http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-11

ศึกสายเลือด “แดง-พท.” “ไข้ปทุม” ลามไม่หยุด?, ศึกชิง “เสนาบดี ปู 3” ระอุ..

.
รายงานพิเศษ - วาทกรรมว่าด้วย เผาบ้านเผาเมือง สะท้อนตัวตน ฉลอง เรี่ยวแรง
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม - แกะรอยข่าว "ของแพง" "การเมือง" เพื่อความอยู่รอด ของ "ชาวบ้าน" หรือ "นักการเมือง"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ศึกสายเลือด “แดง-พท.” “ไข้ปทุม” ลามไม่หยุด? “อุดร-เชียงราย” ระทึก!
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 13


ผลเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นายสมพงษ์ กูลวงศ์ จากเพื่อไทยพ่ายให้ นายวันชัย จงสุทธนามณี จากภูมิใจไทย 
ทั้งที่นายสมพงษ์ เป็นอดีตนายกเทศมนตรี ได้รับแรงหนุนจาก นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย เพื่อไทย 
เมื่อนำไปเทียบเคียงกับผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 ปทุมธานี และนายก อบจ.ปทุมธานี ที่คนของเพื่อไทย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ และ ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ต่างก็แพ้รวด 
ย่อมส่งผลสะเทือนต่อเพื่อไทย เช่นเดียวกับเลือกตั้ง อบจ.กาญจนบุรี ที่ พล.ท.มะ โพธิ์งาม พ่ายให้ผู้สมัครประชาธิปัตย์ 
คำถามคือความพ่ายแพ้เหล่านี้ 
คือเครื่องสะท้อนว่ากระแสเพื่อไทยที่เคยร้อนแรงตั้งแต่เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 กำลังแผ่วลง

ความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อแดงกับรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ 2 ขาประชาธิปไตย เดินมาถึงจุดง่อนแง่นแล้วจริงหรือไม่
เนื่องจากปทุมธานีและเชียงรายล้วนแต่ได้ชื่อเป็นพื้นที่เสื้อแดง ฐานกำลังสำคัญของเพื่อไทย

แม้แกนนำพรรค และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พยายามปฏิเสธในประเด็นแตกแยกนี้ และเชื่อว่าความพ่ายแพ้ดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ ไม่ได้บ่งชี้ว่าความนิยมของพรรคลดลง 
แต่ในการ"ถอดบทเรียน"จากการเลือกตั้งปทุมธานี 
ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กังวลถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายแห่งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ว่าอาจมีการลงแข่งขันตัดคะแนนกันเอง 
หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในพื้นที่อื่นๆ อีก ความจริงแล้วเป็นห่วงเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น จ.เชียงราย ที่ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ ยังจะลงแข่งขันตัดคะแนนกันเองอีก"



การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย กำหนดในวันที่ 27 พฤษภาคม 
เพื่อไทยสนับสนุน นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยา นายยงยุทธ ติยะไพรัช ลงแข่งกับ นางรัตนา จงสุทธนามณี นายก อบจ.เชียงรายคนเดิม
มี นายสฤษฎิ์ อึ้งอภินันท์ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และ น.ส.พนิดา มโนธรรม แกนนำกลุ่มเชียงรายตะวันแดงกระตุ้นเศรษฐกิจ ลงสมัครแข่งด้วยเช่นกัน 
ตรงนี้เองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ห่วง 
เนื่องจากต้องการให้การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย เป็นสนามกู้ศักดิ์ศรีหลังพรรคพ่ายแพ้เลือกตั้งทั้งสนามใหญ่และสนามท้องถิ่นในภาคกลางและอีสานหลายจังหวัด 
ถึงขั้นโฟนอินให้ ส.ส.เชียงราย และคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ หนุนนางสลักจฤฎดิ์เต็มที่ 
ซึ่งดูเหมือนไม่มีปัญหา

น.ส.จีรนันท์ จันทวงษ์ แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเชียงราย ยืนยันว่า 
เสื้อแดงเชียงรายเกือบทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่ม 24 มิถุนาฯ กลุ่มเชียงราย 49 กลุ่ม นปช.52 กลุ่มแม่สรวยรักประชาธิปไตย กลุ่มชมรมคนรักทักษิณ ล้วนหนุนนางสลักจฤฎดิ์ 
มีเพียงกลุ่มคนเจียงฮายฮักประชาธิปไตยเท่านั้นที่สนับสนุนนายสฤษฎิ์ ส่วน น.ส.พนิดา เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนเสื้อแดงมากนัก 
ก่อนสรุปเข้าประเด็นสำคัญ 
"การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงราย ซึ่งคนของ ส.ส.เพื่อไทยพ่ายแพ้ ไม่ได้ส่งผลต่อคนเสื้อแดงมากนัก เพราะเป็นพื้นที่วงจำกัดและไม่ได้เป็นตัวแทนเสื้อแดงโดยตรง"
ต้องรอดูว่า"ศึกสายเลือด"ระหว่างนางสลักจฤฎดิ์ กับนายสฤษฎิ์ 
จะช่วยให้ นางรัตนา จงสุทธนามณี เหนื่อยน้อยลงหรือไม่



อย่างไรก็ตาม พื้นที่บ่งชี้ว่าเพื่อไทยไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลคนเสื้อแดงเสมอไปคือ จ.เชียงใหม่ 
จากการที่เพื่อไทยมีมติส่ง นายเกษม นิมมลรัตน์ ในคาถาของ "เจ๊แดง "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 แทน น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ 
เสื้อแดงเชียงใหม่บางส่วนที่เคยคัดค้าน และเรียกร้องให้พรรคนำระบบ"ไพรมารี่โหวต"มาใช้ แต่เมื่อพรรคมีมติชัดเจนกลุ่มเสื้อแดงก็เคารพและสนับสนุน 

ต่างจากพื้นที่ จ.อุดรธานี เมืองหลวงคนเสื้อแดงภาคอีสาน ภายใต้การนำของ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร 
จุดบ่งชี้อยู่ที่การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี วันที่ 17 มิถุนายน 
จากเดิมพรรคแถลงเปิดตัว นายประสพ บุษราคัม อดีต รมช.เกษตรฯ และอดีต ส.ส.อุดรธานี ลงสมัครไปแล้ว ที่บ้านพัก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ใน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 
กระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม พล.ต.อ.ประชา พร้อมด้วย ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยทั้ง 9 เขต กลับต้องมาเปิดแถลงอีกครั้งที่รัฐสภา ว่า 
ส.ส.อุดรธานี มีมติให้ นายวิเชียร ขาวขำ ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อลงสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แทน นายประสพ บุษราคัม ที่ถอนตัวเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

รายงานข่าวแจ้งว่า การเปลี่ยนตัวเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่าง ส.ส. กับแกนนำเสื้อแดง ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการเลือกตั้ง จ.ปทุมธานี 
โดยได้รับไฟเขียวจาก"นายใหญ่"ในต่างประเทศเรียบร้อย 
ท่ามกลางเสียงสนับสนุนของเสื้อแดงอุดรฯ ในการเปลี่ยนตัวจากนายประสพ มาเป็นนายวิเชียร ส.ส.คนเสื้อแดง 
นายขวัญชัยอ้างว่า ในการแถลงเปิดตัวนายประสพ เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายประสพปราศรัยโชว์วิสัยทัศน์กับคนเสื้อแดงที่มาร่วมฟัง และหลุดคำพูดบางอย่าง 
โดยนายประสพแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเอง แล้วบอกว่าใครจำได้ให้โทร.เข้ามา ใครโทร.ก่อนได้เงิน 100 บาท 
เมื่อเรื่องนี้ไปถึงหู พ.ต.ท.ทักษิณ เกรงว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงพูดคุยกับนายประสพ ก่อนสั่งให้เปลี่ยนตัวว่าที่ผู้สมัครทันที 

เป็นนายขวัญชัยที่เสนอชื่อนายวิเชียร
นายวิเชียรเป็น ส.ส. เป็นกรรมาธิการมาหลายสมัย มีความรู้ความสามารถ เป็นคนเสื้อแดงที่ต่อสู้ด้วยกันมาตลอด คนเสื้อแดงทั้งอุดรธานีต่างเห็นด้วย"  
พร้อมกับความพยายามให้ น.ส.โอปอล์ หัตถสงเคราะห์ ลูกสาว นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายปรมินทร์ พิมานเมฆินทร์ ลูกชาย พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.อุดรธานี 
ถอนตัวจากการลงสมัครเพื่อลดปัญหาขัดแย้งและตัดคะแนนกันเอง

นายวิเชียรมั่นใจมากกว่าตนเองจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ เพราะถ้าแพ้ก็ยิ่งกว่า"ไข้ปทุม" แต่มั่นใจว่าไม่มีปัญหาเหมือนที่ จ.ปทุมธานี
ดังนั้น ไม่ว่าการเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงราย การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ ตลอดจนการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี 
จึงเป็นบททดสอบ 3 ด่านสำคัญหลังผ่านบทเรียนการเลือกตั้ง จ.ปทุมธานี ว่า
อนาคต 2 ขาประชาธิปไตย จะยังสดใสต่อไปหรือไม่



+++

ศึกชิง "เสนาบดี ปู 3" ระอุ "111-แดง" ลัดคิว ซิว "รมต." ปฏิกิริยา "พท." ฮึดสู้ !
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 12


สัญญาณการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จาก "ครม.ปู 2" เพื่อไปสู่ "ครม.ปู 3" มีความชัดเจนตรงกันแทบทุกสายแล้วว่าในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะที่สุด สำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุง "จุดอ่อน" ของรัฐบาล ที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศ 
โดยเฉพาะปัญหา "เศรษฐกิจปากท้อง" ที่กำลังรุมเร้าอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "ของแพง" หรือ "วิกฤติเศรษฐกิจโลก" ที่กำลังจะมาถึง 
ประกอบกับปมปัญหา "การเมืองในรัฐสภา" ที่รัฐบาลยังต้องผลักดันกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับ ทั้ง "กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2555" หรือแม้แต่ "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดอง" ซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการปลดล็อกวิกฤติความขัดแย้งของประเทศ

ไปจนถึงปัญหาด้าน "มวลชน" ที่เริ่มส่งสัญญาณออกมาให้เห็นว่า "พรรคเพื่อไทย" ไม่สามารถเดินได้ลำพังเพียง "ขาเดียว" โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของ "ขาใหญ่" อย่าง "คนเสื้อแดง" ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการสนับสนุน "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และอุ้มชูพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการตลอดมาได้ 
จึงกลายเป็นสาเหตุประกอบสำคัญ ที่นำไปสู่การปรับ ครม. เพื่อลบร่องรอยปัญหาต่างๆ


นอกจากนี้ ช่วงเวลาการ ปรับ "ครม.ปู 3" ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนั้น ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดอีกอย่างหนึ่ง
เพราะนอกจากจะเป็นระยะเวลาที่ "ครม.ปู 2" ได้พิสูจน์ผลงานมาจนเห็นข้อบกพร่องที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว 
ยังเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่นักการเมืองกลุ่ม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (กก.บห.ทรท.) จะพ้นโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทยในปลายเดือนพฤษภาคมด้วย 
ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดี ที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" จะมีโอกาสเลือกเฟ้นบุคลากรเพิ่มเติม จากกลุ่ม 111 มาเสริมทัพความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็น "จาตุรนต์ ฉายแสง" อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย หรือ "วราเทพ รัตนากร" อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
ที่เป็นเชื่อแรกๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในระดับ "แกนนำ" ถึงการจัดวางลงในตำแหน่งที่เหมาะสม ตามโควตาของ "พรรค" และ "กลุ่มการเมือง" 
ซึ่งก็รวมไปถึงในรายของ "จตุพร พรหมพันธุ์" ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง ที่มีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่การจัด "ครม.ปู 1" ว่า จะเป็นผู้ที่ได้รับการผลักดันให้เข้ารับตำแหน่ง "รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย" ในโควตาของคนเสื้อแดง



แม้การปรับ ครม. ครั้งนี้ แกนนำ พท. จะยืนยันว่าเป็นการ "ปรับเล็ก" ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลไม่กี่ตำแหน่ง 
และส่วนใหญ่ก็เป็นการปรับเอา "หัวหน้ากลุ่ม-ก๊วน" ซึ่งถือว่าเป็นตัวจริงเข้ามาเสียบแทนตำแหน่งที่มี ส.ส. นั่งจองเก้าอี้ให้อยู่แล้ว 
แต่การปรับ ครม. เพื่อนำเข้า "บุคลากรการเมือง" ไปเพิ่มเติมในรัฐบาลที่เต็มไปด้วย "หุ้นส่วนความสำเร็จ" ของพรรคเพื่อไทยทั้งในสมรภูมิการต่อสู้ทางการเมืองและสนามการเลือกตั้ง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการภายใน 
โดยเฉพาะกับ "กลุ่มคน" ที่มีตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น "พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" รองนายกรัฐมนตรี "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม "พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม "ชูชาติ หาญสวัสดิ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปจนถึง "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย 

ดังนั้น เมื่อมีกระแสข่าวการปรับ ครม. จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ ภายในพรรคเพื่อไทยตามมามากมาย 

นอกจากนี้ การที่ "111 อดีต กก.บห.ทรท." พ้นโทษแบน และเตรียมกลับเข้ามาสู่การเมืองในสีเสื้อของพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย โอกาสที่จะเข้ามารับตำแหน่ง "รัฐมนตรี" ในการปรับ ครม. สูงนั้น ก็ส่งผลให้ ส.ส. หลายคนที่เคยประเมินว่าน่าจะมีโอกาสได้สัมผัสเก้าอี้ "รัฐมนตรี" ใน "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ต้องฝันสลายในทันที 
ใครที่เคยเชื่อว่าใกล้ถึง "คิว" ได้นั่งเป็นเสนาบดี ก็อาจจะต้อง "ทำใจ" และ "จำใจ" ปล่อยให้ กลุ่ม 111 "ลัดคิว" ขึ้นมารับตำแหน่งในรัฐบาลก่อน
ซึ่งนั่นหมายความว่า โอกาสที่ ส.ส.เพื่อไทยส่วนหนึ่ง จะพ้นวงโคจรเก้าอี้ "เสนาบดี" ไปเลยในครั้งนี้ ก็มีสูงมากขึ้นตามจำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นพร้อมกันด้วย 
จึงไม่แปลกที่ภายใน "เพื่อไทย" จะเกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านและต่อรองกันหลายระดับ


โดยเฉพาะในรายของ "จตุพร พรหมพันธุ์" ที่ชัดเจนว่า "กลุ่ม ส.ส.ภาคกลาง" ได้ออกมาแอ็กชั่น "ตีกัน" อย่างหนัก เพื่อปกป้อง "ชูชาติ หาญสวัสดิ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากการถูกปรับออกจากตำแหน่ง
ถึงขั้นยก "คดีหมิ่นสถาบัน" ที่ติดตัว "หัวหน้าม็อบ" ขึ้นมาฟาดฟันด้วยเรื่องของ "ความเหมาะสม" ! 
รวมไปถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับ "ภาพลักษณ์" ของ "รัฐมนตรี" หรือแม้แต่ตัว "นายกรัฐมนตรี" ที่เมื่อ 111 เข้ามาแล้ว อาจจะทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน  
ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" หัวหน้าทีม กทม. พรรคเพื่อไทย ประกาศไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีในการ ปรับ "ครม.ปู 3" 
หรือแม้แต่ "จาตุรนต์ ฉายแสง" เอง ก็ยังถูก ส.ส.เพื่อไทย โยนคำถามเรื่องความคิดเห็นที่ขัดแย้งบ่อยครั้งกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ", "แกนนำพรรคเพื่อไทย" ไปจนถึงตัว "นายกรัฐมนตรี" 
โดยเฉพาะเมื่อครั้งร่วมวงแก้ไขปัญหาอุทกภัยในช่วงที่รัฐบาลเผชิญ "วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย" ปลายปี 2554

ตลอดจนการตั้งข้อครหา เรื่องการ "ลงทุน-ลงแรง" กับ "พรรค" ที่ตลอดเวลา "111 อดีต กก.บห.ทรท." มักจะซ่อนตัวอยู่ในฉากหลังตลอดมา
ขณะที่ "ส.ส.เพื่อไทย" คือตัวจริงและแถวหน้าในสนามการต่อสู้ ทั้งในสถานะ "ฝ่ายค้าน" ช่วง "รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์" ไปจนถึง การกรำศึกหนัก "หาเสียงเลือกตั้ง" 3 กรกฎาคม 2554 
แต่กลับยังไม่มีโอกาสเข้ารับเก้าอี้ "รัฐมนตรี" ในรัฐบาลที่ตัวเองมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ !

ซึ่งการแทรกเข้าลัดคิวของ "111 อดีต กก.บห.ทรท." ในการปรับ "ครม.ปู 3" จึงทำให้เห็นรอยร้าวภายใต้ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของฐานอำนาจสำคัญ ที่พยุงพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตลอดมา 
ทั้ง "กลุ่ม 111" ที่เป็นเสมือน "คลังสมอง"
"ส.ส.และคนเสื้อแดง" ที่เป็นดัง "แรง" และ "พลัง" ในการขับเคลื่อน-เคลื่อนไหว

การปรับ ครม. เพื่อแก้ไขจุดอ่อน 3 ด้านของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ในครั้งนี้ ได้กลายเป็นโจทย์การเมืองภายในพรรคเพื่อไทยที่อ่อนไหวและท้าทาย "น.ส.ยิ่งลักษณ์" และ "พ.ต.ท.ทักษิณ" อย่างยิ่ง !!!



+++

วาทกรรม ฉลอง เรี่ยวแรง วาทกรรมว่าด้วย เผาบ้านเผาเมือง สะท้อนตัวตน ฉลอง เรี่ยวแรง 
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 8


การออกมาคัดค้าน ต่อต้านการเสนอชื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดย นายฉลอง เรี่ยวแรง เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 
ปัจจัย 1 เป็นปัจจัยของ นายฉลอง เรี่ยวแรง เอง 
ขณะเดียวกัน อีกปัจจัย 1 เป็นปัจจัยอันดำเนินไปในลักษณะที่ นายฉลอง เรี่ยวแรง เป็นตัวแทนดำรงอยู่ในแบบสงครามตัวแทน
สงครามตัวแทนอันเรียกในภาษาฝรั่งว่า พร็อกซี่ วอร์ 
"ในพรรคมีคนเห็นด้วยกับผมเยอะ แต่ไม่มีใครกล้าพูด" เป็นคำยืนยันอย่างหนักแน่นจริงจังจาก นายฉลอง เรี่ยวแรง

คำถามก็คือ นายฉลอง เรี่ยวแรง เป็นตัวแทนของใคร 
เป็นตัวแทนของ ส.ส.ภาคกลาง ในฐานะที่ นายฉลอง เรี่ยวแรง เป็น ส.ส.นนทบุรี กระนั้นหรือ 
เป็นตัวแทนของ นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ ในฐานะที่ นายฉลอง เรี่ยวแรง เคยเดินเข้า เดินออก บ้านเมืองทองธานี ของ นายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับตระกูลหาญสวัสดิ์แห่งปทุมธานีกระนั้นหรือ 
มากยิ่งกว่านั้น


ขอให้พิจารณา "ข้อกล่าวหา" อันออกมาจากปากของ นายฉลอง เรี่ยวแรง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
1 เป็นข้อกล่าวหาอันสัมพันธ์กับคำปราศรัยของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ว่าด้วย "กระสุนพระราชทาน" 
1 เป็นข้อกล่าวหาอันสัมพันธ์กับวาทกรรม "เผาบ้านเผาเมือง" 
ข้อกล่าวหาเช่นนี้ หากออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ หากออกมาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากออกมาจากกลุ่มสยามสามัคคี หากออกมาจากกลุ่มเสื้อหลากสี
มิได้เป็นเรื่องแปลก
มิได้เป็นเรื่องแปลก เพราะทั้ง 2 ประการที่กล่าวหา นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นอาวุธซึ่งฝ่ายนั้นโจมตี นายจตุพร พรหมพันธุ์ อยู่แล้วเป็นประจำ

แต่เมื่อหลุดออกจากปาก นายฉลอง เรี่ยวแรง จึงเป็นเรื่องแปลก 
เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า นายฉลอง เรี่ยวแรง ใช้อาวุธที่พรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสยามสามัคคี ใช้เป็นประจำมาเล่นงาน นายจตุพร พรหมพันธุ์ 
ใช่ว่าเมื่อเข้าตาจนจะมีแต่ นายฉลอง เรี่ยวแรง เท่านั้นที่หยิบอาวุธเหล่านี้มาใช้ 
เชื่อว่ามี "หลายคน" ภายในพรรคเพื่อไทยที่พร้อมจะใช้ "อาวุธ" นี้เล่นงานด้วยเหมือนกัน



ระยะเวลา 9 เดือนภายหลังจากกำชัยได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างอันหมกซ่อนไว้ภายในพรรคเพื่อไทยเริ่มแสดงตัว 
แสดงตัวให้เห็นที่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. และนายก อบจ.ปทุมธานี 
แสดงตัวให้เห็นจากการคัดสรรตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี เลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงราย 
สะท้อนปัญหา 1 ภายในพรรคเพื่อไทยเอง สะท้อนปัญหา 1 ความสัมพันธ์และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มคนเสื้อแดงอันเป็นพันธมิตรที่แนบแน่น 

กรณีของ นายฉลอง เรี่ยวแรง ยืนยันเด่นชัดว่ามี "บางคน" ในพรรคเพื่อไทยไม่ชอบ "คนเสื้อแดง" ไม่ต้องการเห็นความสำเร็จของแกนนำ "คนเสื้อแดง" และพร้อมหยิบอาวุธที่ปรปักษ์ทางการเมืองชมชอบในการใช้เป็นเครื่องมือมาเป็นประโยชน์ 

เล่นงานพวกเดียวกันว่า เผาบ้านเผาเมือง ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ



+++

แกะรอยข่าว "ของแพง" "การเมือง" เพื่อความอยู่รอด ของ "ชาวบ้าน" หรือ "นักการเมือง"
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 78


ปัญหาสินค้าราคาแพง กลายเป็น "วิวาทะ" ในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ 
พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นป้าย "แพงทั้งแผ่นดิน" มาพักใหญ่ ไม่ค่อยได้รับความสนใจนัก 
กระทั่งระหว่างการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มีการ "ยื้อ" จนจบไม่ลง เมื่อเรื่องของแพง "ร้อน" ขึ้นมาจนได้ จึงเป็นจังหวะจะโคนที่ดียิ่งสำหรับฝ่ายค้าน 
และเมื่อประสานไปกับการอภิปรายในสภาว่า ประชาชนเดือดร้อนเพราะของแพง ทำไมรัฐบาลเอาเวลามาแก้รัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งฟังดูเป็นเหตุเป็นผล

ขณะที่รัฐบาลอธิบายว่า เหตุที่สินค้ามีราคาสูงขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้น จากการปลดล็อกราคาน้ำมันให้สะท้อนราคาจริงในตลาดโลก 
นอกจากนี้ หลังจากน้ำท่วม โรงงานต่างๆ ยังผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ สินค้าขาดตลาด ส่งผลต่อราคาสินค้า ประชาชนผ่านวิกฤตต่างๆ มีภาระค่าใช้จ่าย อาจจะทำให้เกิดผลทางความรู้สึกไปพร้อมกัน 
ทิศทางของรัฐบาล คือ ดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประชาชนต้องใช้ ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม 
กระทรวงพาณิชย์ ได้นำราคาสินค้าจากยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าในปัจจุบัน 
และยังยืนยันตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้พุ่งสูงอย่างที่คาดว่าจะเกิดภายหลังปรับค่าแรง-เงินเดือน

คำอธิบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ว่า "ผลพวงจากอุทกภัยน้ำท่วม ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าราคาสินค้ายังสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งที่ความจริงเริ่มปรับตัวลดลง แต่อาจยังไม่ได้ปรับลดลงในจุดที่ประชาชนพอใจ" 
ถูกนำไปสรุปเป็นคำพูดว่า "ประชาชนรู้สึกไปเอง" ว่าของแพง 
ตามมาด้วยการขยิกเข้าใส่ของฝ่ายค้าน ทำนองว่า แทนที่รัฐบาลจะยอมรับปัญหาและหาวิธีแก้ กลับออกมาตอบโต้หาว่าประชาชนรู้สึกและคิดกันไปเองว่าสินค้าแพง อยากให้รัฐบาลออกมายอมรับ และหาวิธีแก้ปัญหาจะดีกว่า  
สุดท้าย คำว่า "ประชาชนรู้สึกไปเอง-คิดไปเอง" ถูกนำไปขยายผล กลายเป็นประเด็นถล่มรัฐบาลไปตามระเบียบ



ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้น้ำหนักไปที่การโหมประเด็นของฝ่ายค้าน ในลักษณะที่เรียกว่า "สะกดจิต" รวมถึงบทบาทของกลุ่มทุนและสื่อในเครือข่ายอยู่ไม่น้อย 

จากเว็บพันทิป ห้องราชดำเนิน Saipin เสนอความเห็นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ว่า ของไม่ได้แพงตามกลไกการตลาด แต่แพงเพราะการปั่นกระแสของพรรคที่อยากล้มรัฐบาลโดยมีสื่อมวลชนเลือกข้างขานรับกันเป็นทอดๆ 
พ่อค้าแม่ค้าก็เลยฉวยโอกาสขึ้นราคาของไปด้วย ทั้งๆ ที่วัตถุดิบมันก็ถูกลงเกิดมาไม่เคยเห็น พรรคบางพรรคอยากขึ้นมามีอำนาจทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งสิ่งที่ทำ จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งแผ่นดิน 

ผู้ใช้นาม Tchaikovski โดดเข้าแจมในห้องราชดำเนินเช่นกันว่า ของแพงทั้งแผ่นดิน!!!!! เอาไงดีครับ ให้นายกปูลาออก แล้วยุบสภาเตรียมเลือกตั้งใหม่ 
ระหว่างนั้นจัดการให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง สั่งยุบพรรคเพื่อไทย ให้เหลือพลพรรค ปชป. ลงเลือกตั้งแบบ ชิลๆ "อภิสิทธิ์" จะได้กลับมาเป็นนายกสมใจคนที่บ่นว่าของแพง 
ฉับพลันทันใดนั้นเอง น้ำมันจะลดลงเหลือลิตรละ 20 บาท แก๊สลดลงเหลือลิตรละ 5 บาท ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง เหลือ 25-30 
บางร้านดีใจมากที่พี่มาร์คได้กลับมา ลดสะบั้นกันไปเหลือ 20-25 โอวว...! ถ้าเป็นแบบนั้นได้จริงๆ ก็เอาเลยครับ ผมก็ชอบ ถ้ามันถูกได้ขนาดนั้น

ผู้ใช้นาม Mario ตั้งประเด็นโพสต์ในประชาทอล์ก 7 พฤษภาคม ว่า ชวนนท์บอกถั่วฝักยาวแพง ก.ก.ละ 70 บาท ทำไมไม่รออีกหน่อย ราคาผักชีจะขึ้น ก.ก.ละ 200 โธ่เอ๊ยผักมันแพงเป็นบางชนิดตามฤดูกาล  
น่าเบื่อจริงๆ พูดได้ทุกเรื่อง สมัยรัฐบาลก่อนๆ ก็มีของแพง แพงอย่างเดียวไม่พอ ยังทำให้ของหายไปจากในตลาดด้วย 
แต่พอรัฐบาลจ่ายชดเชยอ้าวของเต็มตลาดทันที นี่คือวิธีจับตัวเรียกค่าไถ่ชัดๆ ถ้ายังไม่ลืมเรื่องนี้ก็น้ำมันปาล์มไงครับ
ใครรวยจากจับน้ำมันปาล์มเรียกค่าไถ่ ต้องไปถามทางภาคใต้ เพราะปลูกปาล์มเยอะ 
เมื่อไหร่จะเลิกพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่นแบบรายวันเสียที

จาก "บ้านราชดำเนิน" บ้าง ผู้ใช้นาม เปี๊ยก บางปะกอก ขอร่วมขบวนความเห็นว่า แถวบางขุนเทียนบ้านผม เมื่อเช้าไปทานร้านข้าวแกงสั่งกะเพราปลาหมึก+ไข่ดาว ราดข้าว 20+7 = 27 บาท 
อาหารถาด /ตามสั่ง กะเพราไก่+ไข่ดาว ราดข้าว 30+10 = 40 บาท ราคานี้เป็นมาตั้งแต่ยุคมาร์คช่วงที่ไข่แพงน้ำมันพืชขาดตลาด 
ตามตลาดนัด พืชผักหมูเนื้อไก่แถวบ้านผมยังราคาเดิม บางอย่างลดลงจากปีที่แล้วนิดหน่อย ยกเว้นสินค้าประเภทใช้บรรจุประกอบแบบอุตสาหกรรมมีการขึ้นราคา อันนี้เรื่องจริง โดยรวมแล้วส่วนตัวผมถือว่ายังรับได้อยู่ครับโดยเฉพาะอาหารซีฟู้ดสดๆ เป็นๆ แถวบ้านผมถูกกว่า หัวหิน ชะอำ ชลบุรี

และจากผู้ใช้นาม "คุณทวด" ในบ้านราชดำเนิน ตั้งกระทู้ว่า คุณปูครับ ชาวบ้านไม่ได้นึกไปเองหรอกครับ 
พร้อมกับรายละเอียดบางตอนดังนี้  
สินค้าทุกวันนี้มันแพงเกินกว่าคนจนๆ รายได้ต่ำจะทนไหวแล้ว มันอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ข้อมูลที่นายกฯ ได้รับมาเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ราคาสินค้าไม่ได้แพงขึ้นอย่างที่ฝ่ายค้านพยายามสร้างกระแส "แพงทั้งแผ่นดิน" สินค้าบางตัวอาจจะลดลงด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังสร้างความลำบากกับชาวบ้านอยู่ดี 
ความจริงราคาสินค้ามันแพงขึ้นตั้งแต่ยุครัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ยุคน้ำมันปาล์มขาดแคลน เมื่อพ่อค้าได้ขึ้นราคาแล้ว คงยากที่จะให้ลดราคาลง ต่อให้น้ำมันปาล์มจะถูกลงอีกเท่าไรก็ตาม 
อีกทั้งมีการสร้างกระแส "แพงทั้งแผ่นดิน" สื่อต่างๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับคุณปู ได้พยายามชี้โพรงให้กระรอกเรื่องค่าแรง 300 บาท จนพ่อค้าได้ฉกฉวยขึ้นราคาบ้างในหลายรายการ ดังนั้น นายกฯ ควรจะยอมรับความเป็นจริงในเรื่องราคาสินค้าแพงได้แล้ว 
ราคาสินค้าแพง เพราะการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เรื่องของรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนอย่างถล่มทลาย ก็เพื่อให้คุณปูใช้ความเป็นนักบริหารมืออาชีพมาแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้  
ดังนั้น ถึงแม้ราคาสินค้าไม่ได้แพงกว่าที่ผ่านมาดังที่คุณปูได้รับข้อมูลมา แต่ก็เป็นปัญหาที่คุณปูจะต้องสะสางให้แล้วเสร็จ

ประเด็นของปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่ราคาสินค้าแพงขึ้นกว่าเก่าหรือไม่ แต่มันอยู่ที่ชาวบ้านมีรายได้พอกับรายจ่ายหรือไม่ต่างหากครับ รัฐบาลจะต้องหามาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือชาวบ้านให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ 
"จริงอยู่ที่อุทกภัยทำให้ข้าวของแพงขึ้น แต่เราจะมัวรอให้สินค้าเหล่านั้นลงเองคงไม่ได้ ควรมีการช่วยเหลือในทุกเวลาทุกโอกาส เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" 

และนี่คืออีกมุมของ "การเมือง" เรื่อง "ของแพง" ที่สะท้อนผ่านสื่อ



.