.
เสื้อแดงไม่จำเป็นต้องคิด เหมือนพรรคเพื่อไทย ทักษิณยังกลับบ้านไม่ได้...ก็จะไปอเมริกา
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 20
ออง ซาน ซูจี ได้ออกมาสู้นอกบ้าน
ส่วนทักษิณอยากกลับมาสู้ในบ้าน...
ครั้งแรกตั้งใจจะเขียนถึงการกลับสู่เวทีของ ออง ซาน ซูจี แต่ดูสถานการณ์แล้วต้องเขียนเส้นทางกลับบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร ก่อน
วันนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณ พเนจรอยู่ต่างประเทศนานเกือบ 6 ปีแล้ว หลังจากชนะเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ได้ ส.ส. 377 คนจาก 500 คน เท่ากับ 75 เปอร์เซ็นต์ ก็ถูกรัฐประหาร
เทียบกับ ออง ซาน ซูจี เมื่อ 20 ปีก่อน เคยชนะเลือกตั้งด้วย ส.ส 392 คน จาก 485 คน เท่ากับ 80%
ความผิดของสองคนนี้คือชนะมากเกินไป เป็นการชนะเลือกตั้งที่เกิดในประเทศด้อยพัฒนาทางประชาธิปไตย เพราะระบบเผด็จการและระบบอุปถัมภ์ยังครอบคลุมสังคม ออง ซาน ซูจี จึงถูกจับขังไว้ในบ้าน ทักษิณก็ถูกไล่ออกนอกประเทศ ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อตัดบทบาททางการเมือง
วันนี้ ออง ซาน ซูจี เปลี่ยนทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อหาทางปลดปล่อยประเทศที่ถูกขังใต้อำนาจเผด็จการมานานถึง 50 ปี
เมืองไทยก็หยุดชะงักเป็นช่วงๆ หลังรัฐประหาร 2500 ช้าไป 15 ปี หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 อีก 5 ปีหลังรัฐประหาร 2549 เสียโอกาสไปอีก 5 ปี และยังกลับเข้าสู่ระบบปกติไม่ได้ เนื่องจากอำนาจทหาร กับตุลาการภิวัฒน์ มีอิทธิพลเหนือกว่า ยังต้องเล่นเกมกันในสภาทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องไร้สาระ ต้องแก้รัฐธรรมนูญของ คมช. ต้องสู้กับแรงกดดันนอกสภา ของกลุ่มอำนาจเก่า ตั้งแต่กฎหมาย... น้ำลาย จนถึงปลายนิ้วบนคีย์บอร์ด
การกลับมาสู้ในบ้านของทักษิณจึงต้องผ่านทุกด่าน
แยกมิตร แยกศัตรู
ใช้สติและปัญญา ต่อสู้ให้ชนะ
การกลับบ้านของทักษิณเป็นเรื่องใหญ่แต่เป็นเพียงยุทธศาสตร์ เป้าหมายคือ สู้ให้ชนะ เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ถ้าทักษิณใช้การนิรโทษกรรม ปรองดองจนตัวเองได้กลับเข้ามา โดยจำเป็นต้องสามัคคี ใช้ท่าทีปรองดองที่อ่อนน้อมต่ออำมาตย์ ยอมสยบต่ออำนาจเก่า อาจจะทำให้พื้นฐานกำลังสนับสนุนของกลุ่มคนเสื้อแดงแตกออกจากพรรคเพื่อไทย และแตกกันเองเพราะเห็นไม่เหมือนกัน
การสนับสนุนของแนวร่วมก็จะลดลง
เมื่อไม่สามัคคี กำลังของฝ่ายก้าวหน้าก็จะอยู่ในสภาพกระจัดกระจาย
ถ้าฝ่ายตรงข้ามเข้าโจมตีหรือแม้แต่แข่งขันเลือกตั้ง ก็เป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มเสื้อแดงจะเป็นฝ่ายแพ้และโอกาสกลับก็จะยากขึ้นไปอีก
ดังนั้น ทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทักษิณและคนเสื้อแดงซึ่งอยู่ในขบวนเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองส่วนใหญ่เหมือนกัน จำเป็นต้องรักษาขบวนไว้ แม้ยังมีความแตกต่างในเป้าหมายบางประการ มีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัวที่ต่างกัน
แต่เวลานี้ต้องแยกมิตรแยกศัตรูให้ชัดเจน ต้องไว้ใจมิตรมากกว่าศัตรู การวางท่าที การพูดจาต้องคิดถึงจิตใจคนอื่นเพื่อความสามัคคี
ตัวอย่างการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่ปทุมธานีซึ่งพรรคเพื่อไทยแพ้เล็กน้อยและแพ้ขาดในการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี คะแนนห่างกันเป็นแสน ทำให้ทุกกลุ่มต้องทบทวนเหตุผลทางการเมือง
ซึ่งพอมีข้อสรุปว่าการเลือกตั้งใหญ่เดือนกรกฎาคม 2554 ประชาชนตั้งใจออกไปเลือกนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และก็เชื่อมั่นในนโยบายทักษิณ
อีกกลุ่มหนึ่งก็ตั้งใจไปเลือก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนเรื่องคนที่เป็น ส.ส. นั้นก็มีบัตรอีกใบเอาไว้ให้กา ชื่อไม่ต้องจำ จำเบอร์ก็พอ คะแนนเกินครึ่งจึงมาจากความตั้งใจเลือกฝ่ายบริหาร
ทีมวิเคราะห์ยังยืนยันเหมือนเมื่อหลังเลือกตั้งใหม่ๆ ว่า ใน กทม. ปริมณฑล และภาคกลาง มีคะแนนเสียงของทั้งสองฝ่ายอยู่ไม่น้อย ในทุกเขต ประมาทไม่ได้
ดังนั้น การวางบทบาททางการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ และตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการต่อสู้ของทั้งขบวนควบคู่กับผลงานของรัฐบาล
แต่จะวางท่าทีอย่างไรในการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งผู้สนับสนุนยังจะต้องแข่งกันเอง
นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ เขต เรื่อง Primary Election หรือ Primary Vote คงต้องนำมาใช้จริงๆ ถ้ากล้าทำ ประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมพรรค
ต่างฝ่ายก็มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี
ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้ทุกวันนี้ไม่ได้รบกันด้วยอาวุธและไม่ได้อยู่ที่เวทีรัฐสภาทั้งหมด จุดแข็งของฝ่ายตรงข้ามคือการคุมอาวุธและคุมกฎหมาย
ส่วนฝ่ายก้าวหน้าจุดแข็งอยู่ที่การสนับสนุนของประชาชน
การช่วงชิงประชาชนและจัดตั้งให้เข้มแข็งจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการชี้ขาดแพ้ชนะ
ที่ผ่านมาการรวมกำลังที่เข้มแข็งที่สุดของฝ่ายประชาธิปไตย คือสถานการณ์ช่วงเลือกตั้ง 2554 ซึ่งทักษิณและนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นปลายแหลมของขบวน ถัดมาคือพรรคเพื่อไทย ถัดมาคือกลุ่มคนเสื้อแดง และสุดท้ายคือแนวร่วมประชาชนคนทั่วไป เป็นเหมือนลิ่มเหล็กที่ทั้งแข็งทั้งคม ตอกเข้าไปในหินผา ยังสกัดหินให้แตกและถล่มลงได้ ถ้าขบวนมีความเข้มแข็งแบบนั้น การเจรจาปรองดอง ย่อมทำได้อย่างมีน้ำหนัก
