.
'ความคิด' ของดารา กับ พระ ต่อ 'ชะตากรรมอากง'
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ใน http://prachatai3.info/journal/2012/05/40452 . . Thu, 2012-05-10 23:32
ปรากฏการณ์ “ตำนานแห่งชะตากรรมอากง” นักโทษคดี 112 ที่เจ็บป่วยจน “ตายในคุก” เนื่องจากถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี โดยไม่ให้ประกันตัวทั้งที่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และทนายขอยื่นประกันตัวถึง 8 ครั้ง
เมื่อดูปฏิกิริยาที่สะท้อนต่อ “ชะตากรรม” ดังกล่าว ถ้าเป็นปฏิกิริยาที่ออกมาจากชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ทราบเรื่องราวของ “อากง” พอสมควร เราย่อมเห็นการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรมชาติง่ายๆ คือพวกเขาต่างแสดงความเศร้าโศก หดหู่ บางคนถึงกับ “ปล่อยโฮ” ออกมา ร้องไห้ครั้งแล้วครั้งเล่ากับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่เรารู้สึกได้อย่างชัดแจ้งว่า เขาไม่ได้รับ “ความยุติธรรม”
แต่เราคาดเดาไม่ออกเลยว่า บรรดา “คนในเครือข่ายอำมาตย์” เขา “รู้สึก” กันอย่างไร เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหยั่งรู้ได้ ทว่ามีความรู้สึกของ “ดารา” บางคน และ “พระ” บางรูปที่แสดงออกมา จนกลายเป็น “วิวาทะ” ในโลกของเฟซบุ๊ก (จริงๆ ผมตระหนักดีว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่เหลื่อมซ้อนระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ และผมก็เคารพในความเป็นส่วนตัว แต่ผมเห็นว่าข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่เกี่ยวกับ “ประเด็นสาธารณะ” ซึ่งสำคัญมาก) ที่ผมคิดว่ามี “ประเด็น” ที่อยากนำเสนอให้ช่วยกันคิดต่อ
ปฏิกิริยาของ “ดารา” ตั๊ก บงกช คงมาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว และมีการแชร์ต่อๆ จนกลายเป็น “วิวาทะร้อน” ในโลก FB ขณะนี้ เธอโพสต์ข้อความ (ซึ่งผมขอจัดเรียงใหม่แต่คงเนื้อหา คำพิมพ์ถูก-ผิดทางภาษาไว้เหมือนเดิม) ว่า
- เวรกรรมอากง แต่อากงไม่อยู่ก็ดีนะคะ แผ่นดินจะได้ดีขึ้น จริงๆ แผ่นดินก็ดีอยู่แล้ว จะได้ดียิ่งขึ้นเน้อออ ถึงฉันจะเปิดนม เปิดอะไร หรือมีชื่อเสียงไม่ดี หรืออะไรก็ตามที่คุณสันหามาด่า แต่ฉันก็ไม่โง่ แล้วทำไมคุณกล้าสู้เพื่ออากง แล้วเมื่อไรคุณจะตายคะ จะได้ไปช่วยอากงในนรก เพราะอากงคุณตกนรกแน่ จากกรรมที่หมิ่นพ่อของฉัน คุณรักอากง ฉันก็รักครอบครัวพ่อของฉัน ทำไมเหรอ -
ผมมีข้อสังเกตว่า ในสังคมเรามักอ้างเรื่อง “เวรกรรม” หรือ “กรรม” มาใช้กับปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งที่เกิดกับชีวิตของตนเอง คนอื่นๆ กระทั่งใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมือง ภัยธรรมชาติ แต่ดูเหมือน “เวรกรรม” หรือ “กรรม” ที่อ้างๆ กันจะมีลักษณะเป็น “ยากล่อมประสาท” หนักเข้าไปทุกที
คือ นอกจากมันจะทำให้ผู้อ้างเรื่องนี้ขาดการใช้สติปัญญาที่จะรับรู้ ทำความเข้าใจข้อเท็จจริง เหตุผลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ แล้ว เขายังนำความเชื่อนี้มาอ้างเพื่อเหยียดหยาม ลดทอน “ความเป็นมนุษย์” ของผู้อื่นด้วย ซึ่งหมายความว่า เขาได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองลงไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว
พฤติกรรมเช่นนี้ที่เห็นๆ กันมากในสังคมเวลานี้ เราจะมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นพฤติกรรมทางศีลธรรมของคน “เมายากล่อมประสาท” ซึ่งเป็นผลของการถูกปลูกฝังกันมาอย่างผิดๆ
หากมองในแง่ “เวรกรรม” กันจริงๆ เราจะมองเพียงว่าอากงเป็นผู้ก่อเวรกรมแต่ฝ่ายเดียวหาได้ไม่ เพราะข้อความที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งนั้น เป็นข้อความที่พูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองและการสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่ผ่านมา คนที่ก่อเวรกรรมในเรื่องนี้จริงๆ คือฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นทำรัฐประหาร สลายการชุมนุม เป็นต้น ที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเบื้องหน้าเบื้องหลังให้สังคมทราบ ไม่เช่นนั้นอากงหรือ “คนอย่างอากง” ก็ต้องกลายเป็น “แพะบูชายัญญ์” แก่ระบบเครือข่ายอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่ตลอดไป
ส่วนเรื่อง “ความรักพ่อ” ที่ปลูกฝังกันอย่าง “เกินพอเพียง” นั้น จำเป็นต้อง “ทบทวน” ว่า ทำไมในนามของ “ความรักพ่อ” จึงแสดงออกด้วยการดูหมิ่น เหยียดหยาม ประณามคนอื่นๆ ที่เขาไม่รัก หรือคิดต่าง เห็นต่าง ทำไมจึงต้องแสดงความรักด้วยความเกลียดชังหรือความรุนแรง และในนามของความรักต้องทำได้ทุกอย่างหรือ แม้กระทั่งละเมิดหลักการประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เรียกร้อง และทำรัฐประหาร
ผมเองไม่อยากโทษ “ดารา” คนนั้นหรือใครๆ ที่แสดงออกแบบนั้น แต่อยากชวนให้ตั้งคำถามต่อระบบการปลูกฝังอบรมใดๆ ที่มอมเมาผู้คนด้วย “ยากล่อมประสาท” จนเขาสูญเสียความสามารถที่จะใช้เหตุผล ขาดมโนสำนึกเคารพ “ความเป็นคน” ของคนอื่น และตนเอง
ปฏิกิริยาของ “พระ” เป็นเรื่อง “วิวาทะ” จากที่พระกิติศักดิ์ กิตติโสภโณ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว (จัดเรียงใหม่คงเนื้อหาตามเดิม) ว่า
เรื่องของ “ความรัก” กับ “ความไม่รัก” ปรากฏในข่าววันนี้ “ชายวัน 61” คนหนึ่ง “ถูกเชื่อ” ว่า “บริสุทธิ์” แม้จะ “ไม่มีพยานหลักฐาน” ยืนยันได้ว่าบริสุทธิ์ ด้วยเหตุที่ “เชื่อกันว่า”กฎหมายบางมาตรา “ไม่เป็นธรรม”
พร้อมๆ กับความเชื่อข้างต้น ก็ “เชื่อ” กันด้วยว่า เหตุการณ์ที่ทำให้ “ชายวัย 61” ถูก “คุมขัง” นั้นมี “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ซึ่งจะต้อง “รับผิดชอบ” ต่อ “การกระทำ” ดังกล่าว...
ความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิด “เสียงแห่งความไม่พึงใจ” เกิดขึ้นมากมาย เป็นน้ำเสียงแห่งความเสียใจ เจ็บแค้นและก่นด่าประณามตาม “ความเชื่อของตน” ต่อ “ผู้ที่เห็นต่าง” และต่อ “ผู้ที่ตนเชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง” ไม่ว่าจะ “มี” หรือ “ไม่มี” พยานหลักฐานใดๆ เลยก็ตาม
คน “รัก” และ “เชื่อมั่น” ใน “ชายวัย 61 ปี” ผู้จากไป ก่นด่าประณาม “ชายที่สูงวัยกว่านั้น” ด้วยความที่ตน “ไม่รัก” และ “ไม่เชื่อมั่น”
“ความรัก” และ “ความเชื่อมั่น” ข้างต้นนี้ปรากฏในข่าว เป็นกระแสของ “ความรู้สึก” ที่ไม่ปรากฏพยานหลักฐาน เป็นกระแสอารมณ์ที่ถูกปลุกขึ้น และขยายตัวต่อๆ กันไป ประสาสังคมที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่า “ความเชื่อ” และ “ความไม่เชื่อ” “ความชอบ” และ “ความไม่ชอบ” มี “ผู้รู้สึก” มากกว่า “ผู้รู้” และมี “ความรู้สึก” มากกว่า “ความรู้”
ที่ผมอยากแลกเปลี่ยนคือ เรื่องอากง “บริสุทธิ์” หรือไม่นั้น ผู้ที่ติดตามปัญหานี้ย่อมทราบกันดีว่า คำตัดสินของศาลชั้นต้นไม่ได้อ้างอิง “ประจักษ์พยานที่ชี้ชัดว่าอากงเป็นผู้ส่งข้อความ” แต่อ้างอิง “พยานกรณีเหตุแวดล้อม” ที่พอฟังได้เพียงว่าข้อความ 4 ข้อความนั้นถูกส่งมาจากโทรศัพท์มือถือของอากง และศาลกล่าวว่าจำเลยย่อมพยายามปกปิดว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด จึงตัดสินว่า “อากงคือผู้ส่งข้อความ”
ฉะนั้น ในการตัดสินคดีอาญาที่มีโทษจำคุกถึง 20 ปี ย่อมควรตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า การตัดสินจำคุกจำเลยโดยไม่มีประจักษ์พยานที่เป็นเหตุให้สิ้นสงสัย เป็นการตัดสินที่ชอบธรรมหรือไม่
ที่บอกว่า ด้วยเหตุที่ “เชื่อกันว่า” กฎหมายบางมาตรา “ไม่เป็นธรรม” นั้น ถ้า “พระ” มีความรู้เรื่อง “ความยุติธรรม” ก็จะเข้าใจได้ว่า กฎหมายที่ยุติธรรมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ต้องตราขึ้นบน “หลักความยุติธรรม” คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค
ถามว่า ม.112 ให้สิทธิ เสรีภาพของจำเลยที่จะพิสูจน์ว่า ข้อความที่ตนพูดออกไปเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะเหมือนการหมิ่นประมาทบุคคลธารณะอื่นๆ หรือไม่ ถ้าให้ก็แสดงว่า ม.112 มี “ความเป็นธรรม” (fairness) และอัตราโทษที่กำหนดมีสัดส่วนที่สะท้อนสถานะความเสมอภาคในความเป็นคนหรือไม่เมื่อเทียบกับอัตราโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ถ้าสะท้อนหรือไม่ขัดต่อ “หลักความเสมอภาค” ก็เป็นกฎหมายที่ยุติธรรม
เรื่องไม่มีหลักฐานพยานเกี่ยวกับ “เบื้องหลัง” อะไรต่างๆ ที่ “พระ” ว่ามานั้น คงจะหมายถึงว่าไม่เห็นมีใครเปิดเผยความจริงโดยนำพยานหลักฐานมาเปิดเผยจะจะผ่านสื่อสาธารณะ และ/หรือผ่านการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม แต่ “พระ” ก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 และกฎหมายอาญา ม.112 ไม่มีใครสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อสาธารณะได้
หากเห็นว่า การแสดงพยานหลักฐาน หรือการรู้ความจริงจะเกิดประโยชน์แก่สังคมมากกว่า สำคัญกว่า“ความเชื่อ” พระ(หรือคนที่พูดเช่นนี้)ก็ต้องออกมาเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพื่อให้มีการแสดงพยานหลักฐาน หรือพูดความจริงกันอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่ใช่ไปตัดสินคนทั้งหลายว่า เขาไม่มีพยานหลักฐาน แค่ “เชื่อ” กันไปเอง “รู้สึก” กันไปเอง
เห็น “พระ” ย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ชายวัย 61” คงตั้งใจพูดให้ตรง “ข้อเท็จจริง” อย่างเต็มที่กระมัง (เนื่องจากคงคิดว่า ที่เขาเรียกอากงว่า “ชายชรา” “คนแก่” นั้น เป็นแค่ “ความเชื่อ”?) แต่ “พระ” ไม่รู้จริงๆ หรือว่า “ชายวัย 61” คนนี้เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ในฐานะที่เขาเป็น “คน” เขาควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานที่มนุษย์พึงได้รับ และ ได้รับสิทธิประกันตัวเหมือนคนอื่นๆ ( เช่น สนธิ ทักษิณ วัฒนา กำนันเป๊าะ หมอที่ใช้ไม้ก๊อปตีเมียตัวเองตาย ฯลฯ)
แล้วที่สรุปว่า การแสดงออกของผู้คนนั้นเป็นเพียงเรื่องของ “รัก” หรือ “ไม่รัก” และ “เชื่อมั่น” หรือ “ไม่เชื่อมั่น” ใน “ชายวัย 61” หรือ “ชายที่สูงวัยกว่านั้น” ถามว่า พระใช้พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง หรือ “ความรู้” อะไรมาตัดสินการแสดงออก และข้อเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนจำนวนมาก
พูดตรงๆ คือ ผู้ที่เขียนข้อความเช่นนี้ออกมาได้ ถ้าเขาไม่ใช่ “ผู้รู้” เขาก็เขียนไปตาม “ความเชื่อส่วนตัว” ของเขาเท่านั้นเอง
ถ้าเขาเป็น “ผู้รู้” เขาใช้ “ความรู้อะไร” มาตัดสินว่า เรื่องราวทั้งหมดที่ปรากฏขึ้นในกรณีอากงเป็นเพียงเรื่องของ “ความเชื่อ” และ “ความรู้สึก” ของผู้คนจำนวนมากที่ปราศจากพยานหลักฐานใดๆ
หากเขาซื่อสัตย์ต่อ “ทฤษฎี” ของตนเอง เขาต้องยอมรับว่าตนเองก็เขียนไปตาม “ความเชื่อส่วนตัว” เท่านั้นแหละ เพราะโดยความเป็นจริงแล้วภายใต้ ม.8 และ ม.112 การแสดงพยานหลักฐานอย่างเป็นสาธารณะเป็นไปไม่ได้ และตัวเขาที่เขียนมานั้นก็ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่า ที่กล่าวหาว่า “คนอื่นๆ ไม่มีพยานหลักฐาน” นั้น จริงหรือไม่
แต่หากคนที่เขียนข้อความเช่นนี้ออกมาได้ แล้วยืนยันว่าเป็น “สัจธรรม” ก็แสดงว่าเขาคงเป็น “สัพพัญญู” หรือไม่ก็เป็น “พระเจ้า” ที่หยั่งรู้ความจริงทุกรายละเอียดแต่เพียงผู้เดียว หยั่งรู้แม้กระทั่ง “ความรู้สึกทั้งหมด” ภายในจิตใจของผู้คน
คนที่มีสามัญสำนึกปกติต่างเสียใจกับ “ชะตากรรม” ของคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ดิ้นสุดชีวิตในการต่อสู้ขอ “ความเป็นธรรม” หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือ “ขอชีวิต” ต่อ “อำนาจมหึมา”
ทว่าเรากลับ “เจ็บปวด” ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อต้องมารับรู้ความจริงว่า ในเหตุการณ์วิกฤตแต่ละครั้งใน “สังคมพุทธ” แห่งนี้ พระสงฆ์ซึ่งมีสถานะเป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้คนกลับออกมาแสดง “ความคิด” ที่ไม่เคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของเพื่อนร่วมสังคมเลย!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย