจภาค 9 (บช.ภ.9) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานของตำรวจในการดูแลความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดแดนใต้

ก.ต.ช. ครั้งนั้น มีมติต่อเรื่อง ศชต. 4 ข้อ
1.ให้ ตร. ยุบ ศชต. และนำกองบังคับการตำรวจภูธร 3 จังหวัดใต้ กลับไปอยู่ในสังกัด บช.ภ.9 เช่นเดิม 
2.ให้ ตร. ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของ บช.ภ.9 ให้เหมาะสมกับภารกิจ และประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการให้เหมาะสมสอดคล้องกัน 
3.ยกเลิกศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.)
และ 4.ดำเนินการให้เสร็จสิ้นและสามารถแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ตามวาระประจำปี 2554

นอกจากนี้ ก.ต.ช. ครั้งนั้นยังมีมติให้ ตร. รับข้อสังเกตของ ก.ต.ช.เรื่องย้าย บช.ภ.9 ไปตั้งที่ จ.ยะลา ด้วย

เหล่านี้เป็นมติบอร์ดใหญ่ในยุครัฐบาลก่อน จนเกิดแรงต้านจากบิ๊กตำรวจใต้อย่างมาก ประเด็นนี้ถูกกระทุ้งในบอร์ดบริหารภายในของ ตร. จน ผบ.ตร. ในขณะนั้น "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" ต้องขอ ก.ต.ช. ทบทวนอีกครั้ง 
กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ตร. พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นโยบายต่อปัญหาชายแดนใต้และมุมมองต่อการจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบอร์ดใหญ่สีกากีก็เปลี่ยนไปในมุมกลับ 
ก.ต.ช. ครั้งล่าสุด กลับมติเก่า ไม่ยุบ ศชต. แต่จะให้ทำหน้าที่ประหนึ่งภูธรที่รับงานอาชญากรรมปกติ และยกระดับ ศปก.ตร.สน. หน่วยพี่เลี้ยงตำรวจใต้มาตลอดให้แกร่งขึ้น


ที่ประชุม ก.ต.ช. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 หัวโต๊ะ ชี้ว่า ศปก.ตร.สน. ต้องเป็นโครงสร้าง ต้องมี รอง ผบ.ตร. สลับกันไปนั่งทำงาน 24 ชั่วโมง และต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งประจำ ที่ไม่ใช่ลักษณะการช่วยราชการเฉกเช่นทุกวันนี้ แต่กระนั้นก็ไม่มีใครในที่ประชุมเห็นโครงสร้างที่ว่า?!
ขณะเดียวกัน ก.ต.ช. ยังรับหลักการเพิ่ม 3 กองบังคับการ (บก.) เป็นเขี้ยวเล็บใหม่ ให้ ศชต. ได้แก่ กองบังคับการสืบสวนคดีความมั่นคง กองบังคับการด้านเทคโนโลยี รองรับการใช้กล้องวงจรปิดแบบบูรณาการ และกองบังคับการด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งดูแล้วไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมติที่ให้ ศชต. ลดดีกรีเหมือนหน่วยภูธรปกติ และยกบทบาทขับเคลื่อนกองกำลังตำรวจดับไฟใต้ให้ ศปก.ตร.สน. ดูแล 
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ประชุมยังหยิบยกประเด็นการตั้ง ศปก.ส่วนหลัง วอร์รูมรวมข่าวที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี คุม ตร. นั่งหัวโต๊ะขึ้นมาพูดถึง โดยบอร์ด ก.ต.ช. ขอให้ ผบ.ตร. รับไปดูแล แบบที่มีเสียงเล็ดลอดว่าเจ้าตัวยังติดใจ เพราะมองว่า เมื่อมี ศปก.ตร.สน. ในพื้นที่แล้ว ดังนั้น การพึงมีเอกภาพและศักยภาพ ก็ควรให้ ศปก.ตร.สน. ขับเคลื่อน ไม่ใช่ส่วนหลังซึ่งอยู่ไกลจากพื้นที่

ประเด็นนี้มีเสียงวิจารณ์ว่า ศปก.ส่วนหลัง แท้จริงก่อตั้งเพื่อสร้างที่ยืน เขียนบทเพิ่มในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้บิ๊กบางคน?! 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ที่จะอธิบายโครงสร้างการบริหารจัดการตำรวจในพื้นที่ชายแดนใต้ในอนาคตอันใกล้ แม้ ก.ต.ช. จะมีมติ แต่ก็ยังถูกตั้งคำถาม 
จากนี้คงต้องจับตาดูการบริหารขับเคลื่อนตำรวจ ตามมติบอร์ดใหญ่ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

แต่กระนั้น โครงสร้าง ไม่สำคัญเท่าประสิทธิภาพคนทำงานในพื้นที่ ซึ่งมีองค์ประกอบอื่นหนุนนำโดยเฉพาะด้านขวัญกำลังใจ ซึ่งทุกวันนี้ต้องยอมรับกันว่า ถดถอยลงไปมาก จุดนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ในองค์กรตำรวจใต้ ที่ปัญหาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การบริหารคนยังไม่เข้าที่เข้าทาง คนทำงานยังต้องเรียกร้อง คนลอยตัวยังลอยลำ ส่งผลให้ประสิทธิภาพคนไม่ถึง ประสิทธิผลการทำงานไม่สอดรับกับสถานการณ์ 

ตราบใดที่ตำรวจใต้ยังจัดทัพไม่เข้าที่เข้าทาง จัดระบบบริหารไม่สอดคล้องกับความเป็นธรรม ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เกิดเหตุความไม่สงบซ้ำรอยได้



+++

ฟังความจากโลก "ออนไลน์" เมื่อ "ทีวี" งดเสนอข่าวนายกฯ ตอบโต้ "แทรกแซง" สื่อ
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 78


กลายเป็น "หัวข้อ" ในแวดวงสื่อ เมื่อเว็บไซต์หลายแห่ง รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณากรณี นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้สอบสวนการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน 
กรณีที่สำนักโฆษก ระงับการเดินทางไปกัมพูชาของ น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวช่อง 7 เพื่อทำข่าวนายกรัฐมนตรีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน โดยเชิญ น.ส.สมจิตต์ และ นายสมโภชน์ โตรักษา ผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวช่อง 7 นางปรารถนา สุทิน ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจง

นายสมโภชน์ ชี้แจงว่า ช่อง 7 ได้รับมอบหมายจากทีวีพูลให้ติดตามทำข่าวนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้เป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นทีมล่วงหน้า อีกทีมจะเดินทางพร้อมนายกรัฐมนตรี รายชื่อส่งให้กองงานโฆษกประสานกระทรวงการต่างประเทศไปยังกัมพูชาเรียบร้อยหมดแล้ว
ต่อมา น.ส.สมจิตต์ ได้ไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประชุม หลังจากนั้น ผู้บริหารช่อง 7 โทรศัพท์แจ้งตนว่ามีนักการเมืองในรัฐบาลขอให้ยกเลิกการส่ง น.ส.สมจิตต์ แต่ตนได้ยืนยันในฐานะผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ และผู้บังคับบัญชาของ น.ส.สมจิตต์ ว่านี่คือการบริหารจัดการภายในของช่อง 7 และเป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์ หลังจากนั้นสองวันมีหนังสือจากสำนักโฆษกระงับการเดินทางของทีมล่วงหน้า อ้างว่ากัมพูชามีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนสื่อมวลชน และการดูแลรักษาความปลอดภัย

ในฐานะที่ทำงานสื่อมวลชนมากว่า 20 ปี มั่นใจว่าเป็นการแทรกแซง เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว 
นายสมโภชน์ ยังเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ทางช่อง 7 ได้งดเสนอข่าวภารกิจนายกรัฐมนตรีในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้ฝ่ายการเมืองได้เห็นจุดยืนของช่อง 7 ที่ไม่ยอมรับการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง 
ช่อง 7 ยังส่งทีมข่าวติดตามภารกิจนายกฯ แต่ไม่ได้นำภาพข่าวมาออกอากาศ
ช่อง 7 มีความรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะสื่อมวลชน หากใครเห็นว่าผิดกฎหมายก็ดำเนินการได้ 



ปฏิกิริยาที่ตามมา แตกต่างกันไปตามแนวคิดทางการเมือง 

ความเห็นสนับสนุนช่อง 7 สี มีไม่น้อย ส่วนมากเห็นว่า นายกฯ ควรยอมรับการซักถามข่าวของสื่อ และไม่ควรแทรกแซงการทำงานของสื่อ
มาจาก chettha_thi ในพันทิป ราชดำเนิน ระบุว่า ไม่ดูช่อง 7 คงไม่เจ๊งหรอกครับ เพราะเขาทำให้ผู้เจริญแล้วดูกันน่ะครับ 


ส่วนความเห็นต่าง ก็ร้อนแรงไม่ธรรมดาเหมือนกัน 
"มาลัยดำ" โพสต์ไว้ในห้องราชดำเนิน เว็บพันทิป เมื่อ 26 เมษายน 
ดู TPBS 3 ทุ่มกว่า มีข่าวว่าทีวีร้องรัฐบาลและนายกฯ แทรกแซงสื่อ เหมือนยุคทักษิณ
ดูแล้วอึดอัดมาก นักข่าวช่อง 7 ก็ว่าการเมืองแทรกแซง คณะกรรมการสอบก็วิจารณ์เสียหาย นักข่าว TPBS ก็กระพือข่าว พวกคณะกรรมการก็ ปชป. จ๋ามาทั้งยวง 
ที่อึดอัด ไม่ใช่อะไร แต่คิดถึงสมัยรัฐบาลก่อนที่มี รมต. ดูแลสื่อได้ฉายาว่า "กริ๊ง...สิงสื่อ" โทร.สายตรงชี้นำทิศทางข่าวโดยที่ไม่มีใครกล้าปริปากพูด สั่งได้ทุกช่อง แต่กลับไม่มีใครเรียกร้อง หรือกล่าวหาว่าแทรกแซงสื่อเลย...? 
ทำสปอตเพิ่มความเกลียดชัง เช่น เผารถเมล์ ตัวการ์ตูนปาระเบิด และอีกมากมาย ฉายซ้ำทุกๆ ชั่วโมง เวียนไปทุกช่อง สะสมพลังความเกลียด โชคดีที่เปลี่ยนรัฐบาลซะก่อน ไม่งั้นป่านนี้จบแบบรวันดาไปแล้ว 
คณะกรรมการตรวจสอบต่างๆ องค์กรสื่อ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะออกมาตรวจสอบหรือเรียกร้องอะไรเหมือนที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน 
สื่อมวลชนหลายคนในยุคนั้นที่โดนยิ่งกว่าช่อง 7 แต่องค์กรต่างๆ หายหัวเงียบ ใบ้รับประทาน เหมือนถูกมนต์สะกด
พอมายุคนี้ เอาอีกแล้ว มามุขเดิมอีกแล้ว ถ้ารัฐบาลไหนเป็นของทักษิณ จะต้องโดนกล่าวหาเรื่องแทรกแซงสื่อตลอด
สมัยก่อนเราไม่ได้ใช้เน็ตอย่างแพร่หลาย ข่าวมีแต่จากทีวี หนังสือพิมพ์ ข่าวตามเว็บยังไม่มาก มายุคนี้ ข่าวตามเว็บไวกว่า เร็วกว่า เช็กข้อมูลได้หมด ประชาชนเลยตาสว่าง กับขบวนการกล่าวหาเรื่องแทรกแซงสื่อว่าเขาทำงานกันยังไง ใช้วิธีกล่าวหาและโจมตีกันยังไง เช็กข้อมูลได้เอง ไม่ต้องรอสื่อชี้นำเหมือนเมื่อก่อน


ล็อกอินดังในพันทิป "แมวน้ำสีคราม" โพสต์ตอนหนึ่งว่า ผมตั้งข้อสังเกตครับ...ช่อง 7 สี ทำถูกหรือไม่ ที่ตอบโต้ด้วยการประท้วงไม่ทำข่าวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา...?
ประเด็นนี้ผมว่าออกจะเกินเลยไป ...แฟนๆ ที่เขาเป็นประชาชน โดยเฉพาะคนที่เขาติดตามผลงานนายกฯ ของเขามาตลอดก็พลอยรับผลไปด้วย
ตรงนี้แหละครับ คือประเด็น ที่แยกแยะไม่ออก ระหว่างเรื่องส่วนตัว กับเรื่องส่วนรวม 
ส่วนประเด็นของคุณสมจิตต์...จะอ้างว่าเป็นกลาง...ก็ว่าของคุณไป แต่สังคมเขารับทราบดีว่า ใครมีพฤติกรรมอย่างไร ชื่นชอบใครจนออกหน้าออกตาเป็นพิเศษ  
ก็สมควรแล้วล่ะครับที่นักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบ เขาเคยบอกว่า จะตั้งคำถามเอาเรื่อง หรือตั้งคำถามหาเรื่อง...
สรุป คุณประท้วงไม่ทำข่าวนายกฯ ผมก็ประท้วงไม่ดูข่าวของคุณเหมือนกัน


อีกความเห็นจากล็อกอินหวือหวา "มัจฉาเสียบฉึก" วันที่ 27 เมษายน ถามว่า เสื้อแดงบอกใครเจอนักข่าว "จัดให้หน่อย" อย่างนี้เรียกคุกคาม เสื้อเหลืองทุบรถนักข่าว อย่างนี้ไม่คุกคาม 
แฝดนรกบอกอยากเตะนักข่าว นี่ก็ไม่คุกคาม ตกลงคำว่า "คุกคาม" ของสมาคมนักข่าวฯ หมายความว่ายังไง ใครเข้าใจช่วยอธิบายให้ฟังที


Saipin วันที่ 27 เมษายน เช่นกัน ร่วมแสดงความเห็น แอนตี้ข่าวของฟรีทีวีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโน้น ที่พันธมิตรชุมนุมยืดเยื้อ ปิดถนนเป็นแรมเดือนแรมปีพวกข่าวฟรีทีวี นี่ก็เอาไมค์ไปจ่อปากพวกแกนนำพันธมิตรไม่เว้นแต่ละวัน 
แทนที่จะไปสัมภาษณ์รัฐบาลในสมัยนั้นบ้าง...ไม่มีเลย ก็เลิกดูข่าวการเมืองตั้งแต่บัดนั้น


"padpaking" คนนี้ท่าทางติดละคร เดี๋ยวรอไข่ลูกเขย จบก่อนนะครับ ละครเบาสมองดี ดูแล้วพิจารณาหลายๆ ช่องก็ได้ครับ อาจจะไม่ได้เป็นกันทั้งช่อง มีช่องให้เลือกดูอีกเยอะ แต่ปกติผมก็ดูแต่เคเบิล 
ให้กำลังใจสื่อนะครับ ให้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา นำเสนอความจริง ไม่ใช่นำเสนอความคิดส่วนตัว

เป็นอีกเสียงสะท้อนถึงการทำงานของสื่อ ในยุคที่ช่องทางการสื่อสารมีมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคข่าวได้แสดงทัศนะของตนอย่างฉับพลันทันที  



.