http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-09

วิทยาศาสตร์กับวิกฤติเศรษฐกิจ โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิทยาศาสตร์กับวิกฤติเศรษฐกิจ
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 41


วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นการปฏิบัติทางสังคมเพื่อหากฎและแบบรูป (Pattern) ในธรรมชาติ และสร้างเป็นคำตอบหรือคำอธิบายที่หลากหลาย
มันเป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องยาวนาน ค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ให้ลึกซึ้งกว้างขวางขึ้นไปทุกที จนกระทั่งเกิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ขึ้นในสังคมตะวันตก ที่ได้ค่อยๆ ขับไล่ความรู้แบบไสยศาสตร์และเหนือธรรมชาติออกไปโดยลำดับ 
กับทั้งได้กลายเป็นปัจจัยในการผลิตสำคัญ ช่วยให้มนุษย์พ้นจากการทำงานหนัก สกปรกและอายุสั้น
นี้เป็นคุณูปการใหญ่หลวงของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

แต่เมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังมีการใช้ระเบิดปรมาณูและการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ ได้เริ่มมีผู้มองเห็นอันตรายของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากขึ้นว่า มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม-สิ่งแวดล้อมอย่างน่าเป็นห่วง และเริ่มปรากฏชัดว่าวิกฤติเศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นผลมาจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่ออำนาจและกำไร มากกว่าการเอื้อประโยชน์ร่วมของสังคม 

และวิกฤติเศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อมนั้น ก็ส่งผลต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งว่าวิกฤติมิติต่างๆ ได้รวมตัวกันเข้าเป็นมหาวิกฤติที่โลกต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 
ในตอนนี้จะกล่าวถึงวิทยาศาสตร์กับวิกฤติเศรษฐกิจ


วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร

วิกฤติเศรษฐกิจในระบบทุนนั้นมีกลไกให้เกิดขึ้นในตัวมันเองอยู่แล้ว ที่เรียกกันว่า "วัฏจักรทางธุรกิจ" คือมีช่วงที่รุ่งเรือง และช่วงที่ทรุดตัวเกิดวิกฤติ ซึ่งได้ปรากฏมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19  
อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นกันว่าวิกฤติในระยะหลังมีลักษณะเป็นเชิงโครงสร้างมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤติที่มีลักษณะทั่วด้าน เป็นไปในขอบเขตทั่วโลก ยาวนาน เป็นต้น สาเหตุนั้นน่าจะเกิดจากมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมด้วย และหนึ่งในนั้นได้แก่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 

วิทยาศาสตร์ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นได้อย่างไร

วิทยาศาสตร์เป็นตัวทำให้วิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นเป็นอันมากใน 4 ทางด้วยกัน
1) ความเชื่อในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีว่าจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างไม่รู้จบ แม้ว่าจะเกิดวิกฤติร้ายแรงแต่ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างที่เคยเป็น 
เช่น ในสหรัฐปัจจุบันสามารถใช้เทคนิคแยกด้วยน้ำ (Hydraulic Fracturing นิยมเรียกสั้นๆ ว่า Fracking) สามารถสกัดก๊าซธรรมชาติจากหินใต้ดินลึกได้เป็นปริมาณมาก จนทำให้ก๊าซธรรมชาติในสหรัฐราคาถูกเป็นประวัติการณ์ เป็นต้น

ความเชื่อและการประสบผลสำเร็จชั่วคราวทำให้ตกอยู่ในความประมาท ประเมินความเสี่ยงต่ำไป และประเมินผลได้สูงเกินไป คิดว่าอย่างไรเสียผลได้ มีแต่จะเพิ่มพูน เช่น ดัชนีราคาหลักทรัพย์ ที่ในที่สุดแล้วมันก็ต้องขึ้นไป อันเป็นแนวโน้มทั่วไปในระยะหลายสิบปีมานี้ 
มักวิเคราะห์กันว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 นี้มีมูลเหตุสำคัญจากความละโมบอยากได้ไม่รู้จักพอ (Greed) แต่ก็ไม่ควรมองข้ามมูลเหตุสำคัญอีกด้านหนึ่งคือความประมาท โดยอาจเป็นทั้งความประมาทกระตุ้นความละโมบให้มากขึ้น และความละโมบก่อให้เกิดความประมาท

2. ความเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหลายในช่วงร้อยกว่าปีมานี้ เกิดจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่ความเจริญและความก้าวหน้า ก็มีด้านแห่งการทำลายและการก่อของเสียที่รุนแรงทั้งต่อระบบสังคมและระบบนิเวศ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้นำไปลงไว้ในบัญชีต้นทุน-กำไรทางเศรษฐกิจ 
ค่าใช้จ่ายนี้ได้ทับถมมากขึ้นทุกที จนกระทั่งกล่าวได้ว่ากลายเป็นวิกฤติ 
ด้านหนึ่งแสดงออกที่ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคม 
อีกด้านหนึ่งแสดงออกที่การเกิดมลพิษ การหมดไปของทรัพยากรและปัญหาโลกร้อน ค่าใช้จ่ายในการรักษาความมั่นคงทางสังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มพูน ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานก็สูงมากขึ้น มีส่วนทำให้อัตรากำไรลดลง

มีผู้ชี้ว่าการเติบโตในปัจจุบันไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) แต่เป็นการเติบโตที่ไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจ (Uneconomic Growth) เมื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงเกินกว่าผลได้ (ดูบทความของ Herman Daly ชื่อ Uneconomic Growth Deepens Depression ใน steadystate.org, 050312)

3. ลัทธิเหตุผลนิยม (Rationalism) จากการทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นนามธรรมและจิตนิยม การทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นการคิดคำนวณทางตัวเลขที่เป็นนามธรรม หรือการสร้างแบบจำลองเสมือนจริง 
เกิดการมองกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนเกิดขึ้นโดดๆ ลอยอยู่ในความว่าง ไม่มีการตอบโต้กลับของคนยากจนหรือกลุ่มร้อยละ 99 ที่เคลื่อนไหวยึดครองวอลสตรีต ตลอดจนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในโลกที่สาม รวมทั้งการตอบโต้กลับของธรรมชาติ 
เหล่านี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เช่น พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล สรุปบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ว่า ก็เหมือนกับวิกฤติการเงินอื่น นั่นคือผ่านมาแล้วก็ผ่านไป และนโยบายทางการเงินซึ่งที่สำคัญ ได้แก่ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยรัฐบาลนั้นใช้ได้ผล (ดูบทความ Krugman : After 5 Years, This is What We"ve Learned From the Crisis ใน businessinsider.com, 130412)
แต่ว่าในขณะนี้ก็ยังกล่าวไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวดี อาจเป็นการด่วนสรุปไป จนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและไม่ได้รับบทเรียนอะไร

4. การสร้างเครื่องมือทางการเงินอนุพันธ์ (Derivatives) จากเหตุปัจจัยข้างต้นส่งผลรวมให้เกิดการคิดสร้างเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่าอนุพันธ์กันอย่างแพร่หลาย อนุพันธ์เหล่านี้โดยสาระก็คือการแปลงหนี้เป็นทรัพย์สิน โดยใช้การคำนวณที่ซับซ้อนมัดรวมเป็นก้อน นำมูลค่ามหาศาล ออกมาขายในหมู่สถาบันการเงินทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศศูนย์กลาง อ้างเหตุผลว่าเครื่องมือทางการเงินนี้เป็นการประกันความเสี่ยง แต่ในอีกด้านหนึ่งกลายเป็นเหมือนเล่นแชร์ลูกโซ่ที่ขยายสินเชื่อ จนเป็นฟองสบู่ใหญ่ทั้งในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

เป็นที่สังเกตว่าการปฏิบัตินี้เป็นไปได้โดยอาศัยบุคลากรที่ได้รับการศึกษาอบรมมาทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วิศวกร นักฟิสิกส์ เป็นต้น เป็นกำลังสำคัญ นอกจากนี้ ยังได้ช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้เล่นหุ้นแบบต่อวินาทีขึ้นด้วย



วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบ
ต่อวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างไร

วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อวิทยาศาสตร์ทั้งด้านบวกและด้านลบ 
ในด้านลบ ได้แก่ 
1) การที่มีเงินสำหรับการวิจัยและพัฒนาลดลง กระทบต่อการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ที่มีนักวิทยาศาสตร์ออกมาโอดครวญ เช่น ด้านมานุษยวิทยา ด้านชีววิทยา เป็นต้น 
2) การตัดงบทางการศึกษาที่น่าจะกระทบต่อการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ในระดับหนึ่ง เช่น การปลดครูหรือทำให้เยาวชนได้เข้าถึงการศึกษาขั้นสูงได้ยากขึ้น 
3) การตัดงบทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางความรู้ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์
ในด้านดี อาจก่อให้เกิดการย้อนคิดในการปรับนโยบายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเพิ่งเริ่มเกิดจะต้องติดตามต่อไป


บางรูปแบบของความสัมพันธ์
ระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับเศรษฐกิจ-สังคม

ตั้งแต่ปี 1970 ได้มีผู้ชี้ให้เห็นว่าโลกตะวันตกได้ก้าวเข้าสู่สังคมข่าวสารแล้ว เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้น มีเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร เป็นต้น 
บางทีเรียกว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม 
ทั้งโลกได้ก้าวสู่ยุคทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เมื่อถึงทศวรรษ 1990 ได้มีการยอมรับแพร่หลายว่าตะวันตกได้ก้าวสู่สังคมความรู้ ซึ่งมีความหมายกว้างขวางกว่าสังคมข่าวสาร 

มีการเสนอทฤษฎีว่า เศรษฐกิจโลกได้ตั้งอยู่บนฐานความรู้แล้ว ซึ่งจะแก้ปัญหาการว่างงานและวัฏจักรทางธุรกิจไม่ให้เกิดขึ้นอีก 
แต่ความลิงโลดนี้ดูจะมีอายุสั้นเมื่อเกิดภาวะฟองสบู่ดอตคอมแตก

ในปี 2002 ยูเนสโกได้เผยแพร่เอกสารชื่อ "มุ่งสู่สังคมความรู้" (Towards Knowledge Societies) โดยมีความหวังว่าจะสร้างสังคมความรู้ขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาด้วย ไม่จำกัดอยู่แต่ในประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น 
แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนว่าแม้ในประเทศพัฒนาแล้วสังคมความรู้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ เช่น การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นความหวังในการผลิตนักวิชาการที่แข็งขัน ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนั้น 

มีศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยาและการศึกษาชาวสหรัฐ 2 ท่านคือ ริชาร์ด แอรัม และ โจวิปา รอกซา ใช้เวลากว่า 4 ปีศึกษาตัวอย่างนักศึกษาจำนวน 2,300 คน ใน 29 มหาวิทยาลัย และเขียนเป็นหนังสือชื่อ "การศึกษาขั้นสูงที่เคว้งคว้าง" (Academically Adrift : Limited Learning on College Campuses, 2011) พบว่า การเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐมีปัญหามากและไม่เอื้อต่อการสร้างสังคมความรู้อย่างที่คาด 
โดยนักศึกษาจำนวนมากที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ทำการศึกษาอย่างหนักหน่วงและก็ไม่ได้ปรับปรุงทักษะการเขียนและการให้เหตุผลขึ้นเท่าใด
เช่น ร้อยละ 32 ของนักศึกษาจะไม่ลงเรียนในวิชาที่ต้องอ่านหนังสือเกิน 40 หน้าต่อสัปดาห์สักวิชาเดียว 
และร้อยละ 50 ไม่ยอมลงเรียนในวิชาที่บังคับให้ต้องเขียนรายงานมากกว่า 20 หน้าใน 1 ซีเมสเตอร์ 
โดยเฉลี่ยนักศึกษาใช้เวลาเพียงสัปดาห์ละ 12-13 ชั่วโมงไปในการศึกษา ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของเวลาที่นักศึกษาในปี 1960 ปฏิบัติ

และดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะพบว่านักศึกษาจำนวนมากไม่ได้มีความก้าวหน้าในการคิดวิเคราะห์ การให้เหตุผลที่ซับซ้อน และการเขียนเพิ่มขึ้นจากที่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
เหตุปัจจัยน่าจะเกิดจากทางมหาวิทยาลัยลงทุนทางวัตถุ เช่น อาคารเรียน หอพัก และโรงยิมมากเกินไป ลงทุนทางการศึกษาน้อยไป 
ขณะที่นักศึกษาก็คิดว่าตนเป็นลูกค้าหรือผู้บริโภคที่มหาวิทยาลัยต้องให้บริการ ทำให้อิทธิพลของมหาวิทยาลัยลดลง รวมทั้งทุนการศึกษาของรัฐบาลที่ให้แก่นักศึกษา ไม่ได้ให้ผ่านมหาวิทยาลัย

นักวิชาการทั้ง 2 เรียกร้องให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยเพิ่มความเข้มข้นทางวิชาการในสถาบันการศึกษามากขึ้น (ดูบทความของท่านทั้งสองชื่อ Your So-Called Education ใน nytimes.com, 140511)  
แน่นอนว่ายังมีเหตุปัจจัยอื่น เช่นสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่สอดคล้องกับความจริงในชีวิตประจำวันและตลาดแรงงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ สภาพตลาดแรงงานของสหรัฐเองส่วนใหญ่ยังต้องการผู้มีวุฒิระดับมัธยมศึกษา 
เอกสารของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐชี้ว่า ตำแหน่งงานที่มีอยู่ในปี 2010 นั้นปรากฏว่าเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการวุฒิระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า สูงถึงร้อยละ 43.4 และวุฒิการศึกษาต่ำกว่านั้นถึงร้อยละ 25.9  
รวมทั้ง 2 กลุ่มตกเกือบร้อยละ 70

ที่ต้องการวุฒิจบขั้นปริญญาตรีมีตำแหน่งงานเพียงร้อยละ 15.5 ระดับอนุปริญญาร้อยละ 5.6 สำหรับตำแหน่งงานวุฒิปริญญาโทและปริญญาเอกรวมกันเพียงร้อยละ 4.5 

เมื่อถึงปี 2020 ตัวเลขก็ไม่ได้ต่างไปจากนี้มากนัก นั่นคือตำแหน่งงานที่ต้องการวุฒิการศึกษา ม.ปลายหรือต่ำกว่ายังคงสูงถึงร้อยละ 68.35 (ดูบทความของ C. Brett Lockard and Michael Wolf ชื่อ Employment Outlook : 2010-2020 ใน วารสาร Monthly Labor Review, มกราคม 2012) สหรัฐจึงคล้ายกับประเทศอื่นหลายประเทศที่มีผู้ได้รับการศึกษาสูงเกินกว่าตำแหน่งงานที่มีอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทิ้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไป 
หากหมายความว่าเรายิ่งจะต้องเร่งพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาสังคมและมนุษย์มากขึ้นไปอีก 
ทำให้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นปัญญาของมนุษย์ไม่ใช่เพียงเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่ง 
ไม่มีอะไรน่าเศร้าไปกว่าการที่มนุษย์จะทอดทิ้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและหันไปพึ่งความรู้แบบไสยศาสตร์และเหนือธรรมธรรมชาติ



.