.
สงครามวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 39
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1850 วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของมหาอำนาจตะวันตกได้เริ่มเบ่งบาน เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในการเข้าครอบงำดินแดนทั่วโลกเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้ถูกใช้เป็นอาวุธหลายมิติที่ทำลายทั้งระบอบรัฐ ระบบเศรษฐกิจและการผลิต และวิถีชีวิตความเชื่อของชนพื้นเมืองให้กลายเป็นแบบตะวันตกทั้งโดยการบังคับและการสมัครใจ
มันเป็นสงครามที่ไม่ได้สมมาตร ที่เข้าข้างมหาอำนาจตะวันตกอย่างชัดแจ้ง
กระสุน 3 มิติที่เข้าโจมตีทำลายล้างดังกล่าว ได้แก่ กระสุนจากเรือปืน ที่เข้ายิงทำลาย ปิดล้อม ทำลายระบอบรัฐในที่นั้นๆ และยึดครองดินแดน เป็นกระสุนที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีกระสุนนี้ กระสุนในมิติอื่นก็จะไม่เกิดผล
กระสุนมิติที่สอง ได้แก่ กระสุนสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกที่ส่งมาจากตะวันตก เข้าทำลายฐานการผลิตรวมทั้งความรู้พื้นเมืองทางด้านเศรษฐกิจ เป็นการทำลายถึงขั้นฐานราก และสร้างเศรษฐกิจและการผลิตใหม่ที่พึ่งพาเกาะเกี่ยวกับตะวันตกขึ้น
กระสุนมิติที่ 3 ได้แก่ กระสุนทางความเชื่อและแบบดำเนินชีวิต ซึ่งโดยพื้นฐาน ได้แก่ ความเชื่อในระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล การมีแรงงานเสรีไม่ใช่แรงงานเกณฑ์ บุคคลสามารถแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นได้ รวมไปถึงการแพทย์การสาธารณสุขแผนใหม่ ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์และการสำรวจ เป็นต้น ทำให้ทั้งโลกกลายเป็นแบบตะวันตกอย่างค่อนข้างสมบูรณ์
ภาวการณ์ดังกล่าวได้ดำเนินมาถึงปี 1913 ก็เกิดการสะดุดอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก เนื่องจากเหตุปัจจัยใหญ่ของสงครามวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกัน จนเกิดสงครามโลกถึง 2 ครั้ง โดยมีมูลเหตุสำคัญจากการแย่งดินแดนอาณานิคมและทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพลังงาน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐได้ก้าวสู่ฐานะเป็นแกนกลางของโลกตะวันตก ในท่ามกลางความปั่นป่วน ทั้งจากสงครามเย็น และสงครามเพื่อการปลดปล่อยประเทศ
สงครามวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปจากสงครามระหว่างมหาอำนาจตะวันตกด้วยกัน ไปเป็นสงครามระหว่างโลกเสรีกับโลกสังคมนิยม และมหาอำนาจตะวันตกกับประเทศกำลังพัฒนา
เมื่อถึงปี 1970 ได้ปรากฏชัดว่าสงครามวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในด้านหลักนั้น จะเป็นระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับประเทศกำลังพัฒนา หรือในปัจจุบันนิยมเรียกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่
เมื่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยเฉพาะในเอเชีย ต่างเดินตามรอยญี่ปุ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของตนโดยเน้นการส่งออก เริ่มจากพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ต่อยอดด้วยอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
ซึ่งหมายถึงว่าประเทศทั้งหลายต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของตนอย่างเร็ว
แม้ในปัจจุบันช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนายังคงห่างกันอยู่ แต่ก็พบว่าประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็ได้สร้างฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของตนอย่างมั่นคง
เช่น เกาหลีใต้และเม็กซิโก
หลายประเทศก็เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกระทบต่อการครองความเป็นเจ้าของประเทศมหาอำนาจอยู่ไม่น้อย
ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดตั้งแต่ทศวรรษ 1990
ความไม่ได้สมดุลของเศรษฐกิจโลก
กับการต่อสู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีนักวิชาการตะวันตกได้กล่าวถึงความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจโลก (Global Economic Imbalance) และยิ่งกล่าวหนาหูขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในสหรัฐและยุโรปตะวันตก บางคนวิเคราะห์ถึงขั้นว่าความไม่สมดุลนี้เป็นสาเหตุสำคัญ (ดูบทความชื่อ When a flow becomes a flood ใน economist.com 220109)
ความไม่สมดุลดังกล่าวเพ่งเล็งเอาที่ความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐกับจีน ใน 2 ประเด็น ได้แก่
ก) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดใหญ่ของสหรัฐ โดยขาดดุลถึง 470.2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2010 และการได้ดุลของประจีนอย่างใหญ่หลวงถึง 306.2 พันล้านดอลลาร์ ในปีเดียวกัน และในปี 2010 สหรัฐขาดดุลการค้าสินค้ากับจีนถึง 273.1 พันล้านดอลลาร์
ข) การที่จีนพยายามรักษาค่าเงินหยวนของตนให้ต่ำเกินจริงเพื่อสนับสนุนการส่งออก และดอลลาร์สหรัฐมีค่าสูงเกินจริง ได้มีส่วนสำคัญให้เกิดความไม่สมดุลนี้
ทางการสหรัฐได้พยายามกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน จนกระทั่งจีนต้องยอมทำตามในช่วงปี 2004-2008
แต่เมื่อเกิดวิกฤติ จีนได้ยกเลิกนโยบายนี้ไปอย่างเงียบๆ (ดูบทความของ Roya Wolverson และคณะ ชื่อ Confronting U.S.-China Economic Imbalances ใน cfr.org 021111)
ความไม่สมดุลนี้ ยังได้รับการเสริมแรง จากการที่ทางการจีนไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดอกเบี้ยต่ำ เป็นเหมือนการให้สินเชื่อราคาถูกแก่สหรัฐในการซื้อสินค้าจากจีนต่อไป สิ่งนี้ยังเกิดขึ้นระหว่างประเทศในเอเชียกับประเทศในตะวันตกโดยทั่วไปอีกด้วย
แต่ทว่า ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญมากกว่าเรื่องการที่จีนหรือประเทศในเอเชียอื่นพยายามรักษาค่าเงินของตนไม่ให้สูงเกินไป เหตุปัจจัยพื้นฐานน่าจะมาจากการที่ประเทศตะวันตกย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมไปอยู่ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งโดดเด่นอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกและอินเดีย
การย้ายฐานการผลิตนี้ เป็นสถานการณ์พิเศษบางอย่างที่ควรกล่าวถึง
ก่อนหน้านี้ศูนย์การผลิตทางอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว
เหตุปัจจัยให้เกิดการย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมไปประเทศตลาดเกิดใหม่ น่าจะเกิดจากเหตุดังนี้
1. การขาดทรัพยากรพลังงาน โดยเฉพาะในสหรัฐที่ต้องนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศ
2. การสูญเสียอาณานิคมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจากอาณานิคมมาใช้สะดวกเหมือนเดิม
3. ภาวะเศรษฐกิจซบเซา (Stagnation) ในประเทศตะวันตก เนื่องจากการผลิตล้นเกิน ภาวะเงินเฟ้อและการว่างงานสูง
4. ประเทศตะวันตกสำคัญโดยเฉพาะแกนสหรัฐ-อังกฤษได้ปรับเศรษฐกิจของตนให้เป็นแบบการเงิน ที่ควบคุมการลงทุนทางอุตสาหกรรมอีกทีหนึ่ง เพื่อหาประโยชน์จากการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์และการสร้างเครื่องมือทางการเงินได้แก่อนุพันธ์ต่างๆ ที่ซับซ้อนจนไม่มีใครเข้าใจอย่างถ่องแท้ และรักษาเฉพาะการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงเอาไว้ ย้ายการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการอื่นมาไว้ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่ามาก ในสหรัฐเกิดฐานอุตสาหกรรมใหม่ 2 ฐาน ทางด้านตะวันออกเป็นอุตสาหกรรมการเงิน ทางด้านตะวันตกหรือซิลิคอนวัลเลย์เป็นอุตสาหกรรมข่าวสารและการสื่อสาร นับแต่ปี 1970 สัดส่วนของภาคการเงินสหรัฐในจีดีพุ่งขึ้นสูงลิ่ว ขณะที่ภาคการผลิตทางอุตสาหกรรมลดต่ำลง นับเป็นความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจในสหรัฐเอง
5. การพังทลายของโลกสังคมนิยม เปิดช่องให้มีการขยายการลงทุนไปในประเทศเหล่านี้ ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันออก ประเทศที่เคยประกอบเป็นสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ยังได้แก่ อินเดียที่หันมาเดินหนทางทุนนิยมเต็มตัวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
การย้ายฐานทางการผลิตดังกล่าวก่อผลที่น่ากังวลยิ่งต่อตะวันตก นั่นคือ เป็นการถ่ายโอนความมั่งคั่งและอำนาจออกจากฟากตะวันตก
รายงานวิจัยของสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ ปี 2008 ว่าด้วย "แนวโน้มโลกปี 2025 : โลกที่เปลี่ยนผ่าน" กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "การถ่ายโอนความมั่งคั่งของโลกและอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังเกิดขึ้นโดยกล่าวอย่างหยาบก็คือจากตะวันตกไปยังตะวันออกนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่"
ความกังวลนี้ถือได้ว่ามีหลักฐานรองรับ แต่บ่อยครั้งมีการขยายความมากเกินไป เช่นการกล่าวว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าขนาดเศรษฐกิจจีนคิดจากค่าเสมอภาคอำนาจการซื้อ ก็จะเท่ากับของสหรัฐและแซงหน้า ทั้งที่ความจริงแล้วจีนมีประชากรมากกว่าสหรัฐถึง 4 เท่าตัว เมื่อคิดเป็นรายได้ต่อหัวก็ยังต่ำกว่าของสหรัฐหลายเท่าตัว
จากการวัดคุณภาพชีวิตโดย ยูเอ็นดีพี สหประชาชาติ พบว่า คุณภาพชีวิตชาวจีนต่ำกว่าสหรัฐ โดยสหรัฐอยู่ลำดับที่ 4 จีนอยู่อันดับ 89
กล่าวในทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก็มีการยกตัวอย่างที่น่าเกรงขามของจีน เช่น การที่สินค้าผลิตในจีนเข้าตีตลาดไปทั่วโลก จีนสามารถส่งมนุษย์อวกาศได้ด้วยตนเอง นับเป็นชาติที่สามที่ทำได้เช่นนั้น มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีบางด้าน เช่น พลังงานทดแทนเป็นต้น
แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ สินค้าที่ผลิตในจีนส่งไปขายทั่วโลกนั้น จำนวนมากมาจากบรรษัทข้ามชาติของตะวันตกรวมทั้งญี่ปุ่นที่ไปตั้งฐานการผลิตที่นั่น
มีการสำรวจพบว่าสินค้าของบริษัทแอปเปิ้ล เช่น ไอโฟน และไอแพด ที่ขายทั่วโลกในราคาชิ้นละหลายร้อยเหรียญนั้น เกือบทั้งหมดทำในจีน ขณะที่ผู้ผลิตและคนงานจีนได้รับเงินไม่ถึง 4 ดอลลาร์ต่อชิ้น (ดูบทความของ Martin Neil Baily ชื่อ Adjusting to China : A Challenge to the U.S. Manufacturing Sector ใน brookings.edu, มกราคม 2011)
นอกจากนี้ ยังพบว่าตะวันตกยังคงความเหนือกว่ามากในการวิจัยและพัฒนาในสาขาวิชาต่างๆ และที่สำคัญคือเทคโนโลยีทางการทหาร
ยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของจีน
กลุ่มผู้นำจีนดูจะเห็นพ้องกันว่า การที่จีนจะก้าวสู่ฐานะประเทศมหาอำนาจของโลกนั้น ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นสำคัญ ยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของจีนอาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ 3 มิติด้วยกัน ได้แก่
ก) มิติทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม จีนต้องเลี้ยงดูประชากรจำนวน 1.3 พันล้านคนให้อยู่ดีกินอิ่ม หลุดพ้นจากความยากจน มีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น
ข) มิติเชิงพาณิชย์ นั่นคือ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจะต้องแข่งขันในตลาดโลกได้ เช่น ในด้านราคาเป็นอย่างน้อย
ค) มิติทางด้านความมั่นคงและการทหาร ซึ่งในขั้นนี้ยังอยู่ในลักษณะว่ามีการถ่ายโอนเทคโนโลยีทางเศรษฐกิจและพลเรือนมายังด้านการทหาร ไม่ได้มีกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหารที่เข้มแข็งเหมือนเช่นในสหรัฐ โดยจีนตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2020 จีนจะเป็นประเทศจ้าวแห่งนวัตกรรม และในปี 2050 จะเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์ของโลก สามารถท้าทายแม้แต่ประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สุดได้ (ดูเอกสารชื่อ China"s Program for Science and Technology Modernization : Implication for American Competitiveness ใน uscc.gov, 2011)
กล่าวในทางปฏิบัติ จีนก็เหมือนประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีล้าหลังกว่าตะวันตก ได้มีวิธีการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีคล้ายคลึงกันดังนี้คือ
ก) การเลียนแบบและพัฒนา ซึ่งลดเวลาในการวิจัยและพัฒนาลงได้อย่างมาก แม้ว่าอาจจะไม่สามารถข้ามขั้นการพัฒนาไปได้ก็ตาม ในด้านนี้จีนได้เน้นเชิงพาณิชย์เป็นพิเศษ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ง่าย
ข) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาของตนเองในด้านที่คิดว่าสำคัญ จำเป็น เช่น จีนเน้นในเรื่องพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร เป็นต้น
ค) การเข้าร่วมงานวิจัยกับประเทศต่างๆ เพื่อรับเอาทฤษฎี เทคโนโลยีและการปฏิบัติใหม่มาอยู่เสมอ
ว่าไปแล้วสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งที่จีนและอินเดียกำลังปฏิบัติอยู่ เป็นเพียงการดิ้นรนเพื่อให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับตะวันตก
แต่ในโลกที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด ประเทศต่างๆ จึงต้องเล่นเกมผลรวมเท่ากับศูนย์ นั่นคือเมื่อมีใครได้ก็ต้องมีอีกคนหนึ่งหรือหลายคนเสีย นี่ย่อมก่อความตื่นตระหนกแก่ชาติตะวันตกที่ชินกับการเป็นมหาอำนาจมานาน จึงได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นการสร้างเป็นแนวรบใหม่ได้แก่ สงครามทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สงครามที่กล่าวข้างต้นยังอยู่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจ-การเมือง และสังคม-วัฒนธรรม โดยมีแนวโน้มว่า ลมตะวันออกจะพัดกลบลมตะวันตก จึงย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่ตะวันตกจะใช้ไม้ตายนั่นคือความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีทางทหารขึ้นมาข่มขู่
แต่การกระทำเช่นนั้นย่อมก่อให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธไปทั่วโลก ซึ่งหากผลลงเอยด้วยสงครามอย่างเช่นสงครามโลกที่ผ่านมาก็นับว่าเป็นหายนะใหญ่ของมนุษยชาติ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย