____________________________________________________________________________________________
อย่าเป็นเลย ชนชั้นนำ
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 89
อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ที่ "ยุ่ง" จริงๆ ยุ่งชนิดที่คอลัมนิสต์อย่างฉันมึนไปหมดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี
ทั้งการรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่แม้เวลาจะผ่านไปถึง 2 ปี แต่ความทรงจำของคนเสื้อแดงนอกจากจะไม่เลือนรางแล้วยังดูเหมือนจะแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ
จากการต่อสู้จากโจทย์อันเรียบง่ายเรื่องการต่อต้านรัฐประหาร มาสู่การเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
จากการชื่นชมตัวบุคคลอย่าง ทักษิณ ชินวัตร มาสู่การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ "ไม่ไทยๆ" ในสังคมไทย และสร้างมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ค้นหาความจริง การปล่อยตัวนักโทษการเมือง
การวิจารณ์บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
การเรียกร้องความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม
มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจนว่า คนเสื้อแดงจะไม่ร่วมกระบวนการปรองดองที่กระโดดข้ามการค้นหาความจริง
ก่อนหน้าจะมีเรื่องการรำลึกเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม ยังมีเรื่องการรำลึก 20 ปี พฤษภาทมิฬ มีเรื่อง "อากง" มีเรื่อง บงกช คงมาลัย มีเรื่อง ฟลุค เดอะสตาร์
แล้วก็มีเรื่อง อั้ม เนโกะ ที่ไปถ่ายรูปกับอนุสาวรีย์ของ ปรีดี พนมยงค์ จนกลายเป็นบทสนทนาในอีกประเด็นที่กว้างขวางออกไปอีก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับ "ขอบเขตของเสรีนิยม"
ระหว่างเรื่อง "ยุ่งๆ" ระดับชาติ มีเรื่อง "ยุ่งๆ" ของเด็กๆ ที่สมควรได้รับการใส่ใจไม่แพ้กัน นั่นคือเรื่องนักเรียนโรงเรียนบดินทร์เดชา อดข้าวประท้วงโรงเรียนที่ไม่ให้เรียนต่อชั้น ม.4 รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะจากการรับนักเรียนใหม่
การประท้วงครั้งนี้อาจทำให้เกิดการตั้งคำถามจากคนนอกว่า "เรียนที่นี่ไม่ได้ก็ไปหาโรงเรียนใหม่ไม่เห็นจะยาก"
แต่การที่เด็กวัยรุ่นลงทุนอดอาหาร อันเสี่ยงต่อการถูกตัดขาดจากเพื่อนร่วมโรงเรียน เสี่ยงต่อการถูกกดดันทางอารมณ์ หรือแม้กระทั่งอาจถูกคุกคามจากผู้เสียผลประโยชน์ หรือผู้ถูกกล่าวหา (เช่น ประเด็นการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ) ชี้ให้เห็นว่า เด็กกลุ่มนี้และผู้ปกครองของพวกเขาเลือกที่จะตั้งคำถามที่ยากกว่า "ทำไมไม่ไปเรียนโรงเรียนอื่น" (ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระดับส่วนตัว)
นั่นคือ การตั้งคำถามต่อระบบโรงเรียนและการศึกษาในประเทศไทย (ความพยายามที่จะแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาส่วนบุคคล
นั่นคือ หากการประท้วงของเขากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมดีต่อ "เด็กนักเรียนคนอื่นๆ" ในรุ่นหลังจากเขา และนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียนอื่นๆ อีกด้วย)
การกระทำเช่นนี้คือการเลือกในทางที่ "ยาก" และเสียสละค่อนข้างมาก แม้จะเริ่มต้นจากการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ส่วนตนก็ตามที
เราคนไทยนั้นยอมรับกันอย่างเป็นสามัญไปแล้วว่า โรงเรียนแต่ละโรงเรียนย่อมมีมาตรฐานไม่เท่ากัน มีคุณภาพไม่เท่ากัน
เรายอมรับกันอย่างเป็นสามัญแล้วว่า "โรงเรียน" ที่ลูกของเรา หรือ "โรงเรียน" ที่เราจบมานั้นบอกอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานครอบครัว ฐานะ อุดมการณ์ทางการเมืองของพ่อแม่
โรงเรียนในเมืองไทยตอนนี้น่าจะแบ่งประเภทใหญ่ๆ ได้เป็นดังนี้
1. โรงเรียนวัด, เทศบาล สำหรับลูกหลานคนบ้านๆ ลูกแรงงานต่างด้าว
2. โรงเรียนรัฐบาลระดับธรรมดา สำหรับลูกหลานคนบ้านๆ เรียนปนกลาง ไม่มีเงินแป๊ะเจี๊ยะ
3. โรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อเสียงและโรงเรียนสาธิตฯ สำหรับเด็กหัวกะทิ และเด็กลูกหลานพ่อแม่ที่มีเส้นและมีเงินจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ
4. โรงเรียนเอกชนระดับธรรมดา สำหรับลูกหลานคนที่ไม่อยากกระเสือกกระสนไปแข่งขันกับใครให้ปวดหัวมาก
5. โรงเรียนเอกชนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง สำหรับลูกหลานคนที่มีสตางค์มากๆ และเพื่อสร้างเครือข่ายทางสังคม ธุรกิจในอนาคต
6. โรงเรียนนานาชาติ สำหรับลูกครึ่ง และสำหรับลูกหลานคนไทยที่มีสตางค์มากจริงๆ ที่ไม่ใช้ระบบการศึกษาไทย และชัดเจนว่า การลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับ "อาณานิคม" นั้นรับประกันการกลับมาเป็น "ชนชั้นปกครอง" ส่วนชนชั้นผู้ถูกปกครองก็คือลูกหลานคนที่จบจากโรงเรียนข้อ 1-4
7. โรงเรียนทางเลือก สำหรับลูกหลานปัญญาชน นักอนุรักษ์ ผู้ใส่ใจในธรรมชาติ จิตวิญญาณที่มีสตางค์มากๆ เด็กเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นผู้นำในกระแสนิวเอจแบบไทยๆ มีอนาคตอยู่ที่หลักสูตร จิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา และการสนทนาประกอบการตีระฆังทิเบตที่เห็นกันทั่วไปในพิธีกรรมสุนทรียสนทนาแบบปัญญาชน หรืออาจเข้าสู่การเป็นอีลีตของเอ็นจีโอระดับนานาชาติต่อไป
ฉันไม่ใช่นักอุดมคติที่จะมานั่งเพ้อฝันว่าทุกโรงเรียนประเทศไทยต้องมีมาตรฐานเท่ากันเป๊ะ ประเทศไหนๆ ในโลกก็มีโรงเรียนสำหรับคน "บ้าน บ้าน" กับ บรรดา "อีลีต" กันทั้งนั้น
แต่ประเด็นสำคัญคือในประเทศอื่นๆ นั้น อีลีตจะเรียนโรงเรียนไหนอย่างไร มันไม่หนักหัวเราเท่าไหร่ ตราบเท่าที่โรงเรียนสำหรับคน "บ้าน บ้าน" มีคุณภาพ มาตรฐานที่ "ใช้ได้" ไม่ตกต่ำกว่ามาตรฐานสากล
มีโรงเรียนอาชีวะที่ทำให้ลูกหลานคน บ้าน บ้าน อย่างเรามีอาชีพสำหรับหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีมหาวิทยาลัย "บ้าน บ้าน" ที่มีคุณภาพดีพอจะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือแสยะยิ้มให้กับบรรดาเด็กอีลีตในมหาวิทยาลัยอีลีตได้ไม่มีปมด้อย
ปัญหาของการแย่งเข้าโรงเรียนดังในประเทศไทยนั้น มีเหตุผลหลักๆ อยู่แค่สองประการเท่านั้นกระมัง นั่นคือ โรงเรียน "ดัง" นั้นวัดจากเปอร์เซ็นต์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ หรือการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้
และเหตุผลประการที่สองคือ เพื่อรับประกันว่าลูกหลานของตนจะมี "เพื่อน" รวมโรงเรียนที่จะเป็นเครือข่ายส่งเสริมการประกอบอาชีพ การทำธุรกิจ การเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับ และการเข้าสังคมอื่นๆ ต่อไปในภายภาคหน้า
เด็กนักเรียนจะไม่ต้องมานอนประท้วงอดข้าวหน้าทำเนียบ หากโรงเรียนแต่ละโรงเรียน จะรับเด็กขึ้นเรียนชั้นมัธยมปลายแบบไม่จำเป็นต้องคัดทิ้ง หากอ้างว่าต้องคัดนักเรียนออกบ้างเพราะโรงเรียนไม่อาจรองรับปริมาณเด็กทั้งหมดได้ ก็ต้องถามต่อไปว่า รับไม่ได้จะเปิดรับเด็กจำนวนมากเช่นนั้นตั้งแต่ประถมหรือมัธยมต้นไปทำไม ถ้าโจทย์ของโรงเรียนคือรับเด็กได้แค่ชั้นปีละสามร้อยคน ก็รับเด็กสามร้อยคนมาตั้งแต่ประถม มัธยมต้น ไม่ได้รับเด็กประถม มัธยมต้นมาพันคนแล้วคัดเด็กออกเจ็ดร้อย เหลือแต่หัวกะทิสามร้อย เพราะอยากได้แต่เด็กเก่งๆ มาทำสถิติเปอร์เซ็นต์สูงสุดสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้
การรับเด็กเช่นนี้คือ การรับเด็กมา "เผื่อเลือก" เอาแต่หัวกะทิได้ แถมยังได้ "รายได้"
ปัญหานี้จะไม่เกิดหากสังคมไทยไม่วัดความ "ดัง" ของโรงเรียนด้วยความตื้นเขินคือ ดูแค่เข้ามหาวิทยาลัยได้กี่คน
โรงเรียนอาจจะบอกว่านี่เป็นความหวังดีของโรงเรียน เด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์เรียนต่อมัธยมปลาย แปลว่าเขาควรไปเรียนสายอาชีพ แต่ขอโทษเถอะ อันนั้นให้นักเรียนและพ่อแม่เขาเลือกเอง ตัดสินใจเอง รับผิดชอบเอง มิใช่บอกว่า เกรดเท่านี้ ออกไปจากโรงเรียนชั้นซะ!
ใครจะรู้ว่าเด็กที่เรียนไม่เก่งตอนมัธยมต้น อาจเรียนไม่เก่งด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น สายตาสั้น พอขึ้น ม.ปลาย แม่ตัดแว่นให้ใส่ ทำให้เรียนรู้เรื่อง กลายมาเป็นเด็กเรียนดีก็ย่อมเป็นไปได้
ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยนอกจากหลักสูตรที่พยายามจะคงซอฟต์แวร์ทางอุดมการณ์ชุดเก่าเอาไว้ในเนื้อหาของแบบเรียน ก็คือ ปัญหาการคงโครงสร้างระบบโรงเรียนของเมืองขึ้นเอาไว้อย่างมั่นคง นั่นคือ การแบ่งโรงเรียนออกเป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานเจ้าอาณานิคม และโรงเรียนสำหรับลูกหลานคนพื้นเมืองที่จำต้องมีเพดานของมาตรฐานไว้เพื่อจำกัดศักยภาพของผู้เรียนให้เป็นได้เพียงเสมียนและพนักงานระดับล่างของชนชั้นเจ้าอาณานิคมเท่านั้น
การปลดแอกออกจากโครงสร้างนี้คงไม่มีทางอื่นนอกจากทำให้โรงเรียนเป็นของ "ท้องถิ่น" และให้ท้องถิ่นจัดการการศึกษาของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
โรงเรียนกลับมาเป็นของเทศบาล ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้ามาเป็นกรรมการบริหารโรงเรียน ร่วมกับสมาชิกสภาเทศบาลที่จะบริหารงบประมาณท้องถิ่นเพื่อการศึกษาของท้องถิ่นเอง และเพื่อผลประโยชน์ของลูกหลานของตนเอง ยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้ได้ตามความต้องการของตน และไม่อิงความสำเร็จจากตัวเลขการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว
จากนั้นปล่อยให้โรงเรียน "ดัง" เหลือแต่ "แบรนด์" อันล้าสมัย ทิ้งไว้เป็นที่สิงสถิตของเหล่าอีลีตที่นับวันจะร่วงโรย ไร้เพื่อน และต้องคบกันเองในหมู่อีลีตที่มีแค่หยิบมือเดียวของคนทั้งประเทศ
มีไว้เพื่อให้คนเหล่านั้นมีหน้าที่แค่เป็นตัวละครแต่งแฟนซีถ่ายรูปลงหนังสือ ฮาโหลโอเช ให้เราดูเพื่อเป็นความบันเทิงเหมือนดูปาร์ตี้แฟนซี
มนุษย์ บ้าน บ้าน ชนชั้นกลางอย่างเราหยุดกระเสือกกระสนจะไปเข้าสังคมอีลีต แต่หันมาสร้างพันธมิตรที่มาจากมนุษย์บ้าน บ้าน ด้วยกัน ด้วยการหันมาให้ความสนใจกับโรงเรียนในชุมชน
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลิกเอาลูกไปบ้าบอแข่งขันกันเข้าโรงเรียนดัง แล้วมาเรียนโรงเรียนในละแวกบ้าน พ่อแม่ที่พอจะมีกำลังสติปัญญาจะได้เข้าไปช่วยกดดันให้โรงเรียนละแวกบ้านมีความกระตือรือร้นที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา เพราะถูกตรวจสอบจากสมาคมครูผู้ปกครอง และเพื่อบอกว่า
"หมดยุคอาณานิคมแล้ว และเราจะไม่ยอมให้โรงเรียนเหล่านี้ผลิตแค่คนที่จะไปเป็นขี้ข้าใคร"
วิบากกรรมของชนชั้นกลางไทยนั้นมันอยู่ตรงที่เรารังเกียจความเป็นชนชั้นกลางของตนเอง รังเกียจชนชั้นแรงงาน แต่ทะยานอยากไปเป็นติ่งเป็นหูดของชนชั้นนำ เมื่อทำสำเร็จได้เป็นติ่งปลายสุดของชนชั้นนำแล้วจะหันมาเหยียดชนชั้นกลางที่ทะยานไม่ถึงและชนชั้นแรงงานให้ต่ำลงไปอีก เพื่อให้ความเป็นติ่งของตัวเองดูสูงส่งขึ้นมาบ้าง
โรงเรียนดังเป็นอีกเครื่องมือเดียวที่พอจะเป็นไปได้ ที่จะช่วยเป็นบันไดไปสู่ความเป็นติ่งเป็นหูดนั้น แต่มันก็ช่างเป็นบันไดที่เรียวเล็ก ยิ่งสูง บันไดก็ยิ่งง่อนแง่นและเรียวลงเท่านั้น จึงมีคนพลัดตกลงมาจากบันไดนั้นมากมาย ยังความโทมนัสมาสู่ผู้ปีนป่ายอย่างยิ่ง
การประท้วงของนักเรียนโรงเรียนบดินทร์เดชา จะมีพลังยิ่งขึ้น หากเป็นการประท้วงเพื่อเปิดโปงหน้าที่ที่แท้จริงของโรงเรียน "ดัง" ว่ามีหน้าที่เป็น พื้นที่ของความเป็น Academic หรือ เป็นแค่ "บันได" อันง่อนแง่น และใจดำ
จากนั้นหันมาภูมิใจกับความเป็น บ้าน บ้าน และสร้างความเข้มแข็งให้กับพลังของชนชั้นกลาง บ้าน บ้าน อย่างเราด้วยการขยายความเสมอภาค โอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ ปลูกฝังค่านิยมที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน และคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตย
แทนการเป็นเกาะติ่งชนชั้นนำที่ยิ่งทำก็ยิ่งน่าเวทนา
เพราะสิ่งที่เราควรทำคือการจัดที่ทางให้คนเหล่านั้นเป็นสีสันของสังคมเท่านั้น
.