http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-12

ทหารไทยในเวียดนาม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


.

ทหารไทยในเวียดนาม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 30


Richard A. Ruth เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลเกี่ยวกับกองทหารไทยที่อาสาไปรบในเวียดนามระหว่าง พ.ศ.2508-2515 เพิ่งพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ( In Buddha"s Company )ในปีนี้เอง
ผมอ่านด้วยความเพลิดเพลิน และคิดว่ามีอะไรจะคุยกับผู้อ่านในเรื่องนี้ 
ดังที่คงทราบกันอยู่แล้วว่า นโยบายนำทหารนานาชาติเข้าร่วมรบในเวียดนามนั้น เป็นนโยบายของสหรัฐ หลังจากถูกนานาชาติโจมตีนโยบายรุกรบในเวียดนามของตนทั่วไป อาจทำให้สงครามเวียดนามหน้าตาดีขึ้นบ้างกระมัง

รัฐบาลถนอม-ประภาสตอบสนองด้วยเงื่อนไขที่มีการเจรจากันพอสมควร สรุปก็คือนอกจากสหรัฐต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว สหรัฐยังสัญญาจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทยเพิ่มขึ้นด้วย 
ในส่วนที่เกี่ยวกับกำลังทหารที่ส่งไป ไทยจะไม่ส่งทหารประจำการเข้าร่วมรบ เหตุผลที่ให้แก่สหรัฐและแก่ตัวเองก็คือ ขณะนั้นเรามีสงครามกับ พคท. ในเมืองไทย จึงต้องใช้กำลังทหารในการปราบปราม ไม่อาจแบ่งกำลังไปได้ กองกำลังของไทยที่ส่งไปเวียดนามจึงล้วนเป็นทหารอาสา อย่างน้อยก็เป็นโดยตัวหนังสือ

ผู้เขียนไม่ได้ให้เหตุผลอะไรมากไปกว่านี้ แต่ผมให้สงสัยว่า เราคงรีรอที่จะเข้าสงครามซึ่งไม่ประกาศของสหรัฐ จำเป็นจะต้องร่วมรบก็รบโดยทหารอาสา ดูเหมือนความรับผิดชอบของรัฐจะน้อยลงไปหน่อย หากเกิดอะไรไม่ชอบมาพากลขึ้น 
แม้ทั้งรัฐบาลและทหารอาสาได้ "กำไร" จากการเข้าร่วมรบไม่น้อย แต่ผู้เขียนก็ชี้ให้เห็นว่า จะเรียกกองกำลังของไทยในครั้งนั้นว่า "ทหารรับจ้าง" อย่างที่สื่อต่างประเทศชอบเรียก ก็ไม่สู้จะยุติธรรมนัก
เพราะรัฐบาลที่ส่งกองกำลังไปก็ยังหวังประโยชน์จากการเมืองภายในด้วย นั่นคือปลุกเร้าประชาชนให้ร่วมมือในการปราบหรือเป็นศัตรูกับ "คอมมิวนิสต์" ในบ้าน และเมื่อดูจากคำประกาศของทางการและสื่อ (ซึ่งสมัยนั้นก็แหยๆ เหมือนสมัยนี้) ก็จะเห็นความประสงค์ข้อนี้ได้ชัดเจน

ในส่วนทหารอาสาซึ่งผู้เขียนได้สัมภาษณ์จำนวนไม่น้อยนั้น เกือบทุกคนต่างรู้สึกว่าการอาสาไปรบในเวียดนามเป็นการรับใช้ชาติ ผลักดันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ให้อยู่ไกลจากชายแดนไทย 
แต่ก็แน่นอนว่า เหมือนมนุษย์ทั่วไปในโลกนี้ แรงผลักดันให้ทำหรือไม่ทำอะไร ย่อมมีความซับซ้อนกว่าเป้าประสงค์เพียงอย่างเดียว ไปรบเพื่อหาเงินก็ใช่ ไปรบเพื่อชาติก็ใช่ แต่ล้วน-ไม่ใช่อย่างเดียว


ทหารไทยมีบทบาทอย่างไรในสงครามจริงๆ ไม่ใช่ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ แต่ทหารผ่านศึกไทยมีความทรงจำว่าตัวทำหรือไม่ทำอะไร เพราะอะไร นั่นต่างหากที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจกว่า

ต้องไม่ลืมด้วยว่า แม้เป็นทหารอาสา (ซึ่งมีชายไทยอาสาเกินกว่าความต้องการหลายเท่าเสมอ) แต่ที่จริงแล้วกองทัพมีมาตรฐานการคัดเลือกอยู่แล้ว นั่นคือต้องผ่านการเป็นทหารมาแล้ว และ/หรือ ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมก็ยิ่งดี
ดังนั้น ส่วนใหญ่ของทหารอาสาจึงเป็นอดีตทหารเกณฑ์ หรือเคยรับราชการจนได้ชั้นยศประทวนระดับหนึ่ง แล้วลาออกจากราชการไป ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด มีชีวิตในหมู่บ้านหรือหัวเมือง ก็ถือว่าห่างไกลจากกรุงเทพฯ พอสมควร เพราะการคมนาคมในสมัยนั้นยังไม่สู้สะดวกสบายนัก
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาเป็นคนไทยระดับที่เรียกกันว่า "รากหญ้า" (ในสมัยนั้น) ต้องมาทำการรบในสภาพแวดล้อมของการรบตามมาตรฐานอเมริกัน ต้องรบกับศัตรูที่เขาไม่เคยพบหน้าค่าตา ท่ามกลางสังคมที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากไทย เขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และจะทำความเข้าใจกับสถานการณ์แปลกประหลาดนี้อย่างไร

ผู้เขียนบรรยายประเด็นต่างๆ ที่กล่าวนี้ไว้หลายเรื่องด้วยกัน แต่มีอยู่สองเรื่องที่ออกจะประทับใจแก่ผมมาก



เรื่องแรกก็คือ ความเคารพต่อธรรมชาติ ไม่ใช่มีสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมนะครับ แต่ผูกโยงความเคารพนี้กับการนับถือผีสางเทวดา ผสมกับความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม อันเป็นปรกติธรรมดาในหมู่ชาวบ้านไทย

ผีที่ทหารไทยให้ความสำคัญอย่างสูงคือเจ้าที่เจ้าทาง แต่ทหารไทยเรียกรวมๆ ว่า "แม่พระธรณี" ถ้าว่ากันอย่างเคร่งครัด สองอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ออกจะเหลื่อมๆ กันมากทีเดียว

ตามความเข้าใจของผม แม่พระธรณีหมายถึงเทพที่คุ้มครองสรรพสัตว์บนผืนโลกทั้งหมด เป็นเทพที่ไม่มีเขตแดน เพราะท่านคุ้มครองหลักศีลธรรมบางอย่างซึ่งถือว่าเป็นสากล
ส่วนเจ้าที่นั้น คุ้มครองสรรพสัตว์โดยเฉพาะมนุษย์บนพื้นที่ซึ่งมีขอบเขตแน่นอน รักษากฏเกณฑ์บางอย่างบนพื้นที่นั้น บางข้อก็อาจถือเป็นสากลได้ บางข้อก็อาจเป็นกฎเกณฑ์เฉพาะในพื้นที่
ถึงสองอย่างนี้จะต่างกัน แต่ก็เหลื่อมเข้าหากันง่าย ยิ่งคนสมัยใหม่มีสำนึกเรื่องเขตแดนของชาติ บางทีก็อาจมองแม่พระธรณีของชาติอื่นเป็นเทพอีกองค์หนึ่งไปได้

ดังนั้น สิ่งแรกที่ทหารไทยลงเรือหรือเครื่องบินที่เวียดนามแล้วมักทำ คือทำความเคารพต่อแม่พระธรณีเวียดนาม ฝากเนื้อฝากตัวให้ท่านคอยดูแล แน่นอนว่าที่ค่ายแบร์แคตซึ่งทหารไทยไปตั้งเป็นฐานของตนเอง ทหารไทยก็สร้างศาลเจ้าที่ขึ้นในค่าย ไว้กราบไหว้บูชาด้วย
เกิด "ศีลธรรม" ในสภาพแวดล้อมของสงครามซึ่งทหารไทยส่วนมากให้ความเคารพ "ศีลธรรม" ดังกล่าวคือให้ความเคารพต่อธรรมชาติบนพื้นโลกซึ่งแม่พระธรณีคุ้มครองอยู่
หนึ่งในนั้นคือเคารพต่อชีวิตของสัตว์ป่า แม้อาหารอเมริกันกระป๋องที่ส่งให้ทหารไทยกินประจำนั้นไม่น่าพิสมัยอย่างไร แต่ทหารไทยส่วนใหญ่ก็หลีกเลี่ยงการล่าสัตว์ป่ามาบริโภค เช่น หมูป่า, เก้ง หรือแม้แต่ปลาไหล

ด้วยเหตุผลทางระบบนิเวศน์ที่เกิดจากสงครามอย่างใดไม่ทราบได้ ป่าแถบที่ตั้งฐานของหน่วยทหารไทย อุดมด้วยเก้ง บางครั้งก็วิ่งหลุดเข้ามาในค่าย แต่ทหารไทยก็ไม่ยิงเอาเนื้อมาแกง บางครั้งระหว่างที่เครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดปูพรมป่าแถบนั้นอยู่ ทหารไทยยังช่วยกันไม่ให้เก้งวิ่งกลับเข้าป่าด้วยซ้ำ 
หมูป่าก็มีมากเหมือนกัน บางครั้งเดินกันมาทั้งครอกให้เห็นขณะออกลาดตระเวน แต่ทหารไทยก็นึกถึงแต่แกงป่าโดยไม่ยิงอยู่นั่นเอง 

ทั้งหมดนี้มาจากความเชื่อที่แพร่หลายในหมู่ทหารไทยว่า การฆ่าสัตว์ป่าเป็นการละเมิดต่อสิ่งที่แม่พระธรณีคุ้มครอง จะเป็นผลให้ตนเองถูกเวียดกงทำร้ายหรือฆ่าได้ ทหารไทยเชื่อว่าความเคารพต่อชีวิตสัตว์ป่าเหล่านี้ ย่อมส่งผลบุญให้ตนเองปลอดภัย
มีเรื่องเล่าที่รู้กันทั่วไปในค่ายแบร์แคตว่า ทหารหนึ่งหมู่ที่ยิงหมูป่าแล้วแบกกลับมาปรุงอาหารที่ค่ายนั้น ถูกเวียดกงซุ่มโจมตีตายเรียบในเวลาต่อมา แม้แต่ที่ไปขุดเจอปลาไหลตัวใหญ่แล้วเอามาแกงกินกัน ก็มีคนคอยห้ามปรามว่าอย่าไปร่วมกินด้วย ผลในที่สุดก็ลงเอยอย่างเดียวกัน คือตายหมด 

ทัศนคติเช่นนี้ ทำให้ทหารไทยจำนวนมากมองการทิ้งสารเคมีขจัดพืชในป่าของอเมริกันอย่างไม่ค่อยพอใจนัก เพราะเป็นการละเมิดแม่พระธรณีอย่างร้ายแรง 
ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า ในช่วงนั้นทั้งรัฐบาลและสื่อไทยต่างโหมโฆษณาความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีการทหารของอเมริกันในสงครามเวียดนามกันอย่างขนานใหญ่ แต่ทหารไทยก็ยังคงเข้าสู่สงคราม ด้วยโลกทรรศน์ของคนบ้านนอกเหมือนไม่เคยได้ยินการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นเลย 



เรื่องที่สองเกี่ยวกับเวียดกง รัฐบาลไทยได้โหมโฆษณาให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นอมนุษย์ที่ต้องฆ่าหรือทำลายมาหลายปีแล้ว ทหารอาสาไทยจะมีทัศนคติต่อเวียดกงอย่างไร

ทหารไทยแทบไม่เคยเจอเวียดกงเลย นอกจากศพ ที่ถูกจับเป็นเชลยนั้นมีจำนวนน้อยมาก สิ่งที่ทหารไทยได้เห็นคือคนที่ดูจะไม่ค่อยได้กินอิ่มเท่าไรนัก ใช้อาวุธที่ไม่น่าเกรงขาม นุ่งห่มปอนเต็มทน และหลายศพไม่ได้สวมเสื้อ 
ว่ากันที่จริงแล้ว ทหารไทยแทบไม่ค่อยได้พบผู้ชายชาวเวียดนามเลย เพราะเมื่อลาดตระเวนไปตามหมู่บ้าน ก็พบแต่ผู้หญิง ซึ่งทหารไทยเชื่อว่าตัวมีความสัมพันธ์ที่ดี เพราะพยายามให้ความช่วยเหลือ นับตั้งแต่ให้อาหารกระป๋องอเมริกันที่ตัวไม่อยากกิน ไปจนถึงบางครั้งเรี่ยไรเงินกันช่วยเหลือก็มี ทหารไทยเชื่อด้วยว่า อาหารที่ตนบริจาคให้ชาวบ้านเวียดนามนั้น ต้องมีส่วนหนึ่งที่ตกไปถึงเวียดกง ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะจะทำให้เวียดกงมีความเป็นมิตรกับทหารไทย

แต่น่าประหลาดว่าในสภาพเช่นนี้ ทหารไทยกลับนับถือเวียดกง นับตั้งแต่ไม่หมิ่นศพตามประเพณีไทย (ยกเว้น "นับหัวศพ" อันเป็นยุทธวิธีปราบปรามผู้ก่อการร้ายของกองทัพสหรัฐ) และยังไม่รู้สึกอะไรกับชาย-หญิงเวียดนามที่ได้พบปะในบทบาทอื่นๆ แม้จะระแวงว่าที่จริงแล้วเป็นเวียดกงหรือเป็นสายให้เวียดกงเกือบทั้งนั้น  
ทหารผ่านศึกไทยต่างให้การตรงกันว่า พวกเขายกย่องความกล้าหาญและเสียสละของเวียดกง เพราะประเทศถูกรุกราน ก็จำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้ หากเป็นเขาก็คงทำอย่างเดียวกัน
น่าสังเกตด้วยนะครับว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของทหารอาสาไทยที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ คือทหารระดับประทวนลงมาถึงพลทหาร ล้วนเป็นคนไกลปืนเที่ยงในสมัยนั้นทั้งสิ้น


เมื่อเกือบ 50 ปีมาแล้ว อิทธิพลของรัฐบาลที่จะกำหนด-กำกับโลกทรรศน์และระบบศีลธรรมของคนไทยมีจำกัดมาก แม้แต่ทหารอาสาซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ก็ยังคงดำรงรักษาโลกทรรศน์แบบชาวบ้านไทยไว้ได้ 

นี่หรือมิใช่ เหนือยิ่งกว่าปัจจัยใดๆ ที่ทำให้ในช่วงสั้นๆ ที่ผมอยู่ในเวียดนาม ผมไม่รู้สึกความเป็นปฏิปักษ์ของชาวเวียดนามสักคน เมื่อเขารู้ว่าผมมาจากประเทศไทย



.