http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-14

อนุช: (1)วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่


.

วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่ (1)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 35


กล่าวกันว่าประวัติศาสตร์จารึกมนุษย์ที่เริ่มเมื่อกว่า 5 พันปีมาแล้วเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือสงครามทางชนชั้น เป็นไปได้ว่ามนุษย์ได้ทำสงครามกันก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน ตั้งแต่ยังไม่มีชนชั้นในสมัยหินเพื่อแย่งแหล่งที่อยู่ที่ทำกิน

สงครามที่เป็นกิจกรรมจัดตั้งรวมหมู่ ระหว่างชนเผ่าหนึ่งกับอีกชนเผ่าหนึ่ง ระหว่างชุมชน สังคมประเทศหนึ่งกับอีกชุมชน สังคมประเทศหนึ่ง อาจจารึกแน่นอยู่ในกระบวนวิวัฒนาการของมนุษย์ในการที่ต้องแก้ปัญหาสงครามและสันติภาพอยู่ตลอดเวลา
เป็นไปได้ว่า เมื่อประชากรเริ่มแออัด ผู้คนเลือกที่จะอพยพเดินทางเร่ร่อนไปทั่วทุกทิศทาง เพื่อเลี่ยงการทำสงครามแย่งชิงดินแดนทำกิน อันไม่เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใด นอกจากนี้ ยังเนื่องจากความมั่นใจในเทคโนโลยีของตน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหินที่มีประสิทธิภาพ การใช้ไฟ รวมทั้งการมีเครื่องมือของใช้อื่น ผลักดันให้มนุษย์เดินทางไปทั่วโลก

เมื่อการกระจายไปในที่ต่างๆ จนค่อนข้างแออัดแล้ว จึงได้มีการปฏิวัติคือการปฏิวัติการเกษตรเมื่อราว 1 หมื่นปีมาแล้ว เพื่อสามารถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น มีการตั้งถิ่นฐานที่ค่อนข้างถาวรขึ้น หลังจากนั้น มนุษย์ก็ได้ทำสงครามกันเรื่อยมาไม่ได้ขาด


วิลล์ ดูแรนต์ นักคิดนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวสหรัฐเขียนไว้ในหนังสือชื่อ "บทเรียนทางประวัติศาสตร์" ว่า "ในช่วง 3,421 ปีท้ายที่มีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์นี้มีเพียง 268 ปีที่ไม่มีสงคราม" (ดู antiwar.com, 091105)

สงครามสร้างจักรวรรดิ ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์และสร้างโลกสมัยใหม่ขึ้น

สงครามกระตุ้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ขณะเดียวกันสงครามก็กลายเป็นแบบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีสงครามสำคัญ ได้แก่ สงครามร้อยปี สงครามนโปเลียน สงครามกลางเมืองสหรัฐ และระเบิดปรมาณู สงครามโลกครั้งที่สองทำให้ยุโรปพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ไปได้

จนกระทั่งเกิดแนวคิดการทหารแบบลัทธิเคนส์

ขณะนี้ก็มีการกล่าวถึงสงครามที่จะช่วยให้พ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008 นี้ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยมาก

( ดูบทความของ Heidi Garrett-Peltier ชื่อ Is Military Keynesianism the Solution ใน dollarandsense.ort, 2010 )



การเล่นแร่แปรธาตุ
กับการประดิษฐ์ดินปืนในจีน

การเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy บางทีแปลเป็นศัพท์ว่า รสานยเวท) เป็นการปฏิบัติทางสังคมที่เก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว โดยน่าจะรุ่งเรืองขึ้นตั้งแต่ยุคโลหะ เมื่อมีการตั้งอาณาจักรหรือจักรวรรดิกันแล้ว
วิชานี้แพร่หลายไปทั่วทั้งในอารยธรรมกรีก-โรมัน อารยธรรมอินเดีย และอารยธรรมจีน (ซึ่งนักเล่นแร่แปรธาตุจะอยู่ในกลุ่มนักลัทธิเต๋า ที่เล็งเห็นในความเป็นหนึ่งเดียวและความหลากหลายในธรรมชาติ)
นอกจากนี้ ภายหลังยังมีอารยธรรมอิสลามและยุโรปตะวันตก ความเชื่อและการปฏิบัติในการเล่นแร่แปรธาตุนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จนอาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากแหล่งเดียวกัน แล้วกระจายออกไป หรือมีการสื่อสารกันระหว่างอารยธรรมเหล่านี้โดยผ่านการค้า การแต่งงานและการสงครามอย่างต่อเนื่อง

การเล่นแร่แปรธาตุนี้พื้นฐานเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตของกินของใช้ รวมทั้งอาวุธ และมีการพัฒนาไปตามความต้องการทางการผลิต ผลักดันให้สังคมพัฒนาไปในรูปแบบต่างๆ
มีความเห็นกันว่าการเล่นแร่แปรธาตุน่าจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้คือ การทดลองสินแร่และการถลุงแร่ งานโลหะต่างๆ ตั้งแต่ทองสัมฤทธิ์ถึงเหล็ก การผลิตดินปืน หมึก สี เครื่องสำอาง การฟอกหนัง การทำเครื่องเคลือบดินเผา การทำแก้ว การกลั่นแอลกอฮอล์ การผลิตยา และยาอายุวัฒนะ ซึ่งเหมาะสมกับยุคนายทาสและฟิวดัล

จากประสบการณ์และจินตนาการ นักคิดสมัยก่อนได้สรุปเป็นทฤษฎีที่ลึกซึ้งว่า จักรวาลนี้ประกอบด้วยธาตุพื้นฐานไม่กี่ชนิด มีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น
ทฤษฎีนี้มองจากจุดปัจจุบันก็ถือว่าไม่เพียงพอ เพราะว่าธาตุพื้นฐานที่ประกอบเป็นโลกมีกว่า 100 ธาตุ จากความเข้าใจที่ยังผิวเผินและไม่พอเพียงนี้ ทำให้เกิดข้อสรุปที่ผิดพลาดตามมา ได้แก่ เห็นว่ามนุษย์สามารถที่จะเปลี่ยนแร่ธาตุที่ไม่มีค่าให้กลายเป็นทองคำที่มีค่าใด้ หรือเห็นว่าสามารถผสมเครื่องดื่มหรือยาอายุวัฒนะได้ รวมทั้งความเชื่อทางเทวนิยม ซึ่งเป็นการปฏิบัติทั่วไปในวิชาเล่นแร่แปรธาตุ และก็มีคุณค่าในตัวของมัน

ดินปืนนี้ถือกันว่านักเล่นแร่แปรธาตุชาวจีนเป็นผู้ค้นพบก่อนใครในศตวรรษที่ 9 เวลาที่ประดิษฐ์ไม่ชัดเจนว่าเมื่อใด บางทีระบุที่ราวปี ค.ศ.850 ดินปืนเป็นส่วนผสมระหว่างดินประสิวหรือโพแทสเซียมไนเตรต ซึ่งทางจีนใช้เป็นยามานาน กับกำมะถันและถ่าน
จุดประสงค์ของการทดลองนั้นต้องการหายาอายุวัฒนะ แต่กลับได้วัตถุระเบิดที่ทำลายชีวิตมนุษย์แทน
หลังจากค้นพบดินปืนแล้ว เข้าใจว่าน่าจะมีการนำไปใช้ทางทหารอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ทำเป็นปะทัดจุดเล่นอย่างที่เชื่อกัน
มีเอกสารที่อาจตีความได้ว่ามีการใช้ระเบิดดินปืนตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.850 แต่ที่มีเอกสารระบุชัดเจนว่ามีการใช้ดินระเบิดในการทหารก็ตกปี 1,000 ไปแล้ว


ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (960-1279) จีนได้พัฒนาดินปืนหลายแบบและใช้กับอาวุธหลายชนิดในราชวงศ์ซ่ง ตั้งแต่ปืนไฟ กับระเบิด ทุ่นระเบิด มีการใช้อาวุธเหล่านี้กับเรือ ทำให้ยุทธนาวีเปลี่ยนโฉมไป

ในช่วงราชวงศ์ซ่งนี้ จีนได้ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมจีนอย่างลึกซึ้ง ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่เจริญสูงสุดในโลก สิ่งประดิษฐ์สำคัญ เช่น แท่นพิมพ์ที่เคลื่อนไหวได้ การพัฒนาเข็มทิศและดินปืน การสร้างโรงสีลม การปฏิวัติการเกษตร การเดินเรือและการต่อเรือ เครื่องปั้นดินเผา การพัฒนาทางการแพทย์ และการผลิตโลหะ การปฏิวัติทางการค้า การใช้เงินกระดาษหรือธนบัตร ประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรเมืองก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยสูง
ระบบราชการจีนได้มีการพัฒนาไปก้าวใหญ่ ข้าราชการหรือขุนนางจีนระดับสูงมีความรู้ดี ผ่านการสอบคัดเลือก ในด้านการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ในสมัยราชวงศ์ถัง ชาวจีนบริโภคข้าวจ้าวและดื่มไวน์ สถาปัตยกรรมหลังคาจีนก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ (ดูหนังสือประวัติศาสตร์จีน ของ ทวีป วรดิลก บทว่าด้วยราชวงศ์ซ่ง, 2538 เป็นต้น)

การแพร่หลายของการใช้ดินปืนกับการก้าวหน้าครั้งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการปฏิรูประบบราชการและการค้าที่เกิดกับจีนนี้ ก็ได้เกิดที่ขึ้นที่ยุโรปด้วยเช่นกันเพียงแต่ในเวลาที่รวดเร็วกว่า
ราชวงศ์ซ่งนี้ในที่สุดได้เสื่อมสลายลง จากการที่ทัพมองโกลเข้ามาพิชิตและตั้งราชวงศ์หยวนขึ้น โดยอาศัยล้วงความลับเกี่ยวกับดินระเบิดได้ และดูจะทำให้การก้าวทะยานทางวิทยาศาสตร์นี้ยุติลง



การพัฒนาดินปืนในยุโรป
: สู่ดินปืนไร้ควัน

ดินปืนที่ประดิษฐ์ขึ้นในจีนได้ค่อยๆ กระจายออกไปยังอินเดียและตะวันออกกลาง และจักรวรรดิออตโตมาน

สำหรับยุโรปนั้น มีนักวิชาการเห็นว่า ยุโรปได้รู้จักดินปืนและอานุภาพของมันจากกองทัพชาวมองโกลที่เข้าโจมตีเมืองของยุโรปปี 1241 และเห็นว่า โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon 1214-1294) นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษถือว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เขียนเกี่ยวกับดินปืนในปี 1267 มีการบันทึกสูตรทำดินปืนตั้งแต่ปี 1300 จากนั้นมีการพัฒนาทั้งการผสมดินปืนและการสร้างอาวุธที่ใช้ดินปืนกันอย่างรวดเร็ว มีการตั้งโรงงานผลิตดินปืนที่หอคอยกรุงลอนดอนในปี 1346 หลังจากนั้น ได้มีการตั้งขึ้นอีกหลายแห่ง และยังมีอาคารเก็บดินปืนอีก ในราวปี 1350 มีการใช้ปืนอย่างแพร่หลายในกองทัพอังกฤษ

เป็นที่สังเกตว่า การใช้และการพัฒนาดินปืนในยุโรปอยู่ในช่วงของยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (ศตวรรษที่ 14-17) รวมทั้งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (ศตวรรษที่ 16 และ 17) รวมทั้งการเฟื่องฟูขึ้นของพาณิชยกรรมที่ศูนย์กลางอยู่ที่นครเวนิสและฟลอเรนซ์ เป็นต้น ในอิตาลี และแล้วยุโรปก็ทำสิ่งอัศจรรย์ที่ไม่ปรากฏในจีนและที่อื่นใด ได้แก่ การยกระดับวิชาเล่นแร่แปรธาตุขึ้นเป็นวิชาเคมีสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 17

นักเล่นแร่แปรธาตุที่กลายเป็นนักเคมีสมัยใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ โรเบิร์ต บอยล์ (Robert Boyle 1627-1691) เขามีด้านที่เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ สนใจในเรื่องเทววิทยา และเชื่อว่าการแปรแร่ธาตุหนึ่งไปเป็นอีกธาตุหนึ่งเป็นไปได้
แต่ในบรรยากาศที่วิทยาศาสตร์เริ่มเป็นที่นิยมสูง บอยล์ก็ได้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการเสนอกันขึ้นมาด้วย
เขาจึงเป็นเหมือนผู้เชื่อมระหว่างการเล่นแร่แปรธาตุหรือเคมีสมัยเก่า กับเคมีสมัยใหม่ จนได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเคมีสมัยใหม่คนหนึ่ง
ผลงานที่รู้จักกันดี ได้แก่ กฎของบอยล์ (เสนอปี 1662) ที่กล่าวว่า "เมื่ออุณหภูมิและปริมาณของก๊าซคงที่ ปริมาตรของก๊าซจะผกผันกับความดัน เมื่อความดันเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปริมาตรจะลดลงครึ่งหนึ่ง และกลับกัน"
ณ จุดนี้ บอยล์ได้แสดงจุดต่างกับเคมีดั้งเดิม โดยได้สนใจเรื่องก๊าซหรืออากาศ จากการที่เห็นว่าอากาศเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต ต่างกับความเชื่อเดิมที่ว่าอากาศเป็นธาตุหนึ่งที่เป็นต้นกำเนิดของชีวิต และเขายังได้ทำการทดลองที่ใช้วิธีการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

เมื่อมีการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ดินปืนก็ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในยุโรป ดินปืนนั้นมีจุดอ่อนได้แก่ การให้ความร้อนและแรงระเบิดต่ำ มีอำนาจการทำลายล้างไม่สูง นอกจากนี้ ยังเกิดควันมาก
ในสงครามนโปเลียน (1803-1815) มีการใช้ดินปืนกันมากจนเกิดควันคลุ้ง มองภาพในสมรภูมิไม่ชัด มีส่วนให้การบัญชาการรบไม่สะดวก จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาดินปืนที่ไร้ควันและมีอำนาจทำลายล้างสูงขึ้น

อัลเฟรด โนเบล (1833-1896) อาศัยการค้นพบดินปืนไร้ควันก่อนหน้านี้ มาจดสิทธิบัตรระเบิดไดนาไมต์ (1867) ที่ระเบิดรุนแรง และต่อมายังพัฒนาให้รุนแรงขึ้นอีก ทำให้โลกก้าวสู่สงครามที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าครั้งใด
ในอีกด้านหนึ่งมีการพัฒนาปืนยิงเร็วตั้งแต่ปี 1718 จนกระทั่งเป็นปืนกลสมบูรณ์แบบในปี 1862 ซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวาง
เดือนสิงหาคม 1900 กองทัพพันธมิตรตะวันตก 8 ชาติพลรบ 2 หมื่นคนยึดครองปักกิ่ง ทั้งเมืองพังทลายและถูกปล้น เป็นวันล่มสลายของจักรวรรดิที่ยืนยงมานานหลายพันปี

ด้วยการพัฒนาดินปืนและอาวุธปืน ตลอดจนการสร้างกองทัพใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้ปืนไฟ ตะวันตกได้ยึดครองทั้งโลกไว้ในอิทธิพล และสร้างยุคสมัยใหม่ขึ้นภายใต้กระบอกปืน



.