กลุ่มอำนาจเก่าก็มีแนวทางการต่อสู้หลายแนวเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังอย่างเดียว พวกเขามียุทธศาสตร์และยุทธวิธี มีแนวร่วมและลูกสมุนที่จะเปลี่ยนหน้าออกมาชนออกมาสู้ ในทุกแนวรบเช่นกันและฉวยโอกาสซ้ำเติมด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ทั้งเสี้ยม ทั้งชน ถ้าสามารถทำให้กลุ่มเสื้อแดงแยกออกไปเป็นพรรคการเมืองได้ก็ยิ่งดี วันนี้การจัดกำลังของทั้ง 2 ฝ่าย จึงมีครบทุกแนวรบ
แนวรบที่ 1 ต่างฝ่ายต่างมีกำลังที่จะใช้หมัดต่อหมัด เท้าต่อเท้า แต่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้
แนวรบที่ 2 ต่างฝ่ายต่างใช้เวทีสาธารณะช่วงชิงการสนับสนุนของประชาชน ผ่านสื่อสารมวลชน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านสภา ใช้กฎหมายผ่านองค์กรต่างๆ
แนวรบที่ 3 คือการเจรจา การเจรจาเป็นการต่อสู้รูปแบบหนึ่งที่ต้องใช้ชั้นเชิง ไหวพริบ เพื่อชิงความได้เปรียบ ลดเงื่อนไขที่เสียเปรียบ เพื่อลดความรุนแรง แยกสลายฝ่ายตรงข้าม ถ่วงเวลา
การยุติความขัดแย้งจึงต้องเอาชนะหรือยันไว้ให้ได้ทั้ง 3 แนวรบ ทั้งรูปแบบกำลังที่จะแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น ว่าต่างฝ่ายต่างก็มี ไม่กลัวกัน รูปแบบของการปะทะคารม หรือการโฆษณาผ่านสื่อเพื่อให้เห็นว่าฝ่ายตนเองถูกต้อง อีกฝ่ายใช้ไม่ได้
และรูปแบบของการเจรจาทั้งโดยตรงและผ่านคนกลางเพื่อลดความรุนแรง ซื้อเวลา
คนเสื้อแดงไม่ใช่พรรคเพื่อไทย
ไม่จำเป็นต้องปรับให้เหมือนกัน
คนเสื้อแดงจำนวนมากไม่ใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย หลังการหลั่งเลือดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มวลชนธรรมดาได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหว การมีจุดยืนและมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างจึงเป็นเรื่องปกติ และไม่จำเป็นต้องไปปรับให้เหมือนกัน
แต่คนเสื้อแดงก็ต้องรู้ว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายทางประชาธิปไตย จะใช้ทักษิณและนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อย่างไร จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด ณ สถานการณ์นั้นๆ
และในสถานภาพที่ต่างกัน ทั้งคนที่เป็นรัฐบาล เป็น ส.ส. เป็นประชาชนธรรมดา การเคลื่อนไหวอาจมีความจำกัดต่างกัน ฉากการรดน้ำ และเล่นสงกรานต์ทั้งในและนอกประเทศ ก็เป็นงานที่ต้องทำเช่นเดียวกับการอดทนฟังการทะเลาะถกเถียงกันในสภา ใครสมาธิสั้นก็อาจหางานอดิเรกมาทำ มาดู ตามรสนิยม
ผู้วิเคราะห์อาวุโสเห็นว่า ทุกคนต่างมีหน้าที่ มีบทบาท ถ้าใช้สติและปัญญาทำงานจะได้ประโยชน์สูงสุด บางเรื่องก็ควรสนับสนุนรัฐบาล เรื่องที่จำเป็นค้านก็ต้องค้าน แต่อย่าทำเป็นไร้เดียงสาทางการเมือง
ช่วงนี้มีเวลาเหลือจากพวกถ่วงเวลาในสภา รัฐบาลต้องรู้จักใช้จังหวะนี้มาเร่งการทำงาน ส่วนคนเสื้อแดงคงรู้อยู่แล้วว่าจะชนะจริงๆ ต้องเพิ่มจุดแข็งของตนเอง สามัคคีและเดินหน้าต่อไป
แต่สภาพปัจจุบันคนที่เป็นหัวแรงก็ไปอยู่ในวังวนของสภากับรัฐบาล ชาวบ้านจึงต้องทำไปตามที่แต่ละกลุ่มจะคิดได้ เหล็กที่ร้อนกำลังจะค่อยๆ เย็นลง โชคดีที่มี ปชป. คอยช่วยเติมไฟอยู่เรื่อยๆ
แต่นี่ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกลุ่มหัวขบวนที่ไม่รู้จักความสำคัญของงานมวลชนในภาวะแย่งชิง ว่าจำเป็นต้องใช้คนเก่ง มากกว่าไปรับตำแหน่งอื่นๆ มากมายนัก
เรื่องการกลับบ้านจริงๆ ของทักษิณ
เป็นยุทธศาสตร์
แต่การเคลื่อนไหวเป็นยุทธวิธี
ทีมวิเคราะห์สรุปดังนี้
1. ฉากสงกรานต์ในลาวและกัมพูชาไม่ได้มีผลเพียงแค่ทำให้คนที่คิดถึงกันมาพบกัน แต่เป็นการยืนยันไปยังนานาชาติว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ยังเป็นที่รักของประชาชน เป็นมิตรสนิทอย่างยิ่งกับผู้นำและประชาชนประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง
2. ทีมวิเคราะห์ได้รับข่าวที่ยืนยันว่า ทักษิณ ยังไม่คิดกลับไทยในตอนนี้เป็นเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เพราะสถานการณ์การเมืองควรจะเป็นแบบยิ่งลักษณ์โมเดล, เรื่องอันตรายจากสายเหยี่ยวบางกลุ่ม ที่กลัวการพ่ายแพ้จะคิดทำการแบบโง่ๆ และการกลับมาภายใต้กฎหมายเผด็จการมีแต่เสียเปรียบทำให้กลับเป็นฝ่ายตั้งรับจากปัญหาตัวเอง
3. ถ้าทักษิณกลับมาในขณะที่ยังไม่เข้มแข็งพอ ฝ่ายตรงข้ามจะยื่นข้อต่อรองที่จะทำให้เกิดการแตกแยกในขบวน ถ้าไม่ทำก็จะเกิดการปะทะทางการเมือง เกิดการใช้กำลังและรัฐบาลจะปกครองลำบาก ดังนั้น การกลับมาต้องพร้อมเผชิญทุกปัญหา ประนีประนอมได้ก็ทำ ถ้าอีกฝ่ายจะใช้กำลังก็ต้องสามารถจัดการให้สงบเรียบร้อยได้
ถ้าไม่พร้อมอย่าเร่งสถานการณ์ ชาวบ้านธรรมดาและคนเสื้อแดงยังไงก็ต้องอยู่ในเมืองไทย พวกเขาหนีไปไหนไม่ได้ แม้ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น แต่ถ้าจำเป็น คนจำนวนมหาศาลก็สามารถสู้ให้ชนะได้ แต่จะเป็นชัยชนะที่เจ็บปวดที่สุด
4. ทักษิณสามารถสร้างบทบาทให้เป็นคุณต่อประเทศและรัฐบาลในระดับนานาชาติยังมีช่องทางเดินหมากอีกหลายตา ขณะที่เขียนต้นฉบับทักษิณอยู่ในอังกฤษ
ทีมวิเคราะห์คาดว่าเร็วๆ นี้ ทักษิณจะบินเข้าอเมริกาอย่างเท่ๆ เพราะสายข่าวรายงานว่าทางฝ่ายการเมืองอเมริกา ถามทักษิณว่า ทำไมไปจีนบ่อยจัง ลืมอเมริกาแล้วหรือไง? เพื่อเป็นการสร้างสมดุลอำนาจ อีกไม่กี่วันแฟนๆ ไปรอรับได้ที่นิวยอร์ก
ข้อสรุปสุดท้าย ถ้าบินวนรอบโลกหลายรอบแล้ว ยังเคลียร์สนามบินให้ลงไม่ได้ แต่มีสถานการณ์ที่จำเป็น ก็ต้องจอดเครื่องบินไว้ที่อื่น นั่งรถ แล้วเดินเท้าเข้ามา ถึงตอนนั้นแต่ละคนต้องตัดสินใจเอง
แต่อย่ามาคิดปรองดองตอนที่เพลง Let It Be จบไปแล้ว
ที่ทำได้คือช่วยกันร้องเพลง Imagine เท่านั้น
Imagine there"s no countries
It isn"t hard to do
Nothing to kill or die for
And no religion too
Imagine all the people living life in peace
John Lennon
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย