http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-28

นิธิ: ทำลายศาลเจ้า ปรีดี พนมยงค์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทำลายศาลเจ้า ปรีดี พนมยงค์
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


ผมออกจะตื่นเต้นกับการกระทำของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่รู้จักกันใน "นามปากกา" ว่า อั้ม เนโกะ มาก เธอขึ้นไปนั่งเหยียดขาไขว้กันที่ฐานรูปปั้นของท่านปรีดี พนมยงค์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเขียนข้อความว่า "ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน" 
มีการอภิปรายถกเถียง (และแน่นอนด่าประณาม) เกี่ยวกับความหมายของการกระทำนี้ในอินเตอร์เน็ตมากมาย

ความหมายแรกที่พูดกัน และตรงกับคำสัมภาษณ์ของเธอเองก็คือ ท่านปรีดีถูกทำให้กลายเป็นผีเจ้าที่ของธรรมศาสตร์ โดยไม่มีใครใส่ใจจะทำให้นักศึกษาเข้าใจอุดมคติทางสังคมและการเมืองของท่านปรีดี อาจารย์ธรรมศาสตร์บางท่านบอกผมว่า รูปปั้นท่านปรีดีในปัจจุบันเป็นที่บนบานศาลกล่าวของนักศึกษาไปแล้ว มีการ "ถวาย" ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะต่างๆ เพื่อแก้บนกันเป็นปกติ

ท่านปรีดีนั้นเป็นหนึ่งในบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งจัดการได้ยากที่สุด 
อย่างที่ทราบอยู่แล้วนะครับว่า ประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าเพื่อสนับสนุนโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาคือส่วนบนของโครงสร้างอำนาจ จะจัดการให้บุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งล้วนตายไปแล้วหรือได้ทำสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว กลายเป็นผู้สนับสนุนโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันได้อย่างไร

นักประวัติศาสตร์ทางการของไทยมีวิธีการง่ายๆ อยู่สามอย่าง

หนึ่งคือนำบุคคลเหล่านั้นเข้ามาจัดลำดับไว้ในมาตรฐานค่านิยมของปัจจุบัน เช่น พระราชมนูนั้น ท่านจะรบเก่งแค่ไหนยังเป็นรองความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระนเรศวร พันท้ายนรสิงห์นั้นยอมตายเพื่ออะไร? ความเป็นใหญ่สูงสุดของกฎหมาย ซึ่งแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องเคารพ หรือความจงรักภักดีอันสูงสุดเหนือชีวิตเพื่อรักษาพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แน่นอนก็ต้องเลือกเหตุผลอย่างหลัง

วิธีการอย่างที่สองใช้กับบุคคลที่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร คือใช้วิธีอมสาก ไม่กล่าวอะไรมากกว่าจำเป็น เช่น เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้นำซึ่งรักชาติ สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของท่านย่อมถูกวิจารณ์ในเชิงลบ อึดอัดนะครับ จึงไม่ต้องพูดถึงให้มากกว่าความจำเป็น

แต่มีบุคคลในประวัติศาสตร์บางคนที่ใช้วิธีเงียบเฉยไม่ได้ เช่น พระเจ้าตาก เพราะมีผู้คนนับถือมาก เฉพาะศาลพระเจ้าตากอย่างเดียว เคยมีคนนับได้เกินร้อยทั่วประเทศ ก็ใช้วิธีอมๆ คายๆ สากแทน คือพูดยกย่องสรรเสริญส่วนที่สามารถอธิบายให้ตรงกับมาตรฐานค่านิยมของชนชั้นนำได้ แต่ไม่พูดถึงส่วนที่อธิบายไม่ได้ หากถูกบีบให้พูดก็สร้างหลักฐานจากความฝันหรือการนั่งทางในมาบิดเบือนเสีย

สามวิธีดังกล่าวนี้ "กลืน" ท่านปรีดีไม่ลง



เกียรติยศและการยอมรับของผู้คนทุกกลุ่มทำให้ยากจะปฏิเสธคุณูปการที่ท่านกระทำแก่บ้านเมือง หนทางเดียวที่จะทำได้คือการสร้างข้อกล่าวหาว่าท่านมีส่วนร่วมปลงพระชนม์ ร.8 เมื่อการกล่าวหาเป็นเท็จ ก็ยิ่งจำเป็นต้องสังเวยชีวิตของผู้ไม่เกี่ยวข้องไปอีก 3 คน เพื่อทำให้ข้อกล่าวหานั้นดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น แต่นับวันวิธีการนี้ก็ได้ผลน้อยลง จนในที่สุดแม้แต่ผู้อยู่ใกล้ชิดกับกรณีสวรรคตในครั้งนั้น ก็ต้องยอมรับว่าท่านปรีดีไม่เกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์ ร.8

ในที่สุดก็ต้องใช้วิธีเงียบ ไม่ไยดี งานฌาปนกิจของท่านซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี, รัฐบุรุษอาวุโส, และผู้นำเสรีไทยซึ่งมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครอง กลายเป็นงานที่จัดกันเองภายในครอบครัว แต่วิธีเงียบและไม่ไยดีก็ยังไม่สามารถฝังกลบท่านปรีดีไปได้ ศิษย์หาและผู้รักประชาธิปไตยทั่วประเทศไทยก็ยังแซ่ซ้องสรรเสริญท่านปรีดีอยู่นั่นเอง และอย่างเปิดเผยกว่าเดิมด้วยซ้ำ

แม้แต่พรรคการเมืองซึ่งเคยป้ายสีท่านกรณีสวรรคต ยังต้องใช้รูปและวาทะของท่านในการหาเสียง 
จนในที่สุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็สร้างอนุสาวรีย์ของท่านปรีดีขึ้นในบริเวณมหาวิทยาลัย เท่าที่ผมทราบ ดูเหมือนจะเป็นอนุสาวรีย์เพียงแห่งเดียวของท่าน 
ผมคิดว่านี่เป็นการส่งสารแบบสยบยอม อนุสาวรีย์ตั้งอยู่ในพื้นที่กึ่งสาธารณะ คือไม่ใช่สาธารณะแท้ อย่างน้อยก็เป็นพื้นที่ในอำนาจจัดการของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเท่านั้น พิธีกรรมที่ทำกับรูปปั้น ก็เป็นพิธีภายใน กล่าวคือมีการวางพวงมาลาในวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยโดยผู้บริหาร ความหมายยิ่งเลือนไป และจำกัดคุณูปการของท่านปรีดีให้เหลือเพียงผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การคนแรกของธรรมศาสตร์เท่านั้น และนี่คือสิ่งที่นักศึกษาธรรมศาสตร์รับเอาไปในภายหลัง คือกราบไหว้บูชารูปปั้นในฐานะ "เทพ" ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เกือบจะไม่ต่างจากพระพิฆเนศ

ทั้งรูปปั้นและทั้งท่านปรีดีกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งอนุสาวรีย์มาจนถึงทุกวันนี้ ผมเข้าใจว่ายังไม่เคยมีสมาชิกรัฐสภา, คนในวงการตุลาการ, หรือฝ่ายบริหาร คนใด ได้เข้าร่วมพิธีแสดงความเคารพอนุสาวรีย์ท่านปรีดีที่ธรรมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นคนในตำแหน่งนะครับ ไม่ใช่ในฐานะศิษย์เก่า 
ในขณะที่อุดมคติของท่านปรีดี คือความเท่าเทียมกันของพลเมืองทุกคน, รัฐต้องเอาใจใส่ผู้อ่อนแอก่อน, นิติรัฐ, good governance, ประชาธิปไตย, ความยุติธรรม และอิสรภาพจากการครอบงำของต่างชาติ กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยมากขึ้น
จนอาจเป็นผลให้ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจภายในประเทศ ท่านปรีดีถูกทำให้ "ศักดิ์สิทธิ์" มากขึ้นๆ ตลอดมา

การทำให้สิ่งใดมีความศักดิ์สิทธิ์ คือการสร้างความหมายใหม่ให้แก่สิ่งนั้น เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์พูดเองไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่เคยพูดไปแล้ว ก็อาจถูกให้ความหมายใหม่เพื่อให้ตรงกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้ จนในที่สุดแม้แต่สิ่งที่ไม่เคยพูดก็อาจยัดเยียดให้พูดได้  
การทำให้สิ่งใดให้ศักดิ์สิทธิ์ คือทำสิ่งนั้นให้หมดพลังทางการเมืองและสังคมที่แท้จริงของตนเองลงเหลือแต่พลังที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ถืออำนาจเท่านั้น
แม้แต่ "เสด็จพ่อ ร.5" ก็ยังอาจตกพระทัย ที่พสกนิกรผู้เข้าเฝ้าฯในวันอังคาร พากันทรุดตัวเกลือกกลั้วบนพื้นถนนเพื่อกราบกราน เพราะพระบรมราชโองการแรกในรัชกาลคือ โปรดให้ผู้เข้าเฝ้าฯลุกขึ้นจากพื้น แล้วยืนเสมอกับพระราชา
เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีไว้เคารพกราบไหว้บูชา ไม่ได้มีไว้ศึกษา


ก่อนที่ท่านปรีดีจะกลายเป็น "เจ้าพ่อ" ซึ่งไม่เกี่ยงงอนที่จะรับใช้คนโกง, เผด็จการ, และอำนาจไม่เป็นธรรมต่างๆ อย่างที่ "เจ้าพ่อ" ผู้ประทับทรง และตามศาลต่างๆ เป็น การกระทำของคุณอั้ม เนโกะ จึงเป็นการเตือนสติ ให้ชาวธรรมศาสตร์และชาวไทย ย้อนกลับมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับอุดมคติที่ล้มเหลวของท่านปรีดี ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับอุดมคตินั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงไร แต่ท่านปรีดีและอุดมคติของท่านจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยกล้าคิด และกล้าทำ ที่จะปฏิรูปสังคมไทยไปสู่ความเป็นธรรมไปอีกนาน

การกระทำของคุณอั้ม เนโกะ จะ "งาม" หรือไม่นั้น ยกไว้ก่อน แต่การกระทำของคนเล็กๆ เช่นเธอที่จะสื่อความอันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ก็มีทางเลือกให้ได้ผลไม่สู้จะมากนัก



.