.
ดิฉันปลงไม่ตก: เปิดคำเฉลยที่มาแห่งคดี
โดย ขวัญระวี วังอุดม
จาก www.prachatai.com/journal/2012/05/40445 . . Thu, 2012-05-10 18:27
ขวัญระวี วังอุดม
คำถามสั้นๆถึง “คนดี”ในระบอบตุลาการทั้งหลาย จะต้องให้มีคนตายในนาม “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ"- อันมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก - อีกกี่ศพ จึงจะเลิกเฉไฉ/ บิดเบือนและหันมายึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างที่มักอ้างกันเสียที?!!
ตั้งแต่วันที่อากงถูกตัดสินด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) จนกระทั่งวันที่จากลาโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ บรรดาชนชั้นนำในระบอบตุลาการ -- หรือมนุษย์ที่ใครพากันเรียกว่าเป็น “คนดี” – ยังพากันเฉไฉ/ บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มจากการที่โฆษกศาลยุติธรรมเขียนบทความในนสพ.ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2554 พาดหัวว่า "อากงปลงไม่ตก: เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดี"[i] โดยมีใจความว่าในการตัดสินคดีอากงนั้น ศาลไทยเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศระบุไว้ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICPR) ข้อ 19 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งโฆษกศาลฯกล่าวอย่างถูกต้องว่าขอบเขตในการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวตามที่กำหนดใน ICCPR ต้องไม่ก้าวล้ำชื่อเสียงของบุคคล หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือศีลธรรมอันดี
แต่สิ่งที่โฆษกศาลฯพูดไม่หมดคือ แม้ ICCPRจะให้ความคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล แต่กระนั้นมีข้อยกเว้น 2 ประการคือ 1. บุคคลสาธารณะย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และ 2. ต้องมีการละเว้นโทษหากพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริง หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หากใครได้อ่านคำพิพากษาจะทราบว่าในการตัดสินของศาล ไม่มีแม้แต่การแยกแยะลักษณะของข้อความ SMSทั้ง 4 ข้อความที่อากงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่ง ซ้ำยังเหมารวมและอาศัยเพียงความเชื่อและความคิดเห็นของผู้พิพากษาว่าทั้ง 4 ข้อความนั้นเป็นเท็จโดยไม่มีการพิสูจน์แต่ประการใด ตามที่ระบุว่า "ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย"
นอกจากนั้นในการอ้างเหตุความมั่นคงของชาติ สิ่งที่โฆษกศาลฯไม่ได้พูดคือผู้ตรวจการพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเคยกล่าวไว้ชัดเจนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยถูกตีความกว้างเกินไป และโทษ (ที่โฆษกศาลฯกล่าวเสมือนว่ากระทงละ 5 ปีที่อากงได้รับนั้น ศาลมีความปรานีแล้ว) มีความรุนแรงและไม่ได้สัดส่วนกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์หรือความมั่นคงของชาติ[ii] ในขณะที่หลักโจฮานเนสเบิร์กว่าด้วยความมั่นคงของชาติ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูล (The Johannesburg Principles on National Security, Freedom of Expression and Access to Information) ยังระบุว่า “[การที่รัฐจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน] จำเป็นต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์และผลลัพธ์ของการนำกฎหมายนั้นมาบังคับใช้ว่าเป็นไปเพื่อปกป้องความอยู่รอดของชาติหรือไม่ แต่จะไม่เข้าข่ายเมื่อนำมาใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เช่น เพื่อปกป้องรัฐบาลจากความอับอายขายหน้า หรือเปิดโปงการกระทำผิด หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสถาบันทางสังคมต่างๆ หรือปลูกฝังอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เป็นต้น” [iii] การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือบุคคลในสถาบันฯจึงไม่ได้ส่งผลให้ประเทศชาติต้องล่มสลายแต่อย่างใด อีกทั้งกฎหมายหมิ่นฯต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐ
ส่วนเรื่องศีลธรรมอันดีนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ให้ข้อคิดเห็นเพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับการตีความไว้ว่า ศีลธรรมถูกกำหนดโดยหลักปรัชญาและวัฒนธรรม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือภายในสังคมนั้นๆย่อมมีวัฒนธรรมและหลักเกณฑ์คุณค่าที่แตกต่างหลากหลาย[iv] ไม่เพียงโฆษกศาลฯจะไม่ได้เน้นย้ำตามนี้แล้ว กลับยังอ้าง"ความเป็นไทย"เพื่อกีดกันความแตกต่างในสังคมเสมือนเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมใดๆ
นอกจากนั้นโฆษกศาลยังลืมไปว่าเจตจำนงของหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย -- ประชาธิปไตยที่ไม่ต้องมีลักษณะเฉพาะใดๆพ่วงท้าย
ท้ายสุด ถึงแม้โฆษกศาลยุติธรรมจะกล่าวว่าอากงได้รับสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด แต่สิ่งที่โฆษกศาลยุติธรรมพูดไม่หมดคือสำหรับคดีอากง ภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์กลับตกอยู่ที่จำเลย ซึ่งถือเป็นการละเมิด ICCPR ข้อ 14 ว่าด้วยสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย (due process rights) อย่างร้ายแรง ในขณะที่สิทธิดังกล่าวตามอนุสัญญาแห่งทวีปอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (American Convention on Human Rights)ถือเป็นสิทธิที่รัฐไม่สามารถลิดรอนได้แม้ในภาวะฉุกเฉิน
อากง – เหยื่อ112ของประเทศประชาธิปไตยแบบไทยๆ -- จึงต้องดิ้นรนหาหนทางต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเองต่อไปก่อนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555หลังเกิดอาการปวดท้องและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของอากงจุดกระแสการประท้วงกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ล่าสุดอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาต้องออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนประหนึ่งว่าการเสียชีวิตของอากงไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง โดยระบุว่า “จำเลยได้ยื่นประกันตัวชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาจึงส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง แต่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์ประมาณเดือนมีนาคม 2555 โดยตนทราบจากข่าวว่า จำเลยโดยทนายความประสงค์จะใช้สิทธิ์ยื่นถวายฎีกา...”[v]
สิ่งที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวมานั้นเป็นความจริง แต่เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะความจริงอีกครึ่งคืออากงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองมาโดยตลอด ทีมทนายของอากงได้ยื่นเรื่องขอประกันตัวเพื่อขอให้อากงได้ออกมาสู้คดีและรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งได้อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกศาลปฏิเสธมาโดยตลอดเช่นกันรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดศาลให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง ๒๐ ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง"[vi]
กลุ่มแพทย์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ชันสูตรพลิกศพยืนยันว่าอากงเสียชีวิตตามธรรมชาติจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ แต่จากการตรวจพบก้อนมะเร็งในศพซึ่งยาวกว่า 7 เซนติเมตร หมายความว่าเนื้อร้ายได้ก่อตัวมาแล้วกว่า 6 เดือนและอยู่ในขั้นลุกลาม การดูแลรักษาของเรือนจำด้วยการให้ยาแก้ท้องอืดหลังจากที่อากงมีอาการปวดท้องครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมไม่เพียงพอและเหมาะสม อีกทั้งตามสภาพศพไม่มีร่องรอยของการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อยื้อยุดชีวิตของอากงเอาไว้แต่อย่างใด คำถามสั้นๆถึง “คนดี”ในระบอบตุลาการทั้งหลาย จะต้องให้มีคนตายในนาม “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ"- อันมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก - อีกกี่ศพ จึงจะเลิกเฉไฉ/ บิดเบือนและหันมายึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างที่มักอ้างกันเสียที?!!
[i]“อากงปลงไม่ตก'เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดีโดยโฆษกศาล” กรุงเทพธุรกิจ 14 ธันวาคม 2554
[ii]“UN rights official urges lese majeste law reform”เดอะเนชั่น11 ตุลาคม 2554 http://www.nationmultimedia.com/new/politics/UN-rights-official-urges-lese-majeste-law-reform-30167320.html
[iii] ดู The Johannesburg Principles on National Security, Freedom of Expression and Access to Information, Freedom of Expression and Acess to Information, U.N. Doc. E/CN.4/1996/39 (1996) (Principle 6 : Expression that may threaten national security).
[iv] ดูข้อ 32 ใน General Comment No. 34 , Human Rights Committee, One hundread and second session, Geneva, 11 – 29 July 2011 http://www2.ohchr.org/english/bodies/hrc/docs/gc34.pdf
[v] “อากงถวายฎีกา ถอนอุทธรณ์ ไม่อาจยื่นประกัน” ไทยรัฐ 10 พฤษภาคม 2555 http://www.thairath.co.th/content/pol/259012
[vi] “ศาลฎีกาไม่ให้ประกันอากง” ประชาไท 16 มีนาคม 2555 http://www.prachatai3.info/journal/2012/03/39683
++
อาลัยอากง จากมุมหนึ่งของฟินแลนด์
โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ
จาก www.prachatai.com/journal/2012/05/40432 . . Wed, 2012-05-09 21:56
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
ACT4DEM
ในฐานะของคนหนึ่งและองค์กรหนึ่งที่รณรงค์เรื่องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) เรารู้ดียิ่งว่าจำเป็นและต้องทำกิจกรรมเพื่อร่วมสมานฉันท์กับพี่น้องในประเทศไทย และเพื่อร่วมแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของอากง และก็ควรจะทำโดยเร็วที่สุด
จึงได้คิดเตรียมว่าจะทำอะไรได้บ้าง ในสภาพที่เข้าเมืองไม่ง่ายนักในยามค่ำคืน ตัดสินใจว่า ในวันนี้คงเตรียมการเชิญชวนคนอื่นไม่ทัน ขอทำตามลำพังที่บริเวณที่อยู่อาศัยก่อนแล้วกัน
ไปค้นรูปอากงตามเวบเพื่อจะปรินส์ออกมาใช้ประกอบในพิธี ปรากฎว่าหมึกเครื่องปรินส์หมด
ท่านศิลปินเจ้าบ้านบอก "ไม่เป็นไรเลือกรูปอากงที่ดูดีและชัดที่สุดมา เดี๋ยวจะวาดให้" ช่างดีใจหาย
ในระหว่างรอภาพวาด ซึ่งจริงๆ คิดว่าจะเป็นเพียงลายเส้นและใช้เวลาแปล๊บเดียวก็เสร็จ แต่คุณศิลปินเธอกลับใส่ใจในการวาดมาก บอกว่าอากงนี่หน้าตาดีนะ พร้อมบอกว่าจะขอมอบภาพนี้ให้กับป้าอุ๊และครอบครัวอากงด้วย
ระหว่างรอ จรรยาก็เขียนคำ "อาลัย อากง เหยื่อ ม. 112" และเตรียมอุปกรณ์ แต่รอแล้วรอเล่าภาพวาดก็ไม่เสร็จ จนงีบหลับไป
ตื่นมาตอนตีสองภาพวาดของอากง (ที่ศิลปินบอกว่ายังไม่เสร็จดี) วางอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ มันเป็นภาพอากงที่งดงามและน่าสะเทือนใจยิ่งนัก
จรรยาน้ำตาซึม บอกว่ายังไงๆ คืนนี้ก็ต้องทำพิธีอาลัยอากง ซึ่งวางแผนไว้คร่าวๆ ว่าจะทำที่ใต้ต้นโอ๊คเก่าแก่มีอายุกว่า 250 ปี ที่อยู่ในสวนสาธารณะข้างบ้าน
พระจันทร์ดวงโตช่างเป็นใจ พ้นขอบฟ้ามาร่วมเป็นสักขีพยาน เสียงนกร้องแทรกเข้ามาบางช่วง ผสานเสียงลมทะเลยามดึก
เราจุดเทียนรอบต้นโอ๊คอายุ 250 ปี ที่เก่าแก่พอๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ มันผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสงครามมามากมาย ทั้งสงครามแย่งชิงดินแดน และสงครามลัทธิการเมืองในประเทศ
ในสภาพที่ถูกตัดกิ่งหลายจุดและครึ่งหนึ่งของต้นไม้ถูกตัดทิ้ง โอ็คต้นนี้ช่างดูบิดเบี้ยวและโศกสลด แต่กระนั้นก็สู้ชีวิตและยืนหยัด เพื่อประกาศถึงพลังอันแข็งแกร่งของธรรมชาติ ที่มนุษย์จำต้องยอมแพ้และขอขมา
มันเป็นพิธีอาลัยใต้ต้นไม้ ที่เทียนวางกระจายอยู่บนหญ้าและตามซอกมุมที่สามารถวางได้ . . มีเพียงแสงเทียนที่ให้แสงสว่าง
จรรยานั่งหน้าภาพอากงและป้ายทั้งสอง ไม่กล้ามองหน้าอากงตลอดเวลาเพราะกลั้นน้ำตาที่รื้อขึ้นขอบตาและความเจ็บปวดรวดร้าวในหัวอกไม่ไหว . .
พร่ำบอกกับต้นโอ็คว่า เมื่อท่านผ่านร้อนผ่านหนาวและเห็นความเจ็บปวดสูญเสียมามากมายเพราะสงครามและการต่อสู้ระหว่างมนุษย์ โปรดช่วยเตือนใจผู้มีอำนาจในเมืองไทยให้ตระหนักในความโหดร้ายของมันด้วยเถิด
ขอเป็นกำลังใจให้ป้าอุ๊และครอบครัวสู้ชีวิตต่อด้วยความเข้มแข็ง ประดุจโอ็คต้นนี้ที่ยืนหยัดท้ากาลเวลา
ขออากงจงสู่สุขคติ และขอรับปากว่าจะสู้จนถึงที่สุด เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมในประเทศไทย
_____________________________________________________________________________________________________
มีบทความที่เคยเสนอไว้
- ล่าชื่อนักเขียนแก้ ม.112 หยุดใช้คดีหมิ่นฯปิดกั้นเสรีภาพการเมือง http://botkwamdee.blogspot.com/2011/05/112.html
- สนนท. :จาก'อากง'-รัฐควรยกเลิก ม.112, แพะเป็นจำเลยบริสุทธิ์ เพราะศาลเชื่อหลักฐานนี้ไปแล้ว !? http://botkwamdee.blogspot.com/2011/11/snnt-ak.html
- แถลงการณ์ ม.เที่ยงคืน กรณีอากงฯ, 'สนนท.' ย้ำต้องปฏิรูประบบตุลาการ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/ak-2dec.html
- ข้อเสนอจาก"สมศักดิ์"-"ชาญวิทย์" กลางกระแส"ฝ่ามืออากง"ในFB http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/fbss-chw.html
- สาวตรี:ฯยุติธรรมแบบไทยๆ(?)..สู่ “อากง”,ฯลฯ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/stakkins.html
- "นิธิ-พนัส-กิตติศักดิ์" ตอบโจทย์กรณี "อากง-ม.112" เมื่อสังคมไทยอยู่ในยุคสมัยเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/112-pbs.html
- ปราปต์: "112", ปวิน: ..การต่อสู้ระหว่างตรรกะกับอตรรกะ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/01/p-p412.html
- ใบตองแห้ง: เมื่อโฆษกศาลเขียน“อากงปลงไม่ตก” http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/btspeak.html
- ไหนว่าแค่การบังคับใช้ โดย ใบตองแห้ง/ องค์กรสิทธิไทย-เอเชียชี้ 'สมยศ' ต้องได้ประกันตัว http://botkwamdee.blogspot.com/2012/02/bt-tchai.html
- เกษียร: "มองหลากมุม ม.112: เดวิด สเตร็คฟัส",ฯลฯ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/01/ksdavi-p.html
- ใจ อึ๊งภากรณ์: ความป่าเถื่อนของระบบศาลและคุกในประเทศไทย http://botkwamdee.blogspot.com/2012/02/ji482ak.html
- เสวนา “มาตรา 112 ข้อถกเถียงทางกฎหมายสู่ข้อถกเถียงทางสังคม” http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/112-mlay.html
ฯลฯ
.