http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-16

กับภาวะไหม้เกรียม โดย ศิลา โคมฉาย

.

กับภาวะไหม้เกรียม
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 67


ไม่ว่าจะไปทางไหน ยามนี้เสียงบ่นพร่ำของผู้คนอื้ออึง ร้อน! ร้อน! ร้อน! 
ใจคนจดจ่อกับตัวเลขอุณหภูมิระดับน้องๆ ทะเลทราย ราวกับเป็นเลขเด็ดประจำงวด 
ตื่นตัวกับข่าวสารคนตายเพราะอากาศร้อนจัด ต่อเนื่องหลายราย หลายพื้นที่ ตื่นเต้นกับภาพแผ่นดินเดือดระอุลุกเป็นไฟ 
แล้งร้ายจนชาวบ้านร้านช่องต้องจัดพิธีโบราณ แห่นางแมวขอฝน

ลมร้อนผ่าวที่พัดวูบวาบรุมรม ทำให้ผู้คนขุ่นมัว แทบไม่ได้มองเห็นข่าวร้ายความร้อนด้านอื่น อย่างการระบาดของศัตรูมะพร้าว จำพวกหนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ด้วงแรดที่รุนแรงยามแล้งจัด ในพื้นที่การปลูกมะพร้าว 1 ล้าน 4 แสนไร่ทั่วประเทศระบาดไปแล้วร้อยละ 10 ของพื้นที่
แถมราคาที่เคยสูงเพราะผลผลิตไม่พอเพียงบริโภค ตกรูดต่ำอย่างหนัก เพราะการนำเข้ามะพร้าวแกงจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทน ทำให้สาวชาวสวนไม่อยากแก้ไขปัญหาโรคระบาด 
มักเลือกวิธีหันหลังให้ เปลี่ยนอาชีพไปเลย

หรืออากาศร้อนจัดทำให้เป็ดล้มตายจำนวนมาก ทั้งไข่หดลดลงจนน่าตกใจ เช่น ที่ฟาร์มของนายก อบต.บางเจ้าฉ่า อ่างทอง เลี้ยงเป็ดไว้กว่า 20,000 ตัว ต้องเร่งจับขายไปแล้วร่วม 7-8 พันตัว เพราะล้มตายอย่างต่อเนื่อง ตามปกติเคยไข่ต่อวัน ร้อยละ 80 ของจำนวนที่เลี้ยง ลดเหลือแค่ 6,000 ฟอง 
ท่านนายกฯ ยืนยันว่า เป็นปัญหาสาหัสของทุกฟาร์ม 
รวมถึงปลาเลี้ยงในกระชังตายลอยเป็นแพ อย่างที่บ้านกุ่ม บางบาล พระนครศรีอยุธยา ส่วนที่โตพอใกล้จะจับขายได้ ประสบกับอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง ตายลอยขึ้นบนผิวน้ำวันละนับร้อยตัว 
เจ้าของกระชังจึงต้องจมอยู่กับความหวาดวิตก

และหากมองเลยไปถึงภาพรวมของทางการ ภาวะอากาศร้อนร้ายก่อให้เกิดภัยแล้งเป็นวงกว้าง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยว่า มีพื้นที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 48 จังหวัด 448 อำเภอ 3,051 ตำบล 32,100 หมู่บ้าน
ทั้งภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก ยันภาคใต้


ข้อมูลตัวเลขพวกนี้ดูพื้นๆ ปกติธรรมดาไม่มีอะไรน่าสนใจนัก  
แต่ในอีกมุม มันกำลังยืนยันถึงผลพวงที่เกิดจากปัญหาภาวะโลกร้อน แสดงเป็นรูปธรรมชนิดจับต้องได้ หลังจากข่าวสารทางวิชาการ ไม่ว่าจากการศึกษาวิจัยในแวดวงวิทยาศาสตร์ หรือถ้อยแถลงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากองค์การสหประชาชาติ แพร่กระจายไปในแทบทุกสื่อมานานนักแล้ว 
ผู้คนทั่วไปต่างเข้าถึง รับรู้ และพูดติดปากเรื่อยเปื่อย 
ร้อนนี้เป็นการยกระดับความรับรู้ แบบสัมผัสได้ด้วยผิวหนัง และหัวใจที่ไหม้เกรียม

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พวกนั้นระบุว่า ในเอเชียมีโอกาสสูงสุด จะเกิดมรสุมและฝนกระหน่ำอย่างรุนแรงรวมถึงเกิดความแห้งแล้งในฤดูร้อนที่ยาวนาน ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความมั่นคงทางสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ  
เป็นความเห็นที่สอดคล้องต้องกัน กับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ

ภาวะโลกร้อนจะกระทบกระบวนการผลิตอาหาร เสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ทางเกษตรกรรมสำคัญ ตลอดแนวชายฝั่ง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นสินค้าหลักในการส่งออกลดลง 
โลกอาจเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร


อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นจะเกิดสภาพแวดล้อมเหมาะสม ต่อการฟักตัวของเชื้อโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะยุงลายเจริญเติบโตได้ดีนัก เป็นพาหะนำเชื้อไข้มาลาเรีย และไข้เลือดออก 
ขณะผู้คนอาจเจ็บป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้น 50-80 ล้านคนต่อปี 
พืชและสัตว์หลายชนิดกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 
หรือปรับตัว เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเบียดขับกันสับสนวุ่นวาย



กับภาวะไหม้เกรียมที่กำลังเผชิญกันอยู่ ผมยังมีความเชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือนด้วยความปรานีจากธรรมชาติ 
ในฐานะพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญ แหล่งผลิตอาหารรายใหญ่ เราจำเป็นต้องรู้ 
พร้อมต่อการรับมือสภาวะที่แปรเปลี่ยนไป

โลกซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มสูง งานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทวีปเอเชียและประเทศไทย ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้จะทำให้สิ่งมีชีวิต ร้อยละ 20-30 ไม่สามารถปรับตัวได้ 
สูญพันธุ์ไปในที่สุด

ยืนยันไปถึงผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน ทั้งการขาดแคลนอาหาร อัตราการเจ็บป่วยและตายเพิ่มขึ้น โดยจะประสบกับภาวะท้องร่วงอย่างหนัก รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและทางเดินหายใจ อันเป็นผลมาจากการการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อบางประเภทที่เปลี่ยนแปลงไป 

งานวิจัยนี้ยังเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่น่าสนใจยิ่ง คือควรสร้างเหตุการณ์จำลองภูมิอากาศในอนาคตแบบต่างๆ ที่เน้นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ศึกษาวิจัยด้านผลกระทบ การปรับตัว และปัญหา 
เอาให้รู้เห็นอาการชัดๆ ในสภาพที่เป็นจริง โดยเฉพาะพืชและสัตว์ แล้วถึงหาวิธีจัดการ  
ฤดูแล้งร้อนร้ายกาจ ควรเป็นการกระตุ้นเตือน ทั้งตอกย้ำให้ต้องเร่งลงมือทำก่อนจะสายเกินการณ์ 



